fbpx
NOMADLAND สุดเขตชายแดนคือรั้วบ้านของฉัน

NOMADLAND สุดเขตชายแดนคือรั้วบ้านของฉัน

การประกวดรางวัลออสการ์ครั้งที่ 93 เพิ่งจะประกาศผลทั้งหมดไปในช่วงเช้าของวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 2021 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงปีที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันประสบวิกฤตอย่างหนักจากโรคระบาดร้ายโควิด-19 และถึงแม้ว่าหนังที่ได้เข้าชิงรางวัลจะไม่ถึงกับคึกคักคลาคล่ำไปด้วยงานฟอร์มยักษ์ใหญ่ของผู้กำกับอเมริกัน big name หลายๆ ราย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการประกวดรางวัลออสการ์สาขาต่างๆ ประจำปีนี้ ก็ยังคงมีตัวเลือกนอกกระแสที่น่าสนใจ สร้างสีสันแปลกใหม่ให้กับตำนานของรางวัลอันยิ่งใหญ่แห่งวงการภาพยนตร์นี้ได้อย่างแตกต่าง

หนังที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในเวทีการประกวดออสการ์ ครั้งที่ 93 นี้ คงหนีไม่พ้นผลงานอินดี้ Nomadland ของผู้กำกับหญิงชาวจีน Chloé Zhao ที่ได้ย้ายมาร่ำเรียนภาพยนตร์และทำงานในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Nomadland ก็คว้าไปได้ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี รางวัลการกำกับยอดเยี่ยม และรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งรับบทโดย Frances McDormand ที่ได้รับรางวัลนี้เป็นครั้งที่สามแล้วตลอดชีวิตทางการแสดงของเธอ

ก่อนจะมาประสบความสำเร็จในเวทีออสการ์ Nomadland เคยชนะรางวัลใหญ่มาก่อน จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสครั้งที่ 77 เมื่อเดือนกันยายน 2020 ซึ่งสามารถฝ่าวิกฤตโควิดจัดงานประกวดกันได้ โดยผู้กำกับ Chloé Zhao สามารถเอาชนะหนังประกวดนานาชาติอีก 17 เรื่องและคว้ารางวัลสิงโตทองคำไปได้อย่างสมเกียรติ  

การได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในคราวนี้ จึงเป็นการการันตีคุณภาพงานของหนังเล็กๆ เรื่องนี้ที่ไม่ได้ถูกอกถูกใจเฉพาะคณะกรรมการนานาชาติ แต่ยังเป็นที่รักของผู้ลงคะแนนจากแวดวงภาพยนตร์อเมริกัน ได้รับการผลักดันจนเป็นผลงานเรื่องเยี่ยมแห่งปีไปได้ในที่สุด

NOMADLAND สุดเขตชายแดนคือรั้วบ้านของฉัน

Nomadland ดัดแปลงเนื้อหามาจากหนังสือสารคดีชื่อ Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century (2017) เขียนโดย Jessica Bruder เล่าถึงภาพชีวิตทางเลือกของกลุ่มคนอเมริกันที่ปฏิเสธการตั้งเหย้าเรือนเป็นหลักแหล่งแห่งที่ ใช้ชีวิตประจำวันกินอยู่หลับนอนใน ‘รถบ้าน’ หรือ RV-Recreational Vehicle และย้ายตำแหน่งเพื่อหางานทำไปเรื่อยๆ ในแบบฉบับของกลุ่มชนร่อนเร่ หรือเหล่า nomad

ในฉบับหนังของผู้กำกับ Chloé Zhao ตัวบทได้มุ่งไปยังเรื่องราวของตัวละครหลักคือ Fern ซึ่งนำแสดงโดย Frances McDormand สาวใหญ่ที่เพิ่งจะสูญเสียสามีสุดที่รักของเธอไป หนำซ้ำสถานที่ทำงานโรงงานยิปซัมในเมือง Empire รัฐเนวาดา ที่เธอพำนักร่วมกับสามีมาเนิ่นนานจำต้องปิดกิจการ  Fern จึงต้องลาจากนิวาสสถานที่เธอเคยใช้ชีวิตมาอย่างอบอุ่น เมื่อตระหนักดีว่า ไม่น่าจะมีแห่งหนไหนที่พร้อมจะเป็น ‘บ้าน’ ของเธอได้ดีเท่ากับเมือง Empire แห่งนี้  Fern จึงตัดสินใจขายทิ้งทุกสิ่งอย่าง เพื่อนำมาซื้อรถบ้าน RV ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวลำพัง ค่ำที่ไหน ค้างที่นั่น และหางานเล็กๆ น้อยๆ ทำในช่วงเวลากลางวันให้พอมีเงินเลี้ยงชีวิตต่อไป โดยไม่คิดจะทะเยอทะยานหรือมักใหญ่ใฝ่สูงใดๆ อีกแล้ว

จากการติดตามทางเลือกในชีวิตของ Fern บนท้องถนนอันยาวไกลในสหรัฐอเมริกา หนังพาคนดูไปรู้จักกับกลุ่มคนที่มีแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างอิสระโดยปราศจากถิ่นที่แบบเดียวกับ Fern อีกหลายๆ คน และหลายๆ คันรถ ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่ามีคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ลุกมาท้าทายขนบของการใช้ชีวิตแบบมีหลักแหล่งแห่งที่ จนสามารถรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนย่อยๆ สังสรรค์รอบกองไฟร่วมกัน แลกเปลี่ยนแบ่งปันข้าวของและทรัพยากรต่างๆ รวมถึงเคล็ดลับในการใช้ชีวิตร่อนเร่ด้วยรถ RV อย่างมีปัญหากวนจิตกวนใจน้อยที่สุด

NOMADLAND สุดเขตชายแดนคือรั้วบ้านของฉัน

จุดที่น่าสนใจใน Nomadland ฉบับหนังนี้ คือผู้กำกับ Chloé Zhao ได้ใช้วิธีการถ่ายทำหนังกึ่งสารคดีในลักษณะชาติพันธุ์วรรณนา หรือ ethnographic film คล้ายกับที่ผู้กำกับอเมริกันรุ่นบุกเบิก Robert J. Flaherty เคยนำเสนอไว้ในหนัง อย่าง Nanook of the North (1922), Moana (1926), Man of Aran (1934) หรือ Louisiana Story (1948)  

นั่นคือการที่ Chloé Zhao เชิญผู้คนที่ใช้ชีวิตแบบ nomad ในสหรัฐอเมริกาจริงๆ อย่าง Bob Wells, Swankie และ Linda May มาร่วมรับบทเป็นตัวเองในหนังไปพร้อมๆ กับนักแสดง ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้ Nomadland เป็นหนัง fiction เล่าเรื่องที่นำเสนอชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติเอามากๆ

โดยเฉพาะการรับบทบาทเป็น Fern ของ Frances McDormand ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกิริยาท่าทาง น้ำเสียงการพูดจา เสื้อผ้าหน้าผมอะไรทั้งหลาย ทำให้เธอกลายเป็นตัวละครอเมริกันบ้านนอกตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า จนดูแล้วเชื่อสนิทใจไม่ว่าจะมองจากมุมใด และถึงแม้จะเป็นบทที่ไม่ได้มีสีสันเชิงบุคลิกที่ฉูดฉาดสักเท่าไหร่ แต่ Frances McDormand ก็นำเสนอตัวละคร Fern ได้อย่างมีชีวิตจิตใจ ไม่แพ้กลุ่มนักพเนจรร่อนเร่ตัวจริงที่มาร่วมเข้าฉาก ฝากฝีมือการแสดงจนคว้ารางวัลออสการ์ไปเป็นตัวที่สามอย่างสมศักดิ์ศรีไม่น้อยเลยทีเดียว

ด้วยภาพอันแสนน่ารักเหล่านี้เอง ที่น่าจะทำให้ผู้ลงคะแนนจากแวดวงภาพยนตร์อเมริกันพร้อมใจกันเทคะแนนให้กับ Nomadland เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ารางวัลออสการ์ยังคงเป็นเวทีสำหรับวงการภาพยนตร์อเมริกัน และหนังที่มีเนื้อหาสะท้อนครรลองชีวิตของผู้คนในประเทศนี้ย่อมมีภาษีที่จะคว้ารางวัลใหญ่ได้มากกว่า

Nomadland แสดงให้เห็นถึงความใจกว้างทางการให้เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยในการเลือกใช้ชีวิตของคนอเมริกันได้อย่างเด่นชัด และหากใครสักคนจะอึดอัดขัดใจกับการพำนักอยู่ในบ้านพักอาศัยและพิสมัยการเดินทางดั้นด้นไปในโลกกว้าง เขาก็สามารถกระโดดขึ้นรถ แล้วเลือกเส้นทางของตัวเองได้ทันที ตราบใดที่มิได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ใคร ซึ่งหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้พวกเขาอาจจะดูเหมือน ‘คนไร้บ้าน’ แต่จริงๆ แล้วพวกเขาก็มิใช่ ‘คนไร้เหย้า’ เพราะภูเขาทุกลูก ทุ่งกว้างทุกตารางไมล์ ลำธารทุกสาย รวมถึงชีวิตในธรรมชาติท่ามกลางแมกไม้ในเขตพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาล้วนเป็นพัสถานในครอบครองของพวกเขาทั้งสิ้น ดินแดนที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าน’ จึงกินพื้นที่กว้างไกลไปจนจรดขอบเขตชายแดน สะท้อนสำนึกรักและหวงแหนท้องถิ่นที่กินความไปถึงระดับชาติอย่างไม่อาจจะดูแคลนกันได้เลย

จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ Fern จะรู้สึกว่ามัน ‘ไม่ใช่’ ทุกครั้งที่เธอกำลังจะข้ามผ่านราตรีบนเตียงนุ่มๆ ภายในห้องนอน ไม่ว่ามันจะอุ่นสบายขนาดไหนและไม่ว่าคนใกล้ชิดของเธอจะเป็นห่วงเป็นใยชวนเธอให้มาร่วมชายคาแบบเป็นหลักแหล่งอยู่บ่อยครั้งเพียงใด Fern ก็สามารถให้คำตอบกับตัวเองได้เสมอว่า เธอไม่เหมาะที่จะอยู่ใต้หลังคากับสมาชิกคนอื่นๆ แบบนั้นจริงๆ ซึ่งหนังก็ได้ให้รายละเอียดต่อสิ่งที่อยู่ภายในใจของ Fern ผ่านฉากวัดใจจำนวนมากมาย เมื่อการใช้ชีวิตในแบบที่เธอเลือก แท้แล้วก็อาจมิใช่เรื่องง่าย และยังมีอะไรๆ อีกหลากหลายที่เธอจะต้องจัดการเพื่อไม่ให้ต้องเป็นภาระของใครๆ ทั้งสิ้น

Nomadland นับเป็นหนังอินดี้อเมริกันที่สะท้อนภาพชีวิตผู้คนสัญชาตินี้กลุ่มหนึ่งได้อย่างสัตย์ซื่อและสมจริง ชีวิตเล็กๆ เรียบๆ ง่ายๆ ที่แตกต่างไปจากภาพชินตาจากหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มใหญ่หน้าฉากหลังของตัวเมืองอันแสนศิวิไลซ์  เป็นงานอเมริกันภูธรที่ชวนให้ย้อนนึกไปถึงหนังอินดี้บ้านทุ่งของผู้กำกับอย่าง John Sayles ที่ไม่ใคร่จะมีใครเลือกนำเสนอเท่าไรนัก ยิ่งเมื่อได้รู้จักพื้นเพของผู้กำกับ Chloé Zhao ว่าจริงๆ แล้วเธอเกิดและเติบโตในประเทศจีน มิได้มีสัญชาติเป็นคนอเมริกันแต่อย่างใด ก็ยิ่งต้องทึ่งเข้าไปใหญ่ เพราะมันกลับกลายเป็นว่าเธอทำหนัง ‘อเมริกัน’ ได้ ‘อเมริกัน’ ยิ่งกว่าผู้กำกับ ‘อเมริกัน’ แท้ๆ หลายๆ รายเสียอีก!

หนังเรื่อง Nomadland ยังไม่มีกำหนดเข้าฉายในประเทศไทย และในช่วงเวลาที่โรงภาพยนตร์บ้านเราจำต้องปิดให้บริการไปหลายแห่งหลังโควิดกลับมาระบาด ก็อาจจะต้องรอลุ้นแบบยาวๆ ไปว่าในที่สุดคอหนังชาวไทยจะมีโอกาสได้ชมผลงานเรื่องนี้บนจอใหญ่หรือไม่ ในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีของเวทีการประกวดออสการ์ครั้งที่ 93

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save