fbpx
'อาฟเตอร์ช็อก' - สอบใหญ่จริงของเศรษฐกิจไทย

‘อาฟเตอร์ช็อก’ – สอบใหญ่จริงของเศรษฐกิจไทย

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

อาฟเตอร์ช็อก (After Shock) คือ แผ่นดินไหวระลอกหลังต่อจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านไป บางครั้งอาจอันตรายไม่แพ้รอบแรกเพราะอาจเกิดหลายรอบ คาดเดาได้ยาก และมาในยามที่โครงสร้างต่างๆ ร้าว ใกล้พังมิพังแหล่อยู่แล้ว 

หากการปิดเมืองจากโควิด-19 รอบที่ผ่านมาเป็นเสมือนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สิ่งที่เราต้องระวังตอนนี้ก็คือ ‘อาฟเตอร์ช็อก’ ต่อเศรษฐกิจที่น่าจะมาจากอย่างน้อย 2 ทางหลักๆ คือ ช็อกจากการระบาดระลอกสอง และช็อกจากภาคการเงิน

 

อาฟเตอร์ช็อกจากไวรัส

 

ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศที่ขึ้นชื่อว่าควบคุมไวรัสได้ดีเกิดการระบาดระลอกสองขึ้นมา เช่น เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น 

สำหรับประเทศไทย ข่าวดีคือ ณ วันที่เขียน (วันที่ 6 กรกฎาคม 2563) เราไม่มีกรณีติดเชื้อในประเทศติดต่อกันมากกว่า 40 วัน

แต่ข่าวไม่ดีนักคือ บททดสอบที่แท้จริงอาจยังไม่มาถึง เราอาจสอบกลางภาคผ่าน แต่สอบใหญ่กำลังจะมา นั่นคือเมื่อเราเริ่มเปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศโดยไม่มีการกักตัว

 

ฟื้นได้ไหมโดยไม่มีท่องเที่ยวต่างประเทศ?

 

แม้ว่าช่วงนี้จะมีข่าวว่าการท่องเที่ยวในประเทศกระเตื้องขึ้น โรงแรมบางแห่งถูกจองเต็ม ร้านบางร้านเริ่มแน่น แต่เราควรระมัดระวังในการตีความข้อมูลเหล่านี้

หนึ่ง การเดินทางท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอาจสะท้อนอาการเก็บกด (เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า ‘Revenge spending’ หรือ ‘การใช้จ่ายแบบล้างแค้น’) ที่สะสมมานานหลังพ้นช่วงที่ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้

แต่การใช้จ่ายแบบนี้อาจมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่ทำได้ และอาจหมดก๊อกเมื่อ ‘ความเก็บกด’ จางไป

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมด้วยว่าปริมาณการท่องเที่ยวที่เยอะขึ้นอาจมาจากการแจกโปรโมชั่นพิเศษของโรงแรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้คนกลับมาเที่ยว ซึ่งแปลว่ารายได้เข้ากระเป๋าอาจน้อยกว่าช่วงปกติมาก พร้อมกับต้นทุนต่อหัวที่สูงขึ้นเพราะมาตรการเพื่อรักษาความสะอาดและระยะห่าง

สอง การท่องเที่ยวในประเทศทดแทนการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ยาก

ก่อนโควิด-19 มาเยือน รายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นมากถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาทต่อปี สูงกว่าไทยเที่ยวไทยประมาณ 2 เท่า 

นั่นแปลว่าเราต้องให้คนไทยโดยรวมควักกระเป๋าท่องเที่ยวมากกว่าเดิมสองเท่า เพื่อจะอุดช่องว่างจากการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่หายไป แต่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การทำเช่นนั้นคงไม่ง่ายนัก (ดูรายงานจาก KKP Insights)

แม้ว่าคนไทยที่ชอบเที่ยวต่างประเทศในอดีตทั้งหมดจะหันมาเที่ยวไทยแทน ก็ยังไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างได้ เพราะโดยเฉลี่ย คนไทยเที่ยวต่างประเทศใช้เงินประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 5 ของท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

สาม คนไทยอาจเที่ยวคนละจังหวัดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

การวิเคราะห์ข้อมูลความถี่สูง เช่น Mobility data โดย Krungthai Compass ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าจังหวัดที่การท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวเร็วที่สุดคือ กลุ่มที่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากนักและอยู่ใกล้กรุงเทพ เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา หรือประจวบคีรีขันธ์ที่เดินทางโดยรถได้ 

ในทางกลับกัน จังหวัดที่ฟื้นช้าที่สุด คือกลุ่มที่อยู่ห่างจากกรุงเทพ ต้องพึ่งพาการบินและนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูง เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ หรือพังงา

จังหวัดเหล่านี้ คือกลุ่มที่มี over supply สูงที่สุดเช่นกัน เพราะปกติจะเป็นหัวหอกของการท่องเที่ยว นั่นแปลว่ามีความเสี่ยงที่ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดตัวหรือไล่พนักงานออก เพราะไม่สามารถอยู่ได้ในวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเพียงพอ

 

‘สกัดไฟให้ทัน’

 

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

แม้ว่าการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจะทำอย่างระมัดระวังตามแนวทางของ Travel Bubble โดยให้มีการคัดเลือกกลุ่มคนและประเทศที่จะเข้ามาได้ แต่ก็ยังต้องยอมรับว่าคงยากที่จะคุมไม่ให้มีการติดเชื้อเกิดขึ้นเลย 

ดังนั้น ควรมีมาตรการเสริมรับมืออีกขั้นคือ การมีมาตรการ Damage control หรือ ‘สกัดไฟ’ ไม่ให้ลาม หากพบผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว 

โดยเฉพาะสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิด Super Spreading Event (SSE) เช่นสถานที่ปิด (indoor) ที่มีคนหนาแน่นและมีการพูดกันเสียงดัง อาจเป็นแหล่งกระจายการติดเชื้อให้กระโดดสูงขึ้นจนอาจไม่ใช่ ‘อาฟเตอร์ช็อก’ แต่เป็น ‘ช็อก’ (‘Shock’) ใหญ่ลูกใหม่

หัวใจคือ การมีระบบ Test Trace และ Isolate (TTI) ที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะการแกะรอย (Trace) เพื่อตามดูว่าคนที่ติดเชื้อไปที่ไหนมาบ้าง เสี่ยงแพร่เชื้อกับใครบ้าง จะได้ป้องกันการแพร่กระจายได้ทันท่วงที

แม้ว่าการใช้งบประมาณรัฐลงไปกับการพัฒนาระบบและกำลังคนสำหรับการทำ TTI อาจหน้าตาไม่เหมือนนโยบายเศรษฐกิจ แต่อาจเป็น ‘การกระตุ้นเศรษฐกิจ’ ที่คุ้มค่าและมีประสิทธิผลที่สุดรูปแบบหนึ่ง หากมันทำให้เราเปิดประเทศ-เปิดเมืองได้มากขึ้น

 

อาฟเตอร์ช็อกจากภาคการเงิน

 

อาฟเตอร์ช็อกอีกตัวที่ต้องระวังนั้น มาจากภาคการเงินซึ่งอาจถูกกระแทกจนมีรอยร้าวอยู่แล้วจากช็อกรอบแรก 

สำหรับประเทศไทย ประเด็นที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดที่สุดคงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้รายย่อยที่มีความท้าทายหลายมิติ

หนึ่ง จำนวนคนที่ถูกกระทบและมูลค่าหนี้มีขนาดใหญ่ ในวันที่เขียน มีลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการพักภาระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงสามเดือนแรกถึง 11.5 ล้านบัญชี มูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท 

สอง หนี้รายย่อยผูกโยงกับ SMEs อย่างแน่นแฟ้น เพราะคนไทยมักไม่กู้ผ่านธุรกิจ แต่กู้ในชื่อตัวเองแล้วนำเงินไปใช้ในบริษัท

สาม เราไม่รู้ว่าธุรกิจที่ใช้มาตรการพักภาระหนี้นี้ มีสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ที่ถูกกระทบจากโควิด-19 ชั่วคราว มีกี่ส่วนที่จะยังถูกกระทบต่อไปจนกว่าจะมีวัคซีน และมีกี่กลุ่มที่อาจไม่มีธุรกิจให้กลับไปทำแล้วไม่ว่าจะรอนานแค่ไหน เพราะโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19

 

ระวัง ‘แผลเป็น’ ทางเศรษฐกิจ

 

ที่สำคัญ เราอาจยังไม่มีกลไกและระบบที่สามารถแก้ปัญหาหนี้รายย่อยที่มีปริมาณมากขนาดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ดูบทความ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

หากผู้คนจำนวนมากต้องเข้ากระบวนการล้มละลาย โดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดในเวลาเดียวกัน อาจทำให้ทั้งฝั่งลูกหนี้และเจ้าหนี้เดือดร้อน เกิดเป็นเสมือน ‘แผลเป็น’ ทางเศรษฐกิจ ทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ช้าแม้อาฟเตอร์ช็อกผ่านไปแล้ว คล้ายกับนักกีฬาที่หายเจ็บแล้วยังไม่สามารถกลับไปเล่นได้อย่างเก่า

ด้านลูกหนี้ นอกจากธุรกิจจะล้มไปแล้ว อาจเสียทรัพย์สินสำคัญที่อาจจำเป็นทั้งในการทำธุรกิจหรือแม้แต่การใช้ชีวิต (เช่น หากใช้บ้านเป็นหลักประกัน) จนหันเข้าหาหนี้นอกระบบ ทำให้ยิ่งติดหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถเริ่มต้นธุรกิจหรือสร้างอาชีพใหม่ได้

ส่วนเจ้าหนี้ก็มีหลักประกันที่ขาดสภาพคล่องมากองกันอยู่เป็นจำนวนมาก หากขายพร้อมกัน ราคาก็จะตกหนัก แม้ระบบธนาคารไทยจะมีฐานะการเงินและทุนสำรองที่เข้มแข็ง ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องวิกฤตการเงินไปได้ แต่สถาบันการเงินต่างๆ ก็อาจอยู่ในสภาพที่ต้องรัดเข็มขัด ไม่สามารถออกสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยธุรกิจต่างๆ ให้ฟื้นตัวได้ 

ป้องกัน ‘อาฟเตอร์ช็อก’ ทางการเงินและ ‘แผลเป็น’ ทางเศรษฐกิจ

 

เราจำเป็นต้องช่วยกันคิดให้ตกผลึกว่าจะป้องกันอาฟเตอร์ช็อกการเงินและแผลเป็นทางเศรษฐกิจนี้ได้อย่างไร แต่ในเบื้องต้นคิดว่ามี 3 ส่วนที่สำคัญ

ส่วนแรก คือการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาชั่วคราวให้ผ่านพ้นพายุโควิด-19 นี้ไป โดยกุญแจสำคัญคือนโยบายการเงินและการกำกับสถาบันการเงินที่รักษาสมดุลระหว่างสุขภาพของภาคการเงินและสุขภาพของลูกหนี้ 

หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ ‘สถาบันการเงินต้องรอดแต่อย่ารวย (เกิน)’ ต้องใช้กำลังทุนที่มีมาช่วยลูกหนี้ให้รอดไปด้วยกันด้วย (อ่านต่อได้ในบทความ นโยบายการเงิน 3 กระบวนท่า 5T)

ส่วนที่สอง คือการช่วยลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ต่อให้ยืดเวลาผ่อนปรนให้เริ่มต้นใหม่ได้ โดยให้ไม่เกิดภาวะภัยทางศีลธรรม (moral hazard) และไม่ฉุดสถาบันการเงินไปด้วย 

ในส่วนนี้ ผมมองว่าข้อเสนอของคุณสฤณี อาชวานันทกุลในเรื่อง การออกกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา การตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ และการมีที่พักสินทรัพย์ดี (Asset Warehousing) เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก

ส่วนที่สาม คือการช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหาโดยใช้เครื่องมือการเงินแบบกึ่งหนี้กึ่งทุนโดยมีรัฐสนับสนุน คล้ายที่ทาง Chief Economist ของ IMF เพิ่งเสนอ คือในช่วงแรก ผู้ที่ออกตราสารนี้/ผู้ได้รับความช่วยเหลือ (เช่น ธุรกิจโรงแรม) ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือจ่ายในอัตราที่ต่ำมากในช่วงที่ไม่มีรายได้ แต่ในระยะยาวเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ไวรัสผ่านไป ผู้ถือตราสารสามารถเปลี่ยนตราสารนี้ให้เป็นหุ้นในบริษัทได้ ทำให้ได้ส่วนแบ่งของกำไรในอนาคต (upside) 

วิธีการเพิ่มทุนเช่นนี้ที่เป็นที่นิยมในหมู่สตาร์ทอัพที่มักขาดสภาพคล่องในช่วงแรก แต่ในกรณีนี้ รัฐอาจต้องเป็นพระเอกตั้งกองทุนมาลงทุนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจน้ำดีที่เผชิญปัญหาชั่วคราว

 

New Abnormal ที่แท้ทรู

 

ในวันที่วัคซีนยังมาไม่ถึง เรากำลังอยู่ในสภาวะ ‘ไม่ปกติใหม่’ แบบที่เคยคาดไว้อย่างแท้จริง

โจทย์ไม่ได้มีแค่การ ‘อยู่รอด’ แต่ต้อง ‘อยู่เป็น’ คือเดินไปข้างหน้า แต่ต้องคอยระวังอาฟเตอร์ช็อกระลอกใหม่ ไม่ว่าจะมาจากไวรัสหรือดภาคการเงิน 

แม้นโยบายรับมือสองช็อกจะต่างกันในรายละเอียด แต่หัวใจอยู่ตรงการบริหารความเสี่ยง (Risk management) รักษาสมดุล (Balancing Act) การปรับตัวอย่างรวดเร็ว (Agility) ตามข้อมูลจริงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (Data driven)

สอบมิดเทอมคุมโควิด-19 ผ่านแล้วอย่าประมาท ต้องสอบไฟนอลให้ผ่านด้วยกันครับ

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save