fbpx
life in prison 1

เรื่องเล่าจากเรือนจำหญิง “อยู่ในนี้ เงินหนึ่งบาทก็มีค่า”

ข้างหลังรั้วกำแพงสีขาวขนาดใหญ่ มีชีวิตของผู้คนหลังเรือนจำดำเนินไปเหมือนคืนวันด้านนอก ผู้คนยังคงนอนหลับ กินข้าว อาบน้ำ และร้องไห้สลับหัวเราะ รอวันที่อิสรภาพมาถึง – แน่นอนว่า ที่เรือนจำหญิงก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีความพยายามจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง โดยมีข้อกำหนดกรุงเทพเป็นตัวหลักไว้คอยยึด มีความพยายามในการพัฒนาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงโดยคำนึงความละเอียดอ่อนของเพศสภาพ และความต้องการเฉพาะด้าน เช่น การดูแลผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์หรือมีลูกเล็ก เป็นต้น

ในเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศ มีพื้นที่ให้ส่วนของผู้ต้องขังหญิงเพียงน้อยนิด ด้วยเหตุผลเรื่องจำนวนผู้ต้องขังด้วยหนึ่ง แต่นอกเหนือจากนั้น เป็นเพราะเรือนจำไม่ได้สร้างมาเพื่อผู้ต้องขังหญิงตั้งแต่ต้น ทำให้การพัฒนาเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงเป็นเรื่องที่ต้องทำในหลากหลายพื้นที่

ในส่วนของนโยบายก็มีการดำเนินการไป แต่ชีวิตจริงหลังกำแพงนั้นก็ยังมีเรื่องเล่าและความจริงที่เหล่าผู้ต้องขังหญิงต้องเผชิญ

1


tij 1


3 ปี 2 เดือน ที่หญิง (นามสมมติ) วัย 49 ปี ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เธอเล่าให้ฟังว่าความรู้สึกหลังถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำคือความกลัว

“เข้าไปวันแรกกลัวมาก ไม่ได้นอน พอเจอคนเยอะร้อยพ่อพันแม่ เราไม่เข้าใจว่าจะไปอยู่กับเขาอย่างไร บางคนถูกตัวเขาไม่ได้ เพราะจะทะเลาะกัน แต่บางคนเราก็นอนถูกตัวเขาได้ แต่เราก็ยังกลัวอยู่” หญิงเล่าย้อนคืนวันในเรือนจำให้ฟัง

ตอนนี้เธอได้รับอิสรภาพมา 3 ปีแล้ว กลับมาเป็นแม่ค้าขายข้าวแกงที่ตลาด เธอถูกตัดสินว่ามีความผิดด้วยคดียาเสพติด แต่เมื่อถามถึงเหตุผลที่แท้จริงแล้ว พบว่าเธอรับผิดแทนลูก ในวันที่ตำรวจบุกจับที่บ้าน เจอเธออยู่กับของกลาง นั่นทำให้เธอต้องโทษจำคุกในที่สุด

“เราห่วงลูก ไม่เคยทิ้งลูก เพิ่งจากกันครั้งแรกในชีวิต” หญิงพูดถึงลูกวัยรุ่นสามคน และหลานอีกหนึ่งคน ในวันที่ช่วงที่รอตัดสินสามเดือนแรก และต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

“เราใช้เวลาสามเดือนกว่าจะปรับตัวได้ สามเดือนแรกเราไม่เคยไปกินข้าวเลย เขามีข้าวให้กินแต่เราไม่ไป เพราะไม่อยากไปต่อแถวกับเขา กลัวจะไปเบียดเขา แซงเขา เอาถาดไปวางไม่ตรงที่ กลัวเขาดุ พอจะไปซื้อกินก็กลัวรอนาน ตอนเช้าเราเลยเลือกกินกาแฟห่อหนึ่ง กินอีกทีมื้อเที่ยง ส่วนมื้อเย็นไม่กิน แต่พอเริ่มเข้าที่เราก็บอกตัวเองว่าต้องอยู่ให้ได้”

พอเริ่มปรับใจได้ หญิงก็พยายามสังเกตว่าคนอื่นทำอย่างไร พยายามไม่ทำนอกกฎ และไม่ทะเลาะกับใคร เพื่อที่จะผ่านคืนวันในนี้ให้ราบรื่นที่สุด หญิงเล่าว่า ก่อนเข้าไปได้ยินเรื่องเล่าว่าข้างในเรือนจำนั้นมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่พอเข้าไปอยู่ ก็ไม่ได้แย่มากเท่าที่คิด

กิจกรรมหนึ่งที่ผู้ต้องขังทุกคนได้ทำคือการฝึกวิชาชีพ เช่น เย็บผ้า ทำขนมปัง ทำอาหาร เป็นต้น แม้หลายคนจะไม่ได้เอาวิชาชีพนี้มาใช้หลังจากออกเรือนจำแล้ว แต่ขณะที่ยังอยู่ในนั้น การฝึกวิชาชีพก็ช่วยสร้างรายได้ให้พวกเขาจากเงินปันผลของยอดขาย

“เขามีเงินปันผลให้ อย่างถ้าเย็บผ้า ถ้าคนที่เย็บประกอบเป็นตัว เย็บให้ใส่ได้เลย เดือนหนึ่งเขาได้หลายบาท ก็พออยู่ได้ แต่อย่างเราเย็บไม่เป็น ก็อาศัยตัดขี้ด้ายไปกับเขา บางเดือนได้เป็นพัน หรือบางเดือนก็ได้ 700 บาท แล้วแต่เขามีผ้าเข้าไปให้ทำ”

หญิงเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้นำวิชาชีพที่เรียนรู้จากเรือนจำมาใช้หลังออกมาข้างนอก แต่เธอบอกว่า รายได้จากเงินปันผลก็พอทำให้เธอและหลายคนที่ไม่มีญาติสามารถอยู่ในนั้นได้ มีเงินซื้อของใช้ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ หรือซื้อชุดนอนใหม่ใส่ได้นานๆ ที

สิ่งหนึ่งที่เป็นความลำบากของผู้หญิงคือประจำเดือน และการซื้อผ้าอนามัยก็แทบเป็นความจำเป็นของทุกเดือน หญิงเล่าว่า บางครั้งก็มีสิ่งของจากภายนอกมาแจก ผ้าอนามัยก็เป็นหนึ่งในของที่คนมาแจกบ่อย แต่ถ้าไม่มีก็ต้องซื้อเอง

วันแล้ววันเล่าผ่าน ที่นอนที่เคยคับแคบในตอนแรกเข้าก็ค่อยๆ ขยายขึ้น จากชั้นนักโทษที่ขยับไปสู่ชั้นดีมาก ก็จะได้ที่นอนกว้างขึ้น – คำว่ากว้างที่ว่าคือสามารถนอนพลิกซ้ายพลิกขวาได้ ไม่ต้องนอนนิ่งกลัวจะโดนตัวคนอื่นเหมือนแต่ก่อน

“เขามีผ้าห่มให้ 3 ผืน ให้ปูผืนหนึ่ง พับเป็นหมอนผืนหนึ่ง ส่วนอีกผืนหนึ่งเอาไว้ห่ม แต่ถ้าหน้าหนาว เขาก็มีเสื้อกันหนาวแจกให้” หญิงเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในห้องขัง

ถัดจากเรื่องการนอน อีกกิจวัตรที่ทุกคนต้องทำคืออาบน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นไปตามระเบียบ มีการกำหนดให้อาบคนละ 10 ขัน

“นักโทษด้วยกันนี่แหละเป็นคนนับขัน ช่วงแรกๆ เราอาบไม่พอ เพราะไม่เคยทำแบบนี้ แต่พออยู่ไปก็เริ่มปรับตัว ก็ต้องทำให้ได้ แต่มาช่วงหลังเราทำงาน ลงล่วงก็จะได้อาบสบาย”

คำว่า ‘ลงล่วง’ ที่หญิงหมายถึง คือขอเลื่อนเวลาเลิกงานจากบ่าย 3 โมงครึ่ง เป็น 6 โมงเย็น เพื่อที่จะมาอาบน้ำทีหลัง พอคนน้อยก็จะสบายกว่าปกติ การหาช่องทางหลบหลีกเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างปกติที่สุด แทบจะเป็นลมหายใจของการอยู่ที่นี่

แก้วยังเล่าอีกว่า มีหลายคนที่ต้องเอาลูกมาเลี้ยงในเรือนจำด้วย ซึ่งทางเรือนจำก็มีการจัดสรรที่ทางไว้ให้

“ถ้าใครมีลูกเล็กเขาจะแยกออกไป คนท้องจะอยู่อีกเรือนหนึ่ง ส่วนคนแก่จะอยู่อีกเรือนหนึ่ง แล้วพอคลอดเด็ก เขาก็จะมีห้องแยกให้เลี้ยงเด็ก ให้แม่เลี้ยงประมาณหนึ่งปี แล้วค่อยส่งคืนให้ญาติ” หญิงเล่า

ในส่วนของหญิงเอง โชคดีที่ลูกโตหมดแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้ความคิดถึงลูกน้อยลง “ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำ ตอนที่เราได้ทำงาน เราก็เพลินไปกับงาน แต่พอช่วงว่างก็จะคิดถึงบ้าน อยากกลับบ้าน ตอนกลางคืนที่คนหลับกันหมด เราก็แอบนอนร้องไห้ เพราะคิดถึงลูก”

“ตอนนั้นเรามีหลานด้วย เขาติดเรามาก จะถามลูกเราทุกวันว่า เมื่อไหร่ยายจะกลับ ลูกเราก็จะบอกว่าเดี๋ยวยายก็มา เขาถามทุกวัน กลับจากโรงเรียนก็ถาม ถามจนหลับ เวลาลูกมาเยี่ยมเราก็จะบอกว่า หลานถามจนหลับเลย เขาคิดถึงมาก” หญิงเล่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบ แต่มีเว้นวรรคหายใจเพื่อไม่ให้ปลายเสียงสั่น

ตลอดระยะเวลา 3 ปี 2 เดือนที่อยู่ในนั้น หญิงบอกว่าทำให้ความคิดต่อโลกเปลี่ยนไปพอสมควร

“ตอนเราอยู่ข้างนอก เราอยากไปไหนก็ได้ไป อยากกินอะไรก็ได้กิน บางครั้งซื้ออะไรมาแล้วไม่อร่อย เราก็ทิ้ง แต่พอเข้าไปอยู่ในนั้นก็สอนเราเยอะ เช่น เรื่องเงินทอง เรื่องอาหารการกิน ถ้ามีก็ให้เก็บไว้ ทุกวันนี้ถ้ากับข้าวยังเหลือ เราก็จะเก็บใส่ตู้เย็นไว้” หญิงเล่า ก่อนย้อนความหลังต่อไปว่า

“เราเข้าไปใหม่ๆ เห็นบางคนไม่มีญาติ เขามาถามเราว่า เธอ มีตังค์เหลือสักบาทนึงไหม ตอนนั้นเราใช้คูปองกระดาษ มี 5 บาท 10 บาท 50 บาท เราก็คิดในใจว่า แค่บาทเดียวเขาจะเอาไปทำอะไรได้ แต่พอเริ่มอยู่ไป เราก็เข้าใจแล้วว่าอยู่ในนี้ เงินหนึ่งบาทก็มีค่า เพราะซื้อนู่นซื้อนี่ได้ มาตอนนี้พออยู่ข้างนอก เราก็จะนึกถึงตอนที่อยู่ข้างในว่าไม่สามารถทำอะไรได้บ้าง” หญิงกล่าวทิ้งท้าย

2


tij 2


แก้ว (นามสมมติ) วัย 48 ปี คืออีกหนึ่งชีวิตที่เคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำหญิงกว่า 4 ปี เธอมีมุมมองต่อเรือนจำแตกต่างออกไปจากหญิงอยู่บ้าง ปัจจุบันแก้วออกมาเรือนจำกว่า 3 ปีแล้ว ตอนนี้ทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อยู่กับแม่ เธอนั่งลงแล้วย้อนอดีตถึงช่วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำให้ฟังด้วยน้ำเสียงออกรสชาติ

หลังจากผ่านตอนแรกเข้า ผ่านขั้นตอนการสอบประวัติและตรวจร่างกาย แก้วก็เข้าไปอยู่ในแดนแรกรับ เธอเล่าว่าเป็นโลกใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจหลายอย่าง

“วันแรกที่เข้าไป แออัดมาก ทุกอย่างต้องลำบาก ตอนเข้าไปใหม่ๆ เราไม่สามารถทำอะไรทัน และเราไม่รู้ว่าต้องระวังของหาย ตอนแรกที่อาบน้ำ หลับตาล้างหน้า แต่พอลืมตามาคือสบู่หาย เราเพิ่งถึงทำความเข้าใจว่าของมันหายได้” แก้วเล่า

“ตอนแรกเราก็งงว่า ทำไมคนถึงเอากางเกงใน เสื้อใน มาตากบนตัก แล้วนั่งอยู่ในห้องโถง ทำไมไม่ตากกันในราว เราก็ไม่รู้เลยไปตากผ้าไว้ที่ราว ปรากฏว่าหาย ก็คือมีคนขโมย ทำให้เราเข้าใจแล้วว่าต้องดูแลของดีๆ”

หลังจากผ่านช่วงทำความเข้าใจสภาพทั่วไปได้แล้ว แก้วบอกว่าเรื่องอาหารการกิน ก็เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน

“ข้าวโรงเลี้ยงกินยากมาก แต่เราก็ต้องกิน บางทีต้องหารสดี หรือเครื่องปรุงมาม่ามาเติมจะได้กินได้” เธอบอกว่าคุณภาพอาหารบางมื้อก็แย่ เช่น ผักไม่สด หรือมีเนื้อสัตว์น้อยเกินไป ทำให้บางครั้งเธอจำเป็นต้องซื้ออาหารที่เจ้าหน้าที่เอามาขายแทน ราคาอยู่ที่ประมาณ 35-40 บาท แน่นอนว่าสิ่งนี้ย่อมต้องใช้เงินเพื่อให้ได้มา และคนที่ไม่มีญาติที่ยากจนจำนวนมาก ก็ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งนี้

เมื่อมองในภาพรวม กิจวัตรในหนึ่งวันของผู้ต้องขัง เริ่มจากตื่นตี 5 ครึ่ง สวดมนต์เช้า ขึ้นห้องขังบ่าย 3 ครึ่ง นั่งเล่นนอนเล่น สวดมนต์ตอน 6 โมงเย็น และแยกกันสวดตามศาสนาที่ตัวเองนับถือ

ช่วงกลางวันเป็นช่วงเข้างาน แก้วเล่าว่าจะมีการรับเสื้อเข้ามาเพื่อให้ผู้ต้องขังปักเลื่อม หรือเย็บกระเป๋า ทำผ้ามัดย้อม เพื่อที่สุดท้ายจะได้เงินปันผลเข้ามาในบัญชี ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในรายได้ที่ช่วยให้ผู้ต้องขังไร้ญาติพอจะดำรงชีวิตไปได้

แม้จะเผชิญเรื่องที่ไม่สบายใจหลายอย่าง แต่แก้วก็บอกว่าอยู่ไปสักพักก็ชิน เพียงแต่เรื่องที่ทำใจยากคือคิดถึงครอบครัว เพราะไม่เคยแยกจากกันนานขนาดนี้ และอีกสิ่งที่ทำให้ความคิดเปลี่ยนไปมากๆ หลังจากอยู่ในเรือนจำ คือการฝึกความอดทน

“อยู่ในนั้นมีทั้งความไม่ดีและความดี จากที่เราไม่ค่อยมีความอดทน เราก็อดทนขึ้นเยอะ แต่ก่อนดื้อกับแม่ ตอนนี้เราก็ฟังเขา ทำให้เราใจเย็นได้ เพราะคนอื่นยังทนได้เพื่อให้ตัวเองกลับบ้านเร็ว คือยอมทนคนที่ไม่ใช่ครอบครัวตัวเอง เพื่อที่จะไม่ทะเลาะ ไม่อย่างนั้นเราอาจต้องอยู่ในเรือนจำนานขึ้น” แก้วว่า

จากทั้งหมดที่แก้วเล่ามา สะท้อนภาพว่าคุณภาพชีวิตในเรือนจำยังมีอะไรให้ต้องปรับปรุงอยู่พอสมควร ดังนั้นเมื่อถามถึงเรือนจำในฝัน แก้วจึงบอกว่าอยากให้มีความเป็นธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นกว่านี้

“เราอยากให้เขาเมตตาเรา ไม่ใช่คิดแต่ว่าต้องมาดูแลคนทำความผิด ในส่วนของเรา เรารู้ว่าทำผิด ก็ยอมรับ แต่ก็ต้องมีความเป็นธรรมให้กับคนอื่นด้วย เราอยากให้มีความเสมอภาค เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้เขาหน่อย เช่นเรื่องอาหารการกิน น้ำใช้ เป็นต้น”

“เราอาบน้ำสิบขัน สามขันแรกให้ราดตัว ถูสบู่ ถัดจากนั้นอีกเจ็ดขันคือล้างให้เกลี้ยง แล้วต้องตักให้ทันเพื่อน พอนับแล้วต้องตัก ตักเกินก็ไม่ได้ ต้องทำตามกฎ แต่หลังๆ บางทีเราก็ขโมยตักเกิน ไม่อย่างนั้นอาบไม่เกลี้ยง แล้วบางทีอาบน้ำตอนบ่ายสามโมง กลางแดดเปรี้ยงๆ ตอนสระผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าที่เปียกนี่น้ำหรือเหงื่อ” แก้วเล่าย้อนถึงคุณภาพชีวิตในการอาบน้ำ ทั้งยังบอกว่า บางครั้งน้ำในถังก็แห้งขอด อยากให้มีการจัดการเรื่องระบบน้ำให้ดีขึ้นด้วย

หลังจากพูดเรื่องคุณภาพชีวิตที่ยากลำบากในเรือนจำ ในช่วงท้ายของบทสนทนา แก้วบอกว่าการเข้าไปในเรือนจำทำให้เสียโอกาสอยู่กับครอบครัว แต่ก็ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น

“เรือนจำทำให้เราคิดได้ว่าอยู่ที่บ้านเราต้องการอะไรก็ได้ แต่พออยู่ข้างในเราก็รู้ว่าเราโหยหาอะไร แต่ไม่ได้อย่างใจคิด ทำให้เราต้องมีสมาธิเพื่อสอนตัวเอง”

3

ในภาพความเป็นจริงอาจจะไม่ได้สวยงามทั้งหมดเหมือนที่หลายคนเคยวาดฝันไว้ แต่ก็เช่นกันที่เราจำเป็นต้องพัฒนาความเป็นอยู่ในเรือนจำให้ดีขึ้น อย่างน้อยๆ เพื่อทำให้เห็นว่าความเป็นธรรมและการพัฒนาคนยังมีอยู่จริง แม้ในที่ที่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจนักเช่นเรือนจำก็ตาม


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save