fbpx
วิกฤต COVID-19 vs วิกฤตต้มยำกุ้ง 97 : อะไรเหมือน อะไรต่าง

วิกฤต COVID-19 vs วิกฤตต้มยำกุ้ง 97 : อะไรเหมือน อะไรต่าง

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ตลอดเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับนักข่าวอย่างน้อย 3 สำนักทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 โดยคำถามหนึ่งซึ่งหลายๆ ท่านสอบถามกันคือ ความเหมือนและความต่างของวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ เมื่อเทียบกับวิกฤตการเงิน 1997-1998 Asian Financial Crisis หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า ‘วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง’ จึงขออนุญาตนำข้อสรุปจากบทสนทนามาเรียบเรียงให้คุณผู้อ่านได้รับทราบดังนี้ครับ

1. เหมือนกัน ในแง่ที่ว่าเป็นวิกฤตที่ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของไทยตกต่ำลง ในปี 1997 ที่วิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้น และไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนั้นถดถอยที่ระดับ -1% ถึง -2% และวิกฤตได้ลุกลามต่อเนื่องจนฉุดให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดต่ำลงไปที่ระดับประมาณ -7% ถึง -8% ในปีถัดมาคือปี 1998 ในกรณีของ COVID-19 แน่นอนว่าเชื้อเริ่มต้นการแพร่ระบาดในเดือนสุดท้ายของปี 2019 แต่กว่าจะส่งผลกระทบอย่างเต็มที่ถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยก็เป็นช่วงที่โรคได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงปลายของไตรมาสที่ 1 ปี 2020 และมีการคาดการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2020 น่าจะอยู่ที่ระดับ -5.3%

2. วิกฤตต้มยำกุ้งใช้เวลายาวนานแค่ไหนในการฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติ คำตอบคือ ไม่แน่นอน คงต้องขึ้นกับว่า เราพิจารณาการฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติในมิติไหน

ถ้าพูดถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นสัญญาณบวกอีกครั้ง ก็สามารถตอบได้ว่า เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกในปี 1999 หรือเพียง 2 ปีจากวันที่เกิดวิกฤต แต่อย่าลืมว่านี่คือการบวกหลังจากที่ถดถอยลงไปในระดับ -8% ถึง -10% ใน 2 ปีก่อนหน้า

ถ้าพิจารณาในมิติเงินตราต่างประเทศที่กู้มาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ต้องตอบว่า ในปี 1997-1998 IMF ร่วมกับธนาคารกลางและกระทรวงการคลังของ 8 ประเทศ และประเทศญี่ปุ่นได้อนุมัติวงเงินให้เรากู้เป็นเงิน 17.2. พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เราเบิกมาใช้จริงในราว 14.2. พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเราเริ่มต้นใช้เงินคืนเจ้าหนี้ในช่วงปลายสมัยรัฐบาลคุณชวน หลีกภัยในปี 2001 และมาใช้หนี้จำนวนทั้งหมดในราว 5 แสนล้านได้ในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ในปี 2003

แต่ถ้าถามถึงมิติการลงทุนว่า ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศใหม่ๆ เข้ามาจนถึงระดับก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง อันนี้ต้องเราต้องรอจนถึงปี 2014-2015 นั่นเลยทีเดียวครับ กว่าจะกลับมาสู่ยุคที่เงินลงทุนไหลกลับเข้ามาในระดับเดิมก่อนวิกฤต

ถามว่าวิกฤตครั้งนี้จะลากยาวจนถึงปีไหน คำตอบคือค่อนข้างยากที่จะคาดการณ์ เพราะเรายังไม่แน่ใจถึงธรรมชาติของโรคระบาดในครั้งนี้ว่าจะต่อเนื่องยาวนานถึงเพียงใด และจะเกิดการระบาดซ้ำหรือไม่ เชื่อว่าคำตอบว่าวิกฤตจะลากยาวแค่ไหนก็ขึ้นกับว่าทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนเพื่อป้องกันและรักษาโรค COVID-19 ได้เมื่อไรนั่นเอง นั่นหมายความว่าอย่างเร็วที่สุดคือ 6 เดือน –  1 ปีต่อจากนี้

3. วิกฤตทั้ง 2 ครั้งใช้เงินในการแก้ไขวิกฤต เยียวยา ผลกระทบมากน้อยเพียงใด เรื่องของการรวบรวมตัวเลขเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะบอกได้ว่า เราใช้เงินเพื่อแก้ไข เยียวยา เพื่อให้ฟื้นตัวจากวิกฤตในแต่ละครั้งมากน้อยเพียงใด เพราะแล้วแต่การให้คำจำกัดความว่าเราจะรวมเอาเงินก้อนไหนมารวมบ้าง จะรวมเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือไม่ ถ้ารวมจะรวมตั้งแต่กรณีไหน จะรวมเงินที่ได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศหรือไม่ แล้วจะรวมเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องตั้งเป็นปกติหรือไม่ ฯลฯ และยังมีเรื่องของการคำนวณเปรียบเทียบมูลค่าของเงินในแต่ละปีอีกต่างหาก แต่ก็มีการประมาณการณ์คร่าวๆ ว่า ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย จนถึงสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร น่าจะใช้เงินในการกระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตต้มยำกุ้งไปในราว 1 ล้านล้านบาท

ถ้าเทียบกับ ณ ปัจจุบัน เราจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้ว 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 และ 2 ออกมาเมื่อวันที่ 10 และ 24 มีนาคม 2020 ในวงเงินรวมกันราว 464.1 พันล้านบาท (54% ในรูปเงินให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ, 28% ในรูปของเงินโอนและการลดภาระรายจ่ายให้กับภาคส่วนต่างๆ และ 18% ในรูปของการลดภาระภาษี) และระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2020 ในวงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท (32% ในรูปของเงินโอนโดยตรงให้ประชาชนและเกษตรกร, 26% ในรูปเงินให้กู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับ SMEs, 21% เป็นกองทุน Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund (BSF) และ 21% ในรูปของโครงการเพื่อฟื้นฟูเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับภาคส่วนต่างๆ)

จะเห็นได้ว่าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาแล้ว 3 ระยะ รัฐบาลใช้เงินในการรับมือกับวิกฤต COVID-19 ไปแล้วในราว 2.36 ล้านล้านบาท มากกว่าที่เคยใช้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่าวิกฤตรอบนี้ยังไม่จบ และต้องไม่ลืมว่า ในที่สุดไม่ว่าจะเป็นวิกฤตไหนก็ตาม ผู้ที่ต้องรับภาระในที่สุดแล้วก็คือประชาชนที่ต้องเสียภาษีเพื่อใช้คืนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น

4. หลายคนกล่าวว่า วิกฤตต้มยำกุ้งรายใหญ่เจ๊ง แต่ SMEs เข้มแข็งเป็นกลไกพยุงไม่ให้เศรษฐกิจล่มสลาย และวิกฤต COVID-19 SMEs เจ๊ง แต่รายใหญ่ยังอยู่กันได้และเผลอๆ อาจจะฟื้นตัวเร็วกว่าด้วยซ้ำ

ที่สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เนื่องจากวิกฤตทั้ง 2 ครั้งมีสาเหตุและต้นตอของวิกฤตที่แตกต่างกัน โดยวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน สถาบันการเงินไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ สถาบันการเงิน 56 แห่งถูกปิด ทำให้ระบบเศรษฐกิจขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และในรอบนั้น บริษัทขนาดใหญ่เข้าถึงเงินกู้ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ และหล่อเลี้ยงอยู่ด้วยสภาพคล่องจากเงินกู้ดังกล่าว ดังนั้นเมื่อขาดสภาพคล่อง ประกอบการภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเนื่องจากการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนเหล่านี้ ทำให้ในวิกฤตปี 1997 รายใหญ่ตายกันเกือบหมด ในขณะที่รายย่อยหรือ SMEs ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็ยังไม่ได้เข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือทางการเงินมากนัก เงินหรือสภาพคล่องที่ใช้ในธุรกิจก็ไม่ได้เป็นเงินกู้ หรือถ้าเป็นก็ไม่ใช่สัดส่วนที่สูง เพราะส่วนใหญ่เป็นเงินของเจ้าของกิจการที่ลงทุนมาเอง (ส่วนใหญ่เป็นเงินกูมากกว่า) ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตทางการเงิน สถาบันการเงินปิด ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ SMEs จึงไม่ได้มีมากเท่าไรนัก

แต่สำหรับวิกฤต COVID-19 รอบนี้ สาเหตุของการเกิดวิกฤตมาจากภาคเศรษฐกิจแท้จริง (Real Sector) ที่ สามารถสรุปออกได้เป็น 5 ข้อ ได้แก่

1) ปัจจัยทางด้านอุปทาน (Supply) ที่เปลี่ยนไป โรงงานปิดทั่วโลก การขนส่งทำไม่ได้ดังปกติ หาวัตถุดิบไม่ได้ ผลิตเสร็จก็ส่งออกไปไม่ได้ ไหนจะเรื่องการบริหารคน บริหารค่าเช่า

2) ปัจจัยทางด้านอุปสงค์ (Demand) ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถึงเปิดกิจการได้ แต่ใช่ว่าลูกค้าจะมาซื้อของเช่นเดิม

3) กฎระเบียบด้านสุขอนามัยใหม่ที่ทำให้รายรับลดลง เนื่องจากพื้นที่การขายลดลง รอบการขายก็ลดลงซ้ำเติมไปอีก เพราะศูนย์การค้าเปิดช้าขึ้น และปิดเร็วลง แน่นอนว่ารายรับต้องลดลง

4) กฎระเบียบด้านสุขอนามัยใหม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้องติดตั้งอุปกรณ์ในร้านเพิ่มเติมมากมาย

5) การระบาดในรอบที่ 2 ซึ่งถ้าเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการต้องหยุดกิจการอีกรอบ

เมื่อวิกฤตเกิดจากภาคเศรษฐกิจแท้จริงเช่นนี้ แปลว่า วิกฤตเกิดขึ้นจะรุนแรงกว่า แต่มันจะผ่านพ้นไปอย่างแน่นอน ขึ้นกับว่าจะผ่านพ้นไปเมื่อไร ดังนั้น ภาคธุรกิจที่มีสภาพคล่องสูงๆ จะได้เปรียบ แน่นอนว่ารายใหญ่ที่เคยซบเซาจากวิกฤตต้มยำกุ้งได้รับบทเรียนไปแล้ว ดังนั้นการบริหารสภาพคล่องและการบริหารความเสี่ยงของรายใหญ่จึงมีประสิทธิภาพสูง พร้อมรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ สถาบันการเงินเองก็เช่นกัน และแน่นอนว่า วิกฤตครั้งนี้แม้ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ รายใหญ่ก็ยังเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายกว่า และต้นทุนต่ำกว่าอยู่ดี เพราะสถาบันการเงินทุกประเภทยังทำงานได้ตามปกติ

แต่สำหรับ SMEs สภาพคล่องก็ไม่ค่อยมี สายป่านสั้น ดำน้ำได้ไม่อึด เมื่อ Sourcing สินค้าไม่ได้ เมื่อพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยน เมื่อกฎระเบียบทำให้รายรับลดลง แต่ต้นทุนกลับเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่แปลงที่วิกฤตครั้งนี้ SMEs มีโอกาสม้วนเสื่อได้สูงกว่า

5. แล้วภาคเกษตรล่ะ ในคราววิกฤตต้มยำกุ้ง ภาคเกษตร การกลับสู่บ้านเกิด ดูจะเป็นทางออกสำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะชนชั้นกลางและล่างในเมืองและในภาคอุตสาหกรรมที่เดินทางกลับบ้านเพื่อไปทำงานที่บ้าน แล้วในวิกฤต COVID-19 กลับบ้านไปเริ่มต้นใหม่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้บ้างแต่ยากมาก ทั้งนี้เพราะโครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนไปแล้ว ปลายทศวรรษ 1990 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยยังไม่ได้เข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ในปี 2020 ไทยออกจากสังคมสูงวัย (Ageing Society) เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้น (Aged Society) นั่นหมายความว่า 30 ปีที่แล้ว ในภาคชนบท มีแรงงาน มีที่ดิน มีไร่ มีนา มีสวน กลับบ้านไปทำมาหากินได้ หลายๆ คนถึงกับมีคำกล่าวว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง”

แต่อย่าลืมว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เรามีลูกหลานลดลง เรามีชีวิตที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น ในครอบครัวใหญ่มีปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พ่อ แม่ เลี้ยงดู ลูก 1-2 คนเท่านั้น ดังนั้นเด็กเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่เป็นคนวัยฉกรรจ์ในวันนี้จึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ส่งให้เรียนหนังสือ ไม่มีเงินก็ขายที่ส่งลูกเรียน เรียนให้สูงที่สุด เพื่อหวังว่าจะเป็นเจ้าคนนายคน ทำงานในเมือง ส่งเงินกลับบ้าน เลี้ยงพ่อแม่ที่แก่เฒ่า นี่คือความฝันของคนไทยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือ ลูก หลาน ไม่กี่คนได้เรียนสูง แต่ไม่สามารถหางานทำที่ได้เงินเดือนสูงได้ ลูก หลาน ที่มีไม่กี่คนที่มาอยู่ในเมือง ทำให้ชนบทขาดแคลนแรงงาน เมื่อไม่มีแรงงาน และไม่มีทุน ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ และแม่ ก็ขายที่ดีกว่า ไม่มีแรงจะทำ ไม่มีเงินจะจ้างเขาทำ ที่สำคัญ ลูก หลาน ก็ทำไร่ ทำนา ไม่เป็นอีกแล้วด้วย ดังนั้นต่อคำตอบที่ว่า เกิดวิกฤต COVID-19 แล้วกลับบ้านเกิด ใช่ครับ เขากลับบ้านเกิด เพราะอยู่ในเมือง ไม่มีงาน ไม่มีเงินพอค่าใช้จ่าย แต่เมื่อกลับบ้านเกิด ที่บ้านเกิดก็ไม่มีงานให้ทำแล้วครับ

เปรียบเทียบมาทั้งหมด 5 ข้อทำให้เราเห็นภาพความเหมือนและความแตกต่างของทั้ง 2 วิกฤตบ้างไม่มากก็น้อย แต่น่าจะสรุปได้ว่า หลังวิกฤตครั้งนี้ และครั้งที่แล้วด้วย สิ่งที่คนไทยต้องการจะไม่แตกต่างกันครับ นั่นคือ เราต้องการระบบสวัสดิการสังคมที่ดีขึ้นและพัฒนาขึ้นกว่านี้ คำถามสำคัญก็คือ ทุกคนต้องการ แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า ระบบสวัสดิการสังคม Social Safety Net ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ โดยต้องการ 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ การวางแผนควบคู่กับการบริการจัดการระบบสวัสดิการสังคมที่ดี และอีกปัจจัยคือ ประชาชนทุกคนต้องร่วมจ่าย ร่วมสมทบกองทุน ทุกคนอยากได้สวัสดิการดีๆ แต่ถ้าไม่มีใครอยากจ่ายสมทบกองทุนให้สมกับสวัสดิการที่ดี ก็จบ มีเงินแล้ว แต่บริหารไม่ดี ก็จบเช่นเดียวกัน ถึงเวลาปฏิรูปแล้วครับ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save