fbpx
เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเต้นกินรำกินแบบเกาหลีใต้

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเต้นกินรำกินแบบเกาหลีใต้

ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว หัวเราะยิ้มหวัว เต้นยั่วเหมือนฝัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

1

ปี 2003 ภาพยนต์เรื่อง ‘โอลด์ บอย‘ (Old Boy) โดยผู้กำกับชัน วุก พัก (Chan-Wook Park) น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกจากเกาหลีใต้ที่ทำให้ผมหัวใจเต้นแรงมากถึงมากที่สุด การดูหนังเรื่องนี้จนจบให้ความรู้สึกแปลกแยก ป่วยไข้และทึ่งไปกับเรื่องราว หนังผลักเราไปเกินเส้นแห่งศีลธรรมและไม่คิดว่าจะได้เจอในหนังเช่นนี้ที่มาจากเกาหลีใต้

หนังเรื่องนี้ถูกพูดถึงกันมากในหมู่คอหนัง สร้างประวัติศาสตร์คว้าสองรางวัลเด่นจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 2004 ถือเป็นครั้งแรกของภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วย

ในยุคใกล้ๆ กันกับโอลด์ บอย ซีรีส์สายโรแมนติกอย่าง ‘รักนี้ชั่วนิรันดร์-ออทัม อิน มาย ฮาร์ท’ (ในเกาหลีใต้ใช้ชื่อว่า Autumn Fairy) และ ‘แด จัง กึม’ (Dae Jang Geum) ก็ดังเป็นพลุแตก อปป้ารุ่นแรก ซง ซึนฮ็อน กลายเป็นขวัญใจสาวๆ ทั่วเอเชีย จะเรียกว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นกาวใจให้กับญี่ปุ่นและเกาหลีที่บาดหมางกันมานานก็ว่าได้

มันสร้างแรงกระเพื่อมหลายอย่าง โดยเฉพาะกรณีของซง ซึงฮ็อน ที่ต่อมามีข่าวเรื่องหนีทหารแล้วรัฐสภาเกาหลีออกมาปกป้อง ทำเรื่องร้องขอให้ทางทหารผ่อนผันให้เขาแสดงละครเรื่อง A Sad Love Story จนจบก่อน เพราะเป็นซีรีส์ที่ลงทุนในการถ่ายทำสูงที่สุดในยุคนั้นและมีการติดต่อขายลิขสิทธิ์ไปแล้วหลายประเทศ รัฐบาลมองว่านี่เป็นผลประโยชน์ของชาติ (แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ทหารไม่ยอม) นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่คนทั่วโลกและคนเกาหลีเองได้เห็นพลังของคลื่นเกาหลีหรือ ‘ฮันรยู’ (Hallyu) ว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เต้นกินรำกินสนุกๆ เท่านั้น 

ปรากฎการณ์ความนิยมของ ซง ซึนฮ็อน หลังจากที่เขาเข้ากรมกองรับใช้ชาติพร้อมประกาศอำลาวงการชั่วคราว ของที่ระลึกของเขาก็ยังขายได้อีกเป็นหลายปี ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นถือว่าเป็นคลื่นแรกๆ ของกระแสคลั่งวัฒนธรรมเกาหลีที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน ดอกผลที่เกาหลีใต้ได้หว่านไว้กับอุตสาหกรรมบันเทิงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเปล่งประกายอย่างเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลกและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ต้องยอมรับถึงความเก่งกาจในการเดินหมากของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่กล้าสนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Soft Power Industry) ที่มาของเรื่องพวกนี้ก็น่าสนใจนะครับ มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเรื่องตั้งใจเสียทีเดียวนัก หากว่ามันมีเหตุปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

คลื่นเกาหลีสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นกอบเป็นกำนะครับ ถ้าไปดูพัฒนาการของรายได้ ก็จะเห็นว่าในปี 2004 ซึ่งเป็นปีที่โอลด์ บอยได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ ปีนั้นอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ทำรายได้คิดเป็น 0.2% ของ GDP ตีเป็นเงินก็ประมาณ 1,890 ล้านดอลลาร์ (ราว 58,590 ล้านบาท) แต่ในปี 2019 เกาหลีใต้สามารถทำรายได้จากอุตสาหกรรมบันเทิงคิดเป็นเงินถึง 12,300 ล้านเหรียญ (ราว 381,300 ล้านบาท)

ว่าแต่เคล็ดลับความสำเร็จนั้นอยู่ตรงไหนกัน

2

คำว่า ‘ฮันรยู’ มีรากศัพท์มาจากภาษาจีน คนที่คิดคำนี้ขึ้นไม่ได้เป็นคนเกาหลี แต่เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวจีนที่เริ่มเห็นกระแสความนิยมของวัฒนธรรมเกาหลีเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1990 และกล่าวว่ามันมีพลังที่น่าสนใจ

สำหรับเบื้องหลังความสำเร็จของวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีใต้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาปกครองเกาหลีในช่วงปี 1910-1945 และอีกครั้งในช่วงปี 1950-1953 ช่วงเวลาดังกล่าวนับว่าเป็นช่วงเวลาอันโหดร้ายสำหรับชาวเกาหลีที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น แต่อีกแง่หนึ่ง แน่นอนว่าพวกเขาเอาวัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่นเข้ามาด้วย เช่น หนังสือการ์ตูน นิยาย รสนิยมการแต่งกาย หรืออาหารการกิน

อย่างหนึ่งที่ส่งต่อมายังวงการบันเทิงของเกาหลีใต้คือความสามารถในการเล่าเรื่องที่สั้นกระชับแบบสตอรีบอร์ดที่ได้อิทธิพลมาจากการ์ตูนมังงะ ซึ่งเมื่อนำเอามารวมกับรากฐานของวัฒนธรรมเกาหลีที่หยิบยืมมาจากจีน ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือน้ำซุปที่ยังไม่กลมกล่อม เกาหลีใต้อยู่ใต้เงาของวัฒนธรรมจีนกับญี่ปุ่นและพวกเขาต้องการสร้างอัตลักษณ์ของตนให้เป็นที่จดจำ

รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มวางรากฐานของการพัฒนาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในช่วงที่เริ่มเป็นอิสระจากญี่ปุ่น โดยกำหนดพิมพ์เขียวทางวัฒนธรรมให้เป็นแผนระยะยาวสิบปีแรกหลังจากได้รับอิสรภาพจากญี่ปุ่นเมื่อปี 1945 แต่ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเพราะถูกขัดจังหวะด้วยภาวะสงครามในเวลาต่อมา วัฒนธรรมป๊อปเกาหลีใต้มาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงวิกฤตการเงินปี 1997 ช่วงนั้นเกาหลีใต้ต้องกู้เงินจำนวนมากจาก IMF ประสบปัญหาเรื่องการส่งออกสินค้า ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองตกต่ำ ช่วงเวลานั้นเองที่บีบให้คนในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้หันมาสนใจส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมแทนที่จะผลักดันอุตสาหกรรมหนัก

แน่นอนว่าจะทดแทนกันไม่ได้ แต่ก็เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้เห็นศักยภาพของตัวเองและเริ่มให้ความสำคัญกับอุตสหากรรมทางวัฒนธรรม จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญสุดๆ อยู่ที่ปี 1998 เมื่อคิมแดจุง (Kim Dae-jung) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้นต้องการโปรโมตภาพความเป็นเกาหลีใต้ให้ชัดเจนมากขึ้น เขาตัดสินใจใช้บริการของบริษัทประชาสัมพันธ์ระดับโลก ‘แอเดลแมน’ (Edelman) ในการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่ประเทศ โจทย์คือการผลักดันเทคโนโลยีสารสนเทศและสร้างวัฒนธรรมป๊อปรูปแบบใหม่ขึ้นมาให้เป็นเอกลักษณ์ของเกาหลีใต้และเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ผลิตสินค้าส่งออก ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีใต้ไปทั่วโลก ซึ่งต้องยอมรับว่าแอเดลแมนเก่ง เพราะสามารถปรับเปลื่ยนความคิดของรัฐให้เปิดกว้างมากขึ้น

จากนั้นเป็นต้นมา ท่าทีและบทบาทของรัฐบาลที่เดิมเน้นการควบคุมสื่อ ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ลงทุนและส่งเสริมแทน

ปัก ไจ วอน (Park Jie Won) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในรัฐบาลของคิมแดจุง ประกาศนโยบายเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานทางวัฒนธรรมว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นไป จะมีการเร่งก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมและศิลปะขนาดใหญ่ที่เขตโซคกวาน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโซลซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยโซลแห่งชาติ ขยายศูนย์ศิลปะแห่งกรุงโซล (Seoul Arts Center) สร้างศูนย์ศิลปะการแสดงพื้นเมืองแห่งชาติ (National Center for Korean Traditional Performing Arts) และขยายศูนย์วัฒนธรรมที่ตั้งอยู่นอกกรุงโซลจำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เกาหลีใต้เป็น ‘เมืองวัฒนธรรม’ (Cultural District) ทั้งหมดนี้ทำอย่างจริงจัง

ณ เวลานั้น รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนไว้แล้วว่า เนื้อหาทางด้านวัฒนธรรม (culture content) จะเป็นหนึ่งในเจ็ดสาขาที่มีศักยภาพในการเติบโตในอีกสิบปีข้างหน้า โดยระบุไว้ใน ‘วิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมดิจิทัล’ (Vision 21 for Cultural Industries in Digital Societies) ตอนนั้นมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2030 เกาหลีใต้น่าจะส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมได้เงินราว 13,761 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกิดการจ้างงานประมาณ 1,604,888 คน แต่ ณ วันนี้ เกาหลีใต้ทำได้เกินเป้ามาตั้งแต่ปี 2018 เรียกว่าทำได้ไวกว่าที่คิดไว้มาก

เรื่องการเปลี่ยนวิธีการบริหารก็น่าสนใจ รัฐบาลเกาหลีใต้เอาจริงเอาจังกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารราชการให้เอื้อกับงานด้านวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนหลายต่อหลายครั้ง ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกาหลีโหยหาความเป็นตัวตนของตนเอง เนื่องจากขนาบด้วยประเทศมหาอำนาจทั้งจีนและญี่ปุ่นที่กดหัวอยู่ตลอดเวลา หลายอย่างก็เลยสะท้อนออกมาผ่านความพยายามของรัฐในการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ตั้งแต่ปี 1948 งานด้านวัฒนธรรมอยู่ในความดูแลของกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) และในปี 1961 ได้ปรับชื่อกระทรวงใหม่ให้เป็นกระทรวงสารสนเทศสาธารณะ (Ministry of Public Information) ต่อมาในปี 1968 มีการตั้งกระทรวงวัฒนธรรมและสารสนเทศ (Ministry of Culture and Information) เป็นครั้งแรก และในปี 1990 ก็แยกกระทรวงวัฒนธรรมออกมาเป็นหน่วยงานอิสระเสียเลยเพื่อความคล่องตัว โดยทำหน้าที่เฉพาะการดูแลกำกับกิจการทางวัฒนธรรมอย่างเดียว และปรับเปลี่ยนอีกครั้งเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬา (Ministry of Culture and Sports) ในปี 1997 ท้ายสุดในปี 1998 ก็มีการปรับชื่ออีกครั้งเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (Ministry of Culture and Tourism) ถือเป็นเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันนโยบายส่งเสริมด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

เกาหลีใต้มีหลายหน่วยงานมากครับที่ทำหน้าที่เป็นแม่ยกให้กับนักสร้างสรรค์ รัฐบาลจัดตั้งทั้งหน่วยงานรัฐ องค์การมหาชนหรือบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐ อย่างมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งเกาหลี (The Korean Culture and Arts Foundation) หน่วยงานสนับสนุนทางการเงินเรื่องกิจกรรมทางวัฒนธรรม

รวมทั้งมีการตั้งองค์การวัฒนธรรมและสารัตถะเกาหลี (Korea Culture and Content Agency: KOCCA) เพื่อให้การสนับสนุนในการเปลี่ยนเนื้อหาให้เป็นเงินและลงทุนกว่า 50,000 ล้านวอน (ราวๆ 1,300 ล้านบาท) ทำภาพยนตร์สารคดี ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ สิ่งตีพิมพ์ ดนตรีและข้อมูลเกี่ยวกับเกาหลีใต้เพื่อส่งไปเผยแพร่ยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงปี 2000 รัฐบาลยังสร้างโครงการ Broadcast Video Promotion Plan ซึ่งเป็นแผนระยะเวลา 5 ปี โดยส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดหลักสูตรการสอนบุคลากรและนักแสดงหน้าใหม่ๆ ให้กับวงการบันเทิงเพื่อสนับสนุน Korean Film Council ซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่จัดหาเงินทุนสร้างและผลักดันการส่งออกภาพยนตร์เกาหลี ซึ่งต่อมาทำให้เกิดการเรียนการสอนแบบเทรนนี (Trainee) ขึ้นในบริษัทค่ายเพลงและบริษัทด้านบันเทิงต่างๆ เปิดเป็นโรงเรียนสอนการแสดง โดยจะเริ่มรับเด็กๆ เพื่อปั้นให้เป็น ‘ไอดอล’ ตั้งแต่อายุ 11 ปี

และอื่นๆ อีกมากที่รัฐบาลเกาหลีใต้ เอาจริงเอาจังกับการสร้างอุตสาหกรรมเต้นกินรำกินขให้กลายเป็นเครื่องจักรในการทำเงิน

ว่ากันว่าในการลงทุนทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ บริษัทต่างๆ จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐไม่ต่ำกว่า 20-30% ในรูปแบบต่างๆ จากรัฐ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือการเข้าไปร่วมลงทุนผ่านบริษัทเพื่อการร่วมลงทุนแห่งชาติเกาหลี (Korean Venture Investment Corporation: KVIC) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนภาคเอกชน กองทุนนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทนั้นทะลุพันล้านเหรียญไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย ความสำเร็จของ Gang Nam Style, BoA,Wonder Girl, BTS, Blackpink และภาพยนตร์จากเกาหลีใต้เรื่องแรกที่ได้ออสการ์อย่าง Parasite ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงเข้าไปอีก

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพื่อให้เห็นภาพว่าการสร้างระบบเศรษฐกิจเพื่อส่งออกวัฒนธรรมนั้นก็ไม่แตกต่างจากการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ รัฐจำเป็นต้องเห็นภาพของอนาคตและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

อีกประการหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ การที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ‘แชโบล’ (Chaebol) เข้ามาเป็นผู้เล่นคนสำคัญของอุตสาหกรรมบันเทิงในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะซัมซุง ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทซีเจ เอนเตอร์เทนเมนท์แอนด์มีเดีย (CJ Entertainment & Media) หรือซีเจอีแอนด์เอ็ม (CJ E&M) กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง K-Pop บริษัทนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1993 โดยเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ทีวีเอ็น (tvN) เจ้าของลิขสิทธิ์ละครโทรทัศน์ รายการเพลงยอดนิยมและเป็นเจ้าของโอซีเอ็น (OCN-Orion Cinema Network) ช่องภาพยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเกาหลีใต้ (แน่นอนว่าเป็นผู้ส่งออกซีรีส์และภาพยนตร์ให้กับผู้บริการในต่างประเทศรายใหญ่ๆ อย่าง Netflix ด้วย) รวมทั้งมีแผนกวีดีโอเกม แผนกสมาร์ตมีเดีย นอกเหนือจากการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงแล้ว ปฎิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่นี้เองที่ทำให้เกาหลีใต้ร่ำรวยขึ้น

ต่อจากนี้คุณอาจไม่แปลกใจว่า ทำไมเรามักเห็นมิวสิควีดีโอของบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปจากเกาหลีใต้ฉายวนอยู่บนโทรทัศน์ของซัมซุงที่วางจำหน่ายอยู่ในพาวเวอร์บาย ทั้งหมดนี้ล้วนผ่านการวางกลยุทธ์มาแล้วอย่างดี 

3

นอกเหนือจากความสำเร็จของเหล่าไอดอลที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่อยากเอาอย่างและความทุ่มเทของรัฐบาลเกาหลีในการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมมากที่สุดข้อหนึ่งก็คือ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากรัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์และสังคมเกาหลีใต้ ไม่ได้เปิดกว้างและเห็นความสำคัญของการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมกัน

การยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์เริ่มต้นเมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้เล็งเห็นว่าการเซ็นเซอร์เป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาหรือผู้ประกอบการที่ต้องการหาพล็อตหรือไอเดียในการนำเสนอผลงาน รัฐจึงเปลี่ยนบทบาทตัวเองจากควบคุมมาเป็นส่งเสริม โดยมองว่าในระยะยาว สังคมจะเรียนรู้การควบคุมกันเอง ระบบการจัดลำดับความรุนแรงของเนื้อหาก็ยืดตามหลักสากลโดยนำแบบอย่างมาจากสหรัฐอเมริกา แล้วค่อยๆ ปรับ นั่นเป็นเหตุผลเราถึงมีโอกาสได้ดูหนังอย่างโอลด์ บอย ซึ่งติดเรท R ในขณะที่บ้านเราพระนั่งดีดกีตาร์ยังไม่สามารถเผยแพร่ได้ 

การยกเลิกการเซ็นเซอร์ยังส่งผลในแง่ของความรู้สึกทางสังคม เพราะช่วยให้เกิดการเปิดกว้างทางความคิด ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่อุตสาหกรรมบันเทิงเท่านั้นที่ได้อานิสงนี้ไป ผมเชื่อว่ามันทำให้ธุรกิจอื่นๆ มองเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง นี่เป็นหัวใจหลักที่ทำให้บทภาพยนตร์และซีรีส์จากเกาหลีใต้ทำเนื้อเรื่องได้น่าสนใจ มีความลึกซึ้งของเนื้อหา มีความหลากหลาย และให้ความสำคัญกับการทำข้อมูลเพื่อเขียนบท

ที่สำคัญ สังคมเกาหลีใต้มีแบบอย่างที่หลากหลายให้คนในอุตสาหกรรมบันเทิงหยิบมาใช้ และไม่รู้สึกประดักประเดิด หรือรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ อย่างซีรีส์ Sisyphus: The Myth เรื่องดังที่กำลังฉายอยู่ทาง Netflix ซีรีส์ดังกล่าวเดินเรื่องด้วยวิศวกรที่สนใจเรื่องควอนตัมฟิสิกส์และเป็นผู้สร้างเครื่องย้อนเวลาได้สำเร็จ ตัวละครแบบนี้จะไม่น่าสนใจหากว่าบริบทแวดล้อมในสังคมไม่เอื้อ ผมหมายถึงมาตรฐานการศึกษา สังคม วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ หากไม่พัฒนาไปตามวัฒนธรรมป๊อป มันก็ไม่สนุก และดูไม่สมจริง เพราะแค่ลำพังคิดว่าการจะหาข้อมูลเรื่องเหล่านี้จากผู้รู้ หรือทำวิจัยก่อนเขียนบท คงไม่ง่ายนักหากพวกเขาไม่มีบุคลากรที่รู้จริง ไม่มีสถานที่ ไม่มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดอาชีพในฝันแบบที่คนถวิลหา

การพัฒนาเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ก็เป็นส่วนเสริมสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถผลิตเนื้อหาที่เทียบเท่ากับฮอลิวู้ดได้แล้ว ภาพยนตร์แนวไซไฟอย่าง Space Sweepers หรือ Vincenzo ที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกมากมายในการสร้างก็ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ

อย่าลืมว่าตอนนี้เกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว

4

40 ปีก่อนเกาหลีใต้ยังถือเป็นประเทศยากจน คนเกาหลีใต้มีรายได้ต่อหัวไม่ต่างจากประเทศในแอฟริกา แต่ตอนนี้ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 10 ของประเทศร่ำรวยที่สุดในโลก และแน่นอนพวกเขามีแฟนคลับที่คอยติดตามศิลปินและซีรีส์เกาหลีอยู่ทั่วโลก

ตามข้อมูลของ Statistic บอกว่าตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาจำนวนผู้ชมที่ติดตามดูซีรีส์จากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในบางประเทศอย่าง อินโดนีเซีย จีน พบว่ามีคนที่ติดตามดูซีรีส์จากเกาหลีใต้เป็นประจำนั้นเกิน 30% ของจำนวนผู้ที่ติดตามซีรีส์จากต่างประเทศทั้งหมด Netflix เองก็ออกมาให้ข่าวอย่างชัดเจนว่า กำลังให้ความสำคัญกับละครซีรีส์ที่มาจากเกาหลีใต้ เนื่องจากตัวเลขของคนที่ดูซีรีส์เกาหลี โดยเฉพาะตลาดใหญ่ที่สุดอย่างในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี

BTS สามารถขายบัตรคอนเสิร์ตหมดตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกที่เปิดจำหน่าย ไม่แพ้กับ Adele หรือ One Direction และยังมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์อีกด้วย

หนังจากเกาหลีใต้ได้รับออสการ์ และ Black Pink กลายเป็นกลุ่มเด็กสาวที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก เกิร์ลพาวเวอร์ของพวกเธอสามารถทำเงินได้ปีละราว 750 ล้านบาท ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ลองนับดูว่าพวกเธอสร้างงาน เม็ดเงินและแรงบันดาลให้ผู้คนไปแล้วเท่าไหร่

การเต้นกินรำกิน หากทำให้เป็นก็สร้างแรงกระเพื่อมได้หลายอย่างกว่าที่เราคาดคิดไว้มาก

อ้างอิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save