fbpx
แว่นตาของเติ้งเสี่ยวผิง

แว่นตาของเติ้งเสี่ยวผิง

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

 

คำถามแรกที่ อ.ปกป้อง ถามผมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในรายการ 101 One-on-One ก็คือ แว่นตาที่ผมใช้ในการมองจีนเป็นแบบไหน?

ผมช็อคไป 3 วินาที (คำถามอะไรยากจัง) จะถอดแว่นโชว์ว่าใช้แว่นแก้สายตาเอียงที่ใส่อยู่นี่แหละ ก็เกรงว่าผู้ชมจะไม่ตลกด้วย

จึงรวบรวมสติ และตอบไปว่า ใช้แว่นเดียวกับเติ้งเสี่ยวผิง (ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ใส่แว่น) เติ้งเสี่ยวผิงมองจีนอย่างไร คำตอบสั้นๆ ก็คือ เขามองจีนตามความเป็นจริง ไม่งมงายตามทฤษฎี ตามลัทธินิยม หรือตามใจชอบของตัวเอง ภาษาอังกฤษมักเรียกเติ้งเสี่ยวผิงว่าเป็น Pragmatist คือ นักปฏิบัติ ดังวลีเด็ดที่เติ้งเสี่ยวผิงยืมมาจากสำนวนเก่าของเสฉวนว่า “ไม่ว่าแมวขาว แมวดำ ขอเพียงจับหนูได้เป็นพอ”

เติ้งเสี่ยวผิง มีลักษณะเด่นใหญ่ๆ อยู่ 3 ข้อ ครับ

 

หนึ่ง เติ้งเป็นนักทดลอง ไม่ใช่นักทฤษฎี

 

ตอนที่เติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นเปิดและปฏิรูปประเทศจีนในปี ค.ศ. 1978 นั้น เติ้งไม่ได้มี “master plan” อยู่ในหัว คือไม่รู้ว่าภาพสุดท้ายจีนควรจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร และไม่มีทฤษฎีนำว่าจีนควรพัฒนาไปทางไหน จีนเองไม่ได้เลือกที่จะปฏิรูปให้เป็นทุนนิยมเสรีและประชาธิปไตยเสรีในทีเดียวอย่างที่สหภาพโซเวียตได้พยายามทำ แต่เลือกที่จะค่อยๆ ปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เติ้งเสี่ยวผิงเป็นนักทดลอง เขาริเริ่มให้ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษก่อน ได้แก่ที่เสินเจิ้น (ตรงข้ามฮ่องกง) เซี่ยเหมิน (ตรงข้ามเกาะไต้หวัน) จูไห่ ชานโถว และเกาะไหหลำ จากนั้นเมื่อเห็นความสำเร็จที่ชัดเจน ก็ค่อยประชาสัมพันธ์ความสำเร็จ เรียกเสียงสนับสนุนจากผู้คนในสังคม ค่อยๆ เกิดเป็นฉันทมติร่วม จนสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ส่วนนโยบายไหนที่มีข้อผิดพลาดหรือไม่ประสบความสำเร็จ ก็นำมาปรับปรุงแก้ไข

 

สอง เติ้งเป็นนักการเมือง ไม่ใช่นักปฏิวัติ

 

ในยุคของเหมาเจ๋อตง พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคของนักปฏิวัติ ต้องการเป็นผู้นำการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยนโยบายก้าวกระโดดไกล และปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ผลสุดท้ายกลับก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เป็นยุคสมัยแห่งความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพ เพราะต้องต่อสู้กับศัตรูของชนชั้นกันตลอดเวลา ส่วนผลผลิตในประเทศก็ตกต่ำ ผู้คนยากจน อดอยากล้มตายจำนวนมาก

เติ้งเสี่ยวผิงเป็นนักการเมือง มากกว่านักปฏิวัติ เขาเป็นนักประนีประนอม เล่นบทรุกและรับสลับกัน ใช้กลยุทธ์ทางการเมืองในการผลักดันการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันเหมือนการปฏิวัติที่ต้องการเปลี่ยนประเทศในพริบตา ทำให้เขาสามารถรับมือและจัดการกับเสียงต่อต้านทั้งจากฝั่งอนุรักษนิยม (พวกเหมาเก่าที่เห็นว่าเติ้งกำลังทรยศอุดมการณ์) และฝ่ายหัวก้าวหน้า (ที่ต้องการเร่งเครื่องยนต์การปฏิรูปให้เร็วกว่านี้) เมื่อคนค่อยๆ เห็นความสำเร็จจริงจากการทดลองในพื้นที่เล็กๆ ก่อน ก็ค่อยๆ เกิดเป็นฉันทมติร่วมกันในหมู่ชนชั้นนำที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป

ในอดีต จีนเคยก้าวไปข้างหน้า เพราะนักปฏิวัติ แต่ก็เคยเสียหายมามากเช่นกันกับนักปฏิวัติ การปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงของซุนยัดเซ็น นำสู่ความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพเป็นเวลายาวนาน การปฏิวัติของเหมาเจ๋อตงเอง รวมทั้งการปฏิวัติวัฒนธรรมต่อมา ก็ทำให้เกิดความระส่ำระสายอย่างมากในสังคมจีน

เมื่อมองย้อนกลับไป หลายคนมองว่าถ้าในสมัยราชวงศ์ชิงสามารถดำเนินการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยเมจิของญี่ปุ่น หรือหากในสมัยพรรคก๊กหมิ่นตั๋ง สามารถดำเนินการปฏิรูปได้ ก็คงสามารถหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองและการสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก

เติ้งเสี่ยวผิงมองว่าจีนต้องเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ต้องไม่ใช่มาปฏิวัติล้มล้างพรรคคอมมิวนิสต์กันอีกครั้ง โดยยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา เขาเลือกที่จะปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เปลี่ยนแปลงระบบเดิมให้ดีขึ้นตามสภาพความเป็นจริงของสังคมจีน ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดในระยะยาวของพรรคคอมมิวนิสต์เองด้วย

 

สาม เติ้งเป็นนักพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ใช่นักปฏิรูปการเมือง

 

เติ้งเสี่ยวผิงเชื่อตามแนวความคิดของมาร์กซ์ที่ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง จนถึงระบบทางกฎหมาย เขาจึงเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง โดยมีหลักคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นสังคมทุนนิยมหรือสังคมนิยม ก่อนอื่นพื้นฐานทางเศรษฐกิจต้องเป็นสังคมอุตสาหกรรมเสียก่อน ดังนั้นจึงต้องทำการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรมให้สำเร็จก่อน เติ้งเสี่ยวผิงจึงเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อปลดปล่อยพลังการผลิต เพราะถ้ายังเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่ ก็เป็นได้แค่สังคมศักดินาเท่านั้น เติ้งเสี่ยวผิงยังเชื่อว่าสังคมมีขั้นตอนในการพัฒนา ไม่ใช่จะกระโดดข้ามขั้นกันได้ ไม่ใช่จะเอาความคาดหวังของประเทศพัฒนาแล้วมาใช้กับจีนในวันนี้ได้

เติ้งเสี่ยวผิงไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงจีนให้เป็นประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย ให้มีพรรคการเมืองหลายพรรคมาแข่งขันกัน เขายังคงยึดหยัดหลักการนำของพรรคคอมมิวนิสต์ จุดด่างดำของเติ้งเสี่ยวผิง ก็คือความโหดร้ายและความรุนแรงในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

เช่นเดียวกัน เติ้งเสี่ยวผิงไม่มีแนวคิดที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชนทั้งหมด เขายังเชื่อว่า รัฐยังต้องควบคุมและเป็นเจ้าของส่วนยอดของระบบเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็เริ่มผ่อนคลายให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งจีนมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบด้วยค่าแรงราคาถูก

ด้วยลักษณะเด่นเหล่านี้ของเติ้งเสี่ยวผิง จึงทำให้สังคมจีนยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจหรือการเมือง มีลักษณะผสมผสานระหว่างสองระบบที่ดูเหมือนไม่น่าจะเข้ากันได้

  • ในด้านเศรษฐกิจ เป็นการผสมระหว่างรัฐและเอกชน จีนใช้ระบบเศรษฐกิจที่นำโดยภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจควบคู่กันไป จีนมีภาคเอกชนที่ใหญ่ ซึ่งมีผลผลิตสูง คิดเป็น 65% ของ GDP และมีการจ้างงานสูงกว่าภาครัฐวิสาหกิจ แต่บริษัทเอกชนส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทขนาดเล็ก ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากในจีนเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งรัฐวิสาหกิจยังยึดครองอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้นเกือบทั้งหมดในจีน รัฐบาลจีนยังคงต้องการควบคุมส่วนยอดของระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมผ่านกลไกรัฐวิสาหกิจ
  • ในด้านการเมือง เป็นการผสมระหว่างการกดและการผ่อนคลาย จีนเป็นเผด็จการที่คอยกดให้ศัตรูกลัว ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและของพรรค ไม่เปิดให้มีการแข่งขันจากพรรคการเมืองอื่น และปราบศัตรูทางการเมืองของพรรคอย่างเด็ดขาดโดยกลไกทั้งในและนอกกฎหมาย แต่จีนก็มีการผ่อนคลายและเปิดกว้างมากขึ้นทางการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีกลไกรับฟังและสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เป็นระบบรัฐราชการที่มีกลไกการเลื่อนชั้นของเจ้าหน้าที่ที่เป็นระบบ มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของผู้นำสูงสุดอย่างสันติและมีวาระการดำรงตำแหน่งแน่นอน พร้อมเปิดกว้างให้มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล รวมทั้งพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ

หลักสำคัญที่จีนยึดถือ คือ การรักษาเสถียรภาพทางการเมือง และเดินหน้าพัฒนาทางเศรษฐกิจภายใต้เสถียรภาพทางการเมืองดังกล่าว เมื่อครั้งที่เริ่มต้นปฏิรูปในช่วงแรก นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมักเสนอให้จีนยอมเจ็บตัว เดินหน้าเปลี่ยนผ่านจากระบบวางแผนจากส่วนกลางไปสู่ระบบตลาดในทันที ยอมปล่อยให้รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนล้มละลายให้หมด แต่จีนกลับเลือกที่จะอุ้มรัฐวิสาหกิจ รักษาเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ใช้กลไกตลาดและการแข่งขันเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ยังคงภาครัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้นไว้ดังเดิม โดยพยายามทำการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง

เมื่อนักทฤษฎีเอาทฤษฎีมาจับจีนย่อมผิดหวัง นักทฤษฎีทุนนิยมเสรีก็จะมองว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะมีประสิทธิภาพได้มากกว่านี้ และเติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปมากและเร็วพอ ส่วนนักทฤษฎีสังคมนิยม ก็จะเห็นว่าเติ้งเสี่ยวผิงได้พาจีนหลงเข้าไปในป่าดงพงไพรของทุนนิยม ซึ่งมีแต่สิงห์สาราสัตว์ที่เต็มไปด้วยความโลภ

นักทฤษฎีที่นิยมประชาธิปไตย จะเห็นว่าจีนเป็นเผด็จการที่ปราบศัตรูทางการเมืองอย่างเลือดเย็น ส่วนนักทฤษฎีเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบเลนิน ก็จะมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์ยังรวบอำนาจและยังทำการส่งเสริมอุดมการณ์ไม่เพียงพอ ปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ใช่พรรคอุดมการณ์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นพรรคของรัฐราชการที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ รับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ทฤษฎีอาจช่วยให้เรามองเห็นวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ แต่เติ้งเสี่ยวผิงมักเตือนว่า ต้องไม่หลงงมงายกับทฤษฎี ต้องไม่เอาทฤษฎีมาปรับใช้ โดยไม่ดูข้อจำกัดและสภาพความเป็นจริง เมื่อดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่ผ่านมา เราจะเห็นพัฒนาการของนโยบายเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤตการเงินโลก จีนใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ แต่ภายหลังจากนั้น เศรษฐกิจจีนก็เข้าสู่ยุคที่เติบโตช้าลง ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้จีนในปัจจุบันต้องพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากเน้นปริมาณมาเน้นคุณภาพ จากเน้นการส่งออกและการลงทุนมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ จากเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมาเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและภาคบริการ

แว่นตาที่ใช้มองจีน ไม่ต้องมีสี ไม่ต้องตัดแสง ขอเป็นแว่นใสๆ อย่างที่เติ้งเสี่ยวผิงใช้ เพื่อมองดูว่า แมวจีนพยายามจับหนูตัวใดอยู่ เขาพยายามแก้ปัญหาอะไร ภายใต้ข้อจำกัดอะไร กำลังอยู่ในขั้นตอนใดของการพัฒนา

และในโลกความเป็นจริง เมื่อแก้ปัญหาหนึ่ง ก็ย่อมทำให้เกิดปัญหาใหม่ให้แก้กันต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save