fbpx
เอาศูนย์การค้าคืนไป เอาสวนสาธารณะคืนมา

เอาศูนย์การค้าคืนไป เอาสวนสาธารณะคืนมา

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

 กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ขอแสดงความเสียใจกับชาวกรุงเทพมหานครในสภาวะที่ต้องเจออากาศเป็นพิษทุกปี

เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีโอกาสที่จะตัดสินใจครั้งใหญ่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในมหานครนี้ หากประกาศยกเอาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณย่านมักกะสันกว่า 500 ไร่มาทำเป็นสวนสาธารณะ

สวนมักกะสันจะกลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดใจกลางเมือง มีขนาดใกล้เคียงกับสวนหลวงร.9 ที่อยู่ชานเมือง และมีขนาดใหญ่กว่าสวนลุมพินี สวนสาธารณะกลางเมืองที่มีพื้นที่ 360 ไร่

เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐบาลตัดสินใจแบ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เพื่อพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ด้วยการให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนเพื่อสร้างศูนย์การค้า โรงแรมระดับโลก เหลือให้เป็นพื้นที่สีเขียวทำสวนสาธารณะประมาณ 150 ไร่

อันที่จริงผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่สีเขียว  คงไม่ใช่ประชาชนคนธรรมดาที่มาใช้สวนสาธารณะแห่งนี้ แต่คือบริษัทเอกชนที่ประมูลพื้นที่ได้ เพราะสร้างอาคารศูนย์การค้า โรงแรมติดสวนสาธารณะ เป็นการสร้างมูลค่าที่ดินให้เพิ่มขึ้นไปอีกโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

ทุกวันนี้ในวงการเรียลเอสเตททราบดีว่า อาคารที่มีพื้นที่สีเขียว ต้นไม้เยอะๆ ขายราคาแพงกว่าอาคารธรรมดาหลายเท่า

ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมีวิธีคิดมุมเดียวว่าที่ดินกลางเมืองคือขุมทองมหาศาล ให้ความสนใจด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม พึงพอใจกับมูลค่าผลตอบแทนที่จะได้รับจากเอกชนมากกว่าคุณภาพชีวิตของผู้คน

เม็ดเงินนับแสนล้านบาทจากการให้เอกชนเช่า 50 ปี เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากกว่าต้นไม้ในสวนสาธารณะที่สามารถฟอกปอดให้กับคนในเมืองใหญ่ได้

หากสวนสาธารณะแห่งนี้เกิดขึ้นได้ ต้นไม้ในสวนนี้จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 604 ตันต่อปี เพิ่มก๊าซออกซิเจนบริสุทธิ์ให้ผู้คนได้หายใจ 441 ตันต่อปี และงานวิจัยล่าสุดพบว่าต้นไม้ใหญ่ในเมืองโดยทั่วไป สามารถดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนได้ประมาณ 100 กรัม

แต่น่าเสียดายว่า วิธีคิดของรัฐบาลทุกยุคไม่เคยสนใจมูลค่าเหล่านี้เลย และไม่ค่อยมีนักเศรษฐศาสตร์พยายามตีคุณค่าเหล่านี้เป็นเม็ดเงินออกมาว่ามีมูลค่ามหาศาลเพียงใด

ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดปัญหามลพิษเต็มเมือง จนละอองฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกปี  ก็มีข่าวว่ารัฐบาลจะทุ่มงบหลายหมื่นล้านเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

ทัศนคติในการมองสิ่งแวดล้อมของผู้มีอำนาจในเมืองไทย ยังอยู่ในมุมเดิมๆ คือมักเดินตามหลังความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศตลอดเวลา

มองที่ดินว่างเปล่าในมุมเดียว คือใช้ประโยชน์สูงสุดในการสร้างศูนย์การค้า โรงแรมหรู ฯลฯ แต่แทบจะไม่คิดให้ทะลุว่า การใช้พื้นดินให้เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะคือการใช้ประโยชน์คุ้มที่สุดถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ต้นไม้มีแต่เติบใหญ่ เป็นร่มเงาและฟอกอากาศให้กับลูกหลาน  ส่วนตึกใหญ่ในอนาคตมีแต่ทรุดโทรมไปเรื่อยๆ

ทุกวันนี้กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 6 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่สัดส่วนตามมาตรฐานสากลคือ 9 ตารางเมตรต่อคน

 

ต้นไม้ สวย ป่า ในกรุงเทพ

 

ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์กลับมีพื้นที่สีเขียวถึง 66 ตารางเมตรต่อคน มากกว่ากรุงเทพมหานครถึงสิบเท่า ลี กวนยู อดีตผู้นำของสิงคโปร์เคยพูดถึงวิสัยทัศน์ของเขาไว้หลายสิบปีว่า “ผมมีความเชื่อว่าเมืองที่มีภูมิทัศน์เสื่อมโทรมและป่าคอนกรีตทำลายจิตวิญญาณของมนุษย์ พวกเราต้องการพื้นที่สีเขียวของธรรมชาติเพื่อยกระดับจิตวิญญาณของเรา”

พื้นที่สีเขียวคือส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองสิงคโปร์มาตลอด รัฐบาลให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวพอๆ กับการก่อสร้างอาคาร

ทุกวันนี้สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมไปทั้งเมือง ถนนแต่ละสายมีความหลากหลายของต้นไม้หลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้พื้นถิ่น ไม่มักง่ายแบบราชการไทย ปลูกต้นไม้ชนิดเดียวนับร้อยต้นเรียงแถวไปตามถนน และมีสวนสาธารณะเต็มไปทั่วประเทศ ที่ทุกคนเข้าถึงง่ายๆ กันถ้วนหน้า

สิงคโปร์ประกาศว่า จะสร้างประเทศให้เป็น ‘city in the park’ ไม่ใช่แค่ ‘park in the city’ คำนี้มีความหมายมาก เพราะนั่นหมายถึงว่า ในอนาคตพื้นที่ของตัวเมืองจะเล็กกว่าสวน  ผู้คนจะอาศัยอยู่ในสวนหรือป่าที่มีเมืองอยู่ข้างใน ไม่ใช่เป็นแค่สวนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ อีกต่อไป

 

ต้นไม้ สวน ป่า ในกรุงเทพ

 

เช่นเดียวกับมหานครลอนดอนที่มีขนาดประชากร 8 ล้านคนและขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร 1,572 ตารางกิโลเมตร แต่มีพื้นที่สีเขียว 31 ตารางเมตรต่อคน มากกว่ากรุงเทพฯ ถึงห้าเท่า ตอนนี้ชาวเมืองลอนดอนได้ประกาศวิสัยทัศน์ว่าจะเป็น ‘เมืองในสวนสาธารณะ’ ไม่ใช่ ‘สวนสาธารณะในเมือง’ อีกต่อไป

ทุกวันนี้ในแง่กายภาพ ลอนดอนมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 40% ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ประกอบไปด้วย สวนสาธารณะ ต้นไม้ริมถนน สวนขนาดเล็ก พื้นที่ชุ่มน้ำ เฉพาะสวนสาธารณะ มีถึง 3,000 แห่ง ทั้งหมดมีพื้นที่รวมกัน 8.7 หมื่นไร่

ขณะที่กรุงเทพมหานครพื้นที่ใกล้เคียงกับลอนดอน ประชากร 10 ล้านคน แต่มีสวนสาธารณะรวมกันไม่ถึง 3,000 ไร่

เมื่อสองปีก่อนชาวลอนดอนได้สวนสาธารณะแห่งใหม่ ชื่อ ‘Walthamstow Wetlands’

ในอดีตเป็นโรงงานผลิตน้ำประปาใหญ่ที่สุด มีบึง หนองน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ และเคยเป็นโรงงานผลิตแป้ง ทองแดง ดินระเบิดมาก่อนหลายร้อยปี ต่อมาทางการลอนดอนได้ประกาศให้บริเวณนี้เป็น wetland หรือพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการอนุรักษ์

Walthamstow Wetlands เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ นก ปลา คน ต้นไม้ทุกชนิด สามารถอยู่ร่วมกันได้ขนาดพื้นที่ 1,200 ไร่ และยังผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงคนลอนดอนหลายล้านคน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมปีที่ผ่านมา Sadiq Khan นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนได้ประกาศวิสัยทัศน์ว่า “จะทำให้ลอนดอนเป็นเมืองในสวนสาธารณะแห่งแรกในโลก เป็นเมืองที่เขียวที่สุดในโลก มีคุณภาพอากาศดี มีการอนุรักษ์สัตว์ป่าและต้นไม้ในเมือง  ตลอดจนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความเป็นเมืองสีเขียว ให้สำเร็จ”

World Economics Forum ได้ออกรายงานความเสี่ยงของโลกในปี 2020 ว่า ความเสี่ยงอันดับต้นๆ ประการหนึ่งคือ การทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยน้ำมือของมนุษย์ อันหมายรวมถึงคุณภาพอากาศอันเลวร้าย

หันกลับมาที่เมืองไทย  เมื่อไรเราจะมีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์มองเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องมาพร้อมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เดินตามหลังเศรษฐกิจมาตลอดกาล

และเราทุกคนคงต้องการอากาศบริสุทธ์ ไม่ได้อยากตายอย่างโง่ๆ เพราะอากาศเป็นพิษ

สวนสาธารณะคือคำตอบมากกว่าศูนย์การค้าแน่นอน

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save