fbpx
ความรักเดือนกันยายน

ความรักเดือนกันยายน

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

 

ไอ้ต๊อก-เธอเรียกแบบนั้น หมาหนุ่มพันทางวิ่งดีใจกระโจนขาคู่มาเกาะเอว ทำตาใสใส่เจ้านายของมัน หลังจากเธอกลับบ้านมาพร้อมข้าวของตลาดและไก่ย่าง 2 ไม้

หน้าบ้านของเธอเปิดเป็นร้านขายของชำย่อมๆ เด็กชายวัยประถมคว่ำจักรยานไร้เบรกลงหน้าบ้านเบาๆ และเข้ามาเปิดตู้เย็นและตู้แช่เก่าๆ หยิบลีโอสองขวด แฟนต้าหนึ่งกระป๋อง ส่งเงินให้เจ้าของร้านโดยไม่รอเงินทอน

เธอรูดไก่ออกจากไม้วางใส่จานประจำตัวไอ้ต๊อก

“มันไม่พูดมากเหมือนคนนะ บางทีฉันเปิดทีวีเจอบางคนพูดมาก น่าเบื่อ ฉันก็ปิดทีวีหนี” เธอว่าพลางลูบหัวไอ้ต๊อก ก่อนเสียงกระดูกไก่แตกลั่นคาปากมัน

“ลุงอยู่นั่น” เธอยิ้มและชี้ไปที่รูปสามีที่ใส่กรอบวางไว้ข้างอัฐิ กระถางธูปเล็กๆ บนตู้ไม้โทรมๆ

คนรักกันอยู่กันมาค่อนชีวิต จากกันไปกว่าสิบปี ถ้าจะมีอะไรให้หยุดคิดคำนึงถึงกัน อีกคนที่ยังอยู่คงต้องตายตามไป

แต่ยังไม่ถึงวาระของเธอ ณ ตรงนี้ ผมขออนุญาตเธอบันทึก

จากเด็กสาวลูกชาวนาชาวไร่ เรียนจบ ป.4 วิ่งเล่นอยู่ที่ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ต้องเข้ากรุงเทพฯ ตอนอายุ 14 หลังแม่และพ่อเสียตามกันไป

เป็นลูกคนโตจากทั้งหมด 4 คน อยู่บ้านเคยจับจอบจับเคียว พอเข้าเมืองกรุงเปลี่ยนมารับจ้างทำงานบ้าน เลี้ยงเด็ก แต่พื้นฐานแน่น เพราะเธอเคยช่วยแม่เลี้ยงน้องมาก่อน

เด็กสาวโตเป็นสาวทันเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบ้านเมือง “วันออกไปตีกับทหาร” เธอใช้คำนี้แทนวันที่นักศึกษา ประชาชน ลุกฮือขับไล่เผด็จการทหารเมื่อตอน 14 ตุลา 2516 “ฉันไม่ได้ไปร่วมด้วยหรอก แต่เอาใจช่วยอยู่”

เป็นสาววัยเบญจเพสกำลังสะพรั่ง เลี้ยงเด็กอยู่บ้านเจ้านายในซอยข้างวัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี วันดีคืนดี ปี 2524 หนุ่มที่เช่าบ้านอยู่ท้ายซอยก็เริ่มทักทายเธอ

ไถ่ถามทราบความว่าเป็นหนุ่มท่าม่วง กาญจนบุรี ทำงานเป็นพนักงานขับรถอยู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

วาบแรกที่เธอเห็น เขาก็ดูเป็นคนบ้านนอกทั่วไป “ออกจะเฉิ่มๆ” รูปร่างล่ำหนาแต่เตี้ยและคล้ำ แต่ความที่เธอก็ตัวเล็กแล้วก็ผิวคล้ำไม่ต่างจากเขา เธอเลยไม่เล่นตัวนัก

หนุ่มอยู่ท้ายซอย เวลาออกจากซอยผ่านหน้าบ้านสาวเจ้าก็แวะทักทาย บ่อยขึ้น ถี่ขึ้น จนยายเจ้าของบ้านที่เธอทำงานอยู่แซวเธอว่า “เนื้อคู่มึงมาแล้วนะอีเล็ก”

“บางทียายก็มาบอกให้ฉันไปดูลิเกที่วัด เพราะเขานั่งดูอยู่ที่หน้าวิกลิเก บางวันเขาก็ซื้อบ๊วยเค็มมาฝากฉัน 3 เม็ด”

คุยกันมากเข้าๆ เธอบอกอีกว่าบางวันเขาก็มาฝากให้ช่วยซักผ้าให้

“เขาให้ค่าจ้างฉันซักผ้าด้วยลอตเตอรี่ 1 ใบ ฉันยังคิดในใจตอนนั้นไอ้หมอนี่มันขี้งก แต่ฉันก็ทำให้เพราะสนุกดี” เธอหัวเราะลั่นร้านชำ

ซักผ้าให้ไม่เกิน 10 ตะกร้า หนุ่มคนขับรถก็ออกปากชวนเธอมาอยู่ด้วยกัน

“มาอยู่ด้วยกันนะเล็ก” เขาเอ่ยปาก

เธอบอกเขาไม่เคยจีบ แต่สาวอุทัยคิดตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากไปพ้นจากความลำบากตรากตรำ ดูจากงานการไฟฟ้าของหนุ่มเมืองกาญจน์น่าจะพอมีความหวัง เช้าวันรุ่งขึ้นก็เก็บกระเป๋าย้ายเข้าบ้านเช่าร่วมเตียงกับหนุ่มการไฟฟ้า

“เจ้านายฉันบอกให้เขามาสู่ขอสิ ไม่แต่งก็ไม่เป็นไร มาผูกข้อไม้ข้อมือก็ยังดี แต่เขาบอกไม่ต้องผูกหรอก โตๆ กันแล้ว เดี๋ยวเขาดูแลเอง แล้วจะเอาทะเบียนสมรสมาให้”

เธอว่าความที่เขาก็เรียนมาน้อย จบ ป.4 เหมือนกัน ตัวคนเดียวเหมือนกัน พ่อแม่ตายตั้งแต่ยังเด็ก เลยผ่านเรื่องพิธีรีตองไปโดยง่ายดาย

“บวชก็ไม่เคยบวช เขาบอกทำงานดีกว่า บวชมันน่าเบื่อ”

วันแรกที่เป็นผัวเมียกัน เขาลางานเจ้านายวันนึงเพื่อพาเธอกลับไปอุทัยธานีไปทำบัตรประชาชน ขับรถไปเช้ากลับเย็น

“เจ้านายเขาใจดี บางครั้งเวลาออกต่างจังหวัด เขาก็ชวนฉันไปเที่ยวด้วย จริงๆ เจ้านายเขาไปสัมมนา คนการไฟฟ้านี่สัมมนาบ่อย เขาเปิดรีสอร์ทให้ฉัน ฉันก็ไปนอนตากแอร์ดูทีวีทั้งวัน นอนจนเมื่อย” เธอหัวเราะ ไอ้ต๊อกเงยหน้าหันมามองเหมือนอยากมีส่วนร่วมกับความทรงจำ

“มีบางคืนที่เจ้านายเขาไปหาเมียน้อย เขาก็นั่งกินเหล้ารอจนเมา พอจะขับรถออกไปรับ เขาก็ไปเมาหลับคาแยกไฟแดง ตำรวจต้องมาช่วยกันเข็นรถ”

ได้ยินความร่ำลือกันมานานแล้ว หนุ่มการไฟฟ้านอกจากเป็นนักดื่มแล้วยังเป็นนักรัก ช่ำชองเรื่องผู้หญิง แต่สำหรับเธอ เขารักเดียวใจเดียว

“เคยบอกเขาเหมือนกันว่าจะไปมีคนอื่นอีกก็ไม่เป็นไรนะ ฉันถือคติแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ได้ แต่เลี้ยงดูฉันให้ดี อย่าให้คนอื่นมาก้าวก่าย แต่เขาส่ายหัวบอกมีคนเดียวก็จะตายอยู่แล้ว”

อันที่จริงก่อนมาเจอเธอ เขาเคยมีเมียมาก่อน ไม่ได้แต่งงานแต่อยู่ด้วยกันที่แฟลตแถวบางกะปิที่เขาซื้อไว้ เมียสาวเป็นชาวร้อยเอ็ดมีพ่อตาเป็นคนเอาเรื่อง พยายามแทรกแซงความสัมพันธ์ด้วยการบังคับให้ขายแฟลตทิ้งเพื่อกลับไปอยู่ร้อยเอ็ด เขาขายแฟลตได้ แต่ไม่ได้ไปร้อยเอ็ดด้วย เพราะสาวเจ้ามีผัวใหม่

“ฉันเคยเห็นรูปผู้หญิงคนแรกของเขานะ ขาวสวยเชียว บางช่วงที่ฉันรู้ว่าเขาต้องขับรถพาเจ้านายไปร้อยเอ็ด ฉันมักจะถามว่าพ่อไม่แวะไปหาหน่อยเหรอ เขาก็บอกว่าเดี๋ยวผัวมันก็ยิงตายห่าสิ”

ใช่, ปะติดปะต่อเรื่องราวแล้ว ตรงนี้คือเรื่องที่มาเชื่อมก่อนที่เขาจะอกหักย้ายไปอยู่บ้านเช่าในซอยวัดเขมาภิรตาราม จนได้พบกับเธอ

 

 

เธอกับเขามีลูกด้วยกันสองคน หลังจากตัดสินใจลงเรือลำเดียวกันและเลิกคุมกำเนิดอยู่ 1 ปี

“ฉีดยาคุมจนอ้วนเป็นหมาหมี” เธอแซวตัวเองและว่าที่เลือกมีลูกเพราะอายุเยอะแล้ว เกรงว่ายิ่งแก่ไปจะหมดแรงเลี้ยงเสียก่อน

ทั้งคู่กระเตงลูกออกจากห้องเช่าเล็กจ้อย กู้เงินมา 5 แสนบาทเพื่อซื้อบ้านที่อยู่กันได้ 4 คนแบบไม่อึดอัดเกินไปในเดือนสิงหาคม ปี 2536 นั่นคือบ้านปัจจุบันที่ไอ้ต๊อกวิ่งเล่นเข้าออกอยู่ทุกวันนี้

ก่อนวันที่ย้ายเข้าบ้านใหม่วันนึง เขาไปรถคว่ำที่ใต้ วันมาทำสัญญาซื้อบ้านเลือดยังเปรอะเสื้ออยู่เลย ส่วนบ้านเช่าหลังนั้นไฟไหม้วอดไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“ตอนเขาตายปี 2549 กว่าฉันจะได้โฉนดต้องรอตั้ง 3 เดือน ต้องรอว่ามีใครจะมาคัดค้านไหม เพราะเขาไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ให้ แต่ฉันเอาหลักฐานทะเบียนสมรสไปยื่นก็ง่ายหน่อย ตอนนี้ห้องนอนมีปลวกมาอยู่เป็นเพื่อนแล้ว”

เธอบอกว่ายาใจเธอแม้ไม่เจ้าชู้ แต่เขามักก่อหนี้อยู่เรื่อย “รายได้ต่ำ รสนิยมสูง เข้าใจไหม บางทีกู้มาได้ร้อยสองร้อยจะซื้อนมขนมเข้าบ้าน ที่เหลือเอาไว้ไปสังสรรค์กับพรรคพวก” เธอว่าเสียงสูง

 

 

ตอนมีลูกเขาประกาศเลยว่าลูกเมียต้องอยู่ดีกินดี ไม่ให้ลำบาก “ถ้าเขาอยู่บ้าน เขาจะทำมาม่าใส่หมูใส่ผักให้ฉันกับลูกกิน พอเขากินของเขาหมด เขาจะเอาส้อมมาวนๆ ในชามฉันกับลูกแล้วตักไปกินคำสองคำ เขาอ้างว่ากลัวไม่อร่อย ฮ่าๆ ฉันก็เลยตวาดเขาไปว่าเดี๋ยวลูกไม่อิ่ม”

เธอบอกว่ามาม่านี่แปลก ต้องกินห่อเดียวถึงอร่อย สองห่อไม่ได้ เสียรสชาติ

สำหรับลูกทั้งสองคน เธอบอกว่าลูกสาวคนโตเรียนจบปริญญาตรี ส่วนลูกชายคนเล็กจบแค่ ป.3 “ก็เขาไม่อยากเรียน เราไปบังคับไม่ได้ พ่อเขายังเคยไปถามครูว่าผมเรียนแทนลูกได้ไหม”

วันที่ลูกสาวรับปริญญา ศพพ่อเขายังตั้งสวดอยู่ที่วัด “ทุกวันนี้ลูกสาวทำงานเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อปากซอยบ้าน ยังไม่มีครอบครัว ฉันบอกเขาหลายครั้งว่าถ้าลำบากก็ไม่ต้องทำ เป็นแม่ลาออกมานานแล้ว เหนื่อยไม่คุ้มค่าแรงจะทำไปทำไม ส่วนลูกชายก็มีเมียไปแล้ว”

สามีเธอเข้างานที่การไฟฟ้าฯ ปี 2512 ทำงานอยู่ถึง 35 ปี ก็เออรี่รีไทร์ ปี 2547 แล้วก็ไปขับรถมาสด้าอยู่แถวท่าน้ำนนท์อยู่ 1 ปี ก่อนจะมีพรรคพวกมาชวนไปขับแท็กซี่

“วันไหนที่ฉันนั่งรถไปกับเขาแล้วเจอคนโบกเรียก ฉันจะบอกเขาจอดให้ฉันลงเพื่อรับลูกค้าก่อน ฉันถือว่าคนเป็นเมียนั่งฟรีเมื่อไหร่ก็ได้”

นอกจากขับรถ เขามีอิเล็กโทนเครื่องเก่าๆ เป็นเพื่อนคู่ใจ วันไหนไม่ออกไปนอกบ้าน อยู่กับเมียรักก็มักชวนกันร้องเพลง “เพลงของสายัณห์ สัญญา เขาร้องได้หมดนะ หลายครั้งเขาจะชวนฉันร้องเพลงหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ แล้วยังจะชวนไปประกวดร้องเพลงคู่ด้วย ฉันบอกถ้าเปลี่ยนเป็นหนุ่มขี้เมา สาวขี้แง ฉันยอมไปประกวด”

 

 

ราวต้นปี 2549 ที่เขาขยับมาขับแท็กซี่ เช่ารถจากสหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ ได้โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง มาเป็นคู่หู

ขับได้ไม่ถึงปี เช้าวันที่ 30 กันยายน เขาก็พาคู่หูของเขาไปปะทะกับรถถังรุ่น M41A2 Walker Bulldog ที่จอดยึดอำนาจประเทศมาตั้งแต่ 19 กันยา 2549 อยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ท่ามกลางความดีใจของผู้ฝักใฝ่รัฐประหาร คงไม่มีใครได้ยินเสียงเหล็กรถแท็กซี่ชนรถถังดังสนั่นหวั่นไหว ใครจะคิดว่ามีคนต่อต้าน ใครจะคิดว่ามีแท็กซี่แก่ๆ อาจหาญ

แรงปะทะทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส คางแตก ปากแตก ตาปูด ซี่โครงหัก 5 ท่อน

“ก่อนนั้นฉันไม่เห็นว่าเขาจะบ่นอะไรเลยนะ เรื่องอุดมการณ์เขาไม่เคยพูดให้ฉันได้ยิน อย่างมากเขาก็ไม่ชอบดูถูกใครและไม่ชอบให้ใครดูถูก”

เช้าวันที่เขาปะทะกับรถถัง เธอยังสะลึมสะลืออยู่บนที่นอน ใจคิดว่าสามีออกไปขับรถตามปกติ

เพื่อนบ้านมาเรียก “อีเล็กๆ ข่าวทีวีบอกผัวมึงขับรถชนรถถัง นอนเจ็บอยู่ที่ ร.พ.วชิรพยาบาล” ฉันก็ตกใจรีบออกไปหาเขา พอเจอหน้าเขาฟื้นขึ้นมาบอกฉันคำแรกว่าบ้านเมืองมันถอยหลังลงคลองนะตอนนี้ ไม่ได้ไปข้างหน้า แต่ฉันไม่รู้เรื่องหรอก ฉันเป็นห่วงเขา กลัวเขาตาย”

พอร่างกายคืนสภาพ เขาออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน เขาเล่าให้เธอฟังว่าเมื่อก่อนสมัยหนุ่มๆ เขาเคยเกเร เคยมีเรื่องกับทหารแถวบ้านที่ทำหน้าที่เป่าแตรวง ได้ทีเผลอเขาก็เอามะนาวไปยัดใส่ปากแตรให้เป่าไม่ออก

“พอเขาเดินเหินได้ เขาก็ไปโน่นไปนี่คนเดียว ไม่ได้ชวนฉันไปด้วย เพราะรถแท็กซี่ซ่อมคืนอู่ไปแล้ว” เธอว่าช่วงนั้นเธอเริ่มเอาของมาขายที่บ้าน ปรับหน้าบ้านเป็นร้านชำแล้ว

“ช่วงนั้นฉันเห็นเขาดูข่าวและชอบพูดกับฉันบ่อยๆ ว่าคนเท่ากัน มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน ไม่ควรหยามเหยียดกัน”

แต่เธอไม่นึกว่าเขาจะเลือกแสดงการต่อต้านความคิดความรู้สึกนั้นด้วยการอัตวินิบาตกรรม แขวนคอตัวเองประท้วงที่สะพานลอยข้างถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในคืนวันที่ 31 ตุลาคม ปีเดียวกัน

 

 

รอบกายศพเขาเรียงรายด้วยข้อความที่เชิดชูความเป็นสามัญชน ทั้งเสื้อดำที่เขาสวมสกรีนบทกวีของศรีบูรพา รวี โดมพระจันทร์

ในจดหมายขนาดยาวที่เขาเขียนด้วยตัวเองยังอ้างถึง พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ว่า “เหตุที่กระผมทำการพลีชีพเป็นครั้งที่ 2 โดยการทำลายตัวเองเพื่อมิให้เสียทรัพย์เหมือนครั้งแรกก็เพื่อลบคำสบประมาทของท่านรองโฆษก คปค. ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”

เขายังฝากถึงเธอกับลูกว่า “สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติ (รัฐประหาร) อีก ลาก่อน”

เธอมารู้ทีหลังว่าเขาตั้งใจลาโลกเพื่อประท้วงเผด็จการทหาร หลังจากตำรวจคืนเชือกที่เขาใช้ผูกคอในที่เกิดเหตุมาให้ มันเป็นเชือกที่เขาซื้อมาเพื่อเอาไว้ลากจูงรถ

“วันที่เขาตาย เขาออกจากบ้านตอนเที่ยง ฉันไม่ได้สังเกตว่าเขาเอาเชือกไปด้วย ฉันเห็นแต่เขาพับหนังสือพิมพ์เหน็บจั๊กแร้กับเอาแว่นตาออกไปเท่านั้น ตอนเที่ยงคืนเขายังโทรมาบอกว่าพ่อเดินเล่นอยู่ อีกสักพักจะกลับบ้านนะ ฉันยังบอกเขาเลยว่าถ้าไม่มีค่ารถก็กลับมาเอาที่บ้านนี่ จนฉันง่วงหลับไป เช้ามาถึงรู้ว่าเขาไปแล้ว”

เธอหยิบโค้กให้ขวดนึงแล้วบอกผมว่า “ไหนลองซิ โค้กฉันอร่อยกว่าเจ้าอื่นไหม” ผมรับโค้กจากมือเธอมาเปิดฝา เสียงซ่าทำให้ไอ้ต๊อกขยับมาใกล้เหมือนทำท่าว่ากินเป็น

“เมื่อก่อนตอนที่ตายใหม่ๆ ฉันยังฝันเห็นเขาบ่อยนะ เขาจะหิ้วกับข้าวมาให้และถามฉันว่ามีเงินใช้มั้ย เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมา สงสัยเที่ยวเพลินอยู่ หรือฉันอาจจะขี้งกเองเลยฝันแบบนั้น” เธอหัวเราะเสียงดังพลางตบหลังลูบหัวไอ้ต๊อก

ป้าเล็ก-บุญชู ไพรวัลย์ เมียรักของคนขับแท็กซี่เกิดปี 2499 ส่วนสามีเกิดปี 2489 ทั้งคู่ห่างกัน 10 ปี

“ฉันไม่รู้หรอกว่าจะอยู่ได้อีกกี่ปี แต่เขาน่าจะรอฉันไปร้องเพลงบนสวรรค์ด้วยกัน” ป้าเล็กยิ้มหวาน

 

 

บางคืนบางวัน ผ่านไปที่จุดนวมทอง ไพรวัลย์แขวนคอ สดมภ์อนุสรณ์สีขาวมุกสูง 2 เมตร สร้างโดย นปช. เมื่อ 31 ตุลาคม 2556

ผมนึกถึงถ้อยคำบางคำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร กันยายน 2549 ที่ตอบคำถามของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เมื่อปี 2555 ที่ว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติครั้งนั้น

“คำถามบางประการ ตายแล้วก็ตอบไม่ได้” พล.อ.สนธิว่าแบบนั้น

ความลับของคณะรัฐประหารยังคงเป็นความลับ แต่กับบุญชูไม่มีอะไรต้องปิดบัง ความรักของเธอเปิดเปลือย ยิ่งกับนวมทองยิ่งชัดเจนไร้ข้อครหา

หลังอัตวินิบาตกรรมของเขา เสรีชนก็แพร่ลามไปเหมือนเกสรดอกไม้ คล้ายความรักเดือนกันยายนที่ทำให้ประเทศนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save