fbpx
‘เพิ่มอำนาจตลาด แต่ไม่ผูกขาด’ : ส่องสื่อรื้อเรื่องเล่าเจ้าสัวควบรวมซีพี-เทสโก้

‘เพิ่มอำนาจตลาด แต่ไม่ผูกขาด’ : ส่องสื่อรื้อเรื่องเล่าเจ้าสัวควบรวมซีพี-เทสโก้

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา, ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพถ่าย

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

คนไม่เข้าใจไม่เคยเห็นตอนผมสร้างธุรกิจเพราะไม่มีใครสนใจทำ มาเห็นตอนที่ธุรกิจของผมสำเร็จแล้ว จึงคิดว่า ซี.พี. ผูกขาด แต่ไม่รู้ว่าตอนผมสร้างธุรกิจ ลองผิดลองถูกอยู่นั้นมันลำบากขนาดไหน โลกนี้ไม่มีอะไรง่าย ยิ่งทำงานใหญ่ อุปสรรคก็ยิ่งใหญ่ ถึงมีเงินเยอะ ก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้ทุกอย่าง มีแต่ความกดดันรอบตัว วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้ก็อาจจะล้มเหลว วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ก็อาจมีคนที่เก่งกว่า ผมจึงต้องคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา พนักงาน ซี.พี. ทุกคนรู้ดีว่า เราต้องเร็วและมีคุณภาพ เพราะยุคนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็น ยุคปลาเร็วกินปลาช้า ทุกอย่างมีเป้าหมาย มีเวลา “ความสำเร็จ จึงดีใจได้วันเดียว”

ธนินท์ เจียรวนนท์, ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว, หน้า 11 (เน้นข้อความตามต้นฉบับ)

“ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” V “ปลาเร็วกินปลาช้า”

นึกถึง ‘ซีพี’ หรือ ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ หลายคนอาจมองเห็นภาพความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจระดับโลกของคนไทย ที่มี ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ประธานอาวุโส เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญ แต่สำหรับคนอีกจำนวนไม่น้อย ชื่อ ‘ซีพี’ แยกไม่ออกจากคำว่า ‘ผูกขาด’

เพราะความยิ่งใหญ่ระดับ ‘ที่สุด’ ของประเทศ และการมีกิจการครอบคลุมทุกมิติในชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย หัวจรดเท้า เช้าจรดเย็น ทำให้อาณาจักร ‘ซีพี’ หรือ ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ ถูกจับตา โดนตั้งคำถามสารพัด และตกอยู่ในกระแสข่าวเสมอ

เครือซีพีแบ่งออกเป็น 8 สายธุรกิจหลัก ครอบคลุม 13 ธุรกิจย่อย และมีการลงทุนอยู่ใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ตั้งแต่ธุรกิจเกษตรและอาหาร ค้าปลีก ยาและเวชภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ สื่อสารและโทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซและดิจิทัล การเงินและธนาคาร และยานยนต์  รายงานความยั่งยืนประจำปี 2562 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ สรุปผลการดำเนินงานว่า เครือมีรายได้จากการขายทั้งสิ้นรวม 1,997,851 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการทำธุรกิจในไทย 53% จีน 32% และอื่นๆ 15% กล่าวได้ว่า เครือซีพีมีรายได้จากการขายในประเทศไทยอย่างเดียวประมาณ 1,050,000 ล้านบาท นอกจากนั้น สายธุรกิจที่สร้างรายได้สูงสุดคือ เกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร (54%) ค้าปลีก (31%) และสื่อสารและโทรคมนาคม (7%)

ไม่จำเป็นว่า ‘ความใหญ่’ ต้องเท่ากับ ‘ความผิด’ — ความเป็น ‘ปลาใหญ่’ ไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง ประเด็นอยู่ที่ว่า ‘ปลาใหญ่’ อาศัยอำนาจแห่งความใหญ่ไล่กิน ‘ปลาเล็ก’ อย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต่อเมื่อใช้อำนาจเหนือตลาดมารังแกคู่แข่ง-คู่ค้า หรือกีดกันธุรกิจรายเล็กรายน้อย จึงถือเป็นความผิดตามกฎหมายแข่งขันทางการค้า ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อต่อต้านการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด

คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า ธนินท์เองก็รู้ว่าตัวเขาและซีพีถูกตั้งคำถามเรื่อง ‘ผูกขาด’ อย่างต่อเนื่อง และพยายามชี้แจงต่อสาธารณะในประเด็นนี้หลายครั้งหลายครา หนึ่งในการสื่อสารต่อสาธารณะที่ชัดเจนและทรงพลังมากที่สุดคือการตีพิมพ์หนังสือ ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’ (สำนักพิมพ์มติชน, ตุลาคม 2562) ว่าด้วยประวัติชีวิตของธนินท์ เจียรวนนท์ ประสบการณ์บนเส้นทางธุรกิจกว่า 50 ปี และวิถีการสร้างอาณาจักรซีพี

ตลอดทั้งเล่ม ธนินท์โต้แย้งข้อกล่าวหา ‘ผูกขาด’ ในหลายวรรคหลายตอน แต่วรรคทองที่ฮือฮาและเป็นเรื่องเล่าชั้นยอดในห้องเรียนธุรกิจ คือถ้อยความ “ยุคนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็น ยุคปลาเร็วกินปลาช้า ทุกอย่างมีเป้าหมาย มีเวลา ‘ความสำเร็จ จึงดีใจได้วันเดียว’

การชวนสังคมไปให้พ้นวาทกรรม ‘ผูกขาด’ อย่าง ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ โดยแทนที่ด้วยวาทกรรม ‘วิสัยทัศน์+ความสามารถ’ อย่าง ‘ปลาเร็วกินปลาช้า’ เป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมของกลยุทธ์การสื่อสารองค์กรที่เหนือธรรมดา เพราะสมรภูมิในโลกธุรกิจไม่ได้มีแค่เรื่องการประชันวิสัยทัศน์และฝีมือบริหาร การยกระดับผลประกอบการ และการสร้างสายสัมพันธ์กับรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เท่านั้น แต่ ‘ความไว้วางใจ’ ของสาธารณะต่อองค์กรธุรกิจก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะธุรกิจไม่ได้ลอยอยู่นอกโลกเหนือสังคม

เช่นนี้แล้ว การบริหาร ‘ภาพ’ ของบริษัทในสายตาของสังคมเพื่อแสวงหาความชอบธรรม จึงเป็นเรื่องที่มิอาจละเลย โดยมี ‘สื่อสารมวลชน’ เป็นเครื่องมือสำคัญใน ‘สมรภูมิสื่อ’

หลัง ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’ ปรากฏสู่บรรณพิภพได้ไม่นาน ซีพีก็เดินหน้าเข้าสู่ ‘สมรภูมิสื่อ’ ครั้งสำคัญ เมื่อมีข่าวใหญ่ในแวดวงค้าปลีกในเดือนมีนาคม 2563 รายงานว่าบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือซีพี ยื่นขอควบรวมกิจการบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยมูลค่ากว่า 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 338,000 ล้านบาท

สาเหตุที่ดีลนี้ถูกจับตาไม่ใช่แค่เพราะขนาดที่มีมูลค่ามหาศาลเท่านั้น แต่การที่เจ้าของ ‘แม็คโคร’ และ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ อย่างซีพีเข้าซื้อกิจการ ‘เทสโก้ โลตัส’ ย่อมทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องการผูกขาดและอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ผลกระทบต่อผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ และเศรษฐกิจส่วนรวม รวมทั้งจับตาดูกลไกการกำกับดูแลอย่าง ‘คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า’ (กขค.) รูปโฉมใหม่ในฐานะหน่วยงานอิสระ ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นทำงานเต็มสูบเมื่อปลายปี 2561 ว่าจะมีท่าทีในกรณีที่เป็นบทพิสูจน์ใหญ่ครั้งแรกอย่างไร

แม้หัวใจของข้อถกเถียงเรื่องการควบรวมกิจการจะเป็นประเด็นเชิงวิชาการและนโยบายกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแข่งขันทางการค้า (อ่านเพิ่มเติมบทความของ กนกนัย ถาวรพานิช: ชิ้นที่ 1 และ ชิ้นที่ 2) และแนวคิดเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก (ชมคลิปและอ่านเพิ่มเติม 101 policy forum เรื่อง “อนาคตนโยบายป้องกันการผูกขาด : บทเรียนจากกรณีควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส”: คลิป, สรุปความ 1, สรุปความ 2 และสรุปความ 3) แต่ดีลธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยทั้งประเทศ และเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม ย่อมไม่จบแค่ในโลกธุรกิจ โลกวิชาการ และโลกนโยบาย แต่จำเป็นต้องแสวงหา ‘ความชอบธรรม’ จากสังคมมาหนุนหลังและสนับสนุนเพื่อการันตีความสำเร็จ

ยิ่งซีพีเป็นตัวละครหลักในการควบรวมครั้งนี้ด้วยแล้ว การแสวงหาความชอบธรรมของดีลยิ่งมีความสำคัญ


ดีลซีพี-เทสโก้ โลตัส จึงไม่ได้สู้รบกันแค่ในสมรภูมิธุรกิจ สมรภูมิกฎหมาย และสมรภูมิการเมืองเท่านั้น แต่ ‘สมรภูมิสื่อ’ ก็เป็นแนวรบหนึ่งที่สำคัญในฐานะปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จ เพราะสื่อคือตัวกลางที่เชื่อมบริษัทกับสาธารณะ – บริษัทอยากบอกอะไรกับสังคม สังคมคิดอย่างไรกับบริษัท และบริษัทอยากให้สังคมคิดอย่างไรกับบริษัท

น่าสนใจว่าท่ามกลางการเคลื่อนไหวของดีลนี้ สื่อไทยทำหน้าที่เป็นตัวกลางรายงานข้อเท็จจริงของทุกฝ่ายครบถ้วนหรือไม่ สื่อไทยทำหน้าที่ตั้งคำถามเคียงข้างประชาชน หรือทำหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์เคียงข้างบริษัท หรือทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐที่เป็นผู้ชี้ขาดดีลนี้อย่าง กขค. กันแน่ และเพราะอะไร

นับตั้งแต่ข่าวการควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ปรากฏสู่สาธารณะเป็นครั้งแรก เรามองเห็นสารพัดเรื่องเล่า-เนื้อหาหลากพล็อตที่เกี่ยวข้องกับดีลนี้ ถูกนำเสนอผ่านหน้าสื่ออย่างมีสีสันและมีพลวัตที่น่าสนใจ

101 ชวนย้อนอดีตพลิกหน้าหนังสือพิมพ์ ค้นข่าวออนไลน์ในช่วงปี 2563 จากจุดเริ่มต้นในเดือนมีนาคม ถึงคำตัดสินในเดือนพฤศจิกายน เพื่อไล่เรียงดูว่าเรื่องเล่าในหน้าข่าวเกี่ยวกับอภิมหาดีลควบรวมครั้งนี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร มีเส้นเรื่องและวิธีเล่าในพื้นที่สาธารณะอย่างไร วาทกรรมหลักที่ปรากฏในสื่อทั้งช่วงก่อนและหลังการควบรวมซีพี-เทสโก้ โลตัสเป็นอย่างไร มีประเด็นอะไรที่ถูกชูเป็นพระเอกของเรื่องนี้บ้าง

น่าสนใจว่าสื่อทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของใคร — เจ้าสัวหรือประชาชน ส่วนตนหรือสาธารณะ

“เทสโก้ โลตัส คือลูกของผม”

ไม่มีใครปฏิเสธว่า การควบรวมเทสโก้ โลตัสของซีพี ถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุผลทางธุรกิจเป็นหลัก ข่าวในหน้าสื่อล้วนพูดถึงมูลค่าการซื้อขายและข้อมูลพื้นฐานทางธุรกิจอย่างครบถ้วน ทว่าเรื่องเล่าที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ ‘ความผูกพันส่วนตัว’ ของเจ้าสัวธนินท์กับเทสโก้ โลตัส ที่เขาอุปมาว่า ‘เป็นลูกคนเล็ก’

“ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ในครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ ผมตั้งใจให้เทสโก้ โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของซีพี ทำให้ของดีราคาถูกกระจายไปทั่วประเทศไทยได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าผมมีความสามารถซื้อกลับมาแล้วเลี้ยงลูกให้ดีกว่าเดิม เอาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามา แล้วก็พัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0”

ธนินท์ เจียรวนนท์, เจ้าสัวธนินท์ประกาศชัดครั้งแรก ซื้อเทสโก้ โลตัสคืน มั่นใจไม่ผูกขาด, The Standard, 7 มีนาคม 2563

การให้สัมภาษณ์ของธนินท์ข้างต้นนับเป็น ‘แรงบันดาลใจ’ ในเชิงเรื่องเล่าให้กับสื่อจำนวนมากในการทำข่าวควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส เพราะก่อนการให้สัมภาษณ์ของธนินท์ข้างต้นแทบไม่ปรากฏว่ามีสื่อใด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ ที่ใช้วาทกรรม ‘ลูกคนเล็ก’ ‘เจ้าของเดิม’ และ ‘การกลับสู่อ้อมอก’ ในการรายงานข่าวนี้เลย แต่เมื่อธนินท์ให้สัมภาษณ์แล้ว เรื่องเล่านี้ก็กลายเป็นประเด็นหลักของเนื้อหาและพาดหัวในหลายสื่อ อาทิ

กลับคืนสู่อ้อมอก! เจ้าสัวธนินท์ชนะการประมูล ‘เทสโก้ โลตัส’ มูลค่า 338,000 ล้านบาท (The Standard, 9 มีนาคม 2563)

“โลตัส” กลับสู่อ้อมอก CP อีกครั้ง มูลค่าดีลกว่า 335,415 ล้านบาท คาดปิดดีลหมดได้ครึ่งปีหลัง (Brandinside, 9 มีนาคม 2563)

10 บทสรุป เจ้าสัวธนินท์ ฮุบ Tesco ดึงลูกคนเล็กกลับสู่อ้อมอก (Brand Buffet, 9 มีนาคม 2563)

เทสโก้ โลตัส หวนคืนสู่อ้อมอก “ซีพี” กับการต่อจิ๊กซอว์เติมโมเดลค้าปลีก (Sanook, 10 มีนาคม 2563)

เมื่อ ‘เทสโก้ โลตัส’ กลับคืนสู่อ้อมอกแม่ (แนวหน้า, 11 มีนาคม 2563)

บิ๊กดีล CP ซื้อ Tesco Lotus 3 แสนล้าน “ลูกรักคนเล็ก” คืนอ้อมอก “เจ้าสัวธนินท์” สมรภูมิค้าปลีกไทยเร้าใจอย่างแน่นอน (ผู้จัดการออนไลน์, 14 มีนาคม 2563)

ฯลฯ

รวมถึงยังมีการชวนทำความรู้จักประวัติของเทสโก้โลตัส เช่น รู้จัก “โลตัส” ก่อนจะเป็น “เทสโก้” สู่อาณาจักร CP “เจ้าสัวธนินท์” (ไทยรัฐออนไลน์, 9 มีนาคม 2563)

ไม่ใช่เรื่องแปลกและผิดปกติที่นักธุรกิจคนหนึ่งจะเปรียบกิจการที่ตนเป็นผู้เริ่มต้นสร้างว่าเป็น ‘ลูก’ และมีความผูกผันส่วนตัวจนเกิดเป็นแรงจูงใจที่อยากจะซื้อธุรกิจกลับคืนมาเมื่อมีโอกาส ทว่าคำถามที่น่าขบคิดคือ เรื่องเล่าส่วนตัวที่กินใจเช่นนี้มีส่วนทำให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะโดยตรงอย่างการผูกขาดในตลาดค้าปลีกเบาบางลงในพื้นที่สื่อหรือไม่ อย่างไร

 

“เทสโก้กลับสู่มือคนไทย”

ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงช่วงไตรมาสที่สามของปี 2563 เรื่องเล่าเกี่ยวกับดีลควบรวมซีพีและเทสโก้ โลตัส บนพื้นที่สื่อเริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง ประเด็นการดึงเทสโก้ โลตัสกลับสู่อ้อมอกพ่อ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวเริ่มจางลง ทว่าวาทกรรมชาตินิยมทางเศรษฐกิจอย่าง ‘ทวงคืนเทสโก้กลับสู่มือคนไทย’ เพื่อผลประโยชน์ของคนไทย และเพิ่มอำนาจการแข่งขันในตลาดโลก กลับเริ่มปรากฏในพื้นที่สื่อมากขึ้น

ในช่วงเวลาดังกล่าว ธนินท์ให้สัมภาษณ์เอ็กคลูซีฟกับหลายสื่อ โดยเน้นไปที่การพูดถึงวิธีทำธุรกิจของซีพี แนวคิดการพัฒนาประเทศ และความยั่งยืน ซึ่งมีความสอดคล้องกัน เช่น

คลิปเต็ม ธนินท์ เจียรวนนท์ พูดเรื่องกินรวบ วิกฤติซีพี และรถไฟความเร็วสูง (The Standard, 28 มีนาคม 2563)

นิยามการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย 3 ประโยชน์ ของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ (Techsauce, 13 พฤษภาคม 2563)

ธนินท์ เจียรวนนท์ การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง (Marketeer, 19 พฤษภาคม 2563)

เส้นทางผู้นำของเด็กรุ่นใหม่ ฉบับเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักร CP (MarketingOops, 25 สิงหาคม 2563)

ฯลฯ

ในบทสัมภาษณ์บางชิ้น ธนินท์ปฏิเสธแข็งขันว่าไม่ได้ผูกขาด แม้ซื้อเทสโก้ โลตัส ก็ยังมีบิ๊กซีให้แข่งกัน แถมน่ายินดีเสียอีกที่กลับคืนสู่มือคนไทย

“แม็คโครขายส่ง ขายให้โชห่วย ขายให้ภัตตาคาร ส่วนเทสโก้ โลตัส ค้าปลีก ส่วนเซเว่น สะดวกซื้อ 3 ธุรกิจนี้ทั่วโลกเขาไม่เอามาบวกกัน ถ้าค้าปลีกมันอาจจะบวก แต่ธุรกิจมันคนละเรื่อง แล้วถ้าผมซื้อมา ผมจะผูกขาดได้ยังไง เพราะว่าเทสโก้ โลตัสก็ซื้อจากผมไป แล้วก็มีคู่แข่งอยู่ บิ๊กซีกับเทสโก้แข่งกันอยู่ ถ้าผมไม่ซื้อ เขาก็แข่งกันอยู่อย่างนี้ ถ้าผมซื้อเทสโก้ โลตัสมา ก็เป็นคู่แข่งกันอยู่เดิม แทนที่จะอยู่ในมือของอังกฤษก็มาอยู่ในมือของคนไทย

ธนินท์ เจียรวนนท์, เทสโก้ โลตัสคือลูกของผม, The Standard, 8 มีนาคม 2563

ทุนไทยรักคนไทยมากกว่าทุนฝรั่งจริงหรือไม่ คงไม่ขอนำมาถกเถียงกัน ณ ที่นี้ แต่ดูเหมือนว่าสื่อไทยจะประทับใจกับวาทกรรมเศรษฐกิจชาตินิยมภายใต้การนำของทุนไทยอยู่ไม่น้อย หลายสื่อนำเอา ‘เรื่องเล่า’ ทำนองนี้ไปนำเสนอต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจเชื่อมโยงธุรกิจของซีพีเข้ากับผลประโยชน์ของชาติและผู้บริโภคอย่างชื่นชม

‘เทสโก้ โลตัส กลับคืนสู่คนไทย’ ถูกชูขึ้นบนพาดหัวของหลายสำนักข่าว เช่น เมื่อ เทสโก้ โลตัส กลับสู่มือคนไทย (ฐานเศรษฐกิจ, 2 สิงหาคม 2563) และบางข่าวก็มีการใช้พาดหัวและเนื้อหาที่ตรงกันในหลายสื่อ เช่นหัวข้อข่าว ‘เทสโก โลตัส กลับสู่มือคนไทย พลิกตำราค้าปลีกเปิดโอกาสรายย่อย สู้และเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน’ ที่ปรากฏในสยามรัฐออนไลน์ (อยู่ในหมวดข่าวประชาสัมพันธ์), มติชนรายวัน (อยู่ในหมวดเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นข่าวประชาสัมพันธ์)​, Stock2Morrow (ไม่ระบุว่าเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ แต่ระบุตอนท้ายว่า ‘ขอบคุณข้อมูลจากสยามรัฐ และ tescolotus.com’) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเผยแพร่ข่าวในวันที่ 2-3 สิงหาคม 2563

ขณะเดียวกันก็มีข่าวที่เผยแพร่ความคิดเห็นของนักวิชาการต่อการควบรวมครั้งนี้ที่กล่าวถึงข้อดีที่เทสโก้ โลตัส กลับสู่มือคนไทย เช่น นักวิชาการจุฬาฯ มองบวก “โลตัส” กลับสู่ “ซีพี” เชื่อช่วยสร้างงาน-กระตุ้น ศก. สู้พิษโควิด (มติชนรายวัน, 22 กันยายน 2563) โดย รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “หากเรามองเห็นว่าเส้นเลือดใหญ่ของประเทศที่ว่านี้มีความสำคัญเพียงใดต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศเราเองแล้ว เส้นเลือดใหญ่นี้เองกลับมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของเสียอย่างนั้น และเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เลือดที่นำพาสารอาหารไหลออกนอกร่างกายของเราไป จะดีกว่าหรือไม่ที่เส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทยเราจะกลับมาเป็นเราเอง”

เรื่องเล่า ‘เทสโก้ โลตัส กลับสู่มือคนไทย’ หายจากหน้าสื่อไปพักใหญ่ ก่อนที่จะกลับมาปรากฏอีกครั้งในช่วงก่อนหน้าจังหวะเวลาที่ กขค. จะแถลงมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ (วันที่ 6 พฤศจิกายน) เพียงไม่กี่วัน โดยสอดแทรกอยู่ในบทความเชิงวิเคราะห์ที่ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน เช่น เทสโก้ โลตัสกลับสู่ซีพี โอกาสคู่ค้า เชื่อมไทย เชื่อมโลก (ผู้จัดการออนไลน์, 4 พฤศจิกายน 2563) คู่ค้าเทสโก้ ลุ้นดีลซีพีส่งไม้ต่อ ไม่สะดุด ยามเศรษฐกิจตกสะเก็ด (INN News, 4 พฤศจิกายน 2563) เป็นต้น ทั้งสองบทความให้คำอธิบายใกล้เคียงกันว่า การที่เครือซีพีเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในไทยและมาเลเซีย เป็นการเปลี่ยนมือเจ้าของจากสหราชอาณาจักรกลับมาสู่มือคนไทยอีกครั้ง เป็นกันชนทางเศรษฐกิจ ไม่ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติที่จะนำเข้าสินค้ามาแข่งกับคนไทย และเป็นโอกาสขยายตลาดไปต่างประเทศ รวมถึงต่อท่อสินค้าไทยไปยังตลาดภูมิภาค

วาทกรรมเศรษฐกิจแบบชาตินิยมยังปรากฏในบทความเรื่อง ‘วิเคราะห์ 7 คำถาม กมธ. กับคำตอบกรณีเทสโก้ โลตัสที่ กขค. เคลียร์ชัด …’ ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสำนักข่าวกระแสหลัก 3 สำนักด้วยเนื้อหาเหมือนกัน (สยามรัฐ, มติชนรายวัน, ข่าวสด; 25 พฤศจิกายน 2563) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คำตอบต่อข้อสงสัย 7 ข้อที่ ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามต่อ กขค. ไว้ โดยเนื้อหาในบทความครอบคลุมหลายประเด็น ความตอนหนึ่งว่า “การที่บริษัทไทยเริ่มซื้อกิจการกลับมาได้จากต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเม็ดเงินภาษีจะกลับสู่ประเทศไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย”

เรื่องเล็กๆ ที่เป็นกรณีศึกษาด้านสื่อที่น่าสนใจคือ ถ้าสังเกตชื่อบทความให้ดี จะเห็นว่าท่อนสุดท้ายของชื่อบทความที่ลงพิมพ์ในสื่อแต่ละที่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ชื่อของสยามรัฐตั้งท่อนจบว่า “… คู่ค้าลูกค้าวินวิน” ส่วนข่าวสดตั้งว่า “… เพื่อเดินหน้าแบบไร้รอยต่อ คู่ค้า ลูกค้า ได้ประโยชน์” และมติชนรายวันใช้ชื่อ “… เพื่อเดินหน้าแบบไร้รอยต่อ” แต่ส่วนอื่นๆ เหมือนกันเป๊ะในระดับคลานตามกันมา

ยิ่งไปกว่าการปรากฏเป็นข่าวบนหน้าสื่อสารมวลชน วาทกรรมเศรษฐกิจชาตินิยมกลับปรากฏชัดเจนในคำวินิจฉัยกรณีการขออนุญาตควบรวมซีพี-เทสโก้ โลตัส ฉบับเต็มของ กขค. คำอธิบายของคณะกรรมการเสียงข้างมากตอนหนึ่งระบุว่า “ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ชนะการประมูล ด้วยมูลค่าการซื้อขายกิจการ ประมาณ 338,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจที่ผู้ขออนุญาตซื้อจากผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติ ที่มีความสามารถในการประกอบธุรกิจค้าปลีก การรวมธุรกิจในครั้งนี้จึงจะสามารถสร้างรายได้ให้อยู่ในประเทศ และเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าการรวมธุรกิจจากผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ จากเดิมที่มีการนำส่ง รายได้และผลกำไรหรือประโยชน์ที่ได้รับจากประเทศไทยกลับไปสู่สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ” (สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า, 18 ธันวาคม 2563)

วาทกรรมชาตินิยมทางเศรษฐกิจมีเสน่ห์จูงใจเสมอ เพราะมักทำให้เราหลงคิดไปว่า ตัวเองมีส่วนในผลประโยชน์แห่งชาตินั้นด้วย กระนั้น สื่อและสังคมไทยไม่ควรลืมข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมส่วนใหญ่ที่เรากำลังเผชิญ — แน่นอนว่ารวมถึงปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ — ล้วนเกิดจากฝีมือของทุนไทยเสียยิ่งกว่าทุนต่างชาติ

“ถึงควบรวมก็ไม่ผูกขาด
บิ๊กซีก็ยังแข่งอยู่”

กล่าวให้ถึงที่สุด ประเด็นใจกลางของการควบรวมกิจระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส คือประเด็นว่าด้วยระดับการแข่งขันและการผูกขาดในตลาด ซึ่งนอกจากจะเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคและสาธารณะโดยตรงด้วย

ในเชิงวิชาการ หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์การควบรวมกิจการคือ การตีความขอบเขตตลาด การระบุผู้แข่งขันในตลาด การพิจารณาขอบเขตตลาดเชิงพื้นที่ การวิเคราะห์ผลกระทบของการควบรวมกิจการต่อประสิทธิภาพและระดับการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นวิเคราะห์ที่ผลต่อเศรษฐกิจส่วนรวมและผู้บริโภค

แต่น่าเสียดายไม่น้อยที่ประเด็นการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้าไม่ใช่ประเด็นหลักที่สื่อนำเสนอและเจาะข่าวในช่วงต้นของการรายงานเรื่องดีลซีพีและเทสโก้ โลตัส จะมีก็แต่เจ้าสัวธนินท์ที่ออกมาตอบคำถามเรื่องการผูกขาดตั้งแต่การให้สัมภาษณ์เปิดใจกับ The Standard และดูเหมือนว่า เจ้าสัวธนินท์จะรู้ด้วยว่าหัวใจของการถกเถียงในประเด็นนี้อยู่ตรงไหน และก็ไม่ลังเลที่จะช่วงชิงนิยามขอบเขตตลาด การระบุผู้แข่งขันในตลาด และผลกระทบต่อการแข่งขันบนพื้นสื่อไปก่อน แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นของดีล

“การแข่งขันเหมือนเดิม เพราะว่าก็ยังมีคู่แข่งอยู่เหมือนเดิม แล้ววันนี้ที่แข่งกันอยู่มีใครเสียเปรียบไหม เราซื้อมาก็แข่งอยู่ บิ๊กซีก็ยังอยู่ ผมไม่ได้ซื้อบิ๊กซี ผมซื้อเฉพาะเทสโก้ โลตัส แล้วก็ไม่เกี่ยวกับสะดวกซื้อ มันคนละเรื่อง ร้านสะดวกซื้อคนเดินมาซื้อเพราะสะดวกใกล้บ้าน แม็คโครก็ขายส่ง ขายถูก เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันแข่งกันอยู่แล้ว แต่ถ้าผมซื้อมาแล้วไม่มีใครแข่ง อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง”

ธนินท์ เจียรวนนท์, เทสโก้ โลตัสคือลูกของผม, The Standard, 8 มีนาคม 2563

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยคำสั่ง กขค. ว่าคณะกรรมการเสียงข้างมากมีมติอนุญาตให้ซีพีกับเทสโก้ โลตัส ควบรวมกิจการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด 7 ข้อ ด้วยคะแนน 4 ต่อ 3 เสียง ในเอกสารประวัติศาสตร์ของดีลประวัติศาสตร์มีเนื้อความที่สร้างความสั่นสะเทือนในแวดวงเศรษฐศาสตร์อย่างเช่น การควบรวมทำให้ซีพี “มีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด” และ “อาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม” (สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า, 6 พฤศจิกายน 2563)

หลังจากนั้น ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผลคำวินิจฉัยของ กขค. ตามหน้าสื่อบางแห่งตามมา โดยมีตัวละครสำคัญคือคณะกรรมการเสียงข้างน้อย ซึ่งมีความเห็นว่า “การรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาด หรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้” ตัวอย่างเช่น กขค.เสียงข้างน้อยแจงเหตุไม่เห็นด้วยควบรวม ‘ซีพี-เทสโก้ โลตัส’ ห่วงผูกขาด (TCIJ, 11 พฤศจิกายน 2563), กระทบ ศก.ร้ายแรง-เพิ่มเหลื่อมล้ำ! เหตุผล กขค. เสียงข้างน้อย ไม่อนุญาต ‘ซี.พี.’ ควบ ‘เทสโก้ โลตัส’ (สำนักข่าวอิศรา, 11 พฤศจิกายน 2563) และ เทสโก้ โลตัส: สิ่งที่หายไปหลัง กก.การแข่งขันทางการค้ามีมติให้ซีพีควบรวมกิจการ (บีบีซีไทย, 27 พฤศจิกายน 2563)

ในอีกด้านหนึ่ง แนวคิด ‘ถึงควบรวมก็ไม่ผูกขาด’ คล้ายกับที่ธนินท์เคยเสนอไว้จึงเริ่มปรากฏในหน้าสื่อหลายแห่งพร้อมความคิดเห็นของนักวิชาการ เช่น คอลัมน์ ‘หมุนตามทุน’ ของแนวหน้า วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ที่เขียนไว้ว่า “อีกคำถามสำคัญของสังคมต่อกรณีคือ การแข่งขันในวงการค้าปลีก รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต จะเป็นอย่างไร จะเกิดการผูกขาดทางการตลาดหรือไม่ ซึ่งก็ต้องบอกว่าในตลาดนี้มีผู้เล่นรายใหญ่ 2 แบรนด์ คือ เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี ส่วนแมคโคร นั้นเน้นขายส่งมากกว่าขายปลีก จึงไม่ใช่คู่แข่งขันโดยตรง และปัจจุบันตลาดนี้ ทั้ง บิ๊กซี และเทสโก้ ก็แข่งขันกันอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว กลยุทธ์ก็เหมือนเดิม คือ เน้นขายของถูก และจัดโปรโมชั่นตลอดทั้งปี แม้ว่าทั้ง 2 แบรนด์ จะมีความแตกต่างเรื่องของฐานลูกค้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ”

แถมทิ้งท้ายด้วยว่า ผู้บริโภคกลับจะได้ประโยชน์มากขึ้นต่างหาก “ในมุมของผู้บริโภคนั้นไม่น่าจะมีผลในเชิงลบ กลับกันจะยังได้ประโยชน์ในหลายมิติจากการแข่งขันของผู้เล่นทั้ง 2 รายนี้ ไม่ว่าสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น บริการอื่นเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อดึงให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ในห้างของตัวเองนานมากขึ้น และด้วยการยุทธ์ด้านราคายังสำคัญ การขึ้นราคาสินค้าคงทำได้ยาก” (แนวหน้า[31], 11 พฤศจิกายน 2563)

นักวิชาการจำนวนหนึ่งให้ความเห็นผ่านสื่อในมุมมองที่คล้ายกันว่า ถึงแม้จะมีการควบรวมเกิดขึ้น แต่การแข่งขันก็จะยังคงอยู่ แถมยังดุเดือดขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเพราะจะมีทางเลือกเยอะขึ้น เช่น ใน ‘นักวิชาการเชื่อ “ค้าปลีกแข่งดุ” หลังปิดดีล “โลตัส”‘ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “ในอนาคต ซีพีอาจมีวิธีการบริหารจัดการต้นทุนในการกระจายสินค้า ทำให้ต้นทุนการดำเนินการลดลง ราคาสินค้าอาจถึงมือผู้บริโภคในราคาที่ถูกลง ทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกรุนแรงมากขึ้น แต่เชื่อว่าทั้งหมดเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค” (TNN ONLINE, 15 กันยายน 2563)

ธนวรรธน์ยังเสริมเหตุผลเรื่องการเติบโตของตลาดการค้าออนไลน์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ตลาดออนไลน์โตขึ้น จะนำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นไปอีก ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาในบทความที่เผยแพร่ผ่านสื่อก่อนหน้านี้ เช่น ‘เทสโกโลตัส กลับสู่มือคนไทย พลิกตำราค้าปลีกเปิดโอกาสรายย่อย สู้และเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน’ (สยามรัฐ, 2 สิงหาคม 2563) ความตอนหนึ่งว่า “การแข่งขันในยุคปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปใช้บริการออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจค้าปลีก ต้องปรับตัวกันอย่างหนัก ทำให้ตลาดการแข่งขันในวันนี้ต้องนับรวมผู้เล่นในตลาดออนไลน์มาแข่งขันด้วย การส่งถึงบ้าน การขยายร้านไปทุกมุมถนนของร้านอาหารเช่น McDonald, Starbuck, Burger King ล้วนเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค” ขณะที่สื่อบางสำนักก็ให้เหตุผลเพิ่มอีกว่าร้านค้าปลีกขนาดเล็กหรือโชห่วย ยังมีจำนวนมากและมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นแปลว่าผู้บริโภคยังมีทางเลือกอีกมาก (“คู่ค้าเทสโก้ ลุ้นดีลซีพีส่งไม้ต่อ ไม่สะดุด ยามเศรษฐกิจตกสะเก็ด”, INN News, 4 พฤศจิกายน 2563)

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 กรุงเทพธุรกิจได้นำเสนอบทความ ‘ผูกขาดตลาด VS. อำนาจเหนือตลาด…เหมือนหรือต่าง?’ (กรุงเทพธุรกิจ, 2 ธันวาคม 2563) เขียนโดย ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินสิริกุล หนึ่งใน กขค. และคอลัมนิสต์ประจำกรุงเทพธุรกิจ วิษณุชี้แจงเหตุผลว่าการควบรวมระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส ไม่เป็นการผูกขาด โดยอ้างนิยามของคำว่า ‘การผูกขาด’ ตามประกาศ กขค. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งผลการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561 ที่ว่า “การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้า หรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดขายตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป” (ผูกขาด = มีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดเดียว!) วิษณุชี้ว่าการควบรวมดังกล่าวไม่เข้ากับนิยามนี้ พร้อมแจกแจงให้เห็นประเภทตลาด 3 แบบได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งแต่ประเภทก็มีคู่แข่งชัดเจน และการควบรวมก็ไม่ได้ทำให้เกิดผู้ผลิตรายเดียวในแต่ละตลาด

18 ธันวาคม 2563 ปรากฏเอกสารคำวินิจฉัยฉบับเต็มของ กขค. ที่ให้เหตุผลแบบเดียวกันกับวิษณุ อีกทั้งยังระบุเหตุผลว่าการควบรวมนี้ถึงแม้จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกลดลง แต่ “ไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีได้ของผู้บริโภคส่วนรวม” ซึ่งมีการขยายความว่าธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กหรือโชห่วยในไทย เป็นธุรกิจที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดต่ำ ทั้งในแง่กฎหมายที่เป็นข้อจำกัดและต้นทุนในการประกอบธุรกิจ จึงยังมีความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสการขยายสาขาอีกมาก สอดคล้องกับอัตราการขยายสาขาของธุรกิจประเภทดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น “ผู้บริโภคยังมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกขนาดเล็กรายอื่นที่สามารถขยายสาขาได้ รวมทั้งยังสามารถซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” การยกเหตุผลเรื่องการขยายตัวของโชห่วยและตลาดออนไลน์นี้สอดคล้องกับเนื้อหาของหลายบทความและข่าวที่เผยแพร่มาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ผู้สนใจศึกษาวิวาทะว่าด้วยการผูกขาดจากดีลซีพี-เทสโก้ โลตัส สามารถศึกษาความเห็นแย้งต่อมติ กขค. และความเห็นแย้งต่อแนวคิด ‘ถึงควบรวมก็ไม่ผูกขาด’ ของธนินท์ รวมทั้งนักวิชาการและสื่อจำนวนหนึ่งที่ได้อ้างอิงในช่วงต้น ได้จากงานเสวนา “ถอดบทเรียนซีพีควบรวมเทสโก้: ใครได้ ใครเสีย” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [คลิป, สรุปความ 1 (way), สรุปความ 2 (TCIJ), สรุปความ 3 (บีบีซีไทย)] และ 101 Policy Forum “อนาคตนโยบายป้องกันการผูกขาด : บทเรียนจากกรณีควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส” โดย The101.world (คลิป, สรุปความ 1, สรุปความ 2 และสรุปความ 3)

เปรียบดั่งขอนไม้
เมื่อซีพีพยุงเศรษฐกิจไทยท่ามกลางมรสุม

ปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาเพิ่มน้ำหนักในการสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ของซีพี บทความและข่าวหลายชิ้นนำเสนอว่า วงการค้าปลีกกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การที่ซีพีตัดสินใจเข้าซื้อเทสโก้ โลตัส เท่ากับเป็นการช่วยพยุงภาคค้าปลีกของประเทศให้อยู่รอดต่อไปได้ ช่วยรักษาการจ้างงาน และช่วยให้คู่ค้าดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วย

สื่อหลายรายฉายภาพให้เห็นมรสุมของวงการค้าปลีกทั่วโลกจากการถูกดิสรัปต์ด้วยตลาดออนไลน์และโควิด-19 โยงไปถึงความระส่ำระสายของกิจการเทสโก้ที่มีการปลดพนักงานจำนวนมาก การลดเวลาการเปิดให้บริการ และการประกาศขายทอดกิจการในหลายประเทศรวมถึงไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากิจการของเทสโก้ โลตัสจำเป็นต้องถูกขาย และหากซีพีไม่ซื้อ อย่างไรเสียก็ต้องมีคนซื้อ เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดความเสี่ยงต่อเทสโก้ โลตัส ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

บทความบางชิ้นแสดงความเป็นห่วง หากดีลระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัสต้องชะงักลง เช่น ในบทความ ‘ฝั่ง “เทสโก้” ลุ้นปิดดีล 3.38 แสนล้าน หวั่นหากสะดุดเกิดภาวะสุญญากาศหาคนซื้อต่อไม่ได้!’ มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “จากสถานการณ์ในช่วงโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจ ทำเอาดีลใหญ่ย้ายฐานการผลิตหนีจากไทย เพราะปัจจัยความไม่แน่นอน ทำให้เทสโก้เองก็วางใจไม่ได้ หากดีลการซื้อขายกับซีพีสะดุดจะมีผู้เล่นมาซื้อต่อหรือไม่ เพราะยังไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อใด และต้องใช้เวลาในการเริ่มเจรจาและขั้นตอนต่างๆ ใหม่อีกเป็นปี ซึ่งจะเสียหายต่อธุรกิจ และอาจกระทบต่อการจ้างงานจำนวนมาก” และ “คนที่ไม่ต้องการให้ดีลนี้เกิดขึ้นต้องหาทางออกให้เทสโก้บริษัทแม่ด้วย เพราะยังไงก็ต้องขายธุรกิจในประเทศไทย ภาวะสุญญากาศจะเกิดขึ้นทันที” (ผู้จัดการออนไลน์, 13 พฤศจิกายน 2563)

นอกจากนี้ บทความบางชิ้นยังขับเน้นว่าซีพีคือคนที่เหมาะสมในการรับช่วงกิจการของเทสโก้ โลตัส ด้วยเหตุผลที่ว่าเทสโก้ โลตัสในภาวะที่กำลังระส่ำหนัก ต้องการมืออาชีพที่แท้จริงเข้าไปบริหาร และยกตัวอย่างถึงความสำเร็จของซีพีในการบริหารโลตัสที่ประเทศจีน (อ้างแล้ว, ฐานเศรษฐกิจ และ สยามรัฐ, 2 สิงหาคม 2563) ขณะที่บทความ ‘วิเคราะห์ 7 เงื่อนไขเข้ม กขค. อย่างละเอียด ดีล “ซีพี-เทสโก้โลตัส”’ (ผู้จัดการออนไลน์, 7 พฤศจิกายน 2563) แสดงความเห็นอกเห็นใจซีพี และชี้ว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ หากซีพีประสบความสำเร็จ ความตอนหนึ่งว่า “คนที่รับภาระหนักคือซีพี ที่ซื้อมาในราคาสูง ซึ่งเป็นราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนช่วงโรคระบาดโควิด นอกจากนี้ยังกระทบต่อแผนธุรกิจและลูกค้าที่ลดน้อยลง รวมถึงผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นโจทย์ใหญ่ของซีพี ในการพลิกธุรกิจ และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ถึงแม้จะยากและหิน แต่หากซีพีทำสำเร็จ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ และเติบโตพร้อมกันทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน”

ขณะที่เอกสารคำวินิจฉัยของ กขค. ฉบับเต็มก็มีเนื้อหาที่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีการระบุให้เห็นถึงที่มาของการตัดสินใจขายกิจการของเทสโก้ พร้อมชี้ว่าผู้ขออนุญาตควบรวมซึ่งก็คือซีพีถือเป็น “ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพทางการเงินและการบริหารจัดการที่ดี จึงเป็นโอกาสที่ผู้ขออนุญาตจะขยายการลงทุนทั้งในด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในประเทศซึ่งถือเป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” ขณะที่เจ้าสัวธนินท์ก็เคยให้สัมภาษณ์ ตั้งแต่ช่วงต้นปีว่าการกลับไปเข้าบริหารเทสโก้ครั้งนี้ จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้คนรุ่นใหม่เข้ามาดูแล เปลี่ยนแปลงระบบให้ดีขึ้น เมื่อซื้อเทสโก้กลับมาแล้ว เขาจะต้อง “เลี้ยงลูกให้ดียิ่งกว่านี้อีก” (The Standard, 8 มีนาคม 2563)

นอกจากนี้คำวินิจฉัยของ กขค. ยังระบุด้วยว่า “หากไม่มีการรวมธุรกิจเกิดขึ้นก็อาจจะส่งผลให้ผู้ที่มีความประสงค์จะขายธุรกิจได้รับความเสียหาย จำเป็นต้องหยุดการประกอบกิจการหรือเปิดประมูลใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อช่องทางการจำหน่ายสินค้า คู่ค้า และพนักงานที่อาจต้องมีการเลิกจ้างงาน รวมทั้งจะสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมต่อประเทศในที่สุด” พร้อมกับยกเหตุผลเรื่องการซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำอยู่แล้วภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาประกอบด้วย

ตลอดสายน้ำ ทุกคนได้ประโยชน์
เสริมพลังคู่ค้า-เกษตรกร-SME

อีกชุดคำอธิบายที่ใช้สร้างความชอบธรรมให้กับดีลควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส คือ ดีลนี้เป็นการช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย รวมไปถึงกลุ่มเกษตรกร

เอกสารคำวินิจฉัยฉบับเต็มของ กขค. สนับสนุนการรวมธุรกิจครั้งนี้โดยระบุว่า “เป็นการรักษาช่องทางการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ และสามารถขยายการส่งออกสินค้าไทยไปสู่สาขาในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ที่จะมีการรวมธุรกิจในครั้งนี้ด้วย” และถือว่า “เป็นการช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจทั้งภาคธุรกิจค้าปลีกและภาคการผลิตให้มีการเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งเป็นภาคการผลิตพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ให้เกิดการพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ รวมทั้งมีโอกาสในการส่งออกสินค้าและการขยายการลงทุนไปสู่ต่างประเทศได้มากขึ้น”

คำอธิบายลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งปรากฏครั้งแรกในเอกสารคำวินิจฉัยฉบับเต็มของ กขค. แต่ได้รับการผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้จากนักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง เช่น ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย มองว่าการควบรวมจะช่วย “เพิ่มช่องทางการระบายสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกรไทยได้อีกมาก” (ผู้จัดการออนไลน์ และ สำนักข่าวไทย, 12 พฤศจิกายน 2563) ขณะที่ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา เขียนบทความตีพิมพ์ในไทยโพสต์ชื่อ ‘ค้าปลีก: เรือธงของเศรษฐกิจไทย’ และ ‘ค้าปลีกเสริมสร้างพลัง SME ไทยไปทั่วโลก’ เมื่อวันที่ 22 และ 29 พฤศจิกายน 2563 ตามลำดับ ซึ่งมีใจความโดยรวมว่า การควบรวมนี้ถือเป็นประตูพาสินค้าไทยระดับ SME ออกสู่หลายประเทศ และเป็นการเติบโตไปพร้อมกันทุกภาคส่วน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากคือการกำหนดเงื่อนไขการควบรวมกิจการ 7 ข้อโดย กขค. ซึ่งมีเนื้อหาจำนวนหนึ่งที่มุ่งไปในทางรักษาและเพิ่มผลประโยชน์ให้กลุ่มคู่ค้าและ SME โดยเฉพาะในเงื่อนไขข้อที่ 2 ที่กำหนดให้ต้องเพิ่มสัดส่วนยอดขายของสินค้าจากกลุ่ม SME ในอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี

บทความ ‘วิเคราะห์ 7 เงื่อนไขเข้ม กขค.อย่างละเอียด ดีล “ซีพี-เทสโก้โลตัส”’ (ผู้จัดการออนไลน์, 7 พฤศจิกายน 2563) ซึ่งตีพิมพ์หนึ่งวันให้หลังการลงมติของ กขค. กล่าวถึงเงื่อนไขข้อที่ 2 โดยชี้ว่า นี่คือประเด็นที่ผู้คน “ให้ความสนใจ และชื่นชม คณะกรรมการ กขค. เป็นอย่างมาก” เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าว “ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งซีพีจะต้องไปพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง และข้อนี้จะเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ และเกิดการจ้างงาน ซึ่งคาดว่า จะส่งผลบวกให้เกษตรกร และ SME ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ได้ประโยชน์จากการเพิ่มสัดส่วนยอดขายในตลาดค้าปลีกในครั้งนี้” นอกจากนี้ ในบทความ ‘ค้าปลีกเสริมสร้างพลัง SME ไทยไปทั่วโลก’ ของเสรี วงษ์มณฑา ซึ่งได้วิเคราะห์ 7 เงื่อนไขเหมือนกัน ก็มีเนื้อหาในทางชมเชยเงื่อนไขแต่ละข้อ รวมถึงข้อที่ 2 โดยให้เหตุผลคล้ายกัน

สำนักข่าวหลายแห่งยังได้ร่วมกันเผยแพร่เนื้อหาว่าซีพียอมรับในเงื่อนไขข้อที่ 2 ของ กขค. เพราะเป็นไปตามเจตจำนงของซีพีอยู่แล้ว รวมทั้งเป็นการยืนยันว่าซีพียังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าต่อไป โดยมีเนื้อความในข่าวที่คล้ายกันว่า “คู่ค้าคือคู่ชีวิต หากคู่ค้าอยู่ไม่ได้ ซีพีจะดำเนินธุรกิจได้อย่างไร ในหลักการที่แท้จริงแล้ว ความอยู่รอดของธุรกิจ ตลาดและลูกค้าเป็นผู้กำหนด เพราะลูกค้าต้องการของดี มีคุณภาพ ดังนั้นผู้ประกอบการทุกรายต้องพัฒนาร่วมกัน ก้าวไปด้วยกัน เช่นในกรณีของแม็คโคร เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดในการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน ก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” (สยามรัฐ และ กรุงเทพธุรกิจ, 13 พฤศจิกายน 2563; ไทยรัฐ และ The Standard, 14 พฤศจิกายน 2563)

นอกจากความคิดเห็นในฝั่งซีพีแล้ว สำนักข่าวหลายแห่งยังถ่ายทอดมุมมองจากฝั่งผู้ประกอบการ SME คู่ค้าของธุรกิจในเครือซีพีหลายราย ที่ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับดีลการควบรวมด้วยเหตุผลที่หลากหลาย อย่างเช่น ผู้บริหารผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งบอกว่า “กรณีที่ซีพีควบรวมกิจการกับโลตัสไม่มีผลกระทบกับธุรกิจสมูทโตะ เพราะเซเว่นอีเลฟเว่นกับเทสโก้ โลตัส เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเหมือนกัน แต่กลุ่มลูกค้าคนละกลุ่ม เป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้เป็นกลุ่มพฤติกรรมเดียวกัน จึงไม่ได้เป็นการผูกขาดทางการตลาด” (สยามรัฐ, มติชนรายวัน และ CP E-News, 17 พฤศจิกายน 2563)

ขณะที่อีกรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจหมูแปรรูป-แช่แข็ง กล่าวว่า “แม้ซีพีจะซื้อกิจการก็ไม่มีผลกระทบ เพราะเป็นช่องทางการขยายตลาดของสินค้าได้มากขึ้น ประกอบกับได้เป็นคู่ค้ากับซีพีมาโดยตลอด ทั้งซีพีเอฟและกลุ่มธุรกิจด้านต่างๆ ของซีพี มองเห็นว่าซีพีเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี หลายสิบปีที่เป็นคู่ค้ามาได้เห็นการดูแลคู่ค้า พัฒนา ปรับปรุง และการให้เกียรติคู่ค้าของซีพีมาโดยตลอด” (สยามรัฐ และ กรุงเทพธุรกิจ, 13 พฤศจิกายน 2563; ไทยรัฐ และ The Standard, 14 พฤศจิกายน 2563; CP E-News, 17 พฤศจิกายน 2563)

เมื่อสำรวจดูความคิดเห็นของคู่ค้ารายอื่นๆ ที่ปรากฏในหน้าข่าวจะพบว่ามีการให้เหตุผลสนับสนุนการควบรวมด้วยถ้อยความคล้ายกัน โดยประเด็นที่มักถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผล ได้แก่ การควบรวมกิจการไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจ ร้านค้าเครือซีพีกับเทสโก้เป็นคนละประเภทและคนละกลุ่มลูกค้ากันอยู่แล้วจึงไม่เป็นการผูกขาด การควบรวมช่วยขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าของคู่ค้า และเครือซีพีมีธรรมาภิบาลดี ทำงานโปร่งใส ให้เกียรติคู่ค้ามาตลอดอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรต้องกังวล

นอกจากนี้ เนื้อข่าวอีกลักษณะหนึ่งที่ปรากฏออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันก็คือ ซีพีโลตัสของจีน ช่วยพาสินค้าของเกษตรกรและ SME ไทยไปสู่ตลาดโลก โดยเนื้อหาภายในข่าวช่วงหนึ่งมีการระบุว่า “การที่ซีพีได้เทสโก้ โลตัส ทั้งในประเทศไทยและมาเลเซียกลับมา จะทำให้เชื่อมกับซีพีโลตัสจีน ขยายโอกาสสินค้าเอสเอ็มอีไทยไปยังต่างประเทศ” และยังอ้างถึงข้อตกลง RCEP ที่ได้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปประเทศสมาชิกโดยเฉพาะจีนได้ง่ายดายขึ้นด้วย (มติชนรายวัน, 22 พฤศจิกายน 2563 และ CP E-News, 23 พฤศจิกายน 2563)

ต่อยอดสร้างความยั่งยืน
คืนกำไรสู่สังคม

ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและการสร้างความยั่งยืนก็เป็นอีกประเด็นที่ถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้กับดีลซีพี-เทสโก้ โลตัส อยู่บ่อยครั้ง โดยเนื้อหามักจะมีลักษณะว่าแต่เดิมโลตัสก็คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ซีพีทำมาโดยตลอด อย่างเช่น “ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มซีพีได้ผลักดันเรื่องของความยั่งยืนอย่างหนัก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของเทสโก้ โลตัส ซึ่งที่ผ่านมามีการยกระดับการทำงานในด้านความยั่งยืน จากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมองค์กร ไปสู่ระดับนโยบายที่ถูกผนวกเข้ากับแผนการดำเนินงานทางธุรกิจและไม่สามารถแยกออกจากกันได้” และ “ที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (sustainable sourcing) ที่คำนึงถึงจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร นอกจากจะต้องมีคุณภาพสูง ทำจากวัตถุดิบที่ดี มีรสชาติอร่อย มีราคาที่เอื้อมถึงได้แล้ว จะต้องดีต่อสุขภาพอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของกลุ่มซีพี ที่เดินหน้าเรื่องอาหารปลอดภัย” (สยามรัฐ, 2 สิงหาคม 2563)

วาทกรรมลักษณะนี้ได้ถูกนำมาเพิ่มน้ำหนักให้กับการควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส โดยใช้เหตุผลที่ว่าซีพีจะเข้ามาพัฒนาต่อยอดเรื่องการสร้างความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับเทสโก้ โลตัสได้ ทั้งนี้ได้มีการยกกรณีที่ธุรกิจในเครือซีพีทั้งแม็คโครและซีพีเฟรชมาร์ทสามารถคว้าตำแหน่งซูเปอร์มาร์เก็ตที่รับผิดชอบต่อสังคมสูงสุดแห่งปีจากแคมเปญ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ ขององค์การ OXFAM ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก (ด้วยคะแนน 9 คะแนน จากคะแนนเต็ม 24 คะแนน ส่วนเทสโก้ โลตัส ได้ 3 คะแนน) มาเป็นเครื่องยืนยันศักยภาพในการสร้างความยั่งยืน “สำหรับเทสโก้ โลตัส แม้ว่าปีนี้จะไม่ติดกลุ่มผู้นำ แต่ก็มีโอกาสอย่างมาก ซึ่งหากซีพีสามารถต่อยอดเทสโก้ โลตัส ในการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคและสังคมได้” (สยามรัฐ และ ผู้จัดการออนไลน์, 19 พฤศจิกายน 2563)

แนวคิดที่คล้ายกันนี้ยังปรากฏในความเห็นของนักวิชาการ อย่างเช่น รศ.ดร.สถาพร โอภาสานนท์ สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกมาให้ความเห็นว่า “กลุ่มซีพีประกาศจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการควบรวมกิจการ เป็นโอกาสในการปรับปรุงกระบวนการสู่ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว” และยังได้กล่าวถึงการประกาศเป้าหมาย ‘Zero Waste’ และ ‘Zero Carbon’ ของเครือซีพี โดยชูเป็นหนึ่งในบทบาทความรับผิดชอบของภาคเอกชนที่มีต่อสังคมโลกและสิ่งแวดล้อม สถาพรมองว่า “แน่นอนว่า นโยบายนี้จะต้องนำมาปฏิบัติในสายธุรกิจของเทสโก้ โลตัส หลังเปลี่ยนมือเจ้าของจากสหราชอาณาจักร กลับมาอยู่กับซีพีอีกครั้ง” รวมทั้งให้ข้อมูลว่าแต่เดิมโลตัสก็ใส่ใจที่จะรับมือปัญหาโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ อยู่แล้ว จึงเหมือนกับว่าซีพีจะได้เข้ามาต่อยอดจุดนี้ให้โลตัสด้วย (ข่าวสด, 18 พฤศจิกายน 2563)

 

สื่อกับการสร้างความจริง/ปั้นความลวง

ว่ากันว่าในโลกของสื่อมืออาชีพ การทำงานสื่อ (journalism) ต่างจากการสื่อสาร (communication) โดยทั่วไปตรงที่งานสื่อสารมวลชน เช่น ข่าวและสารคดี ไม่ใช่งานโฆษณาประชาสัมพันธ์ และไม่ใช่งาน propaganda ของรัฐบาลและธุรกิจเอกชน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการแยกงานสื่อออกจากการสื่อสารก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการสื่อสารถูกออกแบบอย่างตั้งใจให้คนเข้าใจผิดหลงคิดว่าเป็นงานสื่อที่กองบรรณาธิการลงมือทำอย่างอิสระ โดยมีเป้าหมายเพื่อปั้นความคิดของผู้คนในสังคมหรือกำหนดวาระสาธารณะไปทางใดทางหนึ่งตามที่ผู้อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือทุนต้องการ

กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า ข่าวและบทความที่สนับสนุนการควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส จะนับเป็นงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ทั้งหมด เพราะในฐานะเครือธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความเคลื่อนไหวด้านธุรกิจของซีพีย่อมมีคุณค่าข่าว อีกทั้งผู้คนย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ และคนที่ได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งในสังคมไทยอย่าง ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ย่อมถือเป็นแหล่งข่าวระดับ ‘เอ็กคลูซีฟ’

แต่งานชิ้นไหนจะถือเป็นอะไร – ชิ้นงานสื่อหรือโฆษณา? จะถือว่าคนเขียนสวมหมวกนักข่าวหรือนักประชาสัมพันธ์? ย่อมขึ้นอยู่กับที่มาว่ามีความเป็นอิสระปราศจากการทับซ้อนของผลประโยชน์หรือไม่ และกระบวนการทำงานเป็นมืออาชีพเพียงใด มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่มีลักษณะเป็นภววิสัย (objective) เป็นระบบ เป็นธรรม โปร่งใส ครบถ้วน รอบด้าน และคงเส้นคงวา หรือเป็นเพียงแค่การ ‘รับบรีฟ’ ทำตามสั่ง แล้วรับเงิน กระทั่งหนักกว่านั้นคือการลงเนื้อหาตามที่ผู้ว่าจ้างเขียนส่งมาทั้งดุ้น แต่ทำราวกับว่าเป็นงานที่กองบรรณาธิการจัดทำขึ้นเอง โดยไม่แจ้งผู้อ่านว่าเป็นเนื้อที่โฆษณาประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด

บทความนี้ชวนตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ที่แสนจะสอดคล้องต้องกันของเรื่องเล่าเชิงบวกที่สนับสนุนการควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส ที่ปรากฏในพื้นที่สื่อตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของเจ้าสัวใหญ่ ความคิดของนักวิชาการดังระดับอธิการบดีและคณบดี บทบาทของกองบรรณาธิการและคอลัมนิสต์ในสื่อหลักทั้งหนังสือพิมพ์และออนไลน์ กระทั่งคำวินิจฉัยขององค์กรกำกับดูแล

ไล่อ่านดูแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า ประเทศไทยช่างเป็น ‘ดินแดนแห่งความบังเอิญ’ โดยแท้

น่าจับตากันต่อว่า ‘ความบังเอิญ’ แบบไทยๆ ในหน้าสื่อไทยจะเคลื่อนตัวทำงานต่อไปอย่างไรในปัจจุบัน เมื่อสถานการณ์ด้านหนึ่งเทสโก้ โลตัส ปรับแบรนด์ เปลี่ยนโลโก้ กลายเป็น Lotus’s สีพาสเทล ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ศาลปกครองรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะ กรณี กขค. มีมติอนุมัติการควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้พิจารณาโดยเร่งด่วน

เชื่อว่า ‘สมรภูมิสื่อ’ ว่าด้วยดีลซีพี-เทสโก้ โลตัส จะกลับมาคึกคักร้อนแรงอีกครั้งแน่นอน

ดีลซีพี-เทสโก้ โลตัส เป็นเพียงหนึ่งในยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น นับวัน ‘สื่อ’ จะยิ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการสู้รบมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสมรภูมิทางการเมืองและเศรษฐกิจเดินหน้าเข้าสู่การต่อสู้ทางความคิดที่มีความแหลมคม ทั้งในเรื่องการช่วงชิงคำนิยามและคุณค่าความหมายของสิ่งต่างๆ และการแสวงหาความชอบธรรมจากสาธารณะมาหนุนหลังค้ำยันปฏิบัติการและนโยบายของฝ่ายตน

ยิ่งในสังคมที่โครงสร้างอำนาจยังไม่ลงตัว ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรง หลักนิติธรรมสูญสิ้น ธรรมาภิบาลตกต่ำ ‘สื่อ’ ก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญในสังคม สื่อสามารถถูกใช้เพื่อแก้ปัญหา หรือถูกใช้เพื่อธำรงปัญหาหรือสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นก็ย่อมได้ สื่อสามารถถูกใช้เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะของสังคมส่วนรวม หรือถูกใช้เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนตนของผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจก็ย่อมได้ และสื่อสามารถถูกใช้ในการเข้าถึงและนำเสนอความจริง หรือปั้นความลวงก็ย่อมได้

เส้นแบ่งระหว่างการสร้างความจริงและการปั้นความลวงของสื่อมวลชนจึงเลือนรางจนตรวจจับได้ยากขึ้นทุกที นอกจากประชาชนคนบริโภคสื่อจะ ‘อ่านข่าวจากสื่อ’ แล้ว ยังจำเป็นต้องมีทักษะในการ ‘อ่านสื่อ’ ให้ออกด้วย


MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save