fbpx
COVID-19 : โรคพลิกโลก เมื่อสหรัฐฯ เกิดวิกฤต

COVID-19 : โรคพลิกโลก เมื่อสหรัฐฯ เกิดวิกฤต

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เราเคยพูดกันว่า COVID-19 สั่นสะเทือนโลก เพราะระบาดที่จีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นมหาอำนาจใหม่ แต่ไม่แน่นะครับ หากนักประวัติศาสตร์ในอนาคตย้อนกลับมาดูช่วงเวลานี้ อาจต้องบอกว่า COVID-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่จะเปลี่ยนระเบียบและระบบของโลกในทศวรรษใหม่ ไม่ใช่เพราะวิกฤตที่จีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แต่เป็นเพราะวิกฤตการระบาดใหญ่ตอนนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจเก่าและเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก

คำถาม ณ ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่า สหรัฐฯ จะถึงภาวะวิกฤตเช่นในอิตาลีหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงคือ สหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว เพียงแต่จะไปจบที่วิกฤตมากหรือน้อยเท่านั้นเอง โดย Dr. Neil M. Ferguson นักระบาดวิทยาชาวอังกฤษได้ประเมินจากแนวโน้มในขณะนี้ว่า ความเป็นไปได้ที่แย่ที่สุดคือ สหรัฐฯ จะมีคนตายจากโรคนี้ 2.2 ล้านคน ส่วนความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดคือ สหรัฐฯ จะมีคนตายจากโรคนี้ 1.1 ล้านคน แม้กระทั่งภาพความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดก็ถือเป็นหายนะทางสาธารณสุขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐฯ

นี่แหละครับ ความน่ากลัวของไวรัส เพียงไฟเริ่มจุดติดและลุกลาม ก็ไม่ปรานีกับหน้าไหนหรือประเทศใดทั้งสิ้น

ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ คือ การไม่จัดให้มีการปูพรมตรวจเชื้ออย่างกว้างขวางในช่วงเริ่มแรก แน่นอนว่า การตรวจเชื้อติดข้อจำกัดด้านทรัพยากร อีกทั้งในความเป็นจริง ผู้ป่วยกว่า 80% ที่ติดเชื้อไวรัสตัวนี้มีอาการน้อย ซึ่งไม่ว่าจะตรวจพบเชื้อหรือไม่ ก็ใช้วิธีรักษาแบบเดียวกันคือรักษาตามอาการ ดังนั้นแพทย์หลายคนในช่วงแรกจึงเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเชื้อกับกลุ่มผู้มีอาการน้อย

แต่ปัญหาคือ เมื่อคนไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ ก็เที่ยวเดินเล่นในเมืองแพร่เชื้อไปทั่ว จนในที่สุดก็มีคนติดเชื้อกันเต็มเมือง แถมไม่รู้จำนวนแน่นอนด้วยว่าติดกันจนขยายวงกว้างไปเท่าไรแล้ว โดยในบรรดาผู้ติดเชื้อทั้งหมด จะมีจำนวน 20% ที่อาการหนักและต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (15% อาการหนัก และ 5% อาการเข้าขั้นวิกฤต ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและอาจต้องใช้ปอดเทียม) พอรู้ตัวอีกที ผู้ป่วยหนักก็แน่นเต็มโรงพยาบาล แถมหลายคนเมื่อมาถึงมือหมอก็ช่วยไม่ทันแล้ว สรุปคือหายนะ

เปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกในเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ พบ แต่เกาหลีใต้ใช้ยุทธวิธีปูพรมตรวจเชื้ออย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ซึ่งที่เกาหลีใต้ทำได้ เพราะมีบริษัทวิจัยของเกาหลีใต้พัฒนาชุดตรวจและเทคโนโลยีการตรวจที่ง่ายและต้นทุนถูก อีกทั้งทางการยังอนุมัติชุดตรวจใหม่นี้ด้วยขั้นตอนที่รวดเร็ว เกาหลีใต้จึงไม่ได้ใช้วิธีตรวจตามมาตรฐานปกติซึ่งใช้ในสหรัฐฯ และไทย แต่ใช้ชุดตรวจที่เกิดจากเทคนิคใหม่ที่พัฒนาขึ้นเอง ทำให้สามารถตรวจได้ปริมาณมากและเร็วจนพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อเองเมื่อรู้ตัว ก็จะกักกันตัวเอง ไม่แพร่เชื้อต่อ และสามารถคอยตรวจสอบอาการได้ว่าเมื่อไรควรรีบไปพบแพทย์ ดังนั้น อัตราการเสียชีวิตในเกาหลีใต้จึงต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

มีนักสถิติประเมินว่า ตอนนี้สถานการณ์ในสหรัฐฯ เปรียบเทียบได้กับสถานการณ์ในสัปดาห์ก่อนหน้าที่อิตาลีจะระบาดจนควบคุมไม่ได้ แถมสหรัฐฯ ยังมีจำนวนแพทย์และเตียงต่อหัวประชากรน้อยกว่าอิตาลี ดังนั้น ถ้าสหรัฐฯ เกิดวิกฤตในระดับเดียวกับอิตาลี ความเสียหายอาจหนักหนากว่ามาก

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) พบว่า ถ้าการระบาดในสหรัฐฯ ขึ้นไปถึงจุดสูงสุด อาจมีความต้องการเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤตประมาณ 366,000 เตียง ซึ่งมากกว่าจำนวนเตียง I.C.U. ที่โรงพยาบาลในสหรัฐฯ มีถึง 10 เท่า ตอนนี้จึงมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่เยอรมนีมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อย เพราะเยอรมนีสามารถผลิตเครื่องช่วยหายใจได้เอง และมีการระดมทรัพยากรผลิตเครื่องช่วยหายใจเพิ่มให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะที่ในสหรัฐฯ ต้นทุนเครื่องมือทางการแพทย์เหล่านี้มีราคาแพง และแต่ละโรงพยาบาลก็มีเครื่องมือเหล่านี้น้อย จึงเกิดเป็นสถานการณ์ที่ว่า โรงพยาบาลในสหรัฐฯ มีคุณภาพและมาตรฐานสูง แต่ไม่มีความสามารถที่จะรองรับผู้ป่วยปริมาณมหาศาลได้

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ชุดปกป้องตัวเองของแพทย์ (ที่มีลักษณะคล้ายชุดนักบินอวกาศ) มีรายงานว่า ในช่วงแรกที่จีนต้องเผชิญกับโรคระบาด บุคลากรทางการแพทย์ในอู่ฮั่นติดเชื้อไวรัสจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อทางการจีนระดมอาสาสมัครทางการแพทย์จากพื้นที่ต่างๆ จำนวน 42,000 คน เข้าไปช่วยในอู่ฮั่น ก็ได้จัดชุดปกป้องตัวเองแบบเต็มที่ให้กับทุกคน ผลคืออาสาสมัครทางการแพทย์จากพื้นที่ต่างๆ ของจีนที่เข้าไปช่วยในอู่ฮั่นไม่ติดเชื้อเลยแม้แต่คนเดียว แต่วันนี้ ภาพที่แชร์กันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดียของสหรัฐฯ คือ ภาพการขาดแคลนหน้ากากอนามัยสำหรับแพทย์ในโรงพยาบาลสหรัฐฯ ยังไม่พูดถึงอุปกรณ์ป้องกันบริเวณดวงตาและศีรษะ จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯ ต้องออกมาเรียกร้องให้คนที่ไม่ป่วยอย่าใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่ว่าหน้ากากอนามัยปกป้องไม่ได้ แต่เป็นเพราะการขาดแคลนทรัพยากร และความจำเป็นที่จะต้องให้ทรัพยากรถึงมือผู้ที่จำเป็นต้องใช้มากที่สุดต่างหาก

ถ้าท่านยังจำได้ว่า เมื่อตอนที่จีนวิกฤต โลกก็เหมือนจะวิกฤตไปด้วยแล้ว แต่สถานการณ์วิกฤตในสหรัฐฯ จะยิ่งพาโลกเข้าสู่วิกฤตหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า เพราะสหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกอาจหนักกว่าครั้งวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2007 เสียอีก และค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยแน่นอน

ผลกระทบถัดมาที่พอคาดการณ์ได้ คือ โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสสูงที่จะแพ้การเลือกตั้ง เพราะเศรษฐกิจไม่ดีและวิกฤตสาธารณสุขรุนแรง ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการที่ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงของโรคนี้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น

ส่วนผลที่จะสั่นสะเทือนโลกในระยะยาวยิ่งกว่านั้น คือ การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกและระบบโลก ในด้านระเบียบโลก ในระยะสั้น จีนสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้เร็ว และอาจเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มมีการกระตุ้นและหมุนเวียนใช้จ่ายในตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศ ขณะที่ทางสหรัฐฯ อาจยังอยู่ในภาวะวิกฤตอีกหลายเดือน นอกจากนั้น เราจะเห็นจีนเริ่มออกมาเล่นบทบาทผู้นำในการให้ความช่วยเหลือทางสาธารณสุขกับประเทศต่างๆ ด้วย ส่วนในระยะยาว ผลกระทบต่อระเบียบโลกย่อมอยู่ที่ว่า สุดท้ายแล้ว สหรัฐฯ จะเกิดวิกฤตมากน้อยเพียงใด เศรษฐกิจจะพังยาวหรือพังสั้น ฟื้นตัวเร็วหรือฟื้นตัวช้า

ส่วนในด้านระบบโลก เราต้องไม่ลืมว่า สหรัฐฯ เป็นผู้นำความคิดเกี่ยวกับระบบและอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น หากวิกฤตในสหรัฐฯ หนักหนาสาหัสจนถึงจุดหนึ่งแล้ว ย่อมนำไปสู่การเรียกร้องระบบรัฐสวัสดิการ และยิ่งเผยให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในสังคมสหรัฐฯ เพราะส่วนหนึ่งของวิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมเชิงอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ ซึ่งไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป และไม่มีประกันการลาป่วยให้กับแรงงาน ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ทำให้สหรัฐฯ มีโอกาสจะเผชิญวิกฤตการระบาดหนักกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เพราะคนป่วยที่ยากจนเข้าไม่ถึงการตรวจและการรักษา รวมทั้งไม่สามารถลาพักกักตัวที่บ้านได้เพราะจะขาดรายได้

หลายคนเคยสงสัยว่า อะไรจะเป็นจุดพลิกให้ระเบียบโลกเปลี่ยน อะไรจะเป็นจุดพลิกให้เราต้องมาทบทวนการจัดระบบสังคมใหม่ที่ยุติธรรมมากขึ้น หลายคนมักคิดว่า คงต้องมีวิกฤตครั้งใหญ่ก่อน แต่ไม่มีใครคิดว่าวิกฤตครั้งใหญ่นี้จะมาจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ไวรัสที่ตักเตือนมนุษยชาติว่า สุดท้าย ชะตากรรมของแต่ละประเทศต่างผูกกัน และชะตากรรมของทุกคนต่างผูกกันเช่นกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save