fbpx
ผ่าความคิดชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กลางไฟขัดแย้ง รัฐประหาร และการลี้ภัย กับ จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

ผ่าความคิดชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กลางไฟขัดแย้ง รัฐประหาร และการลี้ภัย กับ จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น คนกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมายืดหยัดท้าทายกองทัพพม่าอย่างแข็งขันก็คือบรรดา ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ จนถูกจับตาว่าเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญที่ชี้อนาคตพม่าบนรอยต่อสำคัญอีกครั้งของประวัติศาสตร์

ที่ฟากฝั่งตะวันออกของพม่าใกล้กับแนวชายแดนไทย กลุ่มชาติพันธุ์ ‘กะเหรี่ยง’ ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนไหวต้านรัฐประหารอย่างสุดตัว สถานการณ์ทวีความดุเดือดจนยกระดับไปสู่การเผชิญหน้าสู้รบกับทหารพม่า จนนำไปสู่คลื่นผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงระลอกใหม่เข้ามาสู่แผ่นดินไทย ทำให้เรื่องราวของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นที่สนใจอีกครั้งในสังคมไทย

การอพยพลี้ภัยของชาวกะเหรี่ยงข้ามมายังฝั่งไทยไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นเรื่องที่มีมาต่อเนื่องยาวนาน เห็นได้จากค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนที่ยืนหยัดอยู่ถึง 3 ทศวรรษ ต้อนรับผู้อพยพมาแล้วหลายระลอก และยังมีผู้อพยพอยู่ใต้ชายคาทุกวันนี้ถึงเกือบแสนคน

ปรากฏการณ์ผู้อพยพข้ามทศวรรษนี้เป็นสิ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับกองทัพพม่าที่เรื้อรังและยังมองไม่เห็นทางออก จากปมประเด็นทางประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และข้อขัดแย้งผลประโยชน์อันซับซ้อน เรียกได้ว่าการสู้รบที่กำลังเกิดขึ้นหลังรัฐประหารในขณะนี้เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งแห่งความขัดแย้งที่สั่งสมหยั่งรากลึกมายาวนานเท่านั้น

101 คุยกับ ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ศึกษาและมีประสบการณ์ลงพื้นที่ค่ายผู้อพยพกะเหรี่ยงตามแนวชายแดนไทย-พม่ามาหลายปี เพื่อถ่ายทอดมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะกะเหรี่ยง ต่อการรัฐประหาร พร้อมมองลึกถึงชีวิตกลางไฟความขัดแย้งเรื้อรังใต้การปกครองของกองทัพพม่า สู่ชีวิตผู้ลี้ภัยในรั้วแดนไทย


ต่างชาติพันธุ์ แต่พร้อมใจไม่เอารัฐประหาร


หลังรัฐประหาร แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เจอสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ในภาพรวมมีความเหมือนกันคือ ทุกกลุ่มไม่ยินดีกับการรัฐประหารครั้งนี้

พม่าถูกปกครองด้วยทหารมาต่อเนื่องยาวนานถึง 70 กว่าปี และผู้คนก็รู้ว่าภายใต้การปกครองแบบนี้โหดร้ายเพียงใด โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธ์ที่ยังมีการสู้รอบและความขัดแย้ง คนเฒ่าคนแก่ที่เกิดมาตั้งแต่แรกเริ่มถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารตั้งแต่สมัยนายพล เน วิน รู้สึกว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมากพวกเขาอยู่มาถึงป่านนี้แล้ว แต่การปกครองภายใต้ทหารก็ยังไม่หมดไปเสียที  มันเป็นชีวิตที่ไม่แน่นอน บางคนอาจมีญาติพี่น้องเคยถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน หรือถูกบังคับให้ออกไปเป็นด่านหน้าให้กับทหารพม่า  เวลาที่มีการสู้รบ คนกลุ่มนี้มักจะถูกยิงก่อนทหารเสียอีก นอกจากนี้ วันดีคืนดีก็อาจจะถูกบุกตรวจค้น ถูกโจมตี หรือถูกขนข้าวของออกไป ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง ก็อาจจะถูกข่มขืนที่บ้านและถูกฆ่าทิ้ง  ส่วนคนที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งของทหาร มีท่าทีแข็งขืนหรือมีปากเสียง ก็จะถูกซ้อม ถูกทรมานจนถึงแก่ชีวิต

สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ เวลาที่ทหารยกกองกำลังมาแถวบ้านเขา เขาก็จะหนีออกจากบ้าน เข้าไปหลบซ่อนในป่า เพราะไม่อยากเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เล่าไปก่อนหน้า ส่วนคนรุ่นใหม่ก็รู้สึกไม่ต่างกัน แม้บางคนอาจจะไม่เคยได้เจอเหตุการณ์แบบนั้นด้วยตัวเขาเอง แต่เขาก็ได้รับรู้ประสบการณ์เหล่านั้นจากเรื่องเล่าของปู่ ย่า หรือรุ่นพ่อแม่ที่เคยเจอมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มลูกหลานของผู้ลี้ภัย เพราะเขาเคยอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง จนต้องหนีมาฝั่งไทย เด็กบางคนก็รู้สึกเกลียดรัฐบาลทหารมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ด้วยซ้ำ เพราะเขาได้อ่านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติพันธุ์ของเขาซึ่งเป็นความรู้คนละชุดกันกับที่ถูกสอนในโรงเรียนตอนอยู่ฝั่งพม่า ด้วยหลักสูตรการศึกษาที่เน้นปลูกฝังความเป็นชาตินิยมในความเป็นชาติพม่า

ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้คนพม่าเรียนรู้ว่า เขาไม่อยากได้ระบบการปกครองแบบนี้กลับมาอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไหนก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่โดนประเด็นทับซ้อนมากกว่าคนพม่าในเมือง เช่นเดียวกับกลุ่มกะเหรี่ยง

คนกะเหรี่ยงต่อต้านรัฐประหาร ภาพจาก Salween Peace Park
ภาพโดย Salween Peace Park

หากมองเรื่องระบบการเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจะแบ่งออกได้ 3 ส่วน คือคนกะเหรี่ยงที่อยู่ในเมืองพะอัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบการปกครองที่มาจากรัฐบาลกลาง โดยมีตัวแทนที่ถูกเลือกมาจากคนในรัฐกะเหรี่ยง ถัดมาคือคนกะเหรี่ยงที่อยู่เมืองอื่นๆ เช่น ผาปูน ในรัฐกะเหรี่ยงเอง หรือตองอู และตะโถน ในรัฐมอญ ซึ่งผสมผสานระหว่างการปกครองด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (Democratic Karen Benevolent Army – DKBA) กะเหรี่ยงคริสต์ (Karen National Union – KNU) และรัฐบาลพม่า และสุดท้ายคือกลุ่มที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของกองกำลังชาติพันธุ์เป็นหลัก โดยแตกย่อยออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือกะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ และกองกำลังรักษาชายแดนที่ขึ้นตรงกับกองทัพพม่า (Border Guard Force)

กะเหรี่ยงแต่ละกลุ่มมีความสำนึกในความเป็นชาติของตัวเองที่แตกต่างกัน และมีประเด็นในการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพที่แตกต่างกัน  เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงกะเหรี่ยงหรือความคิดเรื่องการเมืองของเขา ก็ต้องเฉพาะเจาะจงลงไปว่าเป็นกลุ่มไหน เพราะแต่ละกลุ่มไม่ได้คิดเหมือนกันทั้งหมด

แต่แม้ว่ากะเหรี่ยงจะไม่ได้มีความคิดทางการเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตั้งแต่แรก พวกเขากลับมีกลุ่มก้อนความคิดการเมืองที่เหมือนกันคือไม่ยอมรับการปกครองแบบพม่าเป็นใหญ่ และไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

กลุ่มประชาชนกะเหรี่ยงพุทธในเมืองเมียวดีรวมถึงคนรุ่นใหม่ในเมืองหลวงอย่างพะอัน ก็ออกมาประท้วงไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แม้ว่าก่อนหน้านี้ คนกลุ่มนี้ไม่ได้เดือดร้อนจากการสู้รบ ส่วนหนึ่งอาจไม่ได้ต่อต้านรัฐบาลพรรค National League for Democracy (NLD) จำนวนหนึ่งอาจอยู่ในเครือข่ายผลประโยชน์ ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลและกองทัพที่อำนาจปกครองพื้นที่ แต่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นมา คนกลุ่มนี้ก็ไม่เห็นด้วย ออกไปเดินขบวนต่อต้านรัฐประหาร

ข้อเรียกร้องในแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป คนที่อยู่ในเมืองมีแคมเปญเรียกร้องปล่อยตัวสมาชิกรัฐสภาและคนในพรรค NLD ขณะที่กลุ่มที่อยู่แถวชายแดนชูประเด็นเรื่อง ‘สหพันธรัฐ’ (Federal State) โดยแต่เดิม คนที่อยู่ในเมืองมักจะไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบสหพันธรัฐ เพราะคิดว่าจะนำประเทศไปสู่ความแตกแยก อีกทั้งยังไม่ค่อยชอบกองกำลังชาติพันธุ์ แต่รัฐประหารทำให้คนในเมืองเห็นอกเห็นใจกองกำลังชาติพันธุ์มากขึ้น และหันมาสนใจการปกครองแบบสหพันธรัฐ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ซึ่งไม่สามารถเห็นได้เลยในช่วงก่อนรัฐประหาร

คนกะเหรี่ยงต่อต้านรัฐประหาร ภาพจาก Salween Peace Park
ภาพโดย Salween Peace Park

ในกลุ่มกะเหรี่ยงที่อยู่ตามชายแดน เขารู้สึกว่ารัฐประหารทำให้กระบวนการสันติภาพหรือข้อตกลงหยุดยิงต่างๆ (ceasefire agreement) ที่เคยทำกันมาเป็นเวลาหลายปีสูญเปล่าไปทันที พวกเขาคิดว่าสถานการณ์ย้อนกลับไปเหมือนในช่วงปี 1980-1990 ที่พม่าก็เคยทำคล้ายๆ กันมาก่อน คือในขณะที่มีข้อตกลงหยุดยิง แต่ก็ยังส่งทหารเข้าไปโจมตีพวกเขาอยู่ เพราะฉะนั้นคนกะเหรี่ยงก็รู้สึกไม่ไว้วางใจ อย่างเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่เกิดเป็นข่าวใหญ่ กองทัพพม่าเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงในเขตการปกครองของกองกำลังน้อยที่ 5 (Karen National Liberation Army – KNLA Battalion 5) จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และชาวกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งต้องอพยพลี้ภัยข้ามมายังฝั่งไทย

สาเหตุของการโจมตีอาจไม่ได้มาจากประเด็นที่กองกำลังกะเหรี่ยง KNLA ตัดเส้นทางลำเลียงข้าวสาร ซึ่งถูกสงสัยว่าเป็นข้าวที่กองทัพไทยส่งให้กับทหารพม่าที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง แต่ประเด็นความขัดแย้งที่ใหญ่กว่านั้นคือเรื่องการรุกคืบของกองทัพพม่าที่ต้องการเข้ามายึดพื้นที่ในฝั่งกะเหรี่ยงซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกันยายนปลายปีที่แล้ว ซึ่งพื้นที่ส่วนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของกองกำลังน้อยที่ 5 เป็นพื้นที่ที่เข้มแข็ง กองทัพพม่าไม่เคยโจมตีทางบกได้สำเร็จ เมื่อทหารพม่าส่งกำลังเข้ามารุกคืบ ทางกองกำลังกะเหรี่ยงจึงตอบโต้กลับและสังหารทหารพม่าเสียชีวิตไป 5 ราย เพราะทหารกะเหรี่ยงรู้สึกว่ากองทัพพม่าไม่เคารพในข้อตกลงหยุดยิงและพยายามควบรวมพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยง ความขัดแย้งได้ปะทุและดำเนินต่อไป จนถึงเมื่อปลายเดินมีนาคมที่ทางกองทัพพม่าถือโอกาสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดโจมตีฝั่งกะเหรี่ยง ทำให้ฝั่งกะเหรี่ยงเห็นว่านี่คือการเปิดศึกขึ้นอีกครั้ง


สำนึกความเป็นชาติที่ต่างกัน สู่ความขัดแย้งเรื้อรัง


ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกะเหรี่ยงกับกองทัพพม่านั้นเป็นความขัดแย้งที่สะสมมายาวนานตั้งแต่ก่อนการประกาศอิสรภาพของประเทศพม่าออกจากอาณานิคมของอังกฤษ เพราะชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน อีกทั้งความแตกต่างในประวัติศาสตร์และความเชื่อในเรื่องชาติที่ถูกพัฒนามาต่างกัน

แน่นอนว่า เมื่อพูดเรื่องนี้ ก็จะต้องย้อนกลับไปในประเด็นข้อตกลงปางโหลง (Panglong Agreement) ซึ่งแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ต้องการอำนาจในการปกครองดินแดนของตนเอง (Autonomous State / Self-governing System) ในข้อตกลงปางโหลงนั้นมีการออกแบบรูปแบบรัฐในแบบสหพันธรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพพม่า อย่างไรก็ตามหลายคนมักเข้าใจผิดว่าทุกชาติพันธุ์เข้าร่วมข้อตกลงปางโหลง แต่อันที่จริง มีเพียง 4 กลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น ได้แก่ พม่า ฉาน คะฉิ่น และฉิ่น ขณะที่ชาติพันธุ์อื่นเช่น มอญ อาระกัน นากา กะเหรี่ยงแดง และกะเหรี่ยงไม่ได้เข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม หลังได้รับเอกราชในปี 1947 ข้อตกลงปางโหลงต้องล้มเหลวลงไปหลังจากที่นายพล ออง ซาน ผู้นำพม่าที่ผลักดันข้อตกลงดังกล่าวในตอนนั้นถูกลอบสังหาร การเมืองพม่าเป็นระบบรัฐสภาได้ไม่กี่ปีก็ถูกกองทัพเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ ที่แต่เดิมคือชาติพันธุ์ชายแดน (Ethnic Frontier) กลายมาเป็นชนกลุ่มน้อย (Ethnic Minority) และสร้างกองกำลังชาติพันธุ์ที่ลุกขึ้นมาปลดแอก (Insurgency Arm Group)

ในสมัยเน วิน รัฐบาลพม่าพยายามสร้างแนวคิดหนึ่งชาติพันธุ์ หนึ่งประเทศ (One Nation, One Country) ซึ่งพยายามรวมพม่าให้เป็นหนึ่งเดียว มีการบังคับให้ใช้ภาษาพม่า บังคับสอนภาษาพม่าในโรงเรียน และก็ออกแบบหลักสูตรแบบเรียนที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์พม่า ไม่อนุญาตให้โรงเรียนที่อยู่ในรัฐชาติพันธุ์สอนประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของตนเอง ซึ่งนับว่าได้ผลแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการรวมชาติ เพราะแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ (Ethno-national History) เป็นของตัวเอง

คนกะเหรี่ยงต่อต้านรัฐประหาร ภาพจาก Salween Peace Park
ภาพโดย Salween Peace Park

ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ได้ถูกพัฒนาสู่แนวคิดชาติพันธุ์นิยม (Ethno-nationalism) ซึ่งเป็นรากฐานของสำนึกความเป็นชาติ ในระบบความคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่ ที่ความเป็นรัฐชาติประกอบไปด้วย ดินแดน (Territory) ประชากร (Population) รัฐบาล (Government) และอัตลักษณ์ความเป็นชาติ (National Identity) เมื่อแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในกลุ่มกะเหรี่ยงรู้สึกว่าพวกเขามีคุณสมบัติครบในความเป็นรัฐชาติ มีดินแดน ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ประชากร และรัฐบาลของตัวเอง ไม่ต่างจากชาวพม่า พวกเขาจึงรู้สึกว่า “ทำไมพวกเขาจะเป็น ‘ชาติ’ บ้างไม่ได้”

ที่ซับซ้อนไปกว่านั้น กลุ่มคนกะเหรี่ยงเคยยิ่งใหญ่ในอดีต มีกองกำลังที่เข้มแข็ง เคยปกครองดินแดนที่กว้างใหญ่ มีผู้นำที่เขายกย่องนับถือ และในอดีต กลุ่มกะเหรี่ยงคือกลุ่มที่มีการศึกษามากกว่ากลุ่มคนพม่าส่วนใหญ่ เพราะได้รับการศึกษาจากมิชชันนารีและคนอังกฤษ ในสมัยอาณานิคม คนกะเหรี่ยงจับมือเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ และเชื่อว่าหลังจากที่ผู้ปกครองอังกฤษเดินทางกลับไปลอนดอน จะมอบอำนาจในการปกครองตนเองให้กับชาวกะเหรี่ยง เมื่อถูกทำให้กลายเป็นคนกลุ่มน้อย คนกะเหรี่ยงรู้สึกว่าถูกหยาม ถูกกดทับ และต้องมาสูญเสียความยิ่งใหญ่ที่เคยมีในอดีต สิ่งเหล่านี้ปลุกใจให้พวกเขาอยากต่อสู้เพื่อให้สิ่งที่เคยมีกลับมา และเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพในการปกครองตัวเอง

ความคิดแบบนี้ถูกส่งผ่านและถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะในเขตภายใต้การปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย โรงเรียนในค่ายก็ยังมีสอนประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของคนกะเหรี่ยง ภาษา ศาสนา และสร้างให้คนรุ่นใหม่มีสำนึกรักของความเป็นชาติกะเหรี่ยงอยู่สูง โดยเฉพาะการปลูกฝังสำนึกรักความเป็นชาติพันธุ์ เช่น เด็กนักเรียนในค่ายมีวิชาที่ออกไปพัฒนาชุมชน และเมื่อทุกคนสำเร็จการศึกษาก็จะต้องกลับไปทำประโยชน์และพัฒนาให้กับชุมชนกะเหรี่ยง รวมถึงรัฐกะเหรี่ยงในเขตแดนของ KNU เช่นไปเป็นครู ไปสอนศาสนา ไปทำโปรเจคการพัฒนาต่างๆ รวมถึงการเข้าร่วมกับองค์กรเอกชนของกะเหรี่ยงเช่น Karen Human Rights Group, Karen Youth Organization และ Karen Women Organization เป็นต้น หรือคนที่อาจเรียนหนังสือไม่เก่ง ก็ไปเป็นอาสาสมัครให้กับกองกำลังชาติพันธุ์

แม้ว่าในช่วง 15 -20 ปีที่ผ่านมา การสู้รบอย่างหนักและรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ความคิดของคนกะเหรี่ยงที่อยากมีเอกราชและได้ปกครองตัวเองก็ยังไม่ได้มลายหายไป เพียงแต่เปลี่ยนวิธีจากการสู้รบไปสู่การเจรจาทางการเมือง เห็นได้ชัดจากการเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพและการหยุดหยิงระดับชาติ (National Ceasefire Agreement) ระหว่างหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ได้มีกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมทั้งหมด แต่กลุ่มกะเหรี่ยงเป็นหนึ่งในนั้น ด้วยเขามีความหวังว่าจะทำให้เกิดเป็น ‘สหพันธรัฐพม่า’


เดี๋ยวเจรจา เดี๋ยวยิง สันติภาพที่แท้จริงไม่เคยเกิดขึ้น


ตามประวัติศาสตร์ของการสู้รบของฝั่งทหารพม่า โดยปกติ ทหารพม่าไม่ได้ทำการสู้รบพร้อมกันทีเดียวกับหลายกลุ่ม แต่ทำเป็นวงจร เช่น ช่วงปี 1980 มีการสู้รบใหญ่กับกองกำลังกะเหรี่ยง ต่อมาก็ทำข้อตกลงหยุดยิง เจรจาหยุดการสู้รบระหว่างกัน หลังจากหยุดกับฝั่งกะเหรี่ยงแล้ว กองทัพพม่าก็หันไปทำสงครามกับกองกำลังคะฉิ่น จนกระทั่งทำข้อตกลงหยุดยิงกัน จากนั้นในช่วงปี 2010 เป็นต้นมา กองทัพก็หันไปตีรัฐอาระกัน ซึ่งรวมถึงการปราบปรามกลุ่มโรฮิงญา แล้วเมื่อเกิดเป็นประเด็นผู้อพยพโรฮิงญาที่กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก ก็เกิดความพยายามจะพูดคุยข้อตกลงหยุดยิงกัน และล่าสุดในสายตาของกลุ่มกะเหรี่ยง ทหารพม่าก็หันกลับมาโจมตีกองกำลังกะเหรี่ยงอีกครั้งหนึ่ง

คนกะเหรี่ยงรู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังวนสู่วัฏจักรเดิม กลับไปเหมือน 20-30 ปีก่อนหน้านี้ พวกเขาเห็นว่าการเจรจาสันติภาพเป็นไปไม่ได้จริง ข้อตกลงหยุดยิงไม่ได้มีประโยชน์อะไร เพราะสุดท้ายทหารพม่าก็ยังส่งกำลังมาจ่อพื้นที่ของกะเหรี่ยงอยู่ตลอด และยังคงโจมตีพวกเขาอยู่ดี

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ นอกเหนือไปจากรากความขัดแย้งเรื่องสำนึกความเป็นชาติแล้ว ก็คือเรื่องผลประโยชน์ที่พัวพัน เพราะกลุ่มธุรกิจที่นำโดยทหาร ต้องการเข้าไปสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจในแต่ละพื้นที่ ขณะที่ฝั่งกองกำลังชาติพันธุ์เองก็มีผลประโยชน์ของตัวเองอยู่เหมือนกัน อย่างเช่นในรัฐกะเหรี่ยง แต่ละกองกำลังก็จะแบ่งฐานอำนาจกันในเชิงภูมิศาสตร์ โดยมีธุรกิจต่างๆ เป็นของตัวเอง การที่คนข้างนอกจะเข้าไปทำธุรกิจในพื้นที่ต่างๆ จึงไม่สามารถเข้าไปได้อย่างอิสระ แต่ต้องติดต่อเจรจาผ่านกองกำลังที่ครอบครองพื้นที่นั้นๆ อยู่

การทำข้อตกลงหยุดยิงจึงเกี่ยวข้องอย่างมากกับเรื่องของการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างแต่ละกลุ่ม เมื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจได้รับการแบ่งสรรกันลงตัว ข้อตกลงหยุดยิงก็เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการสร้างถนน โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เมื่อพม่าเริ่มเจริญเติบโต ก็เริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การตัดถนนให้เข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในรัฐกะเหรี่ยงได้เยอะขึ้น มีการตัดถนนเส้นใหม่จากชายแดนไทย เข้าไปในตัวเมืองพะอัน เพื่อขนส่งสินค้า อุปโภค และบริโภค ซึ่งจำเป็นต้องขออนุญาตเพราะผ่านพื้นที่ของกองกำลังชาติพันธุ์ ขณะที่ทหารพม่าก็ต้องการเข้าถึงถนนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ หลังจากข้อตกลงหยุดยิงเกิดขึ้นเมื่อปี 2010 การสร้างถนนในพื้นที่ต่างๆ ก็เกิดขึ้นมาได้ โดยมีการแบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่ม

อีกด้านหนึ่ง ถนนก็นำไปสู่ความขัดแย้ง อย่างการแย่งกันอ้างสิทธิเหนือถนนระหว่างทหารพม่าและกองกำลังในพื้นที่ และนี่ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งสะสมและความไม่วางใจกันระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงกับทหารพม่า ก่อนจะเกิดการสู้รบจนทำให้มีผู้อพยพกลุ่มใหม่ต้องข้ามมาฝั่งไทยในขณะปัจจุบันนี้

ผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงในค่ายผู้อพยพ ภาพโดย ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
ภาพโดย ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจคิดว่า การที่พรรค National League for Democracy (NLD) ที่นำโดยออง ซาน ซูจีขึ้นมาปกครองพม่า จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่สายตาของชนกลุ่มน้อยมองว่าแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะคนที่ถือครองกระทรวงใหญ่ๆ ในรัฐบาลก็ยังเป็นทหารอยู่ โดยที่ NLD ไม่ได้มีอำนาจมากพอในการปกครองหรือจัดการทหารได้ กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงเห็นว่าทหารเป็นตัวละครหลักที่จะกำหนดสถานการณ์ และชี้ทิศทางการเจรจาสันติภาพ

นอกจากนี้ ออง ซาน ซูจีเองก็พยายามผลักดันแนวคิดของความเป็นพม่าหนึ่งเดียว โดยที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ถูกลดทอนความสำคัญลงไป แม้ว่าพรรค NLD จะมีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่มีการพูดคุยจริงจังในเรื่องการให้อำนาจปกครองตนเองของชาติพันธุ์หรือการตั้งสหพันธรัฐ  

เพราะฉะนั้น จากเดิมที่คนกะเหรี่ยงยกย่องออง ซาน ซูจี ในฐานะผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตย บางคนติดรูปของเธอในบ้าน แต่ตั้งแต่ช่วงปี 2014-2015 จากที่ได้ไปลงพื้นที่มา ก็พบว่าไม่มีบ้านไหนเลยที่ติดรูปของเธอ ชาวบ้านถอดรูปของเธอทิ้ง และเปลี่ยนไปเป็นรูปผู้นำกะเหรี่ยงเพือการปฏิวัติ เช่นรูปของ Saw Ba U Gyi  นี่จึงสะท้อนได้ดีว่าในทางการเมืองกับในทางอุดมคติอาจไปด้วยกันไม่ได้  

อย่างไรก็ตาม ในยุค NLD ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอยู่อย่างหนึ่งคือการเจรจาสันติภาพ ซึ่งกองกำลังชาติพันธุ์เริ่มมุ่งไปทางการพัฒนา และลดบทบาททางการทหาร โดยเฉพาะในกลุ่มกะเหรี่ยง ซึ่งให้อำนาจกับ KNU ที่ทำหน้าที่เหมือนหน่วยปกครองของภาคพลเรือนมากขึ้น จากเดิมที่อำนาจการตัดสินใจไปอยู่ที่ฝั่งกองกำลังซึ่งมักมีเสียงที่ดังกว่า นี่แสดงถึงความพยายามที่จะโอนถ่ายอำนาจสู่ภาคพลเรือนและเดินไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มกะเหรี่ยงยังให้ความสนใจกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้นด้วย แทนที่จะลงงบประมาณทุ่มไปกับการซื้ออาวุธหรือการฝึกทหารใหม่ๆ

แต่กระนั้นจากเดิมที่ทุกอย่างเริ่มตั้งต้นจะดีขึ้น การเกิดรัฐประหารครั้งนี้ทำให้การเจรจาสันติภาพที่ทำร่วมกันมาทั้งหมด 10-20 ปี ต้องเสียเปล่าภายในค่ำคืนเดียว และยิ่งทหารพม่าบุกใช้กองกำลังทางอากาศโจมตีรัฐกะเหรี่ยง ก็ยิ่งยืนยันได้ว่าการเจรจาสันติภาพได้ถึงจุดสิ้นสุดลงแล้ว และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลับมาพูดคุยกันอีก


จับตากองกำลังชาติพันธุ์โต้กลับ


สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์ในตอนนี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แม้ทหารพม่าจะประกาศหยุดยิง แต่ไม่ได้ประกาศหยุดการสู้รบ เพราะทหารพม่าก็ยังส่งกองกำลังเข้าไปในแต่ละพื้นที่อยู่ ในขั้นต่อไป เชื่อว่ากองกำลังจะโจมตีกองทัพพม่ากลับอย่างแน่นอน รวมถึงกองกำลังกะเหรี่ยงที่ถูกกองทัพพม่าโจตีทางอากาศ ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงที่เคยทำกันมาอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้สูงว่าจะมีการโจมตีกลับ

ช่วงหลายวันมานี้ได้เกิดแนวคิดที่เสนอให้แต่ละกองกำลังชาติพันธุ์จับมือกันเป็นหนึ่งในนามของ ‘กองกำลังสหพันธรัฐ’ (Federal Army) เพื่อต่อสู้กับทหารพม่า และเราก็ได้เห็นว่ากลุ่มคนในเมืองก็ออกมาสนับสนุนกองกำลังชาติพันธุ์มากขึ้นกว่าเดิม คนที่เคยไม่ชอบก็กลับมาเห็นอกเห็นใจแลให้ความสำคัญกับกองกำลังชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้อาจเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็ไม่ได้มีแนวคิดที่สอดคล้องกันมาก่อน อย่างที่บอกไปตอนต้นด้วยสำนึกความเป็นชาติที่ต่างกัน กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มก็มีข้อขัดแย้งระหว่างกัน เช่น กะเหรี่ยงเองก็แตกออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ DKBA ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงพุทธและ KNU/KNLA ซึ่งเป็นคริสต์ หรือกลุ่มกองกำลัง Shan State Army (SSA) ที่ขัดแย้งกับกลุ่มว้า จนเคยรบพุ่งกันมาก่อนด้วยประเด็นเรื่องดินแดน ดังนั้น เมื่อแต่ละฝ่ายไม่ไว้วางใจกันเป็นทุนเดิม จึงยากที่จะมาจับมือกัน

สิ่งสำคัญที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวกันได้ คือแต่ละกลุ่มต้องพูดคุยกันเองให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้นก็ยากที่กองกำลังสหพันธรัฐจะเกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นได้จริง ก็ถือเป็นเรื่องดี และคงเป็นปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งของโลก แต่ในความเห็นส่วนตัว สิ่งที่สำคัญกว่าการฝากความหวังกับกองกำลังของชาติพันธุ์ คือการที่ประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวของเขาเอง


จากการสู้รบสู่การลี้ภัย ปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องใหม่


การปะทะกันระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยง ซึ่งรวมถึงปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่เขตมือตรอ ของรัฐกะเหรี่ยง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังน้อยที่ 5 ของกลุ่ม KNU ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงต้องหนีกระจัดกระจาย โดยจำนวนมากหลบหนีข้ามมายังฝั่งไทย นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นเรื่องที่ก็มีมาโดยตลอดในละแวกชายแดน เพียงแต่ผู้อพยพที่ข้ามมาอาจจะไม่ได้มีจำนวนมาก และการสู้รบที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้รุนแรงเหมือนครั้งนี้

การอพยพลี้ภัยของคนกะเหรี่ยงข้ามชายแดนมายังประเทศไทย เพื่อหนีภัยความขัดแย้ง เป็นปรากฏการณ์ที่กินเวลามากว่า 30 ปี ในช่วงแรกๆ ผู้อพยพอยู่กับตามค่ายผู้ลี้ภัยเล็กๆตามแนวชายแดน 40 กว่าแห่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านคนไทย หน่วยงานท้องถิ่น และองค์กรศาสนาและมนุษยธรรมระหว่างประเทศเล็กๆ มาโดยตลอด จนกระทั่งเริ่มเกิดการโจมตีข้ามแดนมาถึงฝั่งไทย มีการเผาบ้านในฝั่งไทย ทำให้รัฐบาลไทยเริ่มตั้งค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ โดยรวมค่ายเล็กๆ เหล่านั้นมาเป็นค่ายใหญ่ทั้งหมด 9 ค่าย อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งกระจายอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างไทย-พม่า ไล่มาจากเหนือสุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีค่ายบ้านใหม่นายสอย ค่ายแม่ลามาหลวง ค่ายแม่ละอูน และค่ายแม่สุรินทร์ จังหวัดตากมีค่ายอุ้มเปี้ยม ค่ายนุโพซึ่งเป็นค่ายเล็กๆ ที่มีนักศึกษาที่หลบหนีมาจากเหตุการณ์นองเลือด 8888 และค่ายแม่หละ ซึ่งเป็นค่ายที่ใหญ่สุดจนถูกเรียกว่าเป็นเมืองหลวงของค่ายผู้ลี้ภัย จังหวัดกาญจนบุรีมีค่ายบ้านต้นยาง จังหวัดราชบุรีมีค่ายถ้ำหิน ในปัจจุบันนี้ มีจำนวนผู้ลี้ภัยในค่ายร่วมกันอยู่ราว 9 หมื่นคน เพราะหลายหมื่นคนได้อพยพไปตั้งรกรากประเทศที่สาม ช่วงที่พีคที่สุดคาดว่าเคยมีผู้อพยพถึงกว่า 2 แสนคนกระจายอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ

ค่ายผู้อพยพกะเหรี่ยง ภาพโดย ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
ภาพโดย ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยงในขณะนี้ อาจไม่มีผลกระทบมากนักต่อผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่มาแต่เดิมตาม 9 ค่ายในไทย เพราะไม่มีการโจมตีข้ามพรมแดนมาถึงฝั่งไทย แต่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้มีความกังวลถึงญาติพี่น้องของตัวเองจำนวนไม่น้อยที่ยังอยู่ฝั่งพม่าและยังไม่สามารถติดต่อกันได้ เพราะต่างคนต่างหลบหนีกระจัดกระจายกันไป จนไม่รู้ว่าใครอยู่ตรงไหนบ้าง

หลายคนตั้งคำถามถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า จะทำให้ประเทศไทยต้องรับผู้อพยพจากฝั่งพม่ามาอยู่อาศัยเพิ่มจากเดิมอีกหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น หากว่าการสู้รบนั้นหยุดลงจริงอย่างที่กองทัพพม่าประกาศไว้ แต่หากไม่เป็นแบบนั้น การสู้รบทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็อาจจะมีกลุ่มผู้อพยพกลุ่มใหม่เข้ามา

ในความเป็นจริง ผู้อพยพกลุ่มนี้อาจไม่ได้อยากข้ามมาอยู่ฝั่งไทย เพราะหลายคนยังมีที่ดินทำกินบริเวณบ้านตัวเองอยู่แล้วที่ฝั่งพม่า ตามปกติแล้ว คนกะเหรี่ยงที่มาใหม่สามารถเข้าไปอาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยในไทยได้ โดยอาศัยเครือข่ายเครือญาติ เช่นหากมีผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพไปยังประเทศที่สาม และมีบ้านว่าง ผู้ลี้ภัยคนอื่นในค่ายก็สามารถใช้บ้านต่อ แล้วพาญาติพี่น้องตัวเองเข้าไปอยู่ในค่ายได้ ดังนั้น คนกะเหรี่ยงจึงสามารถข้ามมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในไทยได้ไม่ยากมากนัก หรือไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดสถานการณ์การสู้รบ ผู้อพยพระลอกล่าสุดที่เพิ่งมายังฝั่งไทยจึงไม่ใช่คนที่อยากมาอยู่แต่แรก เพราะหากอยากมาจริง ก็สามารถข้ามมาได้นานแล้ว คนกลุ่มนี้ต้องการขอลี้ภัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อสงครามสงบลง ก็อาจข้ามกลับไปบ้านตัวเองเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม หากการสู้รบยังคงดำเนินต่อไป หรือหากบ้านเรือนถูกทำลายไปมาก ผู้อพยพกลุ่มนี้ก็จำเป็นต้องใช้เวลาลี้ภัยอยู่ในฝั่งไทยนานขึ้น โดยรัฐบาลไทยอาจนำคนกลุ่มนี้ไปอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ ที่มีอยู่แล้วเดิม เพราะมีผู้อพยพที่ออกจากค่ายไปตั้งรกรากประเทศที่สามจำนวนมาก ส่วนตัวคิดว่าค่ายที่มีอยู่เดิมเพียงพอต่อการรองรับผู้อพยพกลุ่มใหม่ โดยไม่ต้องสร้างค่ายใหม่ หากเป็นเช่นนี้ เราในฐานะคนไทยจะสามารถเข้าใจในสถานการณ์ของเขาและเปิดรับเขาได้มากแค่ไหน


คำถามถึงรัฐบาลไทย ทำไมไม่ต้อนรับผู้อพยพ


ขณะที่ผู้ลี้ภัยพากันอพยพหนีสงครามข้ามมายังฝั่งไทย ท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการจัดการผู้อพยพกลุ่มนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามจากสาธารณชนตามมามากมาย ทั้งการที่ทางการพยายามผลักดันผู้อพยพกลับไปยังฝั่งพม่า และการไม่เปิดทางส่งของบริจาคเข้าไปให้ผู้อพยพในช่วงแรก จึงไม่น่าแปลกใจที่การกระทำของรัฐบาลไทยจะไม่ถูกประณาม แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาปฏิเสธ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้

คำถามที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลมีเหตุผลอะไรในการเลือกที่จะไม่รับผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ ทั้งที่ประเทศไทยเคยรับผู้ลี้ภัยจากฝั่งพม่ามาแล้วมากที่สุดกว่าสองแสนคนในช่วงปี 2005-2006 และรัฐบาลในตอนนั้นก็สามารถดูแลผู้อพยพลี้ภัยได้ จึงไม่น่าเป็นเรื่องยากที่จะรับผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่เข้ามา ซึ่งมีการประเมินจากองค์กรเอกชนแถวชายแดนกันว่าจะตกอยู่ราว 1 หมื่นคน ถือว่าไม่ใช่จำนวนที่เยอะ

ประเด็นที่รัฐบาลไทยใช้อ้างมาโดยตลอดก็คือความมั่นคงของรัฐ และผู้อพยพคือภัยต่อความมั่นคงของรัฐไทย (ไม่แน่ใจว่าโควิดถูกบรรจุในภัยความมั่นคงใหม่หรือยัง) คำถามต่อไปคือ อะไรคือความมั่นคงของรัฐไทย?

ผู้ลี้ภัยพวกนี้สามารถเข้ามาทำลายความมั่นคงของรัฐไทยได้จริงหรือ หากเขามีความสามารถมากขนาดนั้น ทำไมเขาต้องหนีภัยมา และทำไมความมั่นคงของรัฐไทยถึงเปราะบางจนถึงขั้นจะพ่ายแพ้ให้กับผู้อพยพ?

เราไม่ได้อยู่ในสงครามโลกหรือสงครามเย็น ซึ่งสิ้นสุดมาเกือบ 30 ปีแล้ว เมื่อไหร่จะเลิกอ้างเรื่องนี้เสียที เมื่อไหร่การคิดแบบคู่ขั้วตรงข้ามการแบ่งเขาและเราจะหมดไปจากความคิดของคนในรัฐบาล?


ลบอคติ ทำความเข้าใจใหม่ต่อผู้ลี้ภัย


หากมองย้อนกับในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อสมัยที่น่าจะไม่เกิน 100 ปีมานี้ เช่นจากงานของ Edward van Roy ในเรื่อง “Siamese Melting Pot” อาณาจักรไทยเคยต้อนรับผู้ลี้ภัยเข้ามาตลอดโดยเฉพาะจากฝั่งพม่า มีการส่งเจ้าฟ้าไปต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวมอญถึงชายแดนด่านเจดีย์สามองค์ นี่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มามานาน รวมถึงการกวาดต้อนผู้คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ หรือ arcaptives ที่ไทยไปรบชนะให้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพ เพื่อเข้ามาสร้างบ้านแปลงเมืองหรือมาสอนทักษะศิลปะต่างๆ

ไทยทำแบบนี้เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 แต่กลับถูกเปลี่ยนไปในยุคสมัยนี้ โดยที่ทหารไทยหรือแม้กระทั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติยังติดกรอบความคิดเรื่องชาติในกรอบเดิมๆ แบบยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามเย็น คำถามคือว่า ทำไมในอดีต ประเทศไทยถึงใจกว้างเข้าอกเข้าใจความเดือดร้อนของผู้อื่น แต่กลับไม่ใช่แบบนั้นในยุคปัจจุบัน?

ผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงในค่ายผู้อพยพ ภาพโดย ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
ภาพโดย ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

ปัญหาที่สำคัญต่ออคติในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับคนพม่า คือระบบการศึกษาที่สอนให้คนคิดได้แค่เรื่อง ‘เขาและเรา’ คือสอนว่าหากคนไหนไม่ใช่คนไทย เขาคือคนอื่น ทั้งหลักสูตรการศึกษาและสื่อต่างใส่อคติทางชาติพันธุ์ฝังรากลึกลงไปในความคิดของคนไทย จนทำให้เราไม่สามารถมองคนอื่นบนฐานความเป็นมนุษย์ร่วมกันได้เลย นี่จึงเป็นที่มาของปัญหาคนไทยจำนวนหนึ่งเกิดอคติและความไม่เข้าใจต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ในทางกลับกันเราก็เป็นคนอื่นต่อเขาเหมือนกัน เช่น หากคุณต้องเดินทางไปต่างประเทศ ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้วเจ้าหน้าที่ที่ประเทศนั้นทรีตกับเราไม่ดี พูดจาดูถูกเรา หรือไม่ได้รับการปฏิบัติที่เทียมกันกับประชาชนในประเทศเขา ถูกเลือกปฏิบัติแบบที่คนพม่า ลาว กัมพูชาโดนคนไทยทำแบบนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร หากเราเอาตัวเราไปใส่ในรองเท้าของเขาดูบ้าง เราจะลดอคติของเราลงได้บ้างไหม (สามารถอ่านเพิ่มเติมในเรื่องอคติจากบทความของอ.นิติ ภวัครพันธุ์ “เคารพในความเป็นอื่น จึงจะเห็นคนเท่ากัน”)

บางคนอาจมองผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เป็นภาระของประเทศ แต่ในความเป็นจริง ค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรมนุษยธรรมระหว่างประเทศทั้งนั้น เงินส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาคของประชากรบนโลกใบนี้ ไม่ได้มาจากแค่เงินของคนไทย

ในค่ายผู้ลี้ภัยมีจัดการกันโดยคณะกรรมการปกครองค่าย (Camp Committee) ซึ่งเป็นคนกะเหรี่ยง ซึ่งหมายความว่าคนกะเหรี่ยงดูแลกันเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้เจ้าหน้าที่ไทยมากนัก เจ้าหน้าที่ไทยทำหน้าที่เป็น อส.ดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อยและตรวจตราคนเข้าออกภายในค่าย โดยที่องค์กรเอกชนและหน่วยงานระหว่างประเทศเข้ามาสนับสนุนบางเรื่อง เช่นอาหาร น้ำ โรงเรียน และระบบสาธารณสุขต่างๆ อีกทั้งเงินที่ใช้ก็มาจากเงินบริจาคของรัฐบาลประเทศต่างๆ องค์กร หรือปัจเจกบุคคลเป็นส่วนใหญ่ โดยแทบจะไม่ได้ใช้เงินภาษีและสวัสดิการของประเทศไทย แม้ค่ายจะอยู่ในพื้นที่รัฐไทย แต่รัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งมากนัก เว้นแต่เรื่องสำคัญมากจริงๆ

ผู้ลี้ภัยในค่ายไม่ได้ทำเพียงนั่งรอคอยความหวังหรือความช่วยเหลือจากใคร แต่พวกเขาดูแลตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะถูกประนามจากเพื่อนบ้านในค่ายด้วยกันว่าไม่ยอมทำมาหากิน ภายในค่ายมีระบบเศรษฐกิจเล็กๆ ของตัวเอง โดยที่ผู้ลี้ภัยค้าขายสิ่งของให้กันและกัน หรือหากมีญาติพี่น้องที่ออกไปอาศัยอยู่ในประเทศที่สาม ก็จะส่งสิ่งของต่างๆ เช่นอาหารแห้ง เสื้อผ้ากะเหรี่ยง สมุนไพรไปขาย ขณะที่ผู้ลี้ภัยบางส่วนก็ออกไปทำงานนอกค่ายเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว หากเป็นผู้มีการศึกษาระดับหนึ่ง ก็อาจสมัครไปทำงานให้กับองค์กรเอกชนที่อยู่แถวนั้น จำนวนหนึ่งออกไปรับจ้างหรือใช้แรงงานแบบไปเช้าเย็นกลับ ขณะที่หลายคนออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือในต่างประเทศ และให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวอยู่ในค่าย เพราะในค่ายยังมีปัจจัยพื้นฐานต่างๆ อย่างโรงเรียนและโรงพยาบาลให้ครอบครัวเขาอยู่ วิถีชีวิตแบบนี้เป็นวิถีที่คนกะเหรี่ยงหาไม่ได้หากยังคงอยู่ในเขตแดนบ้านตัวเองที่มีการสู้รบไม่ขาด

ผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงในค่ายผู้อพยพ ภาพโดย ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์
ภาพโดย ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า ประเทศไทยพึ่งพาแรงงานของคนข้ามชาติและต้องมีระบบในการดูแลคนเข้าออกรวมถึงสวัสดิการของเขา โดยที่ผ่านมา การออกไปทำงานนอกค่ายต้องทำแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะหากถูกจับได้ จะถูกตัดสิทธิ์ในการอาศัยอยู่ในค่ายไป

ที่ผ่านมามีนโยบายรณรงค์ให้ผู้ลี้ภัยที่สมัครใจเดินทางกลับประเทศต้นทางสามารถกลับได้ และมีผู้ลี้ภัยบางส่วนจะสมัครใจเดินทางกลับพม่า แต่จำนวนมากก็ไม่อยากกลับไป เพราะพวกเขาอยู่ในค่ายมานานร่วม 30 ปี บางคนก็เกิดและเติบโตในค่าย และมีลูกที่เกิดในค่ายเหมือนกัน จึงมีความคุ้นชินกับชีวิตในค่าย ไม่รู้สึกเกาะเกี่ยวผูกพันกับแผ่นดินพม่า หรือรัฐกะเหรี่ยงมากขนาดนั้น ไม่มีญาติหรือเพื่อน และไม่มีที่ดินทำกินที่ฝั่งนั้นอีกแล้ว การส่งเขากลับไปเท่ากับเป็นการผลักเขาให้ไปต่อสู้สร้างชีวิตใหม่ อีกทั้งต้องคำนึงอีกหลายเรื่อง เช่น ระบบการเมืองการปกครองของพม่าที่ต่างออกไปจากในค่าย โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่พม่าซึ่งแตกต่างจากในค่าย นโยบายต้อนรับผู้ลี้ภัยที่พม่า รวมถึงการต้องกลับไปเป็นชนกลุ่มน้อยท่ามกลางชนกลุ่มใหญ่ ซึ่งต่างจากการอยู่ในค่ายที่พวกเขายังสามารถรู้สึกได้ว่าเป็นคนส่วนใหญ่ ความรู้สึกเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากการที่คนคนหนึ่งย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศเป็นเวลานานมาก แล้วต้องย้ายกลับบ้านเกิดซึ่งไม่คุ้นเคยและไม่รู้สึกเป็นบ้านอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงที่อยู่ในค่ายมานาน การกลับไปแผ่นดินของตัวเองก็ไม่ต่างจากการกลับไปเผชิญสภาวะที่เหมือนลี้ภัยใหม่อีกรอบหนึ่ง ซึ่งพวกเขาจะต้องเจอกับความทุกข์ทรมานครั้งที่ 2 (Second Suffering) จากการต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับถิ่นฐานบ้านเกิดเดิมให้ได้ ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้จึงไม่ค่อยอยากกลับนัก หลายคนก็บอกว่า ถ้าเขาต้องกลับไป เขาก็จะกลับมาที่นี่อยู่ดี ต่างจากกลุ่มกะเหรี่ยงที่เพิ่งเข้ามาหลังรัฐประหารที่มีแนวโน้มย้ายกลับทันทีที่การสู้รบสิ้นสุด

เรื่องพวกนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งคนไทยอาจต้องพยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจสถานการณ์ของพวกเขา เพียงเท่านี้ก็จะช่วยพาก้าวข้ามขอบเขตของความเป็นคนอื่นและอคติทางชาติพันธุ์ไปได้ นอกจากนี้ การออกมาช่วยวิพากษ์วิจารณ์หรือให้ความสนใจในประเด็นนี้เพื่อให้ยังคงอยู่บนหน้าสื่อ ก็สามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้เยอะแล้วในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่ง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save