fbpx
วัดกันด้วยวิทยาศาสตร์ ระหว่างปกครองด้วยทหารกับนักการเมือง อย่างไหนคอร์รัปชันมากกว่ากัน?

วัดกันด้วยวิทยาศาสตร์ ระหว่างปกครองด้วยทหารกับนักการเมือง อย่างไหนคอร์รัปชันมากกว่ากัน?

เมื่อถามว่า ระหว่างยุคที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร และรัฐบาลนักการเมือง คุณคิดบ้านเมืองแบบไหนจะมีปัญหาคอร์รัปชันมากกว่า?

หลายคนอาจจะตอบว่า “ก็ในบ้านเมืองที่มีนักการเมืองไงล่ะ” เพราะคนพวกนี้ชอบโกงชาติโกงเมือง ดังที่เราจะเห็นได้จากข่าวฉาวตามหน้าหนังสือพิมพ์นั่นแหละ

อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงทัศนคติ ที่ไม่สามารถกล่าวอ้างว่าเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ (ที่ดูน่าเชื่อถือที่สุด) ก็ได้

วันนี้ เราจะลองเอาข้อมูลมากางดูว่า หากเปรียบเทียบความรุนแรงของคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองโดยนักการเมืองและทหาร

บ้านเมืองแบบไหนจะมีคอร์รัปชันมากกว่ากัน

CPI บอกอะไรแก่เราบ้าง


ในปี 1996 Transparency International (TI) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันสากล ได้สร้างดัชนีชื่อว่า ‘Corruption Perception Index’ เพื่อวัดระดับคอร์รัปชันของแต่ละประเทศในแต่ละปี โดยค่าของดัชนี CPI จะสะท้อนถึง ‘การรับรู้ถึงคอร์รัปชัน’ มากกว่า ‘ระดับคอร์รัปชันที่แท้จริง’ (ในทางเทคนิค ยังมีความยากอยู่มากในการวัดระดับคอร์รัปชันจริงๆ)

อย่างไรก็ดี เนื่องจากค่า CPI ได้มาจากวิธีเก็บข้อมูลความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างหลายภาคส่วน (ซึ่งส่วนมากจะใช้ข้อมูลจากสถาบันวิจัยชั้นนำทั่วโลก) นักวิชาการและรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกจึงให้ความเชื่อถือกับดัชนีนี้อย่างมาก ทั้งนี้ค่า CPI จะแสดงออกมาในรูป 100.00 คะแนน[1] ซึ่งหากประเทศไหนได้คะแนนมากก็จะหมายถึงว่าประเทศนั้นมีคอร์รัปชันน้อย ส่วนประเทศไหนที่มีคะแนนน้อย ก็จะแปลว่ามีคอร์รัปชันที่รุนแรง

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถใช้ค่า CPI มาเป็นข้อมูลที่ชี้วัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหาร รัฐบาลนักการเมือง และคอร์รัปชันในเบื้องต้นได้

และจากการรวบรวมประสบการณ์ทั่วโลก ก็ทำให้เราพบว่าจริงๆ แล้ว ในยุครัฐบาลทหาร มักมีแนวโน้มที่บ้านเมืองจะเกิดคอร์รัปชันมากกว่ารัฐบาลพลเรือน (หรือรัฐบาลนักการเมือง)

 

ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างกองทัพและคอร์รัปชัน: จากเมียนมาร์ถึงไนเจอร์


ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศเมียนมาร์ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ซึ่งมักใช้ความรุนแรงในการควบคุมทางการเมือง ประชาชนในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับความเดือดร้อน นอกจากนั้น อัตราการเกิดคอร์รัปชันก็มีสูงอย่างมาก โดยในปี 2012 ค่า CPI ของประเทศอยู่ที่ 15 คะแนน อย่างไรก็ดี ภายหลังที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2012 และพรรคของนางออง ซาน ซู จี ได้ควบคุมรัฐบาลแทนที่กองทัพ อัตราการคอร์รัปชันก็น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ดูได้จากค่า CPI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นั่นคือ ในปี 2013 และปี 2016 CPI ของประเทศเมียนมาร์อยู่ที่ 21 และ 28 คะแนน ตามลำดับ

ตัวอย่างในประเทศถัดมาคือ ไนเจอร์ ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกา โดยในช่วงหลังปี 2000 ถึง 2009 ประเทศได้ถูกปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน อย่างไรก็ดี ก็เกิดเหตุความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นในปี 2010 กล่าวคือ กองทัพได้บุกไปที่ทำเนียบประธานาธิบดี และลักพาตัวประธานาธิบดี เพื่อทำการรัฐประหาร จากนั้นก็ได้จัดตั้งคณะรัฐบาลรักษาการชั่วคราวขึ้นมาปกครองประเทศอยู่เกือบหนึ่งปี จนภายหลังในปี 2011 ก็มีการจัดการเลือกตั้ง และสุดท้ายก็ได้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งนามว่า Mahamadou Issoufou

ทั้งนี้ ในปีที่รัฐบาลถูกรัฐประหารและปกครองโดยกองทัพ อัตราการเกิดคอร์รัปชันมีเยอะมาก ดูได้จากค่าคะแนนที่ในปี 2009 ค่า CPI อยู่ที่ 29 แต่เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2010 ต่อเนื่องจนปี 2011 ค่า CPI ก็ตกมาอยู่ที่ 26 และ 25 คะแนน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ได้รัฐบาลพลเรือนในปี 2011 ค่า ปัญหาการคอร์รัปชันก็ดูเบาบางลง ดูได้จากค่า CPI ของปี 2012 ซึ่งเพิ่มมาอยู่ที่ 33 คะแนน

จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายประเทศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงคล้ายๆ กับสองประเทศนี้ด้วยนะครับ เช่น ประเทศกินี-บิสเซา ประเทศไนจีเรีย หรือประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

ดูโดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก เช่น วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชน หรือกลไกการตรวสอบที่ไม่แข็งแรง ที่มีผลทำให้เกิดปัญคอร์รัปชัน แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกครั้งที่มีปัญหาคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในแต่ละประเทศ มักจะอยู่ในช่วงที่รัฐบาลทหารกำลังครองเมืองแทบทั้งสิ้น

Muhammad Tariq Majeed และ Ronald MacDonald นักวิจัยด้านคอร์รัปชันจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ถึงกับกล่าวในงานวิจัย Corruption and the Military in Politics: Theory and Evidence from around the World (2010) ว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและคอร์รัปชันจะเป็นไปในเชิงบวก”

 

เหตุใดทหารถึงเป็นจุดกำเนิดของคอร์รัปชัน


ในงานวิจัยฉบับเดิม Tariq Majeed และ MacDonald พูดอย่างชัดเจนว่า ที่บ้านเมืองในยุคทหารจะมีปัญหาคอร์รัปชันมากกว่ายุคอื่นๆ ไม่ใช่เกิดจากปัจจัยอะไรอื่นหรอก แต่เป็นเพราะทหารนี่แหละที่เป็นสาเหตุของปัญหาคอร์รัปชันเสียเอง

และเพราะเหตุใดล่ะที่ทหารถึงทำให้เกิดคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นเสมอ?

นักวิจัยทั้งสองอธิบายว่า เมื่อกองทัพขึ้นมาคุมรัฐบาลและสามารถใช้อำนาจในการบริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ กองทัพจะจัดวางคนของตนไว้ในหน่วยงานรัฐทั้งเล็กทั้งใหญ่ เพื่อจะได้ควบคุมกิจกรรมต่างในส่วนต่างๆ ของสังคม ทั้งนี้ ตามปกติ กิจกรรมที่ทหารมักหมายหน้าจะไปยึดกุมให้เร็วที่สุดก็คือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ เช่น การซื้ออาวุธ หรือการก่อสร้างในโครงการใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ากองทัพจะใช้โอกาสที่ตนเป็นรัฐบาลในการหาประโยชน์เข้าตัวเองได้มากที่สุด และเมื่อกิจกรรมเหล่านี้ถูกควบคุมโดยกองทัพแล้ว ก็ยากที่ประชาชนหรือสื่อจะเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะกองทัพมักจะใช้วัฒนธรรมแบบปิดลับ (ที่มักเอามาอ้างเพื่อความมั่นคง) ในการดำเนินนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ และก็จะปิดไม่ให้คนภายนอกเข้ามารับรู้เรื่องราว

และด้วยสถานการณ์ที่กิจกรรมและนโยบายต่างๆ ตรวจสอบได้ยาก จึงทำให้ทรัพยากรสาธารณะโดยเฉพาะเงินภาษีของประชาชนถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มในกองทัพได้ง่ายมากๆ และนี่จึงเป็นที่มาของคอร์รัปชันนั่นเอง


ทั้งนี้ นักวิจัยทั้งสองท่านยังชี้อีกว่า ที่กองทัพไม่ค่อยสนใจใยดีประชาชนตาสีตาสา ก็เพราะว่า พวกเขาไม่ต้องแคร์ประชาชนนั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องแคร์เสียงขอประชาชน

พูดแบบง่ายๆ ก็คือ ในระบอบการเมืองที่มีนักการเมือง จะเกิดสภาวะแข่งขันขึ้นในสนามการเมือง ซึ่งผู้เล่นหรือนักการเมืองแต่ละคนจะต้องทำให้ประชาชนไว้ใจและเลือกในทุกๆ ฤดูการเลือกตั้ง แต่สำหรับในระบอบการเมืองที่มีทหารคุมอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว สนามการเมืองจะถูกผูกขาดโดยกองทัพ (ผ่านกระบอกปืน) เท่านั้น ทำให้ไม่มีใครสามารถแข่งได้ เพราะขืนมีใครขึ้นมาแข่งก็จะโดนจ่อด้วยปืนและโดนข้อหาสร้างความวุ่นวายล่ะสิ

ดังนั้น เราอาจพูดได้อีกอย่างว่า ก็เพราะทหารผูกขาดกำลัง และมีปืนอยู่ในมือ จึงทำให้ประชาชนกลัวจนไม่กล้าท้าทายและตรวจสอบการโกงในกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาลทหาร คอร์รัปชันจึงเกิดขึ้นได้ง่ายนั่นเอง

 

อย่างไรก็ดี นี่ก็ไม่ได้แปลว่าบ้านเมืองที่ปกครองโดยนักการเมืองจะปลอดคอร์รัปชันไปเลยนะครับ แน่นอนว่ายังมีอยู่ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำก็ได้ แต่ที่แน่ๆ จากประสบการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน ในบ้านเมืองที่เป็นปกครองโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มักจะมีคอร์รัปชันน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเผด็จการทหาร ซึ่งเกิดมาจากสองปัจจัยครับ ประการแรกคือ นักการเมืองยังแคร์เสียงประชาชน ดังนั้น จึงต้องให้ประชาชนตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสและความไว้ใจกันอยู่บ้าง

และประการที่สองก็คือ กลไกในการตรวจสอบที่ดี ซึ่งในแต่ละสังคมก็จะมีการออกแบบกลไกการตรวจสอบเพื่อลดคอร์รัปชันในภาครัฐที่แตกต่างกันไป ก็แล้วแต่บริบทหรือโครงสร้างของสังคมนั้นๆ ซึ่งผมจะไม่ขออภิปรายไว้ในที่นี้นะครับ

หมายเหตุ: สำหรับผู้สนใจที่จะไปดูต่อว่า ในต่างประเทศเขาจะออกแบบกลไกต่อสู้กับคอร์รัปชันอย่างไร ขอเชิญมางาน Shift Happens: พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ ในวันที่ 16 กันยายน 2560


เอกสารอ้างอิง  

รายงานวิจัย Corruption and the Military in Politics: Theory and Evidence from around the World (2010) โดย Muhammad Tariq Majeed และ Ronald MacDonald

[1] หมายเหตุ ก่อนหน้าปี 2012 TI ใช้ scale เป็นเต็ม 10.0 คะแนน ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบปัญหาคอร์รัปชันของแต่ละประเทศรายปี ผู้เขียนจะขอปรับอัตราส่วน scale คะแนน จาก 10.0 เป็น 100.00 โดยอัตโนมัติ เช่น หากกำลังเปรียบเทียบ ค่า CPI ของประเทศ A ในปี 2011 กับ 2012 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 2.3 และ 25 คะแนนตามลำดับ ผู้เขียนก็จะปรับเป็น 23 และ 25 คะแนน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save