fbpx
ถึงเวลาของ Green New Deal

ถึงเวลาของ Green New Deal

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ถ้าเกรต้า ธันเบิร์ก สาวน้อยวัย 16 ชาวสวีเดนคือผู้ปลุกกระแสให้เกิดการรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องสภาวะโลกร้อนไปทั่วโลก อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ ส.ส. อายุน้อยที่สุดในวัย 29 ปีของสหรัฐอเมริกาก็กำลังเขย่าการเมืองโลกด้วยการผลักดัน Green New Deal แผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เป็นความหวังสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ (Alexandria Ocasio-Cortez) หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ตามตัวอักษรย่อของเธอว่า AOC สังกัดพรรคเดโมแครต กำลังเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ร้อนแรงและได้รับการจับตามากที่สุดคนหนึ่งเพราะเธอกล้าพูด กัดไม่ปล่อย และกล้านำเสนอทางออกในประเด็นใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพถ้วนหน้า การศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาแรงงานได้อย่างเฉียบแหลม

AOC สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองสหรัฐฯ ด้วยการชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. เขต 14 รัฐนิวยอร์ก สังกัดพรรคเดโมแครต และกลายเป็นสมาชิกสภาคองเกรสหญิงที่อายุน้อยที่สุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา AOC มีเชื้อสายลาติน เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน มีถิ่นฐานอยู่ย่านบรองซ์ในนิวยอร์กที่เป็นแหล่งอาศัยของคนรายได้น้อย

เธอจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยบอสตันด้วยคะแนนเกียรตินิยม และชัดเจนว่ามีแนวคิดทางการเมืองแบบ Democratic socialism หรือสังคมนิยมประชาธิปไตย

ภาพลักษณ์ของเด็กลิเบอรัลรุ่นใหม่ปากกล้าที่รู้เท่าทันทุนนิยม เกลียดพวกเหยียดเชื้อชาติ เล่นกับสื่อเป็นและใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ AOC ถึงกับถูกฝ่ายขวาจัดขนานนามว่าเป็นบุคคลที่อันตรายที่สุดต่อสหรัฐอเมริกา และคงไม่มีข้อเสนอไหนที่กำลังเป็นที่ถกเถียงที่สุดเท่ากับ Green New Deal ที่เธอและวุฒิสมาชิกเอ็ด มาคีย์ (Ed Markey) เป็นผู้นำเสนอให้พิจารณาในสภาคองเกรสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ที่มา : Al Drago/Bloomberg

 

Green New Deal คือข้อเสนอด้านนโยบายพร้อมงบประมาณในการแก้ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในระยะเวลา 10 ปี พร้อมๆ กับแก้ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ

ชื่อของ Green New Deal นั้นอ้างอิงถึง ‘New Deal’ ซึ่งเป็นนโยบายการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ใช้แก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 แต่เปลี่ยนเป็นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

จะว่าไป Green New Deal อาจเป็นทางรอดเดียวของโลกในศตวรรษที่ 21 ตามการวิเคราะห์ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่บอกว่าโลกมีเวลาอีกเพียง 11 ปีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

AOC ยืนยันว่าข้อเสนอ Green New Deal เป็นสิ่งจำเป็นเพราะวิทยาศาสตร์มีข้อสรุปที่ชัดเจนและตรงกันอย่างเป็นเอกฉันท์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่ไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่ต้องมาเตะถ่วงกันในสภา นี่ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำในสังคมที่เป็นห่วงสิ่งแวดล้อมโดยไม่คิดถึงสภาพเศรษฐกิจของชนชั้นล่าง อย่างที่พรรครีพลับลิกันชอบอ้างว่า พลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกของคนรวยเท่านั้น

“ถ้าคุณคิดว่าการห่วงใยสิ่งแวดล้อม การปรารถนาที่จะมีอากาศบริสุทธิ์ น้ำสะอาดเป็นเรื่องของชนชั้นนำ ก็ขอให้คุณไปบอกกับเด็กๆ ย่านบร็องซ์ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดในวัยเด็กสูงที่สุดในประเทศ ไปบอกครอบครัวในเมืองฟลินท์ที่ลูกหลานของเขามีตะกั่วอยู่ในเลือด (จากการปนเปื้อนของน้ำประปา) จนสมองถูกทำลาย นี่หรือเป็นเรื่องของชนชั้นนำ ผู้คนกำลังจะตาย พวกเขากำลังจะตาย”

ความจริงพัฒนาการของ Green New Deal น่าสนใจมากๆ คำๆ นี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยโธมัส ฟรีดแมน ในงานเขียนสองชิ้นเมื่อเดือนมกราคม ปี 2007 ที่เสนอว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนให้ได้ผล จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งระบบเพื่อเลิกใช้ถ่านหินหรือน้ำมัน ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนมหาศาล แต่ถ้ารัฐบาลเอาด้วยก็จะเป็นสร้างอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและนำพาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาไปสู่ความมั่นคงในศตวรรษนี้

จากนั้นก็เกิดการรวมตัวของ Think Tank ด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐศาสตร์หลายคนอาทิ โทนี่ จูปิเตอร์ และชาร์ล ซีเคร็ทท์ อดีตผู้อำนวยการ Friend of the Earth ลาร์รี เอลเลียต บรรณาธิการเศรษฐศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ The Guardian แอนดรู ซิมส์ ผู้อำนวยการ New Economic Foundation ในชื่อกลุ่ม Green New Deal Group เขียนรายงาน Green New Deal ฉบับแรกขึ้นมา และโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP) สมัยอาคิม สไตเนอร์เป็นผู้อำนวยการก็หยิบแนวคิดดังกล่าวไปพัฒนาเป็นโครงการ Global Green New Deal ที่เน้นการสร้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดซึ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในคราวเดียวกัน จิล สตีน ผู้สมัครประธานาธิบดีในนามพรรคกรีนของสหรัฐอเมริกา เป็นอีกคนที่ใช้ Green New Deal ในการหาเสียงมาตลอด

ภายหลังจาก AOC ได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ส. จึงหยิบเอาเรื่องนี้ขึ้นมาสานต่ออย่างจริงจัง และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น Sierra Club Friend of the Earth Greenpeace 350.org รวมทั้ง Sunrise movement ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยมีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

 

ที่มา : Sarah Silbiger/The New York Times via Redux

 

ข้อเสนอ Green New Deal ฉบับ AOC ประกอบไปด้วย หลักการและเหตุผล 5 เป้าหมาย 14 โครงการ และ 15 เงื่อนไข เป้าหมายสำคัญคือหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมบูรณ์ สร้างงาน เปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม และสร้างหลักประกันของอากาศและน้ำสะอาด ส่วนโครงการต่างๆ ก็เช่นการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบไร้คาร์บอน การปฎิรูประบบขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรม การฟื้นฟูระบบนิเวศ การปรับปรุงโครงสร้างอาคาร โครงข่ายกริดการกระจายไฟฟ้า  ลองมาดูประเด็นหลักๆ ที่ Green New Deal เสนอทางออกไว้

 

  • การหยุดปล่อยก๊าซเรือกระจกอย่างสมบูรณ์ (Net-zero greenhouse gas emission): Green New Deal ระบุว่าสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยยะสำคัญควรต้องมีบทบาทนำในการลดการปล่อยก๊าซด้วยการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพาคาร์บอน โดยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายใน 10 ปี นั่นหมายความว่าต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขนานใหญ่โดยใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด พร้อมกับการเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนด้วยการฟื้นฟูระบบนิเวศ

 

  • สร้างงานและปฏิรูปโครงสร้างรายได้: Green New Deal ระบุว่าการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพาคาร์บอนจะทำให้เกิดการสร้างงานประเภทใหม่ที่เป็นงานที่ดี มีค่าตอบแทนสูง และเป็นหลักประกันความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องปกป้องประชาชนด้วยระบบรัฐสวัสดิการ เช่นประกันสุขภาพถ้วนหน้า ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ แก้ปัญหาความไม่เสมอภาคของเพศและเชื้อชาติ ซึ่งข้อเสนอรวมไปถึงปรับปรุงระบบภาษีเช่น จัดเก็บภาษีทรัพย์สิน 70% สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด ส่งเสริมระบบตลาดเสรีที่มีภาษีคาร์บอน เป็นต้น

 

  • การขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน: Green New Deal ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งเท่าที่เทคโนโลยีจะเป็นไปได้ นั่นคือการเน้นพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพราคาถูก และรถไฟความเร็วสูง รวมไปถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารต่างๆ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการประหยัดพลังงานให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

 

  • หลักประกันเรื่องอากาศและน้ำสะอาด อาหารที่ปลอดภัย: Green New Deal ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอากาศ น้ำ อาหาร และการเข้าถึงธรรมชาติ การใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมและเกษตรกรรมยั่งยืนจะช่วยปรับปรุงระบบการผลิตอาหารซึ่งนับเป็นส่วนประกอบสำคัญของข้อเสนอโดยรวม เช่นเดียวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศดั้งเดิม นอกจากนี้ทุกพื้นที่จำเป็นต้องมีแผนการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนการจัดการภัยพิบัติ

 

  • มลภาวะ: Green New Deal ต้องการแก้ปัญหามลภาวะอย่างครบวงจร ตั้งแต่การทำความสะอาดที่ทิ้งขยะเป็นพิษ ไปจนถึงหยุดยั้งการสร้างมลภาวะที่แหล่งกำเนิด นอกจากนี้ยังให้น้ำหนักกับชุมชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งในอดีต และในอนาคต

 

แน่นอนว่าข้อเสนอดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษนิยมและพรรครีพลับลิกันโดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าจะไปเอาเงินมากมายมหาศาลจากที่ไหนมาลงทุน

องค์กร American Action Forum ประเมินว่าหากทำทุกอย่างที่ Green New Deal เสนอจะต้องใช้งบประมาณถึง 51–93 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯใน 10 ปีข้างหน้า ในขณะที่บางฝ่ายบอกว่าเป้าหมายที่ทะเยอทะยานอย่างแทบจะเป็นไปไม่ได้จะทำให้ข้อเสนอขาดความน่าเชื่อถือ เช่นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายใน 10 ปี

 

ที่มา : Rob Kim/Getty Images

 

ล่าสุดมีความพยายามจะคว่ำข้อเสนอดังกล่าวโดยพรรครีพลับลิกัน โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาหรืออภิปรายในสภา ซึ่งก็ยิ่งสะท้อนความจริงที่ว่า ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาเพียงไร

“ฉันเองก็หวังว่ามันไม่น่าจะต้องใช้เงินลงทุนมากมายขนาดนั้น แต่ปีนี้ฉันจะอายุ 30 และ 30 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ลงทุนในเรื่องเหล่านี้เลย เราไม่ได้เตรียมพร้อมให้ประเทศรับมือกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่ากำลังจะเกิดขึ้น และถึงตอนนี้ก็แทบจะทำอะไรไม่ได้แล้ว” AOC กล่าวในที่ประชุมเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา “แต่เรายังมีโอกาสทำให้ต้นทุนมันไม่สูงไปกว่านี้ เพราะเชื่อเถอะว่าการลงทุนใน Green New Deal จะถูกกว่าเงินอีกมากมายมหาศาลที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากเราไม่ผ่านข้อเสนอนี้”

ไม่ว่าทิศทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาจะลงท้ายอย่างไรกับ Green New Deal แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศต่างๆ พัฒนาแผนที่ทะเยอทะยานมากพอในการรับมือกับวิกฤตการณ์สภาวะโลกร้อน เช่นพรรคแรงงานของอังกฤษเห็นด้วยที่ว่าน่าจะต้องมีการพัฒนา Green New Deal สำหรับอังกฤษในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบไร้คาร์บอนภายใน 10 ปี ไม่มีใครบอกว่าเป็นเรื่องง่ายแต่เราจำเป็นต้องคิดว่าโลกกำลังลุกเป็นไฟ เพราะนั่นคือความจริง

ย้อนกลับไปวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เยาวชนกว่า 1.6 ล้านคนใน 125 ประเทศทั่วโลกออกมาเดินประท้วงให้มีการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

การรณรงค์ในหลายประเทศทำให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้เข้าใจว่าการแก้ปัญหาให้ได้ผลไม่ใช่แค่เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของระดับปัจเจก เท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียม ความยุติธรรม และต้องผลักดันให้มีการปฏิวัติระบบการเมือง ปฏิรูปประชาธิปไตย แก้ปัญหาทุนนิยม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ทุกอย่างโยงใยกันไปหมด ถ้าจะแก้ต้องแก้ทั้งระบบ ถ้าระบบในปัจจุบันแก้ไม่ได้ ก็ต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมา

นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่อย่างเกรต้า ธันเบิร์ก และนักการเมืองหน้าใหม่อย่าง AOC กำลังบอกคนรุ่นก่อนหน้านี้

“การเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save