fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world (กันยายน 2560)

20 ผลงานใหม่ยอดนิยมที่มีผู้อ่านสูงสุดของ The101.world ในช่วงเดือนกันยายน 2560

 

ไทยกำลังเจอ Dutch disease?

 

โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย สงสัย เศรษฐกิจไทยกำลังติดโรค Dutch disease แบบอ่อนๆ หรือไม่

โรคเศรษฐกิจที่เคยเกิดกับเนเธอร์แลนด์ในช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อครั้งค้นพบก๊าซธรรมชาติมหาศาลในทะเลเหนือทิ้งบทเรียนอะไรให้กับเรา

และสำหรับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อะไรคือ “พาหะนำโรค” อะไรคือ “ข่าวดี” ที่อาจกลายเป็น “ข่าวร้าย” จนต้องระมัดระวังให้จงดี

‘อาหารไทยไม่มีคำว่าผิด’ : เปิดตำราอาหารไทยแบบไม่แช่แข็งไปกับ ม.ล. ขวัญทิพย์ เทวกุล

 

โดย เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตามติดการแข่งขันสุดดุเดือดในรายการ MasterChef Thailand – มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย เป็นประจำ ภาพ (และเสียง) ของกรรมการหญิงเดี่ยวสายแข็งอย่าง ม.ล. ขวัญทิพย์ เทวกุล หรือที่หลายคนเรียกเธอว่า ‘หม่อมป้อม’ หรือ ‘เชฟป้อม’ คงทำให้คุณสะดุดตา

แต่ภายใต้ความโหดและจริงจังในรายการ หลายคนอาจไม่รู้ว่าเธอคือหนึ่งในผู้ที่เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยคนหนึ่งของประเทศ ที่สำคัญคือความเป็น ‘ครู’ ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ด้านอาหารแบบไม่ต้อง ‘แช่แข็ง’ ตามกาลเวลา

ทานข้าวให้อิ่มท้อง แล้วมาอ่านบทสัมภาษณ์ชวนหิวที่จะทำคุณอิ่มไปด้วยความรู้ทางอาหารไปพร้อมๆ กัน!

 

วัดกันด้วยวิทยาศาสตร์ ระหว่างปกครองด้วยทหารกับนักการเมือง อย่างไหนคอร์รัปชันมากกว่ากัน?

 

โดย วชิรวิทย์ คงคาลัย

ใครคอร์รัปชันกว่ากันระหว่างรัฐบาลทหารกับรัฐบาลนักการเมือง? หลายคนอาจตอบตามสัญชาตญาณว่าเป็นอย่างหลัง เพราะเชื่อตามวาทกรรมนักการเมืองเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ในขณะที่ทหารเข้ามาแก้ปัญหาเพื่อชาติ!?

แต่ถ้าลองมาวัดกันด้วยข้อมูลดิบ สัญชาตญาณของหลายคนอาจจะคิดผิดก็ได้ ผลจากประวัติศาสตร์จะออกมาเป็นอย่างไร ไปดูกัน

 

การเดินทางของพ่อ คนรุ่น “เสื่อผืนหมอนใบ”

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ถอดหัวใจเล่าเรื่องการเดินทางของคนรุ่น ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ผ่านชีวิตของ ‘พ่อ’ ที่เพิ่งจากไปในวัย 92 ปี

……….

” ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ คือคำที่ใช้เรียกคนจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือราว 70-80 ปีก่อน หนีภัยสงคราม หรือมาเผชิญโชคในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะมาตัวเปล่า แทบจะไม่มีสมบัติใดๆ ติดตัว

พ่อเป็นคนรุ่นนั้น

พ่อจากบ้านเกิดจากประเทศจีนเมื่ออายุยี่สิบเศษ พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว เลี้ยงครอบครัว เมีย ลูกเจ็ดคน แต่ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เป็นหนี้สิน จนล้มละลายเมื่ออายุห้าสิบกว่า ติดคุก และหนีรอดออกมา แต่ต้องหายไปจากสังคมนับสิบปี กว่าจะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติในวัยเจ็ดสิบ แต่พออายุขึ้นเลขแปด ก็ต้องสูญเสียลูกสาวสุดที่รักอย่างไม่คาดคิด”

……….

 

อ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ชวนอ่านการเมืองไทยตั้งแต่ยุครัฐประหาร 2490 ซึ่งพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองจากระบอบที่ผู้นำคณะราษฎรวางรากฐานไว้ พร้อมตั้งคำถามสำคัญว่า ทำไมสังคมการเมืองไทยจึงขาดพลังทางสังคมนอกระบบราชการที่จะต่อต้านรัฐประหาร และเป็นพลังที่จะรักษาประชาธิปไตยไว้อย่างได้ผล

ปัญญาจากมงเตสกิเยอและต๊อกเกอะวิลล์ให้คำตอบเรื่องการเมืองไทยอย่างไร

……….

“เมื่อไทยขาดลักษณะทางสังคมและความรู้สึกนึกคิดในจิตใจที่สำคัญต่อการงอกงามของ township democracy ในขณะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แล้วจะหาพลังทางสังคมนอกระบบราชการก่อตัวขึ้นมาจากไหนที่จะเป็นรากฐานหนุนการจรรโลงและพัฒนาประชาธิปไตย และมีพลังเพียงพอจะต้านทานการยึดอำนาจหรือยับยั้งความคิดที่จะทำรัฐประหารจากฝ่ายที่กุมฐานอำนาจอยู่ในระบบราชการ

ความสำคัญของเรื่องนี้ยิ่งมีมากขึ้นเมื่อคำนึงถึงการตีความกฎหมายในฝ่ายตุลาการที่ตัดสินรับรองว่าถ้ารัฐประหารกระทำสำเร็จในการยึดครองอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ และได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนแล้ว ก็จัดว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

นัยสำคัญของข้อเสนอของต๊อกเกอะวิลล์ต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเป็นข้อเสนอที่ว่าไปแล้วตั้งข้อเรียกร้องระดับหลักมูลที่สูงมากต่อเงื่อนไขความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นประชาธิปไตยจะไม่สำเร็จเพียงแค่เกิดจากการมีรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง การมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน ตราบที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น

การได้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่จะบอกเลิกหรือล้มล้างความไม่เสมอภาคใดๆ อาจทำได้ด้วยการประกาศกฎหมาย การจัดระบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามหลักการประชาธิปไตยก็อาจทำได้ด้วยการออกแบบระบบการกระจายอำนาจอย่างเหมาะสม

แต่ถ้าสภาวะทางสังคมที่เป็นจริงยังขาดความเสมอภาค ถ้าในดวงตาและในความรู้สึกนึกคิดในจิตใจคนยังขาดจิตสำนึกในเรื่องความเสมอภาค ในเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคล ขาดอุปนิสัยของการที่จะอยู่ที่จะมารวมตัวกันทำงานสานสร้างสิ่งต่างๆ ที่ชุมชนต้องการร่วมกัน ขาดพลังทางสังคมที่ตั้งต้นจากท้องถิ่นชุมชนที่มีฐานการพึ่งตนเองอย่างเป็นอิสระจากการพึ่งพาการอุปถัมภ์ของรัฐ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นย่อมปราศจากรากฐานทางสังคมที่เข้มแข็งรองรับ การทำรัฐประหารและการฉวยอำนาจรัฐจึงตัดสินความสำเร็จที่เงื่อนไขไม่กี่ข้อ แต่ไม่มีพลังของประชาชนอยู่ในสมการ”

– ศุภมิตร ปิติพัฒน์ –

……….

 

รู้เขารู้เรา เข้าใจวิธีคิดกองทัพไทย ผ่าน สุรชาติ บำรุงสุข

 

โดย สมคิด พุทธศรี และ จารุกิตต์ ธีรตาพงศ์

101 ชวน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจวิธีคิดของทหารไทยในสารพัดมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศ

……….

(1)

“ยิ่งรัฐบาลทหารใช้วิธีการสายเหยี่ยวมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการบอกว่ารัฐบาลรู้สึกไม่มั่นคง ถ้ามาตรการทางการทหาร การปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารและทางจิตวิทยาสามารถใช้ควบคุมสังคมได้จริง สิ่งที่ควรจะเห็นคือมาตรการที่ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เข้มงวดขึ้น”

(2)

“ถ้าการสร้างประชาธิปไตยคือโจทย์ของสังคม เราต้องจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและรัฐบาลใหม่ภายใต้ชุดความคิดที่ว่า กองทัพเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายรัฐบาล … การปฏิรูปทางการเมืองเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปกองทัพ และเช่นเดียวกัน การปฏิรูปกองทัพก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมือง”

(3)

“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ ‘ทหารคิดอะไร’ มากเท่ากับ ‘ทหารคิดแล้วมีคนสนับสนุน’ … กองทัพหลายประเทศก็เป็นอนุรักษนิยม แต่ความคิดถูกจำกัดอยู่แต่ในกองทัพเท่านั้น ไม่นำไปสู่การยึดอำนาจ หรือถ้ายึดอำนาจ ก็ไม่สำเร็จ”

(4)

“ในอนาคตเมื่อมองย้อนกลับมา รัฐประหารปี 2557 จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองระหว่างประเทศของไทยมากกว่าที่คิด”

– สุรชาติ บำรุงสุข –

……….

อิสระทางเพศคืออิสระแห่งการสร้างสรรค์

 

โดย ดวงฤทธิ์ บุนนาค

เมื่อเราชวน “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับการออกแบบ เขาเปรยกลับมาว่าอยากเขียนเรื่องการเมือง หรือไม่ก็เรื่องเซ็กซ์ ซึ่งนั่นก็เป็นสองหัวข้อที่น่าอ่านอย่างยิ่ง

กระนั้น เราไม่ค่อยได้อ่านเรื่องราวของการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์กันสักเท่าไรนัก จึงเจรจาต่อรองกับ “สถาปนิกแว่นกลม” ผู้มีวาจาคมคายไปว่า เขียนเรื่องการออกแบบที่มีเซ็กซ์และการเมืองอยู่ในนั้นด้วยเลยก็แล้วกัน

และนี่คือที่มาของคอลัมน์นี้ ซึ่งดวงฤทธิ์ให้ชื่อว่า “ดูไม่ดี” เชิญทัศนาพลัน! 101 ภูมิใจนำเสนอ

 

ขยะกองใหญ่ใต้พรมเศรษฐกิจไทย คุยเรื่องความโปร่งใสทางการคลัง กับภาวิน ศิริประภานุกูล

 

โดย สมคิด พุทธศรี

สนทนาเรื่อง “ความโปร่งใสทางการคลัง” และ “การปฏิรูปภาษี” กับ “ภาวิน ศิริประภานุกูล” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยโครงการ “การปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง” และ “ระบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”

เราจะจัดการขยะกองใหญ่ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมยักษ์ของเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร?

………

(1)

“เราต้องทำการคลังให้โปร่งใส … เราต้องกลับมาที่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ … ความโปร่งใสจะสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เพราะการรายงานเรื่องการคลังอย่างถูกต้อง เปิดเผย ชัดเจน สมบูรณ์ ครบถ้วน ทำให้เจ้าของประเทศเลือกรัฐบาลได้ถูกต้อง”

(2)

“แม้แต่การใช้จ่ายเพื่อความมั่นคงก็ต้องมีความโปร่งใสทางการคลัง การแจงเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลต้องใช้จ่ายเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องที่ทำได้ อย่างน้อยเทียบเคียงน้ำหนักให้เห็นได้ไหมว่า ทำไมรัฐบาลต้องใช้เพื่อความมั่นคงมากขนาดนั้น ในขณะที่งบประมาณด้านอื่นยังไม่เพียงพอ”

(3)

“โครงการจำนำข้าวต้องชดใช้กันกี่ปี รัฐบาลก็เป็นหนี้ไปเรื่อยๆ มีเงินก็จ่าย ไม่มีเงินไม่จ่ายก็ได้ ยังค้างอยู่ในบัญชี ธกส. เป็นระบบที่ไม่มีความโปร่งใสเลย”

(4)

“โจทย์ใหญ่เรื่องภาษีของไทยคือ รัฐให้ความสนใจกับเรื่องประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่เรื่องการหารายได้ให้กับรัฐและการลดความเหลื่อมล้ำอาจถูกละเลยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ”

– ภาวิน ศิริประภานุกูล –

………

 

เกิดมาเพื่อเป็นเกย์ : สำรวจงานวิจัยชายรักชายในอุษาคเนย์

 

โดย วันดี สันติวุฒิเมธี

วันดี สันติวุฒิเมธี สำรวจงานวิจัยเกี่ยวกับชายรักชายในไทยและอุษาคเนย์ พร้อมสัมภาษณ์ ปีเตอร์ แจ็คสัน ศาสตราจารย์ด้านไทยศึกษาแห่ง Australian National University (ANU) ผู้ทำงานวิจัยเรื่องนี้มานานกว่า 30 ปี

……….

“การเป็นคนรักเพศเดียวกันมันอยู่ในตัวคนนั้นอยู่แล้ว ไม่ได้มาจากการเลียนแบบ เพียงแต่เขาจะมีโอกาสได้แสดงออกมาหรือเปล่า การที่มีกระเทยหรือเกย์ออกสื่อมากขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะกลายเป็นเกย์หรือกระเทยมากขึ้น ทุกวันนี้ คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า จำนวนเกย์เพิ่มมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไปต่างหาก เพราะสังคมไทยยอมรับและสร้างโอกาสให้คนที่รักเพศเดียวกันมากขึ้น พวกเขาก็เลยกล้าเปิดเผยตัวเองออกมา ถ้าตัวคุณไม่ได้เป็นคนรักเพศเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะดูเกย์หรือกระเทยออกสื่อมากมายแค่ไหน คุณก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคุณเองไปรักเพศเดียวกันได้เลย”

– ปีเตอร์ แจ็คสัน –

……….

 

การเดินทางของตุ๊กตาวิเศษ : บทสะท้อนความรุนแรงทางเพศต่อเด็กในสังคมไทย

 

โดย วันดี สันติวุฒิเมธี

วันดี สันติวุฒิเมธี เล่าเรื่องการเดินทางของ “ตุ๊กตาวิเศษ” ตุ๊กตาหญิงชายที่แลดูธรรมดา แต่มี “เวทมนตร์พิเศษ” ในการบรรเทาบาดแผลในหัวใจดวงน้อยของเด็กผู้ตกเป็นเหยื่อจากภัยคุกคามทางเพศ

……….

“เราทำงานตรงนี้มายี่สิบปีพบว่า ปัญหาของการสอบสวนเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ คือ เรื่องภาษาที่ใช้สื่อสาร และวุฒิภาวะของเด็กที่ไม่สามารถเล่าเรื่องราวได้เหมือนผู้ใหญ่ เมื่อก่อนเราใช้อุปกรณ์ต่างๆ บนโต๊ะทำงานเป็นสิ่งสมมติแทนอวัยวะเพศแต่เด็กก็มักไม่เข้าใจ และเมื่อลองใช้ตุ๊กตาหมีหรือตุ๊กตาพวงกุญแจต่างๆ มาช่วย เราก็พบว่า ตุ๊กตาเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวแทนคำพูดของเด็กได้ แต่ตุ๊กตาหมีไม่มีอวัยวะเพศและช่องอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี รวมทั้งนิ้วมือที่เหมือนกับคนจริง ทำให้ขาดหลักฐานที่ชัดเจนในการเอาผิดผู้ต้องหา เราจึงโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าอยากได้ตุ๊กตามาช่วยทำคดี หลังจากนั้นมีการแชร์ต่อๆ กันไปเยอะมาก”

– พ.ต.ท.หญิง จรีย์วรรณ พุทธานุรักษ์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ –

“วันแรกที่ชวนนักศึกษามานั่งคุยกันเรื่องนี้ยังจำได้เลยว่า เราจับมือกันแล้วน้ำตาไหลว่ามันมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วเราทุกคนในความเป็นผู้หญิง ล้วนแต่ผ่านประสบการณ์ที่ถูกคุกคามทางเพศกับมาบ้าง บางคนโดนจับก้นบนรถเมล์ เรายังจำความรู้สึกแบบนี้กันได้ แล้วคนที่โดนมาหนักกว่าเรา แผลในใจจะขนาดไหน”

– อลิชา ตรีโรจนานนท์ อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ –

……….

 

การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: รายจ่ายซ่อนเร้นของรัฐ

 

โดย อธิภัทร มุทิตาเจริญ

การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านระบบภาษี เช่น การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยเงินลงทุนใน LTF, RMF, ค่าเบี้ยประกัน, ค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือช็อปช่วยชาติ สร้างต้นทุนซ่อนเร้นทางการคลัง ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง นักเศรษฐศาสตร์เรียกรายได้ของรัฐที่ลดลงนี้ว่า “รายจ่ายภาษี” (Tax expenditure)

ในแต่ละปี “รายจ่ายภาษี” ที่เศรษฐกิจไทยสูญเสียไปมีมูลค่าเท่าไหร่ และใครคือผู้ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการหักลดหย่อนภาษีเหล่านี้

อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดผลงานวิจัยล่าสุดของเขา เล่าคำตอบชวนตกใจให้อ่านกัน

 

ทำไมประเทศไทยติดกับดักคอร์รัปชัน

 

โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

ไม่มีสังคมไหนต้องคำสาปให้อยู่กับปัญหาคอร์รัปชันตลอดไป คอร์รัปชันไม่ได้อยู่ใน DNA ของคนไทยหรือคนประเทศไหนในโลก

ทำไมบางประเทศโคตรโกงถึงออกจากกับดักคอร์รัปชันได้สำเร็จ

ประจักษ์ ก้องกีรติ นำเสนอแนวทาง “แก้เกมโกง” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากโชคช่วย แต่ด้วย…..

 

เยี่ยมยามถามข่าว ‘ไผ่ ดาวดิน’

 

โดย เวียง-วชิระ บัวสนธ์

22 สิงหาคม ที่ผ่านมา กลุ่มนักเขียนจำนวนหนึ่งได้พากันไปเยี่ยมเยียน “ไผ่ ดาวดิน” ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น

และนี่คือบันทึกจาก “เวียง-วชิระ บัวสนธ์” หนึ่งในคณะนักเขียนที่เดินทางฝ่าความมืดไปเยี่ยมยามถามข่าว “ไผ่ ดาวดิน”

……….

ไผ่ยืนชิดอยู่หลังลูกกรงค่อนไปทางมุมใน ส่งยิ้มร่ายกมือไหว้ทักทายก่อนยื่นไม้ยื่นมือออกมาจับกับทุกคน ผมสอดมือซ้ายเข้าไปในระหว่างช่องลูกกรงเหล็กตบหลังตบไหล่ ขณะมือขวากระชับแน่นกับมือข้างเดียวกันของมิตรรุ่นน้อง ได้ยินพี่สุชาติแจ้งไผ่ว่า ฝากหนังสือ ‘ศรีบูรพา’ มาให้อ่านเล่มหนึ่ง ไผ่กล่าวขอบคุณพร้อมบอกว่ามีโอกาสได้อ่านผลงานนักเขียนท่านนี้บางเล่มแล้วเช่นกัน

“สุขภาพเอ็งเป็นไงบ้างวะ” ผมเอ่ยถาม

“ดีครับพี่ ผมหมั่นออกกำลังกายตลอด” ไผ่ยิ้มยืนยัน

“ผู้คุมเขามอบหมายงานอะไรให้ทำในแต่ละวันหรือเปล่า” ผมถามใหม่ ไผ่ตอบว่ามีหน้าที่เป็นผู้ช่วยประจำโรงพยาบาล

“ถ้างั้น เอ็งควรทำตัวให้พวกพยาบาลสาวๆ มีเมตตาแล้วหละ…” ผมพูดไม่ทันจบ ทั้งที่อยากจะบอกต่อ ‘เผื่อจะได้เป็นพ่อสื่อให้ทนายน้อยมันมีเมียเป็นพยาบาลเสียทีไง’

ไผ่โพล่งทันที “มีแต่พวกผู้ชายทั้งนั้นเลยพี่” ว่าแล้วส่ายหน้า

ตลอดเวลาแห่งการสนทนา ใบหน้าชายหนุ่มยิ้มละไม ประกายตาสดใส น้ำเสียงร่าเริงไร้กังวล และแล้วเมื่อได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ประกาศเตือนว่าใกล้หมดเวลา ผมถือโอกาสถามส่งท้าย “พวกพี่มาเยี่ยมเอ็งนอกจากในนามส่วนตัวแล้ว ยังมาในฐานะนักเขียนกลุ่มหนึ่งด้วยว่ะ เอ็งมีอะไรอยากฝากไปถึงพวกนักเขียนและกวีบ้างไหม เผื่อพี่จะได้นำความไปกราบเรียนให้พระเดชพระคุณท่านทั้งหลายรับรู้รับทราบน่ะ”

“ผมได้ทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่แล้ว แต่พวกนักเขียนและกวีได้ถามตัวเองบ้างไหม ว่าได้ทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่แล้วหรือยัง” ไม่เพียงตอบทันที หากไผ่ยังยิ้มพรายเต็มใบหน้า ผมค่อนข้างแน่ใจว่ารอยยิ้มนั่นมิได้ซื่อใสไร้เดียงสา หากแฝงนัยตรงข้ามอยู่ในทีมากกว่า

อธิคมคงจับสังเกตได้ไม่ต่าง ไม่เช่นนั้นคงไม่หัวเราะ ก่อนกระเซ้า “ไม่วายกวนอวัยวะใช้เดินนะเรา”

……….

 

แว่นตาของเติ้งเสี่ยวผิง

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

ในรายการ 101 One-on-One เมื่อถูกถามว่าใช้แว่นตาแบบไหนในการมองจีน อาร์ม ตั้งนิรันดร ตอบว่าแบบ “เติ้งเสี่ยวผิง”

แล้วแว่นตาแบบเติ้งเสี่ยวผิงมองจีนผ่านเลนส์แบบไหนล่ะ?

……….

“คำถามแรกที่ อ.ปกป้อง ถามผมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในรายการ 101 One-on-One ก็คือ แว่นตาที่ผมใช้ในการมองจีนเป็นแบบไหน?

ผมช็อคไป 3 วินาที (คำถามอะไรยากจัง) จะถอดแว่นโชว์ว่าใช้แว่นแก้สายตาเอียงที่ใส่อยู่นี่แหละ ก็เกรงว่าผู้ชมจะไม่ตลกด้วย

จึงรวบรวมสติ และตอบไปว่า ใช้แว่นเดียวกับเติ้งเสี่ยวผิง (ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ใส่แว่น) เติ้งเสี่ยวผิงมองจีนอย่างไร คำตอบสั้นๆ ก็คือ เขามองจีนตามความเป็นจริง ไม่งมงายตามทฤษฎี ตามลัทธินิยม หรือตามใจชอบของตัวเอง ภาษาอังกฤษมักเรียกเติ้งเสี่ยวผิงว่าเป็น Pragmatist คือ นักปฏิบัติ ดังวลีเด็ดที่เติ้งเสี่ยวผิงยืมมาจากสำนวนเก่าของเสฉวนว่า “ไม่ว่าแมวขาว แมวดำ ขอเพียงจับหนูได้เป็นพอ …”

– อาร์ม ตั้งนิรันดร –

……….

 

คืนความเป็นธรรมให้กับการค้าข้างทาง

 

โดย วชิรวิทย์ คงคาลัย

หลังนโยบาย #คืนทางเท้าให้ประชาชน เดินหน้าจนทางเท้าหลายๆ แห่งโล่งสบายในสายตาหลายๆ คน สิ่งที่ตามมาคือภาพของพ่อค้าแม่ค้าข้างทางที่กลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ ในสายตาของคนเมือง

วชิรวิทย์ คงคาลัย จะพาไปสำรวจมายาคติที่ว่าอีกสักที ผ่านงานวิจัยที่อธิบายภาพของผู้ค้าหาบเร่ ที่มาพร้อมแง่มุมที่เราอาจไม่เคยนึกถึง

 

ความรักเดือนกันยายน

 

โดย ธิติ มีแต้ม

เรื่องราวความรักของคนขับรถแท็กซี่ที่น่าจะมีคนเรือนแสนเรือนล้านชูเขาเป็นไอคอนทางอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่อะไรเป็นคำพูดสุดท้ายที่เขาพูดกับเมียรักก่อนทั้งคู่จะไม่มีโอกาสกลับมาพบกันอีก

ธิติ มีแต้ม ชวนอ่านความทรงจำจากเมียรักของสุภาพบุรุษคนนั้น

……….

“เขาให้ค่าจ้างฉันซักผ้าด้วยลอตเตอรี่ 1 ใบ ฉันยังคิดในใจตอนนั้นไอ้หมอนี่มันขี้งก แต่ฉันก็ทำให้เพราะสนุกดี” เธอหัวเราะลั่นร้านชำ

ซักผ้าให้ไม่เกิน 10 ตะกร้า หนุ่มคนขับรถก็ออกปากชวนเธอมาอยู่ด้วยกัน

“มาอยู่ด้วยกันนะเล็ก” เขาเอ่ยปาก

……….

ราวต้นปี 2549 ที่เขาขยับมาขับแท็กซี่ เช่ารถจากสหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ ได้โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง มาเป็นคู่หู

ขับได้ไม่ถึงปี เช้าวันที่ 30 กันยายน เขาก็พาคู่หูของเขาไปปะทะกับรถถังรุ่น M41A2 Walker Bulldog ที่จอดยึดอำนาจประเทศมาตั้งแต่ 19 กันยา 2549 อยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ท่ามกลางความดีใจของผู้ฝักใฝ่รัฐประหาร คงไม่มีใครได้ยินเสียงเหล็กรถแท็กซี่ชนรถถังดังสนั่นหวั่นไหว ใครจะคิดว่ามีคนต่อต้าน ใครจะคิดว่ามีแท็กซี่แก่ๆ อาจหาญ

แรงปะทะทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส คางแตก ปากแตก ตาปูด ซี่โครงหัก 5 ท่อน

“ก่อนนั้นฉันไม่เห็นว่าเขาจะบ่นอะไรเลยนะ เรื่องอุดมการณ์เขาไม่เคยพูดให้ฉันได้ยิน อย่างมากเขาก็ไม่ชอบดูถูกใครและไม่ชอบให้ใครดูถูก”

……….

นอกจากขับรถ เขามีอิเล็กโทนเครื่องเก่าๆ อยู่บ้านกับเมียรักก็มักชวนกันร้องเพลง

“เพลงของสายัณห์ สัญญาเขาร้องได้หมดนะ หลายครั้งเขาจะชวนฉันร้องเพลงหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ แล้วยังจะชวนไปประกวดร้องเพลงคู่ด้วย ฉันบอกถ้าเปลี่ยนเป็นหนุ่มขี้เมา สาวขี้แง ฉันยอมไปประกวด”

……….

“ช่วงนั้นฉันเห็นเขาดูข่าวและชอบพูดกับฉันบ่อยๆ ว่าคนเท่ากัน มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน ไม่ควรหยามเหยียดกัน”

แต่เธอไม่นึกว่าเขาจะเลือกแสดงการต่อต้านความคิดความรู้สึกนั้นด้วยการอัตวินิบาตกรรม แขวนคอตัวเองประท้วงที่สะพานลอยข้างถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในคืนวันที่ 31 ตุลาคม ปีเดียวกัน

……….

 

ระบบภาษีไทยในวันที่โลกเปลี่ยน : คุยกับ ปัณณ์ อนันอภิบุตร

 

โดย สมคิด พุทธศรี

101 ชวน ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร ผู้อำนวยการส่วนนโยบายภาษีสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง สำรวจโจทย์ของระบบภาษีไทยในภาคปฏิบัติ โอกาสและความท้าทายของระบบภาษีไทยในวันที่โลกเปลี่ยน และหัวใจของการปฏิรูประบบภาษี

……….

(1)

“สังคมไทยอาจจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) จำกัด โดยมุมมองและค่านิยมของคนไทยต่อภาษีอาจไม่ได้เอื้อให้ผู้คนยินดีจ่ายภาษีมากนัก แตกต่างจากประเทศที่มีฐานภาษีกว้าง ซึ่งคนมักมองว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่ และผู้คนค่อนข้างตระหนักว่าทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

(2)

“งานวิจัยของธนาคารโลกบอกว่า สัดส่วนภาษีต่อ GDP ของไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 17% แต่ว่าศักยภาพของระบบเศรษฐกิจน่าจะเก็บได้ถึง 25% ของ GDP นั่นหมายความว่า มีภาษีอีกประมาณ 8% ที่หล่นหายไป”

(3)

“ยิ่งโลกเชื่อมต่อกันมากขึ้นเท่าไหร่ การใช้ภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นเท่านั้น … งานวิชาการในช่วงหลังๆ มักจะเสนอแนะว่า การลดความเหลื่อมล้ำควรมุ่งใช้มาตรการทางด้านรายจ่ายมากกว่ามาตรการทางด้านภาษี นั่นคือ ควรใช้จ่ายงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนและจัดสวัสดิการให้ถูกฝาถูกตัว รวมถึงการพัฒนาตาข่ายทางสังคม (social safety net) ต่างๆ”

(4)

“โลกอนาคตจะไม่เหมือนวันนี้ โจทย์ทางภาษีมันยากขึ้น เพราะธุรกรรมในโลกมีความซับซ้อนขึ้น ในเวทีนานาชาติสิ่งที่ถกเถียงกันมากคือ หลักการทางภาษีแบบเดิมยังใช้ได้อยู่หรือไม่ในโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นโลกเสมือน ไม่มีตัวตน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหน”

– ปัณณ์ อนันอภิบุตร –

 

กฎแห่งการมีกิริยาเป็นที่รัก

 

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ

จอร์จ วอชิงตัน และพระพุทธเจ้า ยึดมั่นใน “กฎกติกา” ที่คล้ายกันในเรื่องใด

วรากรณ์ สามโกเศศ เล่าเรื่อง rules of civility กฎสำคัญแห่งความสำเร็จที่ไม่ควรมองข้าม

 

Readery : จุดบอดของคนทำหนังสือ คือเรื่องการตลาด

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

หนังสือกำลังจะตาย หรือคนทำหนังสือขายของไม่เป็น?

2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์สื่อของไทยและโลกนับว่า ‘ฝุ่นตลบ’ เราได้เห็นสื่อเก่าที่กำลังจะตาย พากันเคลื่อนย้ายเข้าสู่แพล็ตฟอร์มใหม่ๆ กันอย่างคึกคัก

ตั้งแต่การเกิดขึ้นของ Netflix ที่เข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างสิ้นเชิง หรือแอปพลิเคชันอย่าง Spotify ที่เข้ามาทลายกรอบเดิมๆ ของอุตสาหกรรมดนตรี เช่นเดียวกับการช่วงชิงพื้นที่บนโลกออนไลน์ของสื่อมวลชนทั้งค่ายเล็กค่ายใหญ่

ทว่าหนึ่งในสื่อเก่าแก่อย่าง ‘หนังสือเล่ม’ นั้นยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ แม้จะมีแพล็ตฟอร์มใหม่ๆ สำหรับการเขียนการอ่านเกิดขึ้นมามากมาย แต่สื่อตั้งต้นที่เป็น ‘กระดาษ’ นั้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะตายลงง่ายๆ ต่างจากเทปคาสเซ็ทหรือม้วนวีดิโอ (หรือกระทั่งซีดี) ที่ดูเหมือนจะสิ้นสุดอายุขัยลงอย่างถาวร

ด้วยเหตุนี้ โจทย์ที่ท้าทายคนในแวดวงหนังสือในปัจจุบัน อาจไม่ใช่การตั้งคำถามว่าเราจะทำหรือไม่ทำ, จะเขียนหรือไม่เขียน, จะขายหรือไม่ขาย แต่เป็นคำถามที่ว่าเราจะทำ จะเขียน หรือจะขายอย่างไร ต่างหาก

101 เปิดซีรีส์ ‘อนาคตธุรกิจหนังสือไทย’ ด้วยการไปนั่งคุยกับสองผู้ก่อตั้ง Readeryร้านหนังสือออนไลน์ที่สร้างความคึกคักให้แวดวงหนังสือไทยในช่วงหลายปีมานี้ ภายใต้คำถามสำคัญที่ว่า หนังสือกำลังจะตาย หรือคนทำหนังสือขายของไม่เป็น?

“ไทยไม่จำเป็นต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุน” : ถกภาษีและการคลังกับ อธิภัทร มุทิตาเจริญ

 

โดย สมคิด พุทธศรี

2 แสนล้านบาทต่อปี หรือราว 2% ของจีดีพี คือ ‘ราคา’ ที่คาดว่าประเทศไทยต้องจ่ายจากการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรเพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรเพื่อดึงดูดทุนต่างชาติดูจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาและเป็น ‘สูตรสำเร็จ’ ที่ใช้กันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ใช่ว่า ‘สูตร’ นี้ไม่มีต้นทุน และไม่แน่ใจว่า ‘สำเร็จ’ ดังหวังจริงหรือไม่

101 ชวน ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดงานวิจัยชิ้นใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า มาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสามารถจูงใจนักลงทุนต่างชาติได้จริงหรือ แรงจูงใจด้านภาษีของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร ปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมีอะไรบ้าง และประเทศไทยมีทางเลือกเชิงนโยบายอื่นๆ อีกหรือไม่

 

รายการ 101 one-on-one

 

101 One-on-One ep03 “อ่านเศรษฐกิจไทย” กับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

โดย 101-one-on-one

:: LIVE :: “อ่านเศรษฐกิจไทย” กับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และคอลัมนิสต์ 101 นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ผ่านประสบการณ์ทำงานในกระทรวงการคลัง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และบริษัทจัดการกองทุนข้ามชาติ

ในรายการ 101 One-on-One | ep03

จันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 สองทุ่มตรง ทาง The101.world

ชวนคุย โดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ 101

อ่านถอดเทปบทสนทนาคำต่อคำได้ ที่นี่

 

101 One-on-One ep04 “อ่านเศรษฐศาสตร์การเมือง” กับ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

 

โดย 101-one-on-one

:: LIVE :: “อ่านเศรษฐศาสตร์การเมือง” กับ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร อาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองประจำ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPs) ประเทศญี่ปุ่น ผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในรายการ 101 One-on-One | ep04

จันทร์ที่ 11 กันยายน 2560 สองทุ่มตรง ทาง The101.world

ชวนคุย โดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ 101

101 One-on-One ep05 “อ่านพม่าและอาเซียน” กับ ลลิตา หาญวงษ์

 

โดย 101-one-on-one

:: LIVE :: “อ่านพม่าและอาเซียน” กับ ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในรายการ 101 One-on-One | ep05

จันทร์ที่ 25 กันยายน 2560 สองทุ่มตรง ทาง The101.world

ชวนคุย โดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ 101

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save