fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนเมษายน 2564

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกุมภาพันธ์ 2564



มานพ พิทักษ์ภากร

‘ทางเลือกวัคซีน ทางรอดประเทศไทย’ กับ มานพ พิทักษ์ภากร

โดย กองบรรณาธิการ

หลังการระบาดระลอกสามของโควิด-19 ยิ่งทำให้สังคมตั้งความหวังกับวัคซีน ที่หลายคนเชื่อว่านี่คือทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดและเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับวัคซีน ทั้งประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ผลข้างเคียงหลังฉีด รวมถึงการจัดการการกระจายวัคซีนของรัฐบาล

101 ชวน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาคุยว่าด้วยประเด็นวัคซีนโควิด-19

ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับอะไร ผลข้างเคียงหลังฉีดมีจริงไหม รวมถึงคำถามใหญ่อย่างการจัดการการกระจายวัคซีนควรเป็นอย่างไร การฉีดวัคซีนจะทำให้ชีวิตเรากลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ มีตัวอย่างน่าสนใจของประเทศไหนบ้างที่เราควรจะไปถึง


ชิปหาย–คนรุ่นใหม่–สมองไหล: ชิป 3 นาโนเมตรของไต้หวันกับรัฐสภาหมื่นล้านของไทย

ชิปหาย–คนรุ่นใหม่–สมองไหล: ชิป 3 นาโนเมตรของไต้หวันกับรัฐสภาหมื่นล้านของไทย

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

“ไต้หวันกำลังจะผลิตชิปขนาดเล็กที่สุดในโลก” l “ไทยกำลังจะมีรัฐสภาที่ใหญ่สุดในโลก” l “คนรุ่นใหม่สิ้นหวังกับอนาคตของประเทศไทย”

“ผมเห็นจุดเชื่อมต่อลางๆ ระหว่างข่าว 3 ชิ้นนี้ นั่นคือปรากฏการณ์ “สมองไหล” ซึ่งเคยเป็นปัญหาสำคัญของไต้หวันในอดีต และอาจจะเกิดกับประเทศไทยอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้”

“ความหวงแหนอำนาจของคนรุ่นเก่าในไต้หวันเคยผลักไสคนรุ่นใหม่ออกนอกประเทศ ก่อนจะเกิดความตระหนักและการแก้ไขจนเกิดปรากฏการณ์ ‘สมองไหลกลับ’ ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฮเทคจนประสบความสำเร็จ”

“หากความสำเร็จทางเศรษฐกิจของไต้หวันจะบอกอะไรเราได้สักอย่าง ก็น่าจะเป็นบทเรียนที่ว่า เราไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้โดยไม่ปรับสภาพแวดล้อมทางการเมือง รวมทั้งปรับความฝันของรัฐกับความฝันของประชาชนให้เป็นเนื้อเดียวกัน”

“ด้วยงบประมาณกว่า 12,000 ล้านบาท และพื้นที่ 424,000 ตารางเมตร ทำให้ประเทศไทยกำลังจะทำลายสถิติด้วยการมีอาคารรัฐสภาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก”

“ความฝันของรัฐไทยช่างเป็นโลกคู่ขนานกับความฝันของไต้หวัน”

“ภาพความฝันคู่ขนานระหว่างไทยกับไต้หวันแทนคำตอบได้ดี ว่าทำไมรัฐไทยกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางมากกว่าปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาประเทศในยุคแห่งเทคโนโลยี และทำไมคนรุ่นใหม่ของไทยถึงอยากออกเดินทาง”


นิติศาสตร์ต้องรอด!

นิติศาสตร์ต้องรอด !

“หัวใจสำคัญของนิติศาสตร์คือ การทำให้คนเชื่อว่ายังมีความยุติธรรมอยู่” – เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย 

“หัวใจสำคัญของนิติศาสตร์คือ การทำให้คนเชื่อว่ายังมีความยุติธรรมอยู่ แต่ความยุติธรรมคืออะไรก็ต้องไปดีเบตกันต่อ เพราะทุกคนเข้าใจคำว่าความยุติธรรมไม่เหมือนกัน แต่คุณต้องพยายามทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ แต่ถ้าทำไปแล้วคนจะลุกขึ้นมาฆ่ากัน ก็ควรจะคิดได้แล้วว่าที่คุณทำอยู่ไม่ใช่ความยุติธรรมแน่ๆ”

ในห้วงยามที่กระบวนการยุติธรรมถูกสังคมไทยตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่สุดครั้งหนึ่ง Spotlight #ต้องรอด ประจำเดือนนี้ สนทนากับ อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไล่เรียงตั้งแต่องค์ความรู้ด้านนิติศาสตร์ในไทย ระบบการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา การวิพากษ์ระบบการเรียนการสอน และบทบาทของคณะนิติศาสตร์ในปัจจุบัน ไปจนถึงการปรับตัวของนิติศาสตร์ในยุคเทคโนโลยีเขย่าโลก

“ปัญหาหนึ่งของการเรียนนิติศาสตร์คือ หลายครั้งเรามีความคิดว่า คำตอบที่ถูกต้องมีแบบเดียว โดยเฉพาะสิ่งที่ศาลชี้ออกมา แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้ว่าคนเราเลือกทางไม่เหมือนกัน และทุกทางก็อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องก็ได้ ผมว่าเรายังไม่ชินกับการถกเถียงปัญหาปลายเปิด เพราะเวลาสอบเราถูกวัดปลายปิดว่าคุณตีความเหมือนฎีกาหรือข้อสอบเข้าผู้ช่วยฯ ขนาดไหน ทำให้ยังไม่ค่อยเห็นการตีความตามพลวัตจากนักนิติศาสตร์ในไทย”

“ปัจจุบัน คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เห็นว่าการกระทำต่างๆ เช่น การสั่งยิงกระสุนยาง หรือบางอย่างที่เกิดขึ้นในรัฐสภา การตีความต่างๆ มันไม่ชอบ และการที่พวกเขาเห็นตรงกันแบบนี้เพราะสถานการณ์มันแย่จริงๆ อีกทั้งเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวอย่างหนึ่งของกฎหมาย คือคุณอยากวิจารณ์ก็ทำไป แต่กฎหมายอยู่กับเขา อีกฝั่งก็ไม่สะทกสะท้านอยู่แล้ว”

“ผมอยากเห็นการที่นิสิตจะรู้ลึกและรู้กว้าง ส่วนที่ต้องรู้ลึกก็ต้องรู้จริง ไม่ได้เป็นแค่นักเทคนิคที่ท่องๆ ต่อกันมา คุณต้องรู้ลึกไปเลยเพื่อที่ในโลกที่เปลี่ยน คุณยังมีฐานอะไรบางอย่าง ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้คือ บางครั้งคุณอาจจะเจอสถานการณ์ที่ใบเปลี่ยน กิ่งก้านหัก ถูกตัดเสริมเติมแต่ง แต่รากคุณต้องแข็งแรง คุณอาจจะงอกใหม่ในรูปแบบต่างๆ ได้เสมอ แต่ความรู้พื้นฐานต้องมั่นคง และนอกจากรู้ลึกแล้วยังต้องรู้กว้างหรือรู้รอบ เพราะศาสตร์หลายอย่างมีความซับซ้อนมากขึ้น ถ้าคุณเรียนแค่นิติศาสตร์แล้วอยู่ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้แล้ว ทั้งเศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคม จริยธรรม ทุกอย่างเรียกร้องให้คุณต้องรู้กว้างที่สุด”


ผ่าพิภพไททัน โพรพากันดา อัลกอริทึม

ผ่าพิภพไททัน โพรพากันดา อัลกอริทึม

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงการ์ตูนผ่าพิภพไททัน (Attack on Titan) อันสะท้อนถึงการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้คนคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่จะแก้ปัญหา นอกจากทำลายล้างศัตรู

[บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในตอนท้ายของการ์ตูนเรื่องผ่าพิภพไททัน (Attack on Titan)]


‘เพิ่มอำนาจตลาด แต่ไม่ผูกขาด’ : ส่องสื่อรื้อเรื่องเล่าเจ้าสัวควบรวมซีพี-เทสโก้

‘เพิ่มอำนาจตลาด แต่ไม่ผูกขาด’ : ส่องสื่อรื้อเรื่องเล่าเจ้าสัวควบรวมซีพี-เทสโก้

โดย กองบรรณาธิการ

คุณว่าสื่อทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของใคร — เจ้าสัวหรือประชาชน ส่วนตนหรือสาธารณะ?

วลีสะท้านแวดวงเศรษฐกิจ “ถึงอำนาจตลาดมากขึ้น แต่ไม่ผูกขาด” + “แม้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง” ยังไม่ทันสร่างซา

‘สมรภูมิสื่อ’ ว่าด้วยดีลควบรวม ‘ซีพี-เทสโก้ โลตัส’ มูลค่ามากกว่าสามแสนล้านบาท น่าจะกลับมาคึกคักร้อนแรงอีกครั้ง

เมื่อสถานการณ์ด้านหนึ่งเทสโก้ โลตัส เริ่มปรับแบรนด์ เปลี่ยนโลโก้ กลายเป็น Lotus’s สีพาสเทล ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ศาลปกครองก็รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะ กรณี ‘คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า’ (กขค.) มีมติอนุมัติการควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้พิจารณาโดยเร่งด่วน

ระหว่างจับตาปัจจุบัน 101 ชวนย้อนอดีต พลิกหน้าหนังสือพิมพ์ ค้นข่าวออนไลน์ในช่วงปี 2563 จากจุดเริ่มต้นในเดือน มี.ค. ถึงคำตัดสินในเดือน พ.ย. เพื่อไล่เรียงดูว่าเรื่องเล่าในหน้าข่าวเกี่ยวกับอภิมหาดีลควบรวมซีพี-เทสโก้ ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร มีเส้นเรื่องและวิธีเล่าในพื้นที่สาธารณะอย่างไร วาทกรรมหลักที่ปรากฏในสื่อทั้งช่วงก่อนและหลังการควบรวมเป็นอย่างไร มีประเด็นอะไรที่ถูกชูเป็นพระเอกของเรื่องนี้บ้าง


life in prison 1

เรื่องเล่าจากเรือนจำหญิง “อยู่ในนี้ เงินหนึ่งบาทก็มีค่า”

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เราเข้าไปใหม่ๆ เห็นบางคนไม่มีญาติ เขามาถามเราว่า เธอ มีตังค์เหลือสักบาทนึงไหม ตอนนั้นเราใช้คูปองกระดาษ มี 5 บาท 10 บาท 50 บาท เราก็คิดในใจว่า แค่บาทเดียวเขาจะเอาไปทำอะไรได้ แต่พอเริ่มอยู่ไป เราก็เข้าใจแล้วว่าอยู่ในนี้ เงินหนึ่งบาทก็มีค่า เพราะซื้อนู่นซื้อนี่ได้ มาตอนนี้พออยู่ข้างนอก เราก็จะนึกถึงตอนที่อยู่ข้างในว่าไม่สามารถทำอะไรได้บ้าง”

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีความพยายามจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง โดยมีข้อกำหนดกรุงเทพเป็นตัวหลักไว้คอยยึด มีความพยายามในการพัฒนาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงโดยคำนึงความละเอียดอ่อนของเพศสภาพ และความต้องการเฉพาะด้าน เช่น การดูแลผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์หรือมีลูกเล็ก เป็นต้น

ในเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศ มีพื้นที่ให้ส่วนของผู้ต้องขังหญิงเพียงน้อยนิด ด้วยเหตุผลเรื่องจำนวนผู้ต้องขังด้วยหนึ่ง แต่นอกเหนือจากนั้น เป็นเพราะเรือนจำไม่ได้สร้างมาเพื่อผู้ต้องขังหญิงตั้งแต่ต้น ทำให้การพัฒนาเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงเป็นเรื่องที่ต้องทำในหลากหลายพื้นที่

ในส่วนของนโยบายก็มีการดำเนินการไป แต่ชีวิตจริงหลังกำแพงนั้นก็ยังมีเรื่องเล่าและความจริงที่เหล่าผู้ต้องขังหญิงต้องเผชิญ

101 ชวนอ่านเรื่องเล่าในเรือนจำหญิงจากอดีตผู้ต้องขัง สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ทั้งการกินอยู่ นอนหลับ และกิจกรรมที่ทำระหว่างช่วงวัน เมื่อคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงจำเป็นต้องได้รับการใส่ใจและแก้ไข


Marx

De omnibus dubitandum : มาร์กซ์บอกให้ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง…ยกเว้นที่ปรึกษา

โดย พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง

คอลัมน์ ‘ช่วยด้วยเพื่อนฉันเป็นฝ่ายซ้าย’ ตอนใหม่ พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง เขียนถึง ‘เอียน’ ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์สุดเขี้ยวผู้มีนิสัยชอบหลบตาคน และ ‘ฝ่ายซ้าย’ ผู้มองว่า “มาร์กซิสม์ในฐานะโครงการทางการเมืองจบไปแล้วในทางประวัติศาสตร์” แต่แปะรูปคาร์ล มาร์กซ์หราไว้หน้าห้องทำงาน (!?)

… เพื่อนอีกคนมองว่าเอียนตั้งใจวางเก้าอี้สำหรับแขกและนักศึกษาที่มาพบเขาในห้องทำงานไว้ด้านหนึ่งของห้องขนาดยาว ในขณะที่ตัวเขาเองนั่งหลบหลังโต๊ะทำงานอยู่ที่อีกฟากของห้อง “ถ้าจะให้เอียนเป็นที่ปรึกษาปริญญาเอกจริงๆ เราแนะนำว่าให้ซื้อวอล์กกี้ทอล์กกี้ไว้ใช้จะได้ไม่ต้องตะโกนคุยกัน” ในขณะที่อีกคนเสริมว่า “ถ้าแกเขียนอะไรไม่ถูกใจเอียนมากๆ ระวังเก้าอี้จะโดนย้ายจากมุมสุดของห้องไปอยู่ในโถงทางเดินนะ”

หลายคนเดาว่าเอียนอาจเป็น social democrat มากกว่าอย่างอื่น เนื่องจากเขาเห็นด้วยกับการมีอยู่ของสหภาพแรงงานเพื่อคานอำนาจกับตรรกะของทุนในการแสวงหากำไรซึ่งกำลังคืบคลานไปสู่ทุกองคาพยพของสังคมอังกฤษรวมไปถึงมหาวิทยาลัย แต่ไม่เห็นด้วยว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นควรถูกแทนที่ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบอื่น

การเดาจุดยืนทางการเมืองของเอียนต่อประเด็นต่างๆ และการเดาว่าตกลงเขาเป็น ‘สหาย’ ฝ่ายซ้ายหรือไม่กลายเป็นหัวข้อสนทนาโปรดของนักศึกษา … ครั้งหนึ่งในวงสนทนา นักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่งยืนยันว่าเอียนเป็นมาร์กซิสต์แน่ๆ เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะแปะรูปคาร์ล มาร์กซ์ไว้หน้าห้องทำงานหราขนาดนั้นทำไป

“แกไม่ได้อ่านล่ะสิว่าใต้รูปคาร์ล มาร์กซ์เขียนว่าอะไร” รูปการ์ตูนของมาร์กซ์รูปนั้นมีคำบรรยายว่า “Question Everything” อันเป็นคำแปลของ De omnibus dubitandum ซึ่งบางคนอ้างว่าเป็น motto ของคาร์ล มาร์กซ์ … การอ่านแบบนี้ดูจะเหมาะกับจุดยืนทางการเมืองของเอียนมากกว่า …


ชนใดไม่มีดนตรีกาลยาวเกินสามนาที: ทุนนิยมอุตสาหกรรมดนตรี และ Noise Music

ชนใดไม่มีดนตรีกาลยาวเกินสามนาที: ทุนนิยมอุตสาหกรรมดนตรี และ Noise Music

โดย พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง

คอลัมน์ ‘ช่วยด้วยเพื่อนฉันเป็นฝ่ายซ้าย’ ตอนใหม่ พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง เขียนถึง เดวิด เพื่อนนักศึกษาฝ่ายซ้าย ผู้เข้าใจวัฒนธรรมไทยด้วยการกินหมากพลูไหว้ศาลเจ้าที่ และมักวิพากษ์ระบบทุนนิยมโลกผ่านรสนิยมทางดนตรี

“เอาล่ะ คำว่าดนตรีมันเคยมีความหมายกว้างกว่าเพลงแบบที่เราได้ยินตามวิทยุมากนะ” ว่าแล้วเดวิดก็เริ่มเล่าด้วยตาเป็นประกาย

“ไม่ใช่แค่ความยาวของเพลงที่โดนผลกระทบโดยตรงจากวิธีคิดแบบเอาธุรกิจนำหน้าศิลปะ แต่คุณภาพและความหลากหลายของเพลงในยุคนี้ก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ เช่นกัน เดวิดเล่าให้ฟังอย่างตั้งใจว่าจริงๆ แล้ว มีดนตรีหลายประเภทที่หล่นหายไปจากการรับรู้ของมนุษยชาติซึ่งถูกลดทอนลงมาให้เป็นแค่เพียงผู้บริโภคเท่านั้น”

“หน้าจอมือถือของเดวิดปรากฏชื่อวงดนตรีชื่อ Sunn O))) (ออกเสียงว่า ซัน เฉยๆ ตัวอักษรโอข้างหลังคือสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์) แต่เสียงที่ได้ยินไม่ได้อะไรที่คนปกติจะเรียกว่า ‘ดนตรี’ เสียงเบสหนัก แต่ไม่มีจังหวะใดๆ มีความเปลี่ยนแปลงช้ามากๆ เอาเป็นว่าตอนแรกผู้เขียนคิดว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา

พอเห็นสีหน้าของทุกคนที่ได้ฟัง ‘เพลง’ ที่เขาว่าเดวิดก็ยิ้มดีใจ “ฉันบอกแล้วว่าคำว่าดนตรีจริงๆ ความหมายมันเคยกว้างกว่านี้มาก”


เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเต้นกินรำกินแบบเกาหลีใต้

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเต้นกินรำกินแบบเกาหลีใต้

โดย  เอกศาสตร์ สรรพช่าง

“40 ปีก่อนเกาหลีใต้ยังถือเป็นประเทศยากจน คนเกาหลีใต้มีรายได้ต่อหัวไม่ต่างจากประเทศในแอฟริกา แต่ตอนนี้ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 10 ของประเทศร่ำรวยที่สุดในโลก และแน่นอนพวกเขามีแฟนคลับที่คอยติดตามศิลปินและซีรีส์เกาหลีอยู่ทั่วโลก”

คอลัมน์ สารกันเบื่อ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การเติบโตของอุตสาหกรรม ‘เต้นกินรำกิน’ ที่พาอดีตประเทศยากจนอย่างเกาหลีใต้ ไปไกลสู่การเป็นเจ้าวัฒนธรรมป๊อประดับโลก

“ตามข้อมูลของ Statistic บอกว่าตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาจำนวนผู้ชมที่ติดตามดูซีรีส์จากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในบางประเทศอย่าง อินโดนีเซีย จีน พบว่ามีคนที่ติดตามดูซีรีส์จากเกาหลีใต้เป็นประจำนั้นเกิน 30% ของจำนวนผู้ที่ติดตามซีรีส์จากต่างประเทศทั้งหมด Netflix เองก็ออกมาให้ข่าวอย่างชัดเจนว่า กำลังให้ความสำคัญกับละครซีรีส์ที่มาจากเกาหลีใต้ เนื่องจากตัวเลขของคนที่ดูซีรีส์เกาหลี โดยเฉพาะตลาดใหญ่ที่สุดอย่างในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี”

“BTS สามารถขายบัตรคอนเสิร์ตหมดตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกที่เปิดจำหน่าย ไม่แพ้กับ Adele หรือ One Direction และยังมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์อีกด้วย”

“หนังจากเกาหลีใต้ได้รับออสการ์ และ Black Pink กลายเป็นกลุ่มเด็กสาวที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก เกิร์ลพาวเวอร์ของพวกเธอสามารถทำเงินได้ปีละราว 750 ล้านบาท ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ลองนับดูว่าพวกเธอสร้างงาน เม็ดเงินและแรงบันดาลให้ผู้คนไปแล้วเท่าไหร่”

“การเต้นกินรำกิน หากทำให้เป็นก็สร้างแรงกระเพื่อมได้หลายอย่างกว่าที่เราคาดคิดไว้มาก … ว่าแต่เคล็ดลับความสำเร็จนั้นอยู่ตรงไหนกัน”


‘จากคนเสื้อแดง ถึงคนรุ่นใหม่’ กับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

‘จากคนเสื้อแดง ถึงคนรุ่นใหม่’ กับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

โดย กองบรรณาธิการ

หลังจากได้รับอิสรภาพ 100% ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. ประกาศตัวเคียงข้างนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่กำลังต่อสู้ พร้อมยืนยันในจุดยืน ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’ ภายใต้หลักการ ‘คนเท่ากัน’

ในวันที่การเมืองกำลังร้อนแรง 101 ชวนอดีตแกนนำคนเสื้อแดง ผู้ถูกจดจำจากลีลาปราศรัยมาอ่านการเมืองไทย ทั้งขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน หนึ่งความฝันของราษฎร กระบวนการยุติธรรมที่จองจำนักต่อสู้ทางการเมือง และบทเรียนที่เขาจะส่งต่อถึงมือคนรุ่นใหม่


ทำไมคนจีนรุ่นใหม่ไม่ยอมมีลูก?

ทำไมคนจีนรุ่นใหม่ไม่ยอมมีลูก?

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“ทำไมคนจีนรุ่นใหม่ไม่ยอมมีลูก?”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงปัญหาของประเทศจีนในยุคสี จิ้นผิง ที่กำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เร็วและแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก กล่าวคือตัวเลขเด็กจีนเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างประชากรจีนบิดเบี้ยวหนักอย่างรวดเร็วและรุนแรง

“หลายคนอาจมองว่า รากฐานของปัญหามาจากนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีนที่บังคับใช้มาอย่างยาวนาน แต่ข้อเท็จจริงคือ ในปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนจากนโยบายลูกคนเดียวมาเป็นนโยบายลูกสองคน แต่ปรากฏว่าอัตราการเกิดกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่เพียงสองปี จากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม แสดงให้เห็นว่า ปัญหาคนจีนไม่ยอมมีลูกไม่ใช่เพราะถูกจำกัดจำนวนว่ามีลูกได้เพียงคนเดียวหรือสองคน แต่มีต้นกำเนิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ซับซ้อนกว่านั้น”

“คนงานอพยพรุ่นแรกยังมีรากเหง้าเชื่อมโยงกับบ้านเกิดในชนบท เมื่อมีครอบครัวก็อาจส่งลูกฝากกลับไปอยู่บ้านเกิดให้ปู่ยาตายายช่วยเลี้ยงดู แต่เมื่อมาถึงยุคของคนงานอพยพรุ่นที่ 2 ในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้กลับขาดรากเหง้าในชนบท ขณะเดียวกันก็ขาดรากเหง้าในเมืองใหญ่ที่ตนเข้ามาทำงานหาเช้ากินค่ำ”

“ปัจจัยทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม เมื่อคนรุ่นหนึ่งเริ่มมีวัฒนธรรมของการใช้ชีวิตโสด ถึงแม้ว่าต่อไปราคาค่าครองชีพจะปรับสมเหตุสมผลขึ้น แต่อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ก็จะไม่กลับมาเป็นปกติเช่นเดิมอีก ตัวอย่างเช่นในญี่ปุ่น แม้การหดตัวของประชากรจะทำให้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกโพละ แต่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ก็ไม่กลับมาแต่งงานและมีลูกในอัตราเดียวกับในอดีต”


“สังคมไทยกับการผูกตาเทพียุติธรรมอีกครั้ง” Exclusive Interview พิเศษ สอาดเย็น

“สังคมไทยกับการผูกตาเทพียุติธรรมอีกครั้ง” Exclusive Interview พิเศษ สอาดเย็น

โดย กองบรรณาธิการ

“ตอนนี้ กระบวนการยุติธรรมเหมือนอยู่ในสภาวะที่เหมือนเอียงไปข้างหนึ่ง เมื่อเทพียุติธรรมที่ควรจะถูกผูกตากลับลืมตาและเหมือนจะเหล่ตาไปข้างหนึ่ง แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะเราอยู่ในสภาวะสุญญากาศที่สังคมป่วย การที่กระบวนการยุติธรรมจะดำรงตนแบบบริสุทธิ์ ไม่มีใครมาแตะต้องได้เลยก็เป็นเรื่องยากมาก แต่คนที่จะดึงกระบวนการยุติธรรมกลับมาได้ก็คือสังคมนั่นแหละ”

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ต้อนรับ ‘ดร.พิเศษ สอาดเย็น’ ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการคนใหม่ ในห้วงยามที่ประชาชนตั้งคำถามกับระบบยุติธรรม และเทพีแห่งความยุติธรรมคล้ายจะถูกเปิดผ้าปิดตาออก 101 ชวนอ่านบทสนทนากับ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ว่าด้วยภาพใหญ่และโจทย์ท้าทายในกระบวนการยุติธรรมทั้งไทยและโลก โจทย์เก่าในบทบาทใหม่ของ TIJ รวมถึงแนวคิดของเขาในการกลับไปผูกตาเทพียุติธรรมอีกครั้ง

“กระบวนการยุติธรรมของเรายังไม่สามารถที่จะหนักแน่นกับหลักการที่ควรจะเป็น และถูกกระแสหรือแรงกดดันอื่นๆ ทำให้ยังต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างปรากฏการณ์เฉพาะหน้ากับหลักการพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อกลไกในระยะยาว ผมว่าตอนนี้ สมดุลของเรายังเอียงไปที่การให้น้ำหนักกับปัญหารุมเร้าทางการเมืองอยู่พอสมควร ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ตามครรลองที่ควรจะเป็น”

“การพูดความจริงกับคนที่ยังไม่พร้อมจะฟังก็เป็นเรื่องยาก แต่เราเชื่อว่าอาจจะยังมีคนอยากฟังอยู่ ถ้าพูดในเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้สติบอกว่าสิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร ส่วนถ้าใครจะไปเชื่อมโยงกับกรณีใดๆ ในบ้านเมืองก็เป็นสิทธิของเขา ตัวเรายึดหลักการที่ควรจะเป็น นี่น่าจะเป็นจุดยืนที่ TIJ ยังเคารพตัวเองได้ในเชิงความซื่อตรง ไม่ได้ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่สนใจความเป็นไปในสังคมเลย”

“มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมเคารพเคยบอกว่า เราต้องมองแบบข้ามเจเนอเรชัน (intergeneration) กันให้ได้ คนยุคใหม่ก็น่าจะต้องมองว่า การที่มีสถานะแบบนี้ดำรงอยู่ (status quo) มันมีที่มาที่ไปของมัน สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เป็นเพราะเขาอยากจะอยู่แบบนี้ แต่มีสาเหตุบางอย่างทำให้ต้องเป็นแบบนี้ ส่วนคนที่อยู่ในอำนาจก็ต้องมองว่า สักวันหนึ่ง อำนาจก็จะไม่อยู่ในมือเราแล้ว เราต้องมองถึงอนาคตบ้าง พยายามหาจุดพอดีที่อยู่ด้วยกันได้แล้วค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า ถ้าไม่มีจุดนี้ก็จะยากมาก เรียกได้ว่าไปคนละทางกันเลย”


The Voice of Aey: เสียงประชาธิปไตยของ เอ้-กุลจิรา ทองคง

The Voice of Aey: เสียงประชาธิปไตยของ เอ้-กุลจิรา ทองคง

โดย ภาวิณี คงฤทธิ์

เอ้ – กุลจิรา ทองคง เคยขีดเส้นไว้ว่า ‘อะไรก็ได้ แต่ไม่ขอถูกจับ’ แต่ภายหลังจากการสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2564 เธอกลายเป็นคนที่มีคดีติดตัวถึง 5 คดี

ภาพที่เธอวิ่งไปช่วยเพื่อนที่กำลังถูกเหล่า คฝ. อุ้มไป และเสียงกรีดร้องด้วยความโกรธคู่กับเสียงตะโกนบอกให้เจ้าหน้าที่ปล่อยเพื่อนเธอ ผ่านไลฟ์สดความยาว 7 นาทีครึ่ง ถูกพูดถึงไปทั่วทั้งโลกออนไลน์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ชวนให้หลายคนอยากรู้จักตัวตนและความคิดของเธอให้มากขึ้น เพราะน้อยครั้งนักที่จะได้เห็นศิลปินดาราบ้านเราออกมา call out ประเด็นการเมืองไทย ยังไม่ต้องพูดถึงการลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้บนนถนนเช่นนี้ ที่นับว่าเป็นภาพหายากยิ่งกว่า

อะไรที่ผลักดันให้เธอกล้าออกมาทำเช่นนี้ สังคมการเมืองไทยในสายตาของเอ้เป็นอย่างไร — ถึงเวลาฟังเสียงของเธออีกครั้ง

“เราเองก็สองจิตสองใจ เราไม่อยากโดนจับ ไหนจะคืนนั้นมีงานที่ต้องไปทำต่อด้วย แต่มันเป็นความรู้สึกผิดมั้ง ความรู้สึกผิดที่ว่ายังมีคนอย่าง เพนกวิ้น รุ้ง และอีกหลายคนที่ต้องอยู่ในคุก แต่เรากลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เออ ตลกดีเหมือนกันนะ นี่กูต้องมาอยู่ในชีวิตที่กูมีความสุขแล้วกูต้องรู้สึกผิดหรือ ทำไมกูต้องมารู้สึกผิดที่ไม่ได้เข้าไปในผ้าใบนั้น ทั้งๆ ที่กูมีสิทธิใช้ชีวิตแบบไม่อยากยุ่งกับใครอยู่แล้ว มันเป็นความรู้สึกผิดพวกนี้ไหลวนในความคิดเรา”

“แต่ถ้าเราไม่รู้สึกผิด เราก็กลายเป็นคนที่เราไม่ชอบ เราไม่อยากเป็นคนที่ แม่ง เห็นคนตายอยู่ใกล้ๆ แต่ก็ยังไม่รู้สึกอะไร เราเลยตัดสินใจก้าวเข้าไปในผ้าใบและไลฟ์สด เพราะเราอยากให้ทุกคนเห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยคลิปนั้นก็ทำให้คนได้รู้ว่าพวกเราต่อสู้กันอย่างสันติจริงๆ”

“ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราโดนจับ มันลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ว่าการจับแบ่งพวกเราเหมือนนักโทษ การพูดว่าพวกเราฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทุกอย่างถูกทำให้ดูเป็นความผิดที่ยิ่งใหญ่มาก ถามว่าทำไมไม่พาเราไปสน. ตามปกติ มีความจำเป็นอะไรที่ต้องเอา คฝ. ชุดใหญ่มานั่งคุมพวกเรา หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างเรื่องผ้าอนามัย เขาก็ยังจัดการให้ไม่ได้ เขาไม่กล้าแม้แต่จะเปิดประตูเพื่อเอาผ้าอนามัยมาให้เราด้วยซ้ำ เพราะไม่รู้ว่า ‘นาย’ อนุญาตหรือเปล่า ก็นายไม่ได้สั่งเรื่องนี้ไว้ ทั้งหมดคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของพวกเราและตอกย้ำความเป็นหุ่นยนต์ของพวกเขา”

“บางคนก็มาคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กว่าพี่แนะนำนะ หนูเป็นแค่นักร้อง ก็ร้องเพลงไป หนูจะมายุ่งอะไรกับการเมือง อ้าว! แล้วพี่มายุ่งอะไรกับหนูคะ เพราะอาชีพที่เราทำเลยทำให้เราไม่มีสิทธิตรงนี้หรือ นี่ประเทศเรา เราจ่ายภาษี แล้วทำไมเราจะยุ่งไม่ได้ คุณใช้สิทธิอะไรมาบอกให้เราห้ามยุ่งการเมือง มันไม่เมคเซนส์มากๆ”


ตุลาการที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง

ตุลาการที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ชวนมองเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการท่ามกลางช่วงเวลาที่สังคมตั้งคำถามถึงความยุติธรรม

“ความเป็นอิสระของตุลาการนั้นดีแน่ ในอุดมคติ ตุลาการที่เป็นอิสระย่อมนำมาซึ่งความยุติธรรม …คำถามคือทำไมสังคมไทยจึงมีปัญหากับระบบยุติธรรมมากเหลือเกิน ถ้าตุลาการไทยเป็นอิสระแล้วทำไมถึงต้องมี ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ เป็นไปได้ว่าเรากำลังเข้าใจความเป็นอิสระของศาลไทยผิด”

“ความเป็นอิสระของศาลควรควบคู่ไปกับความซื่อสัตย์ต่อตนเอง (judicial integrity) ด้วย …แม้การศึกษานิติศาสตร์ไทยจะอบรมคุณธรรมใดๆ ไว้ก็ดี ความซื่อสัตย์ต่อตนเองไม่ใช่หนึ่งในสิ่งที่นิติศาสตร์ไทยสอน เมื่อนักกฎหมายเข้าไปเป็นผู้พิพากษา เขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ หัวหมุนอยู่กับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือแนวทางของผู้บริหารยิบย่อยจำนวนมาก จนบดบังภาพใหญ่ไปจนหมด”

“คำลงท้ายในจดหมายน้อยของทนายอานนท์ นำภานั้นสะเทือนใจคนจำนวนมาก ประโยคที่เขียนสั้นๆ นั้นโดนใจเพราะคนในสังคมรู้สึกร่วมกันได้ว่าทุกคนกำลังร้องขอต่อศาลให้ช่วยชีวิตทุกคนด้วย

“ทุกวันนี้สังคมไทยอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวอำนาจกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมายลุแก่อำนาจ สถาบันตุลาการเพิกเฉย ในสภาพเช่นนี้ ชีวิตของคนไทยปราศจากหลักประกัน ความมั่นคงในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินใดๆ อาจจะดับลงเสียเมื่อไหร่ก็ได้”


American Jobs Plan เปิดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของ โจ ไบเดน

American Jobs Plan เปิดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของ โจ ไบเดน

โดย อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ชวนสำรวจแผน American Jobs Plan เพื่อดูว่าสหรัฐฯ ยุค โจ ไบเดน มีวิธีลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างไร

“ความสำเร็จของ New Deal กลายเป็นต้นแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ และเราก็เห็นการดัดแปลงมาตรการแบบ New Deal ในบริบทที่แตกต่างกันไป เช่น จีนใช้โครงการก่อสร้างเขื่อนหรือรถไฟความเร็วสูง เพื่อแก้ปัญหาอุปทานล้นเกินในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หรือแม้แต่ในโลกหลังโควิด สหราชอาณาจักรในยุคของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ก็ชิงประกาศแผน Build Build Build ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ไปก่อนแล้วตั้งแต่กลางปี 2020”

“แผนการขึ้นภาษีของไบเดนมีความน่าสนใจตรงที่เลือกขึ้นภาษีเฉพาะนิติบุคคล ไม่ขึ้นภาษีบุคคลธรรมดา ทำให้ลดแรงต้านของประชาชนทั่วไปลงได้มาก อีกทั้งมาเสนอขึ้นภาษีในยุคที่บริษัทอเมริกันกำลังร่ำรวยมากๆ โดยเฉพาะบริษัทสายเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสดิจิทัลบูมช่วงโควิดระบาด และมูลค่าหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก น่าจะช่วยดึงอารมณ์ร่วมของคนอเมริกันให้รีดภาษีบริษัทเหล่านี้ เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนทั่วไปได้ง่ายขึ้นด้วย”

“ในกรณีของประเทศไทยที่เจอภัยคุกคามจากโควิด และผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงเหมือนกัน การลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เริ่มดำเนินการไปแล้วจากโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาใช้ในโครงการอย่างคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เรายังไม่เห็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตในลักษณะเดียวกัน”


บทเรียนจากอาร์เจนตินา เมื่อประชาลงทัณฑ์ตุลาการ

บทเรียนจากอาร์เจนตินา เมื่อประชาลงทัณฑ์ตุลาการ

โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

เป็นไปได้ไหมที่ประชาชนจะลงโทษผู้พิพากษาที่ร่วมมือกับเผด็จการทำลายประชาธิปไตยและสร้างความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพปวงชน?

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เขียนถึงตัวอย่างของการลงทัณฑ์ตุลาการในอาร์เจนตินาที่ต้องมีการล้างบางองค์กร ปรับคุณค่าและวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพื่อรองรับการนำเผด็จการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

“ผู้พิพากษาเหล่านี้เพิกเฉยต่อคดีที่เหยื่อเผด็จการฟ้องและร่วมมือลงโทษศัตรูของเผด็จการ ยืนยันความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของเผด็จการ และไม่สอบสวนอาชญากรรมของทหาร ดังนั้น การลงทัณฑ์เผด็จการจะเกิดขึ้นโดยไม่มีการลงทัณฑ์ตุลาการไม่ได้”

“รัฐบาลใหม่สั่งว่าให้ถือว่าการแต่งตั้งผู้พิพากษาในช่วงที่ผ่านมานั้นขัดรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาเหล่านี้ต้องผ่านการคัดกรองอีกทีก่อนจะกลับเข้าสู่ตำแหน่งได้ ผู้พิพากษาบางคนลาออกเนื่องจากทราบดีว่าตนไม่น่าจะผ่านการคัดกรอง

“ผู้พิพากษาประมาณ 500 คนเข้าสู่การคัดกรอง ประมาณร้อยละ 70 ผ่านไปได้ ที่เหลือถูกแทนที่ด้วยผู้พิพากษาใหม่ที่มีอุดมคติโน้มเอียงไปทางประชาธิปไตย”

“เมื่อปรากฏว่าผู้พิพากษาหลายคนยังเป็นปฏิปักษ์ต่อการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แข็งขืนเป็นพันธมิตรกับอดีตเผด็จการ บางคนสั่งไม่ฟ้องคดี บางคนสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา กลุ่มประชาสังคมจึงกดดันไปที่ประธานาธิบดี ซึ่งประณามผู้พิพากษาออกสื่อ สัญญาว่าจะสอบสวน หรือตั้งกระบวนการถอดถอนผู้พิพากษาเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้พิพากษาหลายคนที่ถูกเปิดโปงความสัมพันธ์กับเผด็จการทหารรีบลาออกจากตำแหน่งก่อน”


NOMADLAND สุดเขตชายแดนคือรั้วบ้านของฉัน

NOMADLAND สุดเขตชายแดนคือรั้วบ้านของฉัน

โดย ‘กัลปพฤกษ์’

“หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้พวกเขาอาจจะดูเหมือน ‘คนไร้บ้าน’ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาก็มิใช่ ‘คนไร้เหย้า’”

‘กัลปพฤกษ์’ เขียนถึงภาพยนตร์ #Nomadland ของผู้กำกับหญิงชาวจีน Chloé Zhao ที่กวาดรางวัลจากเวทีการประกวดออสการ์ ครั้งที่ 93 ไปถึง 3 รางวัล ตัวหนังเล่าถึงภาพชีวิตทางเลือกของกลุ่มคนอเมริกันที่ปฏิเสธการตั้งเหย้าเรือนเป็นหลักแหล่งแห่งที่ ใช้ชีวิตประจำวันกินอยู่หลับนอนใน ‘รถบ้าน’ และย้ายตำแหน่งเพื่อหางานทำไปเรื่อยๆ ในแบบฉบับของกลุ่มชนร่อนเร่ (nomad)

“เพราะภูเขาทุกลูก ทุ่งกว้างทุกตารางไมล์ ลำธารทุกสาย รวมถึงชีวิตในธรรมชาติท่ามกลางแมกไม้ในเขตพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาล้วนเป็นพัสถานในครอบครองของพวกเขาทั้งสิ้น ดินแดนที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ จึงกินพื้นที่กว้างไกลไปจนจรดขอบเขตชายแดน สะท้อนสำนึกรักและหวงแหนท้องถิ่นที่กินความไปถึงระดับชาติอย่างไม่อาจจะดูแคลนกันได้เลย”

“Nomadland นับเป็นหนังอินดี้อเมริกันที่สะท้อนภาพชีวิตผู้คนสัญชาตินี้กลุ่มหนึ่งได้อย่างสัตย์ซื่อและสมจริง ชีวิตเล็กๆ เรียบๆ ง่ายๆ ที่แตกต่างไปจากภาพชินตาจากหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มใหญ่หน้าฉากหลังของตัวเมืองอันแสนศิวิไลซ์ เป็นงานอเมริกันภูธรที่ชวนให้ย้อนนึกไปถึงหนังอินดี้บ้านทุ่งของผู้กำกับอย่าง John Sayles ที่ไม่ใคร่จะมีใครเลือกนำเสนอเท่าไรนัก”

“ยิ่งเมื่อได้รู้จักพื้นเพของผู้กำกับ Chloé Zhao ว่าจริงๆ แล้วเธอเกิดและเติบโตในประเทศจีน มิได้มีสัญชาติเป็นคนอเมริกันแต่อย่างใด ก็ยิ่งต้องทึ่งเข้าไปใหญ่ เพราะมันกลับกลายเป็นว่าเธอทำหนัง ‘อเมริกัน’ ได้ ‘อเมริกัน’ ยิ่งกว่าผู้กำกับ ‘อเมริกัน’ แท้ๆ หลายๆ รายเสียอีก!”


ผ่าความคิดชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กลางไฟขัดแย้ง รัฐประหาร และการลี้ภัย กับ จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

ผ่าความคิดชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กลางไฟขัดแย้ง รัฐประหาร และการลี้ภัย กับ จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

ที่ฟากฝั่งตะวันออกของพม่าใกล้กับแนวชายแดนไทย กลุ่มชาติพันธุ์ ‘กะเหรี่ยง’ ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนไหวต้านรัฐประหารอย่างสุดตัว สถานการณ์ทวีความดุเดือดจนยกระดับไปสู่การเผชิญหน้าสู้รบกับทหารพม่า นำไปสู่คลื่นผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงระลอกใหม่เข้ามาสู่แผ่นดินไทย ทำให้เรื่องราวของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นที่สนใจอีกครั้งในสังคมไทย

101 คุยกับ ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ศึกษาและมีประสบการณ์ลงพื้นที่ค่ายผู้อพยพกะเหรี่ยงตามแนวชายแดนไทย-พม่ามาหลายปี เพื่อถ่ายทอดมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะกะเหรี่ยง ต่อการรัฐประหาร พร้อมมองลึกถึงชีวิตกลางไฟความขัดแย้งเรื้อรังใต้การปกครองของกองทัพพม่า สู่ชีวิตผู้ลี้ภัยในรั้วแดนไทย

ข้อเรียกร้องในแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป คนที่อยู่ในเมืองมีแคมเปญเรียกร้องปล่อยตัวสมาชิกรัฐสภาและคนในพรรค NLD ขณะที่กลุ่มที่อยู่แถวชายแดนชูประเด็นเรื่อง ‘สหพันธรัฐ’ (Federal State) โดยแต่เดิม คนที่อยู่ในเมืองมักจะไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบสหพันธรัฐ เพราะคิดว่าจะนำประเทศไปสู่ความแตกแยก อีกทั้งยังไม่ค่อยชอบกองกำลังชาติพันธุ์ แต่รัฐประหารทำให้คนในเมืองเห็นอกเห็นใจกองกำลังชาติพันธุ์มากขึ้น และหันมาสนใจการปกครองแบบสหพันธรัฐ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ซึ่งไม่สามารถเห็นได้เลยในช่วงก่อนรัฐประหาร

จากเดิมที่ทุกอย่างเริ่มตั้งต้นจะดีขึ้น การเกิดรัฐประหารครั้งนี้ทำให้การเจรจาสันติภาพที่ทำร่วมกันมาทั้งหมด 10-20 ปี ต้องเสียเปล่าภายในค่ำคืนเดียว และยิ่งทหารพม่าบุกใช้กองกำลังทางอากาศโจมตีรัฐกะเหรี่ยง ก็ยิ่งยืนยันได้ว่าการเจรจาสันติภาพได้ถึงจุดสิ้นสุดลงแล้ว และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลับมาพูดคุยกันอีก

การปะทะกันระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยง ซึ่งรวมถึงปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่เขตมือตรอ ของรัฐกะเหรี่ยง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังน้อยที่ 5 ของกลุ่ม KNU ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงต้องหนีกระจัดกระจาย โดยจำนวนมากหลบหนีข้ามมายังฝั่งไทย นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นเรื่องที่ก็มีมาโดยตลอดในละแวกชายแดน เพียงแต่ผู้อพยพที่ข้ามมาอาจจะไม่ได้มีจำนวนมาก และการสู้รบที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้รุนแรงเหมือนครั้งนี้

ในค่ายผู้ลี้ภัยมีจัดการกันโดยคณะกรรมการปกครองค่าย (Camp Committee) ซึ่งเป็นคนกะเหรี่ยง ซึ่งหมายความว่าคนกะเหรี่ยงดูแลกันเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้เจ้าหน้าที่ไทยมากนัก…ผู้ลี้ภัยในค่ายไม่ได้ทำเพียงนั่งรอคอยความหวังหรือความช่วยเหลือจากใคร แต่พวกเขาดูแลตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะถูกประนามจากเพื่อนบ้านในค่ายด้วยกันว่าไม่ยอมทำมาหากิน


ยกใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเวทีโลก

ยกใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเวทีโลก

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ลองวาดภาพความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับจีนในเวทีโลกระยะต่อไปว่าจะมีรูปร่างและเนื้อหาอย่างไร ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

“ตอนที่โจ ไบเดนโต้วาทีกับโดนัลด์ ทรัมป์ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์โจมตีไบเดนว่าจะก้มหัวให้แก่จีน และอเมริกาจะกลายเป็นลูกไล่ของจีนอีก แต่ตอนนี้ปรากฏว่าฝ่ายต่างประเทศของไบเดนกลับสืบทอดมาตรการและวิธีการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนของทรัมป์ได้ทำไว้ต่อไป”

“เมื่อดูจากบรรยากาศและสุ้มเสียงการแสดงออกอย่างเปิดเผยของตัวแทนรัฐบาลทั้งสหรัฐฯ และจีนแล้ว ผมมองเห็นในทิศทางเดียวกับที่ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจำนวนมากออกมาให้ความเห็นว่า สัมพันธภาพระหว่างสองมหาอำนาจจะเขม็งเกลียวและทวีความหนักหน่วงกระทั่งอาจไปถึงความรุนแรง ซึ่งระดับสูงสุดคือการทำสงคราม”


“แม่เชื่อว่าคนในกระบวนการยุติธรรมยังมีเกียรติและศักดิ์ศรี” – สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์

“แม่เชื่อว่าคนในกระบวนการยุติธรรมยังมีเกียรติและศักดิ์ศรี” – สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“เราพยายามยื่นประกันหลายรอบ แต่ดูจะไม่มีความหวังว่าจะได้ออกมาเลย คุณต้องการอะไร คุณต้องการลงโทษคนคนหนึ่งที่คิดต่าง คนที่เราเลี้ยงมาอย่างทุ่มหมดหน้าตักเพื่อสร้างเขาขึ้นมาอย่างดีที่สุด เพื่อให้สังคมนี้ได้คนดีหนึ่งคนไป แต่คุณมาทำลายอนาคตเขาแบบนี้ เพียงแค่เขาคิดต่างจากคุณ”

29 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลยกคำร้องของ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ที่ขอโยกย้ายเพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมการเมือง ผู้ต้องหาคดี 112 ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนอกสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี หลังเพนกวินสุขภาพทรุดโทรมลงจากการประกาศอดอาหาร แต่คนเป็นแม่ไม่ย่อท้อ ยังคงเดินหน้าขอประกันตัวบุตรชายจนถึงตอนนี้

101 จึงนัดคุยกับสุรีย์รัตน์ เพื่อถามไถ่ถึงอาการเพนกวิน ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทย และชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อแม่ออกมาเปิดหน้าสู้เพื่อลูก

“อาการตอนนี้ได้ยินว่าเขาเริ่มคัน เป็นแผล ตอนไปศาลคราวที่แล้ว (29 มี.ค.) แม่สังเกตเห็นว่าเท้าเพนกวินเริ่มสีคล้ำขึ้นเหมือนคนเป็นเบาหวาน ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ให้เราเข้าใกล้ตัวเขาเลยนะ เป็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่บางคนยังบอกเลยว่าทำเกินไป เหมือนนักโทษคนนี้จะถูกประหารชีวิต”

“เราคิดแค่ว่าจะช่วยลูกเราได้ยังไง ในตอนนี้ที่เรากำลังจะเสียเขาไป อาจจะอีกแค่ไม่กี่วัน เรารับไม่ได้”

“ทุกวันนี้เราแทบไม่ได้นอน เรานอนไม่ได้ นอนไม่หลับ ทุกคนอาจบอกว่าแม่เพนกวินเข้มแข็งจังเลย ไม่ (เสียงสั่น) เราร้องไห้จนไม่มีน้ำตา วันที่ไปศาล เราร้องไห้กอดลูกแต่ไม่มีน้ำตาไหลออกมา มันอยู่ข้างใน ต่อหน้าลูกเราพยายามไม่ร้องไห้ เพราะไม่อยากให้ลูกทรมานใจ เรารู้ว่าลูกรักเรามาก แม่ก็รักเพนกวินมาก แม่บอกพี่เสมอว่าเราสนิทกันตั้งแต่พี่ยังอยู่ในท้อง เรารู้จักกันมานานขนาดนั้นเลยนะ”

“เรื่องของกวิ้นทำให้เราได้ไปสัมผัสมวลชนตอนเดินทะลุฟ้า ได้เห็นว่าคนอื่นๆ สู้เพื่อลูกเราขนาดไหน รู้ว่าเขาคิดยังไงกับเพนกวิน เจอว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง เรียนรู้ว่าที่ผ่านมาลูกลำบากขนาดไหน แล้วเราทำอะไรได้บ้าง เราที่เป็นแม่จะนั่งอยู่เฉยๆ ให้คนอื่นสู้แทนไม่ได้อีกแล้ว”

“แม่เชื่อว่าคนในกระบวนการยุติธรรมยังมีเกียรติและศักดิ์ศรี ตอนนี้ท่านเป็นที่พึ่งของคนทั้งชาติ เราหวังว่าจะมีฮีโร่เร็วๆ นี้ ส่วนมวลชนที่เพนกวินรัก ซึ่งตอนนี้รักมากกว่าแม่อีก แม่ได้ยกเพนกวินให้มวลชนไปแล้ว ก็หวังว่ามวลชนอย่าเพิ่งทิ้งเพนกวิน อย่าปล่อยให้สิ่งที่ครอบครัวเราสูญเสียไปทั้งหมด ไม่ว่าความเป็นส่วนตัวหรืออะไรต่างๆ ที่หลายครอบครัวสูญเสียต้องเสียเปล่า”


NEW RELEASES จาก 101 Podcast

“เพราะความรู้เป็นเรื่องสนุก”

คลายความเหงา เติมความรู้ ช่วง Work From Home ไปกับรายการพอดแคสต์หลากรส โดยกองบรรณาธิการ 101 และผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงต่างๆ



:: ASEAN บ่มีไกด์ ::

เมื่อ ‘อาเซียน’ ไม่ได้มีแค่ชุดประจำชาติ อาหารประจำชาติ คำทักทาย 10 ชาติ หรืออาเซียนซัมมิท ‘ASEAN บ่มีไกด์’ จะพาคุณออกจากอาเซียนแบบเดิมๆ ไปรู้จักอาเซียนในมุมใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยเห็น สนุก ลึก และลับ แบบที่ไกด์สำนักไหนไม่เคยพาไปมาก่อน!

ดำเนินรายการโดย : เบน – วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา


:: Art เจอนี่ ::

รายการที่จะพาคุณเปิดประตูไปทำความเข้าใจโลกศิลปะทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ผ่าน ‘วงเล่า’ หลังสตูดิโอของ ปาล์ม – ธาดา เฮงทรัพย์กูล ศิลปินอิสระที่สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสะท้อนและต่อสู้กับปัญหาของสังคม ที่จะทำให้คุณเห็นว่า ‘ศิลปะพาเราไปเจออะไรได้บ้าง’

ดำเนินรายการโดย : ปาล์ม – ธาดา เฮงทรัพย์กูล และ ฟ้าใหม่ พงศกรเสถียร


:: เปิดเครื่องเนิร์ด ::

รายการที่ตั้งคำถามกับทุกอย่างรอบตัว ตั้งคำถามจนทำให้การใช้ชีวิตง่ายๆ ของคุณ ไม่ง่ายอีกต่อไป! เช่น ทำยังไงให้ชาติหน้าเกิดเป็นหมาคนรวย? จะเป็นยังไงถ้าไทยเป็นเจ้าโลก? แล้วโลกจะเป็นยังไงถ้าเกิดทุกคนบนโลกเป็นหมัน!? มาร่วมไขปัญหาสุดเพี้ยนด้วยคำตอบสุดฉลาดและมีหลักการ ไปพร้อมกับพวกเราชาวกองฯ 101

ดำเนินรายการโดย : กองบรรณาธิการ 101


:: In relationships with IR ::

หากคุณกำลังอยู่ใน ‘complicated relationship’ กับโลกใบนี้! สรุปแล้ว เธอ ฉัน เรา เขา เราเกี่ยวข้องกันยังไง?! มาร่วมทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในรูปแบบวงเม้าของเพื่อน ผ่านแว่นตาของสองเพื่อนซี้จากคณะรัฐศาสตร์

ดำเนินรายการโดย : จีน – ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล และ มาย – กานต์ธีรา ภูริวิกรัย


:: ความรู้รอบผัว ::

อยากย้ายศาลพระภูมิต้องทำยังไง? ตกลงแล้ววันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ไทยจริงหรือเปล่า? มาร่วมไขปริศนาวัฒนธรรมรอบตัวและถอดรหัสความเชื่อที่ไม่เคยถูกอธิบาย ไปกับ อ.ตุล – คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และภรรยา แพร์ – วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์

ดำเนินรายการโดย : อ.ตุล – คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และ แพร์ – วิลาวัณย์ บุญเกื้อกุลวงษ์


:: In Focus ::

รายการที่จะเก็บไฮไลต์ผลงานเด่นของ The101.world มาเล่าสู่กันฟังทุกสัปดาห์

ดำเนินรายการโดย : กองบรรณาธิการ 101


:: Presscast ::

รายการที่ชวน ‘ตัวจริง’ ของวงการสื่อมวลชนมาร่วมพูดคุยถึงวิธีคิดและเบื้องหลังการทำงาน เพื่อเข้าถึงและเข้าใจสื่อในยุค disruption

ดำเนินรายการโดย : อ้าย – ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์


:: Innerscape ::

รายการที่จะสะท้อนโลกภายในจิตใจผ่านศิลปะ ชวนสำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง เส้น สี และอารมณ์ การเคลื่อนไหว รอยแปรง ที่ร้อยรัดเข้ากับเรื่องราวจากหัวใจ

ดำเนินรายการโดย : นิว – ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ และ ครูมอส – อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี


รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนเมษายน 2564


นิติศาสตร์ต้องรอด กับ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นห้วงยามที่กระบวนการยุติธรรมถูกสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่สุดครั้งหนึ่ง การกระทำหลายอย่างของผู้ใช้กฎหมายถูกตั้งคำถาม ทำให้บางครั้งกฎหมายกลับกลายเป็นโซ่ตรวนแห่งสิทธิเสรีภาพ พร้อมกับที่หลายคนเริ่มส่งเสียงกลับไปยัง ‘คณะนิติศาสตร์’ ในฐานะจุดเริ่มต้นที่สอนคนออกไปใช้กฎหมาย – ในสภาวะเช่นนี้ คณะนิติศาสตร์ควรวางบทบาทของตนเองอย่างไร ควรให้อะไรกลับคืนสู่สังคมบ้าง

นอกจากความท้าทายที่มาพร้อมกับสถานการณ์บ้านเมือง คณะนิติศาสตร์ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างในตัวศาสตร์เอง ทั้งองค์ความรู้และพลวัตต่างๆ ระบบการเรียนการสอนและการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาที่เป็นความฝันของนักเรียนนิติศาสตร์หลายคน ไปจนถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี ที่เรียกร้องให้นิติศาสตร์ต้องหาทางออกและปรับตัวไม่ต่างจากศาสตร์อื่น

101 สนทนากับ อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องความรู้ การวิพากษ์ระบบและการเรียนการสอน บทบาทของคณะนิติศาสตร์ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไปจนถึงการปรับตัวของนิติศาสตร์


Constitution Dialogue ครั้งที่ 5 “นโยบายสาธารณะ”

นำเสนอแนวคิดโดย สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ร่วมเสวนาโดย (1) จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการเลือกตั้ง

(2) สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

(3) วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น

ดำเนินรายการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จัดโดย (1) ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2) ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (4) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (5) เว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world


Constitution Dialogue ครั้งที่ 6 “การกระจายอำนาจ”

นำเสนอแนวคิดโดย ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ร่วมเสวนาโดย (1) ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(2) เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก

(3) ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(4) รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)

ดำเนินรายการโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จัดโดย (1) ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2) ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (4) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (5) เว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world


101 One-on-One EP.221 ‘จากคนเสื้อแดง ถึงคนรุ่นใหม่’ กับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

101 One-on-One EP.221 ‘จากคนเสื้อแดง ถึงคนรุ่นใหม่’ กับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

โดย 101 One-on-One

หลังจากได้รับอิสรภาพ 100% ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. ประกาศตัวเคียงข้างนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่กำลังต่อสู้ พร้อมยืนยันในจุดยืน ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’ ภายใต้หลักการ ‘คนเท่ากัน’

ในวันที่การเมืองกำลังร้อนแรง 101 ชวนอดีตแกนนำคนเสื้อแดง ผู้ถูกจดจำจากลีลาปราศรัยมาอ่านการเมืองไทย ทั้งขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน หนึ่งความฝันของราษฎร กระบวนการยุติธรรมที่จองจำนักต่อสู้ทางการเมือง และบทเรียนที่เขาจะส่งต่อถึงมือคนรุ่นใหม่


101 One-On-One Ep.222 ทางเลือกวัคซีน ทางรอดประเทศไทย กับ มานพ พิทักษ์ภากร

โดย 101 One-on-One

หลังการระบาดระลอกสามของโควิด-19 ยิ่งทำให้สังคมตั้งความหวังกับวัคซีน ที่หลายคนเชื่อว่านี่คือทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดและเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับวัคซีน ทั้งประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ผลข้างเคียงหลังฉีด รวมถึงการจัดการการกระจายวัคซีนของรัฐบาล

101 ชวน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาคุยว่าด้วยประเด็นวัคซีนโควิด-19

ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับอะไร ผลข้างเคียงหลังฉีดมีจริงไหม รวมถึงคำถามใหญ่อย่างการจัดการการกระจายวัคซีนควรเป็นอย่างไร การฉีดวัคซีนจะทำให้ชีวิตเรากลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ มีตัวอย่างน่าสนใจของประเทศไหนบ้างที่เราควรจะไปถึง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save