fbpx
‘จากคนเสื้อแดง ถึงคนรุ่นใหม่’ กับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

‘จากคนเสื้อแดง ถึงคนรุ่นใหม่’ กับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

YouTube video

หลังจากได้รับอิสรภาพ 100% ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. ประกาศตัวเคียงข้างนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่กำลังต่อสู้ พร้อมยืนยันในจุดยืน ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’ ภายใต้หลักการ ‘คนเท่ากัน’

ในวันที่การเมืองกำลังร้อนแรง 101 ชวนอดีตแกนนำคนเสื้อแดง ผู้ถูกจดจำจากลีลาปราศรัยมาอ่านการเมืองไทย ทั้งขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน หนึ่งความฝันของราษฎร กระบวนการยุติธรรมที่จองจำนักต่อสู้ทางการเมือง และบทเรียนที่เขาจะส่งต่อถึงมือคนรุ่นใหม่

:: สายลมของการเปลี่ยนแปลงไม่อาจหยุดยั้งได้ ::

ช่วงหกเดือนที่อยู่ในเรือนจำ ผมเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จนค่อนข้างเซอร์ไพรส์กับสถานการณ์ คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเดินมาได้ถึงจุดนี้ สายลมของการเปลี่ยนแปลงกำลังพัดอยู่ตลอดเวลา เพราะคนที่กำลังเติบโตขึ้นมาในสังคมที่การเปลี่ยนแปลงกำลังเคลื่อนต่างมีความเห็นตรงกัน ขยับตัวพร้อมกัน ส่งเสียงเดียวกัน จึงทำให้พลังเกิดขึ้นมาได้ และทำให้กลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในวัยนั้นต้องเงี่ยหูฟัง แล้วก็มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งคัดค้าน เมินเฉย และเห็นด้วย แล้วถ้าจะให้พวกเขาล้มเลิกเพิกถอนข้อเรียกร้องก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าขบวนการจะต่อสู้มาถึงจุดนี้ ผู้เคลื่อนไหวต่างก็มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน เจ็บปวดมาร่วมกัน เชื่อมโยงกันมาหนาแน่นมากแล้ว

ขณะเดียวกัน ผมก็เห็นความถดถอยของฝั่งตรงข้าม กลับกลายเป็นว่าการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในวันนี้ขานรับประวัติศาสตร์ของคนเสื้อแดงเสียมากกว่า แม้จะเป็นผู้แพ้ก็ตาม เราเห็นเลยว่าอุดมการณ์บางชุดถูกปฏิเสธโดยยุคสมัย และไม่สามารถร่วมทางกับอนาคตของประเทศได้อีกต่อไป จนกลายเป็นอดีตที่หลายคนอยากหลบซ่อน

ถึงแม้นี่จะเป็นสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ผมว่าสังคมไทยก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ต้องยอมรับความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่แน่นอนที่สุด ไม่มีใครอยู่เหนือกฎเกณฑ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน

หากมองบนพื้นฐานความคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ สังคมต้องมองอย่างเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้มีข้อเรียกร้องอย่างไรบ้าง ภายใต้ข้อเรียกร้องทั้งหมด เราจะเดินด้วยกันอย่างไร อยู่ร่วมกันแบบไหน ลึกๆ แล้ว คนที่เคลื่อนไหวอยู่คงไม่ได้คาดหวังถึงขั้นให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องหันมาคุยกัน เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้โดยที่ทุกฝ่ายไม่ต้องทำลายล้างกัน ความเปลี่ยนแปลงอาจหมายถึงนำมาสู่สิ่งที่ดีกว่าก็ได้ เพียงแต่ต้องมาจากเจตนาดี และฝ่ายที่ต้องแสดงเจตนาดีก่อนคือฝ่ายรัฐ ไม่อย่างนั้นก็จะนำมาสู่การบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้น

รัฐอย่าใช้ความรุนแรงกับคนที่ออกมาเคลื่อนไหว ผู้ใหญ่ควรให้ความเมตตา ให้โอกาส ให้อภัย คนที่ออกมาต่อสู้มีเจตนาบริสุทธิ์ มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง รัฐต้องถนอมพลังเหล่านี้ไว้อย่าให้ง่อยเปลี้ยไปในวันที่บ้านเมืองยังต้องการอนาคต

:: จากเสื้อแดงสู่คนรุ่นใหม่ สันติวิธีต้องเป็นแนวทาง ::

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงคือการปรากฏตัวของชนชั้นล่าง ชาวไร่ ชาวนาที่รวมตัวกัน ซึ่งต่างจากการเคลื่อนไหวสมัยเดือนตุลาฯ หรือพฤษภาทมิฬ ที่เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของคนเมือง เมื่อบรรลุเป้าหมายก็แยกย้าย แต่เสื้อแดงไม่เป็นแบบนั้น เพราะมีโครงสร้างองค์กรชัดเจน ล้มลุกคลุกคลานกันมานานสิบกว่าปี จนถึงทุกวันนี้ การเคลื่อนไหวก็ไม่ได้สูญสลายหายไป ทั้งในเชิงรูปธรรมและจิตวิญญาณ แม้ประเทศจะอยู่ในสภาพแบบนี้ก็ตาม

การเคลื่อนไหวของเราเกิดความสูญเสียมากมาย ผมไม่กล้าคิดว่ามันคุ้มค่ากันหรือไม่ แต่ถ้ามันเป็นทุนก้อนหนึ่งที่ทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ก็เป็นเรื่องน่าภูมิใจ

สิ่งที่ผมคิดว่าทำพลาดในตอนนั้นคือ ผมประเมินจิตใจผู้มีอำนาจต่ำเกินไป ถึงแม้จะพอเดาได้ว่าจะต้องมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมเกิดขึ้น แต่ก็คิดไม่ถึงว่าจะไปถึงขั้นที่ใช้สไนเปอร์ซุ่มยิงตามตึกสูง การใช้ปฏิบัติการทางทหารด้วยกำลังทหารหลายนาย และใช้ยุทธวิถีเหมือนสงครามกลางเมือง ขณะที่ประชาชนมีเพียงมือเปล่า หรือมีอาวุธเล็กน้อยอย่างหนังสติ๊ก ผมประเมินสิ่งนั้นต่ำไป ถ้าย้อนไปได้ ในบางเรื่อง ผมอาจตัดสินใจได้ดีกว่าที่ผ่านมาหรืออาจหลบเลี่ยงไม่ให้เกิดความสูญเสีย

นี่จึงเป็นประสบการณ์ที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ว่า อย่าประเมินหัวใจผู้มีอำนาจโดยเอาหัวใจเราไปเทียบเคียงเด็ดขาด เพราะคนที่เรียกร้องหาอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของเราอยู่แล้ว แต่มันถูกพรากหรือถูกเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีทางอำมหิตเท่ากับคนที่พรากอำนาจเราไป

ผมขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวว่า การเคลื่อนไหวบนหลักไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อย่าออกจากแนวทางสันติวิธีเด็ดขาด นี่เป็นสายสิญจน์เส้นใหญ่ที่ทำให้ภูติผีปีศาจแห่งความรุนแรงบุกเข้ามาทำอะไรเราไม่ได้ การเปิดหน้าไพ่ความรุนแรงอาจเป็นเรื่องที่คนบางกลุ่มรออยู่ อาจเดินไปเข้ากองไฟที่พวกเขาจุดรอ ทำให้นกพิราบกลายเป็นผู้เสียหาย นกพิราบต้องอย่าเป็นเหยี่ยว ต่อให้เป็นเหยี่ยวก็ต้องรู้ว่ากำลังสู้กับพญาอินทรีอยู่ พลังคนรุ่นใหม่คือพลังสันติวิธี ถ้าจะยกระดับ ก็ต้องยกระดับด้วยแนวทางสันติวิธี คนที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องรู้ว่า นี่คือการเดินทางไกล ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน ถ้าเดินทางไกลแล้วทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้โดยสันติ เดินไปข้างหน้าโดยไม่ต้องมีการบาดเจ็บล้มตาย ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

สำหรับโอกาสเกิดความรุนแรงในยุคนี้ถือว่าประเมินยาก เพราะการเคลื่อนไหวมาเป็นครั้งคราว ไม่ได้อยู่เป็นแรมเดือน ต่างจากแต่ก่อนที่มีการเผชิญหน้ากันนาน มีความกดดัน มีแรงเสียดทาน เกิดความชิงชังจนระเบิดเป็นการใช้กำลัง แต่ยุคนี้ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะการชุมนุมไม่ได้ปักหลักยืดเยื้อ เงื่อนไขการปราบปรามจึงทำได้ยาก การวางบังเกอร์ไว้ทั่วบ้านเมืองเหมือนปี 2553 คงทำไม่ได้ และคงไม่ถึงขั้นเอาอาวุธสงครามไล่จับไล่ปราบผู้ชุมนุม แต่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นเฉพาะตัวกับแกนนำที่มีบทบาทหลักมากกว่า อย่างการจับกุมแกนนำ

:: ผู้ชุมนุมต้องตกผลึก ถอดบทเรียนร่วมกัน ::

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นจากการเคลื่อนไหวในยุคสมัยนี้คือวิธีคิดและแนวทางที่ต่างจากสมัยก่อนไปมาก มีประเด็นใหม่ๆ ถ้อยคำสำนวนใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งผมก็พยายามตามให้ทันอยู่ รวมทั้งเรื่องที่ลึกกว่านั้นอย่างวิธีคิดในการจัดการชุมนุมซึ่งนัดกันผ่านทางออนไลน์ ให้ผู้ชุมนุมสแตนด์บายตามสถานีรถไฟฟ้า นัดกันแค่ไม่เกิน 30 นาทีก็เต็มถนน ซึ่งสมัยผมไม่มีทางทำได้ เพราะไม่มีช่องทางสื่อสารอย่างวันนี้ แล้วผมก็ไม่รู้ว่าใครนำใครตามกันแน่ ไม่รู้ยุทธศาสตร์ที่แน่ชัด รู้แค่ว่าพวกเขาคือหนุ่มสาวที่ต้องการเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง กำลังออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้ว

อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวรูปแบบนี้มีทั้งจุดแข็งและข้อจำกัดอยู่ในตัว ถ้าหากเป็นผม ผมจะไม่ใช้รูปแบบนี้ เพราะการรวมคนจำนวนมากโดยไม่มีจุดศูนย์รวมความคิด มันจัดการได้ยาก มันอาจจะราบรื่นในช่วงต้นที่ยังไม่มีการเผชิญหน้ากันเกิดขึ้น แต่ถึงระยะหนึ่ง เมื่อเริ่มมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง แต่ก็มีข้อดีคือเรื่องความคล่องตัว ความเป็นอิสระ และช่วยลดการถูกกระทำของแกนนำ เพราะถือว่าทุกคนเท่ากันหมด ผมคิดว่าผู้ชุมนุมคงต้องมีการตกผลึกร่วมกัน มีการถอดบทเรียนกันเป็นระยะๆ สู้ไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย

นอกจากนี้ ทุกคนต้องสู้กับข้อกล่าวหาต่างๆ ด้วยความจริง ยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้องอย่างถึงที่สุด การลบล้างการใส่ร้ายป้ายสีด้วยความเท็จ ไม่สามารถทำได้ด้วยการใช้ความเท็จอีกชุดหนึ่ง แล้ววันหนึ่งคนจะเริ่มเห็นความจริง เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจ การเคลื่อนไหวของเราจะถูกกลับไปให้ความหมาย แม้จะใช้เวลาอีกเป็นสิบๆ ปี อย่าไปท้อถอยกับมัน ยุคนี้มีเครื่องมือที่จะแสดงความจริง ตอบโต้ความเท็จมากมาย และเอาความจริงออกมาได้ฉับพลัน การกล่าวหาด้วยความเท็จทำอะไรความจริงไม่ได้ พลังแอบแฝงบิดเบือนทำลายความจริงไม่ได้ ถึงแม้พลังนักศึกษาจะบอบช้ำหนักมากแล้ว แต่จุดที่เป็นความจริงก็ยังคมชัดอยู่ดี

:: การติดคุกคือการต่อสู้อีกวาระหนึ่ง ::

ช่วงแรกที่เคลื่อนไหวกัน ผมยังไม่เป็นห่วงมากนัก ซึ่งตอนนั้นผมยังอยู่ในคุก แต่พอสถานการณ์เริ่มหนักเข้าผมก็คิดว่าคนที่เคลื่อนไหวจะทยอยเข้ามาในเรือนจำ เพราะเมื่ออำนาจรัฐเคลื่อนเข้ามาต่อสู้กับประชาชน วันหนึ่งก็ต้องจะมีการจับกุมคุมขัง

ในระหว่างที่น้องๆ ถูกจับกุมคุมขัง ผมยังอยู่ในเรือนจำ ตอนนั้นผมต้องดูแลทั้งสวัสดิภาพ สวัสดิการ และจิตใจของน้องๆ ผมบอกให้ทุกคนดูแลกันและบอกพวกเขาว่า ต่อให้ผมจะออกจากคุกไปแล้ว ถ้าพวกเขาต้องกลับเข้าไปอีกก็ต้องช่วยเหลือกัน ผมทราบจากเพื่อนฝูงมาบ้างว่าตอนนี้น้องๆ ข้างในพยายามแสดงมิตรจิตมิตรใจต่อกันเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม ในการเข้าเรือนจำท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมือง ไม่มีใครดูแลตัวเราได้เท่ากับตัวเราเอง

ในระหว่างนั้น ผมเห็นแววตาความมุ่งมั่นเข้มแข็งของน้องๆ ทุกคนในเรือนจำ รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เท่าที่ผมสัมผัสมา แต่ละคนมีความรู้ความสามารถเกินกว่าตำราเรียน แต่ผมก็สัมผัสได้ถึงความกังวล ผมพยายามสื่อสารให้พวกเขามีพลังในการยืนหยัด บอกเขาว่าพวกเขาเป็นนักสู้ไม่ใช่นักโทษ การโดนจับก็ถือเป็นการต่อสู้รูปแบบหนึ่ง

การเข้าไปอยู่ในเรือนจำจากการต่อสู้ทางการเมืองต้องระลึกเสมอว่า นั่นคือการต่อสู้อีกวาระหนึ่งของเรา แม้ว่าเราจะไม่สามารถปราศรัยต่อหน้าทุกคนในเรือนจำได้ แต่วิถีชีวิตของเราในเรือนจำจะต้องแทนคำปราศรัย แทนคำอธิบายว่าเราคือคนแบบนี้ มีวิธีการต่อสู้แบบนี้ ผมเชื่อว่าพวกเขาจะผ่านไปได้

ตอนนี้ผมไม่ได้ห่วงเรื่องจิตใจน้องๆ แต่ห่วงเรื่องร่างกายมากกว่า เพราะมีการประกาศอดอาหาร ซึ่งทำได้เพียงห่วง เพราะเป็นการตัดสินใจต่อสู้ของเขาเอง

ผมคิดว่าพวกเขาเป็นเด็ก ไม่ควรเข้าไปอยู่ในนั้น และไม่ควรมีใครไปกระทำอะไรกับเด็กกลุ่มนี้ ผมเห็นว่าน้องๆ ควรได้รับสิทธิประกันตัว การให้ประกันตัวไม่ได้ทำลายกระบวนการยุติธรรม แต่การไม่ให้ประกันตัวต่างหากทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นทุกที และการใช้มาตรา 112 ก็ไม่ได้เป็นผลดีกับใครเลย ทั้งต่อรัฐและต่อสถาบันฯ เองด้วย นี่คือสิ่งที่ผมเรียกร้องมาตลอดให้มีการทบทวน และผมภาวนาให้ทุกคนได้รับอิสรภาพ และให้กำลังใจแม่ๆ ของน้องทุกคน

นอกจากนี้ รัฐต้องทบทวนการจับพวกเขาไปคุมขัง การเอาพวกเขาไปขังได้เยอะๆ แล้วทำให้คนอื่นพลังถดถอยไป รัฐก็อาจจะชนะได้ แต่รัฐจะดูแค่บนถนนไม่ได้ เพราะข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ว่าเพดานจะสูงขึ้นหรือลดลงอย่างไร มาจากความคิดและปฏิกิริยาผู้คนในสังคมมากกว่า ไม่ได้มาจากเวทีปราศรัย นี่ถือเป็นสัญญาณใหญ่ที่รัฐต้องแปลให้ออก

:: อย่าด้อยค่าอำนาจประชาชน ::

การต่อสู้ของประชาชนมีข้อจำกัดน้อยกว่าการเข้าไปขับเคลื่อนในรัฐสภา เพราะสภามีระเบียบข้อบังคับต่างๆ มากมาย ทำให้บางเรื่องที่ตัวแทนประชาชนพยายามขับเคลื่อนในสภา ต้องถูกเอาออกมาเคลื่อนไหวข้างนอก เพราะเจอกติกาอย่างการลงมติเสียงข้างมาก

แต่ถ้าจะให้ยกเลิกทุกกติกาไปเลย ทำให้สภาไม่มีข้อจำกัดเท่ากับบนถนน ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะสภาเป็นที่รวมตัวแทนประชาชนซึ่งมีหลากหลายปัญหาที่ต้องผลักดันแก้ไข ไม่ได้จำเพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในเมื่อสภาต้องทำหน้าที่ทุกมิติ จึงยังจำเป็นต้องมีระเบียบกติกา ผมว่าเราทำให้สภากับข้างนอกสอดรับกันได้ง่ายกว่าคิดจะไปทำให้มันเท่ากัน และต้องอย่าลืมว่าคนที่นั่งในสภาจะละเลยเสียงประชาชนไม่ได้

ทุกวันนี้มีหลายเรื่องที่ตัวแทนประชาชนในสภาพยายามผลักดัน เช่น การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อพยายามดึงอำนาจออกจากมือคณะรัฐประหารที่สืบทอดอำนาจ แต่ไม่ง่ายนัก เพราะกลไกรัฐสภามีจำกัดอยู่

ตราบใดที่ตัวแทนประชาชนในสภากำลังแสดงความมุ่งมั่นแก้ปัญหา เราก็อย่าไปดูแคลน เพราะคนเหล่านั้นคืออำนาจของเรา คือตัวแทนที่เราเลือกไป ต่อให้เราจะสู้บนถนนอย่างไร จะกล้าหาญแหลมคมแค่ไหน วันหนึ่งทุกเรื่องก็ต้องเข้าสู่ระบบกลไกรัฐสภาซึ่งเป็นประชาธิปไตยตัวแทน เราคงไม่คิดว่าบ้านเมืองจะเคลื่อนบนถนนไปตลอดกาล และคงไม่คิดว่าแกนนำมวลชนกลุ่มไหนจะขึ้นมามีอำนาจกำหนดความเป็นไปของประเทศ เมื่อใดที่เชื่อแบบนั้น เท่ากับว่าเรากำลังเปิดประตูให้เผด็จการในคราบขบวนการประชาชนเกิดขึ้น

ถึงที่สุดเมื่อความขัดแย้งผ่านไป หาข้อตกลงกันได้ ทุกอย่างก็ต้องกลับคืนสู่ระบบ เราจะเหยียดหยามด้อยค่าระบบรัฐสภาหรือกลไกการเมืองที่มาจากอำนาจประชาชนไม่ได้ เมื่อใดที่ทำแบบนั้นจะเปิดพื้นที่ให้อำนาจนอกระบบ เปิดให้คนกลุ่มหนึ่งเข้ามายึดอำนาจ

:: ก้าวต่อไปหลังได้รับอิสรภาพ ::

ผมเคารพและให้เกียรติการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวครั้งนี้ หลายคนเคยบอกให้ผมให้คำแนะนำกับเด็กๆ แต่ผมไม่ทำ เพราะการต่อสู้เป็นการเรียนรู้ของคนในขบวน ทุกวันนี้ก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาข้อสรุปกันอยู่ ผมไม่ควรเข้าไปแสดงบทบาทนำอะไรในการเคลื่อนไหวตอนนี้ ทำได้เพียงเข้าไปหนุนเสริม เพราะมันเป็นคนละยุคสมัยกันแล้ว ผมไม่เคยคิดที่จะหยุดต่อสู้ แต่การจะกลับไปบนถนนหรือเวที ขอให้สถานการณ์เป็นตัวกำหนด ผมไม่ได้แทงกั๊กหรือเล่นตัว แต่มันเป็นเรื่องของยุคสมัย

ส่วนคำถามที่ว่ากลุ่ม นปช.จะต่อสู้อีกไหม ผมก็มองว่าเป็นเรื่องยุคสมัยเหมือนกัน บทบาทของ นปช.ผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว และตอนนี้องค์กรนำของเราก็ไม่ได้มีสภาพเหมือนเดิม แต่ถึงอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังมีคนเสื้อแดงร่วมต่อสู้อยู่ด้วย โดยไม่ได้หยุดไปพร้อมกับ นปช. ทุกคนสามารถเลือกการเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้

การทำงานการเมืองของผมหลังออกจากเรือนจำครั้งนี้ยังคิดถึงความเป็นอิสระ ผมอยากออกมาทำงานกับคนที่ร่วมความคิดกันได้และพยายามผลักดันภารกิจการเมืองในแบบที่เราเชื่อให้เป็นรูปธรรมที่สุดตามกำลังที่มี ผมยังเคารพอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรเหมือนเดิม เพราะศรัทธาในความสามารถ วิสัยทัศน์ และนโยบายที่เป็นคุณูปการต่อคนยากคนจนอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ในแง่ความรู้สึกส่วนตัวต่อคุณทักษิณ ผมยังมีเหมือนเดิม ส่วนการกลับไปทำงานกับพรรคการเมืองเดิมนั้น ผมอาจมีอีกแนวทาง

ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ไม่เหมาะกับสถานภาพของผม เพราะผมถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ภายใต้เสรีภาพที่จำกัดจำเขี่ยนี้ก็คงพอมีพื้นที่ให้ผมทำงานกับพรรคได้บ้าง พรรคที่ผมจะร่วมงานด้วยต้องยืนหยัดหลักการประชาธิปไตยที่ชัดเจน กล้าแสดงตัวเคียงข้างหลักการที่ถูกต้อง และแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ด้วย ผมอยากเห็นพรรคแบบนั้น และผมก็เป็นคนเล็กๆ คนหนึ่งที่พร้อมร่วมงานทางการเมืองให้ประเทศเดินหน้าต่อด้วยเรี่ยวแรงที่ผมมีอยู่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save