fbpx

20 อันดับผลงานยอดนิยม ประจำปี 2020

 

ผลงานของ The101.world ที่มีผู้อ่านมากที่สุดในปี 2563

 

 

 

 

โลก 12 แบบหลังไวรัส COVID-19 : คำทำนายจากนักคิดชั้นนำระดับโลก

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

ถึงตอนนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า การแพร่ระบาดของ ไวรัส COVID-19 ได้สั่นสะเทือนโลกในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ หรือการเมืองระหว่างประเทศ – คำถามสำคัญคือ โลกหลัง COVID-19 น่าจะเป็นอย่างไร?

101 ชวนอ่านคำทำนายจากนักคิดระดับโลก 12 คน ว่าด้วยโลก 12 แบบที่อาจเป็นไปได้หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่โลกที่แคบลง ยากจนขึ้น และเปิดกว้างน้อยลง, โลกาภิวัตน์ที่มี ‘จีน’ เป็นศูนย์กลาง หรือโลกที่อาจจะได้รับประโยชน์บางอย่างจากโรคระบาดในครั้งนี้

 

ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2020 โดยคอลัมนิสต์ 101

 

โดย คอลัมนิสต์ และกองบรรณาธิการ The101.world

‘ความน่าจะอ่าน 2020’ คือหนังสือที่เหล่า contributors ของ 101 มาช่วยกันแนะนำ โดยแต่ละคนเลือกหนังสือ 1 เล่ม ที่คิดว่าเหมาะสำหรับวาระเปลี่ยนผ่านจากปี 2019 สู่ปี 2020 พร้อมเหตุผลสั้นๆ ว่าหนังสือเล่มนั้นน่าสนใจอย่างไร

และนี่คือหนังสือกว่า 40 เล่ม ที่พวกเราอยากแบ่งปัน ครอบคลุมเรื่องราวที่หลากหลายตั้งแต่ เอไอในมุมมองจีน, การสืบทอดอำนาจของเผด็จการชิลี, หนังสือรวมบทกวีที่มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ, การโฆษณาชวนเชื่อในโลกข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไป, ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยว่าด้วยความกลัว, ไลท์โนเวลที่เอไอทำงานแทนนักเขียน, ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ, สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ, คู่มือสู่โลกของสุรา, ที่มาของเพลง The Beatles, ระบบวรรณะของอินเดีย ฯลฯ

ชวนกันอ่านรับปี 2020 (หรือเก็บไว้ในลิสต์หนังสือน่าอ่านปีนี้) ไม่ว่าจะอ่านเพื่อรับมือความท้าทายใหม่ อ่านเพื่อทำความเข้าใจชีวิต อ่านเพื่อเรียนรู้เผด็จการ อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน อ่านเพื่อรู้ทันการเมือง หรืออ่านเพื่อหาข้อมูล

 

วารสารศาสตร์ต้องรอด – ‘สื่อเกิดขึ้นมาทำไม’ เมื่อคำถามเก่าๆ คือทางออกของสื่อยุคใหม่ กับ พรรษาสิริ กุหลาบ

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ และ ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

#วารสารศาสตร์ต้องรอด ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ คุยกับ อาจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยปรากฏการณ์-ความท้าทายของสื่อยุคปัจจุบัน และคุณสมบัติการเป็นนักวารสารศาสตร์ที่ต้องมีทั้งทักษะ ทัศนคติ และความเข้าใจในบทบาทของสื่อ

“การที่ ‘เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน’ ก็เพราะประชาชนต้องมีเสรีภาพในการที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คิดเห็นอะไรก็สามารถใช้พื้นที่ต่างๆ ในการสื่อสารไปยังรัฐ หรือภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมได้ สื่อจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในการสื่อสาร และส่งเสริมสิทธิในการสื่อสาร”

“หากประชาชนบอกว่าอยากได้สื่อบันเทิง เอาสนุก ก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่สื่อและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ต้องกลับมาคิดว่า สนุกอย่างเดียว ดราม่าอย่างเดียวได้หรือ เนื้อหาของเราจะทำให้เขาใช้ชีวิตได้ดีขึ้นหรือ สังคมเราจะพัฒนาได้หรือหากคนต้องการแค่นี้”

“ยิ่งในยุคที่มีข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ถูกปล่อยมาเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างเยอะมากๆ นักวารสารศาสตร์ยิ่งต้องทำงานหนักเพื่อกลั่นกรองว่า เป้าประสงค์ของการสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นคืออะไร การบอกว่าข้อมูลนี้จริงไม่จริง ถูกไม่ถูก อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องสามารถอธิบายได้ว่าทำไมเขาต้องปล่อยข้อมูลเท็จแบบนี้ออกมา”

“การเรียนการสอนวารสารศาสตร์ควรจะส่งเสริมการไหวรู้ (sensitise) ต่อสรรพสิ่งรอบตัวทั้งความอยุติธรรมและความรื่นรมย์ในสังคม สร้างพื้นที่ให้กับคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง ให้ความเป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกฝ่าย มุ่งแสวงหาทางออกเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ใช้ความรุนแรง”

“การที่นักวารสารศาสตร์และองค์กรสื่อปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรม ทั้งในกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูล ข้อมูลที่นำมาเสนอ และวิธีการนำเสนอ ก็ถือเป็นการมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์หรือไม่เห็นว่าคนนั้นเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยที่เห็นคนเท่าเทียมกัน”

“สื่อยังพอมีความหวัง เพราะฉะนั้นเราอย่าไปมองภาพใหญ่แล้วคิดว่าจะเปลี่ยนมันได้ในวันนี้ เราค่อยๆ เคลื่อนไป เหมือนต้นไม้ที่โตแทรกคอนกรีตขึ้นมา มันยากและนาน แต่ใครจะมาแก้มัน ถ้าไม่ใช่เรา”

 

เศรษฐกิจไทยในมหาวิกฤต: สมชัย จิตสุชน

 

โดย สมคิด พุทธศรี 

ในวิกฤตเศรษฐกิจ ตัวเลขและถ้อยคำทางเศรษฐศาสตร์อาจไม่ได้มีความหมายเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับความทุกข์ร้อนของผู้คนและความโกลาหลที่เห็นอยู่ตำตา

กระนั้น ในสถานการณ์เยี่ยงนี้การครุ่นคิดถึงปัจจุบันและมองไปยังอนาคตผ่านสายตานักเศรษฐศาสตร์ผู้ช่ำชองก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด

101 ชวน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในห้วงเวลาแห่งความท้าทายเช่นนี้

เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหน วิกฤตรอบนี้เป็นอย่างไร มาตรการรัฐเพียงพอหรือไม่ และอะไรคือโจทย์ใหญ่ที่รออยู่ในอนาคต

 

Exclusive อานนท์ นำภา – “ผมภาวนาให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว”

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

“ถ้าในหลวงอยากคุยกับนักศึกษาก็เป็นไปได้ นักศึกษาคิดแบบนี้ ท่านคิดอย่างไร คุยกันด้วยความเคารพเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ งดงามด้วย”

“ถ้าบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตยและมีสถาบันฯ ที่อยู่ในกรอบจริงๆ ทุกฝ่ายจะชนะร่วมกัน ทุกคนแฮปปี้ แต่สังคมไทยไม่เป็นอย่างนั้น”

“การชนะความกลัวได้คือความกล้าหาญ เราต้องเอาความกล้าหาญขึ้นไปพูดบนเวที พูดไปเหงื่อก็ออกเต็มมือ แต่คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้มีความกลัวเลยนะ และเขาไม่มีความกล้าด้วย เพราะเขาพูดด้วยความรู้สึกปกติ”

101 สัมภาษณ์ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ที่กำลังเขย่าสังคมไทยด้วยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผู้ปลุกบทสนทนาแห่งความกลัวในอดีตให้กลายเป็นหัวข้อสาธารณะในปัจจุบัน

 

COVID-19

โลกที่ไม่เหมือนเดิมหลัง COVID-19

 

โดย ปิติ ศรีแสงนาม

เข้าสู่ปี 2020 มาได้ไม่กี่เดือน โลกก็ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ที่เรียกว่า ‘เชื้อไวรัส COVID-19’ หรือที่เรารู้จักในนาม ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’ ที่ทั้งคร่าชีวิตและแพร่ระบาดออกไปเป็นวงกว้าง เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรง การท่องเที่ยวซบเซา หลายเมืองที่เคยคึกคักกลับแปรเปลี่ยนเป็นเมืองร้าง

เมื่อเชื้อไวรัส COVID-19 กระทบกับโลกเราอย่างรุนแรงเช่นนี้ คำถามสำคัญคือ โลกหลัง COVID-19 จะเป็นอย่างไร แล้วไทยจะรับมืออย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ปิติ ศรีแสงนาม เขียน 5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโลกที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหลัง COVID-19 พร้อมทั้งแนะนำยุทธศาสตร์การวางตำแหน่งทางการค้าและการลงทุนใหม่ของไทยภายหลังวิกฤต

“ล่าสุด ธนาคารโลกได้ประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลการระบาด ณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ว่า GDP ของทั้งโลกน่าจะถดถอยลงราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือถ้าเทียบให้เห็นภาพ ผลกระทบของ COVID-19 รุนแรงกว่า SARS ในราว 70 เท่า”

“ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล โดยไทยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 45.62 พันล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 12 เท่า ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงเวลาเดียวกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.1 เท่า คือจาก 5.69 เป็น 20.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่า เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจจีนพึ่งพาอาศัยและสอดประสานสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง”

“ในเมื่อเรายังต้องพึ่งพายึดโยงกับห่วงโซ่มูลค่าในทวีปเอเชียต่อไป เราสมควรอย่างยิ่งที่จะมองแหล่งทรัพยากรทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงของอินเดียและเอเชียใต้เป็นเสมือน Balancer หรือเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระจายความเสี่ยง”

“เมื่อวางตำแหน่งทางด้านการค้าและการลงทุนในลักษณะนี้ ไทยก็ยังสามารถเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่มูลค่าของเอเชียได้เช่นเดิม พร้อมกับที่สามารถกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพิงตลาดบางตลาดลงได้ หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ยังคงเป็นเพื่อนสนิทกับจีน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ในเอเชียใต้ให้มากขึ้น”

 

“บาซูก้า” การคลัง – สิงคโปร์ยิงแล้ว ไทยเอายังไง?

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย

สิงคโปร์ยิงบาซูก้าการคลังออกมาสู้วิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 11% ของ GDP (3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

สันติธาร เสถียรไทย ตั้งคำถามว่า ถึงเวลาประเทศไทยต้องยิงกระสุนให้ถูกขนาด-ถูกที่-ถูกเวลาแล้วหรือยัง?

 

Crash Landing On You: ตาม “สหายผู้กอง” ไปซื้อของที่ “จังมาดัง”

 

โดย จักรกริช สังขมณี

คอลัมน์ #ชาติพันธุ์ฮันกุก  จักรกริช สังขมณี เขียนถึง Crash Landing on You ซีรีส์ชื่อดัง กับภาพสังคมเกาหลีเหนือ ผ่าน ‘จังมาดัง’ พื้นที่สีเทาทางเศรษฐกิจ สถานที่ที่สหายผู้กองพยายามไปเสาะแสวงหาข้าวของเครื่องใช้มาให้ให้กับ ยุนเซรี

“ความปกติของตัวละครและความสัมพันธ์ทางสังคมในเนื้อเรื่อง ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใจต่อกลุ่มชาตินิยมในเกาหลีใต้อยู่ไม่น้อย ดังที่มีข่าวว่า พรรคคริสเตียนเสรี (Christian Liberal Party) แจ้งความฟ้องร้องสถานีโทรทัศน์ ในฐานที่นำเสนอภาพเกาหลีเหนือที่มีความ “ปกติสุข” และ “มีเสน่ห์” มากเกินไป”

“ในเกาหลีใต้ เป็นที่รับรู้กันว่า ‘ตลาด’ เกี่ยวข้องอย่างมากกับการสร้างชาติและการพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ธุรกิจ และประชาชน

“ในทางตรงกันข้าม ภายใต้ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ ในเชิงทฤษฎีแล้ว ตลาดเป็นสิ่งซึ่งไม่สมควรมีอยู่ นั่นก็เพราะในระบบดังกล่าวรัฐเป็นเจ้าของที่ดินและทรัพยากรการผลิต ผลผลิตที่ได้ทั้งหมดถูกระดมเข้าเป็นของรัฐ”

“จังมาดัง (장마당) มาจากการการผสมระหว่างคำว่า ซิจัง (시장) ซึ่งแปลว่า ตลาด เข้ากับคำว่า มาดัง (마당) ซึ่งหมายถึง ลาน หรือพื้นที่ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก จังมาดัง หมายถึงตลาดที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีลักษณะคลุมเครือ ไม่เป็นสถาบันที่ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ และเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเป็นท้องถิ่นสูง”

“ปัจจุบันมีจังมาดังกระจายตัวอยู่ในเกาหลีเหนือประมาณ 400-500 แห่ง นอกจากสินค้าและอาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่นแล้ว มีการลักลอบแลกเปลี่ยนสินค้าต้องห้ามนานาชนิดโดยเฉพาะจากเกาหลีใต้ ตั้งแต่อาหารนำเข้า อุปกรณ์การดำรงชีพ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ ไปจนถึงสินค้าแฟชั่นต่างๆ”

 

COVID-19 : โรคพลิกโลก เมื่อสหรัฐฯ เกิดวิกฤต

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เมื่อตอนที่จีนวิกฤต โลกก็เหมือนจะวิกฤตไปด้วยแล้ว แต่สถานการณ์วิกฤตในสหรัฐฯ จะยิ่งพาโลกเข้าสู่วิกฤตหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า เพราะสหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกอาจหนักกว่าครั้งวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2007 เสียอีก ”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในสหรัฐฯ ที่พาโลกเข้าสู่วิกฤตหนักหนาสาหัส และอาจจะเป็นการพลิกโฉมระบบและระเบียบโลกในระยะยาว

 

กรณีเด็กถูกทำร้าย-เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก่อน

กรณีเด็กถูกทำร้าย-เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก่อน

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลูกถูกทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิด สิ่งสำคัญคือการพาลูกเข้าพบจิตแพทย์เด็กโดยเร็ว อย่ามัวรอหน่วยงานราชการให้เป็นข่าวเอิกเกริก

การทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กสามารถก่อโรคซึมเศร้า ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมเพื่อการป้องกันตัว เมื่อเขาถูกทำลาความไว้วางใจที่มีต่อโลกและผู้คน ครูที่ถูกสอนว่าเป็นคนดีกลับเป็นผู้ลงมือ พ่อแม่ซึ่งควรจะป้องกันได้กลับไม่อยู่ป้องกัน

ความไว้ใจโลกเป็นฐานแรกของพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นเปรียบเสมือนฐานแรกของปิรามิดหรือบ้าน

เมื่อเราโค่นเสาบ้านเสียแล้ว ข้างบนก็จะล่มลง

 

‘โรคใหม่’ สร้าง ‘โลกแห่งการเรียนรู้ใหม่’ : อนาคตการศึกษาไทยยุคหลัง COVID-19

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

การมาเยือนของวิกฤตโรคระบาดทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาหลากหลายด้าน เป็นต้นว่า เราจะออกแบบการเรียนรู้ในยุคโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร? ทักษะและหลักสูตรโลกการศึกษารูปแบบใหม่หลังจากนี้ควรมีหน้าตาแบบไหน? และจริงหรือไม่ ที่เราสามารถเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสใหญ่ได้?

101 ชวนมองอนาคตการศึกษาไทยในวันที่โรคระบาดเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนทุกคน ใน 101 Public forum “โรคใหม่ – โลกใหม่ – การเรียนรู้ใหม่ : อนาคตการศึกษาไทยยุคหลัง COVID-19”

“ถ้าสำรวจปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น จะพบว่ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาด้วย เช่น ภาวะชาตินิยมสุดโต่ง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ หรือการขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) เราต้องมองเห็นปัญหาตรงจุดนี้เพื่อที่ว่าจะออกแบบการศึกษาในโลกหลังโควิด-19 ให้ดีขึ้นได้อย่างไร” – วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

“บางคนบอกว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากคือ การเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในรูปดิจิทัล (digitalization) หรือเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นแบบออนไลน์มากขึ้น ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัล เช่น ประเทศไทย จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มถูกถ่างให้กว้างมากขึ้นทันที” – สฤณี อาชวานันทกุล

“เมื่อเจอสถานการณ์โควิด-19 ซ้ำซ้อนกับปัญหาสังคมที่อยู่รอบตัวเด็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางครอบครัว ปัญหาทางสังคม หรือปัญหาจิตวิทยาต่างๆ จะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมากๆ ที่สถานการณ์ของเด็กที่ออกนอกระบบจะมีมากขึ้น” – ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

“เมื่อการศึกษาจะต้องพลิกโฉมไป สิ่งสำคัญที่จะต้องมีในตัวเด็กคือ สมรรถนะในการแก้ปัญหา ปรับตัว และเรียนรู้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือท้าทาย เพราะฉะนั้น รูปแบบการศึกษาต้องเปลี่ยนจากระบบ Standardize ไปสู่ระบบการเรียนที่สนับสนุนศักยภาพบุคคล (Personalize learning)” – อธิษฐาน์ คงทรัพย์

“เด็ก Generation ใหม่ตอนนี้ เขามีการเรียนรู้แบบใหม่ไปแล้ว แต่ผู้จัดการศึกษาทั้งครูและโรงเรียนยังมี mindset และวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบเดิม ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นโอกาสตอนนี้มาถึงแล้วในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยสร้างความสมดุลระหว่างเด็กกับผู้จัดการเรียนรู้ใหม่” – วิเชียร ไชยบัง

“หากเปรียบการศึกษาเป็นทีมฟุตบอล โรงเรียนและคุณครูเปรียบเหมือนกองหน้า เทคโนโลยีเหมือนกองหลัง ปัจจุบันเรากำลังเอากองหลังมาเล่นแทนกองหน้าชั่วคราว จึงอาจตะกุกตะกักบ้าง แต่เมื่อกองหลังกลับไปเล่นตำแหน่งเดิมแล้วเราจะได้เข้าใจว่าอะไรคือจุดเด่นจุดด้อยของเขา แล้วเราจะได้ออกแบบการเล่นให้ดีที่สุดสำหรับทีม” – พริษฐ์ วัชรสินธุ

[ กสศ. x 101 ]

 

IR ต้องรอด – “ไม่มี Theory Of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย และ ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

101 สนทนากับ ผศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องขอบฟ้าองค์ความรู้ของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน IR ในยุคที่โลกผันผวน ระเบียบโลกปั่นป่วน และระบบโลกถูกตั้งคำถาม

“ทุกวันนี้ในแวดวง IR ยังคงถกเถียงเกี่ยวกับ ‘คำถามคลาสสิก’ หรือ ‘คำถามอมตะ’ (enduring questions) แม้ว่าโจทย์จะถูกตั้งมานานแล้ว แต่ก็ยังไขให้กระจ่างไม่ได้หรือยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น โจทย์การเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก (power transition) แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมีโจทย์ใหม่ๆ ที่ล้ำหน้าผุดขึ้นมาอีกด้วย”

“แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนเร็วจนทฤษฎีเปลี่ยนตามไม่ทัน แต่ทฤษฎี IR ก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะทฤษฎียังเป็นเลนส์ที่มีพลังในการมองและวิเคราะห์ภาพใหญ่ของเหตุการณ์โลกได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเรานิยามแบบแคบๆ ว่าทฤษฎี IR ประกอบด้วยเพียงทฤษฎีกระแสหลักอย่างสภาพจริงนิยม เสรีนิยม และสรรสร้างนิยมเท่านั้น มันก็อาจจะไม่ครอบคลุมเพียงพอในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน เช่น วิกฤตโควิด-19”

“ผมไม่คิดว่าโควิด-19 เข้ามาสั่นสะเทือน IR โดยตรงอย่างสาขาอื่น แต่มันเปิดโอกาส เร่งเครื่องให้การศึกษาวิจัยบางด้านคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะโจทย์เรื่องความหวาดกลัว ระบบดุลอำนาจใหม่ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ ความลักลั่นของระบอบสุขภาพโลกที่ไปปะทะกับการเมืองเรื่องอำนาจ หรือแม้กระทั่งเรื่องการประกอบสร้างให้ประเด็นเรื่องสุขภาพกลายเป็นเรื่องของความมั่นคง”

“IR ไม่มี theory of everything คือไม่มีทฤษฎีเดียวที่อธิบายทุกสิ่งในโลกได้ เราอาจบอกว่า IR เหมือนเป็น fifty shades of theory มากกว่า เพราะมีทฤษฎีเยอะมากในการอธิบาย ถามว่า IR อยากจะมี theory of everything มั้ย ผมว่า IR ก็มีความพยายามจะทำแบบนั้น แต่ทำไม่ได้ การมีทฤษฎีที่หลากหลายจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ IR ที่ทำให้เราเห็นโลกจากมุมต่างๆ มีการสนทนาโต้แย้งกันระหว่างทฤษฎีต่างๆ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปแบบเดียว นี่เลยทำให้คนอื่นมอง IR ว่าเป็นภาพเบลอๆ”

“เสน่ห์ของ IR จึงอาจจะเป็นความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ IR ไม่ได้บอกว่า คุณต้องท่องจำเก่ง หรือรู้เยอะรู้มาก ไม่ใช่เลย โจทย์ของ IR คือ เราจะทำอย่างไรถึงจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนจากมุมมองบางอย่างได้น่าสนใจ หลายครั้ง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว เราอาจจะเห็นความต่อเนื่องหรือแบบแผนบางอย่างของการเมืองโลกก็ได้”

 

นักปฏิรูปการศึกษาควรดีใจกับม็อบนักศึกษามิใช่หรือ

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนพ่อแม่ ครูอาจารย์ และนักปฏิรูปการศึกษา สนทนาว่าด้วยม็อบนักศึกษาที่กำลังร้อนแรงในเวลานี้ ทำไมเราควรดีใจกับม็อบนักศึกษา? เราปฏิรูปการศึกษาเพื่อสิ่งนี้มิใช่หรือ?

………….

“เป็นที่เข้าใจได้ว่าคำถามของนักศึกษาบางคำถามดูจะเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะยอมรับได้ แต่จะว่าไปเราทุกคนล้วนเคยตั้งคำถามยากๆ กับพ่อแม่ตัวเองมาแล้วทั้งนั้น แล้วพอถึงวันที่เราเป็นพ่อแม่ ไม่ช้าก็เร็วเราจะพบคำถามยากๆ จากลูก แล้วก็จะยากมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของพวกเขา

ประเด็นคือคำถามแม้ว่าจะยากแต่เรามิได้จำเป็นต้องตอบทุกคำถาม เราเพียงแค่รับฟัง นี่ควรเป็นเรื่องง่ายๆ และทำได้ด้วยเมตตา หากเราทำกับลูกของตนเองได้ เราควรทำกับนักศึกษาซึ่งก็คือลูกหลานของประเทศของเรามิใช่หรือครับ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย

เป็นที่รู้กันทั้งทางจิตวิทยา และทางสังคมวิทยา ว่าเพียงเราเริ่มต้นนั่งฟัง เด็กๆ จะเริ่มขยายความเรื่องที่เขาคิดและถาม กระบวนการทางปัญญาจึงจะเกิดขึ้น แล้วบ่อยครั้งที่เราจะพบว่าพวกเขามีทางออกให้แก่ตัวเอง หรือมีหนทางประนีประนอมได้ด้วยตนเอง ใครที่เคยนั่งฟังลูกพูด นักจิตวิทยาที่ทำงานด้านการให้คำปรึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาที่รู้งาน ทุกท่านรู้ความจริงข้อนี้ดีว่า การรับมือคำถามยากๆ คือการนั่งฟัง นี่คือขั้นตอนแรก

มิใช่การสั่งเขาหุบปากหรือขู่เข็ญ ขึ้นชื่อว่าอายุ 12 ไปจนถึง 22 ไม่มีเสียล่ะที่จะยอมจำนนง่ายๆ เขาเป็นได้สู้ตายทุกครั้งไป

แต่ว่าเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องฟังอย่างตั้งใจด้วย มิใช่ฟังเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่าฟังแล้วและมีธงในใจว่าฟังเสร็จจะตอบว่าไม่ได้หรือไม่ให้อย่างแน่นอน หากเป็นเช่นนั้นการฟังย่อมเท่ากับการยื้อเวลาที่ไม่นำไปสู่อะไรเลย

การฟังอย่างตั้งใจมิใช่เรื่องที่ตอแหลได้ มีแต่ต้องลงมือทำด้วยความจริงใจ เครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาวะหรือจิตวิญญาณน่าจะรู้เรื่องนี้ดีเห็นมีเวิร์กชอปกันอยู่เนืองๆ แต่ดูเหมือนว่าเครือข่ายเหล่านี้เลือกที่จะเงียบในครั้งนี้อีกเช่นเดียวกัน

จะเห็นว่าคนที่จำเป็นต้องปรับปรุงตัวกลับกลายเป็นพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่จริงๆ ด้วย กล่าวคือ “เมื่อไรพวกผู้ใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่เสียที”

 

หลังโรคระบาดจากไป จะเห็นอะไร

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“ผู้ที่จะอยู่รอดได้ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งหรือฉลาดที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก” — Charles Darwin

สำรวจ 10 ข้อสังเกตจาก วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่จะเห็นการปรับตัวเพื่ออยู่รอดแบบใหม่ของมนุษย์ในอนาคต เมื่อโคโรนาไวรัสผ่านไป

 

เปลี่ยน ‘เหลื่อมล้ำ’ เป็น ‘เสมอภาค’ : มองปัญหาการศึกษาไทยกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาที่ดี กว่า 4.3 ล้านคน ซึ่งการให้เงินอุดหนุนเป็นหนึ่งในวิธีแก้เบื้องต้นของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก่อนที่จะขยับขยายแผนการเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ความยากจนข้ามไปสู่รุ่นถัดไป จนถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำในประเทศให้กว้างขึ้นอีก

101 คุยกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่าด้วย สถานการณ์ ปัญหา และทางออกของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย

“ระบบการศึกษา เป็นระบบทางสังคมที่ดูแลเด็กตั้งแต่วัยที่เล็กมาก เช่น ปฐมวัย หรือประถมศึกษา ซึ่งถ้าทำได้ดี ระบบการศึกษาควรจะเป็นระบบที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคม ให้ความยากจนไม่ข้ามจากรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง การศึกษาสูงสุดของพ่อแม่อาจจะอยู่ ป.6 ลูกก็น่าจะอย่างน้อย ม.6 ปวช. หรือสูงไปกว่านั้นถ้าเขามีศักยภาพ ฐานรายได้ของลูกก็จะสูงพอที่จะพาครอบครัวของเขาออกไปจากกับดักความยากจน หรืออย่างน้อยรุ่นลูกของเขาก็ไม่อยู่ในความยากจนอีกต่อไป”

“อันนี้เป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทยเลย คือทำอย่างไรจึงจะขจัดปัญหาความยากจนออกไปจากสังคมไทย แล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยหยุดยั้งไม่ให้ความยากจนข้ามไปสู่รุ่นต่อไปได้อีก”

“ผมไปมาแทบทุกจังหวัด โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ถ้าไปดูหอพักคุณครู เราจะสงสารครูจับใจเลยว่านอนอยู่ได้ยังไง หรือเรื่องความปลอดภัย ครูบางคนก็เพิ่งบรรจุเลย แต่พอได้เริ่มคุยกับคุณครู เราจะได้เห็นว่าความเสียสละและจิตวิญญาณของความเป็นครูเป็นยังไง”

“ถ้าเราไปดูโรงเรียนที่ยากจน เราจะเห็นเลยว่าเขาอยู่ในสภาพอาคารที่ทรุดโทรม อุปกรณ์การเรียนไม่ครบ จำนวนนักเรียนที่ยากจนด้อยโอกาสก็มาก ครูก็อาจจะไม่ครบชั้น ไม่ครบกลุ่มสาระ ครูทำงานตั้งแต่เป็นภารโรง ซ่อมประปา เวรยาม แก้เหาให้เด็ก ทำทุกอย่าง ด้วยความขาดแคลนตรงนี้ โรงเรียนต้องการการช่วยเหลือจริงๆ”

 

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

“การที่ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งสืบสายมาจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร ขึ้นมาสืบราชสันตติวงศ์ครองสิริราชสมบัติได้นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และราชสกุล “บริพัตร” ถูกข้ามไป”

“นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้บันทึกไว้ในภายหลังอย่างชัดเจนว่า “โดยคํานึงถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ได้ทรงทําคุณประโยชน์แก่ราษฎร และเป็นเจ้านายที่บําเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบพร้อมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎร ขอความเห็นชอบที่จะอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 8 แห่งพระราชวงศ์จักรี”

 

“ถ้าคุณรักสถาบันจริง อย่ามองว่าคนที่เห็นต่างจากคุณนั้นเลวร้าย” – สุลักษณ์ ศิวรักษ์

 

โดย วจนา วรรลยางกูร และ สมคิด พุทธศรี 

“กัลยาณมิตรสำคัญที่สุดสำหรับทุกคน กัลยาณมิตรคือผู้ที่จะพูดในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง”

101 สนทนากับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโส เจ้าของฉายา ‘ปัญญาชนสยาม’ ผู้ประกาศตัวและได้รับการยอมรับว่าเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยม (royalist) คนสำคัญ ถึงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของม็อบนักศึกษา ท่าทีของผู้มีอำนาจ และการสร้างพื้นที่การพูดคุยด้วยเหตุผล

“ที่น่ากลัวคือพวกที่ทำตัวเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา ไปอ้างอะไรต่างๆ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย เขาอ้างว่าจงรักภักดี แต่เป็นการจงรักภักดีแบบเอาดีให้ตัวเอง เอาความชั่วให้คนอื่น พวกนี้อันตรายมาก”

“หวังว่าชนชั้นบนจะไม่โง่เขลาเบาปัญญาขนาดนั้น บทเรียนจาก 6 ตุลาฯ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าใช้ความรุนแรงแล้วไปกันใหญ่”

“เราต้องมองท่านในฐานะมนุษย์ พูดกับท่านในฐานะที่ท่านเป็นมนุษย์ ท่านก็มีข้ออ่อนข้อแข็ง ข้อดีข้อด้อย แต่พูดอย่างเป็นมิตร พูดด้วยความเคารพนับถือก็เป็นประโยชน์กับท่าน เป็นประโยชน์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองทั้งหมด”

 

‘เกษียร เตชะพีระ’ มองการเมืองไทยยุคหลังฉันทมติภูมิพล

‘เกษียร เตชะพีระ’ มองการเมืองไทยยุคหลังฉันทมติภูมิพล

 

โดย วจนา วรรลยางกูร และ สมคิด พุทธศรี 

101 สนทนากับ ‘เกษียร เตชะพีระ’ เพื่อทำความเข้าใจการเมืองไทยยุคหลังฉันทมติภูมิพล ในวันที่ราษฎรตะโกนก้อง พร้อมเหยียดแขนตรงชูสามนิ้วหล่อเลี้ยง ‘หนึ่งความฝัน’ ของพวกเขา

เมื่อการเมืองในระบบเป็น ‘ปฏิกิริยา’ การเมืองภาคประชาชนเป็น ‘ปฏิรูป’ แต่การเมืองวัฒนธรรมเป็น ‘ปฏิวัติ’ ไปแล้ว — การเมืองไทยจะไปต่ออย่างไร?

” ‘ฉันทมติภูมิพล’ คือ คำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตย’ และ ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ เป็นการทำให้ ‘ประชาธิปไตย’ เชื่อมกับ ‘ความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยม’ เป็นการผนึกสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน ภายใต้เงื่อนไขคือประชาธิปไตยที่ไปไม่สุดและสถาบันกษัตริย์มีอำนาจนำ แต่ตอนนี้สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยกำลังออกห่างจากกัน ซึ่งน่าวิตก”

“เมื่อไม่มีเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์เดิม พระราชอำนาจนำของรัชกาลที่ 9 หมดไป ไม่มีฉันทมติของชนชั้นนำ ตกลงเราจะอยู่กันอย่างไร … ตอนนี้เหมือนเครื่องบินที่ทำงานด้วยระบบ autopilot บินด้วยความเคยชินจากรัชกาลเก่าในขณะที่ภูมิประเทศทางอำนาจเปลี่ยนไปแล้ว และยังไม่มีการแบ่งอำนาจกันใหม่”

“มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการเมืองที่เกิดขึ้นช่วง คสช. มาถึงรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบันทำให้ความห่างระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยไปถึงขั้นที่พูดได้ว่าเราอยู่ในระบอบที่เป็น ‘virtual absolutism’ คือระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์เสมือน”

“ทุกวันนี้เกิดสภาพที่เรียกว่า ศีลธรรมสาธารณะล้มละลาย (public moral bankruptcy) มีแต่คนที่พูดถึงความดี-คนดี แต่ไม่มีความดีอยู่จริง เป็นสถานการณ์เดียวกับการพูดถึงความยุติธรรมหรือกฎหมายไม่หยุด แต่ไม่มีความยุติธรรมที่เป็นจริง”

“ปฏิรูปมันถูกที่สุดในแง่ต้นทุน แต่ปฏิรูปทำยากที่สุดเพราะต้องการฉันทมติระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนชั้นล่าง ตอนนี้เส้นทางปฏิรูปดูจะยากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายชนชั้นนำไม่ค่อยยอมหรือยอมช้าเหลือเกิน”

“รัฐนี้ฆ่าคนได้อย่างโหดร้ายทารุณซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกรอบมักจะเกิดนิรโทษกรรมแล้วจับมือใครดมไม่ได้ … คำเตือนควรจะพุ่งไปที่ฝ่ายรัฐมากกว่าฝ่ายที่ถูกปราบ รัฐอย่าทำอีก รัฐสร้างกรรมให้คนรุ่นหนึ่งแล้ว ทำให้คนรุ่นนี้ทิ้งแผ่นดินหนีไป แปลกแยกจากประเทศนี้ ตายไปในป่าตั้งเท่าไหร่ แล้วทำซ้ำอีกทำไม”

 

โบราณคดีล่องหนของคนชั้นล่าง ห้องครัวในพิพิธภัณฑ์ กับ พายมันเทศ

 

โดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เขียนถึง อดีตที่เคยล่องหนของทาสผิวดำ และ “พายมันเทศ” เมนูที่แสดงตัวตนและจิตวิญญาณของคนแอฟริกัน-อเมริกัน ผ่านสูตรอบพายที่มีอายุกว่าร้อยปี

“นักโบราณคดีอาจไม่มีทางรู้จริงๆ เลยว่า ทาสและผู้ยากไร้ที่สุดในสมัยโบราณนั้น นอกจากมีบทบาทเป็นคนรับใช้แล้ว พวกเขาเคยใช้ชีวิตอยู่อย่างไร เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มักจะล่องหนหายไปพร้อมกับชีวิตของพวกเขา จนเรื่องของคนชั้นล่างในประวัติศาสตร์แทบจะเรียกได้ว่ามีชีวิตอยู่อย่างไร้ความหมาย ตายไปอย่างไร้ร่องรอย”

“ด้วยความที่มันเทศเป็นพืชหัวที่ปลูกง่าย โตไว ให้ผลผลิตเป็นแป้งที่กินแล้วอิ่มท้อง ทำให้มันเทศได้แทรกตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารของทาสผิวดำ”

 

เอาศูนย์การค้าคืนไป เอาสวนสาธารณะคืนมา

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“ขอแสดงความเสียใจกับชาวกรุงเทพมหานครในสภาวะที่ต้องเจออากาศเป็นพิษทุกปี”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงความน่าเสียดายของการตัดสินใจแบ่งพื้นที่สวนมักกะสันที่ควรจะเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดใจกลางเมืองไปให้เอกชนสร้างศูนย์การค้าและโรงแรม

“หากสวนสาธารณะแห่งนี้เกิดขึ้นได้ ต้นไม้ในสวนนี้จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 604 ตันต่อปี เพิ่มก๊าซออกซิเจนบริสุทธิ์ให้ผู้คนได้หายใจ 441 ตันต่อปี

“งานวิจัยล่าสุดพบว่าต้นไม้ใหญ่ในเมืองโดยทั่วไป สามารถดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนได้ประมาณ 100 กรัม”

“ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมีวิธีคิดมุมเดียวว่าที่ดินกลางเมืองคือขุมทองมหาศาล ให้ความสนใจด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม พึงพอใจกับมูลค่าผลตอบแทนที่จะได้รับจากเอกชนมากกว่าคุณภาพชีวิตของผู้คน

“เม็ดเงินนับแสนล้านบาทจากการให้เอกชนเช่า 50 ปี เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากกว่าต้นไม้ในสวนสาธารณะที่สามารถฟอกปอดให้กับคนในเมืองใหญ่ได้”

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save