fbpx
การเดินทางของพ่อ คนรุ่น "เสื่อผืนหมอนใบ"

การเดินทางของพ่อ คนรุ่น “เสื่อผืนหมอนใบ”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

 

1

‘เสื่อผืนหมอนใบ’ คือคำที่ใช้เรียกคนจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือราว 70-80 ปีก่อน หนีภัยสงคราม หรือมาเผชิญโชคในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะมาตัวเปล่า แทบจะไม่มีสมบัติใดๆ ติดตัว

พ่อเป็นคนรุ่นนั้น

คุณพ่อและคุณแม่ของผมเป็นคนจีน เกิดในประเทศจีน

ทั้งคู่เป็นลูกจีนแต้จิ๋ว

บ้านเกิดของแม่อยู่ที่เมืองซัวเถา ส่วนบ้านเกิดของพ่ออยู่ในอำเภอเถ่งไห้ เมืองแต้จิ๋ว ที่อยู่ติดกัน

แม่เล่าให้ฟังว่า อาม่าอุ้มแม่ตั้งแต่เป็นเด็กทารกนั่งเรือออกมาจากเมืองซัวเถาตั้งแต่เมื่อ 70 กว่าปีก่อน อพยพมาอยู่เมืองไทย ตั้งรกรากที่ถนนเยาวราช

ขณะที่พ่ออพยพมาเมืองไทยเมื่ออายุได้ประมาณ 23 ปี ตอนนั้นสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลก๊กมินตั๋งของประธานาธิบดีเจียงไคเช็คและพรรคคอมมิวนิสต์ของประธานเหมาเจ๋อตง กำลังงวดเข้ามาทุกทีแล้ว ความอดอยากแผ่กระจายไปทั่วเมืองจีน พ่อเห็นว่าหากอยู่เมืองจีนคงต้องอดอยากแน่นอน เพราะมีพี่น้องถึง 10 คน จึงตัดสินใจหนีอากงมาเผชิญโชคที่เมืองไทย

พ่อเล่าให้ฟังว่าก่อนมาเมืองไทย พ่อไปหางานทำที่ฮ่องกง จากนั้นหนีขึ้นเรือมาเมืองไทย ระหว่างทางเรือต้องจอดแวะที่เมืองซัวเถาก่อน พ่อจึงส่งข่าวไปให้อากงมาพบที่ท่าเรือ อากงขอร้องให้พ่อกลับบ้าน แต่พ่อตั้งใจแล้วว่าจะไปเผชิญโชค อากงจึงบอกให้ไปลาอาม่าที่บ้านก่อน แต่พ่อกลัวว่าหากไปลาอาม่าแล้วอาจใจอ่อน จึงไม่ยอมไป และคิดว่าอีกไม่นานคงได้กลับมาซบหน้าอากง อาม่า โดยไม่คิดเลยว่าครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นหน้าอากง

หลังจากที่พ่อหนีมาเมืองไทยได้ 2 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยึดประเทศได้สำเร็จ อากงเป็นข้าราชการฝ่ายก๊กมินตั๋งจึงถูกจับ ตอนแรกทางคอมมิวนิสต์จะฆ่าทิ้ง เพื่อล้างระบอบเก่าให้สิ้นซาก แต่ชาวบ้านแถวนั้นขอร้องให้ไว้ชีวิต เพราะอากงทำงานรับใช้ประชาชนด้วยดีมาตลอด อากงรอดตาย แต่ถูกทุบตีจนขาเน่า และยังต้องติดคุกอีกปีกว่า พอออกจากคุกได้ไม่นาน อากงก็ตรอมใจตาย

ส่วนเกาเจ็ก น้องชายพ่อคนสุดท้อง ถูกเจ้าหน้าที่ของพรรคฯ จับกุมคุมขัง ทรมาน และส่งไปใช้แรงงานไกลถึงมองโกเลียเป็นเวลาหลายปี พอพ้นโทษออกมาก็อยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการปั่นจักรยานไปกลับวันละร้อยกว่ากิโล เพื่อเอาผักจากสวนมาขายในตลาด

ผมจึงเข้าใจได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เหตุใดพ่อถึงเกลียดคอมมิวนิสต์มาก พ่อฝังใจตลอดว่า คอมมิวนิสต์พรากชีวิตของอากง และทำให้พี่น้องของเขาบ้านแตกสาแหรกขาด ขณะที่พวกเราตอนเป็นหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน กลับชื่นชมอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะทำให้สังคมมีความสุขอย่างเท่าเทียมกัน

‘ชีวิตจริงของพ่อ’ กับ ‘อุดมการณ์ของเรา’ จึงเดินสวนทางกันในช่วงเวลาหนึ่ง

เมื่อพ่ออาศัยเรือถึงท่าเรือบางรัก คนที่จะเข้าเมืองต้องแสดงเอกสาร แต่พ่อไม่มีอะไร เป็นอย่างไรเป็นกัน พ่อต้องขึ้นเมืองไทยให้ได้ พ่อถอดเสื้อผ้าออก เอาน้ำมันเครื่องทาตัวเป็นสีดำ เหน็บไขขวง แล้วเดินอาดๆ ไปที่ประตู มีตำรวจยืนขวาง พ่อโบกมือให้ตำรวจเปิด ทำตัวเป็นช่างเครื่อง พอพ้นออกมา พ่อรีบเรียกสามล้อ ให้ไปส่งที่ ร้านทอง “เซ่ง เฮง หลี” ถนนเยาวราช เจ้าของร้านเป็นเพื่อนสนิทของอากงที่ฝากฝังกันมาก่อนหน้านี้

เพื่อนพ่อฝากงานให้เป็นคนเขียนจดหมายให้กับคนที่จะฝากเงินไปเมืองจีน และเคยทำงานกับนายห้าง เทียม โชควัฒนา อยู่พักหนึ่ง พ่อบอกว่านายห้างโทรศัพท์ติดต่อเมืองนอกตลอดเวลา ต่อมาได้งานทำที่ธนาคารจีนซีไฮทงแถวราชวงศ์ เงินเดือน 400 บาท

พ่อเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ต่างจากแรงงานต่างด้าวในปัจจุบัน จนสี่ปีต่อมา จึงมีโอกาสรู้จักลูกสาวคนโต เจ้าของร้านชำย่านเยาวราช

คุณตาหวงลูกสาวแสนสวยคนนี้มาก จนหล่อนอายุ 28 เมื่อมาเจออาตี๋ไม่มีหัวนอนปลายตีนได้เพียงไม่กี่เดือน ก็ตัดสินใจแต่งงานกัน

 

 

2

พ่อกับแม่เกิดปีเดียวกันคือ พ.ศ. 2468 ห่างกันแค่เดือนเดียว พ่อเกิดเดือนพฤษภาคม แม่เกิดมิถุนายน

พ่อมาเผชิญโชคที่เมืองไทย แทบจะไม่มีคนรู้จัก ทำงานได้เท่าไรก็เก็บเงินส่งไปให้คุณย่าใช้จ่าย พ่อได้เงินเดือน 400 บาท ส่งไปทางบ้าน 300 บาท ที่เหลือเก็บไว้ใช้ส่วนตัว

การส่งเงินไปให้ทางบ้านญาติพี่น้องที่เมืองจีนใช้ พ่อยังทำสม่ำเสมอจนถึงวาระสุดท้าย

พ่อเป็นคนประหยัดมาก จากความยากลำบาก แม้กระทั่งปัจจุบัน ผ้าเช็ดตัวที่พ่อใช้ขาดแล้วขาดอีก ลูกๆ จะเอาผืนใหม่มาเปลี่ยนให้ ก็จะไม่ยอมเด็ดขาด บอกว่ายังใช้ได้

คนรุ่นสงครามโลกทั้งพ่อแม่จะมีนิสัยประหยัดมาก เพราะความยากลำบากในอดีตฝังอยู่ในดีเอ็นเอของคนรุ่นนั้นที่ต้องประหยัดทุกอย่าง แม้ว่าจะมีฐานะดีขึ้นก็ตาม

พี่มด วนิดา ลูกสาวคนโตผู้ล่วงลับไป เคยเขียนถึงแม่ไว้ว่า

“แม่ฉันเป็นสาวสวยย่านเยาวราช  ถ้าสมัยนั้นมีการประกวดมิสไชน่าทาวน์ แม่ฉันต้องได้แน่ๆ  แม่บอกว่า ตากับยายอุ้มแม่มาตั้งแต่ยังแบเบาะ ลงเรือข้ามทะเลมาจากซัวเถา และมาตั้งรกรากแถวเยาวราช

ในสมัยนั้นเสี่ยมล้อ (เมืองสยาม) คงเป็นแหล่งขุดทองสำหรับคนจีนอพยพจำนวนมากที่หนีความยากแค้นมาพึ่งพา แม่บอกว่าชีวิตในวัยเด็กแม่ค่อนข้างสบาย เพราะตากับยายไม่ค่อยได้ให้ทำอะไร ตากับยายเปิดร้านขายของชำเล็กๆ ภายหลังค่อยเปลี่ยนเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดย่อม ชื่อห้างหยงงั้ง

แต่ชีวิตก็คงฝืดเคืองพอสมควร เพราะในห้องแถวเล็กๆ 2 ห้อง ขนาด 2 ชั้นครึ่ง มี 2 ครอบครัวใหญ่อาศัยอยู่ คือ ครอบครัวตากับยาย ซึ่งมีลูกเล็กๆ ไล่กันมา 7 คน  และน้องชายของตาก็มีลูกๆ ถึง 7 คนเช่นเดียวกัน

ห้างหยงงั้ง ซึ่งเป็นห้างเล็กๆ ต้องรับภาระเลี้ยงดูปากท้องกว่า 20 ชีวิต นับว่าคนสมัยนั้นต้องแน่จริงๆ แต่ตายายเป็นพ่อแม่ที่ใจดี รักลูกสาว 4 คนมาก ให้ลูกสาวได้เรียนหนังสือ ในขณะที่ลูกชายต้องทำงานหน้าร้านและเรียนไปด้วย แม่ได้เรียนหนังสือจีนจนอ่านออกเขียนได้ระดับหนึ่ง โรงเรียนจีนก็ถูกปิดไปโดยฝีมือของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้น

พอย่างเข้าสู่วัยรุ่นอายุได้ 15 ปี เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรก็มาทิ้งระเบิดแถวเยาวราช หัวลำโพง เพราะไทยจับมือกับญี่ปุ่น ตาเลยอพยพแม่และน้องๆ ทั้ง 6 คน ไปอยู่กับญาติที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งในสมัยนั้นก็คงเป็นชนบทมากๆ แม่อาศัยอยู่กับยายและน้องๆเป็นเวลาถึง 5 ปี ส่วนตายังคงเปิดร้านและมาเยี่ยมครอบครัวทุกเดือนพร้อมค่าใช้จ่าย

แม่บอกว่า แม่อาศัยอยู่ในตลาด เย็บหมวกใบลานขายใบละ 1 บาท มีคนมาสู่ขอแม่เยอะ แต่ตาไม่ยอมบอกว่า ไม่อยากให้ลูกสาวแต่งงานอยู่บ้านนอก (ชนบท) แม่เองก็คงไม่ปิ๊งใครด้วยแหละ เพราะแม่เป็นคนตามใจตัวเอง และตาก็ตามใจแม่

พออายุ 20 ปี แม่กลับมาอยู่บ้าน (เยาวราช) แม่ก็ไปเรียนภาษาจีนเพิ่มเติม ยังมีการสอนอยู่ตามบ้าน (ไม่เป็นทางการ) แม่ยังใช้ชีวิตค่อนข้างสบาย แม่ได้ไปดูหนัง ดูงิ้ว อยู่บ้านช่วยยายเย็บมุ้งขาย ใช้ชีวิตอยู่ที่ย่านเยาวราชต่อมาอีก 8 ปี จึงได้เจอพ่อ

แม่ฉันเป็นสาวหน้าหวาน ตาโต รูปร่างสวยงาม ไม่น่าเชื่อว่าครองตัวเป็นโสดจนอายุ 28 ปี จึงได้เจอพ่อ พ่อซึ่งเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายตีน หัวเดียวกระเทียมลีบ เดินทางมาจากเมืองเถ่งไห้ มณฑลซัวเถาเช่นเดียวกับบ้านเกิดตายาย อายุ 23 ปี เดินทางหลบๆ ซ่อนๆ มาในเรือโดยสารซัวเถา-บางกอก และต้องทำงานหากินตัวคนเดียวอย่างหลบๆ ซ่อนๆ

ต่อมาอีก 5 ปี จึงเจอสาวงามในดวงใจ แล้วศรรักก็ปักอกหนุ่มสาวที่มีรากเหง้ามาจากมาตุภูมิเดียวกัน แต่มาคนละเวลา แม่มาตอนอายุ 1 ขวบ พ่อมาตอนอายุ 23 ปี

ในห้องอาหารแห่งหนึ่ง แม่ได้รับการแนะนำให้รู้จักหนุ่มหน้ามน ชาวจีนโพ้นทะเล ที่ทำงานเป็นเสมียนของห้างร้านแห่งหนึ่ง ต่อมาอีก 6 เดือน แม่ก็ตัดสินใจแต่งงานกับพ่อ ซึ่งไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรติดตัวมาเลย นอกจากความรู้ด้านหนังสือจีนอย่างดีเท่านั้น

ตาก็เต็มใจยกแม่ให้ เพราะความที่ตารักลูกสาวมาก ไม่อยากให้ลูกสาวไปอยู่กับครอบครัวคนอื่น กลัวจะลำบาก แต่งกับพ่อก็ดีแล้ว เพราะพ่อตัวคนเดียวไม่มีครอบครัวของพ่อมาเมืองไทยเลยแม้แต่คนเดียว จบสิ้นความฝันของสาวรักอิสรภาพและหนุ่มพเนจร กลายเป็นตำนานรักบทใหม่ของหนุ่มสาวที่ฟันฝ่าคลื่นลมมรสุมชีวิตร่วมกัน”

พ่อแม่แต่งงานกัน อาจจะไม่ได้เริ่มต้นจากความรักแบบหนุ่มสาวทั่วไป แต่เมื่อเริ่มต้นกันแล้ว ความรักของทั้งสองกลับค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นจนเป็นความรักชั่วนิจนิรันดร

 

 

3

ทุกวันนี้หากใครมีลูกเกินสองคน ก็ดูจะเป็นภาระหนักสำหรับครอบครัวแล้ว

แต่แม่มีลูกถึง 7 คน

เมื่อแต่งงานแล้ว พ่อแม่ได้แยกออกมาเช่าบ้านอยู่ ตอนแรกพ่อยังทำงานประจำ แต่เมื่อมีลูกคนที่สาม พ่อคิดว่าลำพังเงินเดือนคงไม่พอเลี้ยงลูก น่าจะออกมาประกอบกิจการเองดีกว่า

ประมาณปี พ.ศ. 2499 พ่อวัยสามสิบเริ่มต้นความฝัน ด้วยการร่วมหุ้นกับเพื่อน กู้เงินไปซื้อโรงงานยากันยุงเล็กๆ แห่งหนึ่ง โดยคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว โดยหารู้ไม่ว่า อีกยี่สิบกว่าปีข้างหน้า ทุนนิยมของจริงได้กัดกร่อนชีวิตครอบครัวอย่างขมขื่น

พ่อย้ายมาเช่าบ้านขนาดร้อยตารางวา ด้วยค่าเช่าเดือนละ 800 บาท ที่ถนนปั้น วัดแขก สีลม และสร้างโรงงานเล็กๆ ขึ้นที่นั่น

พ่อกับแม่แบ่งงานกันทำชัดเจน แม่คลอดลูก ตั้งท้อง คลอดลูก ที่แทบจะหัวปีท้ายปีและเลี้ยงลูกได้อย่างน่าอัศจรรย์

แม่เคยเป็นคุณหนูของคุณตา แต่มาบัดนี้ กลับทำทุกอย่างตั้งแต่เลี้ยงลูก ซักผ้า ทำกับข้าว และดูแลคนงานสิบกว่าคนแทนพ่อ จนแทบจะบริหารโรงงานแทน เมื่อพ่อไปต่างจังหวัด

สิ่งที่ผมนึกออกในวัยเด็กคือ ‘ไม้เรียว’ ที่เลี้ยงลูกเจ็ดคนได้ดี แม่ตีจนร้องไห้เป็นเรื่องอยู่ในความทรงจำตลอดมา

พี่มด ลูกสาวคนโต เคยเขียนบันทึกไว้ว่า

“สำหรับเรื่องการกินอยู่ เนื่องจากเราต้องทำอาหารเลี้ยงคนงานด้วย แม่จะทำกับข้าวเป็น 2 ชุด คนงานกินอย่างไร พวกเราก็กินอย่างนั้น คนงานจะกินก่อน หลังจากนั้น ลูกๆ ทั้ง 7 คนและแม่ก็จะได้กิน ฉันจำได้ติดตาบนโต๊ะอาหาร ถ้ามีผัดกะหล่ำปลีใส่หมู หมูจะอันตรธานหายไปในชั่วพริบตา ถ้าแม่ไม่อยู่ที่โต๊ะอาหาร ลูกๆ ก็จะไม่อยู่เช่นเดียวกัน อาจจะอยู่ใต้โต๊ะหรือกำลังสนใจสิ่งอื่นๆ นอกโต๊ะอาหาร เมื่อแม่เดินกลับมาที่โต๊ะอาหาร ทุกคนก็จะกลับมาประจำโต๊ะที่เดิมหลังเสียงเอ็ดตะโรดังลั่นของแม่ เวลาพ่อกลับมาพ่อต้องคอยเรียกชื่อลูกทุกคน และนับว่าอยู่ครบไหม เมื่อพ่อกลับจากต่างจังหวัด พวกเราทุกคนจะไปห้อมล้อมพ่อ นั่งตักพ่อ พ่อจะเล่านิทานขำขันให้ฟัง”

ขณะที่พ่อก็ไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน เพราะต้องเอายากันยุงออกขายตามต่างจังหวัด ผมจำได้ว่า พ่อจะเช่ารถสี่ล้อ บรรทุกยากันยุงไปขายตามต่างจังหวัด พ่อขึ้นเหนือล่องใต้ไปทุกจังหวัดแทบทุกอำเภอมาหลายรอบ พ่อเอาสินค้าไปขาย และก็เก็บเงินด้วย จนแทบไม่ได้อยู่บ้าน พอกลับบ้าน ก็เตรียมเอาสินค้าไปขายต่อ

แม้พ่อจะทำงานหนัก ประหยัดอย่างไรแต่รายได้ก็ไม่พอ แถมมีหนี้สิน เพราะคู่แข่งมีแบรนด์ที่เก่าแก่  ยากันยุงยี่ห้อ ‘นางฟ้า แฟรี’ แบบแท่ง และยี่ห้อ ‘ฮีโร่’ แบบขดวงกลม ของพ่อติดตลาดยากกว่า

พ่อกลับบ้านด้วยสีหน้าเคร่งเครียดตลอดเวลายี่สิบกว่าปีในการค้าขาย

ผมจำได้ดีว่า เมื่อกลับจากโรงเรียนแล้ว ต้องช่วยคนงานเอายากันยุงที่เป็นแท่งสีเขียวใส่กล่องกระดาษสีแดง บางวันก็เอากาวมาแปะซองกระดาษจนมืดค่ำกว่าจะได้กินข้าว เพราะพ่อรอบรรจุสินค้าขึ้นรถไปขายต่างจังหวัด

บางวันพ่ออาจใจดีพาไปดูหนังที่โรงหนังกันทั้งครอบครัว และนั่งรถแท็กซี่ไปเที่ยวชานเมือง ชานเมืองเวลานั้นก็คือแถวถนนสุขุมวิท ยังเป็นทุ่งนา หรือไม่ก็พาไปกินติ่มซำ ภัตตาคารแถวสีลม

เสียงที่เราได้ยินยามค่ำคืน คือเสียงทะเลาะกันของพ่อแม่เป็นประจำ เพราะค้าขายไม่ราบรื่น เก็บเงินไม่ค่อยได้ สินค้าขายไม่ดี เป็นหนี้สิน ต้องหมุนเงิน เที่ยวหยิบยืมเงินเพื่อนฝูงตลอด นับวันหนี้สินก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ต้องเลี้ยงลูกเจ็ดคนให้ได้ดี

พ่อแม่ตั้งใจเลยว่าจะต้องส่งลูกเรียนให้ได้ดีที่สุด ลูกชายสี่คนเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนและอัสสัมชัญบางรัก ส่วนลูกสาวเรียนอัสสัมชัญศึกษาทุกคน

แม้พ่อแม่จะมีหนี้สิน เงินไม่พอใช้ แต่ก็มุ่งมั่นที่จะให้ลูกได้รับการศึกษาดีที่สุด จนทุกคนเรียนจบปริญญาตรี

แต่ในระหว่างนั้นเอง พ่อต้องติดคุก และล้มละลาย

 

4

ความทรงจำของผมย้อนกลับไปได้ไกลสุด ก็คงตอนอายุสี่ขวบ เรียนโรงเรียนอนุบาลประไพพัฒน์อยู่ติดกับบ้านที่ซอยวัดแขก

ผมจำได้ว่า นกที่รู้จักเป็นตัวแรกคือ นกยูง ที่โรงเรียนเลี้ยงไว้ พวกเราชอบไปดูมันรำแพนหาง ร้องก็เสียงดัง บริเวณบ้านยังมีต้นไม้ขึ้นมากมาย เด็กๆ มักไปเก็บลูกพุทรา ลูกฝรั่ง ยอดกระถิน กินอย่างเอร็ดอร่อย บ้านชาวบ้านรอบๆ ก็ยังมีสัตว์เลี้ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเป็ด ไก่ สุนัข ลิง ชะนี

แม้โรงเรียนอนุบาลจะอยู่กลางกรุงเทพฯ แต่เด็กสมัยนั้นไม่ใช้สมุด ใช้กระดานชนวนและชอล์กเขียนหนังสือแทน พอเขียนจนเต็มกระดาน ก็เอาผ้าชุบน้ำลบทิ้ง

วิชาคัดลายมือ ก เอ๋ย ก ไก่ ก็ยังจำได้ แม้จะพยายามคัดลายมือบรรจงแค่ไหน ลายมือแบบไก่เขี่ยยังติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีเลือดพ่อที่เขียนอักษรจีนได้งดงาม จนกลายเป็นผู้เขียนอักษรจีนติดตามวัดจีนหลายแห่งในกรุงเทพฯ

พอโรงเรียนเลิกบ่ายสามโมง ผมจะเดินกลับบ้านเอง แม่จะชงโอวัลตินให้กิน ก่อนจะออกไปวิ่งเล่น แม่ไม่มีเวลาประคบประหงมลูกเจ็ดคน ไหนจะงานบ้าน ไหนจะดูแลคนงาน ทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเองตลอด หากไม่อยู่ในโอวาทแม่ ก็เจอไม้เรียว

พ่อแม่ตั้งใจให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ ทุกคน โชคดีที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน อัสสัมชัญ และอัสสัมชัญศึกษา อยู่ไม่ไกลจากบ้าน แม่เลยทำทุกวิถีทางที่จะให้ลูกเข้าเรียนได้

ผมจำได้ว่า วันสอบเข้าเรียนชั้นประถมเป็นอีสุกอีใส แม่ก็พาไปสอบให้ได้

(จำแม่นว่าข้อสอบวิชาเขียนไทยเข้า ป.1 สุดโหด อาทิให้เขียนคำว่า ‘อัฒจันทร์’ ให้ถูกต้อง)

แม้จะสอบได้ แต่แม่ต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้กับโรงเรียนอันดับต้นๆ ของประเทศด้วย แม่ต่อรองกับทางโรงเรียนเหลือ 400 บาท

ใครๆ คิดว่าลูกบ้านนี้เป็นลูกเจ้าสัว เรียนโรงเรียนแพงๆ แต่หารู้ไม่ว่าผมและพี่น้องต้องเดินไปกลับโรงเรียนทุกวัน ตอนประถมแม่ให้ค่าอาหารวันละ 1 บาท

ทุกเช้าผมมีหน้าที่ติดเตาถ่าน หุงข้าวและคดข้าวใส่กล่องอาหารไปกินมื้อกลางวันที่โรงเรียน พอมื้อเที่ยง ผมจะขอแม่ค้าข้าวแกงราดน้ำแกงฟรี กินข้าวให้ลื่นคอ

พี่มดเคยเขียนไว้ว่า

“เมื่อฉันโตพอที่จะช่วยแม่ได้ ฉันยังจำภาพในตอนกลางคืน ที่พวกเราส่วนใหญ่หลับแล้ว แต่แม่ยังหลังขดหลังแข็งเย็บเสื้อผ้าชุดนักเรียนของลูกๆ ทั้ง 7 คน เพราะพวกเราโตขึ้นทุกวัน แม่ฉันตัดเย็บเสื้อผ้าเก่ง จักรเย็บผ้าแบบใช้เท้าถีบที่ยายให้เป็นของขวัญแต่งงาน คือเครื่องจักรตัวเดียวในบ้าน ที่ทำให้พวกเรามีเสื้อผ้าชุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชุดนักเรียน ชุดไปเที่ยว ชุดใส่อยู่บ้าน แม้แต่เสื้อผ้าชุดกระโปรงของแม่ ส่วนใหญ่แม่ก็เย็บเอง ฉันเองกว่าจะได้ชุดนักเรียนใหม่ ก็ต้องรอจนชุดเก่าซอมซ่อ สีซีดสั้นเต่อ เวลาเดินไปโรงเรียนต้องเอากระเป๋านักเรียนปิดหัวเข่าเอาไว้ กลัวคนเห็น และมักจะแอบอิจฉาเพื่อนในโรงเรียน ที่ได้ใส่เสื้อใหม่ขาวสะอาด กระโปรงจีบรูดพองยาวคลุมเข่าสีแดงสดสวย พวกน้องชายของฉันก็เช่นเดียวกัน ทุกคนต้องทนนุ่งกางเกงสีน้ำเงินสั้นเต่อกว่าจะได้ชุดใหม่

บางคืนฉันจะต้องช่วยแม่ถักรังดุมหรือสอยผ้า แม้การปักอักษรย่อชื่อโรงเรียน เราก็ต้องทำเอง ต้องขึงสะดึง วาดโลโก้ของโรงเรียนและปักด้ายสีแดง บางครั้งฉันง่วงมาก แทบหลับคาสะดึง แม่ต้องปลุกให้ไปนอน แต่แม่ก็ยังคงทำต่อ ฉันไม่รู้ว่าแม่นอนเมื่อไหร่”

พอใกล้สอบประจำภาค เข้าแถวเคารพธงชาติตอนเช้า ครูจะประกาศทางอินเตอร์คอม เรียกให้ไปชำระค่าเล่าเรียน แม่ต้องมาขอผ่อนผันเป็นประจำ เทอมละ 360 บาท ไม่มีปัญญาจ่าย

ช่วงนี้พ่อจะเครียดมาก เพราะต้องหมุนเงินพันกว่าบาท มาจ่ายให้พี่น้องโรงเรียนนี้สามคน ไม่รวมคนโตและเด็กหญิงอีกโรงเรียน

พี่มดบันทึกไว้ว่า

“บางครั้งฉันก็ถูกปลุกให้ตื่นตอนดึก จากเสียงพ่อกับแม่ทะเลาะกัน ฉันจึงรู้ว่าพ่อกลับมาแล้ว ส่วนใหญ่จะทะเลาะกันเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่ไม่พอหรือปัญหาการค้าขาย ฉันรู้ว่าพ่อก็เครียด แม่ก็เครียด เมื่อพ่อใจร้อนใช้เสียงดังกับแม่ แม่ก็จะตอบโต้ บางครั้งฉันได้ยินพ่อพูดว่าอยากจะผูกคอตาย ฉันกลัวมาก ไม่อยากให้พ่อแม่ทะเลาะกัน ฉันได้แต่สงสารพ่อกับแม่ พวกเรานอนเรียงกันในห้องนอนเดียวกัน 9 คน เป็นห้องเดียวที่มีมุ้งลวดกันยุง ฉันรับหน้าที่ไล่ยุงทุกเย็น เราต้องจุดยากันยุงด้วย เพราะยุงเยอะ มุ้งลวดก็มีรูให้ยุงเข้ามา

แม่ของฉันนอกจากจะทำหน้าที่หลายอย่างแล้ว ยังเป็นนักดัดฟันด้วย สมัยนั้นยังไม่มีเทคนิคในการจัด-ดัดฟัน ฟันของลูกแม่เกือบทุกคน ยกเว้นสมชาย มณี พรชัยแล้ว มักจะเป็นฟันจอบยื่นออกมา โดยเฉพาะฉันหนักกว่าเพื่อน แม่บอกว่าตอนฟันแท้ขึ้น ฟันน้ำนมไม่ยอมร่วง ก็เลยขึ้นไม่สวย แม่จะจับฉันยืนติดผนังและกดฟันหน้า 2 ซี่ทุกวัน บางครั้งฉันเจ็บ แต่แม่อยากให้ฉันสวย รวมทั้งลัดดาวัลย์ซึ่งยื่นน้อยกว่าฉัน เลยโดนน้อยหน่อย มณีจะโดนเรื่องจมูกแบน แม่ก็จะดึงจมูกของมณีบ่อยๆ ให้โด่งขึ้น ผมของลูกสาวทุกคนแม่ก็จะเป็นคนตัดให้ ส่วนลูกชายจะมีช่างตัดผมที่เดินรับจ้างตัดตามบ้าน ใช้ปัตตาเลี่ยนมาตัดให้ถึงบ้าน”

ช่วงปี 2516 ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผมอยู่ชั้น ป.7 (ม.1 ปัจจุบัน) พี่มดอยู่ชั้น ม.ศ.5 เราเริ่มมีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างเข้มข้น ทำให้ลูกๆ แทนที่จะช่วยกิจการพ่อแม่ กลับออกไปทำงานเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมทางสังคม จนกลับบ้านมืดค่ำ

พี่มด วนิดา นักศึกษาธรรมศาสตร์ในเวลานั้นแทบจะไม่ได้กลับบ้าน และเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พี่มดหายตัวไป ไปค้นตามโรงพยาบาลหรือเรือนจำก็ไม่พบ อีกหลายเดือนต่อมา พี่มดได้ส่งจดหมายมาว่าอยู่ในป่าสงขลาแล้ว

พ่อแม่ไม่เข้าใจว่า ลูกสาวหายไปไหน ได้แต่ร้องไห้คิดถึงลูก ผมจำได้ดีว่า ทุกค่ำคืน แม่จะไปยืนอยู่หน้าบ้านหลายชั่วโมง รอลูกสาวกลับบ้านเป็นเวลาหลายปี

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาเศรษฐกิจก็รุมเร้ามากขึ้น กิจการโรงงานยากันยุงอยู่มาได้ร่วมยี่สิบปี พร้อมหนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้นมา จนในที่สุด พ่อถูกตำรวจจับข้อหาเช็คเด้ง เนื่องจากไปเซ็นค้ำประกันให้เพื่อนหลายแสนบาท

พ่อถูกส่งเข้าเรือนจำ

เงินแสนในเวลานั้น มันมากมายมหาศาล จนลูกๆ นึกไม่ออกว่าจะหาที่ไหนมาจ่ายแทนพ่อ

เวลานั้นสงสารพ่อแม่มาก เป็นวิกฤตครอบครัวอันหนักหน่วงที่สุดช่วงหนึ่ง

 

5

พี่มดเคยบันทึกไว้หลังออกจากป่าว่า

“ฉันเป็นนักสังคมนิยมที่ล้มเหลว พ่อเป็นนายทุนที่ล้มละลาย”

ในปี 2520 หลังจากพี่มดได้ตัดสินใจเข้าป่าร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารที่ปราบปรามนักศึกษาประชาชน จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่ธรรมศาสตร์ พ่อได้ตัดสินใจเลิกโรงงานยากันยุง และเริ่มลงทุนก่อสร้างตึกแถวขาย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องเลิกกิจการอีก

ผมจำได้ว่าตอนนั้นเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ได้เงินติดกระเป๋าวันละห้าบาท ต้องเดินไปกลับวันละ 10 กิโลเมตร จากบ้านที่ตรอกจันทร์มาโรงเรียนที่บางรัก เพื่อประหยัดเงินค่ารถเมล์วันละบาท

ส่วนชุดนักเรียน แม่ก็เอามาปะแล้วปะอีก คอเสื้อเปื่อยจนปะไม่ได้ กางเกงผ้าเวสต์ปอยต์ก็ขาดจนปะแทบไม่ได้ ตามระเบียบนักเรียนต้องใส่รองเท้าหนังสีดำ คู่ละ 200 บาท ผมต้องไปหลังกระทรวงกลาโหม ซื้อรองเท้าโอ๊คของทหาร คู่ละ 40 บาท มาตัดที่หุ้มข้อออก ให้เป็นรองเท้าหนัง

ตลอดชีวิตนักเรียนไม่เคยซื้อน้ำอัดลมกิน แต่ก็ได้ดื่มกินให้ชื่นใจบ้าง จากน้ำขวดที่เพื่อนๆ กินเหลือในโรงอาหาร

พี่น้องทุกคนรู้ว่า บ้านเราแทบไม่มีเงินติดบ้าน การประหยัดทุกอย่างจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดของพวกเราเอง

แม้กระนั้นเราก็มีเงินหยอดกระปุก จากเงินเหลือแต่ละวัน

พอเลิกทำตึกแถว พ่อก็ไปกู้เงินนอกระบบมาลงทุนทำเหมืองแร่แมงกานิส จากการชักชวนของเพื่อน และก็ล้มเหลว เพราะไม่ชำนาญในธุรกิจและถูกตำรวจจับ

ในปี 2524 มีตำรวจมาดักจับพ่อ ข้อหาไปค้ำประกันเช็คเด้ง พ่อถูกเพื่อนหุ้นส่วนหักหลัง พ่อเป็นคนใจกว้าง ซื่อสัตย์ จึงถูกหักหลังยามวิกฤต

ผมจำได้ว่า แม่เอาข้าวต้มใส่ปิ่นโตไปเยี่ยมพ่อที่โรงพัก และต่อมาถูกส่งตัวไปนอนที่คุกคลองเปรม

ต่อมาทางครอบครัวก็ไปกู้เงินหลายแสนบาทมาประกันตัวพ่อจนได้ หลังจากติดคุกอยู่นานนับเดือน แม่กู้เงินนอกระบบ กู้เงินญาติพี่น้องและตั้งวงแชร์ ขณะที่ผมยังเรียนไม่จบ แต่มีหนี้สินร่วมแสนบาทจากการไปกู้เงินเพื่อนๆ

แต่พ่อก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่บ้านไม่ได้ เพราะมีเจ้าหนี้รายอื่นตามมาทวงเงินอีก

ผมยังจำคำพูดของแม่ได้ดี เมื่อมีเจ้าหนี้รายอื่นมาทวงเงิน และขู่ว่าจะเอาระเบิดมาเขวี้ยงบ้าน

แม่ตอบกลับอย่างเด็ดเดี่ยวว่า

“ลื้อขว้างระเบิดได้ อั๊วก็ไปขว้างระเบิดบ้านลื้อได้”

ตอนนั้นแม่ต้องเลี้ยงลูกที่ยังเรียนไม่จบอีกห้าคน เที่ยวหยิบยืมเงินจากเพื่อนฝูง

ลูกๆ รู้ดีว่า บ้านไม่มีรายได้อะไรอีกแล้ว นอกจากรายจ่าย

ลูกที่เรียนหนังสือทุกคนไม่เคยขอเงินทางบ้านอีกต่อไป ไม่ว่าจะค่าเล่าเรียนหรือค่าอาหาร

ผมรับจ้างสอนพิเศษ รับทำงานแบกของเหมือนกรรมกร และก็เรียนธรรมศาสตร์ไปด้วย

พ่อในวัย 56 ต้องหลบซ่อนตัวจากคนทวงหนี้เป็นเวลานาน แม้จะรักแม่รักลูกเพียงใด ก็ไม่อาจกลับมาเยี่ยมบ้านได้บ่อย อาศัยตามบ้านญาติพี่น้อง อยู่คนเดียวอย่างว้าเหว่มานับสิบปี

ขณะที่แม่ในวัยเดียวกัน ก็เครียดสุดขีด จะหาเงินได้อย่างไรในแต่ละวันจากรายได้ที่ไม่มี นอกจากลูกบางคนที่พอหารายได้ และจะหมุนเงินอย่างไรกับวงแชร์หลายวง ไม่ต่างจากการเป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบในเวลาเดียวกัน ไม่นับความห่วงหาลูกสาวคนโตที่อยู่ในป่า

แม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า ทำไมลูกๆ เอาเวลาไปช่วยเหลือสังคม แทนที่จะช่วยพ่อแม่ที่เอาตัวแทบไม่รอด

 

6

คนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบที่มาเผชิญโชคในเมืองไทย หางานทำหรือสร้างเนื้อสร้างตัวเอง ไม่ได้ประสบความสำเร็จเป็นเจ้าสัว เหมือนกับนามสกุลชื่อดังหลายคน ส่วนใหญ่น่าจะล้มเหลวมากกว่า

พ่อเป็นตัวอย่างที่ดีของหนุ่มจีนที่มาเผชิญโชคในเมืองไทย พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อครอบครัวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่สุดท้ายก็ถูกเพื่อนหักหลัง ประกอบกับพื้นฐานเดิมที่พ่อไม่น่าจะเก่งการค้าขาย เมื่อมาบุกเบิกกิจการเอง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซ้ำยังเป็นหนี้สินมากมาย

พ่อเป็นคนรักหนังสือ เคยเป็นครูและวาดรูปเก่ง มากกว่าเป็นพ่อค้า แต่ชะตากรรมของผู้คนเลือกไม่ได้

เมื่อพ่อต้องหลบหน้าไปจากผู้คนนับสิบปี แม่ก็ต้องมารับภาระหนี้สินแทน แม่ต้องหมุนเงินจำนวนมาก ตั้งวงแชร์หลายวง ต้องหมุนเงินมาให้ได้ แต่โชคดีได้ลูกๆ มาช่วยแบกหนี้แทน

น้องชายเมื่อเรียนจบจากมหิดล ก็ไปเป็นโรบินฮู้ด หางานทำที่ญี่ปุ่น จนเก็บเงินก้อนโตมาช่วยไถ่หนี้

ในเวลานั้น พี่มดออกจากป่า กลับมาเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ หลังจากไปใช้ชีวิตในป่าร่วมห้าปี แม่ดีใจมากที่ลูกสาวคนโตไม่ตาย แต่ช่วงหลายเดือนแรก พี่มดยังปรับตัวไม่ได้กับชีวิตในเมือง จนคิดจะกลับเข้าป่าอีกครั้ง พี่ๆ น้องๆ ต้องช่วยกันพูดว่า หลายปีที่ผ่านมา แม่ทุกข์มาก ไหนจะเรื่องหนี้สิน ไหนจะเรื่องที่พ่อต้องหลบหนี ไหนจะเรื่องพี่สาว แม่ร้องไห้ปิ่มว่าจะขาดใจเกือบทุกคืน เพราะเป็นห่วงลูกสาวคนนี้มาก จนสุดท้ายพี่มดตัดสินใจมาช่วยทางบ้าน

ผมมีเครดิตจากเพื่อนฝูงดี จึงหยิบยืมมาหมุนเงินช่วยทางบ้านได้ จำได้ว่า จบมหาวิทยาลัยมีหนี้หลายแสน ทั้งที่มีเงินเดือนสามพันบาทที่นิตยสารสารคดี แต่ก็ต้องรับจ็อบหลายอย่างเพื่อใช้เงินคืนเพื่อน

ตอนนั้นผมทำทุกอย่างจริงๆ ตั้งแต่ขายแอมเวย์เป็นรุ่นแรกๆ ที่ตัวแทนมาจากมาเลเซีย ต้องแบกน้ำยาทำความสะอาด สินค้าขายดี ขึ้นรถเมล์ไปส่งให้เพื่อน แต่รู้สึกว่าเราคงเป็นเซลที่ดีไม่ได้ ทำได้ไม่กี่เดือนก็เลิกทำ เพราะคงไม่รุ่งแน่ จนเพื่อนแซวว่าหากทำอยู่ถึงตอนนี้ น่าจะได้ขั้นโคตรเพชร

พี่มดและพี่คนอื่นๆ ก็ทำงานทุกอย่างเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ทางบ้าน

พี่มดเริ่มงานขายประกัน ทำสกรีนเสื้อยืดขายฝรั่งนักท่องเที่ยวที่พัทยา เพื่อหาเงินใช้หนี้ ก่อนจะมาทำงานช่วยเหลือชาวบ้านที่ปากมูล

พี่น้องเคยลงทุนจัดคอนเสิร์ตวงแฮมเมอร์ที่จังหวัดชัยนาท แต่ก็ขาดทุน เคยจัดคอนเสิร์ตวงคาราบาวตั้งแต่ยังไม่ดัง คิดจะล้างหนี้ แต่สุดท้ายคนดูก็ยกพวกตีกัน ขาดทุนหลายหมื่นบาท

พ่อหลบไปพักบ้านญาติคนหนึ่ง แม่ยังดูแลลูกๆ ทุกคน และเจรจากับเจ้าของเงินหลายราย รวมทั้งการหมุนเงินผ่อนไปเรื่อยๆ เวลาผ่านไป ลูกๆ ผลัดกันไปเยี่ยมพ่อ สงสารพ่อต้องหลบซ่อนตัวอยู่คนเดียว พ่อคงคิดถึงลูกเมียมาก อยากกลับบ้าน บางครั้งพ่อกินเหล้าเมา ละเมอเรียกชื่อลูกทุกคน นานๆ ทีพ่อจะได้กลับบ้าน

ต่อมาพ่อได้ค้นพบความสงบ ด้วยการไปช่วยงานโรงเจแถวนั้นเขียนอักษรจีน จนได้รับความนับถือจากผู้คน

ลายมือพ่อสวยมากจริงๆ จนมีโรงเจและวัดจีนหลายแห่งติดต่อมาให้พ่อไปช่วยเขียนตัวอักษรจีนขนาดใหญ่ ซึ่งพ่อก็ช่วยโดยไม่คิดอะไร

สิบปีผ่านไป สถานการณ์ทางบ้านเริ่มดีขึ้น พี่ๆ น้องๆ ช่วยกันใช้หนี้ให้แม่จนใกล้หมด ก็คิดว่าครอบครัวน่าจะลืมตาอ้าปาก พ่อน่าจะกลับบ้านได้แล้ว

แต่พอถึงปี 2536 บ้านที่ตรอกจันทร์ถูกทางการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างทางด่วนขั้นที่สอง บ้านเราเป็นทางลงทางด่วนตรอกจันทร์พอดี

เราได้ค่าชดเชยน้อยมาก แต่ทางการบอกว่า หากไม่พอใจก็ไปฟ้องร้องเอาเอง เพื่อนที่เป็นทนายก็บอกว่า ไม่มีประโยชน์ กว่าศาลจะตัดสินก็นานมาก และส่วนใหญ่จะเข้าข้างรัฐ

ลูกๆ พาแม่ตระเวนไปหาบ้าน จนแม่วัย 70 พอใจทาวเฮ้าส์หลังเล็กๆ อยู่หลังวัดวชิรธรรมสาธิต ซอยสุขุมวิท 101/1 ห่างไกลมากในเวลานั้น ถนนยังเป็นลูกรังอยู่

พี่น้องก็ต้องคิดหาเงินมาอีก เพื่อผ่อนบ้านหลังเล็กๆ แห่งนี้ ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ว่า จะต้องให้พ่อแม่อยู่สุขสบายในบั้นปลายชีวิตให้ได้

 

7

พวกเราย้ายมาอยู่บ้านใหม่ ลูกๆ เริ่มพอมีรายได้มากขึ้น พ่อก็กลับมาเยี่ยมบ้านบ่อยขึ้น จนกระทั่งกลับมาอยู่บ้านได้อย่างปลอดภัย หลังจากคดีความต่างๆ ยุติลง

พ่อทำงานหาเงินจนอายุ 50 กว่า จึงต้องหลบหนี กลับมาบ้านอีกทีวัยใกล้ 70 แต่พี่น้องก็ฝ่าฟันคลื่นมรสุมชีวิตและชดใช้หนี้สินให้พ่อแม่จนหมด

พี่น้องเกือบทุกคนช่วยตัวเองมาตั้งแต่เป็นนักเรียน และยังหารายได้ช่วยเหลือทางบ้าน ทั้งหมดก็เป็นนักทำกิจกรรมตัวยงในรั้วมหาวิทยาลัย จนแม่น้อยใจตลอดว่า เอาเวลาไปช่วยเหลือชาวบ้านมากกว่าช่วยครอบครัว

พ่อจากบ้านเกิดมากว่า 50 ปีแล้ว แต่ก็ยังส่งเงินไปช่วยทางบ้านอย่างสม่ำเสมอ วิธีการส่งเงิน เป็นวิธีการแบบโบราณที่เรียกว่า ‘โพยก๊วน’ ทุกเดือนลูกๆ จะพาพ่อไปที่ร้านแลกเปลี่ยนเงินตราของคนจีนย่านเยาวราช และเอาเงินสดไปฝากให้ตัวแทนที่ไว้ใจได้ พ่อจะส่งเอกสารรับเงินไปให้ญาติพี่น้องที่ประเทศจีนเพื่อขึ้นเงินต่อไป

แล้วในวัย 70 ลูกๆ ก็ได้พาพ่อแม่กลับบ้านเกิด

เราใช้บริการของสายการบินจีน บินตรงจากกรุงเทพฯ ไปเมืองซัวเถา ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาแต้จิ๋ว ที่เมืองไทยคนจีนพูดภาษาแต้จิ๋วมีจำนวนมากกว่าคนจีนที่พูดภาษาอื่น ไม่ว่าจะเป็นจีนไหหลำ จีนแคะ จีนฮกเกี้ยน ฯลฯ เนื่องจากมีหลักฐานว่าชาวจีนแต้จิ๋วข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากอยู่แถบดินแดนสยามมานานตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ทั้งที่ชาวจีนที่พูดภาษาแต้จิ๋วมีจำนวนประชากรเพียง 16 ล้านคน เมื่อเทียบกับประชากรจีนพันกว่าล้านคน

พระเจ้าตากสินมหาราช และนายปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นคนจีนแต้จิ๋วเช่นกัน

พอลงจากเครื่องบิน เกาเจ็ก (แปลตามตัวว่า คุณอาคนที่เก้า) น้องชายของพ่อ มารอรับที่สนามบิน ทั้งคู่ทักทายถามไถ่ทุกข์สุขกันนาน จากที่ไม่ได้เจอกันมา 50 ปี และพากันขึ้นรถไปพักผ่อนพูดคุยกันในโรงแรม

คนไทยอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘ซัวเถา’ อันหมายถึงคำเรียกพวกจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาอยู่เมืองไทย ขณะที่บางคนรู้สึกว่า ซัวเถาชวนให้นึกถึงเมืองในชนบทห่างไกลความเจริญ แต่ปัจจุบันซัวเถากลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง มีอาคารทันสมัย ศูนย์การค้าต่างๆ ผุดขึ้นมากหลาย ตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

แม่บอกว่า ตอนนี้ไม่มีญาติอยู่ในเมืองซัวเถาแล้ว เพราะย้ายไปอยู่นครปักกิ่งกันหมด การเดินทางครั้งนี้ของเราจึงเน้นไปที่ญาติพี่น้องของพ่อ

วันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางต่อไปอำเภอเถ่งไห้ ใช้เวลาขับรถไม่ถึงชั่วโมง เถ่งไฮ่เป็นอำเภอสำคัญของจังหวัดแต้จิ๋ว มีประชากร 710,000 คน ปัจจุบันเถ่งไห้เป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะโรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัทผลิตของเล่นชื่อดังระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ หรือตุ๊กตาของวอลต์ ดิสนีย์ที่ส่งไปขายทั่วโลก ล้วนผลิตมาจากโรงงานในอำเภอเถ่งไฮ่แทบทั้งสิ้น

เถ่งไฮ่คงเหมาะสำหรับนักธุรกิจหรือนักอุตสาหกรรมมากกว่านักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เพราะคล้ายกับจังหวัดสมุทรปราการที่เต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม ไม่มีสถานท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น่าสนใจ ขณะที่ตามถนนหนทางเต็มไปด้วยฝุ่นและควันพิษ จากรถบรรทุกและรถเทรเลอร์จำนวนมากที่เข้าออกโรงงานตามข้างทาง และสภาพการจราจรอันติดขัด รถทุกคันจะบีบแตรเกือบตลอดเวลา เพื่อขอทางจนเป็นความเคยชินสำหรับคนในประเทศนี้

รถแท็กซี่พาคณะของเราไปเยี่ยมบ้านของเกาเจ็ก ซึ่งเป็นแฟลตเก่าๆ เราต้องเดินขึ้นบันไดไป 7 ชั้น กว่าจะถึงห้องพักเล็กๆ คับแคบที่เกาเจ็กพักอยู่กับเมียตาใกล้บอด

สภาพห้องพักของเกาเจ็กแม้จะดูคับแคบ และรกรุงรัง แต่เขาบอกว่าดีกว่าสมัยก่อนมากนัก เพราะต้องอยู่ในบ้านโกโรโกโสหลังเล็กที่มีสภาพไม่ต่างจากสลัม แออัดไปด้วยพี่น้องหลายคน จนต้องเบียดเสียดกันนอน ไม่มีห้องน้ำ ห้องส้วม แต่ละวันต้องออกมาเทกระโถนลงข้างทางนอกบ้าน

เกาเจ็กบอกว่า หากไม่ได้เงินจากพ่อ พี่น้องที่เหลืออยู่ 3 คนคงไม่มีชีวิตรอดจนถึงเดี๋ยวนี้

วันต่อมาโซ้ยเจ็ก หรืออาคนสุดท้อง และลูกชายของเขา ตามมาสมทบ เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับลูกพี่ลูกน้องวัยใกล้เคียงกันในต่างแดน เราจับมือกันและถามไถ่ทุกข์สุขกัน ผมมีความรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก ที่เห็นชายแปลกหน้าผู้นี้ซึ่งอาศัยอยู่ห่างไกลหลายพันกิโล เป็นญาติจริงๆ ที่มีสายเลือดเดียวกัน

คงคล้ายความรู้สึกเดียวกับตัวเอกในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่อง The Joy Luck Club เมื่อตัวเอกผู้เป็นลูกคนจีนในเมืองซานฟรานซิสโก เดินทางกลับไปตามหารากเหง้าของตัวเองที่เมืองจีน และดีใจจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เมื่อเห็นพี่น้องฝาแฝดของตัวเองมีชีวิตอยู่จริงๆ บนฟากหนึ่งของผืนโลก

โซ้ยเจ็กพาเราผ่านไปยังบริเวณบ้านของอากง พ่อเกิดที่บ้านหลังนี้ เป็นบ้านจีนแบบโบราณ มีสวนเล็กๆ อยู่ตรงกลางบ้าน แต่ปัจจุบันไม่เหลือสภาพเดิมแล้ว ถูกทางการทุบทิ้งและก่อสร้างเป็นตึกสูง

พ่อเล่าให้ฟังว่าตอนนั้นอากงเป็นกำนันตำบลเสี่ยงตงคู ดูแลหมู่บ้านกว่า 20 แห่ง รวมทั้งหมู่บ้านที่ชื่อ แอ่ตั้ง ซึ่งเป็นบ้านเกิดบรรพบุรุษของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นับว่าบรรพบุรุษของเราเคยดูแลตระกูลพนมยงค์มาก่อน อากงเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ เป็นที่รักของชาวบ้านมาก ทำให้อากงได้เป็นกำนันถึง 7 สมัย และเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้อากงต้องถูกประหารชีวิต

รถแล่นผ่านห้างโลตัส พ่อบอกว่าคนจีนแต้จิ๋วทีมีชื่อเสียงในบ้านเรานั้น หลายคนอพยพมาจากอำเภอเถ่งไฮ่ อาทิ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมถึงคนในตระกูลรัตตกุล เจียรวนนท์ หรือหวั่งหลี ลูกหลานตระกูลเหล่านี้จึงมักกลับมาสร้างความเจริญให้กับแผ่นดินเกิดของตัวเอง เช่นตระกูลเจียรวนนท์ที่มาสร้างห้างโลตัสขึ้นในอำเภอเถ่งไฮ่

คณะของเรามุ่งหน้าออกนอกเมือง จุดหมายคือสุสานบนเขาเล็กๆ แห่งหนึ่ง บนเนินเขาเป็นที่ตั้งของฮวงซุ้ยประจำตระกูล พ่อและพี่น้องนำสิ่งของ อาหาร และจุดธูปเทียนเซ่นไหว้วิญญาณของอากง อาม่า และพี่น้องที่เสียชีวิต โซ้ยเจ็กบอกว่า ฮวงซุ้ยได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ ด้วยเงินของพ่อที่ส่งมาให้เป็นประจำ พ่อตั้งใจทำฮวงซุ้ยแห่งนี้ให้งดงามที่สุด ทุกคนช่วยกันปัดกวาดและทำความสะอาดสุสานก่อนจะกลับลงมา

ที่ผ่านมาลึกๆ พ่อเองเสียใจมาโดยตลอด ตั้งแต่หนีอากงไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน พอกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ก็ไม่ทันได้เห็นหน้าอากงและอาม่าเป็นครั้งสุดท้าย

หากมีโอกาสได้อยู่ดูแลรับใช้ดูแลพ่อแม่ ก็จงรีบทำอย่างดีในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง

วันต่อมา ผมถามเกาเจ็กให้พาไปเยี่ยมชมสุสานพระเจ้าตาก เกาเจ็กทำท่างงว่าคือใคร พ่อบอกว่าคนจีนแต้จิ๋วเรียก ‘แต้อ๊วง’ เกาเจ็กจึงเข้าใจความหมาย และเหมารถจากโรงแรมไปตามหาสุสานแต้อ๊วงกัน

พ่อบอกว่าคนเถ่งไฮ่รู้จักเรื่องราวของพระเจ้าตาก หรือ ‘แต้อ๊วง’ เป็นอย่างดี เพราะเป็นลูกหลานของคนเถ่งไฮ่ที่มีวาสนาเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน ‘แต้อ๊วง’ แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินตระกูลแต้ ตอนเด็กๆ พ่อยังเคยไปเที่ยวบ้านเก่าหลังหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นบ้านของแต้อ๊วง พ่อเคยได้ยินว่า เมื่อแต้อ๊วงเกิดในเมืองไทยได้ไม่นาน พ่อของท่านที่เป็นคนเถ่งไฮ่ได้พามาเรียนภาษาที่เมืองจีน จนอายุได้ 10 ขวบจึงส่งมาอยู่เมืองไทย

รถเลี้ยวเข้าไปยังแหล่งดูดทรายแห่งหนึ่ง พอลึกเข้าไปมีซุ้มทางเข้าสุสานเล็กๆ สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ (ค.ศ.1735-1796) มีป้ายหินจารึกข้อความว่า ‘สุสานของแต้อ๊วง ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1985’ และป้ายหินอีกแห่งหนึ่งจารึกว่า ‘สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังฉลองพระองค์ของแต้อ๊วง ที่นำมาจากเมืองไทย ห้ามผู้ใดทำลายเด็ดขาด’ ลงชื่อโดย รัฐบาลท้องถิ่นแห่งอำเภอเถ่งไฮ่

คนเถ่งไฮ่เชื่อว่า หลังจากที่พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ได้ไม่นาน บรรดาญาติพี่น้องของท่านได้แอบนำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิดและฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้

เราเอาดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้บูชาพระองค์ท่าน นั่งหลับตาภาวนาอยู่สักพัก รู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ห่างไกล การได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดของพ่อครั้งนี้ ผมรู้สึกเหมือนกลับไปหารากเหง้าของตัวเอง พบปะผู้คนที่เป็นญาติพี่น้องอีกมากมาย และพอสืบค้นไปมา ตระกูลของเราก็เป็นคนบ้านเดียวกับลูกหลานจีนในเมืองไทยอีกหลายคน

ตลอดเวลา 1 อาทิตย์ในเมืองจีนครั้งนั้น เราได้เดินทางตามหาอดีตที่ขาดหายไป ค่อยๆ มาปะติดปะต่อบนผืนผ้าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตระกูล แวบหนึ่งก็ตระหนักได้ว่า

เราทุกคนบนผืนโลกต่างเป็นพี่น้องกัน ล้วนถือกำเนิดมาจากรากเหง้าเดียวกันทั้งนั้น

 

 

8

คนโบราณเคยพูดว่า

“น้ำตาของลูกเมื่อพ่อแม่ตาย จะไม่มากเท่ากับน้ำตาของพ่อแม่เมื่อเห็นลูกตาย”

ไม่มีใครรู้ซึ้งถึงความทุกข์ของการพรากจากกัน หากไม่ประสบด้วยตัวเอง

พ่อกลับมาอยู่พร้อมหน้าลูกเมียอย่างมีความสุขสงบได้เพียงสิบกว่าปี ความทุกข์ระทมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตก็เกิดขึ้น

ความกังวลของพ่อแม่ตลอดเวลาที่ผ่านมาคือการเป็นห่วงพี่มด วนิดา ลูกสาวคนโต ที่ออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมตั้งแต่เป็นนักเรียน นักศึกษา แม้ออกมาทำงานแล้ว ก็ยังทำงานช่วยชาวบ้านแบบเสี่ยงอันตรายในต่างจังหวัดตลอดเวลา กลับบ้านแต่ละครั้งก็แค่เอาเสื้อผ้ามาเปลี่ยนวันสองวัน แล้วออกไปอีกเป็นเดือน

พ่อเคยบอกผมว่า

”ลูกสาวคนนี้ลำบากมาตลอดชีวิต”

ปี พ.ศ. 2517 มดสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่สามปีแรกในชีวิตมหาวิทยาลัย เธอเป็นเด็กกิจกรรมแถวหน้าสุด ไปเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกรรมกรตามโรงงานต่างๆ โดยเฉพาะคนงานโรงงานผลิตกางเกงฮาร่า จนถูกตำรวจจับติดคุกหลายวัน

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อกระทิงแดงและตำรวจบุกเข้ามามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มดเป็นนักศึกษาคนแรกๆ ที่ทางการหมายหัวต้องการตัวมากที่สุด แต่โชคดีที่พรรคพวกเอาตัวไปซ่อนไว้ในบ้านแห่งหนึ่งแถวท่าพระจันทร์ ก่อนที่มดจะตัดสินใจเข้าป่าเช่นเดียวกับเพื่อนนักศึกษาหลายพันคน

หลายปีผ่านไป มดออกจากป่า กลับมาเรียนหนังสือต่อ และย้ายมาเรียนจนจบคณะรัฐศาสตร์ แต่เป็นช่วงเวลาที่พ่อถูกจับ ถูกฟ้องล้มละลาย มดและพี่น้องคนอื่นต้องช่วยทำงานหาเงินมาใช้หนี้ มดทำงานทุกอย่างตั้งแต่เป็นแม่ค้าหาบเร่ เป็นไกด์บริษัททัวร์ ขายประกันชีวิต เพื่อหาเงินให้กับครอบครัว

พอมรสุมร้ายในครอบครัวผ่านไป หนี้สินหมดไป พี่น้องเริ่มมีฐานะ มดในวัยสามสิบต้นๆ ผู้มีแววจะประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ ได้ตัดสินใจละทิ้งความสุขสบายส่วนตัว กลับไปทำงานกับคนยากคนจนตามความเชื่อ ตามอุดมคติอีกครั้งหนึ่ง

ความเชื่อที่ว่า ความยากจนไม่ได้เกิดจากเวรกรรม แต่เกิดจากความไม่เป็นธรรม

มดไม่ได้ต่อสู้เพื่อคนจนเพียงอย่างเดียว แต่มดปลุกให้คนจนลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม

มดทำงานต่อสู้เคียงข้างชาวบ้านปากมูน เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมมาตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี

แต่หลายคนคงไม่ทราบว่า เธอเข้าไปช่วยเหลือให้คำปรึกษาชาวบ้านที่ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม ไม่ว่ากรณีท่อก๊าซ ปตท.ที่กาญจนบุรี สงขลา กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด กรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนสาละวิน เขื่อนสิรินธร ไปจนถึงบรรดาผู้ป่วยจากมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ จนสามารถรวมตัวเป็นองค์กรชาวบ้านเข้มแข็งที่สุดในนามของ ‘สมัชชาคนจน’

พี่มดไม่เคยปฏิเสธคนเหล่านี้ที่มาขอคำปรึกษาในการเคลื่อนไหวเรียกร้องความชอบธรรม แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง

ผมจำได้ดีว่า เมื่อหลายปีก่อนที่ชาวบ้านบ่อนอกประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ประจวบคีรีขันธ์โดยการปิดถนน รองอธิบดีกรมตำรวจคนหนึ่งได้โทรศัพท์ทางไกลมาหาพี่มด เพื่อขอร้องให้เป็นตัวกลางไปช่วยเจรจากับชาวบ้าน

จากบ้านไปอยู่อีสานนานหลายเดือน กลับมาบ้านเห็นหน้าพ่อแม่ได้ไม่กี่ชั่วโมง เที่ยงคืนนั้นเธอก็เก็บเสื้อผ้าเตรียมลงใต้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายชาวบ้าน

ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ ได้ทำให้คนยากคนจนจำนวนมากที่เคยเกรงกลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่เคยตัวสั่นงันงกเมื่ออยู่ต่อหน้าบุคคลในเครื่องแบบ ได้รู้สึกถึงสิทธิในความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องความถูกต้อง กล้าพูดจาตอบโต้บุคคลระดับผู้ว่าราชการจังหวัดไปถึงระดับรัฐมนตรีอย่างไม่หวั่นเกรง

ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ เคยถูกคู่กรณีที่เขื่อนปากมูน ใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นเมียน้อย กระทั่งพิมพ์ใบปลิวร่อนไปทั่วเมืองอุบลกล่าวหาว่าเป็นชู้กับผู้นำชาวบ้าน และรับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหว ไม่ให้เมืองไทยมีการพัฒนา

มีครั้งหนึ่งขณะที่พ่อแม่กำลังดูข่าวโทรทัศน์ กำลังเสนอข่าวเรื่องมดวนิดาถูกจับ ลูกสะใภ้คนหนึ่งรีบเอารีโมทกดไปช่องอื่นทันที เพราะกลัวพ่อแม่จะเป็นห่วงลูกสาวคนนี้ ที่ไม่ค่อยกลับบ้านมานับสิบปีแล้ว

ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ได้รับการทาบทามจากตัวแทนของมูลนิธิแม็กไซไซ เพื่อเสนอชื่อให้มดได้รับรางวัล แต่มดปฏิเสธ บอกว่าผู้สมควรจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้คือกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน

หลายปีก่อน น้องชายคนหนึ่งได้มอบรถแวนโตโยต้าสีขาวเก่าๆ อายุยี่สิบปีคันหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการทำงานของพี่สาว ปรากฏว่าคู่กรณีไปปล่อยข่าวออกตามวิทยุกระจายเสียงว่า นังวนิดาเอาเงินที่ได้จากต่างชาติไปออกรถแกรนด์เชอโรกีสีขาวป้ายแดง คันละหลายล้านบาท

มดเป็นเอ็นจีโอไม่กี่คนที่นอนกลางดิน กินบนพื้นถนน และเดินทางด้วยรถไฟชั้นสามกับชาวบ้าน

มดเป็นเอ็นจีโอไม่กี่คน ที่กล้าทำงานร้อน เสี่ยงต่อการถูกจับ และถูกใส่ร้ายป้ายสี

มดตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกับชาวบ้านหลายคดี โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นโจทก์ และยังถูกอดีตผู้ว่าฯ กทม. และหัวหน้าพรรคการเมืองฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท

มดยังเคยถูกนักข่าวอาวุโส ผู้เป็นขาใหญ่ประจำทำเนียบรัฐบาล ด่าประจานต่อหน้าคนอื่นๆ ว่า เป็นพวกรับเงินต่างชาติมาบ่อนทำลายประเทศ

แต่มดก็อดทนมาโดยตลอด ด้วยความเชื่อว่า การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น ต้องใช้เวลาอันยาวนาน

ตลอดสามสิบกว่าปี มดไม่เคยเปลี่ยน ยังแบกรับปัญหาของคนยากคนจนมาโดยตลอด ขณะที่เพื่อนๆ ฝ่ายซ้ายหลายคนเป็นนักธุรกิจ หลายคนกลายเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี และกล่าวหาว่า มดเป็นนายหน้าค้าความจน

ในช่วงปีหลังของพี่มด ได้หวนกลับมาดูแลพ่อแม่บ่อยขึ้น พี่มดมักพูดกับพี่น้องเสมอว่า พ่อแม่ลำบากมาตลอด อายุมากแล้ว ต้องดูแลท่านให้เต็มที่

เราจึงเห็นพี่มดอยู่บ้านมากขึ้น พาพ่อแม่ไปไหว้พระตามศาลเจ้าต่างๆ และได้พาพ่อแม่ไปเยี่ยมญาติที่บ้านเกิดในประเทศจีนด้วย  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ลูกมีความสุขที่สุด

กระทั่งปลายเดือนมีนาคม 2549 หมอได้ตรวจพบว่า เธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะสี่ และชนิดของมะเร็งเป็นชนิดที่ดื้อยามากที่สุด จึงเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ร่วมกับการผ่าตัดและการฉายรังสีซ้ำ จนอาการดีขึ้นในช่วง 3-4 เดือนถัดมา

มดไม่ได้บอกใคร ด้วยเกรงว่าจะมีคนเป็นห่วง พยายามรักษาตัวอย่างเงียบๆ ที่บ้านน้องชายร่วมสองปี

ช่วงหลังมดมีอาการไอถี่ๆ ขึ้น พี่น้องจึงพามาพบแพทย์ และได้ตรวจพบว่าโรคร้ายมีการแพร่กระจายไปที่ปอดทั้งสองข้าง อาการกลับทรุดลงตามลำดับ จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และสื่อสารด้วยการพยักหน้าหรือส่ายหน้า

ก่อนเสียชีวิตไม่กี่วัน พี่มดเขียนถึงพ่อแม่ว่า

“ฉันภูมิใจที่เกิดมาในครอบครัวของเรา ครอบครัวนายนิ้มและนางซิ้วเค็ง ครอบครัวที่ยิ่งใหญ่ในใจของพวกเรา ตลอดกาล”

ก่อนเที่ยงของวันที่ 6 ธันวาคม ความดันของมดลดต่ำลงมาก ชีพจรเต้นแผ่วเบา พ่อแม่ผู้จับมือลูกอยู่ข้างเตียงโดยตลอด มากระซิบข้างหูลูก บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ พี่น้องทุกคนดูแลเป็นอย่างดี

ไม่กี่นาที มดจากไปด้วยความสงบเป็นนิรันดร์

แม่กอดลูก ร่ำไห้อย่างไม่อายฟ้าดิน

ดวงตาของพ่อแดงก่ำ และพูดว่า

“มดไปสวรรค์แล้ว”

อาทิตย์ต่อมา พ่อวัย 82 เขียนคำไว้อาลัยเป็นภาษาจีนว่า

“ร่ำหาอาลัยลูกสาวคนโต ตั่งหลี่งี้ (ชื่อจีนของลูกสาว)

ณ เดือนที่สิบสองวันที่หก

รวดร้าวราวใจจะขาด

หลี่งี้จากลาแล้วไม่กลับคืน

ดึกดื่นค่อนคืนแล้ว

แม่ยังถาม…ลูกสาวหายไปไหน

หลั่งน้ำตา ร่ำร้องหา จนฟ้าสาง

วันที่ 12 เดือน 12  2550 … วันเผาลูกสาว

กลั่นจากใจพ่อ”

 

 

9

สิ่งที่พี่มดรู้สึกผิดในบั้นปลายชีวิต คือไม่ได้มีโอกาสกลับมาดูแลพ่อแม่ที่แก่ชราได้อย่างเต็มที่  ช่วงหลังพอจะมีเวลามาปรนนิบัติพ่อแม่ ก็มาเป็นโรคร้าย ต้องดูแลตัวเองมากกว่า

ช่วงเวลานั้นพี่น้องต้องผลัดกันดูแลพ่อแม่และพี่มด โดยที่ไม่ได้บอกให้พ่อแม่รู้ตั้งแต่ทีแรก กลัวพ่อแม่จะสะเทือนใจ แต่กลับเป็นว่าพ่อแม่แข็งแกร่งกว่าลูกๆ เสียอีกในวันที่ต้องสูญเสียลูกสาวสุดที่รักไป

คำสัญญาที่พี่น้องมีให้กับพี่มด คือการดูแลพ่อแม่อย่างดีที่สุด เพื่อไม่ให้พี่สาวต้องเป็นห่วง

คนที่เป็นหลักในการดูแลพ่อแม่คือ พี่ม้า ลูกสาวคนเล็ก และตี๋เล็ก ลูกชายคนสุดท้อง ขณะที่พี่น้องคนอื่นผลัดกันมาเยี่ยมเยียน

กิจวัตรประจำวันของพ่อคือ ตื่นแต่ตีสี่ มาไหว้ติ่วจู๋เอี้ยหรือศาลเจ้าในบ้าน และเตรียมตัวออกไปเล่นมวยจีนในสวนสาธารณะแถวบ้าน โดยมีพี่ม้าขับรถไปส่งบ้าง หรือมีเพื่อนมารับบ้าง

พ่อเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ รุ่นน้องต่างวัยมาก พอกลับถึงบ้านก็จะเตรียมอาหารเช้าให้แม่ เสร็จแล้วจะไปอ่านหนังสือพิมพ์จีนอย่างเงียบๆ แล้วก็งีบหลับไปสักพัก

พอตื่นมาก็จะเตินตรวจตราความเรียบร้อย สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการไปไขนาฬิกาแขวน ตั้งเข็มให้เวลาเดินเร็วกว่าปกติสิบนาทีเสมอ เพราะพ่อเป็นคนตรงเวลา การตั้งเวลาเร็วเป็นการเตือน

พ่อชอบลุกไปเติมน้ำร้อนในกาน้ำชา พ่อซดน้ำชาตลอด จนเรียกได้ว่า ทั้งชีวิตพ่อแทบจะไม่ได้กินน้ำเปล่าเลย นอกจากซดน้ำชาร้อนๆ อย่างเดียว ซึ่งน่าจะเป็นเคล็ดลับหรือไม่ เพราะอาหารโปรดของพ่อคือ ขาหมู  ทุเรียน และไอติม

เมื่อถึงเวลากินข้าว พ่อแม่กินข้าวหมดชามเสมอ เป็นนิสัยติดตัวของคนรุ่นสงครามโลกครั้งที่สองที่อดอยากมาก พอกินเสร็จ พ่อจะเอาผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำ มาเช็ดหน้า เช็ดปากทำความสะอาดให้แม่ทุกมื้อ

ในห้องน้ำมีผ้าเช็ดตัวเก่าๆ ของพ่อเปื่อยจนขาดแขวนอยู่ ลูกๆ พยายามเอาผ้าผืนใหม่ นุ่มกว่ามาเปลี่ยนให้ แต่พ่อไม่ยอม บอกว่าผืนเก่ายังใช้ได้

เวลาอยู่บ้านพ่อจะถอดเสื้อ ใส่กางเกงขาก๊วยตัวเดียว แต่พอออกไปนอกบ้าน พ่อเป็นคนเนี้ยบแต่งตัวเรียบร้อยเสมอ โดยเฉพาะวันหยุดที่จะมีลูกหลานพาออกไปกินข้าวนอกบ้าน

หากมีเวลาว่าง พ่อจะไปช่วยงานโรงเจแถวปากน้ำ ส่วนใหญ่คือการเขียนอักษรจีนลงบนกระดาษ เป็นทั้งชื่อและบทกวีชื่อดังของคนจีน

พ่ออ่านหนังสือจีนเยอะมาก แต่พ่อก็ไม่เคยบังคับลูกให้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ พ่อจะปล่อยให้ลูกทำ ไม่เคยไปชี้นำ เป็นห่วงเรื่องเดียวคือความปลอดภัยของทุกคน

เวลาลูกที่มาเยี่ยมได้เวลาจะกลับบ้าน พ่อจะเดินออกไปส่งหน้าบ้าน ยกมือไหว้พระให้คุ้มครองลูกๆ และบอกให้โทรศัพท์มาเมื่อถึงบ้านทุกครั้ง

ทุกอาทิตย์พ่อจะไปที่หน้าห้องพี่มด และเล่าให้ฟังว่าทำอะไรบ้าง มีใครมาเยี่ยมบ้าง บางทีเราแอบฟังยังน้ำตาซึม พ่อพูดราวกับลูกสาวยังมีชีวิตอยู่ ไม่รู้ว่าในใจพ่อเป็นอย่างไร แต่ลูกๆ ก็ไม่เคยเห็นน้ำตาพ่อเลย

พ่อเป็นคนเงียบ ใจเด็ด ไม่ยอมอะไรง่ายๆ แม้จะล้ม ก็พยายามลุก แต่สุดท้ายก็ยอมรับชะตากรรมชีวิตตัวเอง

พ่อจากบ้านเกิดจากประเทศจีนเมื่ออายุยี่สิบเศษ พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว เลี้ยงครอบครัว เมีย ลูกเจ็ดคน แต่ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เป็นหนี้สิน จนล้มละลายเมื่ออายุห้าสิบกว่า ติดคุก และหนีรอดออกมา แต่ต้องหายไปจากสังคมนับสิบปี กว่าจะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติในวัยเจ็ดสิบ แต่พออายุขึ้นเลขแปด ก็ต้องสูญเสียลูกสาวสุดที่รักอย่างไม่คาดคิด

ผมไม่รู้ว่า ชีวิตพ่อเจ็บปวด เก็บกด หรือปลงตกกับชีวิต พ่อเงียบ ไม่ค่อยพูด และไม่ค่อยยิ้มแย้มเหมือนแม่ ที่ช่างพูดและมีอารมณ์ขันเสมอ

พ่อรักแม่มาก จนเรียกได้ว่าเป็นของขวัญล้ำค่าที่สุดที่พระเจ้าประทานให้พ่อ ยี่สิบกว่าปีหลัง พ่อแม่ไม่เคยห่างกันเลย นอนเตียงเดียวกัน พ่อประคบประหงมแม่ตลอดเวลา เดินไปไหนก็คอยประคองแม่ตลอด

ก่อนหน้านี้หลายปีพ่อเคยล้มหัวฟาดพื้นหลายครั้งและเคยเลือดคั่งในสมองจนต้องเข้ารับการผ่าตัดไปครั้งหนึ่ง อาการดีขึ้น แต่สามสี่เดือนก่อน พ่อล้มหัวฟาดพื้น แม้จะไม่มีอาการเลือดออกในสมอง แต่ก็ดูซึมลง ไม่อยากทานอาหาร ผอมลงตามลำดับ

เราจัดงานวันเกิดอาปาที่ภัตตาคารจันทร์เพ็ญ มื้อนั้นพ่อยังกินอาหารได้เอร็ดอร่อย แต่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยอยากทานอาหาร

ผมรู้สึกว่าพ่อเหมือนตะเกียงที่หรี่ลงเรื่อยๆ  แต่ไม่กล้าบอกใคร มื้อท้ายๆ ยังจำได้ว่า ไปซื้อเนื้อปลาแซลมอนมานึ่งบ๊วยเค็ม ทำอาหารโปรดให้พ่อกิน

ปลายเดือนสิงหาคม พ่อล้มหัวแตกอีกครั้ง เรานำส่งโรงพยาบาล หมอตรวจดูแล้วไม่ได้เป็นอะไรมาก ให้นอนพักหนึ่งคืน กลับบ้านวันรุ่งขึ้น เราพาแม่มาเยี่ยม ไม่คิดว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พ่อแม่ได้พูดคุยกัน

คืนนั้นพยาบาลโทรมาแจ้งว่าความดันลดลงอย่างรวดเร็ว ต้องส่งเข้าห้องไอซียู และอาการพ่อก็ทรุดลงไปเรื่อยๆ ไม่รู้สึกตัว สมองตีบ ติดเชื้อในปอด หัวใจมีลิ่มเลือด พ่อกลายเป็นเจ้าชายนิทรา

พี่น้องตกลงกันว่า จะให้พ่อไปสบาย จะให้มอร์ฟีนเพื่อพ่อจะได้ไปสบาย

สองทุ่มกว่าของวันที่ 6 กันยายน ความดันพ่อตกอย่างรวดเร็ว ลูกๆ มาเฝ้าดูพ่อเป็นครั้งสุดท้าย จนเวลาสามทุ่มสี่นาที

พ่อนอนหลับปุ๋ยเหมือนเด็กน้อยแรกเกิด

สวรรค์มารับพ่อไปอยู่กับพี่มดแล้ว.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save