fbpx
ยกใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเวทีโลก

ยกใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเวทีโลก

ผมรู้สึกว่าโลกเงียบลงแยะเลยภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หลุดจากตำแหน่งแห่งอำนาจสูงสุดของรัฐบาลอเมริกัน สุ้มเสียงและทวีตที่สะเทือนคนทั้งโลกหายไปจากหน้าโซเชียลมีเดียทั้งหลายอย่างฉับพลัน มีให้เห็นน้อยมากหรือไม่ก็อยู่แต่ในแวดวงของสาวกและกองทัพอธรรมทั้งหลาย ซึ่งยังไม่หายไปไหน แต่รอเวลากลับมาเมื่อหัวแถวโผล่หัวขึ้นมาอีกครั้ง

จากนี้ไปอย่างน้อยสี่ปี เราจะต้องอยู่กับนโยบายและการดำเนินนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งพรรคเดโมแครต ท่วงทำนองและวิธีทำงานที่แตกต่างกันอย่างมากกับของทรัมป์ ทำให้ต้องไปตามหาว่านโยบายเรื่องต่างๆ นั้นเขาเสนอและจะทำอย่างไร

นับจากรับตำแหน่ง ไบเดนได้เสนอผ่านทีมที่ปรึกษาทำเนียบขาว ฝ่ายความมั่นคง ต่างประเทศ สาธารณสุขและความมั่นคงในประเทศอย่างเรียบร้อยและเป็นระบบ แต่เมื่อไม่มีการประกาศให้ครึกโครมและดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนให้มาเกาะติดอย่างที่ทรัมป์กระทำ นโยบายไบเดนเลยฟังเรียบๆ และไม่ค่อยมีปฏิกิริยาตอบโต้อะไรมากนัก

สองเรื่องที่เขาได้ผลักดันไปแล้วและได้รับผลค่อนข้างดี อันแรกคือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณมหาศาล 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และการฉีดวัดซีนโควิดให้แก่คนอเมริกัน 20 ล้านคนภายในสองเดือน นับว่าเป็นการเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ได้สวยงาม

นโยบายสำคัญอีกเรื่องที่สหรัฐฯ ต้องแสดงต่อประชาคมโลกคือนโยบายว่าด้วยการระหว่างประเทศ และจุดที่คนให้ความสนใจอย่างมากได้แก่สัมพันธภาพระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในยุคของรัฐบาลไบเดน สหรัฐฯ จะเล่นบทบาทอะไร เพื่อไปบรรจุวัตถุประสงค์อะไรต่อจีน ผมจะลองวาดภาพของสหรัฐฯ กับจีนในเวทีโลกระยะต่อไปว่าจะมีรูปร่างและเนื้อหาอะไรบ้าง

ตอนที่โจ ไบเดนโต้วาทีกับโดนัลด์ ทรัมป์ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์โจมตีไบเดนว่าจะก้มหัวให้แก่จีน และอเมริกาจะกลายเป็นลูกไล่ของจีนอีก แต่ตอนนี้ปรากฏว่าฝ่ายต่างประเทศของไบเดนกลับสืบทอดมาตรการและวิธีการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนของทรัมป์ได้ทำไว้ต่อไป

เรื่องราวความสัมพันธ์ต่างประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความเป็นมาที่ยาวนาน บางช่วงก็ใกล้ชิด บางระยะก็ห่างและมองหน้ากันไม่ติด

ในอดีตเมื่ออเมริกาเริ่มออกไปค้าขายติดต่อกับประเทศทั่วโลกตามหลังรุ่นพี่ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮอลันดา สเปนและโปรตุเกสนั้น อเมริกาสนใจและให้ความเห็นใจแก่ประเทศจีนค่อนข้างมาก อย่างน้อยมากกว่าอังกฤษและฝรั่งเศสที่เล่นงานจีนอย่างสะบักสะบอมจากสงครามฝิ่นมา ขณะที่เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่างที่ญี่ปุ่นบุกยึดครองจีนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ยังพยายามหาทางออกให้แก่จีน มีการส่งคนไปหาข้อมูลว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือใครมีความสามารถแค่ไหน แล้วสรุปว่าคงไม่มีน้ำยาเท่าพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งอยู่ภายใต้การนำของจอมพลเจียงไคเช็กซึ่งโด่งดังไปทั่วมากกว่าเหมาเจ๋อตงที่เป็นอดีตบรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

นั่นเป็นจุดพลาดอันแรกของสหรัฐฯ ในการจัดการเรื่องจีน ทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ โดยเฉพาะเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเอาชนะก๊กมินตั๋งได้อย่างพลิกความคาดหมายของทุกคน เมื่อสหรัฐฯ เห็นว่าจีนใต้การนำของประธานเหมาสามารถยืนได้และไม่มีทางแปรเปลี่ยนไปเป็นอื่นอีกแน่แล้ว การเปิดความสัมพันธ์ใหม่สมัยประธานาธิบดีนิกสันก็เกิดขึ้น โดยมีเงื่อนไขของสงครามอินโดจีนและการไม่อาจเอาชนะในเวียดนามได้ สหรัฐฯ จำต้องถอยออกจากภูมิภาคนี้ ด้วยคำมั่นสัญญาว่าจีนจะไม่ส่งออกการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธไปยังประเทศอื่นๆ อีกต่อไป

ในขณะที่จีนค่อยๆ ก้าวขึ้นมาจากการตกเป็นกึ่งเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตก แล้วประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีตะวันตกคือลัทธิมาร์กซ์-เลนิน มาสร้างจีนใหม่ที่เป็นคอมมิวนิสต์และกำลังพัฒนาสังคมไปบนหนทางของการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ซึ่งก็เป็นระบบการผลิตและเทคโนโลยีของตะวันตกเช่นกัน แต่สิ่งที่ทำให้จีนกลายเป็นตัวปัญหาใหญ่ขณะนี้มาจากการที่จีนไม่เดินไปบนเส้นทางของทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์จริงๆ หากแต่ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และแก้ใหม่ นับแต่สมัยประธานเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์กลายเป็นแบบจีนไปมากกว่าจะเป็นแบบตะวันตก

ผลของการเปลี่ยนแปลงที่ยอกย้อนในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในที่สุดบัดนี้จีนได้กลายมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลก จากการประสบความสำเร็จในการยกระดับการผลิตซึ่งต้องอาศัยโมเดลและแบบการผลิตของทุนนิยมตะวันตกในระยะแรก ภายใต้คำขวัญ ‘สี่ทันสมัย’ ของเติ้งเสี่ยวผิง กระทั่งเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่อาศัยระบบตลาดโลก (ซึ่งคือกลไกของระบบทุนนิยมเสรี) แต่จีนทำให้ระบบตลาดยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับและบงการของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลที่เป็นเครื่องมือของพรรคฯ ไม่ใช่ของพรรคการเมืองและกลุ่มนายทุนไม่ว่าใหญ่หรือเล็กก็ตาม

เมื่อตอนเกิดการสังหารโหดนักศึกษาจีนในการประท้วงใหญ่ของขบวนการประชาธิปไตยที่จุตรัสเทียนอันเหมินปี 1989 นักศึกษาถูกฆ่าและจับกุมคุมขังมากมาย จนนานาชาติออกมาประณามและบอยคอตจีน รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย แต่ลับหลังประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุชก็ส่งผู้แทนไปพบผู้นำจีนอย่างเงียบๆ แล้วแจ้งว่าอเมริกายังต้องการรักษามิตรภาพที่ดีต่อกันนะ (เรื่องนี้เป็นความลับ ผมก็เพิ่งรู้ตอนนี้) ขณะที่รัฐสภาคองเกรสจะตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่จีน (Most favored nation) ในเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปี 1994 ประธานาธิบดีคลินตันก็บอกว่านโยบายต่างประเทศต่อไปจะไม่เอาสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาด้วย เพราะถูกนายทุนวอลสตรีตบีบบังคับ

สหรัฐฯ เองเป็นคนหนุนช่วยให้จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก WTO (ปี 2001) และได้รับเงินกู้จากธนาคารโลกอีกนับพันล้านเหรียญ โดยหวังว่าจะช่วยกล่อมเกลาให้จีนค่อยๆ ทำตัวเป็นนายทุนเหมือนตะวันตก เลิกคิดเป็นคอมมิวนิสต์ที่ยากจน ซึ่งจีนก็ทำตาม แต่ทำมากกว่าที่สหรัฐฯ คาดหวังจะให้เป็น จีนกลับสามารถควบคุมและกำกับการลงทุนและสร้างอุตสาหกรรมทั้งหลายได้ โดยไม่ทิ้งอาวุธสำคัญที่เป็นกล่องดวงใจไป นั่นคือพรรคคอมมิวนิสต์

ในปี 2005 โรเบิร์ต เซลลิก รองรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ กล่าวสุนทรพจน์ระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) จะเป็น ‘หุ้นส่วนที่รับผิดชอบ’ ในระบบโลก คนที่รู้จักและเข้าใจจีนคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงจะตระหนักได้ว่าฝ่ายต่างประเทศสหรัฐฯ นั้นยังไม่รู้จักจีนคอมมิวนิสต์จริงๆ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) กับประเทศจีนนั้นไม่เหมือนกัน และพรรคคอมฯ จีนไม่มีทางจะมารับผิดชอบต่อการเดินนโยบายต่างประเทศใดๆ ของรัฐบาลจีนเลย ถ้ามีอะไรผิดพลาด ก็เป็นความผิดของรัฐและรัฐบาล ถ้าอะไรถูกต้อง ก็เป็นความอัจฉริยะและเก่งกล้าสามารถของพรรคคอมฯ ต้องฟังและสังเกตให้ดีว่าใครเป็นคนพูด และพูดในนามของอะไร พรรคหรือรัฐ

ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์เป็นรัฐบาลแรกที่จับประเด็นนี้ได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่เหมือนและไม่ใช่ประเทศจีน แล้วลงมือปรับวิธีการจัดการกับจีนเสียใหม่ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะสติปัญญาอันล้ำเลิศของทรัมป์ หากแต่มาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศในเรื่องจีนสองคน คือ Miles Yu ซึ่งอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ กับ Matthew Pottinger ในทำเนียบขาว นำไปสู่การยุติการใช้ ‘พรรคคอมฯ’ กับ ‘จีน’ ว่าแทนกันได้ จึงจะรู้ว่าเรื่องอะไรที่พรรคฯ เป็นฝ่ายกระทำ และรัฐบาลทำอะไรได้

การเปลี่ยนแปลงประการที่สองคือ การมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนต่างๆ กับจีน ทฤษฎี engagement เดิมอธิบายว่าหากเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนด้านต่างๆ เช่น การค้า การศึกษา ท่องเที่ยวและอื่นๆ แล้ว ก็จะโน้มน้าวให้จีนยอมรับมาตรการและธรรมเนียมของสากลที่เป็นนานาชาติไปด้วย แต่ผลที่ได้ต่อมากลับเป็นตรงกันข้าม ปรากฏว่าแทนที่จีนจะเป็นฝ่ายยอมปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น กลายเป็นว่ายิ่งค้าขายแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ฝ่ายที่ต้องปรับตัวกลับเป็นคนต่างชาติ ไม่ใช่จีน เพราะตลาดจีนใหญ่โตมโหฬาร และที่สำคัญคือการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอุดมการณ์อันเหนียวแน่น เป็นคนกุมกฎกติกาและมาตรฐานของจีน ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาสร้างกฎได้ จุดอ่อนนี้ก็จะเป็นช่องให้ทรัมป์ใช้มาตรการยาแรงในการเล่นงานการส่งออกและการขยายทุนของจีนไปในอเมริกา เป็นการส่งสัญญานเตือนไปยังพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยว่าตอนนี้อเมริการู้แกวแล้ว

ประการที่สาม การจะทำข้อตกลง สัญญาอะไรกับจีนต้องหวังผล ไม่ใช่การเจรจาแล้วรอผลมาเอง เพราะวิธีการที่พรรคคอมฯ จีนชอบใช้คือ ปล่อยให้ข้อตกลงหรือการเจรจาค้างเติ่ง เก็บคำถามสำคัญๆ ไว้ใต้โต๊ะ อ้างว่ายังต้องรอข้อมูล รายละเอียดต่างๆ นานา จนกระทั่งฝ่ายอเมริกาขี้เกียจรอแล้ว ได้อะไรก็เอาเท่านั้น คราวนี้ฝ่ายทีมทรัมป์บอกว่า ต้องเจรจาจนได้ผลก่อนถึงจะเลิก

การพบกันระหว่างแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และเจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงทำเนียบขาว กับหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และหยางเจียฉี ฝ่ายต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอลาสกา เมื่อกลางเดือนมีนาคม เป็นการประกาศจุดยืนและเป้าหมายของแต่ละมหาอำนาจอย่างชัดเจน นี่ไม่ใช่การพบกันเพื่อทำความรู้จักหรืออุ่นเครื่องอะไรทั้งนั้น เพราะต่างฝ่ายต่างรู้นโยบายและจุดหมายของอีกฝ่ายแล้วว่าจะไปสู่อะไร การพบกันจึงเปิดฉากด้วยการกล่าวหาและโจมตีอีกฝ่ายว่าได้ทำอะไรที่ผิดไปจากความคาดหวังของอีกฝ่ายบ้าง

สหรัฐฯ กัดไม่ปล่อยเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่จีนนำชาวอุยกูร์ในซินเจียงเข้าค่ายกักกัน ล้างสมองและฉีดยาลดการเจริญพันธุ์ ตามมาด้วยการขโมยเทคโนโลยีของบริษัทอเมริกัน การแข่งขันทางเทคโนโลยี 5 จี ไปถึงการใช้เครื่องมือเหล่านี้โจมตีทำลายระบบคอมพิวเตอร์ของไมโครซอฟต์ สุดท้ายคือการยึดครองทะเลจีนใต้ของจีนและประกาศไม่ให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในทะเลแถบนี้ต่อไป

ฝ่ายจีนก็กล่าวหาสหรัฐฯ เรื่องการแบนบริษัทไฮเทคของจีนในการประกอบการในสหรัฐฯ เช่น หัวเว่ย การตั้งกำแพงภาษีสินค้าเข้าอเมริกา ซึ่งดำเนินการในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ แต่รัฐบาลไบเดนก็ไม่มีท่าทีว่าจะยกเลิกหรือลดหย่อนแต่อย่างใด กล่าวหาอเมริกาว่าแทรกแซงในกิจการภายในของจีน เช่น การสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง หนุนหลังและให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวัน ซึ่งจีนถือว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่และจะเอากลับคืนไปแน่ ส่วนเรื่องชาวอุยกูร์ จีนก็กล่าวหาว่าอเมริกาสร้างข่าวลวง สนับสนุนชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นพวกก่อการร้ายมุสลิม

เรื่องเดียวที่สองฝ่ายไม่ทะเลาะกันและอาจร่วมมือกันได้ระดับหนึ่ง คือการแก้ปัญหาโลกร้อนและมลภาวะเป็นพิษ

เมื่อดูจากบรรยากาศและสุ้มเสียงการแสดงออกอย่างเปิดเผยของตัวแทนรัฐบาลทั้งสหรัฐฯ และจีนแล้ว ผมมองเห็นในทิศทางเดียวกับที่ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศจำนวนมากออกมาให้ความเห็นว่า สัมพันธภาพระหว่างสองมหาอำนาจจะเขม็งเกลียวและทวีความหนักหน่วงกระทั่งอาจไปถึงความรุนแรง ซึ่งระดับสูงสุดคือการทำสงคราม

นักวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศให้ความเห็นว่า เป็นธรรมชาติของมหาอำนาจโลก ที่อาณาจักรใหม่จะต้องก้าวขึ้นมาท้าชิงตำแหน่งจากมหาอำนาจเดิมที่ครองอยู่ก่อน มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งสถานการณ์ในทศวรรษที่ผ่านมาหลังการพังทลายของสหภาพโซเวียตและประเทศบริวาร และการยุติสงครามเย็น ทำให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก (unipolarity) หากจีนจะพัฒนาประเทศและความมั่นคงของตนต่อไปตามอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ของรัฐด้วยแล้ว การใช้ไม้แข็งคือการยึดดินแดนในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบกับไม้นุ่มคือการสร้างกฎเศรษฐกิจโลกใหม่ มาตรฐานทางเทคโนโลยีและการสร้างสถาบันทางการเมืองในประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรของตน

เจก ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งทำเนียบขาวเชื่อว่าจีนภายใต้สีจิ้นผิงจะดำเนินนโยบายบนสองยุทธศาสตร์นี้ต่อไปในอนาคตอันใกล้ ซึ่งทีมต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ ประเมินแล้ว จึงตัดสินใจเปิดฉากบทบาทใหม่ของสหรัฐฯ ในเวทีโลกและกับจีนในมาดใหม่ที่ว่านี้เช่นกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save