วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
“ผู้ที่จะอยู่รอดได้ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่ง
หรือฉลาดที่สุด
แต่คือผู้ที่ปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก”Charles Darwin
แทบไม่น่าเชื่อว่าเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อตัวอย่างเงียบๆ เมื่อปลายปีก่อน ใช้เวลาแค่สามเดือน ขยายตัวลุกลามใหญ่โตอย่างรวดเร็ว จากเมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน กระจายไปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย ไปทั่วโลก สร้างความปั่นป่วนให้กับโลกมนุษย์ครั้งร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเจ็ดสิบปีก่อนเป็นต้นมา
ไม่ใช่แต่เพียงชีวิตมนุษย์ที่ต้องเจ็บป่วยล้มตายหลายแสนคน เศรษฐกิจทั่วโลกก็พังทลายอย่างรวดเร็วโดยสิ้นเชิง
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ มีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจของโลกน่าจะเข้าสู่ยุคฟองสบู่แตกครั้งใหม่ และโลกจะเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เร็วๆ นี้
แต่ไม่ต้องรอให้ฟองสบู่แตก การระบาดของไวรัสเพียงสามเดือน เศรษฐกิจโลกก็ตกต่ำหนักที่สุดในรอบร้อยปีทันที
ผู้คนหากไม่เจ็บป่วยหรือล้มตาย หลายคนก็แทบสิ้นเนื้อประดาตัว
มันรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ รวดเร็วจนแทบจะไม่มีสัญญาณเตือนภัยใดๆ
ในอดีตที่เผชิญโรคซาร์สและโรคอีโบลา มนุษย์ยังเตรียมตัวในการรับมือได้ทัน แต่กับเจ้าโคโรนาไวรัสมันปรับตัวได้รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อในการแพร่กระจาย สามารถเจาะแนวตั้งรับของมนุษย์แตกกระจายไปหมดทุกทวีป
ขณะนี้ทั่วโลกหมดเงินไปกับการต่อสู้กับไวรัสตัวจิ๋วนี้นับมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่นับรวมการปิดกิจการของบริษัทหลายล้านแห่งทั่วโลก ตลาดหุ้นพังพินาศ มูลค่าทรัพย์สินทั่วโลกหดหายไปอย่างรวดเร็ว
หากเป็นคนก็ต้องยอมรับว่า เงินทองที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิต หมดไปกับเหตุการณ์ครั้งนี้ครั้งเดียว
เริ่มมีคำถามว่า ระบบทุนนิยมและวิถีชีวิตที่ดำเนินอยู่ในทุกวันนี้กำลังจะถูกเชื้อไวรัสนี้กวาดไปด้วยหรือไม่
อย่าลืมว่าสมัยศตวรรษที่ 14 เมื่อเชื้อกาฬโรคได้ระบาดไปทั่วโลกจนเรียกว่า Great Plague หรือ Black Death ซึ่งเริ่มต้นจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและประเทศจีนระบาดไปตลอดเส้นทางสายไหม (silk road) กระจายไปทั่วเอเชีย, ยุโรป และแอฟริกา ที่อิตาลีมีการระบาดในช่วง ค.ศ. 1338-1351 ทำให้ประชากร 2 ใน 3 ของประเทศล้มตาย และในค.ศ. 1400 เกิดการระบาดใหญ่ที่กรุงลอนดอนเรียกว่า มีคนตายถึง 70% จากจำนวนประชากร 450,000 คน เหลือเพียง 60,000 คน
ห้าปีผ่านไป Black Death ฆ่าชีวิตผู้คนในยุโรปไปไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคนหรือประชากร 1 ใน 4 ทวีปยุโรป
และที่สำคัญคือ เชื้อโรคนี้ยังกวาดเอาระบบศักดินาในยุโรปอันล้าสมัยและไม่สามารถแก้ปัญหาหลายอย่างให้หายสาบสูญไปด้วย ถือเป็นการปรับตัวของสังคมเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ และนำไปสู่ยุคเรืองปัญญา (age of enlightenment) นำไปสู่การปฏิรูปสังคมและส่งเสริมการใช้หลักเหตุผลมากกว่าการใช้หลักจารีต ความเชื่อ รวมไปถึงส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง การเคลื่อนไหวยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้หรือการใช้ปัญญา ต่อต้านความเชื่อทางไสยศาสตร์ และนำทางให้หลายประเทศในยุโรปเติบโตเป็นชาติมหาอำนาจจนถึงปัจจุบัน
พูดอีกนัยคือ เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของโลกอาจจะต้องถึงคราวปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสตัวใหม่ที่กลายพันธุ์น่ากลัวกว่าแน่นอน
เวลาเราพูดถึงการปรับตัว ไวรัสปรับตัวมานานแล้ว ที่เรารู้จักกันว่า ‘กลายพันธุ์’ คือการปรับตัวของไวรัสเพื่อการอยู่รอด
ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตบางประการว่า ในอนาคตหลังไวรัสผ่านไป เราอาจเห็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดแบบใหม่ของมนุษย์ เพราะในอนาคต หากยังใช้ชีวิตแบบเดิม ไวรัสตัวใหม่อาจจะมาเยือนอีกก็ได้ อาทิ
1. การกระจายความเสี่ยง เมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้คนกระจุกตัวอยู่หนาแน่น เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง แต่เวลาเกิดโรคระบาด จะติดต่อได้เร็ว เมืองใหญ่ๆ อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ผู้คนอยากจะมาใช้ชีวิตอีกต่อไป เมืองเล็กๆ อาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
2. การกระจายอำนาจ ไปทั่วประเทศ กระจายความเจริญไปทั่วประเทศ เพื่อให้แต่ละเมืองอยู่รอดได้ มีเศรษฐกิจมั่นคงเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาความเจริญจากส่วนกลาง
3. กระจายความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ได้พึ่งพารายได้หลักอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก เมื่อทั้งสองอย่างพังทลายลง เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็แย่ลงด้วย
4. การผลิตขนาดใหญ่แบบ mass product กำลังถูกท้าทาย โดยเฉพาะการพึ่งพา supply chain หรือห่วงโซ่อุปทานจากนอกประเทศ ว่าจะอยู่รอดได้จริงหรือหากเกิดวิกฤตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
5. ผู้คนจะเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น ผู้คนมีสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเริ่มรับรู้แล้วว่า การทำลายธรรมชาติคือจุดเริ่มต้นของโรคระบาดไปทั่วโลก และเริ่มตระหนักว่าการแสวงหาความสุขทางจิตใจ มีความจำเป็นมากพอๆ กับความสุขจากการได้จับจ่ายใช้เงิน
6. นับวันคนต่างจังหวัดที่มาหางานทำในเมืองใหญ่ เริ่มคิดแล้วว่าการทำงานในเมืองอาจไม่ใช่คำตอบ อนาคตของตัวเองคือกลับไปสร้างงานที่บ้านเกิด อาจจะมั่นคงและปลอดภัยกว่าในเมืองใหญ่
7. อาชีพที่สามารถทำงานในบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องพบปะผู้คนมากมายหรือบ่อยๆ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการทำงาน จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก
8. มนุษย์จะฝึกฝนทักษะ ความสามารถที่ตัวเองสามารถทำได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ งานช่างต่างๆ งานไม้ ไฟฟ้า ประปา ทำสวน ฯลฯ เพื่อลดการพึ่งพาคนอื่น ช่วยตัวเองให้มากขึ้น
9. ผู้คนอาจจะรู้สึกว่า small is beautiful ทำเรื่องเล็กๆ พอประมาณ มีความสุขตามสมควร อาจจะน่ายินดีกว่าการคิดการใหญ่ ทำงานหวังประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว
10. การปกครองที่สอดคล้องกับสภาพความจริงในสังคมจะได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา
เมื่อโคโรนาไวรัสหายไป แต่ในอนาคต เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียใหม่ๆ ที่มนุษย์เพิ่งค้นพบ หรือกลายพันธุ์มาใหม่ ร้ายแรงกว่าเก่า จะปรากฏตัวให้เห็นแน่นอน อยู่ที่ว่ามนุษย์จะมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายได้เพียงใด