“ไต้หวันกำลังจะผลิตชิปขนาดเล็กที่สุดในโลก”
“ไทยกำลังจะมีรัฐสภาที่ใหญ่สุดในโลก”
“คนรุ่นใหม่สิ้นหวังกับอนาคตของประเทศไทย”
ผมเห็นจุดเชื่อมต่อลางๆ ระหว่างข่าว 3 ชิ้นนี้
นั่นคือปรากฏการณ์ “สมองไหล” ซึ่งเคยเป็นปัญหาสำคัญของไต้หวันในอดีต และอาจจะเกิดกับประเทศไทยอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้
การอพยพออกไปทำงานต่างประเทศของคนรุ่นใหม่สะท้อนความคาดหวังที่พวกเขามีต่อบ้านเกิด เป็นปัญหาที่ไกลกว่าระดับปัจเจก เพราะเกิดจากความไม่ลงรอยระหว่าง ‘ความฝันของรัฐ’ กับ ‘ความฝันของประชาชน’
คนไทยรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยคับข้องใจกับโอกาสอันตีบตัน พวกเขาไม่แน่ใจว่าจะสามารถลืมตาอ้าปากใช้ชีวิตที่มีคุณค่าได้อย่างไรภายใต้โครงสร้างทางการเมืองและสังคมแบบที่เป็นอยู่
หากความสำเร็จทางเศรษฐกิจของไต้หวันจะบอกอะไรเราได้สักอย่าง ก็น่าจะเป็นบทเรียนที่ว่า เราไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้โดยไม่ปรับสภาพแวดล้อมทางการเมือง รวมทั้งปรับความฝันของรัฐกับความฝันของประชาชนให้เป็นเนื้อเดียวกัน
ความหวงแหนอำนาจของคนรุ่นเก่าในไต้หวันเคยผลักไสคนรุ่นใหม่ออกนอกประเทศ ก่อนจะเกิดความตระหนักและการแก้ไขจนเกิดปรากฏการณ์ ‘สมองไหลกลับ’ ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฮเทคจนประสบความสำเร็จ
วิกฤตชิปขาดตลาด
ว่ากันว่า หากจีนประกาศสงครามกับไต้หวันขึ้นมาจริงๆ คนที่ต้องกระวีกระวาดออกมาเป็นแนวหน้าช่วยไต้หวันก่อนใครอาจจะเป็นเหล่าซีอีโอจากซิลิคอนวัลเลย์และผู้บริหารบริษัทรถยนต์ เพื่อปกป้องสิ่งประดิษฐ์ขนาดจิ๋วที่เล็กกว่าเส้นขนราว 20,000 เท่า แต่เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์โลกในปัจจุบัน
นั่นคือ ชิปขนาด 5 นาโนเมตร ที่ไต้หวันเป็นผู้กุมความสามารถในการผลิตถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก
ปัญหาชิปขาดตลาดส่งผลต่อซัพพลายเชนโลกอย่างรุนแรง การผลิตรถยนต์ของทั้งโลกต่ำกว่าเป้าหมายไปถึง 1 ล้านคันในไตรมาสแรกของปี 2021 ที่ผ่านมา โดยปัญหาไม่ได้เกิดจากบริษัทรถยนต์เอง แต่เป็นเพราะการขาดตลาดของชิป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์
อันที่จริง บริษัทชิปเองก็เร่งการผลิตไม่หยุดหย่อน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้คนต้องทำงานที่บ้านกันมากขึ้น จึงต้องซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม ทำให้ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลขยายตัวถึง 11 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา เมื่อรวมกับความต้องการรถยนต์ที่ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง และยอดสั่งซื้อเกมที่ก้าวกระโดด ความต้องการชิปจึงเกินกำลังการผลิตไปมหาศาล
ปัจจุบัน โลกเราผลิตชิปได้ปีละ 1 ล้านล้านตัว คิดเป็นสัดส่วนถึง 128 ตัวต่อประชากรหนึ่งคน ที่เราต้องใช้ชิปเยอะขนาดนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะแค่รถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคันก็ต้องใช้ชิปมากกว่า 3,000 ตัวเข้าไปแล้ว

ที่มา: https://www.tsmc.com/english/dedicatedFoundry/technology
ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมชิปเองก็ไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะยิ่งผลิตชิปให้มีขนาดเล็กลงเท่าใด ชิปก็จะยิ่งทำงานได้เร็วและประหยัดพลังงานมากขึ้น
คุณลักษณะนี้ทำให้การดูตัวเลขภาพรวมของตลาดชิปอาจบิดเบือนความเป็นจริงของการแข่งขัน เพราะหากเราดูตลาดชิปทั้งโลกโดยไม่แยกประเภท ก็จะเห็นชื่อบริษัทจากหลายประเทศ อาทิ Intel (สหรัฐฯ) GlobalFoundries (สหรัฐฯ) NXP (เนเธอร์แลนด์) SMIC (จีน)
อย่างไรก็ดี บริษัทเหล่านี้ผลิตได้เพียงชิปที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 นาโนเมตรเท่านั้น
หากดูเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงสุดอย่างชิปขนาด 5-10 นาโนเมตรแล้ว จะเหลือผู้แข่งขันในตลาดเพียง 2 รายเท่านั้นคือ Samsung (เกาหลีใต้) กับ TSMC (ไต้หวัน) โดย Samsung มีส่วนแบ่งกระจิดริดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นของ TSMC

ที่มา: https://www.tsmc.com/english/dedicatedFoundry/technology/logic/l_5nm
ยักษ์ล่องหนจากไต้หวัน
TSMC มีชื่อเต็มว่า Taiwan Semiconductor Manufacturing Company ก่อตั้งขึ้นในปี 1987
บริษัทนี้ใช้เวลา 3 ทศวรรษก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก มีรายได้ 38,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท (ปี 2019) เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่เจ้าที่คนไม่ค่อยรู้จักชื่อ
ยิ่งบรรดาเทคเฟิร์มหันไปเน้นแต่ความสามารถด้านการออกแบบชิป (chip design) เป็นหลัก แต่ไม่ได้ลงทุนจริงจังด้านการผลิต (chip production) ยิ่งทำให้ TSMC ทวีความสำคัญในต้นน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ
บริษัทชิปรายใหญ่ของยุโรปในปัจจุบันก็ทำได้เพียงชิปขนาด 22 นาโนเมตร จึงอยู่ ‘คนละลีก’ กับ TSMC
แม้แต่ Intel ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ยังต้องจ้าง TSMC ให้ผลิตชิปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคาดการณ์ว่า TSMC จะกลายเป็นผู้ผลิตซีพียูราว 20 เปอร์เซ็นต์ของ Intel ในปี 2023
กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ก็ต้องอาศัยชิปขนาดเล็กในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ อย่างอากาศยานต่อสู้ไร้คนขับ (combat drone) และซูเปอร์คอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมการรบ
TSMC จึงเติบโตไม่หยุดหย่อน ในปี 2021 นี้มีการลงทุน 28,000 ล้านดอลลาร์สร้างโรงงานแห่งใหม่ในไต้หวันสำหรับผลิตชิปรุ่นต่อไป ซึ่งจะมีขนาด 3 นาโนเมตร (3nm) โดยสามารถประหยัดพลังงานกว่าชิป 5 นาโนเมตรในปัจจุบัน แต่ทำงานเร็วขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์
โรงงานใหม่ของ TSMC มีขนาด 160,000 ตารางเมตร เทียบได้กับสนามฟุตบอล 22 สนาม หากชิปขนาด 3 นาโนเมตรสำเร็จ ก็จะยิ่งเพิ่มบทบาทของ TSMC ต่ออุตสาหกรรมสำคัญๆ ของโลกยุค 4.0 เพราะความสามารถในการทำงานของสมาร์ตโฟน รถยนต์ อุปกรณ์ IoT ต่างๆ รวมถึงการประมวลผลระดับสูง ล้วนต้องอาศัยสมรรถนะของชิปจาก TSMC ทั้งสิ้น
การดึงสมองให้ไหลกลับของไต้หวัน
TSMC เริ่มต้นพัฒนาจากการมุ่งเน้น ‘นวัตกรรมเชิงกระบวนการ’ (process innovation) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการไล่กวดทางเศรษฐกิจของไต้หวัน
ในภาพใหญ่ การออกแบบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของไต้หวันเกิดจากปัจจัยเฉพาะตัวหลายอย่าง ตั้งแต่บทเรียนจากการแพ้สงครามในแผ่นดินใหญ่ + ความเป็นคนนอกของพรรคก๊กมินตั๋ง + ความอยากขยายฐานเศรษฐกิจใหม่ของตนเอง (ผมเคยเล่ารายละเอียดไว้ใน www.facebook.com/1025610554494689/videos/493229454778882)
สิ่งเหล่านี้หลอมรวมกันจนกลายเป็นยุทธศาสตร์ที่เปรียบได้กับการสร้าง ‘ยักษ์ล่องหน’ เพราะบริษัทขนาดใหญ่ของไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชั้นนำของโลก แม้ผู้คนจะไม่รู้จักชื่อบริษัท แต่ก็สร้างงานและมูลค่าเพิ่มมหาศาล จนไต้หวันกลายเป็นเสือเศรษฐกิจ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงได้ในทศวรรษ 1990
ในที่นี้ ผมอยากเน้นการปรับตัวของนโยบายหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะน่าจะสอดคล้องกับสังคมไทยที่กำลังตื่นตัวกับการสร้างนวัตกรรมไปพร้อมๆ กับแนวโน้มความอยากออกไปทำงานต่างประเทศของคนรุ่นใหม่
นั่นคือ การจัดการกับปรากฏการณ์ ‘สมองไหล’ (brain drain)
การพัฒนาเทคโนโลยีไม่ใช่แค่เรื่องทางเทคนิคที่เกี่ยวกับเงินลงทุนและเครื่องจักรเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้คนได้ใช้ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองอย่างเต็มที่
ไต้หวันเองก็เคยผ่านช่วงเวลาสมองไหลที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากกลับบ้านเกิด และหากแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ก็จะไม่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้
ในช่วงสองทศวรรษระหว่างปี 1960–1980 คนไต้หวันที่ไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ กว่า 50,000 คน แต่ตัดสินใจกลับมาทำงานที่ไต้หวันเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เกือบ 9 ใน 10 คนที่ได้ ‘โกอินเตอร์’ นั้นไม่อยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิด
คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้คือคนที่เรียนจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ในไต้หวัน ก่อนจะออกไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ
ทศวรรษ 1980 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกในภาษาปัจจุบันว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ เพราะไต้หวันไม่สามารถพึ่งพาแต่อุตสาหกรรมเบาและแรงงานราคาถูกให้เติบโตต่อไปได้อีกแล้ว จำเป็นจะต้องยกเครื่องอุตสาหกรรมจริงจัง เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตของประเทศ
รัฐบาลไต้หวันเริ่มเห็นปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงตั้ง National Youth Commission (NYC) ขึ้นเพื่อจัดการ โดยเริ่มต้นจากการยอมรับความจริง และสำรวจปัจจัยเบื้องหลังปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
ผลสำรวจพบว่า นอกจาก ‘ปัจจัยดึงดูด’ (pull factors) อย่างรายได้ ความก้าวหน้าทางอาชีพ และความพร้อมด้านการวิจัยในสหรัฐฯ แล้ว ก็ยังมี ‘ปัจจัยผลักไส’ (push factors) อย่างการขาดเสรีภาพทางการเมืองและวิชาการ รวมถึงบรรยากาศทางสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยของไต้หวันเองด้วย
ไต้หวันยุคนั้นอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการของพรรคก๊กมินตั๋งที่มีการ ‘ขึ้นบัญชีดำ’ นักวิชาการและนักวิจัยที่วิจารณ์รัฐบาล
NYC เป็นตัวกลางในการปรับนโยบายต่างๆ เพื่อดึงคนไต้หวันให้กลับมาทำงานที่บ้านเกิดมากขึ้น มีมาตรการระยะสั้นอย่างการอุดหนุนเงินค่าเดินทาง การประสานข้อมูลระหว่างความต้องการกำลังคนขององค์กรธุรกิจและวิชาการในไต้หวันกับคนที่ไปเรียนต่อ
นอกจากนี้ ยังมีการปรับกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น กระตุ้นให้กลับมาทำงานชั่วคราวที่ไต้หวันเพื่อทดลองเป็นเวลา 1-2 ปี ช่วยออกเงินเดือนให้บริษัทที่ดึงคนกลับบ้านสำเร็จ มีนโยบายเชิงรุกอย่างการออกไปจัด Job Expo ในเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ลอสแอนเจลิส กระทั่งการยอมปรับระเบียบการเกณฑ์ทหารให้ยืดหยุ่นขึ้น
สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจของตนเอง ไต้หวันก็เปิดให้มีแหล่งทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำที่เข้าถึงง่ายขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องที่อยู่อาศัยและโรงเรียนเพื่อให้คนไต้หวันกลับมาพร้อมกันทั้งครอบครัว
ขณะเดียวกัน ไต้หวันก็เปิดรับคนชาติอื่นๆ ให้เข้ามาทำงานมากขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นนานาชาติ โดยเฉพาะในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศที่กำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ
อีกองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ‘การเมืองประชาธิปไตย’
ยุทธศาสตร์ยกระดับเทคโนโลยีของไต้หวัน เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การเมืองไต้หวันเริ่มผ่อนคลาย มีการเลือกตั้งที่เปิดให้พรรคฝ่ายค้านแข่งขันอย่างเสรีเป็นครั้งแรกในปี 1986 กฎอัยการศึกที่ใช้มาเกือบ 40 ปีถูกยกเลิกในปี 1987 ก่อนที่การเมืองจะค่อยๆ มีเสรีภาพเพิ่มขึ้นจนถึงระดับมาตรฐานสากลในช่วงกลางทศวรรษ 1990
หากไม่มีคนเก่งมาทำงาน รัฐจะลงทุนแค่ไหนก็คงไม่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศได้
การเมืองเปิดและนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ทำให้วิศวกรชาวไต้หวันอย่างน้อย 12,000 คนที่ทำงานอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์เดินทางกลับบ้าน พวกเขากลับมาพร้อมประสบการณ์และกลายเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีของไต้หวันทั้งในภาครัฐและเอกชน
มอร์ริส ชาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC ก็เป็นหนึ่งในสมองที่ไหลสู่ไต้หวันในช่วงนี้ หลังจากทำงานที่ Texas Instruments ในสหรัฐฯ มา 25 ปี ก็ถูกชักชวนมาเป็นผู้บริหารหน่วยงานวิจัย Industrial Technology Research Institute (ITRI) ก่อนจะตั้ง TSMC ขึ้นในเวลาต่อมาเพื่อรับงานผลิตเหมาช่วงจากบริษัทข้ามชาติ
การเมืองปลายปิด คนรุ่นใหม่ถูกกดทับกีดกัน และภาวะสมองไหล คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวของสังคมไทยอีกแล้ว
ชิปเล็กที่สุด versus รัฐสภาที่ใหญ่ที่สุด
รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยมีชื่อทางการว่า ‘สัปปายะสภาสถาน’
การออกแบบทำตาม ‘คติไตรภูมิ’ ซึ่งในทางปฏิบัติคือการอำนวยความสะดวกให้กับคนที่เดินทางมาพร้อมคนขับรถ ทางเท้าให้คนที่เดินทางมาด้วยรถเมล์ไม่ได้อยู่ในแผนก่อสร้าง หากไม่มีรถ คุณต้องเดินคลุกฝุ่นลงใต้ดินเพื่อไปแลกบัตร เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้พับแขนเสื้อเชิ้ต ส่วนลิฟต์แบ่งออกเป็นฝั่งของ ส.ส. และฝั่งของ ‘คนอื่นๆ’
ด้วยงบประมาณกว่า 12,000 ล้านบาท และพื้นที่ 424,000 ตารางเมตร ทำให้ประเทศไทยกำลังจะทำลายสถิติด้วยการมีอาคารรัฐสภาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ความฝันของรัฐไทยช่างเป็นโลกคู่ขนานกับความฝันของไต้หวัน
ไต้หวันเคยเผชิญปัญหาความฝันของรัฐไม่ตรงกับความหวังของคนรุ่นใหม่ และมีการปรับตัวจริงจังตั้งแต่ระดับการเมืองจนถึงนโยบายเฉพาะหน้า
ไต้หวันดึงคนกลับบ้านเกิดเพื่อมาช่วยกันสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ก้าวกระโดดจากเกาะขนาดเล็กที่ไม่มีใครสนใจไปสู่โลกที่หนึ่งอย่างภาคภูมิ
และไต้หวันก็กำลังจะผลิตชิปที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก
เจ้าชิปขนาด 3 นาโนเมตรช่างมีพลังมหาศาลเหลือเกิน นอกจากช่วยให้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ทำงานเร็วขึ้นแล้ว ยังสามารถปรับสมดุลการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศมหาอำนาจและเทคเฟิร์มยักษ์ใหญ่ไม่สามารถมองข้ามหัวไต้หวันได้
ภาพความฝันคู่ขนานระหว่างไทยกับไต้หวันแทนคำตอบได้ดี ว่าทำไมรัฐไทยกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางมากกว่าปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาประเทศในยุคแห่งเทคโนโลยี
และทำไมคนรุ่นใหม่ของไทยถึงอยากออกเดินทาง
คำถามก็คือ เรากำลังแลกอนาคตและความหวังของพวกเขากับอะไร?
อ้างอิง
- Financial Times (Mar 23, 2021) “TSMC: how a Taiwanese chipmaker became a linchpin of the global economy”
- The Economist (Feb 25, 2021) “Why is there a shortage of semiconductors?”
- The Economist (Jan 21, 2021) “The struggle over chips enters a new phase”
- The Economist (Jan 21, 2021) “Chipmaking is being redesigned. Effects will be far-reaching”
- ดูอภิปรายพัฒนาการเศรษฐกิจไต้หวันของผมกับอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร ได้ที่เพจของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา
- Shirley L. Chang (1992) “Causes of Brain Drain and Solutions: The Taiwan Experience.” Studies in Comparative International Development, 27: 27–43.
- Veerayooth Kanchoochat (2019) “Tigers at Critical Junctures: How South Korea, Taiwan and Singapore Survived Growth-Led Conflicts.” in Developmental State Building: The Politics of Emerging Economies. Tokyo: Springer.
- โพสต์ทูเดย์ (22 สิงหาคม 2553) “ถอดรหัสสถาปนิกการเมือง สร้างสัปปายะสภาสถาน – รายงานพิเศษ”