fbpx
จากต้มยำกุ้งถึง COVID-19 : รัฐบาลพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่หรือยัง

จากต้มยำกุ้งถึง COVID-19 : รัฐบาลพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่หรือยัง

วิมุต วานิชเจริญธรรม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

1.

 

การพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาค คือความพยายามจะมองอนาคตข้างหน้า โดยใช้ข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏในปัจจุบัน มาประมวลเป็นสถานการณ์สมมติของปัจจัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในกาลข้างหน้า และใช้แบบจำลองเชิงปริมาณ คำนวณค่าตัวเลขที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับอนาคตอันใกล้ออกมา ประหนึ่งเป็นการต่อจุด จากเส้นกราฟที่สร้างขึ้นด้วยข้อมูลจริง โดยจุดต่างๆ ที่ต่อออกไปนั้น คือสิ่งที่คาดการณ์ได้ ณ เวลาปัจจุบัน

ดังนั้นเมื่อปัจจัยพื้นฐานมีแนวโน้มที่หักเหจากเดิมหรือมีข่าวสารที่แตกต่างไปจากแต่ก่อนอย่างมีนัยสำคัญ นักวิเคราะห์จำเป็นต้องนำวิวัฒนาการของเหตุการณ์ใหม่นี้มาปรับแก้ค่าพยากรณ์

ดังเช่นเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2563 จากเดิมที่พยากรณ์ไว้ร้อยละ 2.8 เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

การระบาดของโรค covid-19 ซึ่งไม่อยู่ในข้อสมมติของการพยากรณ์ในครั้งก่อน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจนทำให้ ธปท. ต้องปรับประมาณการใหม่ โดยคาดว่า จีดีพีในปีนี้จะหดตัวลงจากมูลค่าในปีก่อน ในอัตราร้อยละ 5.3

การปรับค่าพยากรณ์จากร้อยละ 2.8 เป็น -5.3 นั้นสะท้อนถึงความพลิกผันของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี เมื่อดูในรายละเอียดของแถลงการณ์และเอกสารประกอบ จะเห็นได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ธปท. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวรุนแรงขนาดนี้นั้น มาจากภาคส่งออกและภาคบริการเป็นสำคัญ

กล่าวคือ ธปท. คาดว่าภาคส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีอัตราเติบโตเพียงร้อยละ 0.7 ในปีนี้ โดยที่เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักของโลก อาทิสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะเติบโตในอัตราร้อยละ 0.0 และ -1.9 ตามลำดับ

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนี้จะซ้ำเติมธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการที่ต้องสูญเสียนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนไปภายหลังจากที่โรค covid-19 แพร่ระบาดในช่วงตรุษจีน โดย ธปท. คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปีนี้จะลดลงเหลือเพียงแค่ 15 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปีก่อนหน้าเท่ากับว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงในอัตราร้อยละ 64

อย่างไรก็ดี ข้อสมมติเกี่ยวกับสถานการณ์แวดล้อมที่ ธปท. ใช้คำนวณประมาณการเศรษฐกิจ กลับต้องหมดอายุลงอย่างรวดเร็ว เพราะในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา  รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งห้ามการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายประเภท ที่นำให้คนจำนวนมากมารวมตัวกันในสถานที่สุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรืองานอีเว้นต์ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ซึ่งต่อมา ผู้ว่าฯ หลายจังหวัดก็ได้ออกมาตรการในลักษณะเดียวกัน)

จะเห็นได้ว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินนี้ส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจในเมืองหลวงอย่างมาก และผลกระทบด้านเศรษฐกิจมหภาคนั้นยังไม่ได้ถูกผนวกไว้ในการวิเคราะห์แนวโน้มของ ธปท.

ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา เจ.พี. มอร์แกน วาณิชธนกิจที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ได้ปรับลดการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงอีกครั้ง โดยประเมินว่า มาตรการปิดเมืองหรือ lock down ที่หลายมลรัฐประกาศใช้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวลงอย่างรุนแรงในอัตราร้อยละ 10 ในไตรมาสแรกของปีนี้ และยังจะหดตัวต่อไปอีกร้อยละ 25 ในไตรมาสที่สองของปี นอกจากนี้ยังพยากรณ์ว่าอัตราการว่างงานในปีนี้จะแตะระดับร้อยละ 8.5 ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดนับแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา

จะเห็นได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปรับเปลี่ยนรวดเร็วมาก และภาพรวมขณะนี้ได้เลวร้ายลงกว่าข้อสมมติที่ ธปท. ใช้ในการคาดการณ์เศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 5.3

 

2.

 

อันที่จริงประเทศไทยเคยผ่านเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อ 12 ปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้น ประเทศสหรัฐฯ ประสบกับวิกฤตการเงินที่เรียกกันว่า Subprime crisis หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั่นเอง

วิกฤตในครั้งนั้นสร้างสึนามิทางเศรษฐกิจ ที่ส่งแรงกระเพื่อมแผ่เป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเศรษฐกิจไทยนั้นได้รับผลกระทบผ่านทางภาคส่งออก (เพราะประเทศปลายทางประสบวิกฤตเศรษฐกิจ) และผ่านทางห่วงโซ่การผลิต (เนื่องจากประเทศไทยเราอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจในประเทศที่ประสบวิกฤต)

บทเรียนจากอดีตบอกให้เราทราบว่า ผลกระทบจากวิกฤตในประเทศอุตสาหกรรมที่ส่งผ่านช่องทางทั้งสองนั้น สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนแตกต่างกัน ภูมิภาคใดที่มีโครงสร้างการผลิตและโครงสร้างรายได้ที่โยงใยกับเศรษฐกิจโลกมาก ภูมิภาคนั้นก็จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากตามไปด้วย

จากข้อมูลผลผลิตประชาชาติระดับภูมิภาคในช่วงเวลาปี พ.ศ. 2551-2552  (ปี ค.ศ. 2008-2009) เราสามารถคำนวณการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในแต่ละภูมิภาคได้ ดังที่แสดงให้เห็นในตารางด้านล่างนี้

พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2552
ทั้งประเทศ 1.73 -0.69
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ -0.91 6.34
ภาคเหนือ 0.82 1.91
ภาคใต้ -0.03 2.19
ภาคตะวันออก 2.85 -2.83
ภาคตะวันตก -0.22 0.48
ภาคกลาง 14.71 -5.40
กทม. และปริมณฑล 0.76 -1.57

 

จากตารางจะเห็นได้ว่า ภาคกลางและภาคตะวันออกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008-2009 มากกว่าภูมิภาคอื่น กล่าวคือ มูลค่าผลผลิตของภาคกลางในปี พ.ศ. 2552 ลดลงจากปีก่อนหน้าในอัตราร้อยละ 5.4 ในขณะที่มูลค่าผลผลิตของภาคตะวันออกลดลงในอัตราร้อยละ 2.83

เมื่อพิจารณาลงในระดับกลุ่มจังหวัด จะพบว่ามูลค่าผลผลิตที่ปรับลดรุนแรงนั้นกระจุกตัวอยู่ในภาคกลางตอนบน อันได้แก่จังหวัด สระบุรี  สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ส่วนภาคตะวันออกนั้น จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีมูลค่าผลผลิตที่หดตัวลงในอัตราร้อยละ 3.25

หากโครงสร้างการผลิตในปัจจุบันไม่แตกต่างจากอดีตเมื่อ 12 ปีก่อน เราสามารถต่อจุดไปห้วงเวลาข้างหน้าได้ และคาดเดาได้ว่ากลุ่มจังหวัดเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ภัยคุกคามเศรษฐกิจในปีนี้ไม่ได้มีเพียงปัจจัยจากภายนอก เพราะประเทศไทยเองก็พบการแพร่ระบาดของ covid-19 เช่นกัน อีกทั้งมาตรการที่รัฐบาลได้ประกาศพร้อม พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้นก็มีผลทางเศรษฐกิจไม่แพ้มาตรการปิดประเทศที่ใช้กันในประเทศอื่นๆ

มาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคมในขณะนี้ทำให้ปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างคนในระบบเศรษฐกิจหดหายไปมาก การค้าขายในรูปแบบที่คุ้นเคยกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้ประกอบการหลายรายต้องตัดสินใจหยุดกิจการ บ้างเลือกที่จะลดเวลาทำงานของคนงานลง บ้างก็ต้องปลดคนงานออก เหตุการณ์ในปีนี้อาจเทียบเคียงได้กับเมื่อครั้งที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2540 ที่ธุรกิจต้องล้มละลายและมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นมาก

หากย้อนอดีตกลับไปดูข้อมูลผลผลิตรายภาค ณ ช่วงเวลานั้น จะเห็นได้ว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนั้นแผ่เป็นวงกว้าง ส่งผลให้แทบทุกภาคมีมูลค่าผลผลิตและรายได้ที่ลดลงต่ำกว่าปีก่อนหน้า และถดถอยติดต่อกันหลายปี

 

พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2541
ทั้งประเทศ -2.75 -7.63
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ -1.13 -4.97
ภาคเหนือ 0.89 -6.35
ภาคใต้ -0.91 1.02
ภาคตะวันออก 6.43 -9.11
ภาคตะวันตก -2.32 -7.02
ภาคกลาง -0.20 -8.47
กทม. และปริมณฑล -6.53 -9.5

 

จากการคำนวณในตารางข้างบนนี้ จะพบว่าบางพื้นที่เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือ มีการหดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง คือหดตัวในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 6 ต่อปี ในปี 2541 หรือหนึ่งปีหลังวิกฤต

ข้อสังเกตจากอดีตเตือนเราถึงผลกระทบที่รุนแรงและยืดเยื้อ ทั้งยังครอบคลุมทั่วทั้งประเทศอีกด้วย

เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเทียบเคียงได้กับวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลจึงควรมองถึงอัตราการหดตัวของจีดีพีที่สูงกว่าร้อยละ 5.3 ที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ และควรเตรียมรับมือกับเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างแรงในทุกภูมิภาคเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสองปี

 

3.

 

คำถามที่ตามมาคือ หากวิกฤตครั้งนี้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากกว่าวิกฤตในอดีต รัฐบาลมีความพร้อมมากเพียงใดในการรับมือ และลดผลกระทบที่ทั้งรุนแรง ยืดเยื้อ และครอบคลุม

รัฐบาลสามารถเรียนรู้จากมาตรการที่นานาประเทศนำมาใช้รับมือกับวิกฤตครั้งนี้ได้ เพราะทุกประเทศต่างเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงสามารถถอดบทเรียนจากต่างประเทศ คัดเลือกมาตรการทางเศรษฐกิจที่ใช่และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับบ้านเรา

แนวทางของการใช้นโยบายสาธารณะในยามวิกฤตนี้ คือภาครัฐไม่ควรใช้มาตรการทางด้านการเงินหรือการคลังเพื่อกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมในลักษณะของการหว่านเม็ดเงิน เพราะช่องทางที่เม็ดเงินจะหมุนวนให้เกิดการจับจ่ายเป็นทวีคูณในระบบเศรษฐกิจ ได้ถูกตัดตอนลงด้วยการสร้างระยะห่างทางสังคม และการปิดพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในเศรษฐกิจ ดังนั้นประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินจึงลดลงจากเดิมมาก

รัฐควรเก็บกระสุนไว้เพื่อใช้กับมาตรการที่กำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ของมาตรการได้ชัดเจนกว่าคือ การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัว ซึ่งวิธีที่รัฐบาลไทยได้เริ่มต้นทำไปบ้างแล้วคือการจ่ายเงินรายเดือนให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ  40 เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท นาน 3 เดือน อย่างไรก็ดี จากตัวเลขในอดีต (ตารางที่ 1 และ 2 ข้างต้น) ชี้ให้เห็นว่า ความเสียหายจากวิกฤตครั้งนี้ใช่ว่าจะจบลงได้ภายในเวลาเพียงสามเดือน แต่อาจยืดเยื้อออกไปยาวจนส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยนานนับปี ดังนั้นรัฐบาลควรเตรียมจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับการดูแลความเดือดร้อนในกรอบเวลาที่ยาวนานขึ้น และครอบคลุมประชาชนในทุกภูมิภาค เพื่อมิให้มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

และสุดท้ายคือ รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดยเร็ว เพราะวิกฤตในครั้งนี้ได้ทำให้ภาพเศรษฐกิจที่ผู้ร่างยุทธศาสตร์ฯ ได้จินตนาการไว้เมื่อสองปีก่อน เป็นเพียงภาพฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงได้ในชั่วพริบตา

การทำงานจากบ้านหรือ work from home กำลังจะกลายเป็น new normal และแรงงานไทยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะให้สอดรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นภายใต้วิกฤตครั้งนี้

วิสัยทัศน์ยาวไกลถึง 20 ปี ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สังคมต้องการในช่วงเวลาเช่นนี้ หากแต่เป็นความตระหนักรู้แท้ถึงความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ไป ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่า มีความรู้และความสามารถพอที่จะจัดการกับภาระอันหนักอึ้งนี้ได้

เส้นที่เราลากต่อจากเส้นกราฟในวันนี้ อาจหักหัวลงหนักตามความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เมื่อผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว เส้นทางเศรษฐกิจไทยจะสามารถเชิดหัวขึ้นได้เร็วแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้เป็นสำคัญ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save