fbpx
อย่าอัดเงินเพื่ออดีต ต้องอัดฉีดอนาคต : สามจุดอันตรายและสามทางออกเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

อย่าอัดเงินเพื่ออดีต ต้องอัดฉีดอนาคต : สามจุดอันตรายและสามทางออกเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มีอานุภาพแค่ทำลายปอดเท่านั้น แต่ยังสามารถทำลายปากท้องของผู้คน พาโลกทั้งใบเข้าสู่ “วิกฤตแฝด” ที่ความหายนะทางสุขภาพเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

จีดีพีแทบทุกประเทศจะติดลบในปี 2020 และกว่า 90 ประเทศทั่วโลกติดต่อขอความช่วยเหลือจาก IMF อย่างเป็นทางการแล้ว

บทความนี้อยากชวนผู้อ่านแบ่งการมองวิกฤตเศรษฐกิจ-โควิดออกเป็นสามระยะ เพราะแต่ละช่วงมีประเด็นสำคัญแตกต่างกัน

ในระยะสั้น มาตรการ “บาซูก้าการคลัง” ที่เตรียมฉีดเงินเข้าเศรษฐกิจไทยต้องออกแบบให้ดี มิฉะนั้นอาจกลายพันธุ์เป็นกามิกาเซ่ อาวุธพลีชีพตายหมู่กันหมดทั้งประเทศ เราควรถือโอกาสกระจายงบประมาณและอำนาจตัดสินใจสู่ท้องถิ่น เปลี่ยนบาซูก้าเป็น “บั้งไฟ” ที่เหมาะกับปัญหาเฉพาะของแต่ละพื้นที่

ในระยะกลาง เราต้องอ่านให้ออกว่าโควิดกำลังพัดพาเศรษฐกิจโลกไปทางไหน โดยเฉพาะบทบาทของเทคเฟิร์ม แนวโน้มปลาใหญ่กินปลาเล็ก และการพลิกผันของซัพพลายเชนโลก

ส่วนระยะยาว นี่คือโอกาสดีในการแสวงหาฉันทมติใหม่เพื่อปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ เราต้องเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิดนโยบาย นำปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคมสูงวัย และระเบียบโลก เข้ามาอยู่ในสมการเศรษฐกิจไทยหลังโควิด

ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ใช้งบประมาณมหาศาลที่เปรียบดัง “เงินก้นถุง” ของประเทศเพียงเพื่อรักษาอดีต แต่ต้องใช้อัดฉีดเพื่อสร้างอนาคต

 

ระยะสั้น: ระวังบาซูก้ากลายพันธุ์

 

“บาซูก้าการคลัง” (fiscal bazooka) กลายเป็นคำพูดติดปากในแวดวงนโยบายช่วงนี้ เพื่อให้เห็นภาพความยิ่งใหญ่มหึมาของแผนการฟื้นฟูที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และสิงคโปร์ เพิ่งประกาศใช้

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่น้อยหน้าประเทศอื่น พร้อมยิงบาซูก้าการคลังเช่นกัน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท

มีจุดอันตรายที่ต้องระวังอย่างน้อยสามจุดที่อาจทำให้บาซูก้ายิงไม่ออกหรือกลายพันธุ์

 

อันตรายที่หนึ่ง : บาซูก้าอาจกลายเป็นกามิกาเซ่พลีชีพ

ลักษณะ “รัฐรวมศูนย์แตกกระจาย” ของกลไกราชการส่งผลต่อคนไทยเด่นชัดขึ้นในการจัดการไวรัสโควิดช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา การยึดกรมกองของตนเป็นที่ตั้ง โบ้ยความรับผิด และยึดติดกับเอกสาร ทำให้การช่วยเหลือประชาชนขาดประสิทธิภาพ

ไล่ตั้งแต่การขาดแคลนหน้ากากอนามัย ที่สุดท้ายรองนายกรัฐมนตรีอธิบายว่าเป็น “เรื่องเก่าไม่ต้องพูดถึง” มาจนถึงความวุ่นวายที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ผู้อำนวยการท่าอากาศยานขอลาออกเพราะไม่สามารถประสานงานกับหน่วยราชการอื่นได้ และล่าสุด คือข้อสงสัยต่อมาตรการตรวจคนเข้าเมือง และความคลุมเครือในการรับคนไทยในต่างประเทศที่อยากเดินทางกลับบ้าน

หากเงิน 1.9 ล้านล้านบาทถูกจัดการอย่างที่เป็นมา รัฐราชการไทยก็มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนบาซูก้าการคลัง ให้กลายเป็น “กามิกาเซ่” อาวุธพลีชีพของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลก นำงบประมาณมหาศาลมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ปรับโครงการเก่าเติมคำว่าโควิดเข้าไป จัดสัมมนาและจัดซื้อจัดจ้างเหมือนเดิม เท่านี้ก็จะพาคนไทยทั้งประเทศตายหมู่ พลีชีพเพื่อรักษาระบบราชการไว้

รัฐราชการเป็นจุดตายจุดแรกที่พึงระวัง ต้องเปลี่ยนทั้งวัฒนธรรมและแนวทางให้คุณให้โทษกับข้าราชการจากที่เคยสนใจแต่ปัจจัยภายใน มาเป็นการตอบสนองต่อปัญหาประชาชนที่ทันท่วงทีและเป็นธรรม

 

อันตรายที่สอง : บาซูก้าอาจกลายเป็นบาซูก้าประชารัฐ

หากรัฐบาลเกิดตระหนักได้ว่าไม่อยากพึ่งพาราชการเป็นหลัก แต่หันมาหาบริษัทเอกชนใกล้ชิดแทน เราก็อาจเห็นการกลับมาของพันธมิตรประชารัฐ ที่มีการจับคู่ซีอีโอกลุ่มทุนใหญ่ให้มาทำงานร่วมกับรัฐมนตรีในการกำหนดวาระสำคัญของประเทศ

เช่น รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาจับมือกับผู้บริหารโรงแรมใหญ่ เพื่อออกนโยบายช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์จับมือผู้บริหารธุรกิจน้ำตาล เพื่อออกนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร

ยึดแนวทาง “พี่ช่วยน้อง” ที่ทางการเคยแปลเป็นภาษาอังกฤษเองว่า “Big Brother Project”

บาซูก้าการคลังก็จะกลายพันธุ์เป็น “บาซูก้าประชารัฐ” ก้าวข้ามระบบราชการ ไปฝากความหวังไว้กับทุนใหญ่แทน ให้เจ้าสัวและซีอีโอเป็นผู้นำการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือประชาชนและกิจการขนาดเล็ก

แต่ในภาวะวิกฤตที่ทุนใหญ่ก็เจ็บตัวอยู่เช่นกัน การจัดสรรงบประมาณมหาศาลให้แต่ละธุรกิจจะเป็นไปอย่างโปร่งใสเท่าเทียมได้เพียงใด

เงินทองไม่ได้ไหลจากบนลงล่างเหมือนน้ำ แต่มักติดอยู่ในบัญชีที่ไม่มีใครมองเห็น  นี่คือจุดอันตรายที่สองที่ต้องช่วยกันระวัง

 

อันตรายที่สาม : ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนและพื้นที่

ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกับทุกคนอย่างเท่าเทียม

ข้าราชการยังได้รับเงินเดือนต่อเนื่อง แต่ชีวิตเจ้าของกิจการและลูกจ้างหลายล้านคนแขวนอยู่บนเส้นด้าย

คนจำนวนหนึ่งหาหน้ากากอนามัยได้เพียงยกหูโทรศัพท์ แต่คนจำนวนมากต้องนั่งรถเมล์หลายกิโลไปซื้อหน้ากากให้ลูกหลานวันต่อวัน ใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

หากยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกมิติของวิกฤตโควิดครั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือควรเปลี่ยนวิธีคิดจากการตั้งแท่นของภาครัฐเพื่อเตรียมยิงบาซูก้าไปหาประชาชน มาเป็นการแบ่งสรรงบประมาณเพื่อลดความไม่เท่าเทียมทั้งระหว่างกลุ่มคนและระหว่างพื้นที่

ถือโอกาสกระจายอำนาจทางการคลังไปสู่ประชาชนแต่ละท้องถิ่นไปในตัว ไม่ควรให้รัฐ (ทั้งส่วนกลางหรือภูมิภาค) เป็นผู้ตัดสินใจแทน เพราะแต่ละพื้นที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจต่างกัน บางอำเภอบางจังหวัดมีโครงการก่อสร้างมากพอแล้ว แต่ต้องการโรงเรียนและบุคลากร บางพื้นที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่กำลังมองหางานคุณภาพใกล้บ้าน ไม่อยากไปเสี่ยงชีวิตในกรุงเทพมหานครเหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

จะดีกว่าไหม หากเราเปลี่ยนวิธีคิดจากการยิงบาซูก้ากระสุนหนักออกจากส่วนกลาง เป็นการส่งเสริมการทำ “บั้งไฟ” ที่แต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอมีวัฒนธรรมการออกแบบและประกวดเฉพาะตัว เต็มไปด้วยความหลากหลายและความงดงาม

หากการลดความเหลื่อมล้ำเป็นวาระแห่งชาติของเราจริงๆ และหากเรามองเห็นความเหลื่อมล้ำชัดมากขึ้นในวิกฤตโควิด

รัฐควรมีหน้าที่เป็นผู้สร้าง platform ให้ประชาชนต่างกลุ่ม (อาชีพ อายุ เพศ ฯลฯ) ต่างพื้นที่ ต่างเป้าหมายชีวิต มีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจว่าจะจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแต่ละกลุ่มอย่างไร (tailor-made fiscal package)

เพราะการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ไม่ควรหมายถึงเพียงการรอรับเงินจากรัฐเท่านั้น แต่ควรหมายถึงการเปิดโอกาสให้ทุกคนมาอยู่ข้างหน้าตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการกำหนดนโยบาย

 

ระยะกลาง: อ่านกระแสเศรษฐกิจโลกให้ออก

 

หลังจากระดมสรรพกำลังช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้นแล้ว เราต้องหันกลับมามองโลกภายนอกอีกครั้ง ประเมินว่าวิกฤตแฝดเศรษฐกิจ-โควิดกำลังพัดพาโลกทั้งใบไปในทิศทางไหน

 

แนวโน้มที่หนึ่ง: เทคเฟิร์มจะขยายอิทธิพลข้ามธุรกิจ

ถัดจากระบอบคอมมิวนิสต์ กลับกลายเป็นไวรัสที่มองไม่เห็นด้วยตาขึ้นมาสั่นคลอนทุนนิยมโลก จนผู้คนเริ่มหวาดกลัวว่าทุนนิยมทั้งระบบอาจถึงคราวล่มสลาย

อย่างไรก็ดี ในภาวะวิกฤตปัจจุบัน เทคเฟิร์มยักษ์ใหญ่กลับผงาดแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม

แม้แต่ Huawei ยักษ์ใหญ่จากจีน ประเทศศูนย์กลางการระบาด ยังสามารถทำกำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2020 ได้ถึง 8,800 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาก็ผงาดยิ่งกว่าเดิม Amazon จ้างงานเพิ่ม 100,000 อัตราเพื่อรับมือกับการขยายตัวของยอดสั่งซื้อออนไลน์ การส่งข้อความใน Facebook เพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ Zoom และ Slack กลายเป็นปัจจัยสี่ในช่วงล็อกดาวน์ที่ขาดไม่ได้พอๆ กับอาหารและน้ำ

เทคเฟิร์มสี่บริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Alphabet, Amazon, Apple และ Microsoft แต่ละรายต่างมีมูลค่าตลาดเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ กลายเป็นสมาชิกของชมรม “Trillion Dollar Club” เรียบร้อย ส่วน Facebook ตามมาไม่ห่างด้วยมูลค่า 620,000 ล้านดอลลาร์

 

The $1 Trillion Club: Apple Microsoft Amazon and Alphabet

 

หนึ่งล้านล้านดอลลาร์มีขนาดมโหฬารเพียงใด ลองเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมนีทั้งตลาดที่มีมูลค่า ทุกบริษัท รวมกัน 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับเทคเฟิร์มยักษ์ใหญ่แค่สองบริษัทเท่านั้น

ส่วน ประเทศไทยทั้งประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจราว 500,000 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่า Facebook บริษัทเดียวเสียอีก

โลกหลังโควิดมีแต่จะต้องพึ่งพาการค้าออนไลน์ (e-commerce) การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (digital payment) และการทำงานระยะไกล (remote working) มากขึ้น

ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรมอย่างที่เคยเป็นมา แต่จะรวมไปถึงโรงเรียนและมหาวิทยาลัย กิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ร้านค้ารายย่อยตามท้องตลาด กลายเป็นโอกาสให้เทคเฟิร์มยักษ์ใหญ่สามารถขยายอิทธิพลข้ามพรมแดนเดิมที่ครองตลาดอยู่แล้วไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ

ประเด็นถกเถียงที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เช่น Facebook หรือ Google มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราแค่ไหน และควร “จัดข้อมูล” อะไรให้เราก่อนหลัง จะยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้น เกี่ยวพันทั้งเรื่องสิทธิส่วนบุคคล การแข่งขันทางธุรกิจ การสร้างนวัตกรรม จนถึงความมั่นคงระหว่างประเทศ

ผู้คุมกฎของไทยพร้อมแค่ไหนกับบทบาทของเทคเฟิร์มที่มีแต่จะเพิ่มทบทวีคูณ?

 

แนวโน้มที่สอง: ปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็กในแต่ละอุตสาหกรรม

ความเหลื่อมล้ำเห็นชัดทุกภาคส่วน McKinsey & Company วิเคราะห์บริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก พบว่าธุรกิจการบินได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด มูลค่าตลาดหดตัวเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยการท่องเที่ยว ปิโตรเคมี ธนาคาร และยานยนต์ ส่วนที่กระทบน้อยหน่อยคือกลุ่มค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค และยารักษาโรค ที่หดตัวราว 10 เปอร์เซ็นต์

ที่น่าสนใจคือ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเกิดขึ้นภายในแต่ละธุรกิจด้วย เช่น ธุรกิจสุขภาพมีทั้งผู้ได้และผู้เสียจากโควิด ส่วนเคมีภัณฑ์ก็มีทั้งกลุ่มที่ทรงๆ กับกลุ่มที่ทรุดหนัก

 

Even within sectors, there is significant variance between companies

 

The Economist ประเมินว่า ในบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ 2,000 แห่งทั่วโลก มีบริษัทราว 1 ใน 4 ที่ถือเงินสดมากกว่าหนี้สินกระจายอยู่ในทุกอุตสาหกรรม

บริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มจะใช้โอกาสวิกฤตโควิดครั้งนี้เข้าซื้อกิจการคู่แข่งครั้งใหญ่ ทั้งเพื่อตัดคู่แข่ง ขยายตลาด หรือเพื่อลดความเสี่ยงในการจัดการซัพพลายเชนและช่องทางการจัดจำหน่ายในอนาคต

คลื่นการควบรวมกิจการจะเกิดขึ้นอีกระลอกทั้งภายในและข้ามประเทศ เป็นไปได้ที่จะสาดซัดกว้างไกลยิ่งกว่าครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ส่งผลสะเทือนต่อการแข่งขันในธุรกิจและทางเลือกของผู้บริโภค

ผู้คุมกฎ บริษัทธุรกิจ และภาคการเงินของไทยพร้อมแค่ไหนกับแนวโน้มปลาใหญ่กินปลาเล็กที่กำลังจะเกิด?

 

แนวโน้มที่สาม: การพลิกผันของห่วงโซ่การผลิต

จีนเติบโตก้าวกระโดดในสองทศวรรษที่ผ่านมาด้วยยุทธศาสตร์การเป็น “โรงงานของโลก” (World Factory) การหยุดผลิตสินค้าของจีนในช่วงวิกฤตโควิดจึงทำให้การผลิตหลายส่วนในโลกต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่ก่อนไวรัสโควิดจะเดินทางไปถึงประเทศต่างๆ เสียอีก

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Chrysler (ทวีปอเมริกาเหนือ) ต้องหยุดการผลิตรถยนต์ซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศเซอร์เบีย (ทวีปยุโรป) ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ เพราะไม่ได้รับชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากจีน (ทวีปเอเชีย)

นอกจากแอฟริกาแล้ว ทวีปอื่นๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากการพึ่งพาสินค้าขั้นกลาง (intermediate products) จากจีนแทบทั้งสิ้น ดังที่แผนที่ซัพพลายเชนโลกของ Bloomberg แสดงให้เห็น

 

How Coronavirus Can Infect Global Supply Chains ไวรัสส่งผลกับสายพานการผลิตอย่างไร

 

วิกฤตโควิดจึงทำให้แต่ละองค์กรต้องประเมินซัพพลายเชนใหม่ทั้งองคาพยพ แม้แต่กิจการตึกแถวริมถนนในต่างจังหวัดของไทยยังขาดวัตถุดิบเมื่อการผลิตในจีนหยุดชะงัก

นักวิเคราะห์หลายคนหวาดกลัวว่ายุคสมัยแห่งการผลิตเสรีไร้พรมแดนหรือ Global Supply Chains จะสิ้นสุดลง ยิ่งรวมกับกระแสชาตินิยมที่ก่อตัวก่อนหน้า อาจนำไปสู่กระแสปิดประเทศหลังโควิด เกิดสภาวะ Nationalization ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

แต่การปรับฐานการผลิตไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น ทักษะการผลิตไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างกันได้เพียงชั่วข้ามคืน

ในระยะสามสี่ปีข้างหน้า ซัพพลายเชนโลกมีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ “ห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาค” หรือ Regional Supply Chains เสียมากกว่า

หน่วยคิดซัพพลายเชนจะกลายเป็น “ภูมิภาค” อย่างอเมริกาเหนือ / อเมริกาใต้  / ยุโรปตะวันตก / เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะองค์กรธุรกิจต้องการลดความเสี่ยงด้วยการหาแหล่งสินค้าขั้นกลางในประเทศใกล้เคียงมากกว่าเดิม ถึงแม้จะมีต้นทุนแพงกว่าการนำเข้าจากจีน แต่การกระจายความเสี่ยงเชิงพื้นที่จะกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากขึ้นเมื่อยามเกิด Supply Chain Shock

หน้าต่างแห่งโอกาสจึงเปิดกว้างสำหรับประเทศจำนวนมากที่เคยถูกจีนแย่งชิงตลาดไปก่อนหน้า อย่างน้อยๆ ก็กว้างที่สุดในรอบสองทศวรรษ

เมื่อรวมสามแนวโน้มเข้าด้วยกัน ประเทศไทยพร้อมรับมือกับการผงาดของเทคเฟิร์ม คลื่นการควบรวมกิจการ และการพลิกผันของห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติแค่ไหน?

 

ระยะยาว: สร้างเศรษฐกิจไทยให้มีสีสัน

 

ไม่ว่าจะใช้บาซูก้าหรือบั้งไฟยิงเศรษฐกิจ ก็ต้องคิดต่ออยู่ดีว่าจะใช้เงินก้นถุงก้อนนี้ไปเพื่ออะไร

ประเทศอย่างสิงคโปร์ถือโอกาสวิกฤตนี้ในการจูงใจผู้ประกอบการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจัง

แล้วไทยจะใช้งบประมาณเพื่อรักษาอดีต ให้เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างที่เคยเป็นมาก่อนวิกฤตโควิด หรือจะถือเป็นโอกาสในปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่

คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ แล้วเศรษฐกิจไทยควรขยับไปทางไหน

 

หนังสือเศรษฐกิจ

 

ในหนังสือ “เศรษฐกิจสามสี เศรษฐกิจแห่งอนาคต” ผมถอดบทเรียนจากประเทศทั่วโลก และเสนอว่าในขั้นแรก การออกแบบนโยบายเพื่อรับมือกับโลกยุคใหม่ต้องคิดผ่านกรอบ “ห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติ”

ใช้ห่วงโซ่การผลิตในการวาด “แผนที่” และตั้ง “เข็มทิศ” ของเศรษฐกิจไทย ประเมินอย่างละเอียดว่าในแต่ละอุตสาหกรรม บริษัทไทยอยู่ตรงจุดไหนบ้าง รู้เท่าทันการกระจายของมูลค่าเพิ่มในแต่ละจุดของห่วงโซ่ วางเป้าหมายให้ชัดว่าจะไต่บันไดห่วงโซ่อย่างไร จุดไหนทิ้งได้ จุดไหนควรสู้ โดยตระหนักว่าการสร้างตราสินค้าไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปอีกต่อไป

 

กรอบคิดนโยบายใหม่  =  ห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติ  +  หนึ่งนโยบายหลายโจทย์

 

เช่นในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ เพราะสนใจแค่แบรนด์เนมที่มองเห็นด้วยตา ทั้งผู้กำหนดนโยบายและคนจำนวนมากจึงเข้าใจผิดคิดว่าบริษัทอย่าง Nokia และ Ericsson ตายไปแล้ว

แต่หากมองผ่านกรอบห่วงโซ่การผลิต เราจะเข้าใจว่าการผลิตมือถือแยกออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ ตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานพื้นฐานของโครงข่าย การวิจัยและออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตชิ้นส่วนหลัก และการใช้แรงงานประกอบ

กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเป็นเจ้าของแบรนด์ บริษัทอย่าง Nokia และ Ericsson อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะผันตัวไปเป็นผู้ครอบครองมาตรฐานและเทคโนโลยีต้นน้ำ เช่น Ericsson เป็นเจ้าของสิทธิบัตรถึง 39,000 รายการ จนทำให้มีรายรับจากการขายสิทธิบัตรถึงปีละ 1,600 ล้านดอลลาร์

ไม่ว่ายักษ์ใหญ่อย่าง Apple, Samsung และ Huawei จะห้ำหั่นกันรุนแรงเพียงใด ทั้งสามบริษัทต่างก็ต้องพึ่งพามาตรฐานพื้นฐาน อาทิ เทคโนโลยี 4G หรือระบบสัญญาณ wifi จากเจ้าของสิทธิบัตร จนต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรเหล่านี้รวมกันถึงประมาณร้อยละ 5 ของต้นทุนการผลิตมือถือแต่ละเครื่อง

นอกจากนี้ การคิดนโยบายแห่งอนาคตจำเป็นต้องให้หนึ่งนโยบายสามารถตอบหลายโจทย์ไปพร้อมกัน เช่น นโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น

 

เทคโนโลยีสีเขียว  =  ปรับสมดุลสิ่งแวดล้อม  +  ยกระดับเทคโนโลยี  +  สร้างงานคุณภาพ

 

ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยยังต้องการการเจริญเติบโต แต่การใช้พลังงานฟอสซิลต้องลดลง ต้องกล้าปรับโครงสร้างจริงจัง งานที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต้องทยอยลด โยกย้ายเพิ่มเติมโอกาสงานไปสู่อุตสาหกรรมและบริการใหม่ๆ ที่ใช้พลังงานสะอาด การเปิดสัมปทานพลังงานทดแทน แล้วนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศเข้ามา เป็นเพียงการถ่ายโอนทรัพยากรของสังคมไปสร้างมหาเศรษฐีทำงานน้อยร้อยล้านอีกกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

เราต้องใช้การเติบโตสีเขียวเป็นโอกาสในการยกระดับเทคโนโลยีของประเทศ กระจายงานคุณภาพให้ทั่วถึง ดังเช่นที่เยอรมนีทำสำเร็จด้วยบทบาทของหัวหอกธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่าง KfW แม้ว่าจะเป็นผู้มาทีหลังและต้องไล่กวดหลายประเทศก็ตาม

 

ในขณะเดียวกัน การรับมือกับสังคมสูงวัยอย่างที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ก็ต้องไปไกลกว่าเรื่องงบประมาณและสุขภาพ

เราควรมองปรากฏการณ์นี้เป็น “ตลาดสีเงิน” หรือ Silver Markets เปรียบเปรยกับผมสีดอกเลาของผู้สูงอายุ

พลิกมุมมองจากที่เคยเห็นสังคมสูงวัยเฉพาะด้านที่เป็นภาระของประเทศ เปลี่ยนเป็นการมองให้รอบด้านขึ้น เพื่อตระหนักถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

 

ตลาดสีเงิน = สังคมที่เอื้อกับผู้สูงวัย + ตลาดสินค้า/บริการใหม่ + โอกาสทางเทคโนโลยี

 

อย่าลืมว่า ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยคือคนที่ทำงานมาทั้งชีวิต จึงมีเงินออมสะสมเพื่อใช้จ่ายในชีวิตบั้นปลาย และถ้ามองให้ไกลกว่านั้น คนกลุ่มนี้ต้องการสินค้าและบริการที่แตกต่างจากคนวัยทำงานอย่างมีนัยสำคัญ

นี่คือพื้นที่ที่เราสามารถออกแบบนโยบายเศรษฐกิจโดยคิดถึงโอกาสการจ้างงานใหม่และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยไปพร้อมกัน ผู้สูงวัยไม่ได้ต้องการแค่ระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องการที่อยู่อาศัยเฉพาะแบบ การคมนาคมแบบใหม่ หุ่นยนต์ดูแล รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอย่างเครื่องสำอาง และมิติทางสังคมอย่างสถานที่ออกกำลัง เต้นรำ ดูภาพยนตร์

สินค้าและบริการที่ว่ามาทั้งหมดนี้มีศักยภาพในการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศไปอย่างพลิกผัน ยุทธศาสตร์การเป็นครัวโลกจะสำเร็จแค่ไหนก็ว่ากันไป แต่ถ้าโฟกัสมากกว่าเดิมเป็น “ครัวโลกของผู้สูงวัย” ประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพไม่น้อย สร้างซัพพลายเชนใหม่ได้ทั้งระบบ

 

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มาตรการด้านอุตสาหกรรมและการค้าถูกผูกรัดไว้ด้วยกรอบกติการะหว่างประเทศ แต่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว เริ่มมีข้อเรียกร้องสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ สร้างโลกาภิวัตน์ที่เปิดกว้างยืดหยุ่น ดังที่เราเคยมีในกรอบเบรตตันวูดส์ที่สร้างยุคทองของทุนนิยมในช่วงปี 1945–1973 ซึ่งแต่ละประเทศมี “พื้นที่นโยบาย” (policy space) มากกว่าปัจจุบัน จนทำให้เสถียรภาพด้านการผลิตและการจ้างงานสูงเป็นประวัติการณ์

 

ระเบียบโลกสีทอง = โลกาภิวัตน์ปลายเปิด + การปรับตัวของผู้คุมกฎ

 

แน่นอนว่ายุคทองที่เปิดกว้างไม่ได้หมายถึงการไร้กฎเกณฑ์ ผู้คุมกฎต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย ดังที่เราสามารถเรียนรู้จากสหภาพยุโรป เช่น การตัดสินให้ Google จ่ายค่าปรับมูลค่า 2,400 ล้านยูโรในปี 2017 เพราะนำบริการค้นข้อมูลที่ควรเป็นกลาง มาเอื้อประโยชน์ให้บริการซื้อสินค้าของตนเอง

คณะกรรมาธิการการแข่งขันของสหภาพยุโรปประมวลข้อมูลมหาศาลด้วยการสุ่มค้นหาจำนวน 1,700 ล้านรายการ เพื่อยืนยันว่าอัลกอริทึมของ Google จงใจทำให้การค้นหาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ค้ารายอื่น นี่เป็นตัวอย่างการปรับตัวของผู้คุมกฎเพื่อรักษาการแข่งขันของตลาด ซึ่งนับเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของทวีปที่เป็นจุดกำเนิดทุนนิยมโลก

 

Never let a good crisis go to waste.

ดังที่ วินสตัน เชอร์ชิล เคยเตือนไว้ว่า “อย่าปล่อยให้วิกฤตกลายเป็นความสูญเปล่า”

ระยะสั้น เราต้องช่วยกันเฝ้าระวังบาซูก้าการคลังกลายพันธุ์ ระยะกลางต้องจับกระแสเศรษฐกิจโลกไว้ให้มั่น

ส่วนระยะยาว เทคโนโลยีสีเขียว ตลาดสีเงิน และระเบียบโลกสีทอง คือ “สีสัน” ของเศรษฐกิจแห่งอนาคต

 

อ้างอิง

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save