fbpx
ผ่าพิภพไททัน โพรพากันดา อัลกอริทึม

ผ่าพิภพไททัน โพรพากันดา อัลกอริทึม

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในตอนท้ายของการ์ตูนเรื่องผ่าพิภพไททัน (Attack on Titan)

เมื่อถึงตอนปลายเรื่องของผ่าพิภพไททัน (Attack on Titan) เอเรนเปิดเผยแก่มิคาสะว่าที่มิคาสะห่วงใยและปกป้องเอเรนมาตลอดมิใช่เพราะความรัก หรือเพราะเธอสำนึกบุญคุณที่เอเรนเคยช่วยชีวิตไว้เมื่อตอนเป็นเด็กแล้วต้องตอบแทน แต่เป็นเพราะเอเรนเป็น ‘ไททันเมื่อแรกเริ่ม’ ตระกูลแอคเคอร์แมนของมิคาสะถูกกำหนดให้ภักดีและป้องกันผู้เป็นไททันเมื่อแรกเริ่มอยู่ก่อนแล้ว

ภาษาสมัยใหม่เราพูดว่ามิคาสะรักเอเรนเพราะอัลกอริทึมที่ถูกเขียนเอาไว้ล่วงหน้า มากกว่านี้คือผ้าพันคอที่เอเรนมอบให้คือวัสดุเปิดสวิตช์เท่านั้นเอง มิได้มีคุณค่าทางจิตใจอะไรมากมายดังที่มิคาสะและนักอ่านคิดเสมอมา (ผ้าพันคอชิ้นนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญใน Attack on Titan the movie ด้วย)

คนเราควรรู้สึกอย่างไรเมื่อพบว่าชีวิตของตนเองมิใช่ของตนเองแต่ถูกลิขิตเอาไว้

เอเรนพูดกับอาร์มินด้วยว่า ที่อาร์มินไม่เห็นด้วยกับแผนการถล่มเมอเร่ขั้นสุดท้ายของเอเรนและจี๊ค เป็นเพราะอาร์มินได้กินไททันมหึมาไปก่อนแล้ว (cannibalism หรือกินเนื้อคน เป็นจิตวิเคราะห์สำคัญที่เป็นโครงเรื่องของทั้งหมด) ความคิดและจิตใจของอาร์มินเวลานี้เป็นอัลกอริทึมที่กองทัพเมอเร่เขียนไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน นั่นคือต้องทำลายพวกเอลเดียให้สิ้นซาก ไม่เปิดโอกาสให้ชาวเอลเดียวันนี้ทำลายโลกด้วยไททันนับล้านตัวในกำแพงเหมือนกับที่บรรพบุรุษของชาวเอลเดียเคยกระทำ


พวกเมอเร่เกณฑ์ชาวเอลเดียที่อยู่ในดินแดนนอกกำแพงเข้าค่ายกักกัน เฟ้นหาผู้มีคุณสมบัติจะเป็นไททันรุ่นต่อรุ่นเพราะไททันแต่ละรุ่นมีกำหนดอายุ 13 ปี ฟัลโกและกาบิเป็นเด็กชายหญิงที่จ่อคิวรุ่นต่อไป กาบิเป็นชาวเอลเดียที่เกลียดชังบรรพบุรุษของตัวเองอย่างฝังใจและใฝ่ฝันที่จะเป็นทหารมีฝีมือเพื่อล้างบาปให้แก่ชาวเอลเดียปัจจุบัน เธอเถียงหัวชนฝาทุกครั้งที่มีวิวาทะเรื่องชาวเอลเดียปัจจุบันทำผิดอะไร ทำไมลูกหลานของชาวเอลเดียในอดีตจึงต้องรับกรรมที่บรรพบุรุษก่อเอาไว้มากถึงเพียงนี้ ไม่เพียงเมอเร่ที่คิดทำลายเอลเดียให้สิ้น แม้แต่ลูกหลานเอลเดียอย่างกาบิก็ร่วมผสมโรงด้วย

กาบิเป็นกระจกสะท้อนเอเรนในตอนเริ่มแรก เธอกระตือรือร้นและแกร่งกล้า เมื่อเอเรนโจมตีเมอเร่โดยไม่บอกกล่าว เธอโกรธแค้นคว้าปืนไล่ตามกองกำลังของเอลเดียและยิงตัวละครสำคัญคนหนึ่งของหนังสือคือซาช่าถึงตาย

กาบิเป็นแค่เด็ก – ทหารเด็ก

กาบิเป็นผลผลิตของการโฆษณาชวนเชื่อและการเขียนประวัติศาสตร์ปลอม สองกรณีนี้มักจะมาคู่กัน การโฆษณาชวนเชื่อมีอะไรให้ทำมากกว่าการเขียนประวัติศาสตร์ปลอม ทหารเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้เป็นพิเศษเสมอ กองทัพสหรัฐฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ใช้วิธีนี้ได้ผลเสมอมา ตั้งแต่ครั้งรบญี่ปุ่น เวียดนาม และมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อใช้กับอิรัก  

เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ได้ผลกับคนเกือบทั้งชาติ เหมือนที่ชาวเมอเร่พยายามทำกับคนทั้งโลก

มิใช่มีแค่พวกเมอเร่  หรือพวกเอลเดียชั้นในที่ทำการโฆษณาชวนเชื่อ เอเรนก็ทำ

การโฆษณาชวนเชื่อมิได้ทำง่ายด้วยการแจกแจงสถิติ พิมพ์แผ่นพับแจก ขึ้นเวทีปลุกระดม หรือแม้กระทั่งเขียนประวัติศาสตร์ปลอม เหล่านี้เป็นเพียงเปลือกนอกที่หล่อหลอมกาบิให้เป็นนักฆ่า การโฆษณาชวนเชื่อที่ได้ผลมากกว่าจะต้องถูกฝังลงไปภายในเหมือนที่เอเรนได้รับ เอเรนจะทำลายล้างศัตรูให้หมดสิ้นก็ด้วยอัลกอริทึมที่เขียนเอาไว้ก่อนแล้วเช่นกัน

“ใครๆ ก็ทำ”

เอเรนทำกับพวกทหารรุ่นใหม่ของเอลเดียด้วยวิธีโฆษณาชวนเชื่อที่เรียกว่า “ใครๆ ก็ทำ” อย่างง่ายที่สุดคือเราไม่ฆ่าเขา เขาก็ฆ่าเรา เพิ่มเติมว่าพวกหัวเก่าในกองทัพเอลเดียเป็นคนส่วนน้อยไปเรียบร้อยแล้ว ทหารรุ่นใหม่และความคิดใหม่ต่างหากที่มีจำนวนมากกว่า ไม่มีใครอยากตกขบวนใครๆ ก็ทำง่ายนัก  

“วิธีเดิมน่าหัวเราะ”

เอเรนทำกับทหารใหม่เช่นนี้ด้วย การฝึกทหารเอลเดียรุ่นใหม่เพื่อฆ่าฝูงไททันวิปริตหรือไททันระดับสูงของเมอเร่เป็นเรื่องพ้นสมัยแล้ว อุปกรณ์เคลื่อนที่สามมิติเป็นเรื่องตกรุ่น ใครๆ ก็รู้เรื่องนี้ทั้งนั้นมีแต่พวกหัวเก่าอย่างผู้บัญชาการพิคซิสและพรรคพวกที่ไม่รู้

“พวกมันมีอาวุธร้ายกาจ”

เอเรนใช้วิธีนี้ พวกเมอเร่ก็ทำวิธีนี้ พวกเมอเร่ก็รู้ว่าการรบด้วยไททันวิปริตหมดสมัยแล้ว พวกมันกำลังจะเลิกใช้กองทัพไททันวิปริต แล้วใช้ไททันระดับสูงพร้อมแผนการที่ร้ายกาจกว่าเดิมมาก (เหมือนครั้งที่เราเชื่อว่าซัดดัม ฮุสเซนมีระเบิดนิวเคลียร์)

“ทำให้เหลือสองทางเลือก”

เมอเร่บอกชาวเอลเดียปัจจุบันในแผ่นดินของตนเองว่าวิธีแก้ปัญหามีสองทางเลือกคือ หากไม่ล้างบางพวกเอลเดียที่อยู่ในกำแพง ก็จะไม่สามารถไถ่บาป (สะ-หมง สะ-หมองไปหมดไม่คิดถึงหนทางเลือกอื่นอีกเลย) เอเรนทำแบบเดียวกัน ไม่ล้างบางก็ถูกล้างบาง แล้วขุดร่องความคิดและตรรกะของทุกคนให้ไหลลงมาที่สองทางเลือกนี้เท่านั้นไม่มีทางเลือกอื่น (เหมือนเราเห็นความบกพร่องของใครบางคนชัดๆ แต่เรามีเหตุผลอธิบายความชอบธรรมของเขาได้ทุกครั้ง ตรรก-กก ตรรก-กะอะไรดูแปลกๆ ไปหมด)

“ชี้ชวนดูผลลัพธ์ก็พอ ไม่ต้องเข้าใจวิธีการมากนักก็ได้”

ดังที่นักอ่านเองก็ไม่ได้เข้าใจมากนักว่าเอเรนมีแผนการอะไร แผนการนั้นได้รับการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญรอบด้านพอหรือเปล่า วิธีการอาจจะมีข้อเสียแต่ถ้าได้ผลลัพธ์คือโอเคเสมอ (เหมือนเราพร้อมจะกำจัดนักการเมืองฉ้อฉลด้วยการทำรัฐประหารอยู่เสมอๆ โดยเชื่อว่ามันรวดเร็วทันใจและคุ้มค่ากว่าวิธีการทางรัฐสภามาก)

“วิธีการสั้นๆ ทันใจที่สุด”

และวิธีที่สั้นที่สุดคือทุ่มสรรพกำลังไปที่คนเก่งๆ ไม่กี่คนก็พอ นึกภาพทหารใหม่ต้องออกรบเสี่ยงชีวิตมากมายกันอีกยาวนาน ดังที่กองกำลังรักษาการณ์และกองกำลังทีมสำรวจสู้รบมาตลอดเรื่อง แต่ถ้าสนับสนุนเอเรนเพียงคนเดียวเรื่องจะง่ายกว่ามาก จบแล้วจบเลย (เหมือนการยิงนิวเคลียร์ง่ายกว่าการรบด้วยวิธีอื่น)

“ทำให้รู้สึกว่าเราจะได้อยู่ข้างผู้ชนะ”

กลยุทธ์นี้มิได้ตั้งอยู่บนเหตุผลที่ว่าถ้าแพ้ต้องตาย แต่ตั้งอยู่บนเหตุผลที่ว่าใครๆ ก็อยากเป็นผู้ชนะมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นฝ่ายเสียเปรียบหรือเป็นเบี้ยล่าง ถูกกระทำหรือถูกเอาเปรียบมาก่อนในตอนแรกก็จะสร้างความรู้สึกร่วมนี้ได้ง่ายขึ้น

เราไม่เห็นบทบาทของรัฐสภาในหนังสือการ์ตูนชุดนี้เลย พอจะเห็นบทบาทของสื่ออยู่บ้างแต่ก็น้อยเต็มที สื่อออกมาสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อหัวหน้าเอลวินคิดปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนพระราชาและขุนนางแวดล้อม นำไปสู่การเป็นรัฐทหารสมบูรณ์แบบในครึ่งเรื่องหลัง อีกครั้งหนึ่งเมื่อเอเรนคิดปฏิวัติรัฐทหารคร่ำครึนี้อีกรอบหนึ่งในตอนท้าย ในสังคมประชาธิปไตย รัฐสภาและสื่อที่มีฝีมือจะคานอำนาจของการโฆษณาชวนเชื่อได้มาก

หัวหน้าทหารรีไว แอคเคอร์แมนและหัวหน้าทหารฮันจิ โซเอะเป็นสองคนที่พูดว่าเราเสียชีวิตทหารไปมากมายทุกครั้งเมื่อเอเรนออกปฏิบัติการหรือเพื่อช่วยชีวิตเอเรนกลับคืนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งที่รบกับไททันสัตว์ (ซึ่งจะเป็นที่เปิดเผยในภายหลังว่าเป็นพันธมิตรกับเอเรนในตอนท้าย) ครั้งนั้นกองกำลังทีมสำรวจเสียทหารไปนับร้อยคน ดูเหมือนรีไวและฮันจิ โซเอะจะเป็นสองคนที่มั่นคงกับภารกิจอย่างซื่อตรงมากกว่าเพื่อน ทำไมคนบางคนจึงรอดพ้นจากอัลกอริทึมที่ถูกวางเอาไว้อย่างเป็นระบบ

คำอธิบายหนึ่งคือเมื่อไม่มักใหญ่ใฝ่สูง รีไวและฮันจิไม่คิดไปไกลกว่าการรบและหาหนทางเอาชนะ ส่วนชนะแล้วได้อะไรพวกเขากลับมิได้คิดเท่าไรนัก รีไวเป็นทหารโดยอาชีพและวิเคราะห์สถานการณ์ตลอดเวลา ในขณะที่ฮันจิเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่าที่จะเป็นทหารตั้งแต่แรก ความบริสุทธิ์ของงานนั้นเองที่เป็นเกราะป้องกันตนเองมิให้แปดเปื้อน

เราเรียกว่าสองคนนี้ว่า มืออาชีพ (the professionals)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save