fbpx
โบราณคดีล่องหนของคนชั้นล่าง ห้องครัวในพิพิธภัณฑ์ กับ พายมันเทศ

โบราณคดีล่องหนของคนชั้นล่าง ห้องครัวในพิพิธภัณฑ์ กับ พายมันเทศ

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ นักประวัติศาสตร์มักทิ้งเรื่องของชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไว้ในความมืดมัวเสมอ”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คำพูดนี้ก้องอยู่ในหัวของฉันขณะที่กำลังก้าวเข้าไปในห้องครัวพื้นไม้ที่มืดสลัว กลางห้องที่มีผนังสีจางนั้น มีเตาไฟก่ออิฐเตาใหญ่ตั้งอยู่กลางห้อง พื้นเตามีกองฟืนไม้ติดไฟ ดีดประกายไฟสีแดงออกมาเป็นระยะ เหนือกองไฟมีหม้อโลหะสีดำขลับจากเขม่าควัน ภายในต้มหัวมันเทศหวานอยู่ภายใน ผนังห้องข้างเตาไฟมีสีเข้มจากเขม่าฟืน ด้านข้างเตาอิฐมีเตาอบขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง มีกลิ่นแป้งพายอบทำจากแป้งข้าวสาลีและเนยสดโชยกรุ่นอยู่ในบรรยากาศ ผู้ที่ใช้เวลาอยู่ในครัวห้องนี้สมัยก่อน ก็มักเป็นอดีตทาส, แรงงานผิวดำที่เป็นคนชั้นล่างในตอนนั้น

คนชั้นล่าง ไม่ว่าจะเป็น ทาส, คนยากไร้, ไพร่ มักจะมีสถานะเป็นผู้ล่องหนในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยู่เสมอ ในทางประวัติศาสตร์ ผู้ที่บันทึกประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชนชั้นนำ ที่เปี่ยมด้วยอำนาจบารมีในการปกครองและทรัพยากรต่างๆ ที่กำหนดความเป็นไปที่ “ควรค่าแก่การบันทึก” เอาไว้ในประวัติศาสตร์

ส่วนในงานโบราณคดี ชนชั้นนำ, คนมั่งมี, หรือคนที่มีสถานะพิเศษ เช่น ช่างฝีมือ มักเป็นกลุ่มคนที่ทิ้งหลักฐานทางโบราณคดีเอาไว้มากมาย แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานแสดงถึงบารมีของคนกลุ่มนี้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับคนชั้นนำก็มีอยู่มากมาย หลุมฝังศพของชนชั้นนำก็มักสังเกตได้ง่าย เพราะมีจำนวนเครื่องเซ่นมากกว่าคนธรรมดาหลายเท่า

เครื่องเซ่นในหลุมฝังศพของผู้นำโบราณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มักเต็มไปด้วยวัตถุมีค่า, มีลวดลายที่วิจิตรพิสดาร, มีเครื่องเซ่นจำนวนมหาศาล เช่น หลุมฝังศพของเจ้าแม่แห่งโคกพนมดี (อายุราว 3,000 – 4,000 ปีมาแล้ว) ที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี พบเครื่องเซ่นศพเป็นลูกปัดจำนวน 120,000 กว่าเม็ด ซึ่งมากเกินกว่าที่จะคล้องคอหรืออวัยวะส่วนต่างๆ บนร่างกายของหญิงคนนี้ได้

จุดประสงค์หลักของลูกปัดในหลุมศพนี้ จึงไม่ได้เป็นแค่เครื่องประดับธรรมดา แต่เป็นการประกาศศักดาถึงสถานะทางสังคมและบารมีของผู้นำต่างหาก แม้เวลาจะผ่านมาแล้วหลายพันปี สารจากอดีตของหญิงผู้ทรงอำนาจแห่งโคกพนมดีคนนี้ ก็ยังข้ามเวลามาสื่อสารกับคนปัจจุบันได้ชัดเจน

แต่หลักฐานเกี่ยวกับทาส, และคนยากไร้อื่นๆ แทบจะไม่มีร่องรอยที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าเลย เพราะโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้มักจะเป็นของสามัญและมีจำนวนน้อยกว่าคนรวยมาก แม้ว่าจะมีหลักฐานทางเอกสารที่บ่งบอกถึงการใช้แรงงานของไพร่-ทาส ในการใช้แรงงานบ้างก็ตาม แต่ดัชนีทางวัตถุชี้ที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของชนชั้นล่างนั้นแทบจะไม่มีเลยหรือสังเกตได้ยากกว่าการศึกษาชนชั้นนำมาก

นักโบราณคดีอาจไม่มีทางรู้จริงๆ เลยว่า ทาสและผู้ยากไร้ที่สุดในสมัยโบราณนั้น นอกจากมีบทบาทเป็นคนรับใช้แล้ว พวกเขาเคยใช้ชีวิตอยู่อย่างไร เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้มักจะล่องหนหายไปพร้อมกับชีวิตของคนกลุ่มนี้ จนเรื่องของคนชั้นล่างในประวัติศาสตร์แทบจะเรียกได้ว่ามีชีวิตอยู่อย่างไร้ความหมาย ตายไปอย่างไร้ร่องรอย

 

แม่ครัวผิวดำยืนหน้าเตาไฟในห้องครัว ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 (Library of Congress, HABS GA,20-WOBI.V,1--3)
แม่ครัวผิวดำยืนหน้าเตาไฟในห้องครัว ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 (Library of Congress, HABS GA,20-WOBI.V,1–3)

 

โบราณคดีต้องมีชีวิตจริงหรือ?

 

“โบราณคดีของผม คือสิ่งที่ตายแล้ว” คำกล่าวนี้เป็นของเจ้าพ่อแห่งทฤษฎีโบราณคดีกระบวนการ (Processual Archaeology) เดวิด คลาร์ก (1937-1976) ที่แสดงถึงระยะห่างที่นักโบราณคดีส่วนใหญ่ในสมัยก่อนจงใจทิ้งระยะระหว่างตนเองกับวัฒนธรรมในอดีต โดยมองว่าโบราณคดีเป็นเรื่องของอดีตที่ตายแล้ว มีความเสถียร ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป แต่ฉันกลับไม่เห็นด้วยกับ เดวิด คลาร์ก เลย

แม้ฉันจะเห็นด้วยว่าหลักฐานทางโบราณคดีค่อนข้างที่จะเสถียรก็ตาม ฉันกลับคิดว่าการตีความทางโบราณคดี รวมทั้งทฤษฎีที่ใช้ตีความนั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลาได้เรื่อยๆ ตามสถานะความรู้ที่เปลี่ยนไป ดังนั้นโบราณคดีและความรู้ทางโบราณคดีจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่เสถียรและตายตัวเสมอไป

การมองว่าโบราณคดีเป็นสิ่งที่ตายแล้ว กลับยิ่งเป็นการสร้างกำแพงขวางกั้นการทำความเข้าใจคนในอดีตกับสาธารณชน และการสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างคนกับทรัพยากรทางโบราณคดีทั้งหลายเสียอีก

ถ้าหากมองว่าโบราณคดีเป็นเรื่องของคนอื่น เรายังจำเป็นต้องศึกษาเรื่องพวกนั้นไปทำไมกัน?

ปัจจุบัน การศึกษาทางโบราณคดีสากลก็ไม่ได้มองว่าโบราณคดีเป็นสิ่งที่ตายแล้ว หรือเป็นเรื่องของคนอื่นอีกต่อไป การวิจัยทางโบราณคดีหลายโครงการมีที่มาจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางสังคม, กฏหมาย, วัฒนธรรมให้คนในอดีตที่ถูกลืมเพราะการเลือกปฎิบัติ โบราณคดีในลักษณะนี้จะมองว่าคนในอดีตมีศักดิ์ศรีของความเป็นคนเท่าๆ กับคนในปัจจุบัน

ดังนั้น เรื่องราวของคนในอดีตไม่ใช่เรื่องของคนอื่น โบราณคดียังมีลมหายใจ และโบราณวัตถุคือสื่อกลางในการสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นกับคนปัจจุบัน ซึ่งความคิดแบบนี้ต่างจากมุมมองทางโบราณคดีในช่วงก่อน ที่มักมองว่าอัตวิสัยและอารมณ์ร่วมคืออุปสรรคต่อการทำงานโบราณคดีบริสุทธิ์ แต่นักโบราณคดีในปัจจุบันหลายคนได้โอบกอดเอาพลังของอัตวิสัย (Subjectivity) ซึ่งเป็นจุดเด่นของงานวิจัยสายมนุษยศาสตร์มาใช้ขับเคลื่อนงานวิจัยของตัวเอง ทำให้งานวิจัยนั้นมีความเป็นศิลปศาสตร์และสาระของความเป็นมนุษย์ และสื่อสารกับคนทั่วไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับกลุ่มคนชั้นล่างในสมัยก่อน เช่น โบราณคดีของทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกา

 

อดีตล่องหนของทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกา

 

ฉันคิดว่าหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับคนผิวดำที่มีสถานะล่องหนในอดีตนั้น เป็นผลมาจากการที่มีนักวิชาการและนักโบราณคดีผิวดำจำนวนน้อยเหลือเกิน (ตอนนี้ก็ยังมีจำนวนน้อยมาก) วิชาโบราณคดีในสมัยก่อนก็เป็นวิชาสำหรับคนมีอันจะกิน การที่อดีตทาสเป็นไท อยู่ดีๆ ริอยากจะเรียนโบราณคดี ขุดค้น เขียนประวัติศาสตร์ในวงวิชาการที่เต็มไปด้วยคนผิวขาวชั้นสูงนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ประวัติศาสตร์อันเต็มไปด้วยความยากจนข้นแค้นของชนชั้นล่างก็ไม่น่าสนใจเท่ากับการศึกษาเทวาลัยโบราณ, เครื่องประดับอันอลังการของอารยธรรมคลาสสิคของกรีก-โรมัน ด้วย

เมื่อมุมมองในการตีความเป็นเช่นนี้ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคนผิวดำในสมัยก่อน จึงเต็มไปด้วยการผลิตซ้ำภาพจำของคนใช้ แม่ครัวพ่อครัวผิวดำ เป็นทาสติดครัวผู้ซื่อสัตย์ให้กับครอบครัวนายผิวขาว แบบตัวละครผิวดำที่ชื่อ แฮตตี้ ในหนังเรื่อง Gone with The Wind (1939) นั่นแหละ

แม้ว่าจะเป็นไทจากโซ่ตรวนพันธนาการของทาสแล้วก็ตาม อเมริกาเลิกทาสในปี ค.ศ. 1863 ส่วนทางแถบแคนาดาตอนบน (จังหวัดออนแทริโอในปัจจุบัน) ได้เลิกทาส ปลดโซ่ตรวนไปก่อนแล้ว ตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 18 แต่คนผิวดำก็ยังต้องถูกพันธนาการจากตรวนที่มองไม่เห็น เช่น การเลือกปฏิบัติและการแบ่งแยกสีผิว ชีวิตของอดีตทาสเป็นไทก็ยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก ด้วยความที่สังคมยังไม่ยอมรับว่าอดีตทาสเป็นคนเท่ากัน ทำให้เรื่องราวในอดีตของทาสเหล่านี้ยังล่องหนไปจากบันทึกทางประวัติศาสตร์กระแสหลัก

การศึกษาทางโบราณคดีเกี่ยวกับชีวิตของทาสผิวดำในอเมริกาก่อตัวขึ้นมาในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิทางการเมืองของคนผิวดำ คือ ปลายทศวรรษที่ 60 (ค.ศ. 1951-1960) ในขณะนั้น กระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีผลให้คนผิวดำได้สิทธิในการเลือกตั้งอเมริกาในปี ค.ศ. 1965

ในขณะที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำและความเท่าเทียมทางสังคมได้พุ่งถึงขีดสุด นักโบราณคดีก็ได้เปิดประเด็นใหม่ในการศึกษาชีวิตของทาสผิวดำในอดีตที่เคยถูกลืม ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อสร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่หายไป กอบกู้อัตลักษณ์ของตัวเองและค้นหาอดีตของทาสผิวดำที่ถูกลืมไปพร้อมกัน

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน นอกจากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางกฏหมายและการเมืองแล้ว ยังมีผลต่อการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับคนผิวดำด้วย เช่น มีการผ่านกฏหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวแอฟริกัน-อเมริกัน มีสิทธิ์มีเสียงในการวางแผนจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษและชุมชนของตัวเองมากขึ้น มีการขุดค้นในบริเวณบ้านพักทาสและคนงานผิวดำในแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้มีข้อมูลสำหรับวางรากฐานการศึกษาทางโบราณคดีของทาสผิวดำ หรือที่เรียกว่า “โบราณคดีของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน” จนทำให้วิชานี้กลายเป็นสาขาวิชาที่มีสถานะมั่นคงได้ในช่วงทศวรรษที่ 80 (ค.ศ. 1971-1980) ในที่สุด

จุดเด่นของโบราณคดีของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ไม่ได้อยู่ที่การขุดค้นโบราณวัตถุอันอลังการ ซึ่งเป็นจุดหมายของการทำงาน “โบราณคดีอลังการ” เฉกเช่นโบราณคดีสมัยแรกเริ่ม แต่งานโบราณคดีสาขานี้เกิดจากรากฐานของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม โบราณคดีแบบนี้จึงไม่มีจุดหมายในการสร้างภาพอดีตที่อลังการสวยงาม แต่มุ่งเป็นปากเสียง คืนความเป็นคนโดยการสร้างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้กับทาสผิวดำที่ถูกลืม เพื่อนำเสนอถึงความเลวร้ายของระบบทาสและการเลือกปฏิบัติในอดีต จุดหมายและคุณค่าของโบราณคดีสาขานี้ จึงอยู่ที่เรื่องราวในอดีต ไม่ได้ยึดโยงกับมูลค่าหรือคุณค่าทางศิลปะของโบราณวัตถุสถานเหมือนเดิม

โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นบ้านพักของทาสและคนงานผิวดำนั้น ส่วนมากเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในสมัยก่อน พวกกระเบื้องถ้วย, เศษแก้ว, เศษหม้อ, ซากกระดูกสัตว์, เศษอาหาร ฯลฯ ที่บ่งบอกถึงการจัดการทรัพยากรที่จำกัด และชีวิตประจำวันของคนชั้นล่างในสังคม ซึ่งลักษณะการให้ความสำคัญต่อการตีความโบราณวัตถุที่เปลี่ยนไปนี้ มีผลต่อแนวทางการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของทาสและคนผิวดำในพิพิธภัณฑ์ด้วย

 

พายมันเทศ

 

อุทยานประวัติศาสตร์ ป้อมยอร์ก (Fort York) กรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา อาคารด้านซ้ายคือห้องพักของนายทหาร (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)
อุทยานประวัติศาสตร์ ป้อมยอร์ก (Fort York) กรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา อาคารด้านซ้ายคือห้องพักของนายทหาร (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉันได้เข้าชมนิทรรศการเกี่ยวกับอาหารและชีวิตของคนผิวดำในแคนาดา นิทรรศการนี้จัดขึ้น ณ อุทยานประวัติศาสตร์ที่มีชื่อว่า ค่ายยอร์ก (Fort York) ตั้งอยู่กลางกรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Black History Month หรือ “เดือนประวัติศาสตร์ของคนผิวดำ” โดยเดือนแห่งประวัติศาสตร์นี้อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และได้รับการรับรองสถานะความสำคัญอย่างเป็นทางการจากรัฐสภาแคนาดาในปี ค.ศ. 1995

ส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้คือการทำตำรับอาหารยอดนิยมของคนผิวดำจานหนึ่งที่กลายเป็นอัตลักษณ์ทางการครัวของคนผิวดำในอเมริกาไปแล้ว นั่นคือ พายมันเทศ

มันเทศ (Sweet potato, Ipomea batatas) เป็นพืชหัวท้องถิ่นของอเมริกากลางที่เติบโตได้ดีในอเมริกาเหนือ มันเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหารยามยากของผู้อพยพชาวยุโรปในดินแดนใหม่ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาไปพร้อมๆ กับฝ้าย ด้วยความที่มันเทศเป็นพืชหัวที่ปลูกง่าย โตไว ให้ผลผลิตเป็นแป้งที่กินแล้วอิ่มท้อง ทำให้มันเทศได้แทรกตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารของทาสผิวดำ เพราะมันเทศนั้นหาได้ง่าย ส่วนมากทาสผิวดำก็ปลูกมันเทศควบคู่ไปกับฝ้ายในไร่อยู่แล้ว เมื่อได้ผสานพืชหัวธรรมดาๆ อย่างมันเทศกับวิธีการทำพายของนายทาสชาวยุโรป ทำให้เกิดพายมันเทศที่กลายเป็นอาหารจานเด็ดของ Soul Food ของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ในที่สุด

พายมันเทศ จึงถูกใช้เป็นบุคลาธิษฐาน แสดงตัวตนและจิตวิญญาณของคนแอฟริกัน-อเมริกัน (“As African American as Sweet Potato Pie”, Frances Smith Foster) ในงานเขียนและวรรณกรรมทั่วไปด้วย

 

ชาวไร่ผิวดำนั่งบนระเบียงไม้หน้าบ้านพัก ชานหน้าบ้านมีฝ้ายกับหัวมันเทศกองอยู่ ภาพนี้ถูกถ่ายในปี ค,ศ, 1939 (Library of Congress, LC-USF33- 030572-M2)
ชาวไร่ผิวดำนั่งบนระเบียงไม้หน้าบ้านพัก ชานหน้าบ้านมีฝ้ายกับหัวมันเทศกองอยู่ ภาพนี้ถูกถ่ายในปี ค,ศ, 1939 (Library of Congress, LC-USF33- 030572-M2)

 

โรงงานผลิตพายมันเทศ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ในรัฐนิวเจอร์ซี ภาพนี้ถูกถ่ายในปี ค,ศ, 1994 (Library of Congress, AFC 1995/028: WIP-MC-C050-19)

 

พายมันเทศที่ทำในนิทรรศการนี้มีแรงบันดาลใจ จากสูตรพายในตำราอาหารของแม่ครัวผิวดำชื่อ แอบบี ฟิชเชอร์ (Abby Fisher) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1881 ตำราอาหารเล่มนี้นับว่าเป็นหนังสือที่ผู้เขียนเป็นคนผิวดำเล่มแรกๆ พายมันเทศที่ว่า มีสูตรดังนี้

“แป้งพายสำหรับทำพายทุกชนิด: แป้งสาลีร่อน 1 ปอนด์, เนย ¼ ปอนด์, มันหมู ¼ ปอนด์, เกลือละเอียด 1 ช้อนชา ผสมกับแป้งสาลีในขณะแห้ง ใช้มือผสมเนยและมันหมูเข้ากับแป้งสาลีจนเข้ากัน จากนั้นใส่น้ำเย็นลงไป ใช้มือผสมจนแป้งเข้ากันกลายเป็นก้อน ระวังอย่าให้ก้อนแป้งเปียกเกินไป โรยแป้งสาลีบนเขียง… ในการรีดแป้งเป็นแผ่นนั้น ให้รีดแป้งออกและเข้าหาตัว (คงใช้ลูกกลิ้งไม้รีดแป้ง-ผู้เขียน) เวลารีดแป้งก็ไม่เกินสิบนาที”

“พายมันเทศ: มันเทศ 2 ปอนด์ทำพายได้ 2 ถาด ต้มมันเทศจนนิ่ม ปอกเปลือกและบดมันผ่านตะแกรงตาละเอียดในขณะที่กำลังร้อนๆ ใส่เนยหนึ่งช้อนโต๊ะลงไปในมันบดด้วย ตอกไข่ 5 ฟอง ตีไข่ขาวและไข่แดงแยกจากกัน ใส่นม 1 ถ้วยชา ปรุงรสหวานตามชอบ บีบน้ำส้ม 1 ผล และขูดเปลือกส้มใส่ลงในส่วนผสมที่เป็นของเหลว ใส่เกลือครึ่งช้อนชาพูนลงในมันเทศ ใส่แป้งพายในถาดเพียงชั้นเดียว แล้วอบอย่างรวดเร็ว”

สูตรพายในตำราอาหารนี้ค่อนข้างพิเศษ เพราะมีการใช้น้ำส้มและผิวส้มขูดผสมในคัสตาร์ดที่ทำเป็นไส้พาย สูตรพายที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อเมริกันช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 – ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แค่ตีไข่ธรรมดา แต่ในสูตรของคุณแอบบี ได้ยังแยกไข่ขาวและไข่แดง ก่อนจะตีไข่ขาวจนขึ้นฟูเป็นยอดแหลม และนำไปตะล่อมผสมกับเนื้อมันเทศที่ต้มและขูดแล้วอย่างเบามือ การใส่ไข่ขาวที่ตีจนมียอดแหลมนี้ทำให้คัสตาร์ดมีเนื้อเบาละเอียด ตัดกับตัวแป้งพายอบที่กรอบหอม ซึ่งเทคนิคแบบนี้ใช้กันในการทำอาหารของชาวยุโรปสมัยก่อน เมื่อพิจารณาวิธีการสูตรการทำแล้วเดาได้ว่าคุณแอบบีต้องไปเรียนสูตรนี้จากครัวของคนชั้นสูงสมัยนั้นแน่นอน

อาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์รับหน้าที่เป็นผู้อบพายมันเทศในครั้งนี้ โดยพายมันเทศถูกอบในส่วนห้องครัวบริการ ที่ทำอาหารให้นายทหารของค่าย ครัวนี้ถูกสร้างขึ้นในราว ค.ศ. 1927 โดยใช้เครื่องครัวที่มีอายุร่วมสมัยกันในการอบพายมันเทศถาดนี้ด้วย

ฉันรู้สึกตื่นตาตื่นใจมากที่ได้เห็นห้องครัวประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตในพิพิธภัณฑ์ที่มีการก่อไฟและใช้งานได้จริง ได้เห็นพวกเครื่องครัวทองแดงที่เก่าจนนับว่าเป็นโบราณวัตถุได้ ถูกนำมาใช้ทำอาหารจริงๆ จากตำราอายุร้อยกว่าปีก่อน!

ฉันได้ยินคำว่า “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” มาบ้าง แต่ก็เพิ่งจะสัมผัสได้ถึงอดีตที่มีชีวิตและ “นิทรรศการที่กินได้” ในวันนี้เอง

 

โรงงานผลิตพายมันเทศ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ในรัฐนิวเจอร์ซี ภาพนี้ถูกถ่ายในปี ค,ศ, 1994 (Library of Congress, AFC 1995/028: WIP-MC-C050-19)
ห้องครัวบริการสำหรับนายทหาร อุทยานประวัติศาสตร์ ป้อมยอร์ก (Fort York) กรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

โรงงานผลิตพายมันเทศ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ในรัฐนิวเจอร์ซี ภาพนี้ถูกถ่ายในปี ค,ศ, 1994 (Library of Congress, AFC 1995/028: WIP-MC-C050-19)
อาสาสมัครกำลังอบแป้งพาย โดยใช้สูตรและเครื่องครัวแบบเดิม ในห้องครัวบริการสำหรับนายทหาร อุทยานประวัติศาสตร์ ป้อมยอร์ก กรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

แปรประวัติศาสตร์ให้เป็นประสบการณ์

 

ห้องครัวนายทหารห้องนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไฟในเตาถูกจุดเพื่อทำอาหาร ฉันสัมผัสได้ถึงลมหายใจของอาคารแห่งผ่านกลิ่นควันไฟ ที่คละคลุ้งปนกับกลิ่นมันเทศต้มและแป้งพายอบที่ลอยกรุ่นอยู่ในอากาศ

ประสบการณ์ที่ฉันได้เจอในห้องครัวนายทหารของพิพิธภัณฑ์วันนั้น ทำให้มุมมองเดิมของฉันเกี่ยวกับการจัดแสดงเรื่องราวในอดีตของพิพิธภัณฑ์ ที่ว่าพิพิธภัณฑ์ต้องทำหน้าที่รักษาสงวนรักษาโบราณวัตถุ ผ่านขนบการสื่อสารแบบทางเดียวนั้น พังทลายไปได้ด้วยการอบพายมันเทศแค่ถาดเดียว

ห้องครัวนายทหารก็เต็มไปด้วยลูกหลานของอดีตทาสผิวดำที่มาเข้าร่วมกิจกรรมกับพิพิธภัณฑ์ ผู้ร่วมกิจกรรมในวันนี้แทบจะไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมาร่วมด้วยเลย มีเพียงคนผิวดำเกือบทั้งหมด ผู้ชมทั้งหลายพากันถามสูตรอาหารจากอาสาสมัครผิวขาวที่ทำหน้าที่เป็นพ่อครัวอย่างกระตือรือร้น พร้อมกับชิมพายมันเทศที่อบเสร็จใหม่ๆ ไปพร้อมกัน

ในวันนี้ คนผิวดำไม่ถูกขังอยู่ก้นครัวอีกแล้ว ห้องครัวไม่ใช่กรงขังคนงานผิวดำให้จำนนต่อระบบที่กดขี่เลือกปฏิบัติอีกต่อไป ห้องครัวนี้ได้กลายร่างเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบัน สื่อสารถึงอดีตที่เคยล่องหนของอดีตทาสผิวดำที่เคยใช้เวลาอยู่ในครัวห้องนี้ให้กลับมามีตัวตนในความรับรู้ของคนในปัจจุบันได้อีกครั้ง ผ่านการสร้างประสบการณ์ร่วมกับนิทรรศการกินได้

อดีตของทาสผิวดำ คนชั้นล่างของสังคมที่แอบซ่อนอยู่ในซอกหลืบของประวัติศาสตร์ ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งผ่านอาหารสามัญอย่างพายมันเทศถาดนั้น

เรื่องราวทางโบราณคดีจะสามารถกลับมามีชีวิตได้หรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับมูลค่าของโบราณวัตถุเสมอไป บางครั้งงานโบราณคดีที่สามารถขับเคลื่อนสังคมปัจจุบันได้ จึงเป็นงานวิจัยที่มีอารมณ์ความรู้สึกปะปนอยู่ด้วย เพราะโบราณคดีนั้นเป็นเรื่องราวของมนุษย์ในอดีต หากนักโบราณคดีไม่เข้าใจและยอมรับถึงความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านั้นแล้ว เราจะสื่อสารถึงความเป็นมนุษย์ให้คนในปัจจุบันเข้าใจ มากกว่าการมองว่าอดีตเป็นแค่โบราณวัตถุกองหนึ่งเท่านั้นได้อย่างไร?

หากโบราณคดี คือการศึกษามนุษย์ในอดีต ความเป็นมนุษย์และอัตวิสัย จึงมีความจำเป็นต่อการสร้างภาพชีวิตทางโบราณคดีของทุกคนในสังคมด้วยเช่นกัน

 

พายมันเทศที่ใส่ไส้คัสตาร์ดแล้ว รออบให้สุก ด้านข้างคือเมล็ดถั่วสำหรับถ่วงน้ำหนักเพื่ออบแป้งพาย (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)
พายมันเทศที่ใส่ไส้คัสตาร์ดแล้ว รออบให้สุก ด้านข้างคือเมล็ดถั่วสำหรับถ่วงน้ำหนักเพื่ออบแป้งพาย (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

 

อ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2562. รำพึงถึงเจ๊ก. มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 27 กันยายน – 3 ตุลาคม 2562.

Singleton, T. 1995. The Archaeology of Slavery in North America. Annual Review of Anthropology, 24: 119-140.

Singleton, T. 2010. Archaeology and Slavery. In Mark M. Smith and Robert L. Paquette (eds.). The Oxford Handbook of Slavery in the Americas. Oxford University Press. pp. 702 – 726.

Fisher, A. 1881. What Mrs. Fisher Knows About Old Southern Cooking. Women’s co-operative printing office, San Francisco.

Bennett, B.C. 2015. Subsistence Farming in Southern Florida (1840–1940): The Importance of Sweet Potato—In Memory of Daniel F. Austin. Economic Botany. 69(2): 185–198.

Douglass Opie, F. 2008. Hog and Hominy Soul Food from Africa to America. Columbia University Press.

Miller, A. 2013. Soul Food: The Surprising Story of An American Cuisine One Plate at A Time. University of North Carolina Press.

David, N. and Kramer, C. 2001. Ethnoarchaeology in Action. Cambridge University Press.

Brown, K. 2018. Touch, taste, smell: Fostering museum visitor engagement with multisensory spaces. In Gregory Marinic (eds.). The Interior Architecture Theory Reader. Routledge.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save