fbpx
“สังคมไทยกับการผูกตาเทพียุติธรรมอีกครั้ง” Exclusive Interview พิเศษ สอาดเย็น

“สังคมไทยกับการผูกตาเทพียุติธรรมอีกครั้ง” Exclusive Interview พิเศษ สอาดเย็น

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ต้อนรับ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ ของหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับความยุติธรรมมากว่าหนึ่งทศวรรษ

แม้ ดร.พิเศษ จะมีประสบการณ์ทำงานในแวดวงยุติธรรมอย่างเต็มเปี่ยม แต่การรับตำแหน่งผู้อำนวยการในครั้งนี้ และในช่วงนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งจากสถานการณ์บ้านเมืองที่แหลมคม กระบวนการยุติธรรมถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนตั้งคำถามกับผู้บังคับใช้กฎหมาย ส่วนตัวระบบยุติธรรมเองก็ต้องเจอโจทย์ท้าทายที่พ่วงมากับการออกแบบระบบ พร้อมกับเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบอาชญากรรมไป ทำให้คนทำงานต้องพร้อมรับและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ขณะที่ภายในองค์กร แม้ TIJ จะสร้างชื่อเสียงและมีบทบาทในการผลักดันมาตรฐานระหว่างประเทศ แต่ถ้ามองกลับเข้ามาในประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่า TIJ ยังเจอความท้าทายกับภารกิจในประเทศอยู่ ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เมื่อมีประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ตำแหน่งแห่งที่ของ TIJ ควรอยู่ตรงไหน และจะทำอย่างไรให้องค์กรสามารถสื่อสารและเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ในประเทศได้มากขึ้น

ในโอกาสขึ้นรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรม ในช่วงที่เทพียุติธรรมคล้ายจะถูกเปิดผ้าปิดตาออก 101 สนทนากับ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ถึงภาพใหญ่และโจทย์ท้าทายในกระบวนการยุติธรรมทั้งไทยและโลก โจทย์เก่าในบทบาทใหม่ของ TIJ รวมถึงแนวคิดของเขาในการกลับไปผูกตาเทพียุติธรรมอีกครั้ง


ภาพใหญ่กระบวนการยุติธรรมของไทยในสภาวะตกหลุมอากาศ


คุณมองกระบวนการยุติธรรมไทยในภาพใหญ่อย่างไร เห็นโอกาสหรือความท้าทายอะไรบ้าง

ในบริบททุกวันนี้ ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังต้องเผชิญกับการถูกตั้งคำถามอยู่พอสมควร แต่ถ้าเรามองในบริบทที่กว้างกว่านั้นและมองพัฒนาการยาวไปกว่านั้นสักนิดหนึ่ง ผมยังค่อนข้างเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมของเรามีพัฒนาการเป็นลำดับ ผ่านการปรับตัวครั้งใหญ่มาหลายรอบ และครั้งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่เรามีกติกาที่เอื้อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม คือในรัฐธรรมนูญปี 2540 

ด้วยความที่บริบทสังคมทุกวันนี้ใกล้ชิดกันมาก ผมเชื่อว่านี่เป็นบริบทสำคัญที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมของเราพยายามปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เลยอยากชวนมองว่า กระบวนการยุติธรรมไทยก็ดีมาเป็นลำดับ แต่แน่นอนว่า แม้กระบวนการยุติธรรมของเราจะดีมาระยะหนึ่งก็อาจจะเจอส่วนที่ยังไปต่อไม่ได้ เหมือนติดหลุมอากาศเล็กน้อยและหล่นลงไปตรงนี้ พยายามจะออกมาแล้วก็ยังออกมาไม่ได้ แต่ถ้าออกมาได้เมื่อไหร่ก็จะไปต่อได้ ผมว่าเราอยู่ในช่วงเวลาแบบนี้แหละ ที่กระบวนการยุติธรรมไทยต้องผ่านจุดทดสอบสำคัญว่าจะผ่านห้วงเวลานี้ไปได้อย่างไร

แต่ผมเชื่อว่าบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีพัฒนาการในแง่ความรู้ ความสามารถ ส่วนค่านิยมและคุณค่าในการทำงานก็ดีขึ้นมาเป็นลำดับ เราอาจจะต้องให้ความเชื่อมั่นว่ามันจะไปต่อได้ หลายคนอาจจะมองว่าประเด็นการเมืองเป็นเรื่องท้าทาย แต่ผมมองว่าการเมืองก็เป็นเรื่องท้าทายกับทุกประเทศหรือทุกสังคม และในที่สุดพอถึงจุดๆ หนึ่งแล้วก็จะมีทางออก และถึงตอนนี้กระบวนการยุติธรรมไทยต้องเจอกับปัญหาความเชื่อมั่นอยู่บ้าง แต่ผมเชื่อว่าเราจะผ่านจุดที่ท้าทายนี้ไปได้

ดังนั้น ถ้ามองในภาพกว้าง เราจะเห็นแต่ความอึดอัดและไม่น่าเชื่อถือ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ แต่ในภาพเล็กลงมา ผมเชื่อว่าทุกที่ยังมีคนตั้งใจทำงาน มีผู้พิพากษาที่พยายามปรับความรู้ทางกฎหมายเข้ากับคดีความเพื่ออำนวยความยุติธรรม มีเจ้าหน้าที่เรือนจำที่มองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่ คือในเชิงกลไกเล็กๆ ผมเชื่อว่าเราค่อยๆ ปรับตัวและดีขึ้นมาเป็นลำดับ และเชื่อว่าจะดีต่อไปได้


คุณเปรียบว่ากระบวนการยุติธรรมไทยเหมือนติดหลุมอากาศอยู่ ลองยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้ไหมว่า หลุมอากาศที่ว่าคืออะไร

มันคือการที่กระบวนการยุติธรรมของเรายังไม่สามารถที่จะหนักแน่นกับหลักการที่ควรจะเป็น และถูกกระแสหรือแรงกดดันอื่นๆ ทำให้ยังต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างปรากฏการณ์เฉพาะหน้ากับหลักการพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อกลไกในระยะยาว ผมว่าตอนนี้ สมดุลของเรายังเอียงไปที่การให้น้ำหนักกับปัญหารุมเร้าทางการเมืองอยู่พอสมควร ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ตามครรลองที่ควรจะเป็น

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกกลไก ทุกสถาบันในสังคม ก็ต้องทำหน้าที่ในบริบทของสังคม อิทธิพลหรือแรงกดดันมีได้ แต่ที่ผมคิดว่าเป็นความท้าทายมากคือ ตอนนี้สังคมมีความรู้สึกที่แบ่งเป็นฝ่าย แบ่งข้างกันค่อนข้างชัด กระบวนการยุติธรรมมักถูกคาดหวังให้เป็นทางออกสำหรับความขัดแย้ง แต่ผมก็อยากจะมองว่า ความขัดแย้งที่กระบวนการยุติธรรมสามารถแก้ได้ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง เพราะความขัดแย้งทางการเมืองอาจต้องการกลไกที่แตกต่างไปจากกระบวนการในลักษณะของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เรานึกภาพคนทะเลาะกันหรือคนละเมิดอำนาจรัฐ นี่เป็นความผิดทางอาญาที่ตีความแบบเคร่งครัด กระทบกับความสงบเรียบร้อยในสังคม ตรงนี้เป็นสิ่งที่กลไกในกระบวนการยุติธรรมสามารถรับมือได้ แต่กับความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองหรือคุณค่าบางอย่างอาจค่อนข้างยากที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือได้

เพราะฉะนั้น เมื่อกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเห็นต่าง ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ตามครรลองได้อย่างเต็มที่ กลายเป็นว่าทำไปก็ถูกมองว่าตีความเข้าข้างนั้น ข้างนี้ ขาดความเป็นกลางไปพอสมควร นี่ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน และถ้าเราไม่หาทางออกให้ได้ ก็จะกลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่ระบบต้องจ่ายในระยะยาว เพราะกว่าจะเรียกความศรัทธาเชื่อมั่นกลับมาได้ก็อาจจะต้องทำงานกันอีกเยอะ แต่นี่ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ผมมองว่า ต้องให้เวลาระบบพิสูจน์ตัวเองต่อไป แต่จะให้ระบบทำหน้าที่ตามลำพังก็อาจจะไม่แฟร์เท่าไหร่ แต่ต้องเสริมพลัง (empower) ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกหลายส่วน รวมถึงประชาชนธรรมดาที่อาจกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบนิเวศนี้ได้


ถ้าเป็นกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการเมือง ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะยังให้ความเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมส่วนนี้อยู่พอสมควร แต่คุณคิดว่ายังมีช่องว่างหรืออะไรที่เราสามารถยกระดับขึ้นไปได้อีกไหม 

ในแง่ของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก (mainstream criminal justice) เป็นธรรมชาติของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ได้รับการออกแบบมาให้ตอบโจทย์หลายโจทย์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่มักไม่ค่อยไปด้วยกัน เช่น กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีหน้าที่พิสูจน์ความจริงว่าใครถูก-ผิด คนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็มักจะกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งต้องเอาตัวคนทำผิดมาลงโทษให้ได้ถ้าเขาผิดจริง แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้กระทำผิดด้วย จะเห็นว่าโดยธรรมชาติแล้ว สองเรื่องนี้จะขัดกันได้ง่ายในการทำงานจริง ที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็เช่นการข่มขู่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ

นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมยังต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหาย เพราะโดยมากแล้ว ผู้เสียหายมักจะถูกกันออกจากกระบวนการยุติธรรมโดยอัตโนมัติ ไม่ค่อยเข้ามายุ่งกับกระบวนการที่ตำรวจหรืออัยการเป็นผู้นำสักเท่าไหร่ ซึ่งความทุกข์ยาก ความรู้สึกอยากได้รับการเยียวยาของผู้เสียหายก็อาจจะไม่ได้รับการตอบรับแค่จากการที่ผู้กระทำผิดได้รับการพิสูจน์ว่าผิดจริงและแสดงความรับผิดชอบนั้น แต่ยังมีอะไรที่เขาค้างคาใจอยู่

ผมคิดว่านี่เป็นความท้าทายที่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับประเทศไทย แต่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาแทบจะทั่วโลกก็เจอความท้าทายนี้ มันเหมือนเป็นสิ่งที่ติดมากับการออกแบบกระบวนการ นี่แปลว่าเราต้องการการทำงานที่ต้องมีความยืดหยุ่น แต่คำว่ายืดหยุ่นก็ต้องระวังมาก เพราะไม่ใช่นาย ก. ทำแบบนี้ก็ตัดสินแบบหนึ่ง แต่พอนาย ข. มีเงินก็ตัดสินอีกแบบหนึ่ง แบบนี้ไม่ได้ แต่เราต้องมีมาตรฐานคือบทบัญญัติกฎหมาย ข้อดีของกฎหมายอาญาคือ เขียนไว้ค่อนข้างเคร่งครัด ไม่ค่อยสามารถจะถูกตีความได้เยอะ แต่มีดุลพินิจได้และอาจจำเป็นต้องมีด้วย ดุลพินิจในที่นี้คือการตัดสินใจของคนที่เกี่ยวข้องกับคดี ต้องรู้จักน้ำหนัก รู้มูลเหตุจูงใจ สภาพแวดล้อมทางสังคม ถ้าดุลพินิจไม่มี ว่ากันไปตามตัวบทเท่านั้น ก็จะเกิดความลำบากเพราะจะทำให้ความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ดี ดุลพินิจก็ต้องอาศัยประสบการณ์ ชั่วโมงบิน และความเข้าใจ คือต้องทำให้คนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความรอบด้าน ซึ่งผมมองสองส่วนว่า ต้องมองคนเป็นศูนย์กลาง และเข้าใจแนวทางที่ควรจะต้องทำตามกรอบและหน้าที่ รวมถึงมีความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) ด้วย เราอาจจะต้องคิดตลอดเวลาว่า เรากำลังเดินไปตามกรอบกฎหมายที่ตีความไว้อย่างเคร่งครัดเกินไปไหม กรณีนี้อาจจะทำต่างจากกรณีที่แล้วก็ได้ แม้สภาพแวดล้อมหรือพฤติการณ์จะใกล้กันมากก็ตาม ผมคิดว่านี่แหละ เป็นช่องทางที่จะพัฒนาได้อีกเยอะ คือให้มีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ให้ความสำคัญกับคนมากขึ้น มีคนเป็นศูนย์กลาง และกล้าจะใช้ดุลพินิจของตัวเอง


ในระดับโลกก็เจอปัญหาที่พ่วงมากับการออกแบบระบบด้วยไหม?

เป็นครับ ตำราไหนก็พูดถึงปัญหาคลาสสิกนี้ คือต้องรักษาสมดุลผลประโยชน์หลายอย่างซึ่งก็ไม่ค่อยไปด้วยกัน อีกอย่าง กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่กระบวนการจริงๆ ที่เป็นระบบ (system) แต่คือการเอาข้อต่อมาต่อเป็นชิ้นๆ ซึ่งแต่ละชิ้นก็มีแนวโน้มที่จะมองเรื่องเดียวกันโดยมีมุมหรือมีโจทย์ของตัวเองที่แตกต่างกัน ตำรวจก็มีโจทย์แบบหนึ่ง อัยการก็มีโจทย์ของตัวเอง แถมต้องคานอำนาจกับตำรวจด้วย มันเป็นความรู้สึกที่ต้องตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถฮั้วกันและทำเป็นกระบวนการที่ทุกคนเดินไปตามวัตถุประสงค์เดียวกัน

เมื่อกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเห็นต่าง ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ตามครรลองได้อย่างเต็มที่ กลายเป็นว่าทำไปก็ถูกมองว่าตีความเข้าข้างนั้น ข้างนี้ ขาดความเป็นกลางไปพอสมควร นี่ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน และถ้าเราไม่หาทางออกให้ได้ ก็จะกลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่ระบบต้องจ่ายในระยะยาว


โจทย์ท้าทายของกระบวนการยุติธรรมไทยและโลก


ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน คุณคิดว่าอะไรคือโจทย์ที่ทุกฝ่ายควรมองร่วมกัน

ผมมองว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ due process ทุกคนอาจจะทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อพยายามเข้าถึงความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เวลาทำหน้าที่ก็ต้องไม่ลืมหลักการสำคัญว่า กระบวนการในการรวบรวมข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นต้องชอบด้วย 

ตัว due process จะครอบคลุมไปถึงกระบวนการทำงานที่เป็นไปตามหลักที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช้อำนาจเกินเลย ยังเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ตกเป็นจำเลย ไม่ไปละเมิด (abuse) เขา หลายปัจจัยพวกนี้ทำให้กระบวนการยังน่าเชื่อถือหรือสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในกระบวนการได้ บางคนถึงกับมองว่าเรื่องนี้เป็นกระบวนการยุติธรรมแบบหนึ่งเลย แต่เป็นความยุติธรรมที่อิงกับกระบวนการที่ถูกต้อง นี่จะต่างกับกระบวนการยุติธรรมที่อิงกับผลลัพธ์ เช่น สมมติผลลัพธ์คือนายคนนี้ได้เงินค่าเสียหายไปหลังจากถูกตีหัว ก็เป็นเชิงผลลัพธ์ แต่ในเชิงกระบวนการมันเป็นอะไรที่พื้นฐานกว่านั้น ซึ่งมีความสำคัญมากเหมือนกัน เพราะมันต่อรองไม่ได้ ละไว้ก็ไม่ได้ นี่เป็นพื้นฐานของหลักนิติธรรม และเป็นตัวหล่อเลี้ยงที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการด้วย เพราะถ้าคนไม่เชื่อมั่นว่ากระบวนการโอเค ทั้งระบบก็พังหมด อยู่ไม่ได้ ตรงนี้จึงเป็นภาพที่คนในกระบวนการควรจะมองเห็นร่วมกัน ตรงจุดไหนมีความอ่อนแอก็ต้องรีบไปเสริมสร้าง ไม่ปล่อยให้เป็นจุดอ่อนที่จะทำลายทั้งระบบได้

อย่างไรก็ดี ผมพูดถึงเรื่องความเชื่อมั่น ต้องระบุชัดนิดหนึ่งว่า หลายคนมองว่า ต้องเป็นคนในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้นจึงจะมีความชอบธรรมในการวิจารณ์กลไกได้ แต่ผมมองกว้างกว่านั้นว่าทุกคนสามารถวิพากษ์ได้ มีความเห็นได้ แม้เขาอาจจะไม่ใช่นักกฎหมายที่จะเข้าใจกระบวนการยุติธรรมแบบละเอียดเหมือนผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ปฏิบัติงานก็ตาม


คุณจบมาทางสายวิทยาศาสตร์ เมื่อมาทำงานในกระบวนการยุติธรรม คิดว่าตัวเองมีมุมมองอะไรหรือมองโจทย์อะไรที่ต่างไปจากคนที่มีฐานเรื่องนิติศาสตร์หรือกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วบ้างไหม

ถ้าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ผมมองว่ามีทั้งโอกาสและความท้าทาย สุดท้ายผมก็ทำงานโดยอาศัยวิธีคิดแบบเป็นตรรกะ ซึ่งช่วยให้เรามองอะไรได้เป็นเชิงระบบ มองเห็นภาพความเชื่อมโยงได้ง่าย นั่นอาจเป็นจุดหนึ่ง แต่แน่นอนว่ากฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ต้องสัมผัสสถานการณ์จริง การได้มาทำงานที่ TIJ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปสัมผัสกับชีวิตคนในเรือนจำ ทำให้เราสร้างสมดุลระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติได้

พูดให้ชัดขึ้นและอาจเป็นความเชื่อส่วนตัวของผม ผมมองว่าการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนการฝึกฝนเชิงตรรกะที่มีความเป็นสากล ช่วยให้เราคิดเป็นระบบและไม่ด่วนสรุปเกินไป รวมถึงให้ความสำคัญกับตัวเลขหรือสถิติซึ่งอาจทำให้เรามองเห็นโอกาสหรือความเปลี่ยนแปลง ตัวผมก็มองว่า นี่เป็นเรื่องความเชื่อมโยงของกระบวนการต่างๆ เลยพยายามมองแบบไม่ค่อยมีอารมณ์เข้าไปตัดสิน ก็อาจจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่เราต้องระวัง ไม่มองเฉพาะเรื่องโครงสร้างโดยลืมความเป็นมนุษย์ไป กลุ่มคนอื่นก็อาจจะมองต่างออกไป ตรงนี้เลยต้องอาศัยความหลากหลาย และโชคดีที่ TIJ เต็มไปด้วยคนที่หลากหลาย ทั้งคนจบสายวิทย์ คนจบกฎหมายหรือสังคมวิทยา หรือแม้กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งผมหวังว่าอนาคต เราจะดึงดูดคนที่หลากหลายได้อีกถ้างานของเราน่าสนใจพอ ซึ่งเราก็จะพยายามสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงานที่สนุก เป็นบรรยากาศที่ได้ทำงานและเรียนรู้ไปด้วย รวมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไปพร้อมกัน


อยากชวนคุณลองยกตัวอย่างว่า มีประเด็นไหนบ้างที่ทั้งโลกยอมรับเป็นมาตรฐานร่วมกัน และ TIJ จะเข้ามามีบทบาทตรงนี้อย่างไรบ้าง

เรื่องแรกคือกระบวนการยุติธรรมอาญาที่ตอบสนองต่อความอ่อนไหวทางเพศสภาพ (gender-responsive criminal justice) โลกบอกว่ารับได้ เราก็มีหน้าที่ต้องผลักดันเรื่องนี้ ให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดี (good practice) ที่พอจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติในกระบวนการ ส่วนวิธีที่จะใส่ความคิดใหม่ๆ เข้าไปก็ทำได้หลายแบบ เช่น ผ่านทางงานวิจัย ซึ่งเราทำมาโดยตลอด หรือการสนับสนุนประเด็นสำคัญๆ ให้เป็นที่รับรู้ในสังคมและข้อเสนอเชิงนโยบาย

สิ่งที่ TIJ จะให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาคือ การเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ให้กับคนในกระบวนการ ทำเรื่องการตอบสนองต่อความละเอียดอ่อนทางเพศสภาพ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่แต่เดิม (status quo) ไม่ใช่น้อย และยากมากด้วย เพราะเพศสภาพในสังคมไทยเป็นปัญหาโครงสร้างมาก แม้ประเทศไทยจะดูมีความก้าวหน้าเรื่องนี้พอสมควร แต่ก็ยังมีอคติและความเข้าใจที่ไม่เพียงพอจะเปลี่ยนสังคม หรือทำให้สังคมเปิดรับท่าทีใหม่ๆ หรือมีปฏิกิริยาใหม่ๆ กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทาง TIJ ก็คิดว่าเราน่าจะมีองค์ความรู้เพียงพอที่จะทำการบ้านและสื่อสารกับสังคมให้มากขึ้นในเรื่องนี้ เอากระบวนการยุติธรรมเป็นหัวใจ และให้เชื่อมกับเรื่องเพศสภาพ 

อีกเรื่องที่สำคัญและเรียกได้ว่ายังคงเป็นปัญหาแทบไม่เปลี่ยนไปเลยตลอด 50 ปีที่ผ่านมาคือ การให้ความสำคัญกับเด็ก ทั้งเด็กที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือเด็กที่กระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ต้องคุ้มครองไม่ให้ต้องเผชิญความรุนแรงทุกรูปแบบ นี่เป็นปัญหาคลาสสิกและโจทย์ที่ท้าทายอยู่เสมอ ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือวิธีคิดเยอะเช่นกัน เรามีพัฒนาการในเรื่องนี้มานานมาก แต่การเอาประโยชน์ของเด็กเป็นตัวตั้งยังเป็นเรื่องที่ได้ผลน้อย พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะเรามักจะคิดแทนเด็กว่าเขาควรได้รับการดูแลแบบนั้นแบบนี้ แต่เราแทบไม่เคยถามเด็กเลยว่า เขาอยากได้อะไร ทำแบบนี้จะกระทบกับเขาจริงหรือไม่

วิธีแก้คือ การเสริมพลังให้เด็กมีโอกาสส่งเสียงความต้องการของตัวเองออกมา และยอมรับสิ่งนั้นจริงๆ ซึ่งเราก็มีการทำงานในเรื่องนี้มาบ้าง เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานต่างๆ ของสหประชาชาติ (UN) กับผู้ปฏิบัติงาน แต่บางทีเราอาจจะต้องกลับมาที่เรื่องพื้นฐานกว่านั้น คือประเมินเลยว่า ต้นทุนทางจิตวิทยาของผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างไร เขาขาดอะไรบ้าง เพื่อให้เข้าใจเด็กได้จริงๆ ใช้จิตวิทยามากกว่าจะใช้อำนาจ เพราะเด็กที่กระทำความผิดหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงส่วนมากจะมีแผลในใจมา เขาจะไม่ค่อยไว้ใจผู้ใหญ่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตเขา ดังนั้น ต่อให้เราจะหวังดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้ ขั้นตอนต่อไปก็เกิดยาก แต่ถ้าสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้แล้วจึงจะเริ่มมีความผูกพัน (bonding) และไปต่อกันได้ 


ถ้าเป็นในเรื่องเด็กและเยาวชน คุณเห็นการทำงานแบบใดที่น่าสนใจบ้าง

เราเห็นตัวอย่างจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกของป้ามล (ทิชา ณ นคร) ที่มีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ในการทำงานกับเด็กและทำงานร่วมกับครอบครัวด้วย นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญเลย เพราะถ้าครอบครัวไม่ได้เข้ามาร่วมด้วยก็จะทำงานยากมาก เราต้องสามารถโทรคุยกับครอบครัวได้ตลอด และให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะชีวิต ให้เขาก้าวข้ามจากการเป็นผู้แพ้หรือผู้ที่ไม่มีสิทธิมีเสียงเลย

เด็กที่เคยกระทำผิดมา เขาเคยอยู่ในแก๊ง เคยใช้ความรุนแรงและได้รับการยอมรับจากหัวหน้าแก๊ง เพราะพวกเขาไม่เคยได้รับการยอมรับนับถือแบบนั้นจากครอบครัว เด็กจึงต้องแสวงหาการยอมรับจากที่อื่นด้วยวิธีการอื่น เมื่อเด็กกลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในบ้านกาญจนาฯ ก็ต้องสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ค่อยๆ เยียวยาบาดแผลเดิม เราเห็นป้ามลทำงานตรงนี้มาประมาณ 18 ปี จากประสบการณ์เราพบว่ามันเวิร์กนะ เป็นการทำงานแบบประณีต แต่ถ้าจะขยายผลไปทำแบบนี้ในสถานพินิจฯ หรือกรมพินิจฯ อาจจะยากมาก เราไม่สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมเหมือนในบ้านกาญจนาฯ ได้ เพราะติดระบบราชการหรืออำนาจหน้าที่ต่างๆ 

ตรงนี้จึงเกิดคำถามว่า จะเหมาะสมกว่าไหมถ้าเราให้องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐทำเรื่องนี้ไปเลย อาจจะไม่ถึงกับทำแบบป้ามล แต่ดึงเรื่องนี้ออกมาจากระบบบ้าง ให้ภาคเอกชนหรือกลุ่ม NGOs หรือใช้โมเดลแบบผู้ประกอบการทางสังคม (social enterprise) ก็ได้ในบางกรณี ให้พวกเขาเข้ามาช่วยทำ และเราก็วัดมาตรฐานในการดูแล ดูตัวชี้วัดว่าเด็กมีความเป็นอยู่อย่างไรโดยที่รัฐไม่ต้องทำทั้งหมด

ถ้าพูดกันจริงๆ เรื่องเด็กอาจเป็นเรื่องที่ทำงานได้เร็วกว่า เพราะกรอบความคิดเรื่องประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นกรอบความคิดที่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้เรากล้าคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังอยากให้โอกาสเด็ก เพราะพวกเขายังมีวุฒิภาวะไม่เยอะ พลาดไปแล้วเราต้องให้โอกาสเขา เลยน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้พอสมควร


ช่วงหลังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น คุณมองว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร 

ผมมองเป็นสองส่วน ในแง่การทำงาน การประยุกต์ใช้และปรับให้เข้ากับเทคโนโลยี ผมเห็นหลายๆ ที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น ฝั่งศาลก็เริ่มมีการพูดถึง E-court ผมมองว่าประโยชน์หลักคือการอำนวยความสะดวกให้กับคนที่ต้องเข้ามาในระบบ แต่ขณะที่เรารับเทคโนโลยี เราก็ต้องเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังด้วยว่า เทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ ใช้แล้วจะคุ้มค่าไหม และจะก่อให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ที่เราไม่คาดหวังไหม

เวลาพูดถึงเทคโนโลยี บริบทสำคัญที่ต้องมองคู่กันไปเสมอคือเรื่องคน สองอย่างต้องไปด้วยกันจึงจะเกิดผลประโยชน์ที่เราคาดหวังได้จากเทคโนโลยี ไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าแค่เอาเทคโนโลยีโยนเข้าไป แต่คนไม่ได้ปรับเปลี่ยนก็ยากมากที่จะได้ประโยชน์ กลายเป็นว่าใช้เทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้ชื่อว่านำมาใช้แล้วนะ 

นอกจากนี้ ถ้ายังทำงานกันแบบเดิม ไม่ได้นำคนเป็นศูนย์กลางและไม่ได้เสริมพลังประชาชนแบบจริงจัง เราก็จะทำงานในระดับผิวเผิน และอาจเจอความเสี่ยงของเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับต้นทุน บางคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้เพราะเขามีฐานะ บางคนเข้าถึงไม่ได้ ก็อาจจะยิ่งกลายเป็นถ่างช่องว่างที่มีอยู่แล้วให้กว้างขึ้น อีกอย่างคือ ต้องระวังด้วยว่าเราอาจจะใช้เทคโนโลยีโดยมองว่ามันคือเทคโนโลยีอย่างเดียว (for the sake of technology) มันจะกลายเป็นตัวที่กินงบประมาณ ต้องคอยบำรุง อัปเดตซอฟต์แวร์ โดยที่เรายังไม่ได้ดูเลยว่ามันตอบโจทย์ได้จริงไหม

อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี ผมมองว่ามันมีประโยชน์มากในบางเรื่องที่ปัญญาของมนุษย์ยังไปไม่ถึง การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่กระจัดกระจายและมองหารูปแบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลอาจทำให้เกิดความเข้าใจรูปแบบบางอย่างได้ โดยมีเงื่อนไขว่าเราต้องไม่มีอคติในการพัฒนาอัลกอริธึมเพื่อจะใช้งานรูปแบบเหล่านี้ ต้องมีกลไกเปิดเผยให้คนที่ไม่ใช่คนทำงานเข้ามาดูได้ว่า อัลกอริธึมของคุณเป็นอย่างไร รวมถึงคำนึงถึงเรื่องจริยธรรม AI ด้วย เพราะเราก็ไม่อยากให้วันหนึ่ง AI มาบอกว่าต้องตัดสินโทษคนนั้นแบบนี้ โดยที่เรายังไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร มีอคติไหม เพราะมีแนวโน้มว่าถ้านำเรานำเครื่องจักรกลมาทำงานแล้ว คนทำงานอาจจะเลิกใช้ดุลพินิจ นี่ยิ่งอันตรายใหญ่ มันก็กลับไปที่ตอนต้นที่ผมบอกว่า ต้องนำคนเป็นศูนย์กลาง มีการใช้ดุลพินิจบางอย่าง ไม่ใช่ให้เทคโนโลยีมาบงการความคิดของคนไปเสียทั้งหมด


นอกจากเรื่องประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นแล้ว เทคโนโลยียังมาพร้อมกับภัยคุกคามใหม่ๆ เช่น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber security) คุณมองว่าระบบของไทยพร้อมรับโจทย์ใหม่ๆ เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

อันนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าหนักใจ เพราะเท่าที่เราทำงานกับผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมมา โดยเฉพาะในระดับอาวุโส (senior) เรายังเห็นความไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยีหรือรู้เท่าทันแอปพลิเคชันใหม่ๆ ในโลกออนไลน์ ตรงนี้อาจด่วนสรุปไปสักนิด แต่เราก็อาจจะแปลความได้ว่า เรื่องความรู้เท่าทัน (literacy) ส่งผลต่อการทำงาน เพราะเราอาจคาดหวังได้ยากว่าผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมจะมีทักษะเพียงพอในการทำงานเพื่อพิจารณาคดีที่เกิดในโลกไซเบอร์ หรือใช้พยานหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้ามองในแง่กฎระเบียบต่างๆ เรามีมานานแล้ว เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ภาคเอกชนก็ปรับตัวได้เร็ว 

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นในแง่ทางแพ่ง ผมว่ามันเริ่มจะดีขึ้น เช่น การยอมรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ในศาล แต่ที่น่าหนักใจคือการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญา ฉ้อโกง ละเมิด หรือขโมยอัตลักษณ์ เรายังอยู่เพียงแค่ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการสร้างความตระหนักรู้และเสริมให้คนในกระบวนการยุติธรรมมีความรู้ ความเข้าใจ และรู้เท่าทัน

ทั้งนี้ เราต้องยอมรับว่าคนในกระบวนการต้องปรับตัวและเรียนรู้อย่างรวดเร็วให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง และต้องทำงานร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริการต่างๆ ด้วย ต้องแลกเปลี่ยนกันเพื่อสร้างความสมดุล แต่ในโลกไซเบอร์ ผมคิดว่าความยากอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างความต้องการที่จะเข้าถึงอัตลักษณ์ของผู้กระทำผิดกับเรื่องความเป็นส่วนตัว เราก็ต้องเคลียร์ตรงนี้และมีมาตรการให้ชัดเจนด้วย 

เวลาพูดถึงเทคโนโลยี บริบทสำคัญที่ต้องมองคู่กันไปเสมอคือเรื่องคน สองอย่างต้องไปด้วยกันจึงจะเกิดผลประโยชน์ที่เราคาดหวังได้จากเทคโนโลยี ไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าแค่เอาเทคโนโลยีโยนเข้าไป แต่คนไม่ได้ปรับเปลี่ยนก็ยากมากที่จะได้ประโยชน์ กลายเป็นว่าใช้เทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้ชื่อว่านำมาใช้แล้วนะ 


โจทย์เก่าในบทบาทใหม่ของ TIJ


คุณเพิ่งรับตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ของ TIJ นอกจากภารกิจที่ TIJ ทำมาอย่างยาวนานต่อเนื่องแล้ว คุณอยากเปิดพื้นที่อะไรใหม่ๆ ให้กับ TIJ บ้าง

จริงๆ ต้องบอกว่านี่เป็นเรื่องใหม่ในเรื่องเก่า คือไม่ได้ถามว่าเราจะทำอะไร เพราะมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีรากฐานมั่นคงแล้ว แต่เป็นเรื่องว่าจะทำอย่างไรมากกว่า

ผมพบว่าเราทำงานหนัก บุกงานต่างประเทศเยอะ แต่ช่วงหลังเราก็พยายามสร้างงานในประเทศ ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางที่เข้ากับวิวัฒนาการหรือการเติบโตขององค์กร ก่อนหน้านี้เราใช้วิธีไปแจ้งเกิดในต่างประเทศก่อน สร้างความน่าเชื่อถือจากการทำงานที่อย่างน้อยได้มาตรฐานสากลเพียงพอ และหันกลับมาลงทุนกับการทำงานในประเทศ แต่คำถามคือจะทำยังไง ผมคิดว่าเราอาจจะต้องกลับมาเสริมพลังให้คนทำงานมากขึ้น ให้เขาได้ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและสั่งสมไว้ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ไปใช้ต่อในงานอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างความร่วมมือหรือการสร้างเครือข่าย

อีกเรื่องหนึ่งคือ ทุกวันนี้ TIJ อยู่ด้วยเงินอุดหนุนของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ในระยะยาว นี่อาจไม่ใช่การบริหารความเสี่ยงที่ยั่งยืน ผมเลยอยากมองหาโมเดลที่จะทำให้เราสามารถรับเงินหรือหาเงินจากที่อื่นได้นอกจากงบประมาณแผ่นดิน เรียกง่ายๆ คือเริ่มมีการให้บริการวิชาการกับบางหน่วยงาน โดยยังอยู่บนพื้นฐานการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร 


คุณวางบทบาทของ TIJ ไว้อย่างไร มีอะไรที่ TIJ สามารถเข้ามาทำงานขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการยุติธรรมได้ไหม

องค์กรเราวางบทบาทเป็นสะพานเชื่อมความรู้ระหว่างโลกและไทย คำว่า ‘โลก’ ในที่นี้คือ เป็นโลกที่เป็นเหมือนแหล่งรวมมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ อาจเป็นมาตรฐานกลางๆ ไม่ใช่มาตรฐานที่สูงมากในทุกเรื่อง เป็นมาตรฐานที่ผ่านกระบวนการต่อรองกันมาแล้ว เพราะหลายมาตรฐานที่ล้ำยุคเกินไป หลายประเทศมหาอำนาจยังทำไม่ได้เลย เขาก็ไม่ยอมให้เราพูดไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ทำงานกับความเป็นอุดมคติขนาดนั้น แต่ทำงานกับแนวปฏิบัติที่ผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองมาระดับหนึ่ง พอจะหยิบมาใช้เป็นตัว benchmark กับกระบวนการยุติธรรมของเราได้

นอกจากนี้ TIJ ยังอยากเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้จุดให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ โดยมีองค์ความรู้ให้กับประชาชน ให้พวกเขามีฐานข้อมูลพอที่จะเริ่มมีความเห็นหรือเริ่มตั้งคำถามได้ โดยอยู่บนฐานของความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ใช้ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกได้ แต่ไม่มากจนเกินกว่าขอบเขตของข้อเท็จจริงหรือหลักฐาน นี่น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่เราต้องเร่งทำให้เกิดผลในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจริงๆ เราพยายามทำมาก่อนหน้านี้แล้วด้วย เพราะเราเชื่อว่าองค์ความรู้เช่นนี้จะช่วยให้ประชาชนมีอาวุธทางปัญญาที่จะทำความเข้าใจการทำงานของกระบวนการยุติธรรมได้ในอีกมิติหนึ่ง จากเดิมที่อาจจะเคยมองว่าเป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัวและซับซ้อน


ในแง่การเป็นองค์กรที่ให้ความรู้ในสังคมกับประชาชนทั่วไป ถ้าเราวางตำแหน่งของ TIJ ว่าเป็นแหล่งความรู้หรือชี้นำสังคม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คุณคิดว่าเวลาเกิดประเด็นปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม TIJ ควรจะออกมาพูดหรือแสดงจุดยืนมากน้อยแค่ไหน

บอกตามตรงว่านี่เป็นเรื่องที่เรามีความกังวลอยู่เหมือนกัน แต่ผมคิดว่า วิธีที่จะเหมาะกับองค์กรอย่าง TIJ คือการอิงกับหลักการหรือบรรทัดฐานที่มีอยู่ เราอาจต้องเริ่มจากจุดนั้น และเสริมความเข้าใจหลักการด้วยตัวอย่างต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น ข้อเสนอของนักวิชาการ แนวทางที่เป็นคำวินิจฉัยขององค์กรที่เป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ

หน้าที่ของเราคือการย่อยและให้ความรู้ ให้มุมมองรอบด้านว่าหลักการนี้มีแง่มุมอะไรที่เกี่ยวข้อง มีหลุมพรางอย่างไรที่ต้องระวัง แจกแจงตามที่ควรเป็นในรูปแบบงานเขียนและให้ลิงก์ (link) ไปอ่านต่อ คล้ายๆ เป็นจุดเริ่มต้น สำหรับคนที่สนใจปัญหานั้น แต่ใช้หลักการเป็นตัวตั้งหลักแทนที่จะมีปฏิกิริยากับเหตุการณ์ต่างๆ

ผมมองว่าถ้าเราวางบทบาทให้ดีๆ และทำเป็นชุดความรู้ที่เหมาะสม ก็อาจทำให้เราเป็นอีกหนึ่งเสียงที่มีความเป็นกลาง เป็นทางให้คนที่สนใจปัญหา แต่อยากได้มุมมองที่ไม่ได้อยู่ในกระแสความขัดแย้งโดยตรง ตรงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้สังคมตกอยู่ในสภาพที่ถูกพัดโดยกระแสอารมณ์ความรู้สึก ผมว่านี่คือสิ่งที่ TIJ น่าจะทำได้ และเป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของสถาบัน เพราะเราไม่สามารถเข้าไปเป็นตัวแสดงในความขัดแย้งในเวลานี้ได้

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่สถานการณ์พัฒนาไปถึงขั้นที่กระทบหลักการสำคัญ เราก็จะใช้กลไกนี้เป็นการส่งสารออกไปอย่างแนบเนียนและแยบยล เรายังอยากทำหน้าที่แบบนี้ต่อไป แต่ถ้าพูดตรงๆ ก็ไม่ใช่ว่าเราทำอะไรไปตรงๆ แล้วถูกเขาทุบกลับมาว่าไม่ควรมีองค์กรนี้อยู่ บางที การพูดความจริงกับคนที่ยังไม่พร้อมจะฟังก็เป็นเรื่องยาก แต่เราเชื่อว่าอาจจะยังมีคนอยากฟังอยู่ ถ้าพูดในเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้สติบอกว่าสิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร ส่วนถ้าใครจะไปเชื่อมโยงกับกรณีใดๆ ในบ้านเมืองก็เป็นสิทธิของเขา ตัวเรายึดหลักการที่ควรจะเป็น นี่น่าจะเป็นจุดยืนที่ TIJ ยังเคารพตัวเองได้ในเชิงความซื่อตรง ไม่ได้ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่สนใจความเป็นไปในสังคมเลย แต่ก็ไม่ได้เข้าไปเต็มตัวแบบ NGOs เพราะเรายังต้องทำงานวิชาการ นี่เป็นสิ่งที่เราเป็นมาและจะเป็นต่อไปแบบนั้น

ตอนนี้ กระบวนการยุติธรรมเหมือนอยู่ในสภาวะที่เหมือนเอียงไปข้างหนึ่ง เมื่อเทพียุติธรรมที่ควรจะถูกผูกตากลับลืมตาและเหมือนจะเหล่ตาไปข้างหนึ่ง แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะเราอยู่ในสภาวะสุญญากาศที่สังคมป่วย การที่กระบวนการยุติธรรมจะดำรงตนแบบบริสุทธิ์ ไม่มีใครมาแตะต้องได้เลยก็เป็นเรื่องยากมาก แต่คนที่จะดึงกระบวนการยุติธรรมกลับมาได้ก็คือสังคมนั่นแหละ


กระบวนการยุติธรรมของไทย เมื่อต้องกลับไปผูกตาเทพียุติธรรมอีกครั้ง


ในตอนต้น คุณบอกว่าการปรับตัวครั้งสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทยเกิดขึ้นในช่วงรัฐธรรมนูญปี 2540 ตอนนี้เราเริ่มเห็นกระแสการแก้รัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คุณคิดว่าอะไรเป็นโจทย์สำคัญเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่คนร่างรัฐธรรมนูญควรพิจารณาบ้าง

ส่วนตัวผม รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องควรจะถูกเขียนในรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่อง due process ซึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องนี้นะ แต่เรื่องนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญเยอะมากทั้งที่อาจจะไม่ต้องอยู่ก็ได้ แต่อาจจะอยู่ในกฎหมายอาญาก็ได้ บ้านเราไม่ค่อยอับจนเรื่องบทบัญญัติ แต่มักจะมีจุดอ่อนในการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า

เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญควรเป็นอะไรที่นั่งและให้เสถียรภาพในเชิงการจัดสรรอำนาจหลักๆ ในสังคม และมีกลไกที่เหมาะสมพอ จัดวางสถาบันให้อยู่เป็นที่เป็นทางและได้อยู่นานๆ แต่ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ผมเชื่อว่ากฎหมายที่มีอยู่น่าจะเพียงพอ และถ้าเรามีขีดความสามารถ (capacity) ที่เพิ่มขึ้นมามากพอก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เยอะแล้ว ผมเลยอาจจะไม่ได้คาดหวังมากนักว่าเราต้องใส่หลักการใหม่ๆ เข้าไปในตัวรัฐธรรมนูญขนาดนั้น


ปัจจุบันเราจะเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้น มีการแบ่งขั้วเลือกข้าง และหลายครั้งที่กระบวนการยุติธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับโจทย์การเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในบริบทที่มีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ กระบวนการยุติธรรมควรมีหลักคิดอย่างไร

ผมอาจจะมองแบบโลกสวยนิดหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะช่วยให้กระบวนการยุติธรรมไทยมีอำนาจต่อรองหรือความเข้มแข็งที่จะยึดมั่นกับหลักการได้ต้องอาศัยตัวช่วย 2 ข้อ คือ คนในกระบวนการต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่ตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง และเป็นการอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนและสังคม รวมถึงมีภาคสังคมที่เข้มแข็ง เสริมพลังมากพอ เมื่อใดก็ตามที่กระบวนการเริ่มนิ่งเกินไปในเรื่องที่ไม่ควรนิ่งดูดายก็ควรจะมีเสียงเตือน ตบให้กลับเข้ามาได้ มันควรจะอยู่ในพลวัตแบบนั้น แต่ตอนนี้เราอ่อนแอทั้งสองส่วน เลยยากที่จะทัดทานกับการแทรกแซงหรือแรงกดดันทางการเมือง

ตอนนี้ กระบวนการยุติธรรมเหมือนอยู่ในสภาวะที่เหมือนเอียงไปข้างหนึ่ง เมื่อเทพียุติธรรมที่ควรจะถูกผูกตากลับลืมตาและเหมือนจะเหล่ตาไปข้างหนึ่ง แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะเราอยู่ในสภาวะสุญญากาศที่สังคมป่วย การที่กระบวนการยุติธรรมจะดำรงตนแบบบริสุทธิ์ ไม่มีใครมาแตะต้องได้เลยก็เป็นเรื่องยากมาก แต่คนที่จะดึงกระบวนการยุติธรรมกลับมาได้ก็คือสังคมนั่นแหละ แต่ตอนนี้สังคมเรายังอ่อนล้าและมีการแบ่งขั้ว ก็ต้องมองเป็นกระบวนการเรียนรู้เชิงสังคมระยะยาวและต้องค่อยๆ เสริมพลังกันไป


มีวิธีกลับไปผูกตาเทพียุติธรรมอีกครั้งไหม?

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมเคารพเคยบอกว่า เราต้องมองแบบข้ามเจเนอเรชัน (intergeneration) กันให้ได้ คนยุคใหม่ก็น่าจะต้องมองว่า การที่มีสถานะแบบนี้ดำรงอยู่ (status quo) มันมีที่มาที่ไปของมัน สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เป็นเพราะเขาอยากจะอยู่แบบนี้ แต่มีสาเหตุบางอย่างทำให้ต้องเป็นแบบนี้ ส่วนคนที่อยู่ในอำนาจก็ต้องมองว่า สักวันหนึ่ง อำนาจก็จะไม่อยู่ในมือเราแล้ว เราต้องมองถึงอนาคตบ้าง พยายามหาจุดพอดีที่อยู่ด้วยกันได้แล้วค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า ถ้าไม่มีจุดนี้ก็จะยากมาก เรียกได้ว่าไปคนละทางกันเลย


มีคนเริ่มพูดถึงกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ผมไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ที่ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเท่าไหร่ แต่ถ้ามองว่าเราอยู่บนโลกความเป็นจริงและตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เรื่องนี้ก็ยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่เสมอ ถ้าพูดแบบในหลักการ ไม่ว่าสังคมไหนก็แล้วแต่ เราคาดเดาได้ยากนะว่ามันจะไม่เกิดจุดอะไรที่เร่งให้เกิดปฏิกิริยาแรงๆ และนำไปสู่ความรุนแรง เพราะเกิดภาวะสั้นๆ ที่ระบบหลักหยุดทำงาน เนื่องจากความไม่สงบของสังคมในวงกว้าง เรื่องนี้เกิดขึ้นได้แม้แต่ในประเทศที่เราไม่คิดว่าจะเกิด

ถ้ามองในแง่นี้ องค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านยังมีประโยชน์อยู่ เราก็มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ในสังคมที่มีความขัดแย้ง (conflicted society) และสังคมหลังความขัดแย้ง (post-conflicted society) แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติมากนัก และเราก็หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาใช้



ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save