fbpx
ทำไมประเทศไทยติดกับดักคอร์รัปชัน

ทำไมประเทศไทยติดกับดักคอร์รัปชัน

ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง

 

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเผยแพร่ในสื่อมวลชนและโลกโซเชียลว่า ในปี 2017 ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่คอร์รัปชันมากที่สุดในเอเชียเป็นลำดับที่ 3 เป็นรองแค่เวียดนามและอินเดีย จนกลายเป็นประเด็นฮือฮาและวิพากษ์วิจารณ์กัน

รายงานข่าวดังกล่าวมีที่มาที่ไปจากไหน หลายคนคงสงสัยว่าทำไมประเทศเราจึงอยู่ในกลุ่มแชมป์ของประเทศไม่โปร่งใส แซงหน้าเพื่อนบ้านเราเกือบทั้งหมด

ข่าวดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลมาจากการสำรวจขององค์กร Transparency International ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ทำงานด้านการต่อสู้คอร์รัปชันมาอย่างยาวนาน และเป็นเจ้าภาพจัดทำดัชนีว่าด้วยความโปร่งใส จัดอันดับประเทศในโลกที่คอร์รัปชันต่ำสุดจนถึงสูงสุด  ที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยนำดัชนีนี้มารายงานอ้างอิงทุกปี โดยอันดับของไทยในปีล่าสุดอยู่ที่อันดับ 101 จาก 176 ประเทศ

ล่าสุดองค์กรนี้จัดทำรายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์คอร์รัปชันในเอเชีย เผยแพร่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017 โดยสำรวจความรับรู้และประสบการณ์ของประชาชนในเอเชียเกือบ  22,000 คน ใน 16 ประเทศ ใช้เวลาเก็บข้อมูลปีกว่า นับเป็นรายงานขนาดยาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในภูมิภาคของเราที่รวบรวมข้อมูลอย่างกว้างขว้างที่สุดเป็นครั้งแรก

รายงานชิ้นนี้นำเสนอข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประการ เช่น พบว่ากว่า 1 ใน 4 ของประชากรเอเชียเคยมีประสบการณ์ต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อได้รับบริการสาธารณะพื้นฐานในด้านต่างๆ ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข การทำเอกสารราชการ การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาล (ทั้งที่บริการเหล่านี้ควรจะฟรี) หากแปรเป็นจำนวนคน ก็เท่ากับว่าคนเอเชียกว่า 900 ล้านคนในรอบปี 2016-2017 ล้วนมีประสบการณ์จ่ายสินบนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่น่าสนใจคือ ในบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจครองแชมป์ในสายตาประชาชนเอเชียว่าเป็นกลุ่มคนที่คอร์รัปชันมากที่สุด โดยตำรวจเป็นหน่วยงานที่มีอัตราการคอร์รัปชันสูงสุดจากการสำรวจภาพรวมทั้งภูมิภาค

แน่นอนว่าปัญหาความร้ายแรงของคอร์รัปชันนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในบรรดา 16 ประเทศ รายงานชิ้นนี้จัดลำดับประเทศที่มีอัตราคอร์รัปชันสูงสุดจนถึงต่ำสุด โดยดูจากดัชนีที่เขาเรียกว่า “อัตราการจ่ายสินบน” (bribery rates) ซึ่งวัดจากจำนวนร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถามในแต่ละประเทศที่เคยมีประสบการณ์ตรงในการจ่ายสินบนเวลาติดต่อกับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบด้านการจัดการบริการสาธารณะ พูดง่ายๆ หากผู้ตอบแบบสอบถาม 7 ใน 10 ของประเทศ ก. ตอบว่าเคยจ่ายสินบน อัตราการจ่ายสินบนของประเทศนี้ก็คือ 70 เปอร์เซ็นต์

ผลปรากฏว่าประเทศที่ครองแชมป์คอร์รัปชันมากที่สุดในเอเชียตามเกณฑ์ชี้วัดนี้ คือ อินเดีย ตามด้วยเวียดนาม เป็นอันดับสอง ไทยอันดับสาม ปากีสถานและพม่าครองอันดับสี่และห้าตามลำดับ ส่วนประเทศที่มีคอร์รัปชันน้อยที่สุดในภูมิภาคคือ ญี่ปุ่น (อันนี้ไม่แปลกใจ) ฮ่องกง และเกาหลีใต้

พม่าซึ่งครองอันดับห้ามีอัตราการจ่ายสินบนอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ แม้พม่าจะผ่านร่างกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันในปี 2013 แต่จากการสำรวจ ชาวพม่าก็มีทัศนะว่าสังคมของตนยังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน และความไม่โปร่งใสของภาครัฐ โดยเฉพาะในวงการตำรวจ นอกจากนั้นยังมีตัวเลขที่น่าตกใจ คือคนพม่าถึง 40 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าวงการตุลาการของประเทศตนนั้นไม่โปร่งใสและมีปัญหาคอร์รัปชัน

สถานการณ์ของปากีสถานซึ่งอยู่อันดับสี่และมีอัตราการคอร์รัปชันเท่าๆ กับพม่าก็คล้ายคลึงกัน โดยชาวปากีสถานถึง 3 ใน 4 ให้ข้อมูลกับทีมสำรวจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของประเทศนั้นมีพฤติกรรมคอร์รัปชัน แถมคนปากีสถานถึง 7 ใน 10 เคยมีประสบการณ์จ่ายสินบนให้ตำรวจ ที่ชวนให้เศร้าในกรณีปากีสถานคือ คนส่วนใหญ่รู้สึกไม่มีความหวังว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

มาถึงประเทศไทยของเราซึ่งครองอันดับสาม คนไทยที่ตอบแบบสำรวจ 41 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าเคยมีประสบการณ์จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ รายงานยังระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันซึมลึกในทุกระดับตั้งแต่ล่างสุดถึงบนสุดของโครงสร้างอำนาจ แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อเทียบกับปากีสถานและพม่า คนไทยที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขามีความหวังว่าสถานการณ์คอร์รัปชันที่ดำรงอยู่จะเปลี่ยนได้

ส่วนเวียดนามซึ่งครองแชมป์อันดับสองและมีอัตราคอร์รัปชันสูงถึง 65% เป็นประเทศที่คนมองโลกในแง่ร้ายมากที่สุด คือ ส่วนใหญ่เชื่อว่ามันจะดำรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้

ในขณะที่จีนเป็นประเทศที่ครองแชมป์ในด้านอัตราคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นสูงสุดในทัศนะของประชาชน

สำหรับแชมป์คือ อินเดีย ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นซึ่งมีอัตราการจ่ายสินบนอยู่ที่ 69 เปอร์เซ็นต์  คนอินเดียให้ข้อมูลกับทีมวิจัยว่าคอร์รัปชันฝังรากลึกอยู่ในทุกอณูของสังคม ในทุกมิติของการดำรงชีวิต พวกเขาต้องจ่ายสินบนเพื่อได้มาซึ่งบริการสาธารณะพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตาย คือจ่ายแม้กระทั่งการได้มาซึ่งใบสูติบัตรของลูกไปจนถึงใบมรณบัตรของพ่อแม่ ทำใบขับขี่ก็ต้องจ่าย ขอโฉนดที่ดินก็ต้องจ่าย ทำธุรกิจต่างๆ ก็ประสบปัญหาหากไม่จ่าย “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ให้เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจ

ปัญหาเรื้อรังของคอร์รัปชันในอินเดียและประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีสาเหตุพื้นฐานมาจากไหน

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า มันมาจากระบบที่ล้มเหลว มากกว่าปัญหาตัวบุคคล อินเดีย เวียดนาม หรือไทยมีอัตราการคอร์รัปชันสูงไม่ใช่เพราะคนอินเดีย เวียดนาม หรือไทยมีศีลธรรมน้อยกว่าคนประเทศอื่นๆ หรือเป็นคนมีนิสัยโกงตั้งแต่กำเนิด แต่เป็นเพราะระบบที่ไม่ดีและล้มเหลวที่บังคับให้ผู้คนต้องจำยอมจ่ายสินบนเพื่อความสะดวกสบายในชีวิต กระทั่งว่าในอินเดียมีคำพูดติดปากประโยคหนึ่งว่า “จ่ายสินบนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า”

ในสังคมที่ระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจการเมือง และระบบยุติธรรมล้มเหลว สินบนและการคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ คือ “ต้นทุนแฝง” ของชีวิตที่ทุกคนจำยอมต้องจ่ายเพื่อให้ชีวิตราบรื่นไม่ติดขัด คนอินเดียจำนวนยอมจ่ายสินบนเพราะมิเช่นนั้นพวกเขาอาจไม่มีวันเข้าถึงบริการสาธารณะพื้นฐานได้เลย การขอโฉนดที่ดินกินเวลาเป็นปีหากไม่ติดสินบนเจ้าหน้าที่

ผลสำรวจชี้ชัดว่า กลุ่มคนที่มีฐานะยากจนคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวัฒนธรรมคอร์รัปชันฝังราก เพราะขาดทางเลือกและไร้อำนาจต่อรอง และที่สำคัญสัดส่วนเงินที่พวกเขาต้องจ่ายเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างไม่ติดขัดคิดเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้

ในสังคมที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาและระบบการหาผลประโยชน์ในโรงเรียน พ่อแม่จำใจจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะเพื่อการันตีว่าลูกจะได้เข้าเรียนโรงเรียนที่ดี เราคงไม่สามารถประณามพ่อแม่ที่ยอมจ่ายได้อย่างเต็มปาก เพราะทุกคนทำไปเพื่ออนาคตของลูกหลานตนเอง ถ้าจะโทษคงต้องโทษระบบที่ทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคอร์รัปชันที่ฝังรากลึก

แล้วเราจะออกจากกับดักประเทศที่มีอัตราคอร์รัปชันสูงอย่างไร?

คำตอบอยู่ที่การรวมกลุ่มของประชาชน ทั้งนี้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่มีต่อปัญหาคอร์รัปชัน หันมามองปัญหาจากตัวระบบมากกว่ามองไปที่ตัวบุคคล

ไม่มีสังคมไหนต้องคำสาปให้อยู่กับปัญหาคอร์รัปชันตลอดไป คอร์รัปชันไม่ได้อยู่ใน DNA ของคนไทย อินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน หรือพม่า แต่ฝังอยู่ในระบบที่ไม่ดี หากเปลี่ยนระบบได้ ก็ออกจากกับดักคอร์รัปชันได้ ในทางตรงข้าม หากเปลี่ยนระบบไม่ได้ ระบบที่ไม่ดีมีพลังมหาศาลในการเปลี่ยนคนดีให้กลายเป็นคนโกงได้เสมอ และระบบที่ไม่ดีจะกักขังให้สังคมต้องติดอยู่ในกับดักคอร์รัปชันอย่างยาวนาน จนกระทั่งบั่นทอนเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความหวังของผู้คนดังที่เกิดขึ้นในกรณีของสังคมไทยของเรา

อินโดนีเซียและเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ดี (อัตราการจ่ายสินบนอยู่ที่ 32 และ 3 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ) ทั้งสองประเทศเคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่คอร์รัปชันสูงมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซียเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่คอร์รัปชันสูงที่สุดในโลก อยู่อันดับรั้งท้ายในช่วงปี 1995-1999 ปัจจุบันขยับมาอยู่ที่อันดับ 90 แซงหน้าประเทศไทยไปแล้วหลายอันดับ

ความสำเร็จของอินโดนีเซียไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย แต่มาจากการรวมกลุ่มรวมพลังอย่างต่อเนื่องและแข็งขันของประชาชนอินโดนีเซียในการต่อสู้กับคอร์รัปชันในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยภาคประชาชนอินโดนีเซียรวมทั้งเกาหลีใต้ทำงานร่วมกับสื่อ ภาคธุรกิจ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในการเปลี่ยนระบบการเมืองและเศรษฐกิจให้มีความโปร่งใสและลดการผูกขาด ทำให้ไม่ว่าชนชั้นนำกลุ่มไหนขึ้นสู่อำนาจ ก็จะถูกตรวจสอบจากประชาชนอย่างเข้มข้นด้วยมาตรฐานเดียวกันหมด ผู้มีอำนาจไม่สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจโดยปราศจากความพร้อมรับผิด (accountability) ต่อประชาชน

คนเกาหลีใต้และอินโดนีเซียมิได้ฝากความหวังไว้ที่ตัวบุคคล แต่มุ่งสร้างระบบที่ดี รวมทั้งไม่ได้ฝากความหวังไว้ที่ภาครัฐในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันจากบนลงล่าง แต่ฝากความหวังไว้ที่ภาคประชาชนในการร่วมกันต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันจากล่างขึ้นบน

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทั้งสองประเทศก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องของการออกจากกับดักคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน

……….

ชวนชมคลิป “ประเทศไทยถูกสาปให้โกงจริงหรือ?” – ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

ติดตามทอล์ก “แก้เกมโกง” ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ในงาน Shift Happens พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ บ่ายวันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2560 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเณศ สยามสแควร์วัน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save