fbpx
Marx

De omnibus dubitandum : มาร์กซ์บอกให้ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง…ยกเว้นที่ปรึกษา

ก่อนเลือกมหาวิทยาลัยไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอก ผู้เขียนได้เขียนไปขอคำแนะนำจากอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ว่าควรไปเรียนต่อด้านอะไรดีและควรเลือกที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์อย่างไร อาจารย์ซึ่งผู้เขียนไม่เคยเรียนด้วยเลยเพราะอยู่คนละมหาวิทยาลัยก็มีความเมตตาตอบ Facebook DM ของผู้เขียนมาว่า ปรัชญาการเมืองอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักสำหรับอนาคตพร้อมแนะนำสาขา Media Studies และ Media Theories

ส่วนคำถามเรื่องที่ปรึกษานั้น อาจารย์เลือกตอบด้วยอุปมาโวหารว่า การเรียนปริญญาเอกเปรียบเหมือนการแต่งงาน ในแง่หนึ่งอาจแปลว่าถ้าเลือกที่ปรึกษาดีก็มีชัยไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อมามองย้อนกลับไป ผู้เขียนคิดว่าอาจารย์อาจจะหมายความว่าเราไม่มีวันรู้ว่าที่ปรึกษากับหัวข้อวิจัย รวมไปถึงอุปนิสัยใจคอและจริยธรรมในการทำงานของท่านจะนำพาโปรเจ็กต์ปริญญาเอกไปทางไหนมากกว่า

สำหรับผู้เขียน การเลือกที่ปรึกษาที่ไม่เคยมีประสบการณ์คุมวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมาก่อนแต่ ‘มีไฟ’ ทำให้ที่ปรึกษากลายมาเป็นเพื่อนฝ่ายซ้ายประหลาดๆ อีกคนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จัก

‘เอียน’ สอนวิชา Theorizing the Social ซึ่งเป็นวิชาบังคับของหลักสูตรปริญญาโทด้านความคิดทางการเมืองและสังคมที่มหาวิทยาลัย Sussex เพื่อนๆ ในหลักสูตรเห็นตรงกันว่านอกจากความรู้ทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองยุคสมัยใหม่อันหาตัวจับยากแล้ว เอียนยังมีความสามารถพิเศษในการสร้างสถานการณ์ความกระอักกระอ่วนได้อย่างเป็นธรรมชาติสุดๆ “ไม่รู้ว่าที่เคมบริดจ์เขาสอนให้โบกมือแบบนี้หรือเปล่า” เพื่อนคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต พร้อมทำท่าประกอบอธิบายว่า ทุกครั้งเวลาบังเอิญเจอเอียนนอกห้องเรียน เขาจะโบกมือขวาหนึ่งทีเบาๆ โดยยกมือขึ้นมาระดับหน้าอก กลายเป็นท่าที่มีความคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปางห้ามญาติอย่างน่าประหลาดใจ “เป็นท่าโบกแบบทั้งทักทายด้วยความสุภาพและบอกว่าอย่ามายุ่งกับกูในเวลาเดียวกัน”

หลังจากเรียนปริญญาโทไปได้พักใหญ่ ผู้เขียนพบว่าสนใจเนื้อหาและวิธีการศึกษาที่เอียนสอนมากกว่าของอาจารย์ท่านอื่นๆ จึงเลือกทำปริญญานิพนธ์กับเอียนในคลาสระดับปริญญาโท ด้วยความที่เขาเป็นอาจารย์ที่ถือว่าใจดีพอสมควรในการให้คะแนนเมื่อเทียบกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ประกอบกับการที่ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาในการทำงานอะไรกับเอียนเพราะเขาก็เอาใจใส่ตรวจงานและให้คำแนะนำเป็นอย่างดี เมื่อเอียนเอ่ยปากชวนมาทำธีสิสปริญญาเอกภายใต้การให้คำปรึกษา (supervision) ของเขาหลังเรียนจบปริญญาโท ผู้เขียนจึงไม่ได้ลังเลที่จะตอบตกลง

เพื่อนๆ ทุกคนคัดค้าน เนื่องจากเอียนเป็นอาจารย์ใหม่ ไม่เคยมีนักศึกษาปริญญาเอกมาก่อน นอกจากนี้บางคนเตือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างที่ปรึกษาและนักศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งต่อความสำเร็จของการศึกษาปริญญาเอก พูดง่ายๆ ก็คือ “เราไม่คิดว่าเอียนจะเป็นที่ปรึกษาแบบที่ชวนนักศึกษาปริญญาเอกไปกินเบียร์หลังต้นฉบับโดนปฏิเสธจากวารสาร นึกออกไหม” เพื่อนอีกคนมองว่าเอียนตั้งใจวางเก้าอี้สำหรับแขกและนักศึกษาที่มาพบเขาในห้องทำงานไว้ด้านหนึ่งของห้องขนาดยาว ในขณะที่ตัวเขาเองนั่งหลบหลังโต๊ะทำงานอยู่ที่อีกฟากของห้อง “ถ้าจะให้เอียนเป็นที่ปรึกษาปริญญาเอกจริงๆ เราแนะนำว่าให้ซื้อวอล์กกี้ทอล์กกี้ไว้ใช้จะได้ไม่ต้องตะโกนคุยกัน” ในขณะที่อีกคนเสริมว่า “ถ้าแกเขียนอะไรไม่ถูกใจเอียนมากๆ ระวังเก้าอี้จะโดนย้ายจากมุมสุดของห้องไปอยู่ในโถงทางเดินนะ”

ท้ายสุด ผู้เขียนเชื่อสัญชาตญาณตัวเองมากกว่าคำทัดทานของเพื่อนๆ เนื่องจากพอมาคิดสะระตะดูแล้ว รู้สึกว่าความใส่ใจอ่านต้นฉบับและคอมเมนต์อย่างละเอียดลอออาจสำคัญมากกว่าประสบการณ์การคุมวิทยานิพนธ์ นอกจากนี้ ความสนใจทางด้านวิชาการของเอียนก็เข้ากับหัวข้อของผู้เขียนมากกว่าอาจารย์ท่านอื่นๆ และยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนก็ไม่ได้อยากย้ายมหาวิทยาลัยเนื่องจากเพื่อนสนิทส่วนใหญ่เลือกที่จะอาศัยต่อในไบรท์ตันหลังเรียนจบปริญญาโท ด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการศึกษาทำให้สุดท้ายแล้วผู้เขียนตัดสินใจทำงานวิจัยระดับปริญญาเอกต่อกับที่ปรึกษาท่านเดิมท่านนี้

จริงๆ หากย้อนเวลากลับไปได้ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าจะเลือกเช่นเดิมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเอียนเป็นที่ปรึกษาที่ไม่ดี แต่เพราะการทำงานกับเอียนนั้นท้าทายกว่าที่ผู้เขียนจินตนาการไว้มาก

ในแง่หนึ่ง เอียนเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่ทำงานวิจัยได้อย่างไร้ที่ติ มีงานตีพิมพ์ในระดับดีมากและเคยเป็นบรรณาธิการให้วารสารที่สำคัญในวงการหลายเล่ม อย่างไรก็ตาม เอียนมีศิลปะการสอนแบบ tough love ซึ่งอาจไม่เหมาะกับทุกคน ยกตัวอย่างเช่น เขาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนตั้งแต่วันแรกว่า วิทยานิพนธ์ต้องมีระดับภาษาอังกฤษที่ดีเทียบเท่ากับงานที่นักศึกษาส่วนใหญ่ในสาขาประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองมี (และแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่เป็นคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกในชีวิตประจำวัน) เขาให้เหตุผลว่า “การเขียนก็คือการคิด ถ้าคุณเขียนไม่รู้เรื่อง ก็แปลว่าคุณคิดไม่เป็นระบบ ไวยากรณ์ที่ผิดยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าคุณอาจมีปัญหาในการรับสารซึ่งทำให้กระบวนการวิจัยทั้งหมดถูกตั้งคำถามได้ ถ้าคุณเขียนภาษาอังกฤษพลาดเยอะ กรรมการสอบย่อมมีสิทธิสงสัยได้ว่าแล้วคุณอ่านหลักฐานซึ่งเขียนด้วยภาษาอังกฤษแบบศตวรรษที่ 18 เข้าใจจริงหรือเปล่า”

นอกจากนี้เอียนยังไม่เชื่อในเทคนิคที่อาจารย์ส่วนใหญ่ใช้คือ ‘ชมก่อนแล้วค่อยด่า’ ถ้างานเขียนไม่ดี เอียนจะพูดทันทีว่า “ดราฟท์นี้มาตรฐานไม่ถึงการเป็นบทหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแย่นักในครั้งแรกๆ แต่หลังจากครั้งที่สิบ ยี่สิบ และครั้งต่อๆ ไป ความมั่นใจตัวเองที่คุณเคยมีเมื่อตอนปริญญาตรีหรือโทก็จะมลายหมดสิ้นไป

หลังจากเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ทุกคนเห็นว่าผู้เขียนหาเรื่องให้ตัวเองโดยไม่จำเป็นในการเลือกทำวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองอังกฤษกับเอียน “แกจะบ้าเหรอ โปรเจ็กต์นี้ไม่ต่างอะไรกับการเอาไอ้เดวิดไปเรียนปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ไทยเป็นภาษาไทย แถมมีที่ปรึกษาเป็นโรคไม่ชอบสบตาคนอีก ฮ่าๆ” อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการเป็นนักศึกษาปริญญาเอกของเอียนคือ คุณสามารถแน่ใจได้ว่าธีสิสที่ส่งไปนั้นจะผ่านการสอบป้องกันแน่ๆ เพราะถ้าเอียนไม่พอใจงานเขียน คุณจะต้องเขียนใหม่วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงมาตรฐาน เมื่อผู้เขียนแย้งดังนี้เพื่อนๆ ก็พร้อมใจกันชี้ให้เห็นปัญหาของ ‘ข้อดี’ นี้ “นี่แปลว่าแกจะไม่มีวันมั่นใจในความสามารถของตัวเองไปอีก 4-5 ปีเป็นอย่างต่ำ” ซึ่งก็จริงอย่างที่เพื่อนๆ ว่า ที่เพิ่มเติมมาคือความมั่นใจนี้มีอายุสั้นแค่ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ก่อนการเข้าสู่ตลาดแรงงานเท่านั้น

เหตุผลที่ผู้เขียนจัดเอียนเป็นหนึ่งในเพื่อนฝ่ายซ้ายแห่งไบรท์ตันนั้น เพราะเอียนเป็นตัวแทนของฝ่ายซ้ายรุ่นก่อนซึ่งมีชีวิตวัยรุ่นในช่วงที่พรรคแรงงานเป็นรัฐบาลครั้งเกือบสุดท้ายในอังกฤษและมีความไม่ไว้ใจฝ่ายซ้าย ‘สุดโต่ง’ แบบเจเรมี คอร์บิน ความแตกต่างของคนรุ่นอายุสี่สิบกว่าๆ ที่ไม่นิยมการเมืองของพรรคอนุรักษนิยมและคนรุ่นอายุยี่สิบกว่าถึงสามสิบต้นๆ ในอังกฤษอยู่ที่ความเคลือบแคลงใจของพวกแรกต่อการเปลี่ยนฐานเสียงพรรคแรงงานจากชนชั้นแรงงานทางเหนือและมิดแลนดส์ไปเป็นนักศึกษาในเมืองขนาดกลางและใหญ่เช่น ลอนดอน บริสโทล รวมไปถึงไบรท์ตัน

ครั้งแรกๆ ที่ผู้เขียนคุยกับเอียนเรื่องการเมืองนั้นเกิดขึ้นระหว่างการเรียนปริญญาโท ผู้เขียนเปรยว่ารู้สึกไม่ค่อยอินกับงานมาร์กซิสต์สายแฟรงค์เฟิร์ตสคูลอีกต่อไป เนื่องจากรู้สึกว่าเป็นงานเขียนที่ไม่ค่อยยึดโยงกับหลักฐานเท่าไหร่นัก เอียนบอกว่าผมเข้าใจว่าคุณรู้สึกยังไง ผมเองก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน หลังจากนั้นเอียนก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดมาร์กซิสม์ซึ่งจบด้วยประโยคว่า “เอาจริงๆ มาร์กซิสม์ในฐานะโครงการทางการเมืองมันจบไปแล้วในทางประวัติศาสตร์” แน่นอนว่าความเห็นนี้เป็นกระแสหลักในโลกศตวรรษที่ 21 แต่สำหรับผู้เขียนซึ่งใช้ชีวิตหนึ่งปีที่ผ่านมาในฐานะนักศึกษาปริญญาโทที่แวดล้อมไปด้วยเพื่อนและอาจารย์ฝ่ายซ้ายค่อนข้างสุดโต่ง คำกล่าวของเอียนฟังดูเหมือนการเตือนสติมากกว่าการวิเคราะห์แบบปราศจากอารมณ์ซึ่งเป็น 99% ของบทสนทนาระหว่างผู้เขียนและที่ปรึกษา

อย่างไรก็ตาม การเมืองของเอียนนั้นยังอยู่ในเฉดฝ่ายซ้ายแน่ๆ โดยเฉพาะในการเมืองระดับองค์กร อาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษมีสหภาพเป็นของตัวเองภายใต้ชื่อ University and College Union หรือ UCU ซึ่งก่อนวิกฤตโควิดในปีที่แล้วเพิ่งมีการประกาศการประท้วงหยุดงานทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการลดบำนาญของอาจารย์ เอียน ผู้ซึ่งปกติไม่ค่อยสังสรรค์กับบุคลากรคนอื่นให้เห็นเท่าไหร่ อาสาไปยืนถือป้ายบริเวณป้ายรถเมล์หลังวิทยาเขต (ผู้เขียนเดาว่าเนื่องจากบริเวณนั้นมีผู้คนผ่านไปมาน้อยมากๆ) นอกจากนี้ เขาประกาศตัวชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคอนุรักษนิยม โดยเฉพาะนโยบายการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป

หลายคนเดาว่าเอียนอาจเป็น social democrat มากกว่าอย่างอื่น เนื่องจากเขาเห็นด้วยกับการมีอยู่ของสหภาพแรงงานเพื่อคานอำนาจกับตรรกะของทุนในการแสวงหากำไรซึ่งกำลังคืบคลานไปสู่ทุกองคาพยพของสังคมอังกฤษรวมไปถึงมหาวิทยาลัย แต่ไม่เห็นด้วยว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นควรถูกแทนที่ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบอื่น

หลังจากการสไตรก์จบลงด้วยการเจรจาอีกหนึ่งรอบ เอียนก็กลับไปใช้กิจวัตรประจำวันเดิมคือ ตื่นตีห้า ว่ายน้ำในทะเลไบรท์ตันซึ่งหนาวมากแม้ในกลางฤดูร้อน (เอียนเป็นสมาชิก Sea Swimming Club ของเมือง) ขึ้นรถไฟมามหาวิทยาลัย หมกตัวในห้องทำงาน ทานอาหารกลางวันและ ‘พักผ่อน’ โดยการลงมานั่งบนม้านั่งหน้าคณะมองสระบัวเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงโดยไม่ได้พูดคุยกับใคร บางคนให้ความเห็นว่า “อันที่จริงถ้าเอียนแกล้งทำเป็นสูบบุหรี่สักหน่อยเขาจะดูไม่แปลกเลยนะ”

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเดาจุดยืนทางการเมืองของเอียนต่อประเด็นต่างๆ และการเดาว่าตกลงเขาเป็น ‘สหาย’ ฝ่ายซ้ายหรือไม่กลายเป็นหัวข้อสนทนาโปรดของนักศึกษา เนื่องจากเอียนเปิดเผยความคิดเห็นส่วนตัวน้อยมาก ครั้งหนึ่งในวงสนทนา นักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่งยืนยันว่าเอียนเป็นมาร์กซิสต์แน่ๆ เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะแปะรูปคาร์ล มาร์กซ์ ไว้หน้าห้องทำงานหราขนาดนั้นทำไม

เพื่อนอีกคนแย้งขึ้นมาทันทีว่า “แกไม่ได้อ่านล่ะสิว่าใต้รูปคาร์ล มาร์กซ์เขียนว่าอะไร” รูปการ์ตูนของมาร์กซ์รูปนั้นมีคำบรรยายว่า “Question Everything” อันเป็นคำแปลของ De omnibus dubitandum ซึ่งบางคนอ้างว่าเป็น motto ของคาร์ล มาร์กซ์ คำสันนิษฐานนี้มาจากการค้นพบบันทึกเกม Confession ซึ่งเป็นเกมที่นิยมในยุควิกตอเรียน มีลักษณะคล้ายๆ กับเกม 20 คำถามอะไรแบบนี้ที่เราเคยนิยมเล่นกันในเฟซบุ๊กเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ลูกสาวของมาร์กซ์เก็บคำตอบของเขาไว้ซึ่งถูกค้นพบโดยนักประวัติศาสตร์ภายหลังจากเขาเสียชีวิต

เพื่อนคนหนึ่งเห็นว่า หลักฐานดังกล่าวยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ว่าเป็นคำตอบของคาร์ล มาร์กซ์จริงๆ หรือเปล่า นอกจากนี้ motto ดังกล่าว ถ้าเป็นของมาร์กซ์จริง ก็ยังสามารถตีความได้ด้วยว่าการตั้งคำถามกับทุกอย่างนี้ ย่อมหมายรวมไปถึงการตั้งคำถามกับงานเขียนของมาร์กซ์ รวมไปถึงมาร์กซิสม์ด้วย (ถึงตอนนี้เพื่อนคนหนึ่งอดไม่ได้ที่จะพูดแทรกว่า #แฮชแท็ก meta) การอ่านแบบหลังนี้ดูจะเหมาะกับจุดยืนทางการเมืองของเอียนมากกว่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นซ้ายเฉดหนึ่งซึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับพวกสังกัดพรรคแรงงานภายใต้การนำของคอร์บินอันเป็นความเห็นกระแสหลักในไบรท์ตันขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม “จงตั้งคำถามกับทุกอย่าง” ของเอียนดูจะไม่รวมไปถึงการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ดูจากการที่ความคิดเห็นของเอียนนั้นเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอเมื่อผู้เขียนมีข้อโต้แย้งระหว่างการเขียนธีสิส

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save