fbpx
ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2020 โดยคอลัมนิสต์ 101

ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2020 โดยคอลัมนิสต์ 101

:: ความน่าจะอ่าน 2020 ::

ปี 2020 เริ่มต้นขึ้นแล้ว และแม้ช่วงวันหยุดกำลังจะสิ้นสุดลง แต่เรายังมีหนังสือดีๆ ที่อยากชวนให้ทุกคนได้อ่านกัน (หรืออย่างน้อยเก็บไว้ในลิสต์หนังสือที่ ‘น่าจะอ่าน’ ในปี 2020 ก็ยังดี)

เพราะนี่คือหนังสือที่เหล่า contributor ของ 101 รวมทั้งสิ้นกว่า 40 ชีวิต มาช่วยกันแนะนำ โดยเราให้แต่ละคนเลือกหนังสือ 1 เล่ม ที่คิดว่าเหมาะสำหรับวาระเปลี่ยนผ่านจากปี 2019 สู่ปี 2020 พร้อมเหตุผลสั้นๆ ว่าหนังสือเล่มนั้นน่าสนใจอย่างไร

 

1. AI Superpowers : China, Silicon Valley, and the new world order

 

1. AI Superpowers : China, Silicon Valley, and the new world order

Kai-Fu Lee เขียน

จัดพิมพ์โดย HACHETTE BOOK GROUP USA

แนะนำโดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักเทคโนโลยีชื่อดังของจีน และเป็นหนังสือที่โด่งดังมากด้วยในโลกตะวันตก พูดถึงความสำคัญของ AI จากมุมมองของจีน

หลี่ไคฟู่ ตั้งคำถามว่าจีนมีความได้เปรียบอะไรบ้างในการพัฒนาเทคโนโลยี AI (เช่น ปริมาณข้อมูล วัฒนธรรมผู้ประกอบการ การส่งเสริมจากรัฐบาล ฯลฯ) และชวนให้เราขบคิดเกี่ยวกับอนาคตของ AI อันได้แก่ ผลกระทบต่อตลาดงาน รวมทั้งผลกระทบจากการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยี

นอกจากนี้ในตอนท้ายของเล่ม ผู้เขียนยังเปิดใจเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่เขาป่วยหนัก ว่าได้สอนอะไรให้กับตัวเขาในเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์และคุณค่าของ AI

 

2. Authoritarianism and the elite origins of democracy

 

2. Authoritarianism and the elite origins of democracy

Michael Albertus และ Victor Menaldo เขียน

จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press

แนะนำโดย เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

การวางหมากทางการเมืองก่อนการลงจากอำนาจของเผด็จการ เป็นสิ่งที่ผู้นำกองทัพของชิลีวางแผนเตรียมการไว้เป็นอย่างดี เพื่อสงวนบทบาทของตนในรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ องค์ประกอบของสมาชิกรัฐสภาที่มีผู้นำกองทัพเข้าไปนั่งอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย รวมถึงองค์กรทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้เปรียบเสมือนการวางยาทางการเมืองไม่ให้เกิดระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดก็นำมาสู่การลุกฮือของประชาชนอีกครั้งในปีนี้ เพื่อมุ่งหวังการถอกรากถอนโคนซากเผด็จการที่ยังหลงเหลืออยู่

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมรู้สึกเหมือนไทยกำลังเดินตามแบบชิลีอย่างไม่ผิดเพี้ย

 

 

3. My brother’s husband

Gengoroh Tagame เขียน

สำนักพิมพ์ Dex Press

แนะนำโดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง

ต้องบอกว่าเป็นหนังสือการ์ตูนที่น่าจะให้เด็กๆ มัธยมบ้านเราได้อ่านเสียด้วยซ้ำ เพราะมันส่งเสริมความเข้าใจอันดีในเรื่องความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่แตกต่างกันได้อย่างละมุนละไมมาก

มังงะเรื่องนี้ได้รับรางวัลทั้งจากในญี่ปุ่น (Excellence Prize จาก Japan Media Art Festival) และ Will Eisner Comic Industry ในสหรัฐอเมริกา บ้านเราแปลออกมาแล้วสองเล่ม โดยสำนักพิมพ์ Dex Press ชวนอ่านเลยครับ

สวัสดีปีใหม่ด้วยครับ

 

 

4. Elastic: Flexible Thinking in a Time of Change

Leonard Mlodinow เขียน

แนะนำโดย ติณห์นวัช จันทร์คล้อย Eyedropper Fill

2019 เป็นปีที่พยายามมองหาระบบระเบียบ และสร้าง ‘สูตร’ ในการทำงานสร้างสรรค์ แต่ทันใดนั้น หนังสือเล่มนี้ก็เข้ามาบอกว่าการมีสูตรอาจเป็นกับดัก เพราะสมองของเราถูกออกแบบมาให้ขี้เบื่อ หิวสิ่งใหม่ น้ำลายไหลกับความท้าทาย และกระหายความเปลี่ยนแปลงเป็นทุน

การมีสูตร, แพทเทิร์น หรือรูทีน ทำให้สมองอยู่ในอาการคอมฟอร์ต ยิ่งปลอดภัย น้ำย่อยแห่งความคิดสร้างสรรค์ยิ่งไม่ไหล

กลับกัน, การพาสมองไปเจอปัญหาไม่ซ้ำ ดีลกับข้อจำกัดใหม่ทุกวัน เผชิญกับแพทเทิร์นความคิดที่มีลวดลายไม่คงที่ สร้าง ‘สูตรที่ไม่มีสูตร’ เพื่อให้สมองได้ใช้ท่าไม้ตายที่ชื่อ ‘Flexible Thinking’ หรือ ‘ความคิดแบบยืดหยุ่น’ อยู่เสมอ คือวิธีที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเรากระฉูด

ขอมอบความคิดไร้กระบวนท่าเพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงในปี 2020 เป็นของขวัญให้ผู้อ่านทุกท่านครับ

 

 

5. ตามฝูงปลาออกไป

ปราชญ์ อันดามัน เขียน

จัดพิมพ์โดย ผจญภัยสำนักพิมพ์

แนะนำโดย อิสระ ชูศรี

อาร์น เนส (1912 –2009) นักปรัชญาภาษาชาวนอร์เวย์ ผู้ออกจากมหาวิทยาลัยมาอุทิศชีวิตเพื่องานอนุรักษ์ธรรมชาติในแนว ‘นิเวศวิทยาเชิงลึก’ กล่าวถึงความสำคัญของประสบการณ์ทันทีทันใดในธรรมชาติ ซึ่งยังไม่ทันถูกกำหนดโดยความคิด การใช้เหตุผล และวัฒนธรรม เพราะมันจะทำให้เราตระหนักได้ว่าตนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของมนุษย์แต่ลำพัง

เมื่อพลิกอ่านหนังสือรวมบทกวี ‘ตามฝูงปลาออกไป’ ของนักพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ผู้กลายเป็นจิตรกรและกวีในนามแฝง ‘ปราชญ์ อันดามัน’ ผมรู้สึกถึงความพยายามในการจำลองประสบการณ์แบบทันทีทันใดในธรรมชาติผ่านจินตนาการที่กรองเป็นถ้อยคำ ซึ่งเชิญชวนให้ผู้อ่านสลัดตัวเองออกจากพันธนาการของ ‘ความเป็นมนุษย์’ และกาละเทศะที่จำกัดเราไว้ตรงนี้ในปัจจุบัน แล้วโลดแล่นไปสู่ความเป็นชีวิตอื่นๆ ในที่อื่นและเวลาอื่น

เมื่อลองทำแบบนั้น เราอาจจะเกิดประสบการณ์ที่ช่วยให้เราตระหนักถึงขนาดและบทบาทที่แท้จริงของมนุษย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

“เขากลับมาจากมหาสมุทร
ลำตัวมีแต่เพรียงหอยเกรอะเกาะเต็ม
จมูกไม่จำเป็นอีกต่อไปเมื่อเขาหายใจด้วยเหงือก
เขาเหมือนปลาตีนยักษ์

ผู้คนแตกตื่น
ปลาประหลาดคลานอยู่บนหาด
เขาเอ่ยด้วยภาษาปลา
แต่ไม่มีใครรู้ฟัง”
– บางส่วนจาก “กลายเป็นปลา (2)”

 

 

6. This Is Not Propaganda: Adventures in the War Against Reality

Peter Pomerantsev เขียน

จัดพิมพ์โดย Faber & Faber

แนะนำโดย อิสร์กุล อุณหเกตุ

 

สี่สิบปีหลังจากนักเขียนผู้เป็นบิดาของ Peter Pomerantsev ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ถูกเจ้าหน้าที่ KGB ควบคุมตัว โลกใบนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล

การเซ็นเซอร์แบบในยุคสงครามเย็นหมดไป ผู้คนล้วนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เสรีภาพดังกล่าวกลับกลายเป็นเครื่องมือใหม่ในการจัดการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งไม่ใช่แค่ในรัสเซียเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโล

ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนพาเราไป ‘ผจญภัย’ ด้วยการพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ตั้งแต่เกรียนอินเทอร์เน็ตในมะนิลา นักต่อต้านคอร์รัปชันในเม็กซิโก จนถึงผู้ริเริ่มไอเดีย Cambridge Analytica และชวนเราคุยประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับข่าวปลอมในโซเชียลมีเดีย วิธีการบ่อนทำลายชื่อเสียงของนักเคลื่อนไหวผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล และโกหกคำโตของนักการเมืองเมื่อรู้ว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป

“เมื่อข้อมูลข่าวสารคืออาวุธ เราทุกคนก็อยู่ในสงคราม” คือคำโปรยบนปกในของหนังสือเล่มนี้ และเมื่อเราต่างอยู่ในสงคราม การจัดการข้อมูลข่าวสารจึงมิได้เป็นเพียงแค่ ‘การโฆษณาชวนเชื่อ’ ดังที่เคยเป็นมา

 

 

7. How Fear Works: Century of Fear in the 21st Century

Frank Furedi เขียน

จัดพิมพ์โดย Bloomsbury

แนะนำโดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ

ความกลัวเป็นอารมณ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ถ้ามนุษย์หยุดกลัว เราคงเผชิญภยันตรายต่างๆ โดยมิได้คิดว่าจะระวังหรือป้องกันภัยเหล่านี้ได้อย่างไร เอาเข้าจริงแล้ว ความกลัวเป็นแรงขับเคลื่อนอารยธรรมของมนุษย์ ศาสนาหลักๆ ของโลกพัฒนาจากฐาน “Thou shalt fear”

ใน How Fear Works นักปรัชญาเลื่องชื่ออย่าง Furedi ชี้ให้เห็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยว่าด้วยความกลัว ในยุคที่พระเจ้ายังไม่ตาย ความกลัวมีศูนย์กลางและทิศทาง คือเรารู้ว่าจะกลัวอะไร/ใคร รวมถึงกลัวเพื่ออะไร ด้วยเหตุนี้ความกลัวจึงจำกัดอยู่ในเรื่องทางจิตวิญญาณสูงสุด แต่ในเรื่องทางโลกมีคุณค่าอีกชุดกำกับความกลัว เช่น ความกล้าเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องชุมชน หรือกล้าเปลี่ยนสังคมแบบพลิกฟ้า เป็นต้น

Furedi ชี้ว่านับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ความเป็นสมัยใหม่ทำให้คุณค่าทางจิตวิญญาณถูกตั้งคำถามมากขึ้น ผลประการหนึ่งคือศูนย์กลางของความกลัวเสื่อมสลาย เป้าหมายของความกลัวมีลักษณะกระจัดกระจายและไร้ทิศทางมากขึ้น

มนุษย์ในยุคสมัยใหม่ถูกบอกให้กลัวเชื้อโรค อุบัติเหตุ อาชญากรรม อาหารการกิน การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อนาคตที่เราไม่รู้ ฯลฯ

ท่ามกลางการกระจายอำนาจของความกลัว ความกระวนกระวาย (anxiety) เป็นสิ่งคู่ชีวิตมนุษย์ เรากล้าเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนน้อยลง และมักไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนมากนัก เพราะการเปลี่ยนแปลงมากับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อภยันตรายที่เราไม่รู้

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงความกลัวในบริบทการเมืองโลกมากนัก แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจกระแสอนุรักษนิยม รวมถึงอำนาจนิยมการเมืองโลกขณะนี้ หากปราศจากการฉวยใช้ประโยชน์จากการแพร่กระจายของความกลัว กระแสการเมืองเช่นนี้คงยากที่จะได้ใจมวลชนผู้ถูกบอกให้หวาดกลัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

 

8. Futuration เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต

สันติธาร เสถียรไทย เขียน

สำนักพิมพ์มติชน

แนะนำโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

สวัสดีปีใหม่ผู้อ่าน 101 ในโอกาสปีใหม่นี้ ผมขอแนะนำหนังสือ ‘Futuration เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต’ โดย ดร.สันติธาร เสถียรไทย ให้เข้ากับบรรยากาศแห่งความเปลี่ยนแปลง

ปี 2019 เป็นอีกหนึ่งปีแห่งการปะทะ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง เราเห็นการปะทะกันเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศ หรือระดับโลก

เราเห็นสหรัฐฯ ปะทะกับจีนทางเศรษฐกิจ ด้วยการทำสงครามการค้า เราเห็นคนอังกฤษปะทะกันทางความคิด เรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป เราเห็นคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐบนท้องถนนเพื่อต่อต้านรัฐบาลจีน และเราเห็นการปะทะกันทางการเมือง เพื่อสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย

ทศวรรษที่ 2010 กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ทำไมเรายังต้องเถียงเรื่องความจำเป็นของประชาธิปไตย การค้าเสรี และความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจอยู่อีก

ผมเจอคำอธิบายที่น่าสนใจในเชิงเศรษฐกิจของเรื่องนี้ อยู่ในหนังสือ Futuration

ดร.สันติธาร บอกว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งตามโลกไม่ทัน ตกขบวนรถไฟแห่งโลกาภิวัฒน์ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คนส่วนหนึ่งเป็นเหยื่อของความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ไม่มีทักษะที่จำเป็นในการปรับตัว

ในหนังสือมีการอ้างถึงผลการศึกษาของธนาคารโลก ว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนที่รวยมากอยู่แล้วจะยิ่งรวยขึ้น คนที่ฐานะยากจนมาก ก็มีฐานะดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น จีน แต่คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คือคนที่มีฐานะปานกลางถึงสูง ที่แม้ไม่ยากจนข้นแค้น แต่ก็ไม่รวยมากพอที่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการพัฒนาเศรษฐกิจบนโลกเสรี คนเหล่านี้มักกระจุกตัวในบริเวณเดียวกันคือ เมืองที่เคยรุ่งเรืองจากยุคอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันไม่เหลือความรุ่งเรืองแบบในอดีตแล้ว

ความไม่พอใจของคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจำนวนมาก ก่อตัวเป็นกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ เพื่อหยุดหรือชะลอการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึง เป็นที่มาของการโหวตเลือกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์ Brexit

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่การอธิบายปรากฏการณ์ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ที่กำลังท้าทาย ‘คน’ เท่านั้น แต่ผู้เขียนยังได้เสนอมุมมองที่มีต่อการศึกษา วิธีคิด และทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต สำหรับรับมือกับโลกใบใหม่ เปลี่ยนความกลัวที่มี ให้เป็นความกล้า เพื่อสร้างอนาคตให้กับตนเอง แม้ว่าโลกจะเปลี่ยน หรือปะทะกันอย่างรุนแรงแค่ไหนก็ตาม

 

 

9. วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ

ร เรือในมหาสมุท เขียน

สำนักพิมพ์ พะโล้ (Palo Publishing)

แนะนำโดย จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล

นวนิยายไลท์โนเวลฉบับนี้ จินตนาการถึงโลกที่ปัญญาประดิษฐ์พัฒนาจนมีบทบาททดแทนอาชีพของนักเขียน

หน้าที่ของมนุษย์เหลือแค่ดูและบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์นักเขียนให้คอยผลิตงานเขียน หรือคอยอัพเกรดคอมพิวเตอร์ เพิ่มหน่วยความจำ เพิ่มหน่วยประมวลผล

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไลท์โนเวลเล่มนี้สนใจเป็นพิเศษคือพัฒนาการทางความคิดความรู้สึกนึกคิด รวมทั้ง ‘อารมณ์’ ของปัญญาประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่เป็นนักเขียน ปัญญาประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่เขียนนวนิยายที่ซับซ้อนย่อมมีความคิดที่ลึกซึ้งไปด้วย

นอกจากจะพาเราจินตนาการไปกับความคิดของปัญญาประดิษฐ์แล้ว ไลท์โนเวลที่อ่านเพลินแต่ไม่ ‘เบา’ เลยเล่มนี้ ยังพาเราไปสัมผัสกับประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ การประกวด การเรียนรู้และปรับตัวอีกด้วย

 

 

10. Super Continent: The Logic of Eurasian Integration

Kent E. Calder เขียน

จัดพิมพ์โดย Stanford University Press

แนะนำโดย จิตติภัทร พูนขำ

วันนี้ การหวนคืนของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของคนที่ศึกษาการเมืองระหว่างประเทศและการต่างประเทศ การถือครองอำนาจทางทะเลแบบดั้งเดิมกำลังถูกท้าทายด้วยการก่อตัวของมหาอำนาจใหม่ และการสะสมกำลังอำนาจทางบกในพื้นที่ใจกลางของยูเรเชีย ทฤษฎีพื้นที่ใจกลาง (Heartland theory) เคยเสนอว่า ผู้ใดกุมอำนาจพื้นที่ยูเรเชียได้ นั่นหมายถึงแนวโน้มที่จะครองอำนาจนำในการเมืองโลก

หนังสือ ‘Super Continent: The Logic of Eurasian Integration’ ของ Kent E. Calder จึงมีความโดดเด่นมากในห้วงยามของการพลิกโฉมภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกากับจีน

ผู้เขียนนำเสนอยูเรเชียในฐานะ ‘อภิมหาทวีป’ (Super Continent) ที่กำหนดชะตากรรมทางภูมิรัฐศาสตร์ของการจัดระเบียบโลกและระเบียบภูมิภาคอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน ทั้งยังวิเคราะห์เจาะลึกปัจจัยทางประวัติศาสตร์ช่วงยาว ปัจจัยเชิงกระแสความคิด (ที่เขาเรียกว่า Silk Road Syndrome) ปัจจัยภูมิเศรษฐศาสตร์ (เช่น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร เทคโนโลยี ทุน การเงิน และโครงสร้างพื้นฐาน) รวมทั้งปัจจัยมหาอำนาจและปัจจัยการเมืองภายใน ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงในยูเรเชีย ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของจีน สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียของรัสเซีย หรือองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ในเอเชียกลาง

หนังสือ Super Continent ช่วยเปิด ‘อภิมหาเกม’ ทางภูมิรัฐศาสตร์และการบูรณาการในยูเรเชีย ทั้งในระนาบของทฤษฎี และเชิงประจักษ์ อย่างเป็นระบบ ทั้งยังชวนเปิดประเด็นถกเถียงใหม่ๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อยอีกด้วย

 

 

11. Lolito

Ben Brooks เขียน

แนะนำโดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

ด้วยภาระงานเขียน งานสอน และการติดซีรีส์ ทำให้ชีวิตช่วงหลังผมอ่านหนังสือน้อยลงอย่างน่าละอาย จึงขอมักง่ายแนะนำหนังสือที่ตัวเองแปลครับ (ฮา) เนื่องจากช่วงนี้เป็นบรรยากาศของการใคร่ครวญถึงทศวรรษ 2010 ที่กำลังจะผ่านไป เลยทำให้นึกขึ้นได้ว่านิยายเรื่อง ‘Lolito’ ของ Ben Brooks อันว่าด้วยเด็กหนุ่มกับสาวแก่ที่เจอกันในห้องแชท ดูจะเป็นเรื่อง ‘เชย’ ไปแล้วสำหรับยุคนี้ ยุคที่มีแอปพลิเคชั่นนัดเดตหาคู่ที่รวดเร็วทันใจจนเหลือเชื่อ

Lolito ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 ถูกแปลเป็นภาษาไทยปี 2015 ความน่าสนใจคือรีวิวจากเว็บ Goodreads ไม่ค่อยมีแบบกลางๆ จะเป็นเกลียด 1 ดาว หรือชื่นชม 4-5 ดาวไปเลย นิยายเรื่องนี้มีความเฉพาะด้านภาษา เต็มไปด้วยการพร่ำบ่นของตัวละครอย่างกักขฬะ คำแสลงแบบชาวอังกฤษ มุกตลกที่ล้ำเส้นความถูกต้องทางการเมือง (PC) จนเรียกได้ว่าเป็น ‘The Catcher in the Rye เวอร์ชันต่ำตม’ ที่ตัวละครเป็นเด็กเกรียนและเอาแต่เมาเหล้า

อีกสิ่งที่นึกถึงจากหนังสือเล่มนี้คือความตายของสื่อสิ่งพิมพ์ เนื่องจากสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ Lolito ภาคภาษาไทยได้ม้วยมรณาไปแล้ว แม้ตัวเองจะเป็นผู้แปลก็ยังไม่ทราบเลยว่า ณ ตอนนี้จะหาซื้อหนังสือได้จากไหน

อย่างไรก็ดี แม้หลายสิ่งจะแปรผันผ่านไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงและสะท้อนผ่าน Lolito คือความงี่เง่าอย่างแสนเจ็บปวดของเหล่าหนุ่มสาว ที่กาลต่อมาได้แต่เฝ้าถามตัวเองว่า “ฉันเคยทำอะไรโง่ๆ แบบนั้นเหรอ” แต่มันก็เป็นประสบการณ์ล้ำค่าด้วยเช่นกัน

 

 

12. จีน-เมริกา : จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี ถึงสงครามเย็น 2.0

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียน

สำนักพิมพ์ Bookscape

แนะนำโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ปีนี้เป็นปีที่อ่านหนังสือเล่มน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่จำเป็นกับงานจริงๆ แทบไม่ได้อ่านหนังสือที่นอกเหนือจากงานเลยฉะนั้นเล่มที่ขอเลือกแนะนำคือ จีน-เมริกาฯ

ผู้เขียนเขียนหนังสือได้อ่านง่ายแล้วก็สนุกมากๆ ทั้งที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ละเอียดอ่อน นอกจากนี้ยังให้มุมมองที่น่าสนใจ เพราะมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ที่เมื่อบอกว่าเชี่ยวชาญในเรื่องจีน ก็มักจะออกแนวโปรจีนหรือวิตกจริตกับจีนมากจนเกินไป แต่คนที่จะมองจีนอย่างลุ่มลึกและตั้งรับอย่างมีชั้นเชิงได้แบบนี้ หาตัวจับได้ไม่ง่ายนัก หนึ่งในนั้นคืออาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร

 

 

13. อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์

แนะนำโดย กษิดิศ อนันทนาธร

ผมขอแนะนำหนังสือ ‘อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์’ ครับ เพราะเห็นว่าเป็นหนังสืองานศพที่น่าอ่าน ‘ที่สุดแห่งปี’ นอกจากรูปภาพหายากจำนวนมากแล้ว ข้อเขียนต่างๆ ในเล่ม ก็สะท้อนถึงความคิดและเล่าเรื่องชีวิตของผู้ตายได้เป็นอย่างดี

อ่านจบแล้วจะรู้จักเธอมากกว่าการเป็นลูกสาวของรัฐบุรุษอาวุโส และการเป็นลูกสะใภ้ของศรีบูรพา นอกจากนี้ยังได้รับพระเมตตาจากกรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานคำไว้อาลัยมาลงในหนังสือเล่มนี้ด้วย

มีไฟล์ให้ดาวน์โหลดอ่านฟรี ที่นี่

 

 

14. สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ

ปรีชา พิณทอง เขียน

แนะนำโดย แมท ช่างสุพรรณ

หลายวันก่อนมีเหตุการณ์ทำให้ผมต้องย้อนมองกลับไปในความทรงจำว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นในความรับรู้ได้อย่างไร มีเรื่องราวมากมายที่รอคอยอยู่ในนั้น แต่สิ่งที่ทำให้ผมหยุดนิ่งและใช้เวลานานในการเพ่งพิศคือมโนทัศน์ของอีสาน อีสานในความหมายของตัวเอง อีสานที่เคยเกิดขึ้น เป็นอยู่ และสืบไป

อีสานแรกๆ ในความทรงจำคือกลิ่นใบย่านางจากอาหารแปลกตาในห่อข้าวของเพื่อนที่ต้องโยกย้ายมาจากถิ่นฐานบ้านเกิด รสของปลาร้าครั้งแรกที่เรียนรู้ในวัยประถมจากรถเข็นขายข้าวเหนียวไก่ย่างในโรงเรียนที่ผู้ปกครองทำงานอยู่ คนงานพูดจาภาษาอื่นที่มารับจ้างในสวนข้างบ้าน และสืบเนื่องต่อมาถึงกลุ่มเพื่อนเหล้าเพื่อนเรียนในมหาวิทยาลัย คนงานที่เคยอยู่ในปกครอง และใครต่อใครทั้งหลายที่เลื่อนเลยมาในชีวิต

การอ่าน ‘สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ’ ด้วยเหตุที่เกิดจากการระลึกถึงความหลัง ทำให้เห็นภาพที่เคยเห็นในความทรงจำชัดเจนขึ้น การอรรถาธิบายในแต่ละคำทำให้ทัศนียภาพของภาษาในความคิดเปลี่ยนแปลงไปตามภูมิทัศน์ของถ้อยคำ บางครั้งก็หวนให้คิดถึงความงามตาที่เกิดขึ้นจากฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง บางครั้งก็ทำให้ในใจมีแต่ความยกย่องมอบให้แก่ผู้จัดทำ บางครั้งก็ทำให้มองความเป็นอื่นด้วยความหมายใหม่ และหลายครั้งก็อยากให้ใครต่อใครใส่ใจในความหมายของถ้อยคำที่เป็นอื่นมากกว่านี้

สารานุกรมเล่มนี้เปรียบเสมือนจุดพบพานของกระแสลมต่างทิศที่ทำให้เห็นความงดงามในความต่างของภาษา ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของการปวารณาตัวเพื่อสร้างสะพานในการไปมาหาสู่

และทั้งหมดคือเหตุผลของการเลือกหนังสือเล่มนี้

 

 

15. โอลีฟ คิตเตอริดจ์ Olive Kitteridge

Elizabeth Strout เขียน

อิศรา แปล

สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์

แนะนำโดย นรา

เป็นหนังสือที่พูดถึงความเป็นไปของชีวิต ความซับซ้อนของชีวิต ความยากของการมีชีวิต ความสุขและความทุกข์ในการใช้ชีวิต และความพยายามที่จะมีชีวิตและทำความเข้าใจชีวิต

 

 

16. การงานที่รัก (A Job to Love)

The School of Life เขียน

กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ แปล

สำนักพิมพ์ The School of Life Press

แนะนำโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์

ผมไม่แน่ใจว่าคนเราต้องรักงานที่เราทำขนาดไหน ผมเชื่อด้วยซ้ำไปว่าความรักกับการทำงานไม่ใช่ของคู่กัน และถ้าใครมีโอกาสได้ทำงานที่รัก ก็เป็นเพราะโชคและโอกาสที่คนจำนวนมากในโลกใบนี้ไม่มี และอาจไม่มีทางมี

ทว่าต่อให้ไม่ได้รู้สึกรัก แต่เราพอจะมีความสุขกับงานที่เราทำได้หรือเปล่า? ต้องมีความสุขมากแค่ไหน? เราจะหางานแบบนั้นเจอได้อย่างไร? และเป็นไปได้ไหมว่าเราจะเกิดตกหลุมรักสิ่งที่เราทำอยู่เข้าสักวัน?

‘การงานที่รัก’ พาเราเดินสำรวจความคิดและความสัมพันธ์ของเรากับการงานที่ไม่ได้เพียงทำเพื่อหาเลี้ยงชีวิต แต่กลับกลายเป็น ‘ชีวิต’ ของใครหลายคนโดยไม่ทันระวัง หนังสือชวนคิดถึงคำถามข้างบนด้วยด้วยท่าทีที่ไม่ได้สั่งสอน ทั้งยังพยายามเข้าอกเข้าใจสถานการณ์ชีวิตที่หลากหลายและไม่ได้ง่ายนัก

จุดเด่นคือหนังสือไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูป แต่ชวนเราตั้งคำถาม นอกจากนั้นยังนำเสนอเครื่องมือบางอย่าง คือแบบฝึกหัดที่สอดแทรกอยู่ในแต่ละบท ซึ่งน่าจะช่วยให้เราหยุดพัก ทบทวน และพูดคุยกับตัวเองบ้างในเวลาที่จำเป็น

 

 

17. American Bar : The Artistry of Mixing Drinks

Charles Schumann เขียน

จัดพิมพ์โดย Abbeville Press

แนะนำโดย ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ (ลุงเฮม่า)

ทำไมถึงควรอ่าน หากคุณดื่ม หรืออยากจะดื่มให้มันด่ำกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ โลกของสุรานั้นใหญ่โตกว้างขวาง และแสนรื่นรมย์ (ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักครองสตินะ จะได้ไม่เจ็บตัว) ลุงชาร์ลส์ ชูมัน เป็นนายบาร์รุ่นปู่ ผู้ซึ่งดูเก๋ามาก บาร์ของเขาชื่อ American Bar เป็นหนึ่งในตำนานบาร์

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องของบาร์ แต่เป็นเหมือนคู่มือสำหรับคนที่สนใจเรื่องเหล้าและเครื่องดื่ม มีตั้งแต่สุราประเภทต่างๆ ข้อมูลเบื้องหลังชนิดอ่านแล้วจำไว้โม้ วิธีการชงเหล้า ไปจนถึงสูตร cocktail นับร้อย ซึ่งทั้งหมดเป็น classic cocktail ซึ่งอยู่คู่โลกมาห้าสิบปีขึ้นไป

ถ้าสนใจเครื่องดื่ม ก็ต้องเริ่มที่ classic cocktail ก่อน จากนั้นจะสร้างสรรค์พิสดารอย่างไรก็เรื่องของคุณ และหนังสือเล่มนี้เสนอพื้นฐานของเครื่องดื่มได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง จริงอยู่ว่าเดี๋ยวนี้เรามีข้อมูลเรื่องเครื่องดื่มในออนไลน์มากมาย แต่ข้อได้เปรียบของหนังสือคือกระบวนการคิดและระบบของข้อมูล ซึ่งแน่นปึ้กกว่า

 

 

18. On Fire: The Burning Case for a Green New Deal

Naomi Klein เขียน

จัดพิมพ์โดย Simon & Schuster

แนะนำโดย เพชร มโนปวิตร

ปี 2019 เป็นปีที่ขบวนการสิ่งแวดล้อมระดับโลกกลับคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของเยาวชน Climate Strike นำโดยสาวน้อย Greta Thunberg ที่พากันออกมาแสดงพลังกดดันผู้นำให้ลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หนังสือ On Fire เล่มนี้รวบรวมบทความทั้งเก่าและใหม่ต่างกรรมต่างวาระของ Naomi Klein ในช่วงปี 2009-2019 โดยมีบทความใหม่ที่เน้นถึงความจำเป็นและโอกาสในการผลักดัน The Green New Deal แผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เป็นความหวังสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ปัญหาโลกร้อน จะว่าไปก็เป็นบททดสอบสำคัญของมวลมนุษย์ว่าจะเอาชนะความโลภอันไม่สิ้นสุนของตัวเองได้หรือไม่ จะสามารถเปลี่ยนแปลงวิกฤตร้ายแรงให้กลายเป็นโอกาสในการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ผุพัง เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับธรรมชาติให้กลับคืนมาได้ทันเวลาหรือเปล่า

แม้แนวโน้มการเมืองในช่วงที่ผ่านมาของนานาประเทศ ดูจะสวนทางกับความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง และทำให้ความหวังริบหรี่ลงไปทุกขณะ แต่ก็ยังมีหลายเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมาที่ทำให้เราไม่หมดหวังเสียทีเดียว โดยเฉพาะการได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่

แก่นกลางแนวคิดของ Naomi ยังคงเน้นอธิบายว่าทำไมทุนนิยมจึงเป็นรากของปัญหาทั้งปวง ซึ่งนำไปสู่การเมืองแห่งความโลภและความฉ้อฉล นโยบายต่างๆ ในนามของการพัฒนาจึงมุ่งไปที่ผลประโยชน์ระยะสั้น ผลประโยชน์ของพวกพ้อง

แม้โทนของหนังสือเล่มนี้จะเป็นแนวคิดนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย แต่ตรรกะเหตุผลของเธอก็น่ารับฟัง ผมคิดว่า Green New Deal เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก และความจริงทุกประเทศควรจะต้องมี เพราะมันคือการเปลี่ยน ‘ความฝันสู่โลกที่ดีกว่า’ ออกมาเป็นแผนปฎิรูปที่มีความเป็นไปได้

โลกที่เลือกข้างธรรมชาติ และส่งเสริมความเท่าเทียม มันคือความหวังในการขับเคลื่อนทางสังคม อ่านเพื่อเติมไฟ ไม่ให้ดับมอดไปเสียก่อนขณะที่ยังต้องเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง

 

 

19. His Dark Materials

Philip Pullman เขียน

จัดพิมพ์โดย Yearling

แนะนำโดย พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์

I confess I read so much technical stuff on trade and Brexit these days that most of the books I read are escapist. Highly recommended examples include: John Le Carré (proving that we can’t escape Brexit after all), Kate Atkinson’s Jackson Brodie novels (she has a brilliant writing style), Simon Mawer’s The Girl Who Fell from the Sky and sequel Tightrope (you have to read both), Ian Rankin’s Rebus books (for a flavour of Scotland), and the Montalbano novels of Andrea Camilleri, who died in July (for a completely different flavour of Sicily).

However in 2020, I’m going to reread Philip Pullman’s His Dark Materials trilogy. The recent BBC/HBO series of the first book, Northern Lights (see trailer), sparked a discussion in the family about whether the various strands in the trilogy tie together logically.

Irrespective of that debate, Pullman’s amazing imagination and knowledge have produced an incredible mix of fantasy, science, theology and politics, in a devastating attack on organised, authoritarian religion – in fact anything authoritarian but particularly religion, which is why the first movie version was toned down for American audiences. Thankfully the TV series hasn’t done that.

The trilogy was first published as a series of books for older children, but it’s a good read for adults too. As one commentator put it, children’s books normally focus on a small, narrow world. These books are about huge multi-universes. Definitely not a ‘101’ world!

And now a much darker series, the Book of Dust, is being published, which Pullman himself says might be more suitable for adults. Re-reading the original series is good preparation. I hope there’s a Thai translation.

Here’s a game for family and friends who know the books: what would your daemon be?

 

 

20. The Internationalists: How a Radical Plan to Outlaw War Remade the World

Oona A. Hathaway และ Scott J. Shapiro เขียน

จัดพิมพ์โดย Simon & Schuster

แนะนำโดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ผมชวนอ่าน ‘The Internationalists: How a Radical Plan to Outlaw War Remade the World’ ครับ

หนังสือเล่มนี้พยายามเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์โลกก่อนและหลังการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส เมื่อปี 1928 ที่เป็นความพยายามของนานาชาติในการทำให้สงคราม ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินความขัดแย้งระหว่างประเทศ กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายระหว่างประเทศไป

แม้สนธิสัญญาดังกล่าวจะไม่ได้ทำให้สงครามหายไปจากโลก (เกิดสงครามโลกครั้งที่สองไม่กี่ปีหลังจากนั้น) แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกอย่างมีนัยสำคัญ อ่านแล้วได้คิดหลายเรื่องว่าสันติภาพที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน มีบริบทในประวัติศาสตร์อย่างไร

 

 

21. The New Silk Roads : The Present and Future of the World

Peter Frankopan เขียน

จัดพิมพ์โดย Bloomsbury Publishing

แนะนำโดย ปิติ ศรีแสงนาม

หนังสือเล่มที่ 2 ในชุด The New Silk Roads โดยศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ Peter Frankopan แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ที่บอกเล่าเรื่องราวของการกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งของประเทศมหาอำนาจแห่งเอเชียด้วยมุมมองภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ มุมมองสหสาขาวิชาที่จับเอาทั้งเรื่องราวในทางประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยี ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจโลกไปตลอดกาล

ผู้เขียนเริ่มต้นเรื่องราวโดยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจากยุโรปสู่ตะวันออก ในบท ‘The Roads to the East’ ก่อนที่จะบอกว่า แท้จริงแล้ว มันไม่ใช่แค่การเดินทางไปตะวันออก หากแต่เป็น ‘The Roads to the Heart of the World’ และแน่นอนว่าที่จุดศูนย์กลางของโลกนั้น ถนนทุกสายกำลังมุ่งสู่ปักกิ่ง ‘The Roads to Beijing’ และสถานการณ์นี้ทำให้มหาอำนาจเก่าอยู่เฉยไม่ได้ ดังนั้นจึงเกิด ‘The Roads to Rivalry’ ก่อนที่หนังสือจะจบลงด้วยบทสรุปแห่งอนาคต ในบทที่ว่าด้วย ‘The Roads to the Future’

แม้หนังสือจะออกมาตั้งแต่ปี 2018 อันทำให้ข้อมูลส่วนใหญ่ในหนังสือเป็นข้อมูลระหว่างปี 2015 (หลังจากหนังสือเล่มแรกในชุด The New Silk Roads: A New History of the World ตีพิมพ์) จนถึงปี 2017 แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือวิธีการคิดวิเคราะห์ และเทคนิคการเล่าเรื่องของผู้เขียนต่างหากที่น่าสนใจและทำให้เราต้องอ่าน

 

 

22. 1984

George Orwell เขียน

รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์ แปล

สำนักพิมพ์สมมติ

แนะนำโดย พลอย ธรรมาภิรานนท์

“What is more important to you, privacy or security?” คือคำถามที่ฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น ตัวแทนจากประเทศไทยได้รับในรอบ 5 คนสุดท้ายในการประกวด Miss Universe 2019 ซึ่งจุดประกายการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในโลกออนไลน์

หนังสือเรื่อง ‘1984’ หรือชื่อไทยคือ ‘หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่’ น่าจะเป็นหนังสือที่ใช้อ่านประกอบการตอบคำถามและข้อถกเถียงดังกล่าวได้ดีเล่มหนึ่ง เป็นนวนิยายดิสโทเปีย ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1949 และเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของ George Orwell ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Animal Farm’ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยแนะนำให้อ่าน

‘1984’ เล่าเรื่องเขตการปกครอง Airstrip One ในปี 1984 ซึ่งอยู่ในภาวะสงครามมาอย่างยาวนาน ทำให้การสอดส่องดูแลของรัฐบาลอย่างเข้มงวดเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาซึ่งความมั่นคง (ซึ่งคลุมเครืออย่างยิ่งว่าเป็นความมั่นคงของใครกันแน่)

ตัวเอกของเรื่องคือ Winston (วินสตัน) ชายผู้ทำงานใน Ministry of Truth หรือกระทรวงแห่งความจริง จะพาเราไปหาคำตอบว่า เพราะเหตุใด 2 + 2 จึงมีค่าเท่ากับ 5 เพราะเหตุใดพรรครัฐบาลจึงมีสโลแกนว่า “Who controls the past controls the future: who controls the present controls the past” (ผู้ควบคุมอดีตย่อมควบคุมอนาคตได้ และผู้ควบคุมปัจจุบันย่อมควบคุมอดีต) และการสอดส่องดูแลด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงนั้น ต้องแลกด้วยอะไรบ้าง

 

 

23. The Beatles Lyrics

Hunter Davies เขียน

จัดพิมพ์โดย Little, Brown and Company

แนะนำโดย ปกป้อง ศรีสนิท

คนในศตวรรษที่ 20 คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินเพลงของ The Beatles การมีอยู่ของ The Beatles ได้รับการจัดให้เป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งของศตวรรษที่ 20

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เล่าที่มาของเพลงต่างๆ ของ The Beatles และแสดงเนื้อเพลงที่เขียนด้วยลายมือจริงของสมาชิกของวง เรียกได้ว่าเป็น museum ฉบับกระเป๋าของ The Beatles อย่างแท้จริง

The Beatles ให้ข้อคิดของการเป็น teamwork เพลงของพวกเขาเป็นตำนานและเป็นอมตะเพราะการทำงานเป็นทีมที่ลงตัว แม้เมื่อพวกเขาแยกวงและทำงานเดี่ยว ซึ่งสร้างเพลงดีๆ ออกมาอีกมากมาย แต่ผมว่าก็ไม่เหมือนสมัยเป็น The Beatles

 

 

24. The Man Who Solved the Market

Gregory Zuckerman เขียน

จัดพิมพ์โดย Portfolio / Penguin Random House

แนะนำโดย พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม

เรื่องราวของ Jim Simons อดีตศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ ที่ผันตัวเองจากโลกวิชาการมาเป็นนักลงทุน และก่อตั้งบริษัท Renassiance Technologies ที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูงอย่างมหัศจรรย์ โดยมีพื้นฐานความเชื่อว่าราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินมีรูปแบบที่ซ่อนอยู่ และสามารถค้นพบได้ด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์และสถิติขั้นสูง

หนังสือเล่มนี้เขียนให้กับผู้อ่านโดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีความรู้คณิตศาสตร์มาก่อน เมื่ออ่านจบอาจทำให้เกิดคำถามว่า ความรู้เศรษฐศาสตร์การเงินยังจำเป็นมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในยุคแห่ง Big data และ Machine learning

 

 

25. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน

สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน

แนะนำโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

เป็นหนังสือเกี่ยวกับกำเนิดและการเสื่อมสลายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ที่ดีที่สุด ทั้งลึกซึ้ง รอบด้าน ไขความกระจ่างและทลายมายาคติเกี่ยวกับปมปัญหาในประวัติศาสตร์ไทยหลายประเด็นอย่างหนักแน่น

ฉบับแปลเล่มนี้มีความพิเศษทั้งภาคผนวกและเอกสารชั้นต้นที่เพิ่มเติมเข้ามา เป็นหนังสือสำคัญและเหมาะกับยุคสมัยนี้—ยุคสมัยที่อดีตหวนคืนมาบรรจบและทับซ้อนกับปัจจุบันอย่างพิศวง

การอ่านเล่มนี้จึงไม่เพียงช่วยให้เข้าใจอดีต แต่ช่วยส่องสว่างให้เข้าใจปัจจุบันอย่างกระจ่างชัด

 

 

26. The Canterville Ghost – A Christmas Carol

Oscae wilde, Charles Dickens เขียน

วิภาดา กิตติโกวิท แปล

แนะนำโดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวที่น่าจะหาอ่านฉบับสมบูรณ์ได้ยาก เรื่องแรกเขียนโดยออสการ์ ไวลด์ เรื่องหลังเขียนโดยชาร์ลส์ ดิ๊กเก้นส์ แปลโดยวิภาดา กิตติโกวิท นักแปลที่ฝากฝีมือไว้มากมายรวมทั้ง ‘เหยื่ออธรรม’ กับ ‘สงครามและสันติภาพ’ ฉบับสมบูรณ์ สำนักพิมพ์คนบ้าหนังสือ ค.ศ. 2019 ลำพังชื่อนักเขียนสองท่านและนักแปล ไม่อ่านก็สมควรเก็บเข้าตู้

หลายคนน่าจะได้อ่านฉบับย่อหรือดูหนังคริสตมาสแครอลมาแล้ว รู้เรื่องของสครู้จและปีศาจคริสตมาสสามตน แต่จะไม่มีครั้งใดที่เรารู้จักสครู้จมากเท่านี้ คำพรรณนาเรื่องตัวเขาในหนังสือเล่มนี้ละเอียดลออมากกว่าที่เห็นในการ์ตูนหรือภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง มากเสียจนน่าจะเชื่อได้ว่าเกินเยียวยาแต่คริสตมาสเยียวยาได้ทุกสิ่ง

ส่วนผีแคนเตอร์วิลล์ เป็นเรื่องขำขันเสียดสีระบบทุนนิยมที่แผ่ขยายไปสามโลกรวมถึงโลกหลังความตายด้วย เมื่อชาวอเมริกันได้ไปอยู่ในคฤหาสน์เก่าแก่ของขุนนางอังกฤษ เท่ากับเปิดโอกาสให้นักเขียนได้ล้อเลียนอังกฤษไปด้วยในตัว และถ้าคิดถึงว่าหนังสือนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ก่อนปี 1900 จึงน่าสนใจยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้ล้ำยุคเพียงใด

 

 

27. Gender and the Path to Awakening: Hidden Histories of Nuns in Modern Thai Buddhism

Martin Seeger เขียน

จัดพิมพ์โดย Silkworm Books

แนะนำโดย สนิทสุดา เอกชัย

สมัยก่อนผู้หญิงไทยบวชพระไม่ได้ อย่างมากก็เป็นแม่ชี หรือปฏิบัติธรรมที่บ้าน แม้กระนั้นก็ยังมีแม่ชีและอุบาสิกาหลายท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนเชื่อกันว่าสำเร็จขั้นอรหันต์ เมื่อเสียชีวิตอัฐิกลายเป็นพระธาตุ

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Prof. Martin Seeger สอนไทยศึกษาที่ University of Leeds เคยบวชเป็นพระในไทยจนได้นักธรรมตรี เป็นผู้ที่เปิดเผยว่าคนที่เขียนหนังสือธรรมะเล่มดังที่เชื่อว่าเป็นบทสนทนาของเกจิอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์นั้น แท้จริงเป็นผู้หญิง คือ คุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร นอกจากท่านแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเล่าประวัติชีวิตของแม่ชีและอุบาสิกาอีกหลายท่าน ท่านเป็นใคร อยู่ที่ไหน อ่านหนังสือเล่มนี้ดู จะเห็นพลังทางจิตวิญญาณของผู้หญิงที่อยู่เหนืออุปสรรคทั้งปวง

 

 

28. The Secret of Our Success

Joseph Henrich เขียน

จัดพิมพ์โดย Princeton University Press

แนะนำโดย สันติธาร เสถียรไทย

โจทย์ใหญ่ในยุค 2020 ที่กำลังจะมาถึงคือ “บทบาทของมนุษย์คืออะไรในยุคแห่ง AI (ปัญญาประดิษฐ์)” แต่ก่อนจะตอบคำถามนั้นได้ เราต้องรู้ว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์พิเศษและต่างจากสัตว์อื่น อะไรคือ secret sauce ของปัญญามนุษย์ และเราจะสร้างเสริมมันได้อย่างไร

หนังสือเล่มนี้ใช้ทั้งชีววิทยา สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มาช่วยหาคำตอบว่าเราจะสร้าง “สังคมที่มีปัญญา” ได้อย่างไร

 

 

29. The Complete Persepolis

Marjane Satrapi เขียน

แนะนำโดย ชินธิป เอกก้านตรง

Persepolis เป็นเรื่องราวของประเทศอิหร่านในยุคปฏิวัติอิสลาม สงครามกับอิรัก ความสูญเสีย และการอพยพ

Satrapi (ผู้เขียน) เล่าเรื่องราวของเธอตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กไร้เดียงสาที่ไม่รู้ว่าการแบ่งแยกและทำสงคราม เกิดขึ้นเพื่ออะไรและเหตุใด จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่วัยขบถ พร้อมด้วยน้ำเสียงเสียดสีและความตลกร้าย

จริงๆ หนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว ไม่เสียดายที่ใช้เวลาอ่านพร้อมละเลียดเบียร์รวดเดียวจบ เสียดายที่เพิ่งมาได้อ่านตอนนี้นี่แหละครับ

 

 

30. Opposing the Rule of Law: How Myanmar’s courts make law and order

Nick Cheesman เขียน

จัดพิมพ์โดย Cambridge University Press

แนะนำโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ประเด็นปัญหาชวนคิดร่วมสมัยประการหนึ่งของสังคมที่ล้มลุกคลุกคลานกับวังวนของระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ ก็คืออุดมการณ์ทางการเมืองที่นำเข้าจากโลกตะวันตกมักจะถูกดัดแปลง ต่อเติม ลดทอน ให้มีความหมายที่แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในดินแดนต้นกำเนิดอย่างสำคัญ และในหลายครั้งก็อาจแปรเปลี่ยนไปในลักษณะที่เป็นด้านตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ

‘Opposing the Rule of Law: How Myanmar’s courts make law and order’ เขียนโดย Nick Cheesman แห่ง Australian National University ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 2015 อธิบายถึงความหมายของ Rule of Law (หลักนิติธรรม, หลักกฎหมายเป็นใหญ่ ในภาคภาษาไทย) ที่ถูกอธิบายและตีความด้วยอำนาจของฝ่ายตุลาการในสังคมพม่าให้กลายเป็นเรื่องที่เน้นความสำคัญของ ‘ความสงบเรียบร้อย’ มากกว่าการคำนึงถึงหลักการทางกฎหมายในแง่มุมอื่นๆ

งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายตุลาการก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมือง และสามารถจะกลายเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่รับใช้ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมได้โดยไม่ยากลำบาก

สำหรับผู้คนและนักกฎหมายในสังคมไทยจำนวนหนึ่งที่ยังคงมีความฝันลมๆ แล้งๆ ว่าอำนาจตุลาการเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลทางวิชาการที่เป็นกลาง ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำหรืออิทธิพลของอุดมการณ์ความเชื่อใดๆ หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ที่อาจช่วยเปิดหูเปิดตาให้ได้เห็นโลกของความเป็นจริงว่าไม่ได้เป็นเยี่ยงนั้น และจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นหากหันกลับมาตรวจสอบฝ่ายตุลาการในสังคมไทยบ้าง

 

 

31. Burmese Days

George Orwell เขียน

แนะนำโดย สมชัย สุวรรณบรรณ

ผมขอแนะนำนวนิยายเรื่องแรกของ George Orwell พิมพ์ครั้งแรกปี 1932 เป็นเรื่องความเลวร้ายของการใช้อำนาจกดขี่ประชาชนในอาณานิคมเอเชียใต้ ซึ่งตอนนั้นรวมถึงพม่าด้วย ทำให้เราเข้าใจสภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า และเหตุการณ์โรฮิงญาในปัจจุบัน และเข้าใจเรื่องลึกๆ ที่ว่าทำไมจึงเกิด Brexit

 

 

32. GRIT : สิ่งที่ต้องมี เมื่อคุณไม่มีแต้มต่อในชีวิ

Angela Duckworth เขียน

จารุจรรย์ คงมีสุข แปล

สำนักพิมพ์ วีเลิร์น

แนะนำโดย โสภณ ศุภมั่งมี

ที่จริงปีที่ผ่านมาเป็นปีที่มีหนังสือดีๆ ออกมาเยอะมาก แต่เล่มนี้ผมอ่านแล้วรู้สึกผูกพันเป็นพิเศษ ในประโยคแรกๆ ของหนังสือที่ผู้เขียนบอกว่า “รู้ไหม ลูกน่ะไม่ได้เป็นอัจฉริยะ” พออ่านประโยคนั้นปุ๊บก็รู้สึกจุกไปนิดหนึ่ง เพราะเมื่อก่อนตอนเป็นเด็กๆ ผมก็มักจะบอกตัวเองแบบนี้เสมอ อาจเพราะสังคมที่เติบโตขึ้นมานั้นมักยกยออัจฉริยภาพและพรสวรรค์ คนที่อยู่กลางๆ อย่างผมจึงมีความคิดฝังอยู่ในหัวมาว่าตัวเองคงเป็นอะไรไปไม่ได้มากไปกว่าอะไรกลางๆ ในสังคมแห่งนี้

แต่โชคดีที่ผมเป็นเด็กที่ค่อนข้างทรหดเอาเรื่อง ไม่ค่อยยอมแพ้อะไรง่ายๆ หาทางทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ และหนังสือ ‘Grit’ เล่มนี้ก็ทำให้รู้สึกว่ามันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนรองรับจริงๆ ว่า “ความทรหดอาจสำคัญกว่าพรสวรรค์” ซึ่งมันสามารถเปลี่ยนและฝึกกันได้

ผู้เขียนได้รับรางวัลแมคอาเธอร์ เฟลโลว์ชิพ ที่มักถูกเรียกกันว่า “เงินทุนสำหรับอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นรางวัลที่คุณไม่สามารถสมัครเองได้ ต้องให้เพื่อนร่วมงานของคุณเสนอชื่อเข้ารับรางวัล เธอเขียนเอาไว้ว่าถ้าเธอย้อนเวลากลับไปได้ เธอจะบอกกับพ่อตอนนั้นว่า “พ่อบอกว่าหนูไม่ได้เป็นอัจฉริยะ หนูจะไม่เถียง เพราะพ่อรู้จักคนมากมายที่ฉลาดกว่าหนู แต่หนูอยากบอกอะไรกับพ่ออย่างหนึ่ง หนูจะโตขึ้นแล้วรักงานของหนูมากเหมือนกับที่พ่อรักงานของพ่อ หนูจะไม่เพียงมีงานทำเท่านั้น แต่จะมีสิ่งที่ใจเรียกร้องให้ทำ หนูจะท้าทายตัวเองทุกวัน และเมื่อหนูล้ม หนูจะลุกขึ้นใหม่ หนูอาจไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด แต่หนูจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเป็นคนที่ทรหดที่สุด”

นี่คือหนังสือที่อยากแนะนำให้อ่านสำหรับการเริ่มต้นปีใหม่ เพราะกุญแจสู่ความสำเร็จอาจจะไม่ใช่พรสวรรค์ การศึกษา หรือฐานะ แต่เป็นอะไรที่เรียบง่ายและทรงพลังอย่าง ‘ความทรหด’ – ขอให้เป็นปีที่ทรหดครับ

 

 

33. ไกลกะลา : A Life Beyond Boundaries

เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เขียน

ไอดา อรุณวงศ์ แปล

สำนักพิมพ์อ่าน

แนะนำโดย ศุภชัย เกศการุณกุล

เราได้รู้จักทฤษฎี และหนังสืออันลือลั่นของอาจารย์เบเนดิกท์ แอนเดอร์สันตอนเรียนอยู่ปารีส เพื่อนส่งมาให้อ่าน ตามจริงเราเข้าใจไอเดียที่อาจารย์นำเสนอ แต่ไม่เข้าใจโดยละเอียดนัก เพราะอ่านในฐานะที่จะเข้าใจสังคม ไม่ได้ลงลึกไปในรายละเอียดในฐานะนักมานุษยวิทยา แต่ก็ทึ่งในมุมมอง การวิเคราะห์เชื่อมโยงและการอธิบาย

พอได้มาอ่านประวัติของอาจารย์ที่เขียนด้วยน้ำเสียงไม่เป็นนักวิชาการ แต่เป็นเหมือนผู้อาวุโสนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ในสวนเล่าให้คนสนใจได้ล้อมวงเข้ามาฟัง ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่สนุกสนานไปกับชีวิต การเรียนรู้ และการคลี่คลายของอาจารย์ แม้บางบทตอนจะพูดเรื่องแวดวงวิชาการ ก็อ่านข้ามๆ ไปบ้าง

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกเพลิดเพลิน สะกิดตัวเองให้มองโลกกว้างขวางขึ้น ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ทำให้อยากทำงานที่ทำอยู่อย่างลงลึก และอยากไปเห็นอินโดนีเซียในสายตาของอาจารย์เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน บ้างในวันหนึ่ง

 

 

34. The Great Gatsby

F.Scott Fitzgerald เขียน

แนะนำโดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

“So we beat on, boats against the current, borne back ceaselessly into the past.”

ประโยคลงท้ายในนวนิยายจากทศวรรษ 1920 อันจับใจคนอ่านตลอดกาล และอีกตอนหนึ่งในท้ายบทที่ 6 ที่ขอยกมาแทนเหตุผลที่เสนอเล่มนี้เป็นหนังสือ ‘น่าจะอ่าน’ รับปี 2020 ครับ

“You can’t repeat the past.”

“Can’t repeat the past?” he cried incredulously. “Why of course you can!” … “I’m going to fix everything just the way it was before,” he said, nodding determinedly. “She’ll see.”

He talked a lot about the past, and I gathered that he wanted to recover something, some idea of himself perhaps …

Through all he said, even through his appalling sentimentality, I was reminded of something—an elusive rhythm, a fragment of lost words, that I had heard somewhere a long time ago. For a moment a phrase tried to take shape in my mouth and my lips parted like a dumb man’s, as though there was more struggling upon them than a wisp of startled air. But they made no sound, and what I had almost remembered was uncommunicable forever.

 

 

35. UNTOUCHABLES

Narendra Jadhav เขียน

แนะนำโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

เหตุผลที่เลือกเล่มนี้ เพราะคิดว่า “หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้กำลังใจใครหลายคนที่อาจท้อแท้กับปีที่ผ่านมา เพราะมันบอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดาซึ่งอยู่ในวรรณะต่ำสุดของสังคมอินเดียที่ฝันอยากให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญมันช่วยคลายความสงสัยของใครหลายคนเกี่ยวกับระบบวรรณะของอินเดียได้เป็นอย่างดี”

 

 

36. Grandma, I Want a Penis

ดุษฎี ฮันตระกูล เรื่องและภาพ

แนะนำโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

จัดพิมพ์เนื่องในนิทรรศการ ‘They Talk’ ที่บางกอก ซิติซิตี้ แกลเลอรี่

“My name is Pia, and I want a penis.
So I can play pee pee fencing with my two brothers.”

หนังสือเล่มเล็กบางขนาดกระชับมือ บนปกสีส้มสดมีภาพลายเส้นแบบเด็กๆ รูป ‘จู๋’ หลากหลายขนาดและสายรุ้งเล่มนี้ เป็นเรื่องราวของ Pia เด็กหญิงที่เฝ้าคอยให้ Grandma ซื้อจู๋มาให้จากตลาดทุกวันอาทิตย์ เพื่อที่จะ “attach it to my vagina, and use it as a pee pee sword”

‘Grandma, I Want a Penis’ อยู่ระหว่างการเป็นหนังสือนิทาน หนังสือเพศศึกษาสำหรับเด็กเล็กว่าด้วยความแตกต่างของอวัยวะเพศชายและหญิง หนังสือที่ชวนให้คิดถึงความเลื่อนไหลของเพศสภาพ (ที่จะหักมุมกลับในตอนท้าย) และหนังสือว่าด้วยการเลี้ยงดูเด็กในหัวข้อการให้สัญญาและการรักษาคำพูดของผู้ใหญ่

แต่ละหน้ามีข้อความภาษาอังกฤษเพียงหนึ่งประโยค กับภาพประกอบลายเส้นทั้งสีและขาวดำดูน่ารัก ชวนให้อ่านเปิดอ่านจนถึงหน้าสุดท้ายที่ความเป็นเด็กน้อยไร้เดียงสาได้จางหายไป เพื่อเปิดทางให้ความทะลึ่งทะเล้นที่มีแต่ผู้ใหญ่ที่เข้าใจได้เข้ามาแทนที่

 

 

37. มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง เขียน

สำนักพิมพ์ อ่าน

แนะนำโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เราจึง “เข้าใจได้แค่นี้แหละ” – บทความปริทัศน์ “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” โดย ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

ความจริงหนังสือที่ผมเลือกเล่มนี้ “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” ได้รับการแนะนำและยอมรับว่าเป็นหนังสือยอดเยี่ยมไปแล้วมากพอสมควร แต่ผมเพิ่งอ่านจบ จึงขอถือโอกาสนี้พูดอะไรเล็กน้อย ถึงความคิดและความรู้สึกที่ได้จากการอ่านครั้งนี้

เริ่มจากความหมายนัยของตัวเล่ม ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเล็กด้วยขนาดพ๊อกเกตบุ๊ก แต่หนามากๆ ด้วยความยาวทั้งหมด (รวมภาพบันทึกลายมือเขียน 4 สีอีกหลายหน้า) 852 หน้า ทำให้หนังสือเล็กๆ เล่มนี้หนักมากเป็นพิเศษ กระทั่งเมื่อเข้าใจว่าจุดประสงค์เพื่อทำให้เหมือนพระคัมภีร์ไบเบิลที่ผู้เขียนนับถือ จึงกระจ่างและทำให้ลดความหนักลงไปบ้าง

ประเด็นต่อมาคือเนื้อหาสาระและความคิดที่ถูกจดจารเอาไว้อย่างละเอียดและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ไม่ใช่แต่เฉพาะของผู้เขียนเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมไปถึงบรรดาผู้ต้องขังสตรีทั้งหมดในทัณฑสถานหญิงแห่งนั้นแทบครบถ้วนหมด เรียกว่าเป็นบันทึกของมวลชนสตรีในคุกได้ ทว่าผู้เขียนก็เตือนไว้แต่ต้นว่า “นี่ไม่ใช่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในคุกนั่นหรอก และคุณก็น่าจะเข้าใจได้ว่าเราเขียนทุกอย่างที่เกิดขึ้นในคุกตลอดสองปีเป็นหนังสือไม่ได้หรอก แม้เราจะจำมันได้แม่นทุกรายละเอียดก็ตาม”

“มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” ของภรณ์ทิพย์ มั่นคง เล่าถึงสภาพที่เป็นจริงภายในคุกโดยผ่านชีวิตและการกระทำทั้งหลายของผู้ต้องขังและนักโทษบางคน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ทำให้เห็นภาพและความจริงของคุกสมัยโลกาภิวัตน์ว่าเป็นอย่างไร โดยรวมๆ แล้วผมมองเห็นสภาพและโครงสร้างของสังคมไทยทั้งหมดถูกหลอมรวมและขับให้เด่นออกมาในบางมิติ รวมถึงสะท้อนความคิดของคนในสังคมอย่างแหลมคมและเจ็บแสบยิ่งกว่าละคร เพราะมันเป็นเรื่องจริงและคนจริงๆ

มีคนเคยศึกษาและบอกก่อนแล้วว่า หน้าที่และบทบาทอันสำคัญยิ่งของคุกคือการใช้อำนาจ แน่นอนเพราะคนที่ถูกส่งให้มาเข้าคุกคือคนที่ทำความผิด หรือพูดแบบทางการไทยคือคนที่หลงทาง คุกจึงต้องมีหน้าที่หรือพันธกิจ (แบบหน่วยงานที่ต้องระบุให้ดูดี) ในการทำให้คนคุกกลายเป็นคนดีหรือรู้ทางที่ถูกต่อไป

ผลงานของคุกมีการศึกษามากมาย ไม่จำเป็นต้องมาสาธยายอะไรต่อไป สรุปจากการวิจัยศึกษามาทั่วโลกต่างได้ผลการศึกษาเหมือนกันคือไม่ประสบความสำเร็จ ผลงานที่คุกทำได้ดีโดยที่ไม่อยู่ในพันธกิจคือการทำให้นักโทษและผู้ต้องขังกลายเป็นคนที่เชี่ยวชาญและมีทักษะรอบด้านขึ้นในการทำความผิดต่อรัฐและเจ้าทรัพย์ได้มากขึ้นกว่าเก่า

สัจธรรมประการแรกที่นักโทษตระหนักและเรียนรู้คืออำนาจอยู่ที่ไหน มันทำงานอย่างไร เพื่อที่จะหาทางหลบเลี่ยง หลีกลี้ และสลายมันลงไป การทำลายหรือต่อต้านอำนาจในคุกโดยตรงๆ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หรือไม่ควรทำเ พราะในที่สุดจะไปไม่รอดและจะถูกลงโทษหนักกว่าเดิมอย่างมาก การเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และกระทั่งสามารถกำกับทำให้มันเป็นเครื่องมือของเราได้ต่างหาก ที่ตื่นเต้นและให้ความหมายแก่ชีวิตที่ไม่รู้อนาคตได้ต่อไป

“เมื่อติดคุก เราต้องเรียนรู้ให้เร็ว ต้องรู้ว่าศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ไหน เมื่อรู้แล้วชีวิตก็ง่ายขึ้น” จากนั้นผู้เขียนก็เริ่มต้นเล่าถึงชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอน กินข้าว ทำงาน พัก ทำงาน อาบน้ำ กินข้าวแล้วนอน เป็นกิจวัตรประจำวัน ท่ามกลางกิจกรรมที่ไม่มีอะไรแปลกประหลาดจนคิดไม่ถึงว่าจะมีอะไรให้เขียนถึง

ผู้เขียนมีสายตาและความคิด ซึ่งสะท้อนโลกทัศน์และปรัชญาชีวิตชุดหนึ่งที่ทำให้มองเห็นว่ากิจกรรมประจำวันอันแสนธรรมดานั้นเต็มไปด้วยสีสัน ความต้านตึง กระทั่งความขัดแย้งปะทุออกมาได้ เพราะผู้ต้องขังทุกคนเป็นคนและมีเลือดเนื้อจิตใจ ประกอบกันเป็นอารมณ์และความคิดที่เข้ากันหรือต่างกันได้ เมื่อถูกบีบคั้นจากสภาวะแวดล้อมและกายภาพที่จำกัดและกดทับตลอดเวลา การเอาตัวรอดจึงเป็นภาวะธรรมชาติอันแรกๆ ของคนในคุกไป

สิ่งที่เกิดเป็นประจำในชีวิตประจำวันคือของหาย ทั้งๆ ที่ข้าวของก็ถูกจำกัดและห้ามมีในเรือนจำก็เยอะ เช่น ของมีคม ของมีค่าทั้งหลาย เหลือแต่อุปกรณ์สำหรับยังชีพ เช่น ช้อน ชาม เสื้อผ้า ขนมนมเนย สบู่และขัน เหล่านี้หายได้เป็นปกติ แม้เสื้อใน กางเกงใน ก็ต้องมีกุญแจเวลาตาก รายละเอียดในกิจกรรมที่ขอยืมศัพท์นักมานุษยวิทยามาใช้ก็คือ มันเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่งหรือเป็นอาวุธของคนที่อ่อนแอหรือคนที่ถูกพรากเอาเสรีภาพและชีวิตของเขาไป ที่หนังสือเล่มนี้จาระไนไว้อย่างพิสดารและมีอารมณ์แสบนั้น ทำให้อ่านได้อย่างวางไม่ลง

อีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านตรงข้ามกับบรรดาผู้ต้องขัง คือฝ่ายผู้มีอำนาจและหน้าที่ ผู้เขียนเล่าวิธีการทำงานและสัมพันธภาพระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังอย่างเต็มไปด้วยความรู้สึก กิจกรรมหลักที่ต้องทำทุกวันและวันละหลายครั้งคือการ “นับยอด” มันคือการนับจำนวนสมาชิกทั้งหมดของพื้นที่นั้นๆ เพื่อทำให้มั่นใจว่าไม่มีใครหลบหนีหรือหายไปจากสายตาของเจ้าหน้าที่ได้ มันคือการควบคุมอย่างหนึ่ง รวมไปถึงการมีระเบียบกำหนดเวลาในการอาบน้ำ กินข้าว เยี่ยมญาติ ทุกเรื่องต้องมีลักษณะการควบคุมในตัว เพื่อไม่ให้สมาชิกสามารถหลบเลี่ยงหรือถ่วงเวลาในการทำกิจกรรม

ที่น่าสนใจคือการเอาผู้ต้องขังบางคนมาข่วยเจ้าหน้าที่ทำงาน ในนั้นจึงมี “แม่” มากมาย ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ที่เจ้าหน้าที่มอบหมายให้คุมผู้ต้องขังคนอื่นๆ มีคนทำงาน ช่วยงานต่างๆ ในเรือนนอน เรือนทำงาน ที่สะท้อนความเป็นไทยยิ่งคือบรรดาแม่พี่เลี้ยงคนทำงานทั้งหลาย เวลาพูดกับเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องเรียกว่า “คุณ” นั้น ต้องคุกเข่าและคลานอยู่บนพื้น จนหัวเข่าและตาตุ่มด้านและสีดำ ส่วนตูดก็เป็นรอยดำเป็นวงๆ

จากนั้นก็เกิดเครือข่ายของแม่และพี่ที่ช่วยให้ผู้เขียนดำรงชีวิตและความปลอดภัย ไปถึงการเป็นเจ้าของอุปกรณ์ชีวิตประจำวันไว้ได้พอประมาณ สิ่งค้นพบใหม่สุดคือนวัตกรรมของคุกไทย ได้แก่อาหาร จะด้วยการที่ทัณฑสถานนี้เป็นหญิง ทำให้กิจกรรมเรื่องการหาและทำอาหารกลายเป็นงานที่หลายคนถนัดและเต็มใจจะทำก็ได้ แต่ผู้เขียนเชื่อว่ามันมาจากการที่ความคิดสร้างสรรค์เมื่อถูกกดขี่ จึงต้องหาทางทำใหม่ ด้วยข้อห้ามและข้อจำกัดจึงเอาเท่าที่มี ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมในอาหารแต่ละมื้อแต่ละวันที่ไม่เหมือนเดิม

ในระหว่างบรรทัดนี้เองที่ผู้เขียนสอดแทรกและแสดงความคิดความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนร่วมทุกข์ในคุก ไปถึงจินตนาการของเธอต่อสังคมในอุดมคติ ผู้เขียนเติบโตและบ่มเพาะทางศรัทธาและความเชื่อในศาสนาคริสต์ ทำให้มีวิธีคิดแบบทวิวัจน์ (dialogue) ซึ่งเธอเปรียบเปรยว่าเป็น “ปีศาจน้อย” กับ “นกน้อย” ในตัวเอง เจ้าปีศาจเป็นตัวแทนของอารมณ์และความรู้สึกทางโลก ส่วนนกน้อยเป็นตัวแทนของความเป็นอุดมคติและจินตนาการของโลกหน้า

วันที่เข้าคุกเธอกล่าวว่าเจ้านกน้อยถูกพรากออกไปจากหัวใจด้วย หมายความว่าวันเวลาแห่งการฝันถึงโลกในอุดมการณ์ได้ถึงทางตันแล้ว ต่อไปคือการผจญภัยในโลกใหม่ ที่มีแต่เจ้าปีศาจเป็นเพื่อนคิด
แต่ในความเป็นจริง เมื่อเธอก้าวข้ามอุปสรรคและเข้าไปอยู่ในเครือข่ายของอำนาจนั้นแล้ว กลับช่วยสร้างการสนทนาให้กลับคืนมาอีก เจ้าปีศาจน้อยไม่อาจดำรงอยู่เพียงฝ่ายเดียวได้ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เป็นจริงของเธอ เสียงแห่งมโนธรรมที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าจึงดังออกมา

…“หากมนุษย์เกิดมาเพื่อรักและปฏิวัติ ไยพระองค์จึงให้มนุษย์ลุ่มหลงในความรักมากกว่าการปฏิวัติ” ปีศาจถาม “ไม่มีเหตุอันใดที่เราจะต้องเกรงกลัวความรักหรือการปฏิวัติของมนุษย์ เพราะสุดท้ายมนุษย์จะล้มเหลวทั้งกับความรักและการปฏิวัติ มนุษย์จะจมปลักอยู่กับการห้ำหั่นกันเอง ไม่ว่าในนามเราหรือนามพระเจ้าองค์ใหม่ที่พวกเขาสถาปนาขึ้นมา อย่างสิทธิมนุษยชน สันติภาพ มนุษยธรรม” คือคำตอบของพระบิดาที่สร้างความเจ็บปวดเคืองแค้นให้แก่เจ้าปีศาจ

เจ้าปีศาจหลั่งน้ำตาให้กับชะตากรรมของโลกใบนี้

“เธอโกรธพระบิดาไหม” ฉันเอ่ยถามเบาๆ

“ไม่ พระองค์คือพระบิดาฉัน วันหนึ่งฉันจะร้ายกาจให้ได้อย่างพระองค์ ไม่มีมนุษย์หรือปีศาจหน้าไหนจะร้ายกาจเท่าพระผู้สร้างอีกแล้ว มนุษย์น่ะอย่าได้เทียบ” ปีศาจตอบก่อนจะหลับไป …

ผมคิดว่าในทวิวัจน์นั้นและนิทานเรื่องนักรบแสนงาม มีอะไรที่เป็นการเมืองเป็นอุดมการณ์และความคิดทางการเมืองและมนุษยภาพมโหศาล (สะกดแบบของผู้เขียน) แต่นี่ไม่ใช่จุดหมายของหนังสือเล่มนี้ คนอ่านคงหวังจะได้สัมผัสเรื่องราวแห่งความทุกข์และเศร้าโศกในคุก หรือการปลุกระดมความเชื่อมั่นในทางการเมืองให้เข้มข้นต่อไป เธอเลือกนำเสนอในมิติที่ตรงกันข้าม เพราะไม่คิดว่าผู้อ่านจะรู้สึกได้ถึงสิ่งเหล่านั้น ผู้อ่านคงเข้าใจได้ แต่จะไม่มีทางรู้สึกได้ ผู้เขียนจึงนำเสนอ “เรื่องราวอันไม่ทุกข์โศกนี้เลย เพราะแท้จริงมันเป็นดินแดนแสนสนุก ที่จะทำให้พวกคุณรู้ว่า มนุษย์นั้นมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่และงดงามแม้จะต้องอยู่ในความมืด”

เราจึง “เข้าใจได้แค่นี้แหละ”

 

 

38. ตะวันลับแห่งต้าถัง

จ้าวอี้ เขียน

เรืองชัย รักศรีอักษร แปล

สำนักพิมพ์ มติชน

แนะนำโดย ธีรภัทร เจริญสุข

หาก “เจินกวนเจิ้งเย่า” คือหนังสือที่พึงอ่านเพื่อเรียนรู้วิถีปกครองเพื่อความรุ่งเรือง “ตะวันลับแห่งต้าถัง” ก็คือหนังสือที่พึงอ่านเพื่อหลีกเลี่ยงความล่มสลาย

150 ปีสุดท้ายของราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน ราชวงศ์ที่ลูกหลานจีนแต้จิ๋วในไทยเรียกตัวเองเป็นคนแห่งราชวงศ์นั้น “ถังเหรินจื่อ” หรือ “ตึ่งหนั่งเกี้ย”

ความล่มสลายที่เกิดขึ้นจากรอยแยกภายในระหว่างขุนนางการเมืองที่จับผิดกันเองในเรื่องศีลธรรมจรรยาเล็กน้อย และการปฏิรูปบ้านเมืองที่ไม่ลงรอยกัน การอวดดื้อถือดีแบ่งพรรคฝักฝ่าย กวาดล้างกันไปมา จนเป็นเหตุให้ทหารหัวเมืองตั้งตนเป็นใหญ่ ขันทีเข้ายึดอำนาจการทหาร เปลี่ยนบ่าวเป็นเจ้านาย เปลี่ยนเจ้านายเป็นทาสบ่าว จากยุครุ่งเรืองครั้งสุดท้ายของถังเสี้ยนจง ยุคฟื้นฟูประกายสุดท้ายดุจตะวันลับเหลี่ยมเขาของถังเซวียนจง จนแผ่นดินต้องแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในรัชกาลถังจาวจง เราได้เรียนรู้ถึงการบริหารสมดุลอำนาจในความเสื่อม ก่อนแผ่นดินและราชวงศ์จะล่มสลายลงอย่างสมบูรณ์

ราชวงศ์ถังนั้นเชื่อในปัญญาของลัทธิเต๋า เมื่อรุ่งเรืองสุดย่อมมีเสื่อมสลาย หยินและหยางผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน และเป็นยุคที่ศาสนาพุทธเข้ามามีบทบาทมากมายบนแผ่นดินจีน ซึ่งความรุ่งเรืองและล่มสลายล้วนเป็นอนิจจัง การศึกษาเรื่องราวยามอัสดงของชาติและราชวงศ์อันเรืองโรจน์ ย่อมทำให้เราเห็นหนทางฟื้นฟูบ้านเมืองที่ทรุดโทรมเสื่อมสิ้นและความหวังในอนาคต ตามอนิจจลักษณะอันผันแปรเปลี่ยนไปตามกาล

คุณเรืองชัย รักศรีอักษร ผู้แปล ได้ถ่ายทอดภาษาสำนวนของจาวอี้ ผู้เขียน อย่างมีอรรถรสยิ่ง ไม่ต่างจากวรรณกรรมและพงศาวดารจีนชั้นเลิศ เปี่ยมด้วยเอกสารอ้างอิงและเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์วรรณกรรมจีนมากมาย

 

 

39. อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว

Natsume Soseki เขียน

ชัญพัส วรศักดิ์ แปล

สำนักพิมพ์ กำมะหยี่

แนะนำโดย โตมร ศุขปรีชา

เล่มนี้คือการมองโลกและสังคมมนุษย์ญี่ปุ่น ในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนผ่านทางสังคมครั้งใหญ่ผ่านสายตาของแมว

ผู้เขียนเขียนได้แสบสันต์จิกกัดมาก เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน คัน แสบ แต่นิ่งๆ เหมือนแมวนอนซ่อนกรงเล็บ สบายใจ แต่อาจถูกข่วนได้ทุกเมื่อ

แม้เป็นเรื่องของสังคมญี่ปุ่นในอดีต แต่แก่นแกนกลับร่วมสมัยและไม่ตกยุคเลย

 

 

40. ปีแสง

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เขียน

สำนักพิมพ์ a book

แนะนำโดย อุทิศ เหมะมูล

ขอยืนยันว่า ทุกๆ ชีวิตมีเรื่องราวที่น่าสนใจกันทั้งนั้น แต่ก็ติดตรงที่ว่าจะเล่ามันออกมาอย่างไรให้คนอื่นรับรู้ได้อย่างน่าสนใจ จับใจ นั่นทำให้ ปีแสง ของดุจดาวโดดเด่นขึ้นมาได้ด้วยการเล่าเรื่อง และนี่เป็นสิ่งที่นักเขียนพยายามจะเข้าถึงและควรรู้จักให้เป็นอย่างดี ‘การเล่าเรื่อง’

ชีวิต สิ่งที่ผ่านพบ ประสบการณ์ เป็นเหมือนของล้ำค่าของแต่ละคน ดุจดาวขัดเกลา เจียระไนชีวิตให้มีน้ำมีเนื้อ ประกายแสง เล่ามันออกมาจากหัวใจ งดงามจากการยอมรับตัวเอง และต้องใช้ความกล้าหาญ เข้มแข็งในการย้อนกลับไปยืนจ้องหน้าประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาอีกครั้ง จัดเรียงการรับรู้ใหม่จากสายตาของวันวัยปัจจุบัน

สิ่งที่เรารับรู้ได้จากหนังสือเล่มนี้คือวิธีการทบทวน จากสายตาปัจจุบัน มองย้อนกลับไปแล้วสังเคราะห์หลายสิ่งหลายอย่าง ต้องมีหัวใจหนาหลายชั้น ค่อยๆ ชำแหละลอกออกทีละแผ่นๆ รู้ด้วยว่าตัวเองลอกออกอย่างไร เพื่อสุดท้ายจะได้ประกอบกลับคืนได้ถูกต้อง

ผู้สร้างสรรค์คือผู้ที่พร้อมลงไปในที่ที่หนึ่งแล้วต้องกลับมา คนที่ลงไปและหาทางกลับขึ้นมาได้ คนคนนั้นมีธาตุการเล่าเรื่อง มีธาตุศิลปิน เป็นพวกหัวใจหนา ไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมตายกลางทาง

 

 

41. ประวัติศาสตร์ที่เราลืม

วินทร์ เลียววาริณ เขียน

สำนักพิมพ์ 113

แนะนำโดย วรากรณ์ สามโกเศศ

การที่เรามีชีวิตสุขสบายกันทุกวันนี้ได้ ก็เพราะผู้คนมากมายในอดีตของชาติเราได้เสียสละหยาดเหงื่อเลือดและชีวิต เพื่อให้เรามีวันนี้ แต่หลายคนกลับถูกลืม

วินทร์ เลียววาริณ ได้นำชีวิตคนที่ถูกลืมเหล่านั้นกลับมาตอกย้ำให้เรามีความสำนึกในประวัติศาสตร์ อ่านแล้วสนุก อีกทั้งสบายใจที่มีความรู้สึกเช่นนั้นมากขึ้น เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชาติของเราอยู่รอดในระยะยาว

 

 

42. Extreme Economies

Richard Davies เขียน

จัดพิมพ์โดย Bantam Press

แนะนำโดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

Extreme Economies เปลี่ยนหน่วยวิเคราะห์จาก ‘ประเทศ’ มาเป็น ‘เมือง’ แล้วชวนเราไปศึกษาเมืองที่มีความสุดโต่งด้านต่างๆ ของโลก เช่น อาคิตะ (ญี่ปุ่น) เมืองแห่ง ageing ที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยถึง 53 ปี หรือกลาสโกว์ (สก็อตแลนด์) เมืองแห่งความถดถอยทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งที่เคยเป็นเมืองก้าวหน้าและมีศักยภาพสูง

ทุกประเทศในโลกเผชิญปัญหาสุดโต่งที่หนังสือเลือกมา 9 ด้านในสัดส่วนต่างกันไป แต่ละเมืองให้บทเรียนทั้งด้านความสำเร็จของการปรับตัว ความล้มเหลวของการยึดติด และความประมาทที่ไม่เคยเตรียมพร้อมไว้อย่างน่าสนใจ

 

 

43. เสรีนิยมยืนขึ้น

ปราบดา หยุ่น เขียน

สำนักพิมพ์ Typhoon Studio

แนะนำโดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ผมเลือกเล่ม ‘เสรีนิยมยืนขึ้น’ เขียนโดย ปราบดา หยุ่น

เพราะ 1. เนื้อหาเหมาะกับสถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้

2. จากประสบการณ์ (ใกล้ห้าสิบปีเต็มที) พบว่าคนไทยเรากินข้าว แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องราก สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคุณค่าของข้าว ใช่–สิทธิเสรีภาพก็เช่นกัน

3. พอไม่รู้ มันก็เป็นพวกกินไปวันๆ อยู่ไปวันๆ ตรงกันข้าม หากตระหนักรู้ เราย่อมกินข้าวอร่อยขึ้น และปวดร้าว เมื่อชาวนาต้องซื้อข้าว (ราคาแพง) บริโภค

4. สำหรับผม สิทธิเสรีภาพคืออากาศ หากปราศจากเสียแล้ว หากถูกลิดรอนเสียแล้ว มนุษย์ก็กลายเป็นศพ นี่คือหนังสือที่เขียนขึ้นโดยคนที่เทคแคร์สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่หลงละเมอ หากรักจริง รักด้วยความพยายามแสวงหาความรู้

5. หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ปราบดา หยุ่น หากอ่านหนังสือหนังหามาบ้าง คุณก็คงพอรู้ เขาไม่ใช่คอการเมือง (เทียบกับพรรคพวกพี่น้องอย่าง วาด รวี ก็ต้องนับว่าห่างหลายไมล์) บุคลิกค่อนไปทางเสรีชนปัจเจก ไม่สุงสิงกับผู้คนนัก เดินทางบ่อย (เป็นพลเมืองโลก) หากปราบดาอดรนทนไม่ไหว ถึงขั้นนั่งลงค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์เสรีนิยม ย่อมแปลว่ามันสำคัญ จำเป็น และอาการโคม่า หากสังคมไทยเพิกเฉย ละเลย โลมเลียเพียงปลายยอด มืดบอดอดีต

ต่อกรณีนี้ เราน่าจะเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า หากอดีตถูกทำให้มืดบอดเสียแล้ว ไยเราท่านจึงมองเห็นแสงสว่างในปัจจุบัน และอนาคต.

 

 

44. ก้าวที่พลาด : เส้นทาง ความผิด บทเรียน โอกาส

เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เขียน

แนะนำโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

นี่ไม่ใช่หนังสืออ่านเพื่อหาความอิ่มอกอิ่มใจแล้วนอนหลับฝันดีในวันปีใหม่ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ “หนักหนา” หรือดราม่าเกินกว่าที่จะอ่านจนจบได้

เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ในสังคมที่สงบสุข ปลอดภัย ไม่มีโจรผู้ร้าย หรือคนที่เติบโตมาในสังคมที่เต็มไปด้วย “คนดีๆ” ไม่มีใครใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายกัน หนังสือเล่มนี้จะพาไปรู้จักกับผู้คนในอีกมุมหนึ่งที่กำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกัน แต่เป็นชีวิตที่เหมือนกับโลกคู่ขนานที่ไม่ได้มีโอกาสพบเห็นกันได้ทุกวัน

เรื่องราวที่บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้บังคับให้ผู้อ่านต้องรู้สึก “โกรธ” หรือกระทั่ง “ให้อภัย” กับ “ก้าวที่พลาด” ของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง แต่อาจทำหน้าที่เพียงเปิดประตู สร้าง “ความเข้าใจ” ให้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันต่อไปเท่านั้นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save