fbpx
ตุลาการที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง

ตุลาการที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง

“แต่ความซื่อสัตย์ต่อตนเองไม่มีทั้งโทษและคุณ หรือไม่มีทั้งโทษและคุณซึ่งคนอื่นจะรับรู้ได้ นายใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม  ทุกคนก็รู้ แต่ไม่มีใครคิดจะปกป้องเหยื่อ ได้แต่แสดงความเห็นใจเหยื่อลับหลังนาย กลายเป็นบรรยากาศแห่งความกลัวที่นายอาจใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกับใครอีกก็ได้

“ในสถานการณ์เช่นนี้ ทุกคนมีเสรีภาพ (จากข้อจำกัดภายนอก) จะตอบสนองอย่างไรก็ได้ เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม ก็เป็นหนึ่งวิธี ไม่หลิ่วตา แต่ทำตาใสเหมือนไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งนั้น เข้าไปประจบนายเพื่อให้กำลังใจ ไปจนถึงลุกขึ้นปกป้องเหยื่อ ผมเชื่อว่าทางเลือกอันหลากหลายเช่นนี้มีในทุกสังคม เพราะผมไม่เชื่อว่าฝรั่งไม่ขี้ประจบ หรือฝรั่งอุทิศชีวิตให้แก่หลักการความถูกต้องอย่างเดียว โดยไม่ดูตาม้าตาเรือเลย

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทำอะไรภายใต้สถานการณ์เช่นนั้น แต่อยู่ที่ว่าทำแล้วนอนหลับหรือไม่ ยังนับถือตนเองต่อไปได้หรือไม่ ยังพูดถึงความยุติธรรมได้เต็มคำหรือไม่ ความซื่อสัตย์ต่อตนเองมันอยู่ตรงนี้แหละ คืออยู่ข้างใน อยู่ที่เราสามารถอธิบายแก่ตัวเองได้หมดจดแค่ไหน ไม่เกี่ยวอะไรกับคนอื่นภายนอกทั้งสิ้น”

(นิธิ เอียวศรีวงศ์, เดินฝ่าความมืด สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 2560)


ตั้งแต่การชุมนุมการเมืองเริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยได้ประจักษ์ไปด้วยกันคือความโหดร้ายรุนแรงของตำรวจ เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดจากภาคสนามทำให้ผู้ชมทางบ้านได้ประจักษ์การใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่ได้สัดส่วนและผิดหลักสากลไปพร้อมกับผู้ชุมนุม แต่นอกจากในภาคสนามแล้ว สังคมไทยยังได้เห็นกลเม็ดสารพัดที่ตำรวจหยิบยกขึ้นมาเพื่อด้อยค่า กลั่นแกล้ง รังแกผู้ชุมนุมอีกจำนวนมากโดยไม่สะทกสะท้านต่อเสียงวิจารณ์จากสาธารณะ

อันที่จริง มีหลายปัจจัยที่เอื้อให้ตำรวจลุแก่อำนาจเช่นนี้ได้ แต่ปัจจัยใหญ่ประการหนึ่งคือ สถาบันตุลาการไทยนั้นเป็นใจกับตำรวจตลอดมา ไม่มีการตั้งคำถามต่อการใช้ความรุนแรงเกินสัดส่วนในการสลายการชุมนุมและจับกุม ไม่ตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน ยิ่งในช่วงหลัง นโยบายห้ามเยี่ยม ห้ามประกัน ยิ่งเน้นชัดว่าสถาบันตุลาการนั้นห่างไกลจากความยุติธรรมอย่างยิ่ง

คำถามคือ เหตุใดศาลยุติธรรมซึ่งควรจะเป็นอิสระจากอิทธิพลใดๆ ทั้งปวง ถึงกลายเป็นส่วนควบของกองกำลังตำรวจไปได้

ความเป็นอิสระของตุลาการไทย

ความเป็นอิสระนั้นดูจะเป็นยอดปรารถนาของตุลาการไทย องค์กรถูกออกแบบมาให้แยกจากอำนาจการเมือง ไม่ขึ้นกับทั้งนิติบัญญัติและบริหาร การบริหารบุคคลและงบประมาณก็แยกออกมาไม่อยู่ใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของสถาบันอื่น

แต่อิสระของตุลาการยังหมายถึงอิสระของผู้พิพากษาแต่ละคนด้วย ภายนอกคือผู้พิพากษาต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี การตัดสินคดีไม่ขึ้นกับการบังคับบัญชา ที่สำคัญยิ่งกว่าคือภายในใจผู้พิพากษาแต่ละคนเองต้องพยายามเป็นอิสระจากอคติใดๆ ที่อาจมีอาจเกิดขึ้นมาได้หลักอินทภาษที่นักเรียนนิติศาสตร์เรียนกันมา มีเพื่อรับประกันอิสระในใจของผู้พิพากษาแต่ละคนนั่นเองว่าจะต้องปราศจากอคติสี่ คือ ลำเอียงเพราะโลภ โกรธ กลัว และหลง ในการอบรมผู้พิพากษาใหม่ จริยธรรมในการดำรงตนข้อหนึ่งคือการอยู่อย่างสันโดษ ระมัดระวังในการเลือกคบคน ก็เพื่อกันตนเองจากอิทธิพลมิชอบใดๆ

มาถึงตรงนี้ ความเป็นอิสระของตุลาการนั้นดีแน่ ในอุดมคติ ตุลาการที่เป็นอิสระย่อมนำมาซึ่งความยุติธรรม ความยุติธรรมซึ่งก่อให้เกิดสันติสุข ความเป็นอิสระของตุลาการนั้นเป็นเกณฑ์หนึ่งที่จะวัดว่ารัฐนั้นมีนิติธรรมหรือไม่ ข้อสันนิษฐานคือหากอำนาจตุลาการถูกครอบงำโดยราชการบริหารหรือนิติบัญญัติแล้ว สถาบันตุลาการย่อมไม่อาจใช้อำนาจที่ได้รับมอบมา เพื่อตรวจสอบราชการบริหารและนิติบัญญัติเหล่านี้ได้อย่างเที่ยงธรรมและมีประสิทธิภาพ

ถ้าเช่นนั้น คำถามคือทำไมสังคมไทยจึงมีปัญหากับระบบยุติธรรมมากเหลือเกิน ถ้าตุลาการไทยเป็นอิสระแล้วทำไมถึงต้องมี “ปล่อยเพื่อนเรา” เป็นไปได้ว่าเรากำลังเข้าใจความเป็นอิสระของศาลไทยผิด

ความไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเองของตุลาการไทย

ในด้านองค์กรนั้น ศาลเป็นอิสระจากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองแน่ สำหรับนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองเลือกตั้งนั้น ไม่อาจแทรกแซงการทำงานของฝ่ายตุลาการได้เลย หากใครคิดจะแทรกแซงก็อาจเผชิญกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของตุลาการ เหมือนกรณีวิกฤตตุลาการในปี 2535 แต่ความเป็นอิสระจากนักการเมืองเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าศาลจะเป็นอิสระจากการเมือง ถ้าเราเชื่อในข้อเสนอว่าการเมืองไทย นอกจากการเมืองระหว่างพรรคการเมืองในสภาแล้วยังมีการเมืองแบบรัฐพันลึกที่ใช้อำนาจผ่านกลไกอื่นที่ไม่ใช่กลไกรัฐสภาหรือประชาธิปไตย ก็จะเข้าใจได้ว่าความเป็นอิสระจาก ‘การเมือง’ ของตุลาการไทยนั้นไม่ได้เป็นอิสระจากการเมืองประเภทหลัง

แต่ที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ ศาลไทยอาจจะไม่เคยคิดว่าองค์กรจะต้องเป็นอิสระไปเพื่ออะไร กล่าวคือ ศาลเข้าใจว่าตนเองเป็นอิสระเพื่อเป็นอิสระ เป็นเป้าหมายในตัวเอง ขอให้องค์กรตนเองเป็นอิสระแล้วก็จบแค่นั้น ไม่ได้มีเป้าหมายอื่นต่อ แต่ความเป็นอิสระลอยๆ เฉยๆ นั้น พิสูจน์แล้วว่าเป็นอันตรายที่จะถูกใครก็ได้ที่มีอำนาจ หยิบฉวยไปใช้ ความเป็นอิสระของตุลาการไทย แทนที่จะทำหน้าที่เป็นหลักประกันรับรองความเที่ยงธรรมของตุลาการไทย จึงกลายเป็นทั้งเกราะและกรง เป็นเกราะไม่ให้ใครเข้ามาตรวจสอบ เป็นอภิสิทธิ์เหนือราชการอื่น หากใครวิจารณ์มาก ใครสงสัยว่าบุคคลภายนอกคนนั้นเป็นใครที่สั่งศาลได้ตามข่าวลือ ก็อาจต้องโทษานุโทษกำราบได้ อิสระก็เป็นกรงขังผู้พิพากษาเองภายในก็ได้เช่นกัน ไม่ให้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันกับสังคม

ความเป็นอิสระของศาลจึงควรควบคู่ไปกับความซื่อสัตย์ต่อตนเอง (judicial integrity) ด้วย ความอิสระจึงเป็นวิธีการ แต่จุดหมายสูงสุดที่ศาลได้รับอิสระเหลือล้นเทียบกับราชการอื่นก็เพื่อให้ศาลสามารถธำรงความซื่อสัตย์ต่อตนเองได้ อย่างที่นิธิอธิบายไว้ว่า สำหรับบุคคลทั่วไป ความซื่อสัตย์ต่อตนเองดังกล่าวเป็นเสรีภาพหรือตัวเลือกหนึ่งของตนเองว่าจะละอายใจหรือซื่อตรงกับมโนธรรมของตนมากน้อยเพียง แต่ในกรณีผู้พิพากษานั้น ความซื่อสัตย์ต่อตนเองเป็นคุณธรรมที่เป็นหน้าที่เลยทีเดียว เพราะศาลได้รับมอบอำนาจตุลาการมาในฐานะข้าราชการ นอกจากต้องซื่อตรงต่อมโนสำนึกส่วนตัวแล้ว ยังต้องซื่อตรงต่อหลักวิชาชีพนิติศาสตร์ที่ตนอบรมพร่ำเรียนมาด้วย

แต่ความซื่อสัตย์ต่อตนเองนั้นก็เหมือนคุณธรรมอื่นๆ คือไม่ใช่ความรู้ที่จะสอนเรียนกันแล้วก็เกิดมีขึ้นได้ คุณธรรมเกิดจากการอบรมและประพฤติจนเป็นนิสัย ซึ่งแม้การศึกษานิติศาสตร์ไทยจะอบรมคุณธรรมใดๆ ไว้ก็ดี ความซื่อสัตย์ต่อตนเองไม่ใช่หนึ่งในสิ่งที่นิติศาสตร์ไทยสอน เมื่อนักกฎหมายเข้าไปเป็นผู้พิพากษา เขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ หัวหมุนอยู่กับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือแนวทางของผู้บริหารยิบย่อยจำนวนมาก จนบดบังภาพใหญ่ไปจนหมด

โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย

คำลงท้ายในจดหมายน้อยของทนายอานนท์ นำภานั้นสะเทือนใจคนจำนวนมาก ประโยคที่เขียนสั้นๆ นั้นโดนใจเพราะคนในสังคมรู้สึกร่วมกันได้ว่าทุกคนกำลังร้องขอต่อศาลให้ช่วยชีวิตทุกคนด้วย ทุกวันนี้สังคมไทยอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวอำนาจกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมายลุแก่อำนาจ สถาบันตุลาการเพิกเฉย ในสภาพเช่นนี้ ชีวิตของคนไทยปราศจากหลักประกัน ความมั่นคงในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินใดๆ อาจจะดับลงเสียเมื่อไหร่ก็ได้

เหมือนที่ประโยคสุดท้ายของต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ “หายใจไม่ออก” ที่ก่อให้เกิดการชุมนุมครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะนั่นคือสิ่งเดียวกับที่คนไทยจำนวนมากรู้สึกเช่นกัน หายใจไม่ออกเพราะเสรีภาพใดๆ ที่พอจะมีก็ค่อยๆ ลดหายลงไปทุกวัน ความเห็นอกเห็นใจอันเป็นปฏิกิริยาจึงระเบิดออกมาจนเพดานพัง

คงไม่ต้องกล่าวย้ำแล้วว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ที่หวาดเสียวอันตรายยิ่งกว่าครั้งใดๆ สถาบันที่เคยเป็นที่พึ่งของสังคมล้วนตกอยู่ในสภาพง่อนแง่นและอาจพังทลายลงไปได้ทุกเมื่อ ถ้าคำร้องข้างบนไม่อาจทะลุเกราะความเป็นอิสระเข้าไปสู่ตุลาการ ถ้าความซื่อสัตย์ต่อตนเองของตุลาการไม่อาจพาเขาทะลุผ่ากรงความเป็นอิสระออกมาได้ อนาคตของตุลาการไทยอยู่ในวิกฤตอย่างยิ่ง

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save