fbpx
American Jobs Plan เปิดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของ โจ ไบเดน

American Jobs Plan เปิดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของ โจ ไบเดน

หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่นาน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน สามารถผ่านกฎหมายสำคัญฉบับแรกคือ American Rescue Plan Act แผนกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนเพื่อตอบสนองปัญหาโควิด-19 โดยมีแกนหลักอยู่ที่การแจกเช็คมูลค่า 1,400 ดอลลาร์ให้กับคนทำงานชาวอเมริกันทุกคน เมื่อผนวกกับเงินช่วยเหลือด้านอื่นๆ แล้ว มูลค่าทั้งหมดของโครงการนี้อยู่ที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

แผนการขั้นถัดมาของไบเดนคือ โครงการลงทุนสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ที่เรียกว่า American Jobs Plan ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลพอๆ กันที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ มีกำหนดเวลาใช้เงิน 8 ปี

หากแผนฉบับแรกอย่าง American Rescue Plan Act เป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน เน้นมาตรการระยะสั้นคือ จ่ายเงินให้คนอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยตรง แผนฉบับที่สองคือ American Jobs Plan จะเน้นไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ และเน้นการจ้างงานจำนวนมากไปพร้อมๆ กัน ทำให้แผนฉบับที่สองมีความซับซ้อนและน่าสนใจยิ่งกว่า

จาก New Deal สู่ Build Back Better 

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่เรื่องใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง แต่เป็นวิธีที่ถูกใช้กันมานานแล้ว โดยต้นแบบสำคัญคือ ในสมัยของประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ที่ริเริ่มใช้วิธีการนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1932 หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Depression) ปี 1929 ทำให้คนอเมริกันจำนวนมากต้องตกงาน

นโยบายของรูสเวลต์ถูกเรียกรวมๆ ว่า New Deal โดยในฝั่งของโครงสร้างพื้นฐาน มีตั้งแต่การสร้างถนน สะพาน เขื่อน โรงเรียน โรงพยาบาล สนามบิน อาคารของหน่วยงานราชการ ปรับปรุงที่ดินเพาะปลูก ระบบจัดการน้ำ ฯลฯ  เป้าหมายหลักของ New Deal คืออุ้มคนตกงานให้มีงานทำ ให้เลี้ยงปากท้องตัวเองให้อยู่รอดได้ก่อน โดยภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นนายจ้างชั่วคราวผ่านโครงการก่อสร้างเหล่านี้

นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังอาจมีมุมมองและการตีความ New Deal ที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ในภาพรวมแล้ว New Deal ช่วยพยุงอัตราจ้างงานของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1930s ได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่อัตราจ้างงานจะกลับมาเต็มที่สุดๆ ในทศวรรษ 1940s จากปัจจัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่คนอเมริกันต้องเร่งทำงานเพื่อผลิตอาวุธหรือสิ่งของเครื่องใช้เพื่อสงคราม

ความสำเร็จของ New Deal กลายเป็นต้นแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ และเราก็เห็นการดัดแปลงมาตรการแบบ New Deal ในบริบทที่แตกต่างกันไป เช่น จีนใช้โครงการก่อสร้างเขื่อนหรือรถไฟความเร็วสูง เพื่อแก้ปัญหาอุปทานล้นเกินในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หรือแม้แต่ในโลกหลังโควิด สหราชอาณาจักรในยุคของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ก็ชิงประกาศแผน Build Build Build ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ไปก่อนแล้วตั้งแต่กลางปี 2020 

แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไบเดนเองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เขาชูเรื่องนี้เป็นจุดขายตั้งแต่ตอนหาเสียง โดยใช้สโลแกนว่า ‘Build Back Better’ และเมื่อชนะเลือกตั้ง เข้ารับตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว ไบเดนก็เดินหน้าผลักดันนโยบายเหล่านี้ออกมาตามสัญญา

ตัวแผนการใหญ่ที่สุดของ Build Back Better แบ่งแผนย่อยออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. American Rescue Plan แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นหลังโควิด ซึ่งผ่านเป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้วในวันที่ 11 มีนาคม 2021
  2. American Jobs Plan แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่เพิ่งเปิดตัวในวันที่ 31 มีนาคม 2021 และรอผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป
  3. American Families Plan แผนลงทุนด้านคนชั้นกลางที่จะตามมาในลำดับสุดท้าย ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมามากนัก แต่คาดกันว่าจะเน้นที่นโยบายด้านรัฐสวัสดิการ และเน้นลงทุนเกี่ยวกับคนเป็นหลัก

ไบเดนกล่าวว่า สหรัฐอเมริกายังพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่สร้างตั้งแต่ยุค 1950s ซึ่งตอนนี้ล้าสมัย ไร้ประสิทธิภาพ และเสื่อมโทรมไปมากแล้ว ประเทศจึงจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อให้สามารถก้าวผ่านทศวรรษ 2030s และอนาคตไกลกว่านั้นได้

บทความนี้จะขอโฟกัสไปที่แผน American Jobs Plan เพื่อศึกษารายละเอียดดูว่า ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาในยุคไบเดน มีวิธีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างไร และมีด้านไหนที่ประเทศไทยสามารถเดินตามได้บ้าง

แผนของไบเดนจะทำอะไรบ้าง

ถึงแม้ชื่อของแผนจะจั่วหัวมาเป็น ‘infrastructure plan’ แต่จริงๆ แล้ว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนเท่านั้น จากการวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์ USA Today มองว่า เม็ดเงินรวม 2 ล้านล้านดอลลาร์ถูกแบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ คือ

  1. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 621 ล้านดอลลาร์
  2. ลงทุนในคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัย 650 ล้านดอลลาร์
  3. ลงทุนในการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ (caregiver) 400 ล้านดอลลาร์
  4. ลงทุนในการวิจัย พัฒนา การผลิตของคนอเมริกัน 300 ล้านดอลลาร์

จะเห็นว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นการก่อสร้าง (hard infrastructure) มีเพียง 2 ส่วนแรกเท่านั้น และแผนของไบเดนยังแทรกเรื่องอื่นๆ อย่างการดูแลมนุษย์และการวิจัยเข้ามาในแผนใหญ่ด้วย ซึ่งก็โดนวิจารณ์เช่นกันว่าแผนใหญ่และกว้างเกินไป (สามารถดูรายละเอียดของแผนทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของทำเนียบขาว)

โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

ถ้าเรามาโฟกัสที่โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม คนมักคิดว่าแผนของไบเดนเน้นไปที่การสร้าง-ซ่อมถนนและสะพาน แต่จริงๆ แล้ว เม็ดเงินส่วนนี้มีเพียง 115 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ส่วนเงินก้อนที่ใหญ่สุด 174 พันล้านดอลลาร์จะเทลงไปในด้านรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วน ปรับโรงงานรถยนต์เก่ามาเป็นโรงงานเพื่อรถยนต์ไฟฟ้า และการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จ 5 แสนจุดทั่วประเทศภายในปี 2030 ซึ่งไบเดนจริงจังกับเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามานานแล้ว เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่สหรัฐอเมริกาได้เปรียบ มีบริษัทอย่าง Tesla หรือ GM ที่ทำธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และมีสตาร์ตอัปรายย่อยๆ ที่ทำเรื่องนี้อีกมาก อีกทั้งก่อนหน้านี้ ไบเดนเคยประกาศว่า จะให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดของอเมริกาเปลี่ยนมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ และล่าสุดคือจะเปลี่ยนรถบัสโรงเรียนอย่างน้อย 20% ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

เงินก้อนอื่นๆ ในส่วนนี้จะลงทุนไปกับการขนส่งสาธารณะ (85 พันล้านดอลลาร์) ปรับปรุงและขยายทางรถไฟ (80 พันล้านดอลลาร์) ปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ทนทานต่อภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์พายุเฮอริเคน หรือไฟดับครั้งใหญ่ในรัฐเท็กซัสเมื่อไม่นานมานี้ (50 พันล้านดอลลาร์) 

อีกประเด็นเล็กๆ ที่น่าสนใจคือ เงิน 20 พันล้านดอลลาร์จะถูกใช้แก้ปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ของชุมชน โดยในอดีต มีชุมชนหลายแห่งที่ถูกทางด่วนตัดผ่ากลางแล้วเชื่อมโยงกันได้ยาก หรือชุมชนบางแห่งที่เข้าไม่ถึงการคมนาคมในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานของอเมริกา

คุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัย

ถ้าเงินหมวดแรกลงไปที่ถนน ทางรถไฟ และสะพาน เงินก้อนที่สองจะเน้นที่ ‘ท่อ’ ซึ่งอยู่ในอาคารบ้านเรือน

คำว่า ‘ท่อ’ ในที่นี้มีทั้งท่อน้ำ ที่เงิน 111 พันล้านดอลลาร์จะใช้วางระบบท่อน้ำใหม่หมดทั้งประเทศ ยกเลิกใช้ท่อตะกั่วที่มีผลต่อสุขภาพ รวมถึงระบบจัดการน้ำเสีย ระบายน้ำเอ่อล้นเมื่อเกิดพายุ และน้ำดื่มในเขตชนบทที่ขาดแคลน

‘ท่อ’ ในความหมายที่สองคือระบบโครงข่ายไฟฟ้า สร้างระบบกริดส่งไฟฟ้าใหม่ทั้งประเทศ 100 พันล้านดอลลาร์ ให้ทันสมัยและทนทานต่อภัยพิบัติ

‘ท่อ’ ประเภทที่สามคือโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมประชากร 100% ของประเทศ เพราะถึงแม้จะเป็นประเทศต้นแบบของความไฮเทค แต่สหรัฐอเมริกามีพื้นที่กว้างใหญ่ จนมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลมานาน โครงการของไบเดนจึงต้องการวางโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ใหม่ ปรับแก้ทั้งในแง่ความครอบคลุมของพื้นที่ (coverage) และราคา (cost) ให้ทุกคนเข้าถึงได้

เงินก้อนใหญ่ที่สุดในแผน American Jobs Plan จำนวน 213 พันล้านดอลลาร์ จะถูกใช้เพื่อสร้างบ้านใหม่ ปรับปรุงบ้านและอาคารพาณิชย์เก่า 2 ล้านหลัง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา คนชั้นกลางรุ่นใหม่ไม่มีเงินพอซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้

แผนการลงทุนอื่นๆ ในหมวดนี้คือ สร้างอาคารโรงเรียน (100 พันล้านดอลลาร์) ปรับปรุงศูนย์ดูแลเด็กเล็ก (25 พันล้านดอลลาร์) ปรับปรุงโรงพยาบาลทหารผ่านศึก (18 พันล้านดอลลาร์) ปรับปรุงบ่อน้ำมัน บ่อก๊าซ เหมืองเก่าที่ถูกทิ้งร้าง (16 พันล้านดอลลาร์)

การดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ

การลงทุนหมวดที่สามไม่ได้อยู่ในจำพวกก่อสร้าง แต่เป็นเงินก้อนมหาศาล 400 พันล้านดอลลาร์ มาพัฒนา ‘care economy’ หรือธุรกิจการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องประชากรสูงอายุของสหรัฐอเมริกาในระยะยาวด้วย

สิ่งที่น่าสนใจคือวิธีคิดของแผนการนี้ ที่มองว่าคนที่อยู่ในสายงานดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ มักเป็นผู้หญิงสีผิวอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผิวขาว (women of color) ที่ได้รับค่าแรงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เฉลี่ยแล้วประมาณ 12 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานที่ได้ค่าแรงน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา ทั้งที่เป็นงานสำคัญมาก เงินลงทุนก้อนนี้จึงหวังแก้ปัญหาตรงนี้ โดยช่วยอุดช่องโหว่ของคนอเมริกันที่ต้องการคนดูแลด้านสุขภาพ และเป็นการจ้างงานจำนวนมากไปพร้อมๆ กัน

การวิจัย พัฒนา และการผลิต

การลงทุนหมวดสุดท้ายที่ถูกแทรกเข้ามาในแผนนี้ด้วยคือ ยกระดับการวิจัยของสหรัฐอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ไบเดนพูดชัดในการแถลงแผนการครั้งนี้ว่า ต้องการฉีกหนีจากจีนที่ไล่กวดเรื่อง R&D เข้ามาใกล้เรื่อยๆ จึงต้องการนำเงินก้อนนี้มาอุดหนุนการวิจัยด้านต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ (50 พันล้านดอลลาร์) พลังงานสะอาด (46 พันล้านดอลลาร์) ศูนย์วิจัยและห้องแล็บ (40 พันล้านดอลลาร์) 

ในอีกด้าน ไบเดนยังต้องการส่งเสริม ‘ภาคการผลิต’ ของคนอเมริกัน ที่เคยเกรียงไกรในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แต่พ่ายแพ้ให้กับกระแส offshoring ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนา สิ่งที่ไบเดนจะทำคือตั้งหน่วยงานใหม่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เข้ามาจัดการระบบซัพพลายเชนของการผลิตภายในประเทศใหม่ และลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีอนาคต เช่น สุขภาพ พลังงานสะอาด รวมถึงส่งเสริมการผลิตระดับ SME 

เงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์มาจากไหน

แผนการ American Jobs Plan เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ขนาด 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 8 ปีข้างหน้า คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย

ไบเดนเอาเรื่องการลงทุนเพื่ออนาคตมาผูกกับเรื่องการขึ้นภาษีนิติบุคคล โดยอธิบายว่าจะยกเลิกการลดภาษีนิติบุคคลของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2017 (จากเดิม 15-39% ทรัมป์ลดลงมาเหลือ 21%) แล้วกลับมาขึ้นภาษีนิติบุคคลเป็นขั้นสูงสุดที่ 28% 

ไบเดนอธิบายว่าการลดภาษีในปี 2017 ไม่แฟร์ต่อประชาชน เพราะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากไม่ต้องเสียภาษีเลยแม้แต่ดอลลาร์เดียว เพราะพวกเขาสามารถหาวิธีโยกย้ายรายได้จนไม่ต้องเสียภาษีในท้ายที่สุด ไบเดนยกตัวอย่าง Amazon ขึ้นมา ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่แต่ไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ครูหรือพนักงานดับเพลิงต้องเสียภาษีรายได้ 22% ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์อย่างมาก การขึ้นภาษีนิติบุคคลจึงจะทำให้ระบบภาษีกลับมาเป็นธรรมมากขึ้น ทว่าไม่ต้องกลับขึ้นไปสูงถึง 35% แบบยุคก่อนทรัมป์ แต่ให้อยู่ที่ 28% ซึ่งไบเดนมองว่าเป็นตัวเลขที่กำลังดี และถ้าขึ้นภาษีได้สำเร็จ สหรัฐอเมริกาจะได้เงินกลับมา 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 15 ปี

แต่การขึ้นภาษีนิติบุคคลเป็นแค่มาตรการหนึ่งเท่านั้น ในแผนของไบเดนยังผนวกเอาแนวคิด ‘ชาตินิยม’ ดึงบริษัทเอกชนกลับมายังแผ่นดินอเมริกาอีกด้วย

แผนการขึ้นภาษีนิติบุคคลทั้งหมดของไบเดนมีชื่อเรียกว่า Made in America Tax Plan ซึ่งนอกจากจะขึ้นภาษีเงินได้เป็น 28% ดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกส่วนที่เรียกว่า Global Minimum Tax เอาไว้แก้มือบริษัทข้ามชาติอเมริกัน ที่ย้ายการจ้างงานและกำไรไปอยู่ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีในสหรัฐ เนื่องจากอัตราภาษีนิติบุคคลต่างกันมาก

Global Minimum Tax Plan จะขึ้นภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำเป็น 21% (เทียบกับเพดานสูงสุดที่ 28% จะเห็นว่าส่วนต่างของอัตราภาษีน้อยลง) จากนั้นจะไปไล่เก็บภาษีส่วนเพิ่มจากกำไรในต่างประเทศ เสนอให้ประเทศอื่นๆ กำหนดภาษีนิติบุคคลที่ 21% เท่ากัน อีกทั้งยกเลิกข้อยกเว้นด้านภาษีต่างๆ เช่น บริษัทสหรัฐอเมริกาไปรวมกับบริษัทต่างชาติ แล้วอ้างว่าเป็นบริษัทต่างชาติเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีสหรัฐฯ หรือข้อยกเว้นว่าไม่ต้องเสียภาษีรายได้ 10% แรกที่เกิดจากการลงทุนนอกประเทศ ทั้งหมดเพื่อจูงใจให้บริษัทอเมริกันกลับมาทำธุรกิจในอเมริกา

แผนนี้จะผ่านสภาหรือไม่

ข้อเสนอทั้งหมดฟังดูสวยหรู ทั้งการขึ้นภาษีบริษัทใหญ่ที่ร่ำรวยมหาศาล นำเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และอนาคตที่สดใสในวันหน้า แต่คำถามถัดมาคือ  American Jobs Plan ของไบเดนจะเป็นไปได้จริงแค่ไหนในทางปฏิบัติ เพราะต้องผ่านกระบวนการทางสภาในยุคที่มีความแตกแยกทางการเมืองอย่างมาก

ปกติแล้ว นโยบายจากฝั่งพรรคเดโมแครตมักเน้นการขึ้นภาษีเพื่อนำมาใช้จ่ายด้านต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางลดภาษี ลดขนาดรัฐของพรรครีพับลิกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ทันทีที่ไบเดนเปิดตัวแผน American Jobs Plan ออกมา เขาก็โดนโจมตี (ตามปกติ) จากฝั่งพรรครีพับลิกันในประเด็นนี้

Mitch McConnell ผู้นำของสมาชิกวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกันให้สัมภาษณ์ว่า แผนของไบเดนเป็น ‘ม้าโทรจัน’ ที่แฝงเรื่องการขึ้นภาษีเข้ามาในคราบของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนนักการเมืองรีพับลิกันคนอื่นๆ ก็มองว่า แผนของไบเดนใหญ่เกินไป มีเรื่องอื่นๆ มารวมมากเกินไป ควรลดขนาดลงให้เหลือแค่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว

สถานการณ์ในรัฐสภาอเมริกาตอนนี้ยังเป็นใจให้กับไบเดน เพราะพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้งสภาล่างและสภาสูง แม้ว่าเสียงในสภาสูงจะมากกว่าแบบเฉียดฉิวก็ตาม ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายมี 50:50 เท่ากัน แต่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง มีสิทธิลงคะแนนอีก 1 เสียง ซึ่งได้ใช้สิทธิมาแล้วตอนผ่านกฎหมาย American Rescue Plan ที่รีพับลิกันโหวตค้านทั้งหมด

ฝั่ง แนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากพรรคเดโมแครตให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะผ่านสภาล่างได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 ส่วนขั้นถัดไปคงขึ้นกับการล็อบบี้ของเดโมแครตในสภาสูง

แผนการขึ้นภาษีของไบเดนมีความน่าสนใจตรงที่เลือกขึ้นภาษีเฉพาะนิติบุคคล ไม่ขึ้นภาษีบุคคลธรรมดา ทำให้ลดแรงต้านของประชาชนทั่วไปลงได้มาก อีกทั้งมาเสนอขึ้นภาษีในยุคที่บริษัทอเมริกันกำลังร่ำรวยมากๆ โดยเฉพาะบริษัทสายเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสดิจิทัลบูมช่วงโควิดระบาด และมูลค่าหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก น่าจะช่วยดึงอารมณ์ร่วมของคนอเมริกันให้รีดภาษีบริษัทเหล่านี้ เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนทั่วไปได้ง่ายขึ้นด้วย 

ตัวของไบเดนเองก็พูดถึงท่าทีของพรรครีพับลิกันตั้งแต่ตอนแถลงข่าวเปิดตัวนโยบายว่า ในอดีตที่ผ่านมา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมักได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองพรรค (bipartisan) และหลายครั้งก็มาจากการผลักดันของรีพับลิกันด้วยซ้ำ เช่น ยุคของอับราฮัม ลิงคอล์น ที่ลงทุนเรื่องทางรถไฟ หรือยุคไอเซนฮาวที่ลงทุนสร้างทางด่วนเชื่อมต่อระหว่างรัฐ (Interstate Highway)

ไบเดนจึงมั่นใจว่านักการเมืองฝั่งรีพับลิกันจะเห็นด้วยกับการลงทุนเหล่านี้ เพราะถ้าไม่ลงทุนตอนนี้ สหรัฐอเมริกาก็จะโดนจีนและประเทศอื่นๆ แซงหน้าในไม่ช้า เขาบอกว่าจะเดินสายเจรจาให้นักการเมืองรีพับลิกันเห็นด้วย และเชิญชวนให้ผู้ลงคะแนนให้รีพับลิกันแสดงการสนับสนุนผ่านนักการเมืองในท้องที่ของตัวเอง

วิเคราะห์แผน American Jobs Plan มีอะไรบ้างที่น่าเอาอย่าง

ถ้าไม่นับรวมแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่าง American Rescue Plan ต้องถือว่าแผนการลงทุน American Jobs Plan เป็นนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลไบเดนในช่วงขวบปีแรก และอาศัยจังหวะ ‘ฮันนีมูน’ ที่ประธานาธิบดียังมีคะแนนนิยมสูง รีบผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งกลางเทอม (รอบหน้าคือปี 2022) ที่พรรคฝ่ายตรงข้ามอาจพลิกมาชนะ ครองเสียงข้างมากในสภา ทำให้ผ่านกฎหมายได้ยากขึ้นมาก อย่างที่ บารัก โอบามา เคยเจ็บปวดกับปัญหานี้มาแล้ว เพราะเขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2008 แต่พรรคเดโมแครตสูญเสียที่นั่งในสภาล่างให้พรรครีพับลิกันในปี 2010 ทำให้ช่วงหลังจากนั้น โอบามาเสนอกฎหมายสำคัญๆ ไม่ผ่านเลย

โจ ไบเดน ในฐานะรองประธานาธิบดียุคโอบามา รับทราบดีถึงปัญหาที่ว่า จึงรีบเข็นกฎหมายใหญ่ๆ ตามแผน Build Back Better ออกมาโดยเร็วที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการเลือกตั้งปี 2022 อีกทั้งไบเดนยังพยายามยิงปืนนัดเดียวให้ได้นก 3-4 ตัวด้วยกฎหมาย American Jobs Plan ฉบับนี้ด้วย

นกสองตัวแรกนั้นตรงไปตรงมา คือส่งเสริมการจ้างงานในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นมาตรการแบบที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคของรูสเวลท์ ส่วนของใหม่ที่น่าสนใจคือ ไบเดนผนวกเอานกตัวที่สามเรื่องการขึ้นภาษีนิติบุคคลมาร่วมด้วย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการหาเงิน การปฏิรูประบบภาษี การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกันไปพร้อมกัน แถมยังมีนกตัวที่สี่ อาศัยจังหวะเรื่องกระแสชาตินิยมอเมริกาที่กลัวจีนแซงหน้า เข้ามากดดันให้พรรครีพับลิกันปฏิเสธข้อเสนอของเขายากขึ้นด้วย

เรียกได้ว่า พรรครีพับลิกันถูกบีบให้เลือกแล้วว่า จะเกลียดใครมากกว่ากัน ระหว่างเกลียดเดโมแครตกับเกลียดจีน (ฮา)

หากไบเดนผลักดันกฎหมายฉบับนี้ได้สำเร็จ (ซึ่งก็เลือกได้ว่าจะผ่านแบบเฉียดฉิวเหมือนเดิม หรือ ผ่านแบบเท่ๆ ได้รับเสียงสนับสนุนจากรีพับลิกันด้วย) งานของเขาก็จะง่ายขึ้นอีกมาก เพราะหลักการใหญ่ผ่านสภาแล้ว ขั้นถัดไปจะเป็นงานระดับดำเนินการ ลงรายละเอียดว่าจะใช้เงินก้อนมหึมานี้ผ่านกลไกภาครัฐอย่างไร ซึ่งก็มีต้นแบบมาตั้งแต่ยุคของรูสเวลท์แล้ว 

ในกรณีของประเทศไทยที่เจอภัยคุกคามจากโควิด และผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงเหมือนกัน การลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เริ่มดำเนินการไปแล้วจากโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาใช้ในโครงการอย่างคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เรายังไม่เห็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตในลักษณะเดียวกัน

หากดูโครงการ American Jobs Plan เป็นตัวอย่าง จะเห็นว่านอกจากการสร้างถนน สะพาน ทางด่วน สนามบิน ตามปกติที่ใครๆ ก็คิดกันได้แล้ว ยังมีไอเดียที่ก้าวหน้าอีกหลายอย่าง เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า  การลงทุนในอุตสาหกรรมดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ การขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ให้ซัพพลายเชนกลับจากจีนและเอเชียมาสู่แผ่นดินอเมริกันอีกครั้ง รวมถึงการใช้ American Jobs Plan เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในแง่มุมต่างๆ ของสังคมอีกด้วย

ลำพังแค่การปรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ และการสนับสนุนอุตสาหกรรมดูแลผู้สูงอายุเพื่อรับมือสังคมสูงวัย (ageing society) ก็สามารถช่วยสร้างอนาคตของประเทศไทยได้แล้วมหาศาล เพราะเป็นสิ่งสำคัญในเทรนด์โลกที่มาแน่ๆ จับต้องได้ไม่ต้องจินตนาการกันไกล แต่รัฐไทยกลับยังไม่ขยับตัวในเรื่องนี้สักเท่าไร

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save