fbpx
นักปฏิรูปการศึกษาควรดีใจกับม็อบนักศึกษามิใช่หรือ

นักปฏิรูปการศึกษาควรดีใจกับม็อบนักศึกษามิใช่หรือ

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

มีคำถามว่าเราปฏิรูปการศึกษาเพื่ออะไร?

คำตอบหนึ่งคือเพื่อให้เด็กไทยรู้จักคิด รู้จักถาม มีความใฝ่รู้ และมีความสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จากทุกสถานที่และทุกเวลา

เรื่องนิสิตนักศึกษา รวมทั้งนักเรียนมัธยมปลาย ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบนี้ ควรเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคนที่ทำงานด้านการศึกษา รวมทั้งเครือข่ายที่ทำงานปฏิรูปการศึกษา ด้วยพวกเขาได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขารู้จักคิด รู้จักถาม มีความใฝ่รู้ และมีความสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากทุกสถานที่และทุกเวลา

ปัญหาเกิดขึ้นเพราะพวกเขาคิดและถามเรื่องการเมือง? หรือว่าเราจะปฏิรูปการศึกษาโดยมีเงื่อนไขห้อยท้ายว่าห้ามคิดห้ามถามเรื่องการเมือง ซึ่งควรรู้อยู่แก่ใจว่าทำมิได้ เพราะที่แท้แล้วการเมืองอยู่รอบตัวคนทุกคน

เพราะอะไรเราควรสนใจการเมือง และงานปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องข้องแวะการเมือง?

ผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นตอบคำถามนี้อย่างไร แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าที่เราควรสนใจการเมืองเพราะมีคนไทยที่ยากจนอยู่ข้างนอกนั้นมากกว่ามาก และมีคนไทยจำนวนมากมายที่กำลังทนทุกข์กับระบบสังคมที่ไม่มีเมตตา กดขี่ข่มเหง รีดนาทาเร้น และเอารัดเอาเปรียบพวกเขาโดยไม่มีทางจะแก้ไขอะไรได้เลย คนไทยทุกคนควรสนใจการเมืองเพราะการเมืองเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้สังคมของเราดีขึ้นได้

เรามีกิน เราอยากให้คนอื่นมีกินด้วย เรามีบ้านนอน เราอยากให้คนอื่นมีบ้านนอนด้วย เราอยากให้คนไทยทุกคนมีกินและมีที่นอน นี่มิใช่คำขอที่มากเกินไปไม่ใช่หรือครับ

การปฏิรูปใดๆ รวมทั้งการปฏิรูปสังคม จำเป็นต้องใช้ปัญญา ปัญญาได้จากการศึกษา ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาปัญญา ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ต้องปฏิรูปทุกระดับ เพราะที่เป็นอยู่นี้ใช้ไม่ได้ ใครๆ ก็รู้ว่าใช้ไม่ได้

ก่อนไปต่อ ยกตัวอย่างเรื่องการเลี้ยงลูก คุณพ่อคุณแม่ไม่มีทางจะเลี้ยงลูกได้โดยง่ายถ้าขาดทรัพยากรที่พอเพียง ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือเวลา มีแต่การเมืองที่จะช่วยให้พ่อแม่ทุกบ้านมีเงินและมีเวลามากพอที่จะเลี้ยงลูก เราไม่สามารถเขียนตำราพ่อแม่เลี้ยงลูกให้ได้ดีได้ด้วยการเพิกเฉยการเมือง การเมืองอยู่รอบทุกคนและทุกเรื่อง

ผมจึงแปลกใจที่ผ่านมาหลายวันแล้ว เหมือนจะไม่เห็นข่าวฝ่ายการศึกษาและฝ่ายปฏิรูปการศึกษาออกมาสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษาเท่าไรนัก ขณะเขียนต้นฉบับนี้มีคณาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งแสดงตนแล้ว แต่ตัวมหาวิทยาลัยเองและองค์กรต่างๆ นานาที่ทำงานด้านปฏิรูปการศึกษายังเงียบ ได้ข่าวว่าสำนักข่าวทางโทรทัศน์ก็เงียบ (ตัวเองไม่เคยเปิดโทรทัศน์อีกเลยตั้งแต่ปฏิวัติเมื่อ 6 ปีก่อน) แม้แต่สำนักข่าวที่ทำงานปฏิรูปการศึกษาก็เงียบ

ที่แท้แล้วเราควรดีใจมิใช่หรือครับ

มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรเป็นองค์กรสำคัญในการยืนยันเสรีภาพของนักศึกษา ถ้ามหาวิทยาลัยมิใช่พื้นที่ที่ตั้งคำถามได้โดยเสรี คำถามที่ควรถามมหาวิทยาลัยเป็นคำถามแรกคือ มีมหาวิทยาลัยแห่งนั้นไว้ทำไม หรือว่ามหาวิทยาลัยก็มีเงื่อนไขห้อยท้ายเช่นเดียวกันว่าจะถามอะไรก็ได้ยกเว้นเรื่องการเมือง

ไม่มีเสรีภาพย่อมไม่มีปัญญา

เป็นที่เข้าใจได้ว่าคำถามของนักศึกษาบางคำถามดูจะเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะยอมรับได้ แต่จะว่าไปเราทุกคนล้วนเคยตั้งคำถามยากๆ กับพ่อแม่ตัวเองมาแล้วทั้งนั้น แล้วพอถึงวันที่เราเป็นพ่อแม่ ไม่ช้าก็เร็วเราจะพบคำถามยากๆ จากลูก แล้วก็จะยากมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของพวกเขา ประเด็นคือคำถามแม้ว่าจะยากแต่เรามิได้จำเป็นต้องตอบทุกคำถาม เราเพียงแค่รับฟัง นี่ควรเป็นเรื่องง่ายๆ และทำได้ด้วยเมตตา หากเราทำกับลูกของตนเองได้ เราควรทำกับนักศึกษาซึ่งก็คือลูกหลานของประเทศของเรามิใช่หรือครับ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย

เป็นที่รู้กันทั้งทางจิตวิทยา และทางสังคมวิทยา ว่าเพียงเราเริ่มต้นนั่งฟัง เด็กๆ จะเริ่มขยายความเรื่องที่เขาคิดและถาม กระบวนการทางปัญญาจึงจะเกิดขึ้น แล้วบ่อยครั้งที่เราจะพบว่าพวกเขามีทางออกให้แก่ตัวเอง หรือมีหนทางประนีประนอมได้ด้วยตนเอง ใครที่เคยนั่งฟังลูกพูด นักจิตวิทยาที่ทำงานด้านการให้คำปรึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาที่รู้งาน ทุกท่านรู้ความจริงข้อนี้ดีว่า การรับมือคำถามยากๆ คือการนั่งฟัง นี่คือขั้นตอนแรก

มิใช่การสั่งเขาหุบปากหรือขู่เข็ญ ขึ้นชื่อว่าอายุ 12 ไปจนถึง 22 ไม่มีเสียล่ะที่จะยอมจำนนง่ายๆ เขาเป็นได้สู้ตายทุกครั้งไป

แต่ว่าเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องฟังอย่างตั้งใจด้วย มิใช่ฟังเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่าฟังแล้วและมีธงในใจว่าฟังเสร็จจะตอบว่าไม่ได้หรือไม่ให้อย่างแน่นอน หากเป็นเช่นนั้นการฟังย่อมเท่ากับการยื้อเวลาที่ไม่นำไปสู่อะไรเลย การฟังอย่างตั้งใจมิใช่เรื่องที่ตอแหลได้ มีแต่ต้องลงมือทำด้วยความจริงใจ เครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาวะหรือจิตวิญญาณน่าจะรู้เรื่องนี้ดีเห็นมีเวิร์กชอปกันอยู่เนืองๆ แต่ดูเหมือนว่าเครือข่ายเหล่านี้เลือกที่จะเงียบในครั้งนี้อีกเช่นเดียวกัน

จะเห็นว่าคนที่จำเป็นต้องปรับปรุงตัวกลับกลายเป็นพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่จริงๆ ด้วย กล่าวคือ “เมื่อไรพวกผู้ใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่เสียที”

คนอายุ 12-22 ปี มีพลังมากทั้งร่างกาย จิตใจ สมอง สติปัญญา และอุดมการณ์ พวกเขาเหนือกว่าพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ทุกด้าน เป็นพวกเราเองที่กดเขาลงไปให้เป็นเด็กตลอดกาลด้วยการศึกษาที่คับแคบ ระเบียบที่คับแคบ การศึกษาไร้ความหมายและคุณค่าที่ยาวนานตั้งแต่เตรียมอนุบาลจนถึงจบปริญญาตรี นั่นคือเวลา 20 ปี  เท่ากับ 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 4 ของช่วงอายุคนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด มีผลประโยชน์ส่วนตนน้อยที่สุด รากยังมิได้ฝังลึกลงไป ณ ที่ใดที่หนึ่ง ไม่มีเดิมพันสูงมากมายเหมือนนักการเมืองรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นปู่ย่าตายาย ไปจนถึงรุ่นทวดที่มีต้นทุนสูงเกินกว่าจะเสีย

ความคิดอ่านของพวกเขาบริสุทธิ์จริง อาจจะยังไม่ปราดเปรื่องแต่มีความจริงใจสูงกว่าคนที่อายุมากกว่าแน่ๆ

มิใช่มีเพียงเรื่องการเมืองหรือเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรากังวล ถ้าอยากจะกังวลเรากังวลได้ทุกเรื่อง นอกจากสองเรื่องนี้ยังมีเรื่องศาสนา ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย โคราช ไปจนถึงปัตตานี ทุกที่มีข้อกังขาทั้งนั้น และเรื่องเพศ ทุกเรื่องมีความอ่อนไหวและแดนต้องห้าม  เราจะอยู่กันแบบห้ามคิดห้ามถามในเรื่องราวเหล่านี้ต่อไปก็ได้ แต่ก็เชื่อได้ว่าจะเกิดความตึงเครียดและความรุนแรงที่เลี่ยงไม่ได้ในที่สุดอยู่ดี เหตุเพราะชนทุกกลุ่มมีที่ทางของตัวและมีหนทางแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของกลุ่มชนของตัวหมดแล้วในศตวรรษนี้ ไม่มีใครยอมอยู่เฉยๆ อีกต่อไป

มองในแง่ดีนะครับ ครั้งนี้เป็นโอกาสทองที่เราจะได้สร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ แต่ว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งและสถาบันต่างๆ ไม่ควรเทนักศึกษาพร้อมๆ กันหมด เพราะหากทำเช่นนี้ ประเทศของเราจะไม่ไปไหน แย่กว่านั้นคือเกิดอันตรายต่อนักศึกษาเป็นรายบุคคลหรือเฉพาะกลุ่ม หรือเกิดความรุนแรงในวงกว้าง

ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเสียดายมาก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save