fbpx
“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย และ ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

“Even if you are not interested in International Relations, International Relations is interested in you.”

– Ken Booth

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” เป็นประโยคที่ทุกคนล้วนเคยได้ยินและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ร่องรอยทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า มนุษย์มีการรวมกลุ่มกันตั้งแต่หลายพันปีที่แล้ว และในการรวมกลุ่มกันเป็นสังคมนี้เอง สิ่งหนึ่งที่คงจะขาดไปเสียมิได้คือ การมี ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างกัน

จากการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม พัฒนามาเรื่อยจนกลายเป็นนครรัฐ เติบโตเป็นอาณาจักร จนกระทั่งกลายมาเป็นรัฐที่อยู่ภายใต้ระบบระเบียบร่วมกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร แต่ละรัฐยังคงมี ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างกันอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหน ยามใดที่ความสัมพันธ์ชื่นมื่น แต่ละรัฐต่างจับมือเป็นพันธมิตร สร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ หากยามใดที่สถานการณ์ตึงเครียด แต่ละรัฐต่างถอยออกห่าง ก่อกำแพงหนากีดกั้นความสัมพันธ์ บางครั้งอาจถึงขั้นทำสงคราม

อย่างไรก็ดี แม้มนุษย์จะมีความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม และพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมานานแล้ว แต่ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ หรือที่มักเรียกกันโดยย่อว่า ‘IR’ (International Relations) ในฐานะสาขาวิชา (discipline) เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อราวหนึ่งศตวรรษก่อนหน้านี้ โดยหากเรานับว่า การก่อตั้งสาขาวิชาการเมืองระหว่างประเทศ (Department of International Politics) ณ มหาวิทยาลัย Aberystwyth ในปี 1919 เป็นจุดเริ่มต้นของสาขาวิชา ในปี 2020 นี้ IR จะมีอายุครบ 101 ปีพอดี

ผศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการเมืองระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Aberystwyth และเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการ IR มานาน รวมถึงเป็นคนหนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้และการเรียนการสอน IR มาโดยตลอด – คำถามคือ ในยุคที่การเมืองโลกผันผวน ระบบโลกถูกตั้งคำถาม ระเบียบโลกระส่ำระส่าย ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ อย่างเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งโรคระบาด ทำให้ IR ต้องเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งจากภายนอกและภายในศาสตร์เอง แล้ว IR จะต้องปรับตัวอย่างไร?

101 ชวน จิตติภัทร พูนขำ สนทนากันยาวๆ ทั้งจากมุมมองของผู้สอนและผู้ที่สนใจศึกษา IR ไล่เรียงตั้งแต่คำถามที่ว่าองค์ความรู้ของ IR เป็นอย่างไร อะไรคือคำถามใหญ่ของโลก IR และ IR จะปรับตัวอย่างไรในคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไปจนถึงคำถามที่ฟังดูง่าย (แต่อาจจะตอบยาก) อย่าง IR เรียนอะไร จบแล้วไปไหนต่อดี เราจะเรียน IR แบบข้ามศาสตร์กับสาขาวิชาอื่นได้หรือไม่ และอะไรคือเสน่ห์ของ IR

ทั้งหมดนี้ เพราะ ‘IR ต้องรอด’

จิตติภัทร พูนขำ

ขอบฟ้าความรู้ของ IR

 

ตลอดหลายสิบปีที่อาจารย์ศึกษา IR สถานการณ์และองค์ความรู้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

ตั้งแต่หลังสงครามเย็นสิ้นสุดเป็นต้นมา สถานะองค์ความรู้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) เปลี่ยนไปมากทีเดียว ถ้าเรามององค์ความรู้ในฐานะ ‘บ้าน’ (House) ‘บ้านของ IR’ (House of IR) ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา น่าจะเปลี่ยนโฉมเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างน้อย 4 แบบ

ประการแรก ก่อนหน้านี้ ความสนใจในการศึกษา IR จำกัดอยู่เพียงแค่รัฐชาติและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (inter-state relations) ประเด็นการศึกษาจึงอยู่ที่กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศ หรือการวิเคราะห์โครงสร้างระบบระหว่างประเทศว่าจัดวางอำนาจแบบขั้วอำนาจเดียว (unipolar) สองขั้วอำนาจ (bipolar) หรือหลายขั้วอำนาจ (multipolar)

ในปัจจุบัน จะเห็นว่าพื้นที่การศึกษา IR ขยายไปยังระดับโลก (global) มากขึ้น ไม่ได้สนใจเพียงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอย่างเดียว แต่ยังสนใจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับองค์ประกอบทางการเมืองอื่นๆ ในโลก อย่างเช่นตัวแสดงอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐ องค์การระหว่างประเทศและปัจเจกอีกด้วย อย่างที่ Christian Reus-Smit เสนอไว้ในหนังสือ International Relations: A Very Short Introduction ว่า หัวใจสำคัญของ IR คือ ‘การจัดระเบียบของสิทธิอำนาจทางการเมืองในระดับโลก’ (‘global organization of political authority’) รวมทั้งตัวแสดงเหล่านั้นยังอยู่ในระบบชีวภาพสิ่งแวดล้อม (biosphere) ร่วมกันอีกด้วย ดังนั้น วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการค้าระหว่างประเทศ ความมั่นคงข้ามชาติ พื้นที่ข้ามพรมแดน ผู้อพยพ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงถูกรวมเข้าไปอยู่ในความสนใจของ IR

ประการที่สอง ก่อนหน้านี้ ในบ้าน IR มีเพียงแค่สามสำนักคิดหลักที่อยู่ใจกลางของบ้านหลังนี้ ได้แก่ ทฤษฎีสภาพจริงนิยม (Realism) ทฤษฎีเสรีนิยม (Liberalism) และทฤษฎีสรรสร้างนิยม (Constructivism) แต่ในปัจจุบัน บ้าน IR มีทฤษฎีที่ใช้ในการมองและทำความเข้าใจการเมืองโลกมากมายหลากหลายขึ้น และไม่ได้มีทฤษฎีไหนที่มีบทบาทนำเด่นชัดอย่างที่สภาพจริงนิยมเคยเป็นทฤษฎีหลักมาก่อน กลุ่มทฤษฎีกระแสรอง เช่น ทฤษฎีวิพากษ์ หลังโครงสร้างนิยม เฟมินิสต์หรือหลังอาณานิคมนิยมเริ่มมีพื้นที่อยู่ในบ้านบ้าง แม้ว่าจะอยู่ตามมุมบ้านก็ตาม บางทฤษฎีก็กระโดดข้ามไปมาระหว่างโลก IR และศาสตร์อื่น ไม่ได้อยู่ในบ้าน IR ตลอดเวลา กล่าวได้ว่าบ้าน IR มีความเป็น ‘โลกเดียว หลายทฤษฎี’ (One world, many theories) แต่ในขณะเดียวกัน ทฤษฎีที่อยู่ร่วมกันในบ้านก็ไม่ได้มีสถานะเท่าเทียมกันหมด มีทั้งทฤษฎีกระแสหลัก ทฤษฎีกระแสรอง ทฤษฎีชายขอบ และในบ้านหลังนี้ สำนักคิดต่างๆ ยังสนทนา ถกเถียง และโต้แย้งระหว่างทฤษฎีไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้ บ้าน IR ก็ยังมีสาขาย่อยต่างๆ เป็นส่วนประกอบของบ้านด้วย ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (foreign policy analysis) ความมั่นคงศึกษา (security studies) เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ (international political economy) หรืออาณาบริเวณศึกษา (area studies)

ประการที่สาม เดิมทีเราเน้นศึกษา IR ผ่านตัวบท (textual) ใช้วิธีการวิเคราะห์ตัวบทจากสุนทรพจน์ บทสนทนา บทสัมภาษณ์ เอกสารชั้นต้น แต่ปัจจุบัน IR เริ่มหันมาสนใจศึกษาสิ่งที่ไม่ใช่ตัวบท (non-textual) เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพยนตร์ มากยิ่งขึ้น โดยพิจารณาการสร้างภาพตัวแทนทางด้านสุนทรียศาสตร์ การแสดงทางอารมณ์ ผ่านเรือนร่าง (body) หรือการศึกษาการแสวงหาเกียรติยศ สถานะและการยอมรับของรัฐในการเมืองระหว่างประเทศ เราตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่า มีผลต่อการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ทำไมต้องเอาผ้าคลุมภาพวาด Guernica ของ Picasso ที่แขวนไว้ในห้องประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก่อนสหรัฐฯ จะขอมติบุกอิรักในปี 2003 นั่นก็เพราะภาพวาดนี้สะท้อนความคิดต่อต้านสงคราม หรือทำไมภาพถ่ายเด็กชายอลัน เคอร์ดี (Alan Kurdi) ชาวซีเรียอายุ 3 ปี นอนเสียชีวิตบนหาดทะเลเมดิเตอเรเนียนระหว่างการอพยพไปยังชายแดนยุโรปจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อทิศทางการออกนโยบายผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรปได้

ประการที่สี่ IR กำลังมุ่งสู่ความเป็นสหสาขาวิชา หยิบยืมวิชาข้ามศาสตร์มากขึ้น เช่น มีการนำจิตวิทยา จิตวิเคราะห์ ควอนตัมฟิสิกส์ หรือประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) เข้ามาผสมผสาน ในมิตินี้ อาจจะมองได้ว่า IR กำลังย้อนกลับไปหาอดีต สู่จุดตั้งต้นของสาขาวิชาเช่นกัน เพราะในปี 1919 ที่มหาวิทยาลัย Aberystwyth สาขาวิชา IR ก็เกิดขึ้นครั้งแรกมาจากการเรียนรู้หยิบยืมสาขาอื่นๆ เช่นกัน ทั้งปรัชญา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ กฎหมายระหว่างประเทศ อีกประเด็นหนึ่งคือ IR ไม่ได้ถูกกำกับด้วยวิธีการหาความรู้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์แบบใดแบบหนึ่ง นั่นคือปฏิฐานนิยม (positivism) ที่ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มอง ‘ปัจเจก’ เป็นตัวละครหลักในการศึกษาสังคม (methodological individualism) เท่านั้น แต่ทุกวันนี้ เราเห็น IR ที่มีวิธีวิทยาในการแสวงหาความรู้ที่แตกต่างหลากหลายแบบมากขึ้น

เราเห็นว่า Data Science กำลังเป็นเทรนด์ในวงการสังคมศาสตร์หลายศาสตร์ อยากทราบว่า IR ตามกระแส Data Science บ้างไหม

ถ้าเราไปดูทางฝั่งสหรัฐฯ จะเห็นว่าเขาใช้การวิจัยเชิงปริมาณศึกษา IR หรือแม้กระทั่งศึกษารัฐศาสตร์เยอะมาก มีการเก็บข้อมูล ใช้ Big Data เข้ามาช่วยศึกษาวิจัยเปรียบเทียบกรณีศึกษาหลายร้อยหลายพันเคส

แต่ทางฝั่งยุโรปก็ยังคงตั้งคำถามกับการนำ Data Science เข้ามาช่วยในการศึกษา IR พอสมควร ยังคงยึดรากฐานการวิเคราะห์และวิพากษ์สังคมโดยใช้ปรัชญา หรือทฤษฎีทางสังคมการเมืองมากกว่า

ในไทยเอง ผมยังไม่เห็นงานที่นำ Data Science เข้ามาใช้เท่าไร ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรายังเห็นการวิจัยที่อาศัยข้อมูลเชิงปริมาณน้อยมากตั้งแต่มีการสถาปนาคณะรัฐศาสตร์และสาขา IR มีงานนับชิ้นได้เลย เช่น งานของอาจารย์โคริน เฟื่องเกษม แห่ง IR สำนักธรรมศาสตร์ เป็นต้น

อะไรคือคำถามใหญ่ของโลก IR ตอนนี้

คำถามนี้ตอบยากเหมือนกัน ในโลก IR มีคำถามใหญ่อยู่เยอะพอสมควร

ทุกวันนี้ในแวดวง IR ยังคงถกเถียงเกี่ยวกับ ‘คำถามคลาสสิก’ หรือ ‘คำถามอมตะ’ (enduring questions) แม้ว่าโจทย์จะถูกตั้งมานานแล้ว แต่ก็ยังไขให้กระจ่างไม่ได้หรือยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น โจทย์การเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก (power transition) แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมีโจทย์ใหม่ๆ ที่ล้ำหน้าผุดขึ้นมาอีกด้วย ผมขอยกตัวอย่างคำถามที่ยังเป็นที่ถกเถียงแล้วกันนะครับ

โจทย์แรกนับได้ว่าเป็นโจทย์คลาสสิกของ IR ซึ่งก็ยังคงว่าด้วยความหวาดกลัว (fear) แต่ที่น่าสนใจคือ ความหวาดกลัวเป็นจุดบรรจบของทั้งทฤษฎีกระแสหลักและกระแสรอง

ในมุมของทฤษฎีกระแสหลักอย่างสภาพจริงนิยม ความหวาดกลัวเป็นที่มาของความรู้สึกไม่มั่นคง และความหวาดระแวงต่อเจตนาของรัฐอื่น เพราะรัฐหนึ่งไม่สามารถหยั่งรู้ได้เลยว่า การที่อีกรัฐหนึ่งมีความมั่นคงมากขึ้น มีกำลังทางทหารและอาวุธมากขึ้น จะสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐตนเองหรือไม่ นี่คือโจทย์เรื่องทางแพร่งทางความมั่นคงหรือ security dilemma

โจทย์ว่าด้วยความหวาดกลัวยังไปปรากฏอยู่ในปัญหาการจัดระเบียบโลกและการเปลี่ยนผ่านอำนาจของโลกเช่นกัน ปัญหานี้มีมาตั้งแต่สงครามเพโลโพนีเชียนในสมัยกรีกโบราณ การขึ้นมามีอำนาจของนครรัฐเอเธนส์ได้สร้างความหวาดกลัวในใจของนครรัฐสปาร์ตาว่าตนจะสูญเสียอำนาจนำ (hegemon) ในบรรดานครรัฐกรีกจนเกิดเป็นสงคราม เป็นกรณีศึกษาคลาสสิกที่วงวิชาการเรียกว่า ‘กับดักธูสิดีดิส’ (Thucydides’s Trap) จนถึงปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังดำรงอยู่ การผงาดขึ้นมามีอำนาจของจีนทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ ก็สร้างความกลัวให้กับสหรัฐฯ ซึ่งต้องการธำรงรักษาความเป็นมหาอำนาจของตนเองในระเบียบโลก ดังเห็นได้จากยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ

ส่วนทฤษฎีกระแสรองก็ตั้งคำถามต่อการแสดงอารมณ์ของรัฐต่อการเมืองระหว่างประเทศว่า ทำไมรัฐจึงต้องมีการแสดงท่าทีออกมาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่นว่า เมื่อรัฐไม่พอใจต่อระเบียบโลก ก็ออกมาวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาหรือแสดงออกผ่านการทูตแห่งความโกรธ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิ เราเห็นการทูตแห่งอารมณ์ของความเห็นอกเห็นใจ เป็นต้น

อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญในสายตาของ IR กระแสหลักและถูกพูดคุยถกเถียงกันเยอะมากคือ เรื่องการวางยุทธศาสตร์ของรัฐว่าควรจะเป็นอย่างไร ดำเนินนโยบายแบบไหนภายใต้เงื่อนไขที่ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนไปจากระเบียบโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ เดิมที นักยุทธศาสตร์เถียงกันว่ารัฐควรจะใช้วิธีรวมกลุ่มกันถ่วงดุลอำนาจกับมหาอำนาจ (balancing) หรือร่วมขบวน เข้าเป็นพวกเดียวกับมหาอำนาจ (bandwagoning) จึงจะรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งรัฐได้ดีกว่ากัน แต่ตอนนี้ยุทธศาสตร์หลักที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ การประกันความเสี่ยง (hedging) ว่าจะใช้นโยบายถ่วงดุลอำนาจสร้างความมั่นคงให้กับตนเองไปพร้อมกับการใช้นโยบายสร้างความร่วมมือได้อย่างไร

ขณะที่แวดวงนักทฤษฎีสายสรรสร้างนิยมตั้งคำถามต่อปทัสถาน (norms) และกฎกติกาในการเมืองโลกอย่างเช่น สิทธิมนุษยชน การแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม หรือระบอบสุขภาพระดับโลก (global health regime) ว่ามีที่มาอย่างไร คือเกิดขึ้นมาอย่างไร ใครเป็นคนสร้าง จะธำรงรักษามันไว้อย่างไร และจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งศึกษาการท้าทายกติกาหรือปทัสถานระหว่างประเทศด้วย เช่น การใช้อาวุธเคมีของระบอบ Bashar al-Assad ในซีเรียต่อประชาชนภายในประเทศของตนเอง เป็นต้น

ในไทย เราสนใจคำถามคล้ายๆ กับที่โลกสนใจหรือเปล่า เรามีโจทย์เฉพาะของตัวเองไหม หรือที่จริงแล้วเราก็มีโจทย์ที่คล้ายกับในระดับโลก

ผมคิดว่ามีทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่าง

ส่วนเหมือนก็มีเยอะ เราสนใจเรื่องระเบียบโลก ยุทธศาสตร์ศึกษา ความมั่นคงของมนุษย์ เศรษฐกิจการเมืองโลก กฎหมายระหว่างประเทศ แต่แน่นอนว่าแนวโน้มการศึกษา IR ในไทยก็เป็นผลจากบริบทและเงื่อนไขเฉพาะ จะเห็นว่า IR ไทยสนใจเรื่องกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศทั้งแบบทวิภาคีระหว่างรัฐสองรัฐ และอาเซียนมากเป็นพิเศษ

อีกอย่างหนึ่งคือ บริบทของสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศและภูมิภาคมีอิทธิพลต่อทิศทางการศึกษา IR ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ไทยเท่านั้นที่มุ่งความสนใจไปที่การศึกษานโยบาย แต่รัฐขนาดเล็ก (small states) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นกัน เห็นได้ว่าเมื่อจีนเริ่มแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานวิจัยที่ออกมาก็จะเกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้ หรือโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) เสียเยอะ

ในส่วนที่ต่าง ผมคิดว่าการศึกษา IR ในไทยยังค่อนข้างจำกัดถ้าเทียบกับระดับโลก ผมขอแบ่งการศึกษา IR ในไทยออกเป็นสองช่วง คือช่วงก่อนทศวรรษ 2000 กับหลังทศวรรษ 2000

ประการแรก การศึกษา IR ก่อนทศวรรษที่ 2000 ยังเน้นการพรรณนา เล่าเรื่องและประวัติศาสตร์ต่างๆ ไม่ค่อยอาศัยการเล่าผ่านกรอบทฤษฎี และไม่ได้เน้นศึกษาผ่านการตั้งโจทย์คำถามวิจัยมากเท่าใดนัก

ประการที่สอง วงการการศึกษา IR ในไทยเน้นการศึกษาภูมิภาคต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็น จีนศึกษา ญี่ปุ่นศึกษา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา อเมริกันศึกษา ยุโรปศึกษา รัสเซียศึกษา เรามีหมด แน่นอนว่านี่ก็เป็นจุดแข็งของเรา แต่ต้องไม่ลืมว่าการก่อตัวขององค์ความรู้อาณาบริเวณศึกษาที่เข้มแข็งนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากบริบทของสงครามเย็นที่รัฐมหาอำนาจเช่นสหรัฐฯ ต้องการองค์ความรู้แบบนี้ในการเข้าใจโลกที่สามและออกแบบนโยบายต่างประเทศต่ออาณาบริเวณต่างๆ ในโลก

ประการที่สาม IR ในช่วงก่อนทศวรรษ 2000 มุ่งเน้น policy-oriented คือเน้นการศึกษาบทบาททางการทูตและนโยบายต่างประเทศ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะทุนสนับสนุนการวิจัยต่างมุ่งเน้นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายเป็นหลัก และอีกส่วนเป็นเพราะนักวิชาการ IR ได้เข้าไปให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศหรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น

ถ้าถามว่าการศึกษา IR หลังทศวรรษ 2000 ยังคงมีร่องรอยเหล่านี้อยู่บ้างไหม ก็ต้องตอบว่ายังมี แต่เทรนด์การศึกษาก็เปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มมีการนำทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาใช้ในการทำความเข้าใจกรณีศึกษาเชิงประจักษ์มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังจำกัดอยู่แค่ทฤษฎีกระแสหลัก ตัวอย่างหนึ่งคือการออกแบบหลักสูตร IR ในไทย สามทฤษฎีหลักในบ้าน IR ก็ยังคงครองพื้นที่และมีอิทธิพลต่อการศึกษา IR ในไทยมากกว่าทฤษฎีวิพากษ์อยู่ดี จุดแข็งของเราอย่างอาณาบริเวณศึกษาก็ต้องนำทฤษฎีเข้าไปจับ เพื่อที่จะสนทนากับองค์ความรู้ IR ในระดับโลกได้ดีขึ้น

จิตติภัทร พูนขำ

แล้วช่องว่างระหว่างวงการ IR ระดับโลกและไทยกว้างมากไหม

กว้าง แต่ก็ค่อยๆ แคบลง มองในแง่ดี เราก็พัฒนาไปพอสมควรนะครับ

ผมอยากชวนคิดว่า เวลาเรามองช่องว่าง เรามองมันได้ 2 วิธีคือ วิธีแรก เราคิดแบบตระหนักรู้ถึงช่องว่าง (mind the gap) เรามองภาพรวมองค์ความรู้ IR ในโลกเพื่อที่จะหันกลับมามองในไทย และทำความเข้าใจว่าเรารู้น้อยเพียงใด

อีกวิธีคิดหนึ่งคือ เราต้องคิดแบบพยายามเติมเต็มช่องว่าง (fulfill the gap) พยายามศึกษาไล่ตามวงวิชาการระดับโลกให้ทัน เราต้องปรับแนวการศึกษา IR ไปในทิศทางที่ใช้โจทย์คำถามและทฤษฎีเป็นตัวนำ วิธีคิดแบบที่สองยากกว่า และคงต้องใช้เวลานานกว่า

ตอนนี้เราเริ่มตระหนักถึงช่องว่างแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรที่จะเติมเต็มช่องว่าง เพราะแวดวงวิชาการ IR ไทยมีคนร่วมช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ไม่เยอะนัก

อีกประเด็นคือ ยังมีช่องว่างในการสร้างความรู้ IR จากโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก (Non-Western IR) เองด้วย ซึ่งงานอย่าง Amitav Acharya และ Barry Buzan ตั้งต้นด้วยคำถามต่างๆ เช่น องค์ความรู้ของ IR เป็นทางเดียวหรือไม่ มาจากโลกตะวันตกเพียงฝ่ายเดียวหรือเปล่า มีองค์ความรู้ที่มาจากโลกตะวันออกหรือไม่ และมีหน้าตาอย่างไร เช่น IR จากมุมของเต๋า ขงจื่อ ฮินดู หรือพุทธเอง ถ้าเราสร้างทฤษฎี IR จากโลกที่ไม่ใช่ตะวันตกก็น่าจะช่วยทำให้ IR ในฐานะสาขาวิชามีความเป็นสากลมากขึ้น และลดความเป็น Euro-centric ลงไปได้บ้าง กล่าวคือเป็น Global IR จริงๆ

IR ไทยมีการแบ่งสำนักไหม? ถ้ามี แต่ละสำนักมีความต่างหรือไม่ อย่างไร?

โดยรวม ผมคิดว่า IR ในไทยไม่ได้มีการแบ่งสำนักอย่างชัดเจนเสียทีเดียว ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเรามีคนจำนวนน้อย นักวิชาการแต่ละคนต่างคนต่างทำเรื่องที่เป็นความถนัดของตัวเอง ไม่มีคนที่ถนัดทำเรื่องคล้ายกันมากพอที่จะรวมตัวเป็นสำนักคิดได้ และอย่างที่ได้บอกไว้ว่าการศึกษาในไทยเน้นอาณาบริเวณศึกษา เช่น ที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีคนศึกษารัสเซีย จีน ตะวันออกกลางประเทศละ 1 คนเท่านั้น แต่สมมติว่าถ้ามีนักวิชาการ IR ทำเรื่องญี่ปุ่นสัก 3-4 คน ก็อาจจะพอรวมเป็นสำนักได้บ้าง แต่ก็มีคำถามคือการมีสำนักนั้นจำเป็นหรือไม่

หรือถ้าจะมองอีกแบบหนึ่ง พอนักวิชาการ IR ในไทยเริ่มนำทฤษฎีเข้ามาศึกษา ก็พอจะแบ่งได้ว่ามีกลุ่มนักวิชาการ IR ที่อิงกับสำนักคิดกระแสหลักอย่างสภาพจริงนิยมและเสรีนิยม และกลุ่มนักวิชาการที่อิงกับทฤษฎีกระแสวิพากษ์ แต่การลากเส้นแบ่งสำนักคิดแบบนั้นหากไม่ช่วยก่อให้เกิดการสานเสวนาระหว่างกันก็ไม่ได้มีประโยชน์อันใด

ในหลักสูตรสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นักเรียน IR ทุกคนจะต้องผ่านวิชาบังคับสำคัญอย่างทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทฤษฎีเป็นการสร้างคำอธิบายกว้างๆ เอาไว้อธิบายปรากฏการณ์บางอย่าง แต่ในปัจจุบัน แค่วันรุ่งขึ้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว ทฤษฎีครอบคลุมพอไหมที่จะใช้อธิบายเรื่องที่เปลี่ยนไปทุกวัน 

แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนเร็วจนทฤษฎีเปลี่ยนตามไม่ทัน แต่ทฤษฎี IR ก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะทฤษฎียังเป็นเลนส์ที่มีพลังในการมองและวิเคราะห์ภาพใหญ่ของเหตุการณ์โลกได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเรานิยามแบบแคบๆ ว่าทฤษฎี IR ประกอบด้วยเพียงทฤษฎีกระแสหลักอย่างสภาพจริงนิยม เสรีนิยม และสรรสร้างนิยมเท่านั้น มันก็อาจจะไม่ครอบคลุมเพียงพอในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน เช่น วิกฤตโควิด-19

วิกฤตโควิด-19 ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นะ โควิด-19 เป็นเพียงแค่กรณีศึกษาหนึ่งของปัญหาโรคระบาดซึ่งมีมานานแล้ว นักวิชาการ IR ก็สนใจปัญหานี้มานานเพราะการจัดการโรคระบาดนับได้ว่าเป็นการเมืองสุขภาพระดับโลก (global health politics) เหมือนกัน มีสำนักศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งการศึกษาก็ใช้เลนส์ทฤษฎีที่หลากหลายเหล่านี้เข้ามาช่วยมองและตั้งโจทย์ได้หลายแบบ

ถ้าใช้วิกฤตโควิด-19 ตั้งต้นแล้วใช้ทฤษฎีเปิดประเด็น งานวิจัยที่ใช้กรอบความมั่นคงศึกษาแนววิพากษ์ ก็จะไปดูกระบวนการที่เรียกว่า securitization หรือการประกอบสร้างว่าโรคระบาดกลายเป็นประเด็นความมั่นคงได้อย่างไร หรือหากเป็นงานกระแสหลักที่มองผ่านเลนส์แบบสภาพจริงนิยมก็จะคลี่ให้เห็นว่าในสนามการเมืองโลก รัฐต่างก็พยายามเอาตัวรอดจากการระบาด และให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของรัฐตนเองเป็นอันดับแรก องค์การระหว่างประเทศด้านสุขภาพอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ถูกกำกับโดยเกมการเมืองเรื่องอำนาจจนไม่มีเอกภาพในการแก้ไขปัญหา ทฤษฎีเสรีนิยมที่มองว่ารัฐจะได้ประโยชน์มากกว่าหากร่วมมือกันก็ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมระเบียบโลกเสรีนิยมที่ถูกสร้างตามมุมมองของทฤษฎีนี้จึงไม่ได้ผล ส่วนทฤษฎีสรรสร้างนิยมก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่า ทำไมกติกาและปทัสถานระหว่างประเทศในการปกป้องสุขภาพโลกจึงไม่สามารถกำกับพฤติกรรมรัฐได้

จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามได้ว่าอำนาจและความอยู่รอดยังคงสำคัญหรือไม่ ท้ายที่สุด การนำเลนส์ไปมองประเด็นต่างๆ ก็จะพาเรากลับไปสู่คำถามใหญ่ของ IR ที่ว่าด้วยการแสวงหาผลประโยชน์และสถานะ ความขัดแย้งและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งคำถามนี้ก็เป็นคำถามคลาสสิกนั่นเอง

นักทฤษฎีควรมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง เราจะสามารถนำทฤษฎีไปสู่นโยบายที่ปฏิบัติจริงได้หรือไม่ อย่างไร

ในด้านหนึ่ง นักทฤษฎีก็ต้องปรับตัว ต้องลองนำเครื่องมือทฤษฎีไปทดสอบว่ามันยังมีพลังในการอธิบายและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ นี่ก็เป็นหน้าที่สำคัญของนักทฤษฎีในการสร้างทฤษฎีและคำอธิบายใหม่ขึ้นมา

ส่วนจะนำทฤษฎีลงไปปฏิบัติจริงแล้วได้ผลหรือไม่ ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของทฤษฎีด้วยว่าวางท่าทีต่อแนวคิดและการปฏิบัติอย่างไร รวมทั้งการมองประเด็นว่าทฤษฎีมีคุณูปการเชิงปฏิบัติหรือ relevance อย่างไรด้วย ถ้าเรามองแบบแคบ ทฤษฎีต้องมีประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย ก็จะเน้นประเด็นเชิงเทคนิค และการแก้ไขปัญหา (problem-solving)

แต่ถ้าเรามองกว้างขึ้น ทฤษฎีนั้นต้องตอบโจทย์ในระดับการเมืองด้วย คือไม่ใช่แค่มุ่งแก้ปัญหา แต่มุ่งวิพากษ์โครงสร้างระบบระหว่างประเทศ ดังเช่นนักทฤษฎีสำนักวิพากษ์ที่ต้องการวิพากษ์สังคมเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและปลดแอกสังคมให้มีความเท่าเทียมกันอีกด้วย

ดังนั้น เราเห็นบางทฤษฎีก็เน้น political relevance แต่บางทฤษฎีก็มุ่งเน้นเฉพาะ policy relevance

ทฤษฎีที่เกี่ยวกับนโยบายบางสำนักก็อาจสร้างกรอบการมองโลกที่มีปัญหาในตัวมันเอง เช่น ทฤษฎี China Threat Theory เพราะทฤษฎีนี้วางกรอบให้มีวิธีมองจีนเพียงแค่ว่าเป็นภัยคุกคามหรือไม่เป็นภัยคุกคามเท่านั้น ต้องเลือกสักทาง ไม่เปิดให้มองก้าวข้ามไปมากกว่าสองทางเลือกนี้

เพราะฉะนั้นเวลาจะใช้งานทฤษฎี ก็ต้องวิพากษ์การเลือกใช้ทฤษฎีของตัวเองด้วย

IR มักถูกมองว่าเป็นสาขาวิชาแบบหอคอยงาช้างไม่ค่อยสัมพันธ์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ (everyday life) ของคนธรรมดาเดินดินเสียเท่าไร อาจารย์คิดเห็นอย่างไรต่อทัศนะเช่นนี้ แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องมีหอคอยงาช้าง

หากจะตอบคำถามว่า IR เป็นวิชาแบบหอคอยงาช้าหรือไม่ ผมคิดว่าเราต้องคลี่โจทย์ก่อนว่า ทฤษฎี IR มีหน้าที่อะไร มีไว้เพื่ออะไร และมีไว้เพื่อใคร

อย่างแรก แน่นอนว่าทฤษฎีมีไว้เพื่อทำความเข้าใจ ‘ภาพใหญ่’ ของโลก แต่ในอีกแง่หนึ่ง ทฤษฎีก็ช่วยให้เราวิพากษ์สิ่งต่างๆ เปิดประเด็นต่อสิ่งรอบตัว ทำให้เรามองเห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน (seeing the unseen) ยกตัวอย่างเช่น นักทฤษฎี IR สายเฟมินิสต์เคยตั้งคำถามว่า ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในการเมืองและเศรษฐกิจโลก พอตั้งคำถามแบบนี้ มันก็ทำให้เราละสายตาจากรัฐและหันมามองชีวิตคนธรรมดาสามัญอย่างผู้หญิง

ทฤษฎีมีอีกหน้าที่หนึ่งในการเปิดพื้นที่ให้เราคิดเกี่ยวกับการเมืองโลกในแบบที่ ‘ควรจะเป็น’ ดังนั้น ทฤษฎีไม่ได้ใช้มองและอธิบายโลกตามสภาพจริงที่ ‘เป็นอยู่’ เท่านั้น อย่างนักวิชาการทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศ (International Political Theory) ก็ตั้งคำถามเชิงปทัสถาน (normative) ว่าความยุติธรรมในระดับโลกควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร การตั้งคำถามเช่นนี้ก็กำหนดปทัสถานในการเมืองระหว่างประเทศและเปลี่ยนโลกได้เช่นกัน อย่างทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรม (just war) ก็กำหนดปทัสถานใหม่ในการทำสงครามว่า เหตุในการทำสงคราม (just cause) และวิธีการทำสงครามต้องมีความชอบธรรมก่อน จึงจะเรียกได้ว่าสงครามที่มีความเป็นธรรม ทั้งก่อนเข้าสงคราม (jus ad bellum) ระหว่างสงคราม (jus in bello) และหลังสงคราม (jus post bellum)

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าสำนักคิดแบบหอคอยงาช้างยังสำคัญและจำเป็นอยู่มากทีเดียว โจทย์ใหญ่ของนักคิด IR คือ ต้องคิดภาพใหญ่ สร้างความรู้เชิงทฤษฎี โต้แย้งข้ามสำนักคิด และตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ นักคิด IR ชื่อดังจำนวนมากที่เป็นเจ้าของงานคลาสสิกก็คิดอยู่บนหอคองานช้างเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น E. H. Carr, Hans Morgenthau, Kenneth Waltz, Robert Keohane หรือ Alexander Wendt แต่ในเวลาเดียวกัน งานเขียนทฤษฎีที่มองภาพใหญ่ คิดจากข้างบนเช่นนี้ก็ต้องวิพากษ์การเมืองและนโยบายการต่างประเทศด้วย อย่างนักวิชาการสายสภาพจริงนิยมคนสำคัญอย่าง Hans Morgenthau ก็วิพากษ์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการทำสงครามเวียดนามอย่างตรงไปตรงมา หรือนักทฤษฎีสำนักเฟมินิสต์ก็คิดจากหอคอยงาช้าง แต่คิดลงมาสำรวจและเล่าเรื่องชีวิตของคนธรรมดาสามัญ ผมไม่อยากให้เราแบ่งการคิดแบบหอคอยงาช้างกับการทำงานภาคปฏิบัติออกเป็นขั้วตรงข้าม (dichotomy) แต่จริงๆ แล้วการคิดจากหอคอยงาช้างก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกในแบบฉบับของมันเองได้เหมือนกัน

จิตติภัทร พูนขำ

แล้วเราต้องทำให้ IR มีความธรรมดาสามัญ สัมพันธ์ และเข้าถึงชีวิตของผู้คนหรือไม่ อย่างไร

แน่นอนว่า IR ไม่ได้ศึกษาเพียงแค่รัฐ แต่ยังเปิดพื้นที่ให้กับการศึกษาความสัมพันธ์และผลกระทบของการเมืองต่อชีวิตประจำวันของคนด้วย แวดวง IR ระดับโลกก็เริ่มขยับมาตั้งโจทย์แบบนี้มากขึ้นและให้ความสำคัญมากขึ้น แต่ถ้าเปรียบเทียบกับในไทย คนที่ตั้งโจทย์แบบนี้ยังมีไม่มากนัก

มีงานหลายชิ้นศึกษาการเมืองโลกในระดับชีวิตประจำวัน (everyday life) โดยในระยะแรก งานได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเฟมินิสต์ นักคิด IR กลุ่มนี้ตั้งคำถามว่า ผู้หญิงอยู่ตรงไหนในการเมืองโลก จากนั้นจึงเริ่มขยายขอบเขตไปศึกษาผู้หญิงกับสงครามหรือผู้หญิงกับระบบเศรษฐกิจโลก งานประเภทนี้จึงศึกษาชีวิต ประสบการณ์และเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเมืองโลกในมุมของผู้หญิง งานบางชิ้นลงไปดูประสบการณ์ของหญิงค้าบริการในฐานทัพสหรัฐฯ ในต่างประเทศ ตั้งคำถามกับการข่มขืนในสงครามหรือความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ หรือศึกษาผู้หญิงที่ถูกกดขี่ขูดรีด ถูกบังคับให้ใช้แรงงานหนัก และถูกทำให้มองไม่เห็นว่าที่จริงแล้ว คนธรรมดาสามัญก็มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ในระยะหลัง ก็มีการตั้งคำถามและฉายสปอตไลท์ไปที่คนธรรมดาคนอื่นๆ ด้วย เช่น ภาคประชาสังคมระดับโลกที่เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการอย่าง Arab Spring หรือต่อต้านทุนนิยมโลกอย่าง Occupy Wall Street หรือล่าสุดขบวนการของคนผิวสีอย่าง Black Lives Matter รวมทั้งบทบาทของปัจเจกที่รณรงค์เรียกร้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

 

ที่จริงแล้ว คนธรรมดาทั่วๆ ไปก็สนใจการต่างประเทศ แต่มักจะทำความเข้าใจประเด็นระหว่างประเทศด้วยมุมมองแบบทฤษฎีสบคบคิดเสียเยอะ ตรงจุดนี้เป็นปัญหาหรือไม่ อย่างไร

ผมมองว่า ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) เป็นผลจากวาทกรรมที่บ่มเพาะให้คนทั่วไปรับรู้ว่าการต่างประเทศเป็นเรื่องไกลตัว เข้าใจยาก และไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แล้วพอมองว่าเรื่องระหว่างประเทศเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ก็ต้องหา ‘ทางลัด’ (shortcut) หรือ ‘คู่เปรียบเทียบ’ (analogy) ในการทำความเข้าใจและมองโลกด้วยคำอธิบายง่ายๆ ซึ่งบ่อยครั้งทฤษฎีสมคบคิดก็ผิดพลาดในเชิงข้อเท็จจริง ซึ่งในแง่หนึ่ง นี่ก็เป็นการสร้างทฤษฎีเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่มันก็มีปัญหาอยู่พอสมควร

งานวิจัยด้านจิตวิทยาก็บอกว่า เวลาคนเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยาก สลับซับซ้อน จนการประมวลผลของสมองเรารับไม่ไหว คนก็จะพยายามสร้างคำอธิบายให้สอดคล้องกับความรับรู้ดั้งเดิมหรือบทเรียนในอดีตบางอย่างของเราเอง ซึ่งบางคนเรียกว่าเป็น analogy

ที่จริงแล้ว การออกนโยบายต่างประเทศในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก ก็มีการใช้ทางลัดของ analogy เหมือนกันนะครับ อย่างตอนที่ John F. Kennedy ตัดสินใจว่าจะใช้นโยบายแบบไหนในการแก้วิกฤตการณ์คิวบาปี 1962 ก็มีการเทียบสถานการณ์ที่ซับซ้อนกับวิกฤตการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ที่ปรึกษาฝ่ายพลเรือนกลุ่มหนึ่งในรัฐบาลเทียบวิกฤตการณ์คิวบากับเหตุการณ์การโจมตี Pearl Habour ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าการโจมตีโดยไม่ได้ประกาศก่อนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่อยู่ในแบบแผนของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ การชิงลงมือโจมตีคิวบาก่อนจึงไม่ควรทำ แต่ที่ปรึกษาฝ่ายทหารอีกกลุ่มมองว่า หากไม่ทำอะไร ก็จะเป็นการอ่อนข้อให้สหภาพโซเวียตและคิวบา จนเหตุการณ์ไปซ้ำรอยกับข้อตกลง Munich ปี 1938 ที่ Neville Chamberlain นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรยอมอ่อนข้อประนีประนอม ไม่ใช้ไม้แข็งกับนาซีเยอรมนี จนท้ายที่สุดปล่อยให้ Hitler รุกรานยุโรปจนบานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 สุดท้าย Kennedy โน้มเอียงมาทาง Option ของฝ่ายพลเรือนมากกว่า

นอกจากโควิด-19 จะขุดคำถามเก่าๆ ที่จมอยู่ขึ้นมาแล้ว อยากทราบว่าโควิด-19 ‘สั่นสะเทือน’ (disrupt) IR ในมิติไหนอีกบ้าง

ผมไม่คิดว่าโควิด-19 เข้ามาสั่นสะเทือน IR โดยตรงอย่างสาขาอื่น แต่มันเปิดโอกาส เร่งเครื่องให้การศึกษาวิจัยบางด้านคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะโจทย์เรื่องความหวาดกลัว ระบบดุลอำนาจใหม่ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ ความลักลั่นของระบอบสุขภาพโลกที่ไปปะทะกับการเมืองเรื่องอำนาจ หรือแม้กระทั่งเรื่องการประกอบสร้างให้ประเด็นเรื่องสุขภาพกลายเป็นเรื่องของความมั่นคง

ผมมองว่านี่คือโอกาสของ IR ที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการเมืองโลกในหลายมิติ

มิติแรก โควิด-19 เปิดให้เราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบโลกได้ดีขึ้น และตั้งคำถามต่อระบบที่ดำรงอยู่ตอนนี้ว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของระเบียบโลกแบบเสรีนิยมที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ประเด็นถกเถียงว่าควรจะจัดสรรสินค้าสาธารณะระหว่างประเทศ (international public goods) อย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นสุขภาพ ปัญหาของระบบเศรษฐกิจโลกที่ไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งปัญหาจากระเบียบโลกที่เกิดจากการวางรัฐชาติให้เป็นหน่วยพื้นฐานของระบบระหว่างประเทศ

มิติที่สอง โควิด-19 ย้ำให้เราเห็นว่าวิธีการศึกษาหาความรู้ของ IR จะไม่สามารถใช้วิธีการศึกษาแบบเดียวเหมือนเดิมได้ ต้องมีการศึกษาโดยอาศัยศาสตร์อื่นเข้ามาช่วยมากขึ้น ในปัจจุบัน เราอาจจะต้องไปดูเรื่องอัตลักษณ์ว่าทำไมคนถึงปฏิเสธความเป็นอื่น เช่น ผู้อพยพ หรือคนผิวสี เป็นต้น  

เทคโนโลยีเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามา สั่นสะเทือน (disrupt) ทุกวงการ แล้วแรงสั่นสะเทือนนี้เปลี่ยนโฉม IR บ้างหรือไม่ อย่างไร

ต้องตั้งต้นแบบนี้ก่อนว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองโลกมาตลอดตั้งแต่อดีต อย่างนวัตกรรมการเดินเรือในช่วงศตวรรษที่ 15 ก็นำมาสู่การค้าโพ้นทะเล เชื่อมดินแดนต่างๆ ในโลกจนกลายเป็นการล่าอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้ชื่อว่าเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ของโลกก็เป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารและอาวุธอย่างเครื่องบินทิ้งระเบิด หรืออาวุธนิวเคลียร์ที่มีพลังทำลายล้างสูงก็ขับเคลื่อนพลวัตของสงครามเย็น ในปัจจุบัน เทคโนโลยีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็เปลี่ยนโฉมสงครามและความขัดแย้ง จากเดิมที่มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจเหนี่ยวไกปืน กลายเป็นว่าหุ่นยนต์หรือ AI กลับเป็นผู้ตัดสินใจแทนมนุษย์ว่าจะลงมือโจมตีหรือไม่ อย่างโดรนสังหารอัตโนมัติ มนุษย์ก็ไม่ได้อยู่ในกระบวนการตัดสินใจว่าจะยิงหรือไม่ยิง ตัวโดรนสามารถตัดสินใจได้เองเลยว่าหากใครข้ามพรมแดนเข้ามาก็ถือว่าเป็นศัตรู ยิงได้เลย โดยที่ไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นทหารหรือพลเรือน ผู้หญิง หรือเด็ก ซึ่งตรงข้ามกับมนุษย์ที่สามารถแยกแยะได้ หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ก็ยังคงถูกตั้งคำถามอยู่ว่าจะพัฒนาการตัดสินใจทางจริยศาสตร์ (ethical judgement) ได้เทียบเท่ากับมนุษย์หรือเปล่า

อีกตัวอย่างที่เทคโนโลยีเปลี่ยนรูปการเมืองโลกก็ปรากฏในการพัฒนาของอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงโลกไปสู่ยุคดิจิทัล ในทางหนึ่ง โลกดิจิทัลก็เร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกัน ความมั่นคงของรัฐก็ขยายไปอยู่ในโลกไซเบอร์ด้วย สงครามและความขัดแย้งรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้นบนโลกดิจิทัล หากระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของรัฐถูกโจมตี และในบางกรณี รัฐเองก็เข้าไปแทรกแซงหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในโลกไซเบอร์ด้วย

ผมตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีไม่ได้เป็นตัวแปรอิสระ (independent variable) ที่เป็นต้นเหตุเหนี่ยวนำให้เกิดผลตามมา คือมันไม่ได้เป็น x ที่นำไปสู่ y อย่างเดียว ผมคิดว่าเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในการเมืองโลกเป็นความสัมพันธ์สองทาง (two-way) คือเทคโนโลยีไม่ได้เปลี่ยนโลกอย่างเดียว แต่การเมืองโลกก็ส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเหมือนกัน บริบทแบบสงครามเย็นอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศก็เป็นหนึ่งในมิติของสนามแข่งขันอำนาจระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตคู่ไปกับการแข่งขันกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ จะเห็นว่าในช่วงเวลานั้น ทั้งสองมหาอำนาจต่างก็เร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศ คือแข่งกันสร้างยานอวกาศออกไปสำรวจนอกโลก ส่วนการแข่งขันชิงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปัจจุบันก็มีเรื่องการต่อสู้กันทางเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง 5G

โจทย์การเมืองโลกยุคดิจิทัลเรียกร้องให้ IR ต้องปรับตัวในหลายมิติ มิติแรก เราต้องจับตามองว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนทิศทางการเมืองโลกในอนาคตไปอย่างไร เทคโนโลยีจะสร้างความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ หรือจะมีเทคโนโลยีแบบไหนที่เสริมพลังให้กับประชาชน ขยายเสียงของพวกเขาให้ดังขึ้น เทคโนโลยีจะเร่งให้รัฐร่วมมือกัน หรือจะทำให้รัฐแข่งขันและขัดแย้งกันมากขึ้น มิติที่สอง เราต้องศึกษาประเด็นการเมืองโลกที่เกิดขึ้นใหม่บนโลกดิจิทัลอย่างเช่น การทูตทวิตเตอร์ (Twitter diplomacy) หลายครั้งที่ทรัมป์ทวิตก็สร้างความขัดแย้งในการเมืองระหว่างประเทศ หรือการประท้วงออนไลน์อย่างกรณีพันธมิตรชานม มิติที่สาม เราต้องจับตาดูโจทย์วิจัยว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนรูปแบบความขัดแย้งระหว่างประเทศไปอย่างไร และมิติสุดท้าย คือมิติด้านการผลักดันกฎกติการะหว่างประเทศที่จะเข้ามากำกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีกติกากำกับอย่างลงตัว เช่น AI โดรน หรือโลกไซเบอร์ รัฐและประชาคมระหว่างประเทศจะสามารถตกลงกฎกติกาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและพื้นที่บนโลกดิจิทัลได้หรือไม่ และในรูปแบบใด

จิตติภัทร พูนขำ

การเรียนการสอน IR

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ IR คือ คะแนนสอบเข้าสาขานี้ในแต่ละปีจะค่อนข้างสูงมาก ส่วนหนึ่งก็อาจมองได้ว่ามาจากเกณฑ์คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือก แต่ถ้าลองมุมอื่นๆ ด้วย อาจารย์คิดว่า การที่คะแนนสอบเข้า IR สูงแบบนี้มีสาเหตุอะไรอีกบ้าง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

เหมือนจะเป็นคำถามเล่นๆ แต่ก็จริงจังเหมือนกันนะครับ (หัวเราะ) ผมมี 3 ประเด็นหลักๆ แบบนี้ ข้อแรก น่าจะเป็นเพราะคุณค่าและค่านิยมของสังคมไทยที่มองว่า เรียนจบ IR แล้วจะไปทำงานเป็นนักการทูต กลายเป็นว่า IR ถูกผูกโยงกับความเป็นทูตและการเป็นนักการทูต ซึ่งเป็นอาชีพอันทรงเกียรติและเป็นที่ใฝ่ฝันของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง วันนี้ชุดความคิดเช่นนี้อาจจะเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว แต่ผมคิดว่า วาทกรรมตรงนี้ก็ยังคงอยู่ จริงๆ ความคิดแบบนี้สะท้อนถึงการก่อตัวขององค์ความรู้ IR ในไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ด้วยซ้ำ เพราะเริ่มแรก เป้าประสงค์ของการตั้งสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ก็เพื่อผลิตคนไปเป็นนักการทูต เป็นส่วนหนึ่งของรัฐราชการสมัยใหม่ของไทย

แต่พอเวลาเปลี่ยนไป สาขาวิชาก็เปลี่ยนตาม IR กลายมาเป็นศาสตร์ที่เป็นสาขาวิชามากขึ้น แต่เราก็มักจะติดปากอยู่ดีว่า IR คือการทูต บางทีก็ใช้แทนกันเลย ถ้าพูดให้ถึงที่สุด IR ที่ถูกผูกโยงกับคุณค่า ค่านิยมแบบไทยๆ ก็มีความเป็นวิชาชีพนะ คือเพื่อผลิตนักการทูต แม้ตอนนี้คงไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด แต่เราก็ยังเห็นชุดความคิดแบบนี้อยู่ในไทย หรือแม้แต่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อที่สอง ผมคิดว่า IR คือสาขาในฝันสาขาหนึ่งของคนที่ไม่ชอบวิทย์คณิต (หัวเราะ) IR อยู่ตรงกลางๆ คือไม่ได้เป็นวิทย์หรือคณิต แต่ก็ไม่ใช่ภาษาแบบเพียวๆ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปก็แปลกอยู่เหมือนกัน คือมีหลายคนบอกว่า IR ในเมืองไทยได้รับอิทธิพลจาก IR แบบอเมริกันเยอะมาก แต่ถ้ามองไปที่รัฐศาสตร์อเมริกันยุคหนึ่ง จะเห็นว่ามันเป็นยุคพฤติกรรมศาสตร์ (behaviouralism) คืออธิบายพฤติกรรมทางการเมืองหรือนโยบายต่างประเทศผ่านทางวิธีวิจัยแบบปริมาณ แต่ IR ไทยไม่ได้รับอิทธิพลแบบนี้มากเท่าใดนัก ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ผมคิดว่า IR ในไทยอาจจะไม่ได้รับความนิยมเลยก็ได้ (หัวเราะ)

ข้อสุดท้าย ผมคิดว่าความนิยมต่อสาขา IR หรือแม้แต่รัฐศาสตร์โดยรวม แปรผันตรงกับปรากฏการณ์ทางสังคมการเมือง ทั้งไทยและโลกในระดับหนึ่ง ถ้าช่วงไหนการเมืองคึกคัก คณะรัฐศาสตร์ก็จะมาเลย แต่ถ้าช่วงไหนคนเบื่อการเมือง รัฐศาสตร์ก็อาจจะแผ่วลง ผมคิดว่า IR ไปในทิศทางนั้นอยู่นะ แต่อาจจะไม่มาก ถ้าเทียบกับสาขาการปกครอง

มองมุมหนึ่ง IR เป็นสาขาที่ได้รับความนิยมมาก แต่ขณะเดียวกัน เราก็เห็นว่ามีหลายคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะเรียนสาขานี้แต่แรก แต่จับพลัดจับผลูเข้ามาเรียนแบบงงๆ หรือมาด้วยความเข้าใจผิดบางอย่าง ในฐานะคนสอน อาจารย์คิดว่าความไม่รู้ตรงนี้ก่อให้เกิดปัญหา หรือเป็นโอกาสอะไรบ้างไหม

การที่เข้ามาเรียนด้วยความไม่รู้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือ เมื่อคุณไม่รู้ว่าสาขาที่คุณสมัครเข้ามาคืออะไร เข้ามาก็อาจจะเจอปัญหาบ้าง ยิ่งถ้าเข้ามาด้วยความเข้าใจผิด เช่น IR เรียนภาษาหรือวัฒนธรรมต่างประเทศ ซึ่งเราเจอบ่อยพอสมควรตอนสอบสัมภาษณ์นักศึกษา แต่จริงๆ คุณต้องวิเคราะห์ มีทฤษฎี มีการมองโลกในหลายมุม ถ้าคนที่เข้าใจผิดมาเจอแบบนี้ก็อาจจะไม่ค่อยเวิร์กเท่าไร บางคนวิ่งหนีไปบ้างก็มี

แต่ผมคิดว่า ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปพอสมควร อาจจะเป็นเพราะโลกดิจิทัล นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลสาขาวิชาได้ง่ายขึ้น กลายเป็นว่าปัจจุบัน ผมพบว่าคนเลือกเรียน IR ทำการบ้านมาพอสมควร เพื่อจะสร้างความประทับใจให้อาจารย์ แต่เวลาสอบสัมภาษณ์ก็อาจจะเจอคำตอบแบบเป็นแพทเทิร์นบ้าง เช่น ตอบแต่เรื่องทะเลจีนใต้ (South China Sea) แต่ก็ทำให้เราพอมองเห็นว่า มีคนอยากเรียน IR อยู่ แม้จะมีความเข้าใจผิดหรือมุมมองผิดๆ บ้างก็ตามที

ส่วนที่บอกว่าเป็นข้อดีคือ ผมคิดว่าการที่เด็กเข้ามาด้วยความไม่รู้ หลายครั้งกลับทำให้นักศึกษาอยากเรียนรู้มากขึ้น เพราะเขาเข้ามาในมุมที่ไม่ได้เป็นน้ำเต็มแก้วแต่แรก แต่พร้อมจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และวันที่นักศึกษาจบออกไป พวกเขาก็อาจจะกลายเป็นคนละคนกับตอนที่เข้ามาเลยก็ได้ คือมีวิธีการมองโลกเปลี่ยนไปพอสมควร

บางครั้ง สังคมภายนอกหรือแม้แต่คนเรียนมักจะมองว่า IR เป็นสาขาที่มีความไม่ชัดเจนอยู่ อาจารย์พอมีคำอธิบายไหมว่าทำไม IR ถึงถูกมองเป็นภาพเบลอๆ แบบนี้

อย่างแรกคือ IR ไม่เป็นวิชาชีพ อย่างเรียนแพทยศาสตร์ จบไปก็เป็นแพทย์ แต่ IR ไม่แน่ใจว่าจบไปทำงานอะไรดี ซึ่งก็จะเป็นคำถามใหญ่ตามมาว่า สุดท้ายแล้วคนจบ IR ไปทำงานอะไร ซึ่งผมจะตอบกว้างๆ 2 แบบ แบบแรกคือ ไปทำงานด้านการทูต ทำงานที่องค์การระหว่างประเทศ หรือทำงานที่เกี่ยวกับประเด็นข้ามชาติ (transnational issues) ต่างๆ ส่วนแบบที่สองคือ คนจบ IR หรือแม้แต่คนจบรัฐศาสตร์ ทำงานได้หลายอย่างหลายแบบ หลายคนเลยบอกว่ารัฐศาสตร์เป็น ‘เป็ด’ ซึ่งสะท้อนว่าเราไม่ได้เป็นวิชาชีพที่ชัดเจน ตายตัว แต่ IR เป็นเหมือนโลกทัศน์ เป็นกรอบวิธีการคิด การมอง และการวิพากษ์โลกเสียมากกว่า

อย่างที่สองคือ IR ไม่มี theory of everything คือไม่มีทฤษฎีเดียวที่อธิบายทุกสิ่งในโลกได้ เราอาจบอกว่า IR เหมือนเป็น fifty shades of theory มากกว่า เพราะมีทฤษฎีเยอะมากในการอธิบาย ถามว่า IR อยากจะมี theory of everything มั้ย ผมว่า IR ก็มีความพยายามจะทำแบบนั้น แต่ทำไม่ได้ การมีทฤษฎีที่หลากหลายจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ IR ที่ทำให้เราเห็นโลกจากมุมต่างๆ มีการสนทนาโต้แย้งกันระหว่างทฤษฎีต่างๆ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปแบบเดียว นี่เลยทำให้คนอื่นมอง IR ว่าเป็นภาพเบลอๆ

และสุดท้าย IR ศึกษาทั้งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ข้ามรัฐ และยังดูความสัมพันธ์ระหว่างคนอีก คือเป็นทั้งภาพใหญ่และภาพย่อยในเวลาเดียวกัน การที่ IR มีขอบเขตการศึกษาอยู่ในระดับโลกยิ่งทำให้ภาพของ IR ดูเบลอขึ้นไปอีก แม้แต่เราถามคนที่เรียน IR มาว่า subject matter ของ IR คืออะไร คือรัฐใช่ไหม วันนี้คนที่เรียนมาก็อาจจะตอบไม่ได้ชัดเจนเต็มปากเต็มคำได้ขนาดนั้น

ในปัจจุบัน เริ่มมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เส้นแบ่งความเป็นคณะเริ่มเบลอลง ในกรณีของ IR  อาจารย์คิดว่าจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเริ่มมีการเรียนข้ามสาขาวิชามากขึ้น โดยไม่ใช่แค่เรียนเป็นวิชาเอกหรือวิชาโท เช่น เรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปพร้อมกับเทคโนโลยี หรือสาขาอื่นๆ ที่ผู้เรียนสนใจ

ผมคิดว่า เส้นแบ่งของสาขาวิชาในภาพรวมดูจางลงพอสมควร แต่ก็ต้องบอกก่อนว่า ในระดับโลกที่มีการจัดการเรียนการสอนเป็นสาขาวิชาต่างๆ มันเหมือนเรียกร้องให้เราต้องมีความรู้พื้นฐานในสาขานั้นก่อน เช่น ถ้าคุณเรียน IR ก็มีเพดานบินว่า คุณจะต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง อาจจะต้องรู้ทฤษฎี ประวัติศาสตร์ หรือพัฒนาการของระบบระเบียบโลก เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อมีการจัดระเบียบความรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องรู้ อะไรคือสิ่งที่จำเป็นต่อสถานะขององค์ความรู้ ก็จะมีคนที่คอยกำกับสาขาวิชานั้นๆ หรือที่เราเรียกกันว่า gatekeeper อยู่ไม่มากก็น้อย

แต่อีกมุมหนึ่ง ตอนนี้พื้นที่ของสาขาวิชาต่างๆ ขยายออกไปเยอะ เลยเกิดการบูรณาการข้ามศาสตร์ (transdisciplinary) หรือแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary) ขึ้น จึงเกิดเป็นพื้นที่การทำวิจัยแบบข้ามสาขาวิชา เช่น คนเรียน IR ก็อาจจะไปศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือระบบสาธารณสุขและการแพทย์ร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โจทย์ของสาขาวิชาต่างๆ ในอนาคตคือการพยายามรักษาสมดุลระหว่างความเป็นสาขาวิชา (discipline) กับความเป็นสหวิทยาการ หรือการบูรณาการข้ามศาสตร์

ถ้าพื้นที่ของสาขาวิชาต่างๆ ขยายออกไปเยอะแล้ว ระบบการเรียนการสอนในไทยเอื้อให้เราเรียนข้ามศาสตร์ หรือเรียนเป็นแบบสหวิทยาการไหม

ถ้าเป็นในมุมคนสอน ผมคิดว่ายังจำเป็นที่เราจะต้องมีแก่น (core) บางอย่างร่วมกัน อาจจะไม่ต้องมาก แต่ต้องมี เช่น ต้องรู้ดีเบทหรือทฤษฎี IR แต่อีกด้านหนึ่ง สาขาวิชาก็ต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ใช่ไปบอกว่าเราต้องศึกษา IR แบบเดียวตายตัวเท่านั้น

ส่วนเรื่องระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยไทย ผมว่ามันยังไม่ค่อยเอื้อให้เราเรียนข้ามศาสตร์สักเท่าไร เพราะปัญหาในเชิงโครงสร้างองค์กรและการจัดการ พูดง่ายๆ คือ เรายังอยู่กันเป็นคณะและสาขาวิชาอยู่ การกำหนดหน่วยกิตการเรียนข้ามศาสตร์ หรือการจะรับนักศึกษาหรือรับอาจารย์ก็ยังรับตามภาควิชาหรือตามคณะ การขอตำแหน่งทางวิชาการก็ยังอิงกับแท่งคณะและสาขาวิชาอยู่ดี เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เรายังอยู่กับโครงสร้างแข็งๆ แบบนี้ ก็จะยืดหยุ่นได้ยากพอสมควร

จิตติภัทร พูนขำ

แต่เราก็เห็นหลายๆ มหาวิทยาลัยมีความพยายามปรับตัวอยู่ เช่น บางมหาวิทยาลัยเปิดให้เรียนในกลุ่มคณะเดียวกันได้ หรือบางที่ก็เปิดให้เรียนโดยที่ยังไม่ต้องเลือกคณะในช่วงปีแรกๆ

ใช่ครับ มหาวิทยาลัยก็พยายามดิ้นกันอยู่ แต่ก็อยู่ภายใต้บริบทของโครงสร้างที่พูดไป ก็จะดิ้นได้ไม่มาก อาจจะออกมาในรูปแบบของตลาดวิชา หรือ frontier school ใช้เก็บหน่วยกิตเอา แต่ก็มีปัญหาตามมาอีกว่า คนที่จบมาจะมีงานทำไหม หรือจะไปเรียนต่อได้หรือเปล่า ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราพยายามปรับกันต่อไป

ส่วนตัวผมคิดว่า การออกแบบหลักสูตรให้เรียนร่วมกันเป็นเรื่องที่ดี เช่น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีวิชาโทผังเมืองรัฐศาสตร์เกิดขึ้น หรือหลักสูตรสองปริญญากับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ หรือธรรมศาสตร์เปิดให้มีความเป็นตลาดวิชามากขึ้น ซึ่งแต่เดิม เราจะเห็น IR จับคู่กับสายสังคมศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ศาสตร์อยู่แล้ว แต่เรายังไม่ค่อยเห็นการจับคู่ของ IR กับคณะทางวิทยาศาสตร์มากเท่าไร ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นโจทย์ใหม่ที่น่าสนใจและท้าทายดี

ถ้าขยับไปในระดับโลก อาจารย์เห็นงานวิจัยหรือการศึกษาอะไรที่จับคู่ IR กับวิทยาศาสตร์บ้างไหม

จริงๆ ผมเห็นงานวิจัยใหม่ๆ ของ IR เริ่มบูรณาการระหว่าง IR กับวิทยาศาสตร์เยอะขึ้น เช่น งานของนักทฤษฎี IR แนวสรรสร้างนิยม (Constructivism) อย่าง Alexander Wendt หรือ Karin Fierke ก็พยายามจะโยงวิธีคิดของควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum Physics) มาใช้ในการศึกษา IR มากขึ้น ซึ่ง Wendt เริ่มจากการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า แต่เดิม IR ถูกจำกัดด้วยฟิสิกส์ตามแบบฉบับดั้งเดิม (Classical Physics) ซะเยอะ ซึ่งฟิสิกส์แบบนี้จะเป็นแบบที่มองว่าการศึกษาวิจัยต้องเป็นกลาง มีการแยกกันระหว่างผู้ศึกษากับสิ่งที่ถูกศึกษา มองตัวแสดงเป็นอะตอมแยกย่อย ไม่เชื่อมโยงกัน

แต่ควอนตัมฟิสิกส์ได้เปลี่ยนวิธีการศึกษาไปสักพักแล้ว คือเปิดโลกอีกแบบให้เราเห็น เป็นโลกที่วางอยู่บนพื้นฐานที่ทุกคนมีความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นพื้นฐาน ก่อนจะมีปัจเจกบุคคล (individual) เสียด้วยซ้ำ พูดง่ายๆ คือ relational ontology เป็นตัวกำกับหรือสร้างปัจเจกบุคคลขึ้นมา ภายใต้การพัวพันกันของโลก (global entanglement) ซึ่งจะแปรเปลี่ยนวิธีการคิดหรือการรับรู้ของเราไป เพราะฉะนั้น ความรู้แบบนี้จะตั้งคำถามกับวิธีการหาความรู้ของ IR ที่มองโลกแบบที่มีการพัวพันกันระหว่างคนต่างๆ ที่มีพื้นฐานอยู่บนการมีปฏิสัมพันธ์ (relationality) กัน ไม่ใช่ยึดที่ตัวปัจเจกบุคคล

อีกเรื่องที่ผมเห็นคือ การที่คนเรียน IR เริ่มหันไปดูเรื่องประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) มีงานศึกษาวิจัยที่ดูเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ในการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งบอกว่า ในสมองของเราที่ประกอบด้วยเซลล์ประสาท (neuron) จะเอื้ออำนวยให้เกิดความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะในการทูตแบบตัวต่อตัว (face-to-face diplomacy) มีคนที่ศึกษาด้านนี้บอกว่า การที่เราจะไว้ใจใครสักคน จะต้องคุยกันต่อหน้า เพื่อให้เห็นสีหน้า กิริยาท่าทางของอีกฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันขึ้น ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาการทูตของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่าง Ronald Reagan กับ Mikhail Gorbachev ในช่วงปลายสงครามเย็น

ตรงนี้ผมมองว่า เป็นโจทย์สำคัญที่อาจจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ (landscape) การศึกษา IR ไปเลย แต่จะสำเร็จไม่สำเร็จก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เราคุยกันไปแล้วเรื่องของความเป็นคณะและศาสตร์ต่างๆ จึงอยากชวนอาจารย์มองต่อไปจากคณะ คือมองไปถึงระดับมหาวิทยาลัย หลายคนบอกว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยเริ่มตายแล้ว อาจารย์เห็นด้วยกับประโยคนี้ไหม อย่างไร

ถ้าบอกว่ามหาวิทยาลัยตายแล้ว ผมมองว่ามหาวิทยาลัยตายแล้วใน 2 มิติ มิติแรก คือมหาวิทยาลัยกลายเป็นตลาดภายในระบบแบบทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ มหาวิทยาลัยถูก neoliberised จนปรัชญาของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นการผลิตคนเข้าสู่ระบบการผลิต ผลิตเครื่องจักรเพื่อไปผลิตซ้ำในระบบทุนนิยม อันนั้นคือผลกระทบด้านหนึ่ง อีกด้านคือ เราผลิตคนตามความต้องการของตลาด มากกว่าผลิตคนตามความต้องการของคนที่ต้องการศึกษาองค์ความรู้ คณะแนวปรัชญาเลยต้องทยอยปิดตัวลง เพราะตลาดไม่ต้องการสาขาแบบนี้ แต่ถามว่าสาขาวิชาอย่างปรัชญาจำเป็นไหม ยังจำเป็นนะครับในการทำความเข้าใจโลก แต่พอมาอยู่ภายใต้ตรรกะแบบทุนที่ให้ลดรายจ่ายทุกอย่าง คณะพวกนี้ก็ได้รับผลกระทบไปโดยปริยาย

อีกอย่างคือ มหาวิทยาลัยไม่ค่อยให้ทุนการศึกษาคนไปเรียนต่อปริญญาโท-เอก ซึ่งนั่นคือเสน่ห์ของมหาวิทยาลัยในอดีต แต่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยตายในมิติที่ว่า เราไม่ส่งคนไปเรียน เราไม่สร้างนักวิชาการหรือนักวิจัย เพราะระบบมหาวิทยาลัยในระบบทุนนิยมต้องการผลผลิตสำเร็จรูป คำถามคือ เมื่อเราต้องการผลผลิตสำเร็จรูปแบบนี้ ใครจะไปเรียนในบางสาขาวิชา ก็ยิ่งทำให้สาขาวิชานั้นๆ ตายเร็วขึ้นไปอีก

มิติที่สองคือ มหาวิทยาลัยดูจะแยกขาดจากชุมชนทางการเมืองหรือความเป็นการเมืองมากขึ้น คือในโลกปัจจุบันที่เป็นทุนนิยม เราอาจจะติดกับดักของมายาคติที่ว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นกลาง แต่หลายครั้งมหาวิทยาลัยอาจไม่มีความจำเป็นต้องเป็นกลางในบางเรื่อง เช่น ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติหรือเพศสภาพ  มหาวิทยาลัยต้องมีท่าทีทางสังคมและการเมืองที่ชัดเจน ให้คนตัดสินใจเลือกอย่างเสรี รวมทั้งฝึกคนให้รับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อสังคมการเมืองด้วย

แล้วอาจารย์มองแนวโน้มของมหาวิทยาลัยในอนาคตอย่างไรบ้าง

อย่างที่ผมบอกไปบ้างแล้ว มหาวิทยาลัย 4.0 น่าจะมุ่งผลิตเด็กเพื่อตอบโจทย์ของตลาดระบบทุนเยอะขึ้น แต่มันก็มีปัญหาเหมือนกันนะว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการสร้างทักษะแบบนี้ ก็เป็นเหมือนการสร้างความรู้แบบ techne (ความรู้เชิงเทคนิค) มากกว่าจะสร้างการแสวงหาความรู้แบบ episteme (ความรู้เชิงทฤษฎี) ไม่ต้องพูดถึงแบบ praxis (ความรู้เชิงปฏิบัติจริง ที่อิงอยู่กับการเมืองที่มีความเป็น ethical human being ด้วย)

อีกข้อหนึ่งคือ เราเห็นมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มจะย้ายไปอยู่บนพื้นที่ออนไลน์เยอะขึ้น เป็นเหมือนการเรียนแบบตามความต้องการ คุณอยากเรียนก็มาเรียนได้ มีคอร์สให้ 24 ชั่วโมงเหมือนเข้าเซเว่น ตรงนี้ก็มีข้อดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า องค์ความรู้จะได้มาจากการถกเถียงแบบ face-to-face หรือการแลกเปลี่ยนถกเถียงโต้แย้งในห้องเรียน สำหรับผม การเรียนออนไลน์เป็นส่วนประกอบได้ แต่ถ้าเป็นส่วนหลัก อาจจะส่งผลกระทบต่อปรัชญาการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้พอสมควร

จิตติภัทร พูนขำ

ดูเหมือนว่ามหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควร อาจารย์คิดว่ามีโอกาสไหมที่มหาวิทยาลัยจะกลับไปเป็นตลาดวิชาแบบเดิม แล้วถ้าจะเป็นเช่นนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวยังไงบ้าง

ผมคิดว่ามีโอกาสนะครับ เพราะเราเริ่มมีแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) มีบางที่จัดการเรียนรู้แบบไม่เอาปริญญา หรือเป็นคอร์สฝึกอบรม แบบนี้ก็มี ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่

ส่วนเรื่องที่ว่ามหาวิทยาลัยจะปรับตัวยังไง ผมอยากจะลองเสนอประเด็นแบบนี้ ข้อแรก คือ เราต้องปรับตัวโดยคำนึงถึงโมเดลแบบศิลปศาสตร์ (Liberal arts) ในอดีต คือมหาวิทยาลัยไม่แค่ผลิตนักเทคนิคที่คิดแต่ความรู้แบบ techne แต่ต้องสร้างความรู้แบบ episteme และ praxis เพื่อสร้างพลเมืองของรัฐ หรือที่ดีกว่านั้นคือสร้างพลเมืองของโลก ที่เคารพคุณค่าวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของคนอื่น มองคนอื่นเป็นคนเท่ากันหรือเป็นเพื่อนร่วมโลก มีความรับผิดชอบทางสังคม ผมว่าศิลปศาสตร์ตายไปบ้างในช่วงเสรีนิยมใหม่ แต่นี่เป็นโมเดลที่เราจำเป็นต้องใช้สร้างคนและพลเมือง

ข้อสอง ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรักษาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยบนหอคอยงาช้างไว้บ้าง (หัวเราะ) คำว่าหอคอยงาช้างของผมคือ มหาวิทยาลัยต้อง think big คิดอะไรใหญ่ๆ คิดวิพากษ์และคิดต่างในสังคม ถกเถียงในทางทฤษฎีเพื่อผลิตงานที่เป็น grand theory ซึ่งจะนำมาสู่การตอบโจทย์ทั้งในวงวิชาการและสังคม

และ ข้อสุดท้าย มหาวิทยาลัยต้องสร้างความสมดุล ระหว่างการสร้างความรู้แบบ techne แบบ episteme และแบบ praxis ในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจจะเชื่อมไปสู่ประเด็นที่เราคุยกันก่อนหน้า คือสร้างคนและลงทุนในคนให้มากขึ้น ให้ทุนการศึกษา และดึงดูดคนที่มีศักยภาพให้เป็นอาจารย์หรือเป็นนักวิชาการมากขึ้น โดยเฉพาะการออกแบบกฎเกณฑ์ที่เป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่ เช่น เกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการ

ถ้ามองรวมๆ โควิด-19 ทำให้เราตั้งคำถามหลายอย่างนะครับ ผมว่าโรคระบาดมา disrupt เพื่อสร้างมหาวิทยาลัยที่เติมความเป็นคนและความเป็นสังคมเยอะขึ้น ในโลกยุคดิจิทัลที่ทำให้คนแปลกแยกและเป็นอะตอมมากขึ้น ตรงนี้ก็กลับไปสู่โจทย์ของควอนตัมฟิสิกส์ที่เราพูดกัน คือ การมองโลกแบบควอนตัมฟิสิกส์อาจจะช่วยแปรเปลี่ยนการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในยุคดิจิทัลที่ทำให้คนแปลกแยกและแตกสลายเป็นอะตอม และหันมาคิดใหม่ว่า จริงๆ แล้ว โลกทางสังคมวางอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์และความพัวพันระหว่างกันและกัน (entanglement) มากกว่า

ในยุคที่ทุกอย่างถูก disrupt ทั้งจากโรคระบาดหรือจากเทคโนโลยีดิจิทัล เราบอกว่ามหาวิทยาลัยและคณะอาจต้องปรับตัว แล้วถ้าเป็นเด็กที่เรียน IR หรือกำลังจะเข้ามาเรียน IR อาจารย์คิดว่าพวกเขาควรจะมีคุณสมบัติหรือทักษะอะไรติดตัวบ้าง เพื่อจะอยู่รอดได้ในยุคนี้

ทักษะแรกคงต้องเป็นทักษะในเรื่องการอ่าน เพราะการอ่านจะทำให้เราเห็นโลกและประเด็นต่างๆ มากขึ้น พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ คนเรียน IR ต้องช่างอ่าน เริ่มต้นจากการอ่านจับใจความหลัก ดูว่าคนเขียนมีสไตล์ยังไง ซึ่งงาน IR โดยมากมักจะมีโครงสร้าง (structure) ค่อนข้างชัดอยู่แล้ว ทำให้เรารู้ว่าผู้เขียนต้องการสื่อหรือเสนออะไร ตรงนี้อาจจะเริ่มจากการอ่านตำราหลักๆ ในการศึกษา IR ก่อน แล้วค่อยขยายไปในเรื่องที่เราสนใจมากขึ้น

ต่อมา ผมคิดว่าเด็ก IR ควรจะมีความช่างสงสัย มีการตั้งคำถาม คิดวิพากษ์ มี critical mind เพราะเราต้องไม่ลืมว่า งานวิจัยที่ดีเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม มาจากปัญหาในใจที่เราอยากหาคำตอบ เพื่อที่จะนำไปสู่วิธีคิดและค้นคว้าอะไรใหม่ๆ ได้

ทักษะที่สาม เด็ก IR ควรช่างเขียน ช่างเรียบเรียง พูดง่ายๆ คือเขียนเป็น เขียนมีประเด็นใจความหลัก มี argument เรียบเรียงเป็นระบบ และมีอ้างอิง ประเด็นนี้ยากนะครับ แต่เราก็ต้องฝึกเขียนไป ทุกวันนี้ผมก็ยังฝึกฝนในการเขียนให้อ่านรู้เรื่องอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)

นอกจากนี้ ผมคิดว่าเด็ก IR ควรมองให้เห็นโลกในหลายๆ แบบ การเห็นโลกหลายแบบจะทำให้เรามองเห็นอะไรชัดขึ้น และเข้าใจโลกของคนอื่นชัดขึ้น รวมถึงเห็นความแตกต่างหลากหลายที่อาจตามมาด้วยการเคารพและเข้าใจความแตกต่างกัน และสุดท้าย ผมคิดว่าเป็นการมองโลกแบบ relational ontology ที่ทำให้เรามีการจัดความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนร่วมสังคมของเราได้ด้วย คือสนทนากับคนอื่นเป็น เห็นต่างจากคนอื่นได้ เป็น dissensus มากกว่าจะแสวงหา consensus

อีกอย่างที่ผมอาจจะแถมเป็นตัวเลือกเสริมสำหรับเด็ก IR คือนักทฤษฎีบางคน เช่น Hans Morgenthau จะบอกว่า ทักษะหนึ่งที่เด็ก IR พึงมีคือ การพูดความจริงต่ออำนาจ (speaking truth to power) นี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของ IR ด้วย

เราคุยกันไปแล้วว่า รัฐศาสตร์มักถูกเปรียบว่าเป็นเป็ดแต่เด็กรัฐศาสตร์จะเรียกตัวเองว่าสิงห์แล้วอาจารย์คิดว่า IR เปรียบเหมือนสัตว์ชนิดไหน

ผมคิดว่า เราเป็นเหมือนรูปภาพที่นักปรัชญาภาษา Ludwig Wittgenstein ใช้ในงานปรัชญาของเขา นั่นคือ รูปหนึ่งที่สามารถมองเป็นทั้งกระต่ายและเป็ดได้ในเวลาเดียวกัน มองจากฝั่งหนึ่งเราอาจจะเห็นเป็ด แต่มองจากอีกฝั่ง เราก็อาจจะเห็นกระต่าย ผมว่านั่นแหละคือตัวแบบ (ideal type) ของ IR คือมองได้หลายมุม มีหลายทฤษฎี เราอาจจะเป็นสิงห์หรือเป็นอะไรก็ได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ ผมมองว่า IR ไม่ได้แค่ส่องสะท้อนโลก แต่ยังสร้างโลกผ่านภาษาที่เราใช้เองด้วย ทำให้เราเห็นว่า ยังมีโลกอีกหลายแบบที่เป็นไปได้ ผมว่าอันนี้แหละ ที่เป็นความหลากหลาย (multiplicity) ของ IR

อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวง IR มาเป็นเวลาหลายปี สำหรับอาจารย์ อะไรคือเสน่ห์ของ IR 

อย่างที่บอกว่า IR ไม่มี theory of everything และนั่นทำให้ IR มีการมองโลกที่หลากหลาย สนุกสนานชวนคิด แต่นั่นก็อาจจะทำให้บางคนที่เข้ามาเรียนไม่สนุก เพราะมันไม่มีแบบสำเร็จตายตัวแบบเดียว แต่หลายคนก็อาจจะสนุกกับมัน เพราะ IR ทำให้เราเห็นมุมต่างๆ ของโลกได้เยอะขึ้น เราต้องไม่ลืมว่า โลกทางสังคมหรือโลกของ IR มีความสลับซับซ้อนสูง มุมมองของเราเลยไม่ได้มีแค่ x นำไปสู่ y แต่เราอาจจะมี a-b-c-d ที่นำไปสู่ y ได้เหมือนกัน และการที่เรามองโลกจากมุมที่ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกันทุกอย่าง ก็ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของคนที่จะอยู่ร่วมกันในโลกประชาธิปไตย คือพร้อมที่จะมี dissensus

อีกอย่างหนึ่ง ผมรู้สึกว่า IR มีพลวัตของมันอยู่เรื่อยๆ คือคนที่ชอบข่าวต่างประเทศจะรู้ว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เสน่ห์ของ IR จึงอาจจะเป็นความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ IR ไม่ได้บอกว่า คุณต้องท่องจำเก่ง หรือรู้เยอะรู้มาก ไม่ใช่เลย โจทย์ของ IR คือ เราจะทำอย่างไรถึงจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนจากมุมมองบางอย่างได้น่าสนใจ หลายครั้ง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว เราอาจจะเห็นความต่อเนื่องหรือแบบแผนบางอย่างของการเมืองโลกก็ได้

ถ้าพูดให้ง่ายกว่านั้นคือ เราไม่ได้จำเป็นต้องรู้ทุกภูมิภาคของโลก เพราะมันเยอะมากและแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ประเด็นคือ เรามีเลนส์ที่จะทำให้เห็นว่า ถ้าเจอประเด็นแบบนี้เราจะตั้งโจทย์ยังไง เรามีคำอธิบายแบบไหนที่น่าสนใจในการมองโลก ผมว่านี่อาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ IR นะ คือการสร้างคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจโลกจากมุมบางอย่างที่เราเห็นว่ามันสมเหตุสมผลสำหรับเราจากกองข้อมูลมโหฬาร แต่แน่นอน ข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ ยิ่งข้อมูลเยอะเท่าไรก็ยิ่งหนักสำหรับชีวิต เพราะฉะนั้น เราอย่าจมลงไปกับข้อมูลมหึมา แต่ต้องลอยขึ้นมาอยู่ตรงผิวของข้อมูล เพื่อที่เราจะได้เห็นคำอธิบายใหญ่ๆ พวกนี้ได้คมชัด

จิตติภัทร พูนขำ

What’s in your bag?

สำหรับนักรัฐศาสตร์ด้าน IR อะไรคือสิ่งที่เราควรมี ซีรีส์หรือภาพยนตร์เรื่องใดที่เราควรดู หนังสือเล่มใดที่เราควรอ่าน สุนทรพจน์ใดที่เราควรฟัง – ต่อไปนี้คือคำแนะนำจาก จิตติภัทร พูนขำ

จิตติภัทร พูนขำ

เปิดกระเป๋านักรัฐศาสตร์ด้าน IR อะไรที่ควรศึกษา พกติดตัว ดู อ่าน ฟัง ฯลฯ

ของชิ้นที่ 1 “แผนที่โลก

“แผนที่โลกเป็นอะไรที่คลาสสิกมากเวลาเรานึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นเหมือนเครื่องนำทางในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย แต่เราเคยตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่า ทำไมแผนที่ทั่วๆ ไปถึงมียุโรปอยู่ตรงกลางเสมอ ทำไมเราไม่ค่อยเห็นแผนที่ที่มีอาร์กติกอยู่เป็นแกนของโลกเป็นที่นิยมแพร่หลาย หรือทำไมเราไม่ค่อยเห็นแผนที่โลกที่มีเอเชียเป็นศูนย์กลางบ้าง

การที่แผนที่โลกแบบปกติมียุโรปหรือสหรัฐอเมริกาอยู่ตรงกลางจะ shape วิธีคิด จำกัดให้เรามองการเมืองโลกโดยวางตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (Western-centric) และคิดบนพื้นฐานของระบบเวสต์ฟาเลีย (Westphalian system) ที่รัฐชาติเป็นใหญ่เพียงอย่างเดียว ลองดูแผนที่แบบ Mercator projection ซึ่งเขียนขึ้นใน ค.ศ. 1569 สำหรับการเดินเรือด้วยเส้นทางตรง โดยจัดวางยุโรปอยู่ตรงกึ่งกลางของโลก การสร้างภาพเช่นนี้จะช่วยสนับสนุน หรือแม้กระทั่งสร้างความชอบธรรมให้ลัทธิจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคมโดยมหาอำนาจยุโรป ในทางตรงกันข้าม แผนที่อีกแบบคือ Peters projection ซึ่งได้รับการพัฒนาในทศวรรษที่ 1970 จัดวางให้พื้นที่ของซีกโลกเหนือและใต้มีขนาดเท่าๆ กัน สะท้อนว่าประเทศในซีกโลกใต้ได้รับความสำคัญมากขึ้น

ดังนั้น แผนที่จึงไม่เคยเป็นกลาง หรือไม่ใช่แค่ภาพจำลองของวัตถุต่างๆ ในโลกอย่างเป็นวัตถุวิสัย (objective) แต่การเขียนแผนที่เป็นเรื่องอำนาจ/ความรู้ ที่จัดวางความรับรู้ของเราที่มีต่อโลก และกำหนดสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเมืองโลกด้วย”

ของชิ้นที่ 2 “ซีรีส์เกาหลี Mr. Sunshine”

“ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Mr. Sunshine ทำให้เราเห็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายประเด็น ผ่านทางมุมมองของเกาหลี

ประเด็นแรกคือ เรื่องอาณานิคมและจักรวรรดินิยม (imperialism) ซีรีส์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรโชซอนตกอยู่ในภาวะระส่ำระส่ายจากการแทรกแซงของมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ปมความขัดแย้ง (paradox) ของตัวละครมีความน่าสนใจตรงที่ว่า ภูมิหลังของตัวละครต่างเป็นผลพวงจากบริบทแบบอาณานิคม เช่น พระเอกเป็นนายทหารนาวิกโยธินของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นลูกทาสชาวเกาหลีก่อนที่จะหลบหนีไปสหรัฐฯ กลับมายังโชซอนหลังจบสงครามสเปน-อเมริกันในปี 1898 และมาพบรักกับนางเอกที่เป็นชนชั้นสูง และเป็นสมาชิกของขบวนการปลดแอกอาณานิคม เรื่องราวในเรื่องไม่มีเส้นแบ่งระหว่างความเป็นชาติและความเป็นประเทศ ทุกอย่างกลืนกันไปหมด

ซีรีส์เรื่องนี้ฉายภาพให้เราเห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกในยุคนั้นผ่านมุมมองที่ไม่ใช่มุมมองแบบตะวันตก เราเห็นภาพสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในเวทีโลกช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หลังชนะสงครามสเปน-อเมริกัน และเข้ามามีบทบาทในสงครามแบ่งแยกเกาหลี

นอกจากนี้ เรายังเห็นแนวคิดจักรวรรดินิยม ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐที่มีอำนาจมากกว่า และรัฐที่มีอำนาจน้อยกว่า นำไปสู่การตั้งคำถามต่อสภาวะอนาธิปไตย (anarchy) ว่า ระบบระหว่างประเทศไร้อำนาจกลางจริงหรือ และรัฐอธิปไตยแต่ละรัฐมีอำนาจเท่าเทียมกันจริงหรือไม่ หรือว่าจริงๆ แล้ว ระบบระหว่างประเทศมีลักษณะการแบ่งอำนาจที่เป็นไปอย่างลดหลั่นกัน (hierarchy of power) และไม่มีความเท่าเทียมในการเมืองระหว่างประเทศอยู่จริง”

ของชิ้นที่ 3 “ภาพยนตร์แอนิเมชัน Frozen”

“ดูเผินๆ Frozen อาจเป็นเพียงภาพยนตร์แอนิเมชันแฟนตาซี แต่มองดูดีๆ เราจะเห็นอุดมการณ์เศรษฐกิจเสรีนิยมแฝงอยู่ ตัวภาพยนตร์สร้างให้เมืองที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอกถูกแช่แข็ง มืดมน ไร้สีสัน การค้าขายก็เป็นไปอย่างย่ำแย่ แต่เมื่อเปิดเมือง น้ำแข็งก็ละลาย เมืองก็กลับมามีสีสันและมีชีวิตชีวา การค้าขายก็กลับมารุ่งเรือง ตรงนี้ภาพยนตร์เหมือนจะสื่อกับเราว่า การค้าเสรีเป็นสิ่งที่ดีงาม”

ของชิ้นที่ 4 “หนังสือ The Twenty Years’ Crisis, 1919-1939: An Introduction to the Study of International Relations โดย E.H. Carr”

“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือคลาสสิกเล่มโปรดของผม อ่านอยู่เรื่อยๆ แทบจะทุกเทอม

เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การแสดงให้เห็น dialectic ระหว่างอุดมคติและสภาพจริง อำนาจและศีลธรรม สงครามและสันติภาพ ระเบียบและการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการบีบบังคับและการประนีประนอมในการตอบโจทย์เรื่องการสร้างระเบียบโลก

ในหนังสือ E.H. Carr ตั้งโจทย์ง่ายๆ เพื่อชวนให้เราคิด เช่น “อุดมคติอย่างเดียวเพียงพอต่อการสร้างระเบียบโลกหรือไม่?” หรือ “รัฐชาติจะยังเป็นผู้เล่นหลักในการเมืองโลกต่อไปหรือไม่?” แม้จะเป็นคำถามง่ายๆ แต่ทุกวันนี้ คำถามเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถถูกไขให้กระจ่างได้”

ของชิ้นที่ 5 “สุนทรพจน์ ภาษาเปลี่ยนโลก ของ Mikhail Gorbachev”

“สุนทรพจน์ของ Mikhail Gorbachev เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1988 ณ สหประชาชาติ เป็นตัวอย่างการพลิกโฉมหน้าการเมืองโลกและยุติสงครามเย็น โดยเปลี่ยนภาษาและเกมการเมืองโลกใหม่ สุนทรพจน์ของ Gorbachev เป็นภาษาแห่งความร่วมมือ มองโลกที่มีความเชื่อมโยงบูรณาการและพึ่งพาซึ่งกันและกัน เป็นภาษาของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และแสวงหาฉันทามติของมนุษย์เพื่อที่จะบรรลุ ‘ระเบียบโลกใหม่’ ที่เคารพผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ และ ‘เสรีภาพที่จะเลือก’ ของรัฐต่างๆ ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเอง

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นฝ่ายยินยอมที่จะลดกองทัพประจำการและอาวุธยุทโธปกรณ์ของตน เพื่อสถาปนาสันติภาพของโลก”

ของชิ้นที่ 6 “สื่อต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ

“ผมติดตามข่าวต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ จากสื่อต่างๆ เช่น BBC หรือ Al Jazeera แต่ไม่ได้ติดตามแบบทุกฝีก้าว จะตามแต่ประเด็นสำคัญ หรือประเด็นที่เราสนใจเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ผมยังใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) ด้วย เพราะถ้าเราเลือกติดตาม (follow) คนในแวดวงที่เราสนใจ เวลาเราเลื่อนดูทวิตเตอร์ก็จะเห็นข่าวสารในแวดวงนั้นๆ”

นิตยสารต่างประเทศ

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามนิตยสาร The Economist ซึ่งมีฉบับรวมเล่มออกมาให้อ่านทุกสัปดาห์ และจะมีบทวิเคราะห์ขนาดไม่ยาวมาก ส่วนนิตยสารอีกฉบับที่น่าสนใจคือ Foreign Affairs ซึ่งจะช่วยฉายภาพให้เราเห็นว่า แวดวง IR ในสหรัฐฯ และผู้กำหนดนโยบายกำลังสนใจประเด็นอะไรอยู่ แต่เนื้อหาอาจจะเน้นหนักไปทางระเบียบโลก ภูมิรัฐศาสตร์ และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเสียเยอะ นอกจากนี้ บทความใน Foreign Policy ก็น่าสนใจหลายชิ้น เช่น งานของ Stephen M. Walt

แต่ผมจะอ่านงานเหล่านี้เพื่อให้เห็นภาพว่า ในวงการ IR กำลังถกเถียงกันเรื่องอะไรอยู่ มากกว่าจะอ่านแล้วมีความเห็นว่า ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’”

ของชิ้นที่ 7 “หนังสือนวนิยาย

“ผมหยิบวิธีคิดหาข้อมูลเพื่อสืบคดีมาจากนิยายของ Agatha Christie เพื่อเอามาสอนวิธีวิจัย เพราะเวลาเกิดคดีฆาตกรรม ก็จะมีการใช้วิธีคิดทั้งแบบอุปนัย (inductive) และนิรนัย (deductive) เหมือนเวลาทำวิจัย ซึ่งผมว่าสนุกสำหรับนักเรียน IR นะ แต่ไม่รู้ว่าพวกเขาจะสนุกเหมือนผมไหม”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save