fbpx
มานพ พิทักษ์ภากร

‘ทางเลือกวัคซีน ทางรอดประเทศไทย’ กับ มานพ พิทักษ์ภากร


หลังการระบาดระลอกสามของโควิด-19 ยิ่งทำให้สังคมตั้งความหวังกับวัคซีน ที่หลายคนเชื่อว่านี่คือทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดและเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับวัคซีน ทั้งประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ผลข้างเคียงหลังฉีด รวมถึงการจัดการการกระจายวัคซีนของรัฐบาล

101 ชวน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาคุยว่าด้วยประเด็นวัคซีนโควิด-19

ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับอะไร ผลข้างเคียงหลังฉีดมีจริงไหม รวมถึงคำถามใหญ่อย่างการจัดการการกระจายวัคซีนควรเป็นอย่างไร การฉีดวัคซีนจะทำให้ชีวิตเรากลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ มีตัวอย่างน่าสนใจของประเทศไหนบ้างที่เราควรจะไปถึง


:: ปริมาณและวิธีการกระจายวัคซีน – สองเรื่องที่ต้องจับตา ::

อย่างไรวัคซีนก็แก้การระบาดหนนี้ไม่ทัน ต่อให้เริ่มฉีดก็ยังไม่สามารถกระจายในวงกว้างทันและอาจต้องใช้เวลาในการกระตุ้นคนให้มาฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้นต้องจัดการการระบาดระลอกนี้ด้วยการพยายามเว้นระยะห่าง เพื่อตัดตอนการแพร่เชื้อให้ได้

ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนชัดเจนว่ามาตรการทั้งหมดที่เราทำเป็นมาตรการระยะสั้น เราหยุดการระบาดได้เป็นครั้งๆ แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะป้องกันการระบาดครั้งถัดไป ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดและใช้กันทั่วโลกคือการฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนเป็นวิธีเดียวที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ขณะเดียวกันก็ลดโอกาสที่จะมีคนไข้หนักหรืออาการรุนแรง วัคซีนที่เรามีอยู่ก็ต้องใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดก่อน แต่ถามว่าพอไหม ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าไม่พอ น้อยเกินไปทั้งชนิดและปริมาณของวัคซีน เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ

ประเด็นแรก เราต้องดูที่ปริมาณการสั่งซื้อวัคซีน การจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้จะต้องฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ในกรณีของโควิดคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากร 70% ให้ได้ หากตัดกลุ่มเด็กออกแล้ว กลุ่มผู้ใหญ่ทั้งหมดจะต้องฉีดทุกคน โดยเรามีประชากรผู้ใหญ่ประมาณ 50 ล้านคน ฉีดคนละ 2 เข็ม ก็ต้องมี 100 ล้านโดส

ประเด็นถัดมาคือ เมื่อเรามีวัคซีนในสต็อกแล้ว จะกระจายวัคซีนอย่างไร ตอนนี้เราเห็นการระบาดวงกว้างขึ้นและรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันการระบาดระลอกนี้คนก็ยังไม่รู้ว่าเชื้อเข้ามาได้อย่างไร ทำให้เรามองโลกตามความเป็นจริงว่าเราไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการนำเชื้อเข้ามาในประเทศได้ 100% เราเห็นจากข้อมูลแล้วว่า ในปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการแพร่เชื้อจากคนที่บินเข้ามาและหลุดจาก State Quarantine แต่เกิดมาจากช่องทางอื่นทั้งนั้น ดังนั้นถ้าป้องกันไม่ได้ เราก็ต้องมองไปที่วัคซีน ต้องฉีดให้ได้เยอะและเร็ว ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการแล้วว่าจะฉีดอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุดในจำนวนออเดอร์ที่มีอยู่

:: ประสิทธิภาพของวัคซีนวันนี้ ดีพอไหม::

ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัว เราหวังผลหลักๆ สองอย่าง

หนึ่ง ผลระยะสั้น คือป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยหนักหรือเสียชีวิต โดยวัคซีนที่ใช้อยู่ในโลกก็มีประสิทธิภาพดีพอที่จะทำแบบนั้นได้

สอง ประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่เราอยากได้ ถ้าเราต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มีแค่วัคซีนที่ป้องกันไม่ให้ป่วยหนักยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ต้องมีวัคซีนที่ป้องกันไม่ให้ประชาชนติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ โดยต้องอาศัยวัคซีนที่ประสิทธิภาพดี

จากการศึกษาวัคซีนเฟส 3 หรือการติดตามข้อมูลการใช้จริงจาก Real World Data ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนหลายตัวออกมาคือ

กลุ่มวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna)  วัคซีนกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพสูง 90% ขึ้นไปในการป้องกันไม่ให้ป่วย ขณะเดียวกันเมื่อดูข้อมูลการใช้จริง ดูเหมือนว่าทั้งสองชนิดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ด้วย

กลุ่มที่สอง ใช้เทคโนโลยี Viral vector vaccines (วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ) ซึ่งหนีไม่พ้นเชื้อไวรัสอะดีโน (adenovirus) มีหลายยี่ห้อ เช่น แอสตราเซเนกา (AstraZeneca), สปุตนิค วี (Sputnik V), จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน  (Johnson & Johnson: J&J), แคนซีโน ไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics) วัคซีนกลุ่มนี้ประสิทธิภาพจะอยู่ตรงกลาง ใช้ได้ดีระดับหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ป่วยหนัก และดูเหมือนว่าแอสตราเซเนกาจะมีประโยชน์ป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อด้วย เพราะดูจากการใช้จริงในประเทศอังกฤษ ช่วยลดการระบาดในวงกว้างได้

อีกกลุ่มคือวัคซีนเชื้อตาย อย่าง ซิโนแวค (Sinovac) ตามข้อมูลซิโนแวคช่วยลดความเจ็บป่วยได้ประมาณ 50.7% และมีข้อมูลในการฉีดซิโนแวควงกว้างที่ประเทศชิลีประมาณ 67%

ว่ากันตามตัวเลขและข้อมูลการศึกษา วัคซีนที่มีข้อมูลดีที่สุด ฉีดเป็นวงกว้างมากที่สุด มีการพิสูจน์และมีหลักฐานชัดเจนมากที่สุดคือไฟเซอร์ รองลงมาคือโมเดอร์นา ส่วนวัคซีนที่มีการฉีดเป็นวงกว้าง มีหลักฐานว่าดูดี ประสิทธิภาพไล่เลี่ยกันคือแอสตราเซเนกา แต่ข้อสังเกตคือวัคซีนสามตัวนี้ได้รับการอนุมัติก่อนวัคซีนตัวอื่น และมีการฉีดเป็นวงกว้างก่อนวัคซีนตัวอื่น

:: เมื่อดูผลข้างเคียง คุ้มหรือไม่ที่จะฉีดวัคซีน ::

เรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน จากข้อมูลที่ผ่านมาในการศึกษาวัคซีนเฟส  1-3  โดยรวมแล้ววัคซีนทุกตัวมีความปลอดภัยสูงในระดับหนึ่ง มีการนำไปใช้กับอาษาสมัครหลักหมื่นคนขึ้นไป โดยรวมผลข้างเคียงไม่เยอะ แต่อย่างไรข้อมูลหลักหมื่นก็ไม่เท่ากับข้อมูลเมื่อใช้จริง เช่น ฉีดให้คนหลักล้านขึ้นไป เพราะฉะนั้นผลข้างเคียงที่เราไม่เห็นในการศึกษาวัคซีนเฟส 3  อาจจะเห็นในการใช้จริง

เราเห็นข้อมูลใหม่ตั้งแต่ต้นปี เช่น วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา บางคนฉีดแล้วเกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงมากภายใน 15 นาที

วัคซีนแอสตราเซเนกาและจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน  ฉีดแล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตัน อุบัติการณ์  1 : 300,000 ซึ่งข้อมูลนี้ไม่เคยเห็นในการศึกษาเฟส 3 แน่นอน

วัคซีนซิโนแวคผมก็เชื่อว่าคล้ายๆ กัน ข้อมูลจากเฟส 3 อาจไม่เห็นอะไรชัดเจนนัก คือโดยรวมดูดี แต่พอฉีดกับคนหลักแสน เราอาจจะเริ่มเห็นผลข้างเคียงที่ไม่คิดมาก่อนว่าจะมี

ถามว่าผลข้างเคียงนี้ต้องกังวลหรือเปล่า โดยหลักการ ถ้าเมื่อไหร่มีการฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงถือเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญเสมอ

เหตุผลที่หนึ่ง เพราะคนที่ฉีดวัคซีนไม่ใช่คนป่วย เขาเริ่มจากเป็นคนที่แข็งแรงดี เพราะฉะนั้นเราไม่อยากเห็นคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวัคซีน เราจะต้องพยายามทำให้ปลอดภัยที่สุด

เหตุผลที่สอง  เพราะข้อมูลที่ผ่านมาแม้จะดูดีแค่ไหน อย่างไรก็ไม่เท่ากับตอนใช้จริงกับคนเป็นแสนเป็นล้าน ฉะนั้น เมื่อไหร่เกิดปัญหา ต้องมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ให้ดี และติดตามใกล้ชิด เมื่อเราเห็นข้อมูลเราก็ต้องชั่งน้ำหนักก่อนว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับข้อดีของวัคซีน คุ้มไหมที่จะฉีดต่อ ถ้าคุ้มก็ฉีดต่อ หลังจากนั้นก็ยังต้องเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และชั่งน้ำหนักใหม่เสมอ

เรื่องพวกนี้ยังไม่ออกมาเป็นข้อสรุปสุดท้ายแน่นอน ต้องอาศัยการติดตามตลอด ทีมที่สืบสวนผลข้างเคียงก็ยังทำงานอยู่ทุกวัน

ถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันและผลข้างเคียงของวัคซีน สรุปง่ายๆ ว่าควรฉีดวัคซีน ถ้าเราช่างน้ำหนักระหว่างผลดีที่ได้จากวัคซีน และความเสี่ยงร้ายแรงจากวัคซีน เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน จากสถานการณ์การระบาดในประเทศไทย ความเสี่ยงของคนที่จะติดเชื้อและป่วยหนักจนเสียชีวิตสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดจากวัคซีน

:: การกระจายวัคซีนต้องเจาะลึกรายละเอียดและเรียนรู้จากต่างประเทศ ::

การกระจายวัคซีนเป็นไปไม่ได้ที่จะทำแค่มอบนโยบาย จัดประชุมส่วนกลาง และหวังว่าหน้างานจะทำได้ การกระจายวัคซีนต้องลงไปถึงรายละเอียด ต้องดูการกระจายวัคซีนจากส่วนกลางมาถึงในแต่ละเขต แต่ละโรงพยาบาล หรือในหน้างานแต่ละยูนิต ขั้นตอนจะเป็นอย่างไร ระดมคนให้เข้ามาฉีดอย่างไร การฉีดต้องอาศัยกระบวนการอะไรบ้าง

เราอาจเห็นประสบการณ์การฉีดวัคซีนซิโนแวคในสองเดือนที่ผ่านมา ก็จะมีข้อติดขัดอยู่บ้าง จึงต้องอาศัยมันเป็นการทดสอบ และต้องปรับกลยุทธ์ที่จะใช้จริงในอีกสองเดือนข้างหน้า การจัดตั้งศูนย์กระจายและฉีดวัคซีนในวงกว้างจะเกิดขึ้นอย่างไร ใช้บุคลากรสักเท่าไหร่ เวลาเกิดปัญหา เช่น ผลข้างเคียง จะบริหารจัดการอย่างไร ผมเชื่อว่าโรงพยาบาลทุกแห่งก็รอรายละเอียดอยู่ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง

ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนวงกว้างที่ทุกคนเอาเป็นแบบอย่างเสมอคืออิสราเอล ส่วนกลยุทธ์ในการกระจายวัคซีนผมคิดว่าเราเรียนรู้ได้จากประเทศอังกฤษ

อิสราเอลมีระบบสุขภาพระบบเดียว คล้ายๆ กับประเทศไทยที่ระบบใหญ่ของเราคือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบนี้ทำให้เราสามารถรับรู้และติดตามคนที่อยู่ในระบบสุขภาพได้ ที่อิสราเอลแพทย์ในพื้นที่จะรู้เลยว่ามีประชาชนคนใดอยู่ในมือบ้าง เขาจึงสามารถจัดลำดับความเร่งด่วนของการฉีดวัคซีนได้ และทำให้การฉีดวัคซีนเป็นระบบระเบียบ เขาบริหารจัดการได้เร็วมาก

ส่วนประเทศอังกฤษเลือกการกระจายวัคซีนไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาหลายประเทศจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วสต็อกเข็มที่ 2 ไว้ให้คนที่ฉีดแล้ว แต่อังกฤษเลือกวิธีการกระจายไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนโดยไม่กั๊กเข็มที่ 2 ไว้ ต้องบอกว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ

อังกฤษเชื่อว่าถ้าเราสร้างภูมิคุ้มกันให้กว้างที่สุดก่อน จะตัดตอนการระบาดได้ เป็นความเชื่อที่ไม่มีการพิสูจน์ ณ ตอนนั้น แต่ข่าวดีก็คือการเก็บข้อมูลของอังกฤษ เขาพบว่าการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาแค่เข็มเดียวก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเจ็บป่วยได้แล้ว เป็นเหตุผลที่อังกฤษฉีดได้แพร่หลายและตัดตอนการระบาดของโควิดได้เร็วที่สุดในยุโรป นี่เป็นบทเรียนที่เราอาจนำมาปรับใช้ได้ การระดมฉีดเข็มแรกให้ได้มากที่สุดก่อน แล้วค่อยไปลุ้นเข็มสองในอีกสัก 2-3 เดือนข้างหน้าแบบอังกฤษ อาจจะเป็นวิธีที่ดี

:: ท่าทีและวิธีสื่อสารที่รัฐควรทำ ::

เรื่องที่รัฐควรทำคือ หนึ่ง ควรบูรณาการข้อมูลที่เป็นจริงให้กับคนทำงานในทุกระดับ ที่ผ่านมา ความโกลาหลเกิดขึ้นเกิดจากการประสานงานภายในที่อาจจะไม่ตรงกัน คนทำงานก็รับภาระศึกหนัก ขณะที่การกระจายทรัพยากรและการสื่อสารไม่ค่อยดี ทำให้เกิดช่องว่างเยอะ

สอง การประชาสัมพันธ์กับประชาชน ทุกครั้งที่เกิดการระบาดของโควิดแต่ละระลอกบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชน เกิดผลเสียคือถ้าประชาชนเริ่มไม่ค่อยเชื่อความสามารถในการบริหารจัดการของภาครัฐ อาจจะทำให้ข้อแนะนำทั้งหลายที่ควรจะได้ผลมีประสิทธิภาพลดลง เพราะประชาชนไม่เชื่อแล้ว การบริหารจัดการและการระงับการระบาดก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ

รัฐต้องแจ้งข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ถ้าตอนนี้มีปัญหาเรื่องจำนวนเตียงและการกระจายทรัพยากรก็ต้องบอก ในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ไม่มีอะไรเพอร์เฟ็กต์ 100% หรอก มีปัญหาอยู่แล้ว แต่เราก็พูดตามตรงให้ประชาชนเข้าใจรับทราบได้

อีกเรื่องคือการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ โทนของการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ การสื่อสารควรเป็นไปในเชิงที่เข้าใจปัญหาของประชาชน เอาใจเขามาใจใส่เรา แต่การสื่อสารที่ผ่านมาจะมีลักษณะออกคำสั่ง จงทำแบบนี้ ไม่ทำจะเกิดปัญหา มันคือการสื่อสารชนิดที่คนพูดอยู่บนหอคอยงาช้างและทำให้เกิดช่องว่างของความไม่เข้าใจกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save