fbpx

นิติศาสตร์ต้องรอด !

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง
กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

“หัวใจสำคัญของนิติศาสตร์คือ การทำให้คนเชื่อว่ายังมีความยุติธรรมอยู่”
- เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

หากเราตั้งต้นที่ความคิดว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และมีการรวมตัวกันมาตั้งแต่หลายพันปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับการรวมกลุ่มอย่างยาวนานคงหนีไม่พ้น ‘กฎหมาย’ เพราะไม่ว่าจะเป็นมุมไหน แง่ใด ทุกมิติของชีวิตมนุษย์ล้วนเกี่ยวพันกับกฎหมายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เมื่อกฎหมายเกิดขึ้นเพื่อบังคับใช้ในสังคม กฎหมายจึงมีวิวัฒนาการควบคู่ไปกับมนุษย์ รวมถึงสะท้อนภาพอารยธรรมและสภาพสังคมในช่วงเวลานั้น และเช่นเดียวกับหลายสิ่งบนโลกนี้ มนุษย์เริ่มมีการศึกษากฎหมายอย่างเป็นระบบ แรกเริ่มอาจเพื่อผลิตนักเทคนิคไปบังคับใช้กฎหมาย ก่อนจะพัฒนาจนกลายเป็นคณะที่มีการศึกษาทฤษฎีและองค์ความรู้ต่างๆ ด้วย หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ ‘คณะนิติศาสตร์’

ในบริบทของประเทศไทย คงไม่ต้องสงสัยว่านิติศาสตร์เป็นคณะยอดนิยมอันดับต้นๆ เป็นความใฝ่ฝันของเด็กหลายคนที่อยากเรียนกฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรม ขณะที่นักนิติศาสตร์ก็ถูกคาดหวังให้ใช้อำนาจที่ถืออยู่ในมืออย่างเป็นกลางและเป็นธรรม เหมือนกับเทพีแห่งความยุติธรรมที่ถูกผ้าปิดตาไว้ ทว่าเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดเหล่านี้กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก สังคมมองว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมุ่งปกป้องผู้มีอำนาจมากกว่าจะปกป้องคนเล็กคนน้อย กฎหมายกลายเป็นเหมือนโซ่ตรวนแห่งสิทธิและเสรีภาพ และหลายครั้งที่สถาบันทางกฎหมายและผู้ที่อยู่ในวิชาชีพกฎหมายเข้าไปคาบเกี่ยวกับเรื่องการเมือง จนอาจจะทำให้ถึงขั้นเกิดวิกฤตความชอบธรรมในระบบยุติธรรม

และถ้าพูดให้ถึงที่สุด หลายคนเริ่มส่งเสียงกลับไปยังจุดเริ่มต้นอย่าง ‘คณะนิติศาสตร์’ การเรียนการสอนในไทยเป็นอย่างไร และในสภาวะเช่นนี้ คณะนิติศาสตร์ควรวางตำแหน่งแห่งที่ของตนและมีบทบาทเช่นไร และควรปรับตัวอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ในห้วงยามที่กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่สุดครั้งหนึ่ง 101 สนทนากับ อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไล่เรียงตั้งแต่องค์ความรู้ด้านนิติศาสตร์ในไทย ระบบการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาที่เป็นความฝันของนักเรียนกฎหมายหลายคน การวิพากษ์ระบบการเรียนการสอนกฎหมายในไทย และบทบาทของคณะนิติศาสตร์ในปัจจุบัน ไปจนถึงการปรับตัวของนิติศาสตร์ในยุคเทคโนโลยีเขย่าโลก

ทั้งหมดนี้ เพราะ ‘นิติศาสตร์ต้องรอด’

องค์ความรู้ด้านนิติศาสตร์ในไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร อาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตอะไรบ้าง

 

เราต้องเข้าใจก่อนว่า นิติศาสตร์แทบจะแบ่งออกเป็นสองสาขาใหญ่ๆ ซึ่งมีพัฒนาการไม่เหมือนกัน

สาขาแรกเรียกว่ากฎหมายเอกชน คือกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา หรือกฎหมายธุรกิจ ส่วนนี้จะค่อนข้างนิ่ง หลักคิดไม่ได้เปลี่ยนมาเป็นพันปีนับตั้งแต่สมัยกฎหมายโรมัน ผ่านยุโรปยุคกลางมาจนถึงโลกยุคใหม่ มันจะอยู่บนฐานของสัญญา หนี้ หรือการละเมิด มีแต่พัฒนาการที่เพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยีโลก เช่น ตอนนี้ทุกคนอาจจะพูดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (data privacy) หรือ Blockchain แต่ความรู้พื้นฐานก็ยังอยู่และต่อยอดไป การเรียนก็จะเป็นการวิ่งตามกฎหมายใหม่ๆ ที่ออกมาให้ทัน แต่โครงหลักจะไม่ได้เปลี่ยนไป คือเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชนที่สมัครใจเข้าทำนิติกรรมกัน โดยมีรัฐเข้ามาควบคุม

แต่สาขาที่สองซึ่งมีความปั่นป่วนคือกฎหมายมหาชน ผมคิดว่าทุกวันนี้ยังไม่มีอะไรลงตัวเท่าไหร่ เรื่องกฎหมายปกครองอาจจะพอลงตัวแล้ว แต่เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญยังเถียงกันไม่จบ เช่น สมัยก่อนเราอาจจะบอกว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องดี แต่จะออกแบบรัฐธรรมนูญยังไงให้มีประชาธิปไตย แต่ตอนนี้เราต้องกลับมาที่เรื่องพื้นฐานกว่าเดิมอีกคือ ตกลงจะเอาแนวคิดแบบประชาธิปไตยดีไหม จะเห็นว่าความรู้ส่วนนี้ยังเปลี่ยนแปลงมาก เพราะเวลาเปลี่ยนแต่ละทีก็เป็นการเปลี่ยนไปถึงโครงสร้างหรือจิตวิญญาณ (spirit) ของตัวกฎหมาย

อีกสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนคือ จะมีความคาบเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองของฝั่งคณะรัฐศาสตร์ หลังๆ เราจึงจะเห็นอาจารย์สายรัฐศาสตร์เริ่มให้ความสนใจกับรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวกฎหมายมากขึ้น และเห็นอาจารย์กฎหมายมหาชนหันไปดูทฤษฎีทางรัฐศาสตร์หรือทฤษฎีการเมืองมากขึ้นเช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า พอตอนนี้ความรู้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่นิ่ง อีก 4-5 ปีก็อาจจะเปลี่ยนได้ เลยต้องไปดูทฤษฎีหรือสิ่งที่เกิดก่อนจะพัฒนามาเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร ก็เรียกได้ว่าทั้งนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์กำลังมองกันไปมองกันมาอยู่

ถ้าพูดให้เห็นภาพชัดขึ้น เราเรียนปรัชญากฎหมายมหาชนมาจนถึงช่วงศตวรรษที่ 18 ที่เกิดการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสหรือกำเนิดรัฐธรรมนูญอเมริกา เราก็ได้เรียนปรัชญาเสรีนิยมแบบคลาสสิกสุดๆ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้เรียนเลย ข้ามมาอีกทีก็ได้เรียนช่วงปี 2540 ซี่งจริงๆ ก็ตลกนะ เพราะในช่วงหลังศตวรรษที่ 18 มาจนถึงปี 2540 ก็มีอะไรคลี่คลายออกมาเยอะ แต่เรากลับไม่ได้ต่อยอดตรงนี้

พัฒนาการในช่วงสุญญากาศที่หายไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 จนถึงปี 2540 เป็นอย่างไร

 

เราเห็นการแผ่ขยายของแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมและเสรีนิยมในยุโรป ซึ่งก็มีความลุ่มๆ ดอนๆ บ้าง จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มเห็นราชวงศ์ล้มหายตายจาก บางที่เป็นคอมมิวนิสต์ บางที่ก็เป็นประชาธิปไตยแบบคลาสสิก มีการล้มและเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาติต่างๆ ได้รับประชาธิปไตย หลังจากนั้นก็มีประชาธิปไตยคลื่นลูกที่ 3 หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ก็เห็นว่ามันมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ แต่นักกฎหมายไทยไม่ได้เรียน เราพูดเหมือนว่าโอเค ในศตวรรษที่ 18 เรียน Montesquieu หรือ Jean-Jacques Rousseau เสร็จ ก็ข้ามมาปี 2540 เลย ทั้งที่มีอะไรเกิดขึ้นมากมายระหว่างนั้น

ตรงนี้สะท้อนถึงเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาในกฎหมายมหาชนคือ เราพูดถึงงานกฎหมายว่าเป็นงานที่อยู่กับเอกสารที่เราเรียกว่ากฎหมาย หรือที่กำลังมีผลบังคับใช้อยู่ ความต้องการเฉพาะหน้าคือต้องเอาไปใช้ เราเลยต้องเรียนอันที่นำไปใช้ได้ ถ้าจะเรียนรัฐธรรมนูญก็ต้องเรียนฉบับที่มีผลบังคับใช้ตอนนี้ หรืออาจจะย้อนกลับไปไม่กี่ฉบับที่เชื่อมโยงถึงกัน จะให้ย้อนไปถึงปี 2475 ในระดับปริญญาตรีก็อาจจะไม่ได้มีประโยชน์ขนาดนั้นเพราะเอามาใช้ไม่ได้แล้ว เราเลยไม่ได้เรียนการศึกษาประวัติศาสตร์หรือการเมืองไทยไปด้วย

นิติศาสตร์มีคำถามอะไรบ้างที่จนปัจจุบันก็ยังหาคำตอบไม่ได้หรือยังถกเถียงกันอยู่

ต้องบอกก่อนว่า นิติศาสตร์มีทั้งคำถามคลาสสิกกับคำถามใหญ่ที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน

ถ้าเป็นคำถามคลาสสิกของนิติศาสตร์ เช่น ความยุติธรรมคืออะไร เป็นคำถามเชิงปรัชญาเลย เพราะความยุติธรรมก็มีหลายโมเดล ถ้าใครได้ดูคลาสเรียนของไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะเห็นว่าเขาชวนคุยเรื่องความยุติธรรมสัมพัทธ์ (comparative) ที่ทุกคนพอใจ หรือเรื่องความยุติธรรมสัมบูรณ์ (absolute) และยังมีคำถามว่าตกลงมีกฎหมายธรรมชาติซึ่งเป็นกฎหมายที่ดีงามถูกต้องไหม เราต้องพยายามเข้าใกล้กฎหมายธรรมชาติให้มากที่สุดหรือยึดแค่กฎหมายบ้านเมืองที่ออกมาก็คือที่สุดแล้ว คำถามพวกนี้คือคำถามคลาสสิกที่เวลาเรียนก็ต้องถามตอบกัน แต่ไม่มีคำตอบที่แน่นอน มีการดีเบตกันอยู่ตลอดเวลาในโรงเรียนกฎหมาย

ส่วนคำถามใหญ่ที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในทางกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือการเสื่อมถอยของอุดมการณ์ประชาธิปไตยและเสรีนิยม อันนี้เป็นเรื่องที่วงการกฎหมายทั่วโลกคุยกัน และไม่เหมือนภัยคุกคามจากยุคก่อนๆ ที่ตรงไปตรงมา เช่น การทำรัฐประหาร อำนาจสู้กับกฎหมาย ซึ่งเรารู้ว่ามันผิดถูกยังไง แต่ปัจจุบันคำถามใหญ่คือ ถ้าตัวกฎหมายเอื้อให้เกิดการผุกร่อนทำลาย ส่วนผู้นำอำนาจนิยมในปัจจุบันก็มาในรูปแบบผู้นำที่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วจะหยุดยั้งยังไง

เรื่องนี้ยากนะ เพราะตอนนี้เสรีนิยมเหมือนอยู่ตรงกลาง ผู้นำอำนาจนิยมทางขวาก็ขึ้นมาผ่านการเลือกตั้ง เน้นประชานิยม ชาตินิยม และทุนนิยมขนาดหนัก ส่วนทางซ้ายก็มีปีกอำนาจนิยมแบบซ้ายหรือแบบที่ขึ้นมาในลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นสถานการณ์ความกดดันอย่างหนึ่งที่เราพยายามจะหยุดยั้งและยังไม่มีใครเสนอทางออกอะไรที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ระเบียบโลกแบบเก่าที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้ง รวมไปถึงกฎหมายในแดนกฎหมายเอกชน ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ในมุมมองนิติศาสตร์ เราจะอธิบายการที่ผู้นำอำนาจนิยมขึ้นมาในรูปแบบที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร

สาเหตุที่ผู้นำอำนาจนิยมกลุ่มนี้ขึ้นมาได้ เช่น พรรคการเมืองไม่เป็นตัวแทนประชาชน แต่ไปอยู่กับกลุ่มทุน และที่กลุ่มทุนมาครอบงำพรรคการเมืองได้ก็เพราะกฎหมายต่อต้านการผูกขาด กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจต่างๆ ไม่เอื้อคนเล็กคนน้อย แต่ไปเอื้อนายทุน ทำให้เกิดการผูกขาดทั้งในแดนเศรษฐกิจและแดนของกฎหมายและการเมือง พอคนคับข้องใจมากเข้าก็ไปเลือกผู้นำอำนาจนิยมที่สัญญาว่าจะล้างบางคอร์รัปชัน

ช่วงหลายปีมานี้ ถ้าเรามองกระแสการเมืองโลกควบคู่ไปด้วยจะเห็นว่า คุณค่าหลายอย่างซึ่งโลกเคยยึดถือมาตลอดถูกตั้งคำถามหรือแม้กระทั่งถูกต่อต้าน สถานการณ์เช่นนี้กระทบกับการศึกษากฎหมายอย่างไร

 

ถ้าดูการศึกษากฎหมายในเอเชีย ต้องยอมรับว่ากฎหมายที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเป็นสิ่งที่นำเข้ามาจากโลกตะวันตก อย่างเอเชียจะได้มาจากเยอรมนีเยอะ รวมถึงสหรัฐฯ ในช่วงหลังด้วย ในการศึกษากฎหมายยุคแรก คนที่ไปเรียนกฎหมายที่ต่างประเทศและมีความรู้ด้านกฎหมาย นำกลับมาสอนในประเทศได้ เราถือว่าเป็นปรมาจารย์แล้ว

พอมาถึงคลื่นลูกที่สองของการศึกษากฎหมายในเอเชีย เป็นยุคที่กฎหมายซึ่งนำเข้ามา ทดลองใช้จากต่างประเทศเริ่มลงตัว เราจะเห็นคนเริ่มเสนอตัวแบบของเอเชีย เช่น รัฐธรรมนูญแบบขงจื่อนิยม หรือรัฐธรรมนูญอำนาจนิยมแบบเอเชีย ในสิงคโปร์ก็มีการเสนอว่า นี่คือโมเดลของเสรีภาพและความหลากหลายภายใต้รัฐธรรมนูญอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพทุกคน แต่จริงๆ ข้างในทุกคนอยู่กันแบบมีเอกภาพและมีเสรีภาพตามสมควร หากเทียบกับโลกยุโรปที่วุ่นวาย

แต่สิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องหันกลับมาสนใจคลื่นอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นจริงๆ เพราะกระแสขวาจัดในยุโรป ที่น่าตกใจคือในสหราชอาณาจักรที่มีการทำประชามติ Brexit หรือสหรัฐฯ ที่มีผู้นำอำนาจนิยมขึ้นมาได้ แต่ก่อนเราอาจเคยคิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยใหม่หรือประชาธิปไตยไม่ค่อยแข็งแรง แต่จะเห็นว่าประเทศที่เราเคยคิดว่ามั่นคงแล้วก็ถอยกลับมาได้เช่นกัน

จากนั้นวงการนิติศาสตร์ก็ศึกษากันใหญ่เลย เพราะเกิดวิกฤตประชาธิปไตยและวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้น แต่จริงๆ อย่างที่บอกไปว่าในเอเชียเกิดแบบนี้มาสักพักแล้ว เพียงแต่ถ้าฝั่งตะวันตกไม่เจอบ้างก็คงไม่ค่อยมีการศึกษาพวกนี้

นึกภาพว่าคุณจบมาตอนอายุ 22 ปี เป็นวัยที่คุณมีความรู้ มีไฟ กล้าหาญในระดับหนึ่ง เป็นคนหนุ่มสาวไฟแรงที่จะขับเคลื่อนโลก แต่คุณต้องมานั่งอ่านหนังสือ 2 ปี ท่องฎีกาต่ออีก บางคนก็ต้องสอบ 4-5 ปี บางคนเกินกว่านั้น พอเข้าไปไฟในตัวคุณอาจจะมอดไปหมดแล้ว เราถึงไม่ค่อยเจอใครเฟี้ยวๆ ในระบบเท่าไหร่ เพราะกว่าจะเข้าได้ก็ยากแล้ว

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

เมื่อมองระบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ของไทยจะเห็นว่า เราเปิดให้เรียนนิติศาสตร์ได้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี แต่ในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ บังคับว่าต้องผ่านปริญญาสาขาอื่นมาก่อนจึงจะสมัครเรียนนิติศาสตร์ได้ อาจารย์มองว่าความแตกต่างเช่นนี้สะท้อนบริบทอะไร

ในประเทศที่ใช้กฎหมายระบบ common law เช่น สหรัฐฯ หรืออังกฤษ การเรียนกฎหมายสมัยก่อนจะเป็นระบบฝึกงาน (apprenticeship) คือใครอยากเป็นทนายก็ไปเป็นเด็กฝึกงานในสำนักงานทนายความ เรียนรู้ด้วยการตามไปดูทนายใหญ่ว่าความ ไปดูคดีต่างๆ จนมีประสบการณ์แล้วก็ไปสอบให้ได้ใบอนุญาตเป็นทนาย จะเห็นว่าการเรียนแบบนี้จะใช้เวลายาวนาน ทำให้เกิดค่านิยมว่าต้องการคนมีประสบการณ์ ระบบ Juris Doctor ของสหรัฐฯ สะท้อนภาพนี้ได้ดีที่สุด คือคุณต้องไปเรียนปริญญาตรีมาก่อนอย่างน้อย 1 ใบ แต่บางคนก็ไม่ได้เรียนแค่ปริญญาตรี แต่เรียนปริญญาเอกสาขาอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา หรือรัฐศาสตร์มาแล้ว ทำให้ในโรงเรียนกฎหมายมีคนหลากหลาย ตั้งแต่คนที่เพิ่งจบปริญญาตรีไปจนถึงคนที่เคยเป็นทหารไปรบมาก็นั่งรวมกัน หลังๆ แคนาดาก็พยายามทำแบบนี้ในบางที่ เอเชียก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบของไทย คือเป็นปริญญาตรีเลย

ส่วนตัวผมมองว่าคงพูดข้อดีข้อเสียได้ยาก จะเรียนเป็นปริญญาตรีก็ได้ แต่ขึ้นกับปัจจัย 2 ข้อ ข้อแรกคือ ก่อนที่เด็กจะเข้ามาถึงปริญญาตรี ระบบการศึกษาของเราทำให้เด็กมัธยมเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือยัง ข้อสองคือ พอเด็กเข้ามาเรียนแล้วเราจะสอนอะไร แต่ของไทยก็มีปัญหา เพราะเด็กมัธยมที่เข้ามาก็อาจจะยังมีวิธีคิดหรือมุมมองเกี่ยวกับสังคม การเมือง ชีวิต หรือความยุติธรรม ไม่ได้โตมาก และบรรยากาศการเรียนการสอนในคณะก็ไม่ได้ทำให้เขาโตขึ้นกว่าเดิมสักเท่าไหร่

อาจารย์คิดว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าไทยจะเริ่มนำระบบแบบ Juris Doctor เข้ามาใช้

เราเห็นความพยายามที่จะทำอะไรกึ่ง Juris Doctor บ้าง เช่น มหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดการเรียนนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต หรือมหาวิทยาลัยเปิดบางที่ก็มีการเรียนนิติศาสตร์ แต่กระแสหลักก็ยังเป็นการเรียนปริญญาตรีภาคปกติอยู่ดี

ที่น่าสนใจคือ ระบบการเรียนที่ว่ามาผูกกับระบบการสอบผู้พิพากษาด้วย เพราะการสอบผู้พิพากษาเป็นเกมที่ใครอยู่นานคนนั้นชนะ กฎของการเล่นเกมนี้คือคุณต้องเข้าให้เร็วที่สุด แต่ถ้าคุณไปเริ่มเรียนตอนอายุ 30 ปี กว่าจะจบ กว่าจะสอบเนติบัณฑิตและสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาผ่านก็นานแล้ว คนส่วนใหญ่ก็อาจจะมองว่าไม่อยากได้แบบนี้ แต่อยากเข้าให้เร็วที่สุด ในประเทศไทยจึงเกิดเหตุการณ์ที่มีมหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดหลักสูตรให้นักเรียนมัธยมเรียนนิติศาสตร์ได้ทันทีที่จบ ม.3 เพื่อเร่งให้พร้อมสอบผู้ช่วยฯ ให้ได้เร็วที่สุด

อาจารย์พูดถึงการสอบเป็นผู้พิพากษา อยากให้ช่วยอธิบายหน่อยว่าระบบการสอบเป็นอย่างไร มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ระบบการสอบผู้ช่วยฯ จะมี 3 สนาม สนามแรกคือสนามใหญ่ คุณจบนิติศาสตรบัณฑิต สอบเนฯ ผ่าน เก็บประสบการณ์อีก 2 ปีคือเก็บคดีหรือทำงานตามที่กำหนด อายุ 25 ปี ก็เริ่มสอบผู้ช่วยฯ ได้เลย

สนามที่สองคือสนามเล็ก คือจบนิติศาสตรบัณฑิตบวกกับปริญญาโทอีกหนึ่งใบ สอบเนฯ ผ่านและมีประสบการณ์

สนามสุดท้ายคือสนามจิ๋ว รับคนที่เรียนจบจากต่างประเทศมาอย่างน้อย 2 ปี มีการวัดภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับความรู้กฎหมาย ซึ่งก็จะถูกวิจารณ์ว่าความเข้มข้นในการคัดเลือกไม่เท่าสนามใหญ่หรือสนามเล็ก ส่วนเกณฑ์การสอบผู้ช่วยฯ สนามจิ๋วเองก็ประหลาด เพราะปริญญาโทต่างประเทศ หรือ LL.M. เรียนกัน 9-12 เดือน ดังนั้น นักเรียนไทยต้องเรียนปริญญาโทต่างประเทศ 2 ใบ ซึ่งในโรงเรียนกฎหมายชั้นนำมักจะไม่รับผู้สมัครที่เรียนปริญญาโทใบที่สอง เนื่องจากเห็นว่าปริญญาโทใบเดียวก็เพียงพอแล้ว ถ้าอยากเรียนเพิ่มคือปริญญาเอกหรือเรียนปริญญาอีกสายที่ไม่ใช่กฎหมาย

เวลาจะเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษาเขาจะเอารุ่น ลำดับ และสนามที่สอบมาดู เอาสนามใหญ่ สนามเล็ก สนามจิ๋ว มาเรียงกัน เพราะฉะนั้นสนามใหญ่จะมาก่อน เรียกได้ว่าคุณมีลำดับที่ตั้งแต่ตอนสอบเข้า การจะทำอะไรก็มักจะขึ้นกับลำดับตรงนี้ด้วย อย่างคนที่จะเป็นประธานศาลฎีกาในอนาคตคือคนที่สอบผู้ช่วยฯ ได้ลำดับที่ 1 ตั้งแต่อายุ 25 ปี และไม่มีประวัติด่างพร้อยใดๆ คือเรียกได้ว่าที่ผ่านมามันค่อนข้างชัวร์มาก รู้กันล่วงหน้า 3-4 ปีเลยว่าใครจะได้เป็น เขาบอกว่า การที่มีระบบตายตัวเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันการวิ่งเต้น แต่ปัญหาที่มาพร้อมกันก็คือการขาดแรงจูงใจ ขาดการคิดอะไรใหม่ๆ เพราะแบบที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว

จะเห็นว่าเวลาสอบมีต้นทุนในการเข้าพอสมควร แต่พอเข้าไปได้แล้วก็ค่อนข้างอยู่ตัว ซึ่งก็ต้องเข้าไปให้ได้ก่อนนี่แหละ ทุกคนก็จะมาติดกันตรงคอขวดที่พยายามอัดกันเข้าไป นี่เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การวางหรือออกแบบหลักสูตร รวมถึงการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในไทยมีปัญหาเยอะ บางคนที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะสอบผู้ช่วยฯ ให้ได้ ก็จะไม่ทดลองอย่างอื่นเลย จะเลือกแต่วิชาที่จะส่งให้เขาสอบเนฯ ผ่านได้เร็วๆ เพราะส่วนใหญ่การสอบเนฯ 20 ข้อ น้ำหนักจะอยู่ที่กฎหมายแพ่ง เอกเทศสัญญา หรือกฎหมายอาญา ซึ่ง conventional มากๆ การสอนก็พลอยถูกคาดหวังไปด้วยว่า ถ้าสอนแล้วไม่เอื้อกับการสอบเนฯ และผู้ช่วยฯ เด็กบางคนก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ได้อยากเรียนอะไรแบบนี้เท่าไหร่

ถ้ามองดูมันก็น่าเศร้านิดหน่อยนะ นึกภาพว่าคุณจบมาตอนอายุ 22 ปี เป็นวัยที่คุณมีความรู้ มีไฟ กล้าหาญในระดับหนึ่ง เป็นคนหนุ่มสาวไฟแรงที่จะขับเคลื่อนโลก แต่คุณต้องมานั่งอ่านหนังสือ 2 ปี ท่องฎีกาต่ออีก บางคนก็ต้องสอบ 4-5 ปี บางคนเกินกว่านั้น พอเข้าไปไฟในตัวคุณอาจจะมอดไปหมดแล้ว เราถึงไม่ค่อยเจอใครเฟี้ยวๆ ในระบบเท่าไหร่ เพราะกว่าจะเข้าได้ก็ยากแล้ว

แสดงว่าการออกแบบการเรียนการสอนของเราก็เพื่อตอบรับกับระบบการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา และต่อไปถึงการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในอนาคตด้วย

ใช่ครับ ตั้งแต่แรกที่มีการเรียนนิติศาสตร์แบบสากลในไทย ตอนนั้นเราจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายตราสามดวงและนำกฎหมายสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้นานาชาติเห็นว่าเราเป็นอารยประเทศ ก็เกิดคำถามว่าแล้วเราจะผลิตคนยังไง วิธีที่ดีที่สุดจึงเป็นการนำคนที่เคยเรียนต่างประเทศมาเปิดอบรมกันเองในหมู่ข้าราชการ วิธีการอบรมและการใช้ที่เร็วที่สุดก็คือเอาหลักกฎหมายต่างประเทศและฎีกาบางฎีกามาให้ดู อ่าน จำ สอบไล่เสร็จก็ไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาต่อ จะเห็นว่าจุดเริ่มต้นคือการเป็นโรงเรียนผลิตนักเทคนิคด้านกฎหมายไปทำงานในระบบยุติธรรม ก็ไม่ได้มีความลุ่มลึกอะไร คุณก็เรียนสิ่งที่ต้องใช้จริงๆ

หลังจากนั้นก็อีกนานพอสมควร กว่าจะแยกออกมาเป็นคณะนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ และพยายามเปลี่ยนจากโรงเรียนกฎหมายที่เป็นระบบฝึกงานและผลิตนักกฎหมายให้เป็นคณะนิติศาสตร์ (Faculty of Law) เรียนสิ่งที่เรียกว่า juridical science พยายามสกัดเอาเคสหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ออกมาให้เป็นทฤษฎีทางกฎหมาย รวมถึงเรียนทฤษฎี ความรู้ หรืออย่างอื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่นำไปใช้งานได้ แต่เป็นสิ่งที่เสริมในการศึกษาทางทฤษฎี ประวัติศาสตร์ หรือเทคนิคต่างๆ ซึ่งจนถึงวันนี้เราก็ยังมีส่วนผสมของโรงเรียนที่ผลิตนักเทคนิคออกไป และส่วนที่พยายามทำให้เกิดนิติศาสตร์และความรู้อื่น นอกเหนือจากที่เอาไปใช้เฉพาะหน้าอยู่

มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เราสอนให้ผู้เรียนเข้าใจตัวบทกฎหมาย แต่อาจไม่ได้ให้มองไปถึงแนวคิดพื้นฐานอย่างสิทธิ เสรีภาพ หรือมองว่าการใช้กฎหมายคือการใช้อำนาจ แต่ไม่ได้มองว่าอำนาจที่ใช้ไปกระทบกับชีวิตคนอย่างไร อาจารย์คิดยังไงกับประเด็นนี้

ผมว่าก็มีส่วนจริงอยู่ เพราะอย่างที่บอกว่าเราพยายามทำให้เกิดเป็นคณะนิติศาสตร์ ทำให้คนที่ออกไปไม่ใช่นักเทคนิค แต่เป็นบัณฑิตจริงๆ คือมีความรู้ด้านกฎหมายที่ไม่ใช่แค่แบบจะนำไปใช้ เราบอกว่าเป้าหมายแรกของปริญญาตรีคือการให้ผู้เรียนใช้กฎหมายเป็น แต่ขั้นสูงกว่านั้นคือต้องวิพากษ์ได้ว่ากฎหมายที่ใช้นั้นดีหรือไม่ดี และขั้นสูงสุดคือ สมมติวันนี้ระบบกฎหมายหายไปทั้งระบบ คุณสามารถสร้างระบบกฎหมายใหม่ (reconstruct) ขึ้นมาได้

ตอนนี้ที่เราทำได้คือผลิตคนออกไปใช้กฎหมาย ซึ่งก็มีปัญหาในแบบของมันอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงการผลิตบัณฑิตที่รอบด้านกว่านักเทคนิค ผมว่าเรายังไปไม่ถึงในสองขั้นตอน

ขั้นแรกคือ เราพยายามจะทำให้ทฤษฎีกฎหมายแข็งแรง ผู้เรียนมีความรู้เรื่องนี้ แต่จริงๆ เราก็ยังติดอยู่กับการท่องจำฎีกา เรียนแบบท่องจำ และไม่พยายามคิดวิพากษ์อะไร

ขั้นที่สอง ถ้าถอยออกมาจากภาพคณะนิติศาสตร์ และมองว่าเราเป็นสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาที่คาดหวังว่าคนที่จบออกไปเป็นบัณฑิตจะเป็นสมาชิกที่มีประโยชน์ของสังคม แม้จะไม่เลือกประกอบวิชาชีพกฎหมายก็ควรจะมีทักษะทางกฎหมายติดตัวไปเป็นประโยชน์กับเขา อาทิ คิดเชิงวิพากษ์ได้ คุณต้องเรียนอย่างอื่นนอกจาก juridical science ด้วย เช่น ไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์หรือปรัชญาที่หลายคนอาจจะมองว่า ไม่ทำเงินหรือไม่นำไปสู่การประกอบอาชีพเท่าไหร่ แต่วิชาเหล่านี้ช่วยในเรื่องความเป็นมนุษย์หรือช่วยให้คุณเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพในสังคมได้ ซึ่งตรงนี้เราก็ไปไม่ถึงเหมือนกัน เรียกได้ว่าไปไม่สุดสักทาง

เป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเริ่มสอนให้ผู้เรียนคิดเชิงวิพากษ์ตัวฎีกาหรือคำตัดสินต่างๆ

ตอนผมเรียนก็เจอคำอธิบายว่า มาตรานี้หมายความแบบนี้ ฎีกามีแบบนี้ๆ แต่พอไปเรียนที่สหรัฐฯ ก็พบว่า จริงๆ เขาไม่ได้เรียนฎีกาเยอะเท่าเรา แต่ว่าแต่ละฎีกาของเขามีรายละเอียดว่า กว่าเคสนี้จะพัฒนามาเป็นฎีกา คนทะเลาะกันยังไง แต่ละคนเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ฝั่งไหน พูดง่ายๆ คือคดีเป็นเหมือนภูเขา คุณมองเห็นว่านี่คือภูเขา แต่จริงๆ ข้างล่างภูเขามีแรงทางธรณีที่เปลือกทวีปชนกันขึ้นมาเป็นภูเขาอยู่ ถ้าคุณเห็นแต่ภูเขาแต่ไม่เห็นแรงที่ว่านี่ คุณก็ยังไม่เข้าใจภูเขาจริงๆ

ในสหรัฐฯ เราจะเห็นเคสที่แสดงถึงหลักกฎหมาย เห็นว่าสังคมทะเลาะกันเรื่องนี้ ตำรวจเป็นตัวแทนอุดมการณ์แบบหนึ่ง รัฐก็อีกแบบ จำเลยก็อีกแบบ ผู้พิพากษาที่นั่งอยู่ก็มีประวัติว่าตัดสินเอียงซ้ายเอียงขวาด้านไหน เราก็จะเข้าใจว่าหลักนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และรู้ด้วยว่าต่อมาหลักนี้จะเชื่อมโยงอย่างไร แต่พอมาดูกฎหมายบ้านเรา ฎีกาเยอะมากนะ แต่เป็นแบบย่อสั้นๆ เช่น นาย ก. โดนจับเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมาเป็นยังไงไม่รู้ เหมือนเป็นหุ่นฟางว่าคนนี้ชนะ แต่เราไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกว่าจะมาถึงศาลฎีกา ซึ่งก็อย่าลืมคิดต่อว่า มีคดีขึ้นถึงศาลฎีกากี่เปอร์เซ็นต์ของคดีพิพาท และคดีพิพาทที่ขึ้นศาลคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของคดีพิพาทที่เกิดขึ้นในสังคม

ถ้าถามต่อว่า แล้วจะเปลี่ยนการเรียนยังไง คือการปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มวิชานั้นนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สมมติเปลี่ยนหลักสูตรแต่คนสอนคนเดิม ประมวลรายวิชาก็เหมือนเดิม เช่น เราเอาจริยศาสตร์มาใส่ แต่คนสอนยังสอนตามขนบพุทธเถรวาทแบบนี้ มันก็ไม่ได้ไง โอเค เราแก้หลักสูตรได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งระหว่างแก้ก็ต้องมีการคุยกัน ปรับจูนความเข้าใจกันในหมู่ผู้สอน แต่ถ้ามีผู้สอนที่ยังไงก็จะสอนแบบนี้ หรือหนักกว่านั้นคือบอกว่าเขาสอนแบบอื่นไม่ได้ เราก็บังคับเขาไม่ได้ นี่ก็เป็นจุดอ่อนเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่ง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ปัญหาหนึ่งของการเรียนนิติศาสตร์คือ หลายครั้งเรามีความคิดว่า คำตอบที่ถูกต้องมีแบบเดียว โดยเฉพาะสิ่งที่ศาลชี้ออกมา แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้ว่าคนเราเลือกทางไม่เหมือนกัน และทุกทางก็อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องก็ได้ ​

ในเมื่อระบบการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวสอบนาน เราพอสันนิษฐานได้ไหมว่า คนที่สอบได้ส่วนมากอาจจะเป็นชนชั้นกลางที่ทางบ้านสามารถช่วยสนับสนุนระหว่างช่วงเตรียมตัวสอบได้ และถ้าเป็นเช่นนี้ อาจารย์คิดว่ามิติของคนตัวเล็กตัวน้อยจะโดนกันออกไปจากระบบไหม

 

ผมสันนิษฐานว่ามีคนทุกแบบที่เข้าไปในระบบ แต่เราไม่เคยมีการเก็บตัวเลขหรือสถิติจริงจัง ไม่รู้ว่าคนที่ผ่านเข้าไปจริงๆ มาจากสถานะแบบไหนในสังคมบ้าง แต่พูดแบบนี้ก่อน เราอาจเห็นตามสถาบันติวเตอร์โฆษณาว่า คนทำงานขยันตั้งใจอ่านหนังสือตอนกลางคืน ก็ฝ่าฟันความยากลำบากสอบเข้ามาได้ ตรงนี้ไปเสริมมายาคติที่ว่าถ้าคุณทำงานหนักพอคุณก็จะสอบเข้าได้ เพราะเขาเอาผ่านเกณฑ์ ไม่มีโควตาจำนวนคนที่จะรับ แต่พอไปดูเปอร์เซ็นต์การผ่านจริงๆ จะเห็นเลยว่ามันน้อย บางทีสนามใหญ่สอบเป็นหมื่นคน ผ่านร้อยคนแบบนี้ คือคนทำงานแล้วสอบได้มีจริง แต่ไปดูตัวเลขจริงๆ ก่อนว่ามีกี่คน

ดังนั้น ผมเข้าใจว่าปัจจุบันคนที่สอบผ่านเป็นชนชั้นกลางเยอะ และใช่ คุณต้องมีทุนนั่งอ่านหนังสือ พ่อแม่อาจจะต้องสนับสนุนคุณได้ในระยะยาว ถ้าไปดูตัวเลขการตกงานของบัณฑิตนิติศาสตร์คือสูงเป็นอันดับต้นๆ เลย แต่จริงๆ แล้วพวกเขาสมัครใจตกงาน เพราะนิยามตกงานคือหลังเรียนจบ 6 เดือนยังไม่มีงาน แต่ทุกคนก็นั่งอ่านสอบเนฯ อยู่ไง ตัวเลขการตกงานเลยสูง

ตรงนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าดึงทรัพยากรในระดับหนึ่ง หลายคนอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็ติดอยู่ตรงนี้ ใช้เงินพ่อแม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่าคนรอสอบเครียดนะ หลายคนต้องใช้เงินประหยัดที่สุด รู้สึกว่าตัวเองจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจไม่ได้เพราะรู้สึกผิด ส่งผลลบกับอารมณ์และจิตใจไปหมด

เท่าที่อาจารย์สอนมา เจอค่านิยมหรือความคิดอะไรที่ส่งผลต่อการเรียนการสอนบ้าง

ผมเคยเจอเด็กมาปรึกษาบอกว่าพ่อแม่บังคับ ถึงขั้นมาดูเลยว่าลงทะเบียนวิชาอะไรบ้าง ผมก็พยายามบอกให้ไปคุยกับพ่อแม่นะ ซึ่งก็เป็นเรื่องของแต่ละบ้านด้วย แต่ถ้าเป็นกรณีของพ่อแม่ที่เป็นผู้พิพากษา หลายคนก็อยากให้ลูกเป็นเพราะรู้ว่าเข้าไปแล้วดีจริงๆ คนนอกก็อยากให้ลูกเป็นเหมือนกันเพราะเขาเชื่อมั่น ในยุคแบบนี้ ความมั่นคงในอาชีพการงานมันก็แค่นี้แหละ ลูกเข้าหน่วยงานราชการก็ดีแล้ว และดีที่สุดของที่สุดคือไปอยู่ตุลาการเลย

ในมุมมองคนสอน แบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อการสอนเท่าไหร่ จะเรียกว่าแย่เลยก็ได้ เพราะเด็กหลายคนมาด้วยทัศนคติที่ตายตัวไปแล้ว ผู้พิพากษาบางคนเตรียมความพร้อมลูกมาตั้งแต่มัธยม ฝังหัวเลยว่าลูกต้องเป็นผู้พิพากษานะ พอเจอแบบนี้เขาก็อาจจะไม่ยอมทดลองวิชาอื่นเลย

จริงๆ การเรียนนิติศาสตร์ก็ไม่ได้มีตัวเลือกเยอะอยู่แล้ว แต่ถ้าสำรวจเส้นทางอื่นๆ ได้ก็จะดี เช่น การฝึกงาน หลายคนที่อยากเป็นผู้พิพากษาก็จะเลือกไปฝึกงานตามศาล แต่ผมกลับคิดว่าถ้าคุณจะเข้าราชการแน่นอน คุณควรไปฝึกงานภาคเอกชน ไปสำรวจวัฒนธรรมการทำงานก่อน ไปเรียนรู้ว่าเขามีวิธีคิดแบบนี้ อย่างน้อยต่อให้คุณยังอยากเข้าราชการอยู่ แต่การฝึกงานเอกชนอาจจะทำให้คุณมีอะไรติดอยู่ในหัวที่เป็นประโยชน์ในอนาคตก็ได้

เราเห็นกฎหมายมีความตรงไปตรงมา มีมาตรา มีตัวบทกฎหมาย แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายมีไว้เพื่อบังคับใช้ในสังคมซึ่งมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักเรียนกฎหมายจะสร้างสมดุลระหว่างความตรงไปตรงมากับความเป็นพลวัตของสังคมได้อย่างไร

จริงๆ กฎหมายไม่ได้แข็งกระด้างขนาดนั้น การตีความมีขอบเขตอยู่ แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดบิดกฎหมายเป็นศรีธนญชัยเลย แต่ทั้งนี้ ก็เป็นธรรมชาติของคนอนุรักษนิยม (conservative) กับคนหัวก้าวหน้า (progressive) ที่มาตราเดียวกันจะทำได้ ทำไม่ได้ จะเห็นช่องอยู่ แต่เราจะสอนให้ผู้เรียนรู้จักการตีความแบบนี้ไหมเท่านั้นเอง

ปัญหาหนึ่งของการเรียนนิติศาสตร์คือ หลายครั้งเรามีความคิดว่า คำตอบที่ถูกต้องมีแบบเดียว โดยเฉพาะสิ่งที่ศาลชี้ออกมา แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้ว่าคนเราเลือกทางไม่เหมือนกัน และทุกทางก็อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องก็ได้ ผมว่าเรายังไม่ชินกับการถกเถียงปัญหาปลายเปิด เพราะเวลาสอบเราถูกวัดปลายปิดว่าคุณตีความเหมือนฎีกาหรือข้อสอบเข้าผู้ช่วยฯ ขนาดไหน ทำให้ยังไม่ค่อยเห็นการตีความตามพลวัตจากนักนิติศาสตร์ในไทย หลายคนมักจะบอกว่าก็ไปแก้กฎหมายให้ตามพลวัตก่อน ซึ่งจริงๆ มันไม่จำเป็นต้องอิงกับลายลักษณ์อักษรขนาดนั้น แต่หลายคนพออยู่กับกฎหมายไปนานๆ ทำให้กฎหมายกลายเป็นโลกทั้งใบของเขาไป ซึ่งก็ไปบวกกับเรื่องการเรียนที่เน้นแต่ตัวบท ทำให้ละเลยการเรียนศาสตร์อื่นหรือความรู้อื่นที่จะทำให้มองโลกตรงตามความเป็นจริง

นิติศาสตร์มีความเป็นหอคอยงาช้างไหม
และอาจารย์คิดว่าหอคอยงาช้างจำเป็นต้องมีไหม

มีครับ ถ้าจะทำให้เป็นคณะนิติศาสตร์ต้องเรียนทฤษฎี แต่เวลาเราอยู่ในคณะหรือสังคมกฎหมายก็จะมีคนที่เน้นการปฏิบัติ (pragmatic) สุดๆ ส่วนใหญ่ที่ผมเจอจะเป็นคนทำงานด้านกฎหมายเอกชน กฎหมายแพ่ง กฎหมายธุรกิจ ซึ่งก็เข้าใจได้นะ เพราะอย่างที่บอกไปตอนต้นว่าแนวคิดหลักของกฎหมายเอกชนไม่ได้เปลี่ยน และกฎหมายแพ่งก็แทบจะเป็นแบบเดียวกันทั้งโลกเพราะคนใช้ติดต่อค้าขาย แต่ละรัฐจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายแพ่งให้คล้ายคลึงกัน ขนาดบางประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามเข้มข้น เช่น ซาอุดิอาระเบีย เขายังมีส่วนหนึ่งที่ระบุเลยว่า เฉพาะตรงส่วนนี้ให้ใช้กฎหมายธุรกิจ

พอเป็นแบบนี้เราจึงไม่ต้องถามเรื่องทฤษฎีเลย มันถูกพิสูจน์ในเชิงประจักษ์แล้วว่าที่การค้าโลกหรืออารยธรรมมนุษย์เจริญรุ่งเรืองขนาดนี้เพราะกฎหมายแพ่ง การรับรองสัญญาหรือกรรมสิทธิ์ ต่อให้ไปถามว่าแล้วมีพื้นฐานมาจากไหน เขาก็ไม่บอกหรอกว่ามาจากสิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์มีหรือมีกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สิน แค่บอกว่ากฎหมายได้รับการรับรองมาตั้งแต่สมัยโบราณ จบ

แต่ถ้าไปดูกฎหมายมหาชน ถ้าคุณไม่ดูทฤษฎีจะดูอะไรล่ะ เพราะกฎหมายถูกยุบทุกๆ 4-5 ปี มันวุ่นวายมาก ไม่มี comfort zone เหมือนกฎหมายแพ่งที่คุณสามารถนั่งและเป็นนักปฏิบัติได้ มันมีแต่แนวหน้า ทุกวันคือแนวหน้า ทุกวันนี้นักกฎหมายมหาชนเหมือนถูกกดดัน อย่างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีโมเดลหรือ comfort zone ใดๆ แก้ทีคือทิ้งใหม่ บางทียังสู้กันเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมอยู่เลย ซึ่งกฎหมายแพ่งไม่ได้สู้กันในเลเวลนั้น

เพราะฉะนั้น สายกฎหมายมหาชนจะถูกสายแพ่งวิจารณ์ว่า เป็นสายที่พูดเรื่องทฤษฎีหรือเรื่องนามธรรม (abstract) มาก สมมติมีรัฐประหาร สายกฎหมายเอกชนอาจจะมองว่า ธุรกิจก็ยังไปได้ดีนะ เพราะรัฐประหารคุ้มครองกลุ่มทุนอยู่ เขาเลยมองว่าไม่มีรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นไร เศรษฐกิจยังไปต่อได้ แต่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เป็นเดือดเป็นแค้นแล้ว คือคุณต้องคิดแบบ ‘ถ้าการเมืองดี’ สิ เพราะเราคิดว่าถ้าถึงที่สุดแล้วการเมืองไม่ดี ทุกอย่างที่คุณทำ เศรษฐกิจอาจจะพังทลายลงมา ซึ่งเราก็พยายามจะไม่ให้มันพังนะ แต่ก็จะชี้ว่ามันพังลงมาได้เท่านั้นเอง ซึ่งนักกฎหมายเอกชนอาจจะไม่ค่อยเชื่อและมองว่าพวกเราพูดเรื่องหอคอยงาช้างเยอะ

นอกจากนี้ ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง การศึกษาทฤษฎีเป็นการจัดระเบียบความคิดชั้นสูง เป็นการที่มนุษย์สามารถคิดอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและจับต้องได้ การที่คุณคิดอะไรที่เป็นนามธรรมได้แปลว่าสมองคุณมีการจัดระเบียบและมีการพัฒนาอีกแบบ ซึ่งในยุคที่ปั่นป่วนและไม่มีอะไรตรงหน้าให้ยึดจับ การที่คุณจัดระเบียบสมองตามทฤษฎีได้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้มองความปั่นป่วนและจำแนกได้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน คิดได้ว่าทางออกควรจะอยู่ตรงไหน ไม่เอนไปตามสิ่งที่คนนั้นคนนี้พูด ทั้งหมดนี้เพราะคุณมีภูมิปัญญาที่สั่งสมมา เนื่องจากทฤษฎีก็มาจากการถกเถียง การเรียนสิ่งที่เป็นหอคอยงาช้างได้ก็เป็นภูมิปัญญาส่วนตัวที่จะทำให้ไม่ทำผิดพลาดอีก รู้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นเพราะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์มาแล้ว ถ้าเปรียบง่ายๆ เหมือนคุณกำลังเดินเรือแล้วเข้าสู่ดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก (terra incognita) ไม่มีแผนที่ มีแต่ดาวกับเข็มทิศซึ่งเปรียบเหมือนทฤษฎีชั้นสูง ที่คุณจะต้องใช้มันผ่านไปให้ได้

พูดโดยสรุป หอคอยงาช้างจำเป็นต้องมีในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน คุณต้องเป็นคนที่เข้าใจทฤษฎีชั้นสูง รวมถึงเข้าใจความเป็นจริงและข้อจำกัดของมนุษย์ด้วย คุณต้องไม่อยู่แค่เฉพาะในทางทฤษฎีและกฎหมายลายลักษณ์อักษร แต่เข้าใจข้อจำกัดว่ามนุษย์ทำได้แค่นี้แหละ ทำไมเขาถึงตัดสินใจแบบนี้ ทำไมตัดสินใจไม่สมเหตุสมผล ทำไมตัดสินใจก่ออาชญากรรม ผมว่าการผลิตบัณฑิตที่รู้ทั้งทฤษฎี รู้กฎหมาย และมีความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร

การศึกษาทฤษฎีเป็นการจัดระเบียบความคิดชั้นสูง เป็นการที่มนุษย์สามารถคิดอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและจับต้องได้ การที่คุณคิดอะไรที่เป็นนามธรรมได้แปลว่าสมองคุณมีการจัดระเบียบและมีการพัฒนาอีกแบบ ซึ่งในยุคที่ปั่นป่วนและไม่มีอะไรตรงหน้าให้ยึดจับ การที่คุณจัดระเบียบสมองตามทฤษฎีได้เป็นเรื่องสำคัญ

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นช่วงที่กฎหมายและระบบยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักช่วงหนึ่ง ทั้งเรื่องการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือบทบาทบางอย่างของผู้บังคับใช้กฎหมาย ในฐานะอาจารย์นิติศาสตร์ เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนยังไง
และผู้สอนต้องปรับตัวอย่างไร

ในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้แย่มากจนบรรดาคนรุ่นใหม่หรือนิสิตเห็นตรงกันแล้วว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่เหมือนช่วงสัก 10 ปีก่อนที่ยังมีคนมาแก้ต่างให้การล้อมปราบเสื้อแดงอยู่ แต่ปัจจุบัน คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เห็นว่าการกระทำต่างๆ เช่น การสั่งยิงกระสุนยาง หรือบางอย่างที่เกิดขึ้นในรัฐสภา การตีความต่างๆ มันไม่ชอบ และการที่พวกเขาเห็นตรงกันแบบนี้เพราะสถานการณ์มันแย่จริงๆ อีกทั้งเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวอย่างหนึ่งของกฎหมาย คือคุณอยากวิจารณ์ก็ทำไป แต่กฎหมายอยู่กับเขา อีกฝั่งก็ไม่สะทกสะท้านอยู่แล้ว

พอเป็นเช่นนี้ การสอนก็พลอยยากขึ้นไปด้วย เพราะผู้สอนต้องอธิบายว่านี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น (ought) กับนี่คือสิ่งที่เป็นอยู่ (is) คุณต้องพยายามอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างสองสิ่งนี้ รวมถึงอธิบายให้ได้ว่าทำไมมันถึงทับซ้อนกันได้ไม่สนิท ตรงนี้ก็เหมือนเรียกร้องให้ผู้สอนต้องมีความรู้พื้นฐานที่มากกว่านิติศาสตร์ เช่น ต้องเข้าใจว่ารัฐพันลึก (deep state) ทำงานอย่างไร รวมถึงเข้าใจประวัติศาสตร์หรือวาทกรรมต่างๆ อะไรคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเป็นอย่างไร อะไรคือลัทธิ exceptionalism หรือการให้เหตุผลแบบ relativistic แบบ fallacy ได้อย่างไร

สถานการณ์แบบนี้บีบให้คุณต้องออกนอก comfort zone คือนิติศาสตร์ ไปอ่านงานที่คุณไม่เคยอ่านมาก่อน หรือบีบให้เจอข้อเท็จจริงใหม่ๆ ไปดูสิ่งที่ไม่อยากดูอย่างตัวเลขหรือสถิติ หรือที่เรียกว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ อันนี้ก็แล้วแต่คนสอนด้วย แต่ผมคิดว่ามันบีบให้ผู้สอนต้องหูตากว้างขึ้นและออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคยด้วย

อาจารย์คิดว่าในสภาวะเช่นนี้ บทบาทของคณะนิติศาสตร์มีความสำคัญอย่างไร ควรมีส่วนร่วมสร้าง (contribute) อะไรกลับคืนสู่สังคม

การสอนหนังสือก็เป็นเรื่องหนึ่ง คือสอนให้ดี ความรู้ก็ต้องอัปเดตที่สุด ต้องดูว่าแถวหน้าของวิชาการเป็นอย่างไร ทำอะไรกันอยู่ ต้องบอกว่าไทยไม่ใช่หลังเขา นักนิติศาสตร์ในสถาบันชั้นนำของประเทศส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงวิชาการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต เพราะกฎหมายแสดงออกถึงอำนาจรัฐ กฎหมายไทยก็แสดงออกถึงอำนาจรัฐไทย นักกฎหมายเลยอยู่ใน comfort zone ของกฎหมายไทยโดยไม่ยุ่งกับชาวโลกได้ และชาวโลกก็เข้ามายุ่งไม่ได้ด้วยเพราะนี่คือกฎหมายไทย มันก็เป็นวงแบบนี้

แต่ระยะหลังในวงวิชาการ เรามีการเชื่อมต่อกับโลกมากขึ้น และเชื่อมง่ายขึ้นด้วยเพราะเทคโนโลยีต่างๆ เบอร์หนึ่งของโลกยืนอยู่ตรงไหนในพรมแดนความรู้ ผมว่าถ้าเราต้องการก็ตามหลังเขาไม่ไกล เพราะทุกคนรู้จักกันในงานเสวนาหรือเวิร์กชอปต่างๆ อยู่ที่ว่าจะเอาตรงนี้กลับมาสอนเด็กได้มากน้อยแค่ไหน อัปเดตเด็กทั้งเรื่องโลกและไทย และรู้จักวิพากษ์กับสิ่งที่เป็นอยู่อย่างไร ถ้าเรารู้แล้วว่ามันไม่ถูกต้อง เรากล้าพูดไหมว่ามันไม่ถูกต้อง

ผมพบว่า เด็กหลายคนที่ขึ้นมาจากมัธยมมีความคิดว่าอำนาจ (authority) ถูกเสมอ อะไรที่เขียนเป็นกฎหมายต้องถูก การจะไปหว่านล้อมจนเขายอมบอกว่ามาตรานี้หรือคำพิพากษานี้อาจจะไม่ถูกต้องเป็นเรื่องยากมาก เราจึงต้องชี้ให้เขาเห็นว่าผิดคือผิด คุณต้องวิพากษ์ได้ นี่แหละคือสิ่งที่ผมอยากเห็นคณะนิติศาสตร์ทำ คือผลิตคนที่มีความทันสมัยและคิดวิพากษ์

อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากเห็น และอาจจะยากกว่าการสอนหนังสืออีกคือ เวลาคุณผลิตบัณฑิตออกไปแล้ว หลายคนไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้และคงมีส่วนช่วยทำสิ่งที่ส่งผลลบกับประเทศอย่างร้ายแรงในรูปแบบต่างๆ ผมไม่แน่ใจว่าคณะนิติศาสตร์จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เขาเกรงใจบ้างได้ไหม ถ้ามีคนออกมาพูดถึงคนเหล่านี้หรือส่งเสียงออกไปว่า แม้คุณจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่คณะนิติศาสตร์ยังจับตาดูคุณอยู่ หรืออย่างน้อยคุณไม่ควรจะไปยกย่องหรือให้รางวัลอะไรเขา คุณควรจะส่งเสียงว่าคุณต้องเป็นกลาง เราคอยดูคุณอยู่ และยกย่องคนที่ควรยกย่อง คนที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยหรือทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน ผมคิดว่าคณะนิติศาสตร์ต้องปรับเปลี่ยนการให้ความสำคัญและค่านิยมของตัวเองใหม่ด้วย

ปัจจุบัน หลายๆ คณะมีหลักสูตรที่เรียนหลายศาสตร์คู่กัน หรือเปิดพื้นที่ให้เด็กลองเรียนได้โดยยังไม่ต้องเลือกคณะในช่วงชั้นปีแรกๆ อาจารย์มองว่านิติศาสตร์ทำเช่นนี้ได้ไหม และควรทำไหม

ผมอยากให้ลองทำนะ คิดว่าน่าจะทำได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะสามสาขาที่เราอยากประสานกันคือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เคยมีคนพูดแล้วว่าสามขานี้ควรลองทำไปด้วยกัน แต่จะทำในระดับตรีหรือโทก็ไม่แน่ใจ อีกอย่างที่คิดว่าน่าสนใจคือ ผมคิดว่าเด็กนิติศาสตร์ควรไปเรียนอักษรศาสตร์บ้าง เช่นพวกจริยธรรม ปรัชญา หรือประวัติศาสตร์ อะไรทำนองนี้ ซึ่งเราก็มีสอนอยู่บ้าง แต่น่าจะดีกว่าถ้าให้คนในสาขานั้นที่เชี่ยวชาญจริงๆ มาสอนเลย

แต่ประเด็นหนึ่งคือ หลายครั้งที่นิติศาสตร์ต่อกับคณะอื่นยาก ระเบียบวิธีวิจัย (methodology) ของเราก็อ่อน เราไม่เคยเรียนเลยในปริญญาตรี แต่ไปเรียนในปริญญาโท ทำให้เด็กปริญญาตรีของเราไม่รู้วิธีการตั้งคำถาม ตั้งโจทย์ หรือวิธีการเขียนงานจริงจัง คืออาจจะรู้วิธีการเขียนคำตอบตุ๊กตา แต่ไม่รู้วิธีการเขียนเรียงความที่ยาวและซับซ้อนกว่านั้น

นิติศาสตร์โดน disrupt อะไรจากการเข้ามาของเทคโนโลยีบ้าง

 

เราเห็นคนพยายามทำ AI, FinTech หรือ Blockchain อยู่ แต่ผมอาจจะอนุรักษนิยมนิดหนึ่ง อย่าง AI เพื่อความยุติธรรม ผมไม่รู้นะว่ามันทำงานยังไง แต่คำถามคือคุณจะไม่ปฏิรูปตำรวจเลยหรอ สมมติเรามี AI รวบรวมเคส แต่ input มาจากตำรวจอยู่ดี ถ้าตำรวจยังมีการอุ้มคนหายไปหลายชั่วโมงแล้วค่อยนำตัวเขากลับมาที่สถานี เราจะมี AI ไปทำไม ในเมื่อเรื่องพื้นฐานที่สุดยังเป็นแบบนี้

แต่นี่ก็ยังเป็นปัญหา เพราะมีนักนิติศาสตร์จำนวนมากคิดว่า ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าในสังคมแก้ได้ด้วยเทคโนโลยี หรือคิดว่าเรายังนำกฎหมายหรือนวัตกรรมทางกฎหมายเข้ามาไม่เยอะพอ แต่ถ้าเรานำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาได้ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมด บางปัญหามันพื้นฐานมาก อย่างจะปฏิรูปตำรวจไหมหรือจะออกจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมอย่างไร เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาพื้นฐานมันก็หมักอยู่ตรงนั้นแหละ

เท่ากับอาจารย์กำลังจะบอกว่า เราควรปฏิรูปไปด้วย

ใช่ ผมมองว่ามันทำพร้อมกันได้นะ คือเข้าใจว่าพอพูดถึงเทคโนโลยีมันเซ็กซี่ บอกว่าตอนนี้พรมแดนความรู้หรือนวัตกรรมมาถึงตรงนี้ เราอยู่ตรงนี้ แต่ก็จะมีคนน่าเบื่อบอกว่า มาปฏิรูปตำรวจก่อน (หัวเราะ) แต่เรามีคนเป็นแสนคน ไปทำตรงนั้นตรงนี้ได้ แค่อย่าลืมกันว่าปัญหามันยังไม่จบ และปัญหาบางอย่างที่สะสมมานานเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากกฎหมาย จะแก้โดยการมีกฎหมายใหม่หรือแก้กฎหมายเก่าก็อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่บางเรื่องก็ต้องเปลี่ยนไปถึงค่านิยมด้วย

อาจารย์คิดว่าในยุคนี้ คนเรียนนิติศาสตร์ควรมีทักษะอะไรติดตัว

ต้องบอกก่อนว่า ปัญหาจริงๆ ของนิติศาสตร์คือ เกินครึ่งหนึ่งของวิชาเรียนในมหาวิทยาลัยที่คุณเรียนกันอย่างยากลำบาก จบมาใช้ไม่ได้ ออกไปคุณอาจจะเจออะไรที่มากกว่านั้น มันเป็นไปได้นะว่าหลังจบจากนิติศาสตร์ไป ความรู้ที่เรียนมาอาจจะไม่ค่อยเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความรู้ที่เรียนในชั้นปีสูงๆ แต่ที่ใช้ได้อาจจะเป็นที่เรียนช่วงปี 1-2 ที่เป็นความรู้พื้นฐานมากๆ ผมถามนิสิตหลายคนก็พูดตรงกันว่า พอจบไปทำงานต้องไปต่อยอดหรือเรียนรู้ใหม่หมดเลยในสาขาที่ทำงาน เพราะความรู้เทคโนโลยีเปลี่ยนตลอดเวลา เขาต้องวิ่งตามมัน แต่สิ่งพื้นฐานที่เรียนมายังอยู่

ถ้าถามว่าอยากเห็นอะไร ผมอยากเห็นการที่นิสิตจะรู้ลึกและรู้กว้าง ส่วนที่ต้องรู้ลึกก็ต้องรู้จริง ไม่ได้เป็นแค่นักเทคนิคที่ท่องๆ ต่อกันมา คุณต้องรู้ลึกไปเลยเพื่อที่ในโลกที่เปลี่ยน คุณยังมีฐานอะไรบางอย่าง ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้คือ บางครั้งคุณอาจจะเจอสถานการณ์ที่ใบเปลี่ยน กิ่งก้านหัก ถูกตัดเสริมเติมแต่ง แต่รากคุณต้องแข็งแรง คุณอาจจะงอกใหม่ในรูปแบบต่างๆ ได้เสมอ แต่ความรู้พื้นฐานต้องมั่นคง และนอกจากรู้ลึกแล้วยังต้องรู้กว้างหรือรู้รอบ เพราะศาสตร์หลายอย่างมีความซับซ้อนมากขึ้น ถ้าคุณเรียนแค่นิติศาสตร์แล้วอยู่ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้แล้ว ทั้งเศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคม จริยธรรม ทุกอย่างเรียกร้องให้คุณต้องรู้กว้างที่สุด

อีกทักษะที่ต้องมี แต่นิติศาสตร์กลับละเลยมาตลอดคือทักษะการสื่อสารทั้งหมด เช่นเรื่องการอ่าน เด็กนิติศาสตร์อ่านเยอะหรือใครๆ ชอบพูดว่าต้องอ่านเยอะ ทั่วโลกพูดเหมือนกันหมด แต่ถ้ามองจริงๆ มันก็อาจจะเป็นการแสร้งถ่อมตน (humblebrag) นะ เราบอกว่ามันยาก ทรมานเหลือเกิน จะร้องไห้แล้วไม่ได้นอนเลย แต่จริงๆ ก็เหมือนจะอวดไปในตัวด้วยหรือเปล่าว่า เราอ่านหนังสือเยอะนะ แต่อะไรที่เด็กนิติศาสตร์ต้องอ่าน เราอ่านสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นต้องอ่านเยอะมาก นั่งอ่านแต่ฎีกา แต่ไม่เคยอ่านหนังสือที่มีการเรียบเรียงความคิด มีการดำเนินเรื่องหรือเสนอความคิดอย่างเป็นระบบ คุณอ่านแต่แบบจำๆ ก็ยากสิ เพราะมันไม่มีอะไรให้ยึดเกาะหรือดำเนินเส้นเรื่องไง

ผมลองไปถามคนที่เรียนศาสตร์อื่น เช่น รัฐศาสตร์หรืออักษรศาสตร์ เขาก็อ่านเยอะนะ อย่างน้อยสัปดาห์ละเล่มแบบนี้ แต่เขาอ่านแบบมีคุณภาพ อ่านแล้วดูไม่ยากเท่า พออ่านจบออกมาก็มีความรู้เพิ่มขึ้น เพราะคุณไม่จำเป็นต้องจำทุกฎีกาแบบนั้น ตรงนี้ก็จะกระทบถึงการสื่อสารด้วย เพราะถ้าเราอ่านแต่ฎีกา อ่านแต่ท่องจำ จะเขียนอะไรออกมาดีๆ ชัดเจนมันก็ยาก แต่นี่ก็เป็นบุญกรรมส่วนตัวด้วย ถ้าคุณชอบและสนใจอ่านหนังสืออื่นก็จะดี

ที่ว่ามาทั้งหมด ผมบอกได้เลยว่าคณะนิติศาสตร์ไม่ได้ให้ตรงนี้ ไม่ได้สอนวิธีการตั้งคำถาม วิจัย หรือการทำวิจัย เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่อง เราไม่เคยทำวิจัย เรามองว่าตัวเองเป็นคนใช้กฎหมาย แต่ในยุคใหม่ที่กฎหมายเปลี่ยนบ่อย ทักษะในการตั้งคำถามและพิสูจน์สมมติฐานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ นำสิ่งที่เราค้นพบไปสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างโน้มน้าวใจ อ่านหนังสือได้และสะท้อนสิ่งที่ออกมาแบบวิพากษ์ได้ น่าจะเป็นทักษะที่สำคัญและจะติดตัวคุณไปในศตวรรษที่ 21 ทำให้คุณพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

หัวใจสำคัญของนิติศาสตร์คือ การทำให้คนเชื่อว่ายังมีความยุติธรรมอยู่ แต่โอเค ความยุติธรรมคืออะไรก็ต้องไปดีเบตกันต่อ เพราะทุกคนเข้าใจคำว่าความยุติธรรมไม่เหมือนกัน แต่คุณต้องพยายามทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ แต่ถ้าทำไปแล้วคนจะลุกขึ้นมาฆ่ากัน ก็ควรจะคิดได้แล้วว่าที่คุณทำอยู่ไม่ใช่ความยุติธรรมแน่ๆ​

ในฐานะอาจารย์ คาดหวังอะไรกับเด็กนิติศาสตร์ อยากเห็นเขาเป็นอย่างไร จบออกไปแล้วจะมีบทบาทอย่างไรในสังคม

ผมอยากให้เขาเป็นคน critical กับตัวเอง ไม่ take it for granted ไม่รับทุกอย่างโดยไม่ตั้งคำถามกับระบบที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมายหรือระบบยุติธรรม คือเราพูดได้แหละว่าคนจบนิติศาสตร์ไปทำอะไรได้หลายอย่าง แต่อยากให้เขาเป็นคนที่มีความ critical ไม่รับอะไรง่ายๆ ลองคิดว่าอันนี้แบบนี้ดีหรือยัง และถ้ามันยังไม่ดีในความคิดเขาก็ช่วย contribute กลับมาให้หน่อย

ผมเคยบอกนิสิตหลายคนนะว่า ไปทำอะไรก็ได้ที่มันรวยๆ เพราะมันคือความต้องการพื้นฐานของคน แต่ถ้ารวยแล้วให้อะไรกลับคืนมาบ้าง ไม่ต้องกับคณะหรอก แต่ให้กับคนอื่น ถ้าวันหนึ่งคุณมีตำแหน่งใหญ่โต มีอำนาจแล้ว ก็ใช้อำนาจให้คนดีขึ้นหน่อย ผมคิดว่าเด็กนิติศาสตร์เข้าใจดีว่า เมื่อคนมาอยู่รวมกันต้องมีระบบการปกครอง และต้องมีคนถืออำนาจไว้ แต่จะถืออำนาจอย่างไรดี

นิติศาสตร์พยายามหากลไกการแบ่งแยกอำนาจและมีองค์กรต่างๆ เพื่อจำกัดอำนาจ เรารู้อยู่แล้วว่าอำนาจสำคัญ และอำนาจก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่โดยตัวของมันเอง แต่ถ้าเราผลิตบัณฑิตที่มีความ critical เข้าใจวัฒนธรรมอำนาจนิยม เข้าใจเรื่องต่างๆ และไม่ถูกระบบกลืนไปหมด มันก็น่าจะดีกว่านี้

ถ้าให้ลองสกัดหัวใจของความเป็นนิติศาสตร์ออกมา อาจารย์มองว่าคืออะไร

สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้เพราะเชื่อว่ามีความยุติธรรม หน้าที่ของนักกฎหมายและระบบกฎหมายคือพยายามทำให้คนเชื่อแบบนั้นต่อไป เพื่อจะอยู่กันได้อย่างเป็นสุข เป้าหมายสูงสุด (ultimate goal) ของนักกฎหมายคือ ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้โดยที่ทุกคนไม่ฆ่ากันตาย คนแข็งแรงไม่เอาเปรียบคนอ่อนแอ คนโง่ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด ไม่เกิดการจับอาวุธขึ้นมาฆ่าฟันกัน

เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญของนิติศาสตร์คือ การทำให้คนเชื่อว่ายังมีความยุติธรรมอยู่ แต่โอเค ความยุติธรรมคืออะไรก็ต้องไปดีเบตกันต่อ เพราะทุกคนเข้าใจคำว่าความยุติธรรมไม่เหมือนกัน แต่คุณต้องพยายามทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ แต่ถ้าทำไปแล้วคนจะลุกขึ้นมาฆ่ากัน ก็ควรจะคิดได้แล้วว่าที่คุณทำอยู่ไม่ใช่ความยุติธรรมแน่ๆ

WHAT’S IN YOUR BAG?

สำหรับนักนิติศาสตร์ หนังสือเล่มไหนที่ควรอ่าน ภาพยนตร์เรื่องใดที่ควรดู – ต่อไปนี้คือคำแนะนำจาก เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ของชิ้นที่ 1.

“หนังสือ นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล

“หนังสือที่น่าสนใจส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่คนนอกเขียนหรือมองเข้ามาและเขียนเกี่ยวกับนิติศาสตร์ ผมอยากจะแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้ทุกคน สิ่งที่น่าตกใจคือ หนังสือเล่มนี้กลับความคิดความเชื่อของเราในเรื่องนิติรัฐ นิติธรรมของไทย ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ มันอาจจะทำให้คุณเห็นนิติศาสตร์แนวใหม่ว่าไม่ใช่สิ่งที่ประสาทความยุติธรรม แต่เป็นโซ่ตรวนของสิทธิ เสรีภาพ นี่เป็นมุมมองของคนนอกที่เห็นและพูดออกมา แต่คนในกลับรับรู้และอ่านปาฐกถาของอาจารย์ธงชัยน้อยมาก

ทุกวันนี้เราคุยกันแต่เรื่องนามธรรม หลักนิติธรรม สิ่งที่ควรจะเป็น แต่อาจารย์ธงชัยชี้ให้เห็นสิ่งที่เป็นอยู่จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่นิติศาสตร์ไทยอาจมองข้าม เหมือนมีช้างในห้อง (elephant in the room) แต่เรามองผ่านไป ส่วนคนนอกมองเห็นและชี้กลับเข้ามา อย่างที่บอกว่าคุณต้อง critical อาจารย์ธงชัยเป็นคนที่ critical และบอกว่านิติรัฐ นิติธรรมไทยเป็นแบบนี้ สิ่งที่เราพยายามมองไม่เห็นนานๆ เลยพังลงมาทันที

ที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าคนนอกอ่านและเข้าใจนิติศาสตร์ไทยกันแบบนี้ แต่คนในวงการนิติศาสตร์ไทยกลับไม่อ่านและไม่เข้าใจว่า ตัวเองเป็นแบบนี้ แล้วคุณจะเชื่อมกับโลกภายนอกยังไง”

ของชิ้นที่ 2 .

“หนังสือ The Tyranny of Experts:
Economists, Dictators, and the Forgotten Rights of the Poor”
โดย William Easterly

[ ทรราชย์เทคโนแครต: โลกการพัฒนาใต้เงาเผด็จการ
แปลโดย ภังคญาณ สำนักพิมพ์ openworlds ]

“นักนิติศาสตร์คือผู้เชี่ยวชาญ (expert) แน่นอนด้วยตำแหน่งของคุณ คุณไปคิดนโยบายโดยอยู่บนฐานที่สันนิษฐานว่า เราออกนโยบายดีกว่าภาคการเมือง รู้ดีกว่า ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว และมีสายตาที่กว้างไกลกว่า แต่หนังสือเล่มนี้กำลังบอกเราว่า การตัดสินใจจากศูนย์กลางแบบนี้ไม่เวิร์ก เพราะการตัดสินใจรวมศูนย์จะนำไปสู่การขาดความคิดสร้างสรรค์ ความเหลื่อมล้ำ การหยุดชะงักทางการเจริญเติบโตเมื่อเทียบกับการยินยอมในเรื่องสิทธิเสรีภาพของคน

ในตอนแรก หนังสือจะพูดในบริบทของผู้เชี่ยวชาญจากข้างนอกที่เข้าไปวางแผนให้ประเทศที่กำลังพัฒนา แต่จริงๆ ก็พูดถึงผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่กำลังคิดแทนพี่น้องเกษตรกร หรืออย่างมาตรการทางการคลังบางอย่างที่เราเห็นว่ามีการแลกสิทธิเป็นเงินสด ถ้าเราดูทางเศรษฐศาสตร์จะเห็นว่าคนจะตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่รัฐมอบให้ไม่ใช่อรรถประโยชน์ (utility) สูงสุดที่เขาอยากได้ มันก็ต้องเกิดกลไกการแลกเปลี่ยนขึ้นมา ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติมาก

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ คุณไปคิดแทนหรือพยายามคิดสถานการณ์ต่างๆ แล้วก็โมโหว่าทำไมเขาไม่ทำตามสิ่งที่คุณพยายามคิด มันก็กลับมาปัญหาเดิมคือคุณไม่รู้เศรษฐศาสตร์หรือแรงขับเคลื่อนของคน คุณจะรู้ว่าตลาดหรือกลไกแลกเปลี่ยนไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ เพราะคนโง่หรือผิดปกติ แต่เกิดเพราะมีแรงขับเคลื่อน พอคุณไม่พอใจกับปัจจุบัน คุณจึงวิวัฒน์ให้มันกลายเป็นกลไกแลกเปลี่ยนแบบต่างๆ หรือถ้าเปรียบเทียบในทางชีววิทยา เวลาเราเห็นสัตว์หน้าตาตลก เช่น ตุ่นปากเป็ด หรือฮิปโปโปเตมัส หน้าตามันเหมือนไม่มีเหตุผล ตลก ไร้สาระ แต่จริงๆ ในทางวิวัฒนาการมันสมเหตุสมผล มันหน้าตาแบบนั้นเพื่อตอบสนองต่อแรงกระตุ้นบางอย่าง

เพราะฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงไม่ควรโมโหว่าทำไมมีปัญหาเยอะ แต่ควรไปดูมากกว่าว่ามีแรงขับเคลื่อนอะไรทำให้ปัญหาเกิดขึ้นมา การจะแก้ปัญหาไม่ได้อาศัยแค่การแก้กฎหมายหรือการไปเปลี่ยนมาตรการจำกัดสิทธิคน แต่ถ้าคุณยังมองจากแว่นตาของผู้เชี่ยวชาญที่ top-down ลงมาอย่างเดียว คุณแก้ปัญหาไม่ได้”

ของชิ้นที่ 3.

“ภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta (2005)”

“ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจในฐานะนักนิติศาสตร์คือเรื่อง V for Vendetta ถ้าคุณเรียนนิติศาสตร์สมัยนี้ คุณจะพบว่าในนามของกฎหมาย ระบอบค่อยๆ รื้อถอน (dismantle) เสรีภาพของคุณออกไป ทั้งด้วยกองกำลัง กลไกกฎหมาย หรือระบบที่ถูกสร้างขึ้น

ทั้งนี้ มีคำถามเชิงอุดมการณ์ปรัชญาเหมือนกันว่า สิ่งที่ V ทำ ใช้ความรุนแรงในการล้มล้าง เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า ส่วนที่ทำให้ผมอินคือ คุณจะเห็นว่ามีวิกฤตของชาติเรื่องโรคระบาด นายกฯ รวบอำนาจหมดและใช้อิทธิพลทางศาสนา บางทีในฐานะนักกฎหมายมหาชน มันก็เหมือนเป็นโลกคู่ขนานกับโลกความเป็นจริงที่เราเจอ ทั้งการอ้างว่ามีวิกฤตของชาติ จำเป็นต้องรวบอำนาจ ผู้นำอำนาจนิยมต้องมา และคุณก็มีศัตรูของชาติตลอดเวลา มีหน่วยตำรวจหรืออิทธิพลทางศาสนาที่ส่งเสริมอำนาจนำ แต่ V ระเบิดรัฐสภาไปแล้ว พ้นมาแล้ว แต่เรายังอยู่ตรงนี้กันอยู่เลย”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save