fbpx
เปลี่ยน ‘เหลื่อมล้ำ’ เป็น ‘เสมอภาค’ : มองปัญหาการศึกษาไทยกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท

เปลี่ยน ‘เหลื่อมล้ำ’ เป็น ‘เสมอภาค’ : มองปัญหาการศึกษาไทยกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรียบเรียง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

 

เราอาจเคยเห็นภาพเด็กตัวเล็กๆ เดินเท้าไปโรงเรียนหลายกิโลฯ ผ่านทางลูกรังและข้ามดอยหลายลูก กว่าจะได้เจอครูและเรียนหนังสือ

บางโรงเรียนสื่อการสอนไม่เพียงพอ เช่นกันกับคุณครูที่ต้องวิ่งสอนตั้งแต่ ป.1-ป.5 ทุกวิชาตั้งแต่ภาษาไทยถึงคณิตศาสตร์ ยังไม่นับว่ามีเด็กอีกจำนวนมากที่ต้องออกจากระบบการศึกษา จากทั้งปัจจัยเรื่องความยากจนและสุขภาพ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีสาเหตุหลักจากปัญหาความยากจน และหากจะแก้ ก็ต้องใช้เวลาและเข้าให้ตรงจุด ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่า 4.3 ล้านคน ซึ่งการให้เงินอุดหนุนเป็นหนึ่งในวิธีแก้เบื้องต้นของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก่อนที่จะขยับขยายแผนการเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ความยากจนข้ามไปสู่รุ่นถัดไป จนถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำในประเทศให้กว้างขึ้นอีก

แม้จะเห็นปัญหาชัด แต่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนนโยบายที่ทำงานบนฐานของความรู้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทั้งทรัพยากร เจตจำนงทางการเมือง และองค์ความรู้ที่ทันสมัย เป็นเชื้อเพลิงสำคัญ

คุยกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่าด้วย สถานการณ์ ปัญหา และทางออกของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย

 

 

ไกรยส ภัทราวาท

 

กสศ. คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร

ถ้าเปรียบ กสศ. เป็นเด็ก ตอนนี้อายุยังไม่ถึงสองขวบดี เป็นกองทุนที่เพิ่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมีภารกิจอยู่ 3 ส่วน

ภารกิจที่หนึ่ง ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ต้องการโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค

ภารกิจที่สอง สนับสนุนคุณครูทั้งในและนอกระบบการศึกษาที่จะช่วยให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เหล่านี้มีโอกาสเสมอภาค เรารวมคุณครูตั้งแต่ในระบบที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตอนนี้ และคุณครูที่กำลังอยู่ในระบบการผลิตปัจจุบัน

ภารกิจที่สาม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในภาพรวมของประเทศ คือการวางนโยบาย การทำวิจัยเพื่อให้มีความเข้าใจเชิงระบบที่ดีขึ้น เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์

 

หนึ่งในหน้าที่หลักของ กสศ. คือการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียน ช่วยอธิบายหน่อยว่าการให้เงินอุดหนุนมีลักษณะอย่างไร มีลักษณะคล้ายที่ทำกันในต่างประเทศไหม

ประเด็นเรื่องเงินอุดหนุน โจทย์คือทำอย่างไรเราถึงจะดูแลเด็กเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาในปัจจุบันให้ไม่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา โจทย์ของ กสศ. ไม่ได้เขียนเอาไว้ว่าจะต้องเป็นคนให้เงิน แต่โจทย์คือเราจะทำยังไงจึงจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ให้เด็กที่มาจากครัวเรือนรายได้น้อยที่อยู่ในระบบการศึกษา ที่พอไปถึงจุดนึงแล้วก็ไม่สามารถสู้กับความยากจน ความด้อยโอกาสของเขาได้ หรือปัญหาทางสังคมหลายๆ อย่าง แม้กระทั่งภัยธรรมชาติ ไม่ให้เขาหลุดออกจากระบบการศึกษาไป

เราต้องหาวิธีช่วยเขาไม่ให้พ่ายแพ้ต่ออุปสรรคเหล่านั้น เรารีวิวดูจากการทำงานในระดับนโยบาย และงานวิจัยระดับนานาชาติก็เห็นตรงกันนะครับว่า การช่วยชดเชยภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนด้านการศึกษาของเด็กเยาวชนเหล่านี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เขายังคงอยู่ในระบบได้ แต่การให้เงินเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะถ้าเราให้เงินเขาไปแล้ว แต่ไม่ได้นำไปสู่การมีโอกาสทางการศึกษาที่สม่ำเสมอขึ้น และมีพฤติกรรมทางการศึกษาที่ดีขึ้น ก็เท่ากับว่าเงินนั้นไม่ส่งผลไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา

เราเลยดึงโครงการที่ใช้อยู่หลายประเทศทั่วโลก คือ Conditional Cash Transfer หรือเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข ซึ่งในประเทศไทยเราใช้คำว่าทุนเสมอภาค ไม่อยากใช้คำว่าเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน หรือนักเรียนยากจนพิเศษ เพราะแม้กระทั่งคำว่ายากจนเอง เราก็ไม่อยากให้เป็นคำที่ติดตัวน้องเขาไป เราใช้คำว่าทุนเสมอภาคเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเขามีโอกาสที่จะเสมอภาค

 

ทุนเสมอภาคมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

หนึ่ง เราคัดกรองให้นักเรียนที่มีรายได้น้อยประมาณ 15% แรกของประเทศ พูดง่ายๆ ว่าถ้าเอามาเรียงตามลำดับไหล่กัน ครัวเรือนที่รายได้น้อยสุด 15% แรก และมีบุตรหลานอยู่ในระบบการศึกษา จะมีโอกาสได้ทุนนี้ ซึ่งเรามีเครื่องมือคัดกรองด้วยการดูสภาพบ้าน รายได้ การถือครองทรัพย์สิน เป็นหลักคัดกรองที่ได้มาตรฐานทางวิชาการระดับนานาชาติ คือ Proxy Mean Test

เราโชคดีมากที่ได้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช่วยพัฒนาเครื่องมือให้ เราดูรายได้ว่าต้องไม่เกิน 3 พันบาทต่อคนต่อเดือน ต้องดูว่าสมาชิกครอบครัวมีรายได้หรือเปล่า มีคนพิการไหม สภาพที่อยู่อาศัยทรุดโทรมไหม ครอบครองรถยนต์ที่มีอายุมากไหม หรือเรื่องที่ดินทำกิน ทั้งหมดจะถูกคัดกรองโดยโมเดลทางเศรษฐมิติที่เราพยายามปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ให้มีความสามารถในการคัดกรองที่ดี

เมื่อเด็กผ่านการคัดกรองอยู่ในขั้นยากจนพิเศษ จะได้เงินปีละประมาณ 3,000 บาท แม้ไม่ใช่เงินที่มาก แต่สำหรับเด็ก ๆ เหล่านี้ ถือเป็นเงินที่สำคัญมากเหมือนกันนะครับ 3,000 บาทนี้ไม่ได้ให้เปล่าๆ แต่ไม่ได้ขอคืน แค่ขอให้เขามาเรียนเป็นปกติ

เงื่อนไขข้อที่หนึ่ง อัตราการมาเรียนต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ใน 1 ปีการศึกษา เงื่อนไขข้อที่สอง เราติดตามน้ำหนักส่วนสูง ให้มีพัฒนาการสมวัย เราขอแค่สองอย่างนี้ ถ้าเขาบรรลุเงื่อนไขก็จะยังได้เงินต่อไป

 

เราเห็นภาพแล้วว่า กสศ. พยายามเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แล้วในภาพใหญ่ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในระดับไหน มีอะไรที่เรากำลังเผชิญกันอยู่บ้าง

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาวิเคราะห์ออกมาว่า กลุ่มเป้าหมายของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน คือตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยแรงงานช่วงต้น

กลุ่มแรก  เด็กเล็กในครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อายุ 0-2 ขวบ อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% แรกของประเทศ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะในช่วงเด็กแรกเกิด ทุกคนที่เพิ่งมีลูกใช้เงินเยอะ คนที่รายได้น้อยก็จะลำบากในการช่วยให้โภชนาการของลูกสมบูรณ์ หรือพาลูกไปเรียนได้ทันเวลา

กลุ่มสอง กลุ่มวัยเรียน เช่น เด็กอนุบาล เด็กไทยจำนวนมากยังไม่ได้เรียนอนุบาลประมาณ 2 แสนกว่าคน คิดเป็น 10% มีเด็กไทยประมาณ 1 ใน 10 ที่ควรจะได้เรียนอนุบาลแล้วยังไม่เข้าเรียน เหตุผลส่วนใหญ่คือพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยต้องไปทำงานตามที่มีโอกาสในการทำงาน บางทีกะเตงลูกไปด้วย เขาเลยไม่มีโอกาสที่จะเอาลูกเข้าโรงเรียนได้ทันเวลานัด ส่วนใหญ่พวกนี้ตั้งใจ อยากให้ลูกเข้าเรียน แต่ว่ารอ ป.1 แล้วกัน ส่วนเด็กที่เข้าอนุบาลไปแล้วประมาณ 6 แสนคนก็อยู่ในครอบครัวที่ยากจน

กลุ่มสาม สำคัญมาก และเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ ช่วงอายุ 6-14 ปี  หรือ ป.1-ม.3 จริงๆ ประเทศไทยก็ค่อนข้างก้าวหน้า เพราะเหลืออยู่ 3% เท่านั้นที่ยังไม่ได้เรียน หรือเข้าไปแล้วหลุดออกมาจากการศึกษาภาคบังคับ กลุ่มนี้ใกล้ถึงฝั่งแล้ว มีประมาณ 2 แสนคนจาก 7 ล้านคน

ในนั้นมีกลุ่มที่ กสศ. พยายามช่วยอย่างเต็มที่คือกลุ่มที่เป็นเด็กยากจน ด้อยโอกาส เด็กพิการที่อยู่ในระบบการศึกษาประมาณ 1.8 ล้านคน กันไม่ให้เขาหลุดออกมาเพิ่มเติมอีก คือ 3% ก็ต้องแก้ไขรีบเอากลับเข้าระบบด้วย ซึ่งการป้องกันใช้งบประมาณน้อยกว่า ใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า

เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำตรงนี้ได้ดี ตัวเลข 3% จะไม่เพิ่มอีก และก็จะกลายเป็น 0 % ได้ในเวลาอีกไม่นานนัก ทีนี้พอเลยวัยที่เป็นการศึกษาภาคบังคับ เราไปบังคับเขาไม่ได้ ไม่ได้มีกฎหมายกำกับว่าต้องเรียนต่อ แต่ถ้าเรียนก็จะมีนโยบายของรัฐบาลเช่น เรียนฟรี 15 ปี ส่วนที่เข้าไปเรียนต่อในระดับ ม.ปลาย หรือ ปวช. ประมาณ 15% ก็เป็นเยาวชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเขาอาจจะเรียนไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสุดท้ายก็จะไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย อีกกลุ่มที่เหลือก็จะเป็นวัยแรงงานที่ต้องการการพัฒนาทักษะ

ส่วนกลุ่มเป้าหมายอื่นของ กสศ. คือคุณครูและโรงเรียนที่ห่างไกลทุรกันดาร นี่แหละคือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศไทยมีในปัจจุบัน

 

ไกรยส ภัทราวาท

เวลาเราพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สุดท้ายก็มักจะเชื่อมโยงไปกับความเหลื่อมล้ำในภาพใหญ่ด้วย อยากให้เล่าให้ฟังว่า เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากฐานครอบครัวประมาณไหน

เด็กส่วนใหญ่ที่เราลงไปเจอ ส่วนมากอยู่ในครอบครัวแตกแยก ในวงที่เราทำงานกันจะเรียกว่า ‘กำพร้าแท้’ กับ ‘กำพร้าเทียม’

กำพร้าแท้ คือพ่อแม่แยกทางกัน แนวโน้มการแยกทางกันของพ่อแม่ปัจจุบันเยอะมาก แล้วน้องเหล่านี้ พ่อแม่ก็มักจะเอาไปฝากไว้กับปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอาในต่างจังหวัด ส่วนพ่อแม่ก็ไปมีครอบครัวใหม่ มีลูกใหม่ ทำให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาสจริงๆ ถ้าเป็นเด็กผู้ชาย ก็มักจะไปอยู่วัด อยู่โรงเรียนพระปริยัติธรรม ถ้าไม่มีใครแล้วจริงๆ ก็ต้องไปพึ่งข้าวก้นบาตร

กำพร้าเทียม คือพ่อแม่ไม่ได้อยู่บ้าน ไม่ได้เลิกกัน แต่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด ส่งเงินมาให้ปู่ย่าตายาย ในพื้นที่ชนบทไม่มีงานให้เขา แท็กซี่ที่ขับอยู่ในกรุงเทพฯ ก็บอกว่าช่วงนี้ไม่มีงานทำ ต้องเข้ามาขับแท็กซี่ ด้วยความที่เป็นกำพร้าเทียมแบบนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กมากๆ

ในบางครอบครัวที่มีโอกาสรับส่งลูกไปโรงเรียนทุกวัน กลับมาก็คุยกับลูกบนโต๊ะอาหาร ถามไถ่ว่าวันนี้ที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง มีอะไรที่พ่อแม่จะช่วยได้บ้างไหม คือดูแลลูกขนาดนี้ มีเวลาคุยเรื่องการศึกษากับลูก แต่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ชนบท เด็กแทบจะไม่มีเวลาเหล่านี้เลย ทำให้เรามีปัญหาในเชิงครัวเรือนสำหรับเด็กที่อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย

 

สภาพแบบนี้ดูเหมือนว่าจะไปผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำต่อไปอีก แล้วเด็กที่หลุดออกมาจากระบบการศึกษา ปลายทางเขาไปที่ไหนต่อ

ส่วนใหญ่มี 2 ประเภท สำหรับเด็กที่หลุดออกมาจากโรงเรียน ถ้าช่วงอายุอยู่ในระดับประถมศึกษาจะยังทำงานไม่ได้อยู่แล้ว เล็กเกินไปที่จะทำงาน เขาก็จะไปอยู่กับพ่อแม่ ตามไปไซต์ก่อสร้าง ตามโอกาสที่มีงาน หรือว่าไปช่วยทำงานที่บ้านญาติ

แต่ถ้าเป็นเด็กวัย ม.ต้น หรือ หรือ ม.ปลาย ก็จะอยู่ตามที่ที่มีงานทำ เช่น ร้านอาหาร ไร่นา สวน หรือไซต์ก่อสร้าง เขามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัว เพราะครอบครัวเหล่านี้พ่อแม่ใช้แรงงานมาตลอดชีวิต และใช้แรงงานแบบอันตราย เช่น เก็บขยะ ทำงานเกินกำลัง พอลูกเติบโตถึงวัย ม.ต้น ร่างกายพ่อแม่ก็ไม่ไหวแล้ว บางคนโรคภัยรุมเร้ามาก เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตก็มี เพราะทำงานหนักเหลือเกิน โดนสารพิษจากการเก็บขยะบ้าง เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเด็กเหล่านี้อายุยังไม่ถึง 15 ปี แต่ภาระตกอยู่บนบ่าเขาแล้ว เขาต้องลุกขึ้นมาทำงาน ลุกขึ้นมาเป็นผู้หารายได้ แต่การที่เขาต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้หารายได้หลักตั้งแต่ยังไม่สำเร็จการศึกษาแม้กระทั่งภาคบังคับ ทำให้ความยากจนยังอยู่กับครัวเรือนนี้

ความยากจนในรุ่นพ่อแม่ของเขา เท้าไปจนถึงรุ่นปู่ย่าตายายของเขา ข้ามไปยังรุ่นลูก เพราะลูกของเขาก็ยังรายได้วันละ 300-400 บาท รายจ่ายก็ไม่น้อยนะครับ เช่นพวกค่าเดินทางต่างๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับมาเรียนอีกเมื่อไหร่ ส่วนใหญ่ก็คงนึกถึง กศน. นึกถึงการไปครูพักลักจำในร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ หรือร้านอาหาร

จริงๆ แล้วระบบการศึกษา เป็นระบบทางสังคมที่ดูแลเด็กตั้งแต่วัยที่เล็กมาก เช่น ปฐมวัย หรือประถมศึกษา ซึ่งถ้าทำได้ดี ระบบการศึกษาควรจะเป็นระบบที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคม ให้ความยากจนไม่ข้ามจากรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง การศึกษาสูงสุดของพ่อแม่อาจจะอยู่ ป.6 ลูกก็น่าจะอย่างน้อย ม.6 ปวช. หรือสูงไปกว่านั้นถ้าเขามีศักยภาพ ฐานรายได้ของลูกก็จะสูงพอที่จะพาครอบครัวของเขาออกไปจากกับดักความยากจน หรืออย่างน้อยรุ่นลูกของเขาก็ไม่อยู่ในความยากจนอีกต่อไป

อันนี้เป็นโจทย์สำคัญของประเทศไทยเลย คือทำอย่างไรจึงจะขจัดปัญหาความยากจนออกไปจากสังคมไทย  แล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยหยุดยั้งไม่ให้ความยากจนข้ามไปสู่รุ่นต่อไปได้อีก

 

สำหรับเด็กยากจนที่ต้องออกไปทำงาน ถ้าเทียบการยังอยู่ในโรงเรียน กับการทำงานตั้งแต่เรียน มีความคุ้มค่าต่างกันขนาดไหน 

แบ่งโจทย์เป็น 2 เรื่อง คือโจทย์ในเชิงปริมาณ จำนวนปีของการศึกษาในโรงเรียนก็สำคัญ เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ในตัวเขา หรือ human capital ก็คือทำยังไงให้เขาอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น หรือมีเครือข่ายทางสังคม ในช่วง 9 ปีของระบบการศึกษา สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะขั้นพื้นฐานของการทำงานและทักษะชีวิต เป็นขั้นต่ำที่จะต้องทำให้ได้

ส่วนโจทย์เชิงคุณภาพ การศึกษาภาคบังคับ 9 ปีที่เขาต้องอยู่ในระบบ ถ้าระบบการศึกษาช่วยเขาค้นเจอว่าโจทย์การศึกษาของเขาคืออะไร เด็กคนนี้จะเติบโตไปอย่างมีเส้นทาง จะรู้ว่าเป็นสายช่างหรือเปล่า จบ ม.3 แล้ว ควรไปเรียน ปวช. ไหม ควรจะไปสายอาชีพในสายอื่นๆ หรือเปล่า หรือควรไปเรียนสายวิชาการ

ถ้านับจาก ม.3 ไป บ้านเมืองเราตอนนี้มีกลไกทางเลือกให้เขาอยู่ 2-3 กลไก คือหนึ่ง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ถ้าเขามีความมั่นใจว่าจะเรียนต่อไปจนถึง ม.ปลาย และอุดมศึกษา เช่น ถ้าเขารู้ว่าจะเป็นนักบัญชี พยาบาล หรือช่างไฟฟ้าแน่นอน เขาก็สามารถกู้ กยศ. ได้ตั้งแต่ ม.4 ยาวไปจนถึงระดับอุดมศึกษา แล้วมั่นใจว่าตัวเองทำได้ดี ก็จะมีเงินใช้คืนเงินกู้

แต่ถ้าเขาคิดว่ารายได้น้อยจริงๆ แล้วไม่อยากกู้ยืม เราก็มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงให้สำหรับนักเรียนเรียนดีที่อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย ที่ผ่านมาเรามีเกณฑ์ต้องได้เกรดไม่ต่ำกว่า 3.0 ให้ประมาณ 2,000 ทุนต่อปี เป็นทุนให้เปล่าจนจบ ปวส. เลย

ส่วนใหญ่น้องๆ ที่มีรายได้น้อย โจทย์สำคัญอย่างหนึ่งคืออยากเรียนไปด้วย มีรายได้ไปด้วย บางทีอาจจะต้องเรียน กศน. หรืออาจต้องทำงานที่มีรายได้จากการฝึกงาน ซึ่งอันนี้ต้องการทักษะชีวิตในการบริหารจัดการตัวเอง เราเองก็จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้โรงเรียนมีโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ ฝึกให้นักเรียนมีความเป็นผู้ประกอบการ ขายของออนไลน์ได้ เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจว่าถ้าเขาอยากจะมีรายได้ไปด้วยและเรียนไปด้วย เขาทำได้ ไม่ต้องเลือกขาดว่าชีวิตนี้ถ้าจะมีรายได้ก็จะเรียนด้วยไม่ได้ ไม่ขนาดนั้น

 

คุณบอกว่ามีเด็กกว่า 4 ล้านคนตกหล่นตามเส้นทางการศึกษา หลังจากที่ กสศ. ตั้งขึ้นมาได้ 2 ปี ตอนนี้ทำอะไรได้บ้างในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้

 

 

ทุนเสมอภาคเราช่วยเฉพาะแท่งสีแดง ก็คือรายได้ของครอบครัวเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 400 – 1,254 บาทต่อคนต่อเดือน

แท่งสีเขียวอ่อน คือคัดกรองให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และตำรวจตระเวนชายแดน ที่ช่วยสนับสนุนตรงนี้อยู่

ส่วนที่เหลือตั้งแต่สีน้ำเงินลงไปอีกประมาณ 4-5 แสนคน เรายังไม่ได้เข้าไปช่วย คือถึงแม้กลุ่มเป้าหมายจะมี 4 ล้านกว่าคน แต่ด้วยทรัพยากรงบประมาณที่มีรวมกันทั้ง กสศ. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และตำรวจตระเวนชายแดน ก็อาจจะยังไม่พอ แต่เราใช้การคัดกรองเดียวกัน เป็นมาตรฐานเหมือนกัน

กสศ. ไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่จะช่วยไหว แต่เราทำข้อมูลออกมาให้ประเทศไทยได้เห็น ใช้คำว่าประเทศไทยนะครับ เพราะลำพังภาษีประชาชนอย่างเดียวก็ไม่พอ เราต้องมีการดูแลรักษาพยาบาล มีการป้องกันประเทศ มีการช่วยเหลือเกษตรกร ภัยธรรมชาติด้วย ประเทศมีหลายโจทย์

 

อยากให้เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนยากจนตามต่างจังหวัดที่ห่างไกล ที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน มีสภาพของโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

ผมไปมาแทบทุกจังหวัด โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ถ้าไปดูหอพักคุณครู เราจะสงสารครูจับใจเลยว่านอนอยู่ได้ยังไง หรือเรื่องความปลอดภัย ครูบางคนก็เพิ่งบรรจุเลย แต่พอได้เริ่มคุยกับคุณครู เราจะได้เห็นว่าความเสียสละและจิตวิญญาณของความเป็นครูเป็นยังไง

ถ้าเราไปดูโรงเรียนที่ยากจน เราจะเห็นเลยว่าเขาอยู่ในสภาพอาคารที่ทรุดโทรม อุปกรณ์การเรียนไม่ครบ จำนวนนักเรียนที่ยากจนด้อยโอกาสก็มาก ครูก็อาจจะไม่ครบชั้น ไม่ครบกลุ่มสาระ ครูทำงานตั้งแต่เป็นภารโรง ซ่อมประปา เวรยาม แก้เหาให้เด็ก ทำทุกอย่าง ด้วยความขาดแคลนตรงนี้ โรงเรียนต้องการการช่วยเหลือจริงๆ

เราก็เคยไปถามคุณครูว่าทำทอดผ้าป่า ทำเรื่องการระดมทุนบ้างมั้ย ผอ. ในโรงเรียนเหล่านี้ก็จะบอกว่ามันมีความเหลื่อมล้ำในวงการตรงนี้เหมือนกัน ก็คือเวลาพวกเราจะไปทำทอดกฐินโรงเรียน เราก็จะนึกถึงแต่โรงเรียนเดิมๆ โรงเรียนที่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยว เพราะว่าไปถึงแล้วก็บริจาคสิ่งของ เสร็จแล้วก็ไปเที่ยวต่อ โรงเรียนเดิมๆ ก็จะได้ ก็ต้องมีการขยายความช่วยเหลือไป

 

ไกรยส ภัทราวาท

 

คุณภาพของโรงเรียนในประเทศไทยมีความแตกต่างกันมากพอสมควร เราจะแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากคุณภาพที่แตกต่างกันนี้อย่างไร

เราทำวิจัยเรื่องนี้กับทางธนาคารโลกเรื่องของ Fundamental School Quality Level (FSQL) ก็คือโรงเรียนที่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาให้เด็ก ไม่ใช่ดูที่จำนวนของนักเรียนอย่างเดียว คือสูตรการจัดสรรทรัพยากรในปัจจุบัน เราคูณทุกอย่างกับหัวเด็ก ฉะนั้น ในทางเศรษฐศาสตร์เราทราบว่า จะมีความประหยัดของขนาดถ้าจำนวนถึงจุดหนึ่ง แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ถ้าไม่มีความประหยัดของขนาด เขาจะเสียเปรียบ เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะสูตรการจัดสรรงบประมาณที่ไปผูกกับจำนวนนักเรียน

อย่างโรงเรียนบนดอย โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่เป็นความหวังเดียวของหมู่บ้าน เพราะไม่มีโรงเรียนอื่นที่อยู่ใกล้กว่ารัศมี 10-20 กิโลฯ แล้ว เขาจำเป็นต้องเป็นโรงเรียนที่สมบูรณ์ จัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ เราจะไปใช้สูตรทุกอย่างคูณหัวเด็กไม่ได้ เพราะเขาต้องมีห้องพักครู มีหอพักครู มีห้องน้ำ มีห้องวิทยาศาสตร์ พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเรามีสูตรจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ดูแค่หัวเด็กอย่างเดียว คุณภาพระหว่างโรงเรียนก็จะเสมอภาคมากขึ้น

 

คุณลงพื้นที่และได้เจอเด็กยากจนมาหลากหลายกรณี พอจะประมวลได้ไหมว่าอะไรคือดีมานด์แท้จริงที่เด็กๆ ต้องการ โดยเฉพาะเรื่องของการเข้าถึงการศึกษา 

ค่าเดินทางครับ ใช้เงินเยอะจริงๆ เอาง่ายๆ ออกจากบ้านต้องมีอย่างน้อย 20-40 บาท สำหรับคนในเมืองอาจจะดูไม่เยอะ แต่ทุกวันนี้เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ 20 บาทก็ไม่รู้จะซื้ออะไรได้ ค่าเดินทางเป็นสิ่งสำคัญ วันไหนไม่มีค่าเดินทางเด็กก็ไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องอยู่บ้าน และหลายพื้นที่ไม่มียานพาหนะ ต้องเดินเท้าอย่างเดียว

ถ้าดูเรื่องอื่นๆ จะมีเรื่องสุขภาพ เด็กเหล่านี้ป่วยบ่อย เลยทำให้เขาขาดจากการเรียนไปพอสมควร พอขาดความต่อเนื่องกับการเรียนก็ทำให้เขามีแนวโน้มที่จะไม่ได้เห็นตัวเองไปไกลนัก อีกปัจจัยหนึ่งคือ เด็กที่อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย เขาไม่เห็นภาพตัวเองเรียนในระดับสูงๆ เขามองไม่ออกว่าจะเรียนให้สูงได้ยังไง

 

นอกจากภาพจริงในพื้นที่แล้ว กสศ. มีความก้าวหน้ามากในการสร้างระบบฐานข้อมูลและการเก็บข้อมูล อยากให้เล่าให้ฟังว่าวิธีการเก็บข้อมูลและนำไปพัฒนาเป็นอย่างไร

ทุกวันนี้ข้อมูลความยากจนมีหลายมิติมาก เช่น มิติในเชิงกายภาพ อย่างเราให้ครูลงไปเยี่ยมบ้าน เราให้ครูเอาสมาร์ตโฟนไปเช็คอินที่บ้านของเด็กเลย เพื่อเอาพิกัดโรงเรียนกับบ้านเด็กไปทำ mapping ได้ว่าทุกๆ วันเด็กเดินทางจากโรงเรียนมาระยะทางเท่าไหร่ เด็กบางคนเดินทางไปกลับวันละ 60 กิโลฯ ไปเองกลับเองด้วยบางที บางคนขึ้นหลายดอยมาก

แล้วรูปที่ถ่ายมา จะเห็นได้ชัดเรื่องของความปลอดภัยของโครงสร้างบ้าน น้องบางคนบอกเราว่าเป็นมาลาเรียทุกปี เป็นไข้เลือดออกบ่อย เราก็ส่งข้อมูลนี้ให้นายอำเภอ บางจังหวัดพอผู้ว่าราชการเห็นรูปปุ๊บ วันรุ่งขึ้นวิ่งยกเสาเองเลย สร้างให้ใหม่ คือเราเห็นเลยว่าข้อมูลพวกนี้ไปถึงมือคนที่มีภารกิจโดยตรง แล้วเราเชื่อว่าจิตใจมนุษย์ทุกคนถ้าเห็นเด็กเยาวชนที่ยากจน จะหยุดนิ่งไม่ได้ จะพยายามหาทางช่วย

เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เราพูดถึงใน กสศ. ไม่ใช่ข้อมูลตารางสถิติแบบที่เราเห็นทั่วไป แต่เราพูดถึงรูปถ่าย พิกัดทางภูมิศาสตร์ ข้อมูลเชิงพฤติกรรม ข้อมูลที่เมื่อก่อนอาจจะดูเหมือนยาก แต่เดี๋ยวนี้วิทยาการงานวิจัยทำให้เราเข้าใจลุ่มลึกมากขึ้น บางทีคุณครูก็บ่นเรานิดนึงว่าเก็บข้อมูลเยอะจัง (หัวเราะ) แต่เราก็เรียนคุณครูว่าข้อมูลเหล่านี้แหละครับที่จะช่วยให้งานของคุณครูยั่งยืน แล้วเราจะดูแลน้องๆ เหล่านี้ไปได้ไกลขึ้น

ถ้าเรารู้แล้วว่ามีเด็กที่น้ำหนักส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นภาวะไม่สมบูรณ์ เราก็จะไปติดต่อกับกระทรวงสาธารณสุขว่าให้ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ทั่วประเทศช่วยดูแลน้องๆ กลุ่มนี้หน่อย กสศ. ช่วยไม่ได้หมดทุกอย่าง แต่ข้อมูลที่ กสศ. มี ส่งไปให้สาธารณสุข เขาก็ช่วยได้ ส่งไปให้มหาดไทยก็ช่วยได้ ข้อมูลทำให้งานเราไม่สิ้นสุด และไม่ใช่ กสศ. ลำพังที่จะทำได้

 

พอดำเนินการมาแล้วมีความท้าทายอะไรบ้าง ที่เราพูดถึงกันบ่อยคือการช่วยเหลือลักษณะนี้เป็นการช่วยเหลือแบบเลือกกลุ่มเป้าหมาย (targeting)  ทุกวันนี้ ในมิติของ targeting กสศ. ทำได้ดีแค่ไหน

ประเทศเรายังเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ส่วนใหญ่มีงานวิจัยออกมามาก เปรียบเทียบระหว่างการช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า (universal) กับ เลือกกลุ่มเป้าหมาย (targeting) งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัย MIT ก็ประเมินไว้ค่อนข้างชัด เขาบอกว่าถ้าเราจะช่วยเหลือคนจนให้หลุดออกมาจากความยากจนได้จริงๆ ต้องมีขนาดของการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น ของเราให้คนละ 3,000 บาท เราช่วยได้ 8 แสนคนในปัจจุบัน แต่ถ้าเราจะช่วยสัก 5,000 บาท เราก็ต้องลดจำนวนคนลง หรือถ้าเราจะช่วยทุกคนในประเทศไทยแบบถ้วนหน้าเลย อาจจะเหลือแค่คนละ 300 บาท แต่ถามว่า 300 บาทช่วยเขาได้จริงไหม ถ้าช่วยไม่ได้ก็จะกลายเป็นความสูญเสียของเงินตรงนั้น และของกระบวนการทั้งหมดด้วย

ดังนั้นด้วยโจทย์และงบประมาณที่เราได้จากรัฐบาลมา ทางกรรมการบริหารกองทุนก็ประเมินแล้วว่า targeting น่าจะได้ผลที่ต้องการที่สุด แต่ถ้าโจทย์เปลี่ยน เช่น เราได้เงินเพิ่มมากกว่านี้อีก 10 เท่า 100 เท่า ก็อาจจะเปลี่ยนเหมือนกัน แต่ปัจจุบันเราก็ยังมีจำกัดอยู่ เราไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการเหมือนประเทศในแถบยุโรปที่เขามีกำลังพอทำได้ ดังนั้นตอนนี้เราเลยทำ targeting

แต่อย่างที่เรียนว่า targeting ก็มีข้อเสียคืออาจจะไม่ครอบคลุม เราก็ออกแบบให้กรรมการสถานศึกษาช่วยกำกับดูแล มีบุคคลที่สามลงไปตรวจสอบดู แล้วก็ปรับปรุงพัฒนารับฟังความเห็นอยู่ตลอดเวลา นี่คือความพยามของเราที่จะสมดุลโจทย์ทรัพยากร และกลไกการทำงาน

 

ถ้ามองไปในอนาคต กสศ. มองก้าวต่อไปของตัวเองอย่างไรบ้าง อยากจะทำอะไรบ้างเพื่อเข้าใจปัญหามากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะทำเพิ่มขึ้นในอนาคตคือการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ด้วย Area-Based Education คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยให้คนในพื้นที่ลุกขึ้นมาช่วยกันสร้างกลไกในพื้นที่เพื่อทำงาน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย หรือประชาชนในพื้นที่ ตอนนี้เราทำได้อยู่ประมาณ 20 จังหวัด ซึ่งเราก็พยายามทำให้มีความลุ่มลึก ชัดเจนและยั่งยืน เพื่อเป็นแกนให้จังหวัดที่เหลือในประเทศไทยทำงานตรงนี้ได้ เพราะเราเชื่อว่าความยั่งยืนอยู่ในพื้นที่ และคนในพื้นที่อยู่ใกล้หน้างานที่สุด

ความรับผิดชอบก็ดีต่อปัญหานะครับ นายกเทศมนตรี นายก อบต. อบจ. ก็ต้องรับผิดชอบกับคนของเขา แล้วคนในพื้นที่ก็รู้โจทย์ทางการศึกษาของตัวเองดีกว่าคนส่วนกลาง เชียงใหม่เขาอาจจะมองภาพอนาคตเมืองเชียงใหม่แบบหนึ่ง นราธิวาสมองอีกแบบ อุบลราชธานีมองอีกแบบ แม้กระทั่งกรุงเทพมหานครเองก็ดี ถ้าคนในพื้นที่เป็นผู้ตั้งโจทย์ความเสมอภาคทางการศึกษา แล้วเรามีกลไกกองทุนกับกลไกในพื้นที่ทำงานกันได้ประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ความเสมอภาคทางการศึกษาในอนาคตยั่งยืนมากขึ้น และตอบโจทย์คนในพื้นที่มากขึ้นด้วย

อีกโจทย์หนึ่งคือ เราพยายามทำงานวิจัยที่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่า ตกลงแล้วการแก้ปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษาที่ยั่งยืน เราไม่หยุดอยู่แค่เรื่องการให้เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขแน่นอน เพราะการให้เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข แม้เขาจะมาเรียนสม่ำเสมอมากขึ้น แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าความยากจนจะไม่ถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกต่อไป ทุกวันนี้มีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์มากขึ้น หลายๆ ประเทศเอา nudge หรือนโยบายแบบสะกิดมาใช้ คือใช้เงินน้อยแต่ได้ผลมาก แต่กว่าจะทำอย่างนั้นได้ต้องเข้าใจคนในพื้นที่จริงๆ ก่อน

เช่น เราจะมี SMS ไปสะกิดพ่อแม่ว่า ลูกมีผลการเรียนที่ดีมากนะ มีอนาคตไกลมากที่จะช่วยแบ่งเบาพ่อแม่ในอนาคต ภาระทางครอบครัวจะดีขึ้น เขาน่าจะส่งเสริมลูก หรือมีวิธีอื่นที่ไม่ใช่การสะกิดคุณพ่อคุณแม่โดยตรง แต่สะกิดไปที่ผู้ใหญ่บ้าน หรือคนรอบตัว พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์เหล่านี้มากขึ้น แล้วเปลี่ยน mindset ของเด็กกับครอบครัว คุณพ่อคุณแม่จะเชื่อมั่นได้ว่า แม่พวกเขาจะได้เรียนไม่เกิน ป.6 แต่ถ้าให้ลูกเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย หรือ ปวช. ปวส. ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนของเขามีแนวโน้มที่จะหายไป อันนี้เป็นการตบมือ 2 ข้าง พูดง่ายๆ คือ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอุปสงค์ (demand-side)

เราทราบว่าในประเทศไทยมีงบประมาณการศึกษาถึง 5 แสนล้านบาท แต่ส่วนใหญ่ 5 แสนล้านบาทนั้นเป็นนโยบายฝั่งอุปทาน (supply-side) เช่น เงินเดือนคุณครู การทำให้โรงเรียนทำงานได้ แต่ทรัพยากรที่ไปวางไว้ฝั่ง demand-side ซึ่งช่วยให้เด็กมาโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอยังมีน้อย บางประเทศมีนโยบายที่ดีแต่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ เป็นนโยบายที่อยู่บนฐานความรู้ เราก็อยากทำเรื่องพวกนี้ให้มากขึ้น

รวมถึงการใช้ big data อ่านโจทย์เด็กที่เราทำงานด้านข้อมูล จำนวนปีละประมาณ 2 ล้านคน เราจะสร้างอัลกอริธึมที่จับรูปแบบได้ว่าเส้นทางแบบไหนสั้นที่สุดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เรามีข้อมูลที่ดี เราน่าจะทำได้ ก็กำลังคุยเรื่องนี้กับองค์กรระหว่างประเทศและในประเทศอยู่

 

ไกรยส ภัทราวาท

คุณคลุกคลีอยู่กับการศึกษาและเห็นภาพปัญหามาตลอด คิดว่าอะไรคือจุดที่การศึกษาไทยก้าวไม่พ้นสักที เราจะเห็นว่าหลายอย่างในไทยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่การศึกษาของเราเหมือนไม่ดีขึ้นเท่าไหร่

อย่างที่ผมเรียนตอนแรกเรื่องกลไกการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ สถานศึกษาควรได้รับการคิด การทำงานอย่างมีอิสระมากขึ้น คุณครูควรจะมีทรัพยากรที่ดีขึ้นในการคิด ในการแก้ปัญหาของเด็ก รวมไปถึงชุมชนท้องถิ่นด้วย เพราะการศึกษาไม่ใช่โจทย์ที่ภาคการศึกษาเป็นคนแก้ฝ่ายเดียว แต่ภาคเอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาชน ก็ต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและทำงานร่วมกันมากขึ้น การศึกษาไทยก็จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีสองปีข้างหน้านี้ จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากเลย ตลาดแรงงานจะมีความท้าทายมาก การเปลี่ยนแปลงของโรงงาน การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ถ้าเรายังจับจุดตรงนี้ไม่ได้ เด็กที่จะลำบากที่สุดก็คือเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน เพราะเขาก็ไม่มีทางเลือกมากเท่าไหร่ มีภูมิคุ้มกันน้อย เพราะฉะนั้นเราควรจะช่วยเขาให้มาก

 

มีกรณีเด็กที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง หลังจากได้รับทุนบ้างไหม 

เราเพิ่งทำงานมา 2 ปี อาจจะยังไม่มีกรณีที่โดดเด่นขนาดนั้น แต่อย่างน้อยๆ จำนวนเด็กที่ได้รับเงินสนับสนุนมาเข้าเรียนตามเงื่อนไข สูงประมาณ 98% แต่จริงๆ เข้าเรียน  80% เราก็ยังไม่ค่อยพอใจนะ เขาควรจะมาเรียนให้ใกล้เคียง 100% ได้มากที่สุด เพราะเด็กที่เข้าเรียน 80% ก็ถือว่าขาดเรียนอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ยังถือว่าสูงอยู่ แต่อย่างน้อยๆ ก้าวแรกของปีแรกมาได้ประมาณ 80% เราก็ค่อนข้างใจชื้นขึ้น

สิ่งที่เราพยายามดูอยู่ก็คือ ยังไม่มีเด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษา ซึ่งเราก็พยายามทำเกราะป้องกันไม่ให้เด็กนอกระบบการศึกษาของเราเพิ่มขึ้นไปอีก แนวโน้มในประเทศไทย 10 ปีข้างหน้า ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาจะหมดไปได้ไหม เป็นปัญหาที่เราจะขจัดไปจากประเทศไทยได้แล้วหรือยัง อันนี้ก็เป็นคำถามและความตั้งใจของเรา

 

อีกปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือรัฐใหญ่โตเกินไป เราจะมั่นใจอย่างไรว่า กสศ. จะไม่เป็นเพียงการทำให้รัฐใหญ่ขึ้นไปอีก ไม่ทำงานเป็นระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ

ทุกวันนี้ก็ทำงานกับครูประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ เด็ก 2 ล้านคน โรงเรียน 3 หมื่นโรง เรามีคนไม่ถึง 50 คน แล้วเราใช้เทคโนโลยี ไม่ใช้กระดาษสักใบในการคัดกรองความยากจน เราคุมกำเนิดตัวเองด้วยซ้ำไปครับว่า ไม่อยากมีคนเยอะ แต่ทำงานให้มีข้อมูลเยอะ แล้วเมื่อหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจในการช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้เห็นข้อมูลแล้ว เราก็พยายามเชียร์ให้เขาเอาไปใช้ เอาไปทำ ด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่จำกัด เราเน้นการทำงานชี้เป้า เป็นหน่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่เลย

 

คำถามสุดท้าย เวลาพูดถึงระบบการศึกษาในอุดมคติ คุณมีระบบการศึกษาของประเทศไหนอยู่ในใจ

ระบบการศึกษาในแต่ละประเทศล้วนมีข้อดีข้อเสียเหมือนกันหมด หลายๆ คนชอบพูดถึงสิงคโปร์ว่าเป็นระบบการศึกษาในอุดมคติ แต่เขาก็มีขนาดประชากรเท่ากับหนึ่งเมืองของเราเท่านั้น ฟินแลนด์ก็เหมือนกัน คนนิดเดียว แล้วคนแทบจะเหมือนกันหมด ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจสังคมเหมือนกันมาก เพราะฉะนั้นเขาก็ไปถึงอุดมคติตรงนั้น

แต่ในขณะเดียวกันเขามีโจทย์ที่แตกต่างกัน ระบบการศึกษาบางระบบ perform ดีมากในการจัดอันดับ แต่อัตราการฆ่าตัวตายของเด็กก็สูง อัตราความเครียดของเด็กก็สูง ใช่ไหมครับ คือถึงเขาจะมีอันดับที่ดีในโลกแต่ก็มีปัญหาที่แลกมาหลายๆ อย่างเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าถามถึงการศึกษาในอุดมคติ อาจจะไม่มีประเทศไหนที่ดีทุกๆ ด้าน แต่เราเรียนรู้จากเขาได้ว่าเอาบางส่วนของเขามา แล้วเอามาปรับให้ตรงกับประเทศไทย

แต่ต้องย้ำอีกทีว่า เวลาเราพูดถึงการศึกษาในอุดมคติ เราอย่าไปดูตอนนี้ ต้องย้อนไปดูเมื่อ 30-40 ปีก่อนตอนที่เขาปฏิรูปตัวเองว่าเขาทำยังไง ประเทศไทยไม่สามารถเรียนรู้แค่ในปัจจุบันของเขา แต่ต้องเรียนรู้ว่าสิงคโปร์ เกาหลีใต้ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ก่อนหน้านี้เขาทำยังไง เราจะต้องเรียนรู้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save