fbpx
อ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้

อ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

แทนบทคัดย่อ

นัยสำคัญข้อหนึ่งที่คนเขียนได้จากการใช้งานต๊อกเกอะวิลล์อ่านการเมืองไทยร่วมสมัย คือ การนึกถึงสถานีในชีวิตตั้งแต่เกิดของเรา: ครอบครัว ละแวกบ้าน ชุมชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลาด ท้องถิ่น ที่ทำงาน สมาคม/ประชุมชน และครอบครัวอีกรอบสำหรับบางคน

มีที่ไหนบ้างในสถานีชีวิตเหล่านี้ที่มีลักษณะทางสังคมและมีวิถีปฏิบัติในลักษณะที่เป็นประชาธิปไตย มองคนที่เป็นสมาชิกเท่ากัน ใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยยังให้ความเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลทั้งในฐานะพลเมืองและมนุษย์ ที่จะช่วยบ่มเพาะความรู้สึกนึกคิดและอุปนิสัยใจคอให้รู้และคุ้นชินกับศิลปะของการอยู่อย่างเสรี

เพราะโดยองค์ประกอบส่วนหลังของสภาวะทางสังคมและความคิดจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยนี้เองที่ต๊อกเกอะวิลล์ให้ความสำคัญ และให้ความสำคัญมากกว่ากฎหมายหรืออำนาจบังคับอื่น ในการช่วยสร้างสรรค์และจรรโลงประชาธิปไตยที่เป็นระบอบการปกครองให้ทำงานได้ดีและตั้งมั่นได้

 

1.

งานวิจัยที่ผมเข้าไปช่วยอาจารย์อาวุโส 2 ท่านทำในขณะนี้เป็นเหตุให้ได้กลับมาอ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้อย่างเพ่งเล็งเอาใจใส่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การเมืองของช่วงเวลานับตั้งแต่สิบปีก่อนหน้า พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา คำถามหนึ่งของฝ่ายกระแสวิพากษ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระยะดังกล่าวนี้ คือคำถามเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองออกจากระบอบที่ผู้นำคณะราษฎรพยายามวางรากฐานไว้หลังการอภิวัตน์ 2475 โดยผ่านรัฐประหารหรือการฉีกรัฐธรรมนูญหลายครั้ง

ในบรรดารัฐประหารทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ครั้งที่ปัญญาชนฝ่ายกระแสวิพากษ์เพ่งเล็งมากที่สุดได้แก่รัฐประหารปี 2500 พวกเขาเปิดประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขความสำเร็จของรัฐประหารครั้งนั้นจากการสนับสนุนที่หัวหน้าคณะปฏิวัติได้รับ แล้วตั้งข้อกังขาว่าถูกต้องหรือไม่ที่เป็นเช่นนั้น

งานวิจัยที่ทำมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องตอบประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน แต่ในขั้นนี้เรายังไม่ปลงใจว่าจะเสนอคำตอบต่อคำถามดังกล่าวอย่างไร การจะผสมเหตุผลแบบต่างๆ มาตอบคำถามของฝ่ายวิพากษ์ที่ตั้งประเด็นเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ระบอบการเมืองมากลับกลายไปได้เช่นนี้ ผมเห็นว่าเราควรต้องถามและต้องตอบอีกคำถามหนึ่งเสียก่อน ถ้าตอบได้แล้ว ข้อกังขาของฝ่ายวิพากษ์นั้นก็จะได้บริบทสำหรับจะตอบปัญหานั้นไปด้วย

คำถามสำคัญที่เราควรถามเพื่อเข้าใจพัฒนาการของการเมืองไทยและการตัดสินใจเลือกทำ/ไม่ทำอะไรของตัวบุคคลต่างๆ ในเส้นเวลาแต่ละขณะ คือ ทำไมสังคมการเมืองไทยจนถึงทศวรรษ 2500 หรือหลังจากนั้นมาแล้วก็ตาม จึงขาดพลังทางสังคมนอกกองทัพที่จะต่อต้านรัฐประหาร และเป็นพลังที่จะรักษาประชาธิปไตยไว้อย่างได้ผล กว่าจะมีกระแสที่ก่อตัวเป็นพลังทางสังคมไม่เอาด้วยกับรัฐประหารและมุ่งมั่นสนับสนุนคุณค่าหลักของประชาธิปไตยคือการมองคนเท่ากันขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องรอร่วมๆ ห้าทศวรรษหลังจาก 2500 มาแล้ว

ผมเห็นว่าการหาทางตอบคำถามแบบหลังนี้ไม่เพียงจะช่วยให้เราตอบข้อกังขาของฝ่ายวิพากษ์เกี่ยวกับรัฐประหารปี 2500 ได้ถนัดขึ้น แต่ยังสำคัญต่อการทำความเข้าใจการพัฒนาทางการเมือง และปัญหาที่มีอยู่ในพัฒนาการของประชาธิปไตยไทย ที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ ได้กว้างขวางมากกว่าที่จะยึดถือว่าการเมืองไทยมีประเด็นใจกลางผูกอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ฝ่ายไหนฝ่ายหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง

ทีนี้ จะตอบคำถามแบบหลังอย่างไรดี?

 

2.

แนวคำตอบที่ผมเตรียมเสนอในงานวิจัยมีอยู่ 4 ชั้นด้วยกันตามแนวทางของการศึกษาการเมืองเชิงสถาบัน 4 แนวทางหลัก[1] แต่ในบทความคราวนี้ ผมขอนำเสนอเพียงคำตอบชั้นแรกเท่านั้นก่อน บทความจะได้ไม่ยาวจนเกินไป

คำตอบในชั้นแรกนี้อาศัยวิธีคิดของพวกศึกษาสถาบันทางการเมืองที่เน้นการจำแนกองค์ประกอบและแสดงบทบาทหน้าที่และการทำงานของสถาบันการเมืองต่างๆ ในระบบการเมือง ว่าถ้าจะให้ระบบการเมืองหนึ่งๆ มีเสถียรภาพ หรือตั้งมั่นได้อย่างเข้มแข็ง หรือทำงานได้ดีไม่กลับเสียหายกลายเป็นตัวแบบที่เสื่อมทรามของมันแล้ว ระบบการเมืองนั้นๆ พึงมีสถาบันการเมือง มีเงื่อนไของค์ประกอบแบบใดบ้าง และส่วนต่างๆ เหล่านั้นควรมีบทบาทหน้าที่และจัดสัมพันธ์กันอย่างไร

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเงื่อนไของค์ประกอบที่พึงมีและพึงจัดสำหรับที่จะให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานได้ดีนั้นมีอยู่มาก ผมจะไม่เข้าไปสู่การทบทวนข้อถกเถียงเหล่านั้นในที่นี้ แต่จะขอเสนอคำตอบชั้นแรกนี้เลยว่าอะไรคือองค์ประกอบและเงื่อนไขสำคัญสำหรับการเกิดพลังทางสังคมนอกระบบราชการที่จะสามารถต้านรัฐประหารอย่างได้ผล และช่วยจรรโลงการทำงานของกลไกต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยให้ดำเนินไปและพัฒนาดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยจะเกาะกระแสมงเตสกิเยอที่กลับมาฮิตในพื้นที่สื่อไทยอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อจะใช้ความคิดบางอย่างของเขาต่อยอดออกไปหาข้อเสนอที่สำคัญมากต่อการเข้าใจเงื่อนไขที่เป็นรากฐานสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาของต๊อกเกอะวิลล์

มงเตสกิเยอสนใจประเด็นปัญหาการคานอำนาจในระบอบการเมือง เขามองชนชั้นขุนนางของฝรั่งเศสด้วยความเสียดายที่นับแต่การรวมอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ XIII และพระเจ้าหลุยส์ที่ XIV มา ชนชั้นนี้สูญเสียฐานอำนาจที่มั่นในชนบทกลายมาเป็นข้าราชสำนักที่เป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ผู้สร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางจนกระทั่งประกาศได้ว่ารัฐนั้นคือฉันเอง ต่างจากขุนนางอังกฤษที่ยังมีฐานที่มั่นที่เป็นอิสระอยู่ในท้องถิ่นชนบท สืบทอดต่อกันโดยกฎหมายมรดกที่มีลักษณะเฉพาะที่เอื้อแก่ลูกชายคนแรก

ระบบฐานันดรของฝรั่งเศสจึงไม่มีพลังในการสร้างการคานอำนาจระหว่างกษัตริย์กับส่วนอื่นๆ ในสังคม ต่างจากระบบ king in parliament ของอังกฤษที่ขุนนางมีฐานอำนาจที่เป็นจริงทั้งในทางที่มาของโภคทรัพย์และอำนาจในทางการเมืองที่เข้าไปคานกับกษัตริย์ในรัฐสภา

เล่าประเด็นของมงเตสกิเยอมาแบบย่อเพื่อจะเสนอว่าปัญหาสำคัญที่เป็นข้อกังวลของเขาในการจะสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ คือการแก้ปัญหาการคานและถ่วงดุลอำนาจว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่จะป้องกันไม่ให้เกิด despotism ขึ้นมา เมื่อต้องจัดการปกครองในอาณาบริเวณที่มีสเกลขนาดกว้างใหญ่ของรัฐยุคใหม่ ที่ใหญ่กว่านครรัฐแบบกรีกโบราณมาก จนไม่อาจใช้ตัวแบบการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการปกครองโดยตรงได้อีกต่อไป

สิ่งที่ผมอ่านได้ความเข้าใจจากมงเตสกิเยอเกี่ยวกับการจัดการปกครองในอาณาเขตขนาดใหญ่คือมันควรจะต้องมีพลังทางสังคมที่เป็นจริงมาคานกันและกัน เพื่อทำให้การจัดรูปความสัมพันธ์ระหว่าง the one, the few และ the many ออกมาได้ในทางที่จะไม่ให้การใช้อำนาจไม่ว่าจากฝ่ายใดก่อผลวิบัติขึ้นมาแก่ส่วนรวม มงเตสกิเยอมองไปที่อังกฤษในการหาตัวแบบการคานอำนาจที่เหมาะสมอันเกิดจากการคานอำนาจกันระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง

แต่ต๊อกเกอะวิลล์ที่เห็นประเทศฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติผ่านผลวิบัติอันเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลในการคานอำนาจ รู้ว่าไม่อาจฟื้นสถาบันขุนนางกลับมาเป็นพลังสนับสนุนประชาธิปไตยได้ เพราะการมีอยู่ของชนชั้นนี้ขัดกันโดยพื้นฐานกับคุณค่าหลักการของประชาธิปไตยที่มองคนเท่ากันอย่างเสมอภาค ต๊อกเกอะวิลล์เดินทางไปสหรัฐอเมริกา และเขาก็ได้ค้นพบว่าที่นั่นให้ตัวแบบประชาธิปไตยและลักษณะองค์ประกอบในทางสังคม ความรู้สึกนึกคิดและนิสัยใจคอในจิตใจของผู้คน ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปกครองประชาธิปไตยและการดำเนินความสัมพันธ์ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอันควรแก่การศึกษา

 

3.

ข้อเสนอหลักของต๊อกเกอะวิลล์ในงาน ประชาธิปไตยในอเมริกา[2] เรื่องหนึ่งที่ผมพบว่าน่าสนใจที่จะนำมาพิจารณาเทียบเคียงเป็นแนววิเคราะห์และทำความเข้าใจปัญหาประชาธิปไตยของไทย คือ เงื่อนไขสำคัญที่จะเป็นพลังสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตยและช่วยถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลที่ส่วนกลางอย่างได้ผล ได้แก่ การมีพลังในท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

พลังท้องถิ่นที่เข้มแข็งเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในสหรัฐอเมริกา และรากฐานความเข้มแข็งของมันมีแหล่งสถิตอยู่ที่ใด

เงื่อนไขตั้งต้นที่ไม่มีที่ใดในโลกเหมือนคือสังคมอเมริกันนั้นผู้คนอพยพออกจากโลกเก่าและทิ้งความไม่เสมอภาคที่มีอยู่ในภูมิสังคม ภูมิเศรษฐกิจ ภูมิวัฒนธรรมมาตั้งต้นในโลกใหม่บนสภาวะของความเสมอภาค เสมอภาคทั้งในแง่กายภาพ ความเป็นอยู่ การทำมาหากิน ความสัมพันธ์ทางสังคม และในความคิดจิตใจ และตั้งต้นสร้างชุมชนการเมืองขึ้นมาใหม่บนพื้นฐานของคุณค่าเกี่ยวกับความเสมอภาคนี้

ในหนังสือ ประชาธิปไตยในอเมริกา ต๊อกเกอะวิลล์จึงเริ่มต้นที่ข้อสังเกตแรกของเขาที่จะเป็น “จุดศูนย์กลางอันเป็นที่รวมข้อสังเกตทุกประการ” ของเขาที่จะตามมาว่า “ในบรรดาสิ่งแปลกใหม่ทั้งหลายที่ดึงดูดความสนใจของข้าพเจ้าขณะที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ไม่มีสิ่งใดจะสะดุดตาข้าพเจ้าได้มากเท่ากับความเสมอภาคทางด้านฐานะของคน ข้าพเจ้าค้นพบโดยไม่ยากเย็นอะไรเลยว่าความจริงประการแรกนี้มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อความก้าวหน้าของสังคม ความเสมอภาคนี้ช่วยให้ทิศทางแก่เจตนารมณ์ของประชาชน ให้เครื่องบอกทางแก่กฎหมาย ให้หลักเกณฑ์ใหม่ๆ แก่ผู้ปกครอง และให้อุปนิสัยความเคยชินที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่างแก่ผู้อยู่ใต้การปกครอง”[3]

จากหลักการ สภาวะความเป็นอยู่ และอุปนิสัยใจคอที่ยึดมั่นอยู่ในความเสมอภาค นำไปสู่สภาวะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนับตั้งแต่เริ่มแรกที่ผู้อพยพลงหลักปักฐานสร้างอาณานิคมในอเมริกาขึ้นมา และสภาวะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนี้เองที่ต๊อกเกอะวิลล์เห็นว่าเป็นพื้นฐานของการปกครองที่ก่อตั้งขึ้นมาบนหลักอธิปไตยของปวงชน และเราจะเห็นการแสดงออกของรูปแบบการปกครองดังว่านั้นเด่นชัดที่สุดได้ตั้งแต่การจัดการปกครองในระดับชุมชนเมืองขนาดเล็กขึ้นไป

ต๊อกเกอะวิลล์เสนอไว้ด้วยว่าสหภาพอันเป็นรูปแบบของรัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกานั้นจริงๆ แล้วเป็นผลขั้นสุดท้ายของการปกครองที่อาศัยหลักความเสมอภาคและอธิปไตยของปวงชนที่เริ่มต้นจากชุมชนเมืองขนาดเล็กและเป็นวิถีที่สังคมอเมริกันใช้จัดการปกครองมาแต่ต้น สหภาพจึง “เป็นแบบย่ออย่างหนึ่งของหลักการเมืองที่แพร่หลายไปทั่วสังคมก่อนที่สาธารณรัฐจะเกิดขึ้น และคงอยู่มาในสังคมนั้นโดยไม่จำต้องอาศัยสาธารณรัฐมาจัดให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด”[4]

โดยเงื่อนไขที่มีมาในจุดกำเนิดดังที่กล่าวมา[5] จึงไม่น่าสงสัยว่าพลังท้องถิ่นที่เข้มแข็งในสังคมอเมริกันเกิดขึ้นมาจากไหน สภาวะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและคุณค่าความเสมอภาคที่สมาชิกในสังคมยึดถืออยู่ในความคิดจิตใจนำไปสู่การออกแบบระบบการเมืองให้มีการกระจายอำนาจด้านการบริหารและการจัดการบริหารส่วนท้องถิ่นตามแนวทางประชาธิปไตย (township democracy)

การกระจายอำนาจด้านการบริหารเป็นการออกแบบในเชิงสถาบันในการจัดระบบบริหารราชการแผ่นดิน ต๊อกเกอะวิลล์แยกชัดระหว่างการรวมศูนย์อำนาจในการปกครองของรัฐอธิปไตย กับการกระจายอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

การเป็นรัฐอธิปไตยหมายความว่าอำนาจการปกครองตลอดทั้งดินแดนรวมศูนย์อยู่ที่จุดหนึ่งไม่มีศูนย์อำนาจอื่นใดอีก แต่การใช้อำนาจอธิปไตยในทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการพึงจัดแบ่งให้เกิดการคานอำนาจระหว่าง 3 ฝ่าย ในขณะเดียวกัน ถ้าจะให้พลังในสังคมช่วยคานการใช้อำนาจของรัฐและระบบบริหารราชการส่วนกลางและทำให้ระบอบการเมืองทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมแล้ว อำนาจการบริหารไม่ควรรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง แต่จะต้องกระจายลงไปถึงระดับท้องถิ่น โดยให้แต่ละท้องถิ่นมีอำนาจที่จะดูแลจัดการในเรื่องส่วนรวมของท้องถิ่นนั้นๆ ได้เอง

แต่เงื่อนไขข้างต้นต่อให้ออกแบบมาดีเพียงใด ก็ต้องอาศัยความพร้อมในท้องถิ่น ซึ่งถ้าไม่มีอยู่ก่อน ก็ต้องพัฒนาขึ้นมา การทำงานและความสำเร็จของการบริหารกิจการท้องถิ่นตามแนวทางประชาธิปไตยในอเมริกาเกิดขึ้นมาได้ด้วยเงื่อนไขทางสังคมและทางอุปนิสัยใจคอของคนที่เหมาะสม

นอกเหนือจากเรื่องความเสมอภาคทางสภาวะความเป็นอยู่และการยึดถือคุณค่าความเสมอภาคในความคิดจิตใจคนดังที่กล่าวมาแล้ว เงื่อนไขอื่นๆ ที่สำคัญได้แก่ การพูดภาษาเดียวกัน มีประสบการณ์ของการต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพร่วมกันมา การเกิดชุมชนที่รวมตัวพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นอิสระ ในความหมายที่ปลอดจากโครงสร้างการจัดช่วงชั้นทางสังคมแบบเก่าของระบบศักดินา และปลอดจากอำนาจรัฐส่วนกลางเป็นผู้เข้ามาจัดตั้ง และอีกเงื่อนไขหนึ่งคือการมีพลเมืองที่มีนิสัยใจคอและความคิดจิตใจที่เอื้อต่อการเข้ามารับผิดชอบงานที่เป็นกิจการสาธารณะ และสมัครใจที่จะเข้ามาร่วมมือกันจัดตั้งองค์กรหรือสมาคมสำหรับทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันหรือขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นประเด็นความสนใจ หรือสิ่งที่เห็นพ้องกันว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน

โดยเหตุนี้ ในสหรัฐอเมริกา ท้องถิ่นหรือเมืองแต่ละแห่งจึงเป็นแหล่งของอำนาจทางการเมืองที่ดำรงอยู่จริงโดยพลังที่มีอยู่ในตัวของมันเอง รากฐานความเข้มแข็งของท้องถิ่นมีที่สถิตอยู่ในสภาวะของความเสมอภาคทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่และในความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของผู้คน ในวิถีสังคมแบบประชาธิปไตยที่คนเท่ากันมาทำงานร่วมกันเพื่อสรรค์สร้างสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สาธารณะ

และนี่คือที่มาของข้อเสนอของผมว่า เมื่อไทยขาดลักษณะทางสังคมและความรู้สึกนึกคิดในจิตใจที่สำคัญต่อการงอกงามของ township democracy ในขณะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แล้วจะหาพลังทางสังคมนอกระบบราชการก่อตัวขึ้นมาจากไหนที่จะเป็นรากฐานหนุนการจรรโลงและพัฒนาประชาธิปไตย และมีพลังเพียงพอจะต้านทานการยึดอำนาจหรือยับยั้งความคิดที่จะทำรัฐประหารจากฝ่ายที่กุมฐานอำนาจอยู่ในระบบราชการ ความสำคัญของเรื่องนี้ยิ่งมีมากขึ้นเมื่อคำนึงถึงการตีความกฎหมายในฝ่ายตุลาการที่ตัดสินรับรองว่าถ้ารัฐประหารกระทำสำเร็จในการยึดครองอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ และได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนแล้ว ก็จัดว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

นัยสำคัญของข้อเสนอของต๊อกเกอะวิลล์ต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเป็นข้อเสนอที่ว่าไปแล้วตั้งข้อเรียกร้องระดับหลักมูลที่สูงมากต่อเงื่อนไขความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นประชาธิปไตยจะไม่สำเร็จเพียงแค่เกิดจากการมีรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง การมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน ตราบที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น

การได้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่จะบอกเลิกหรือล้มล้างความไม่เสมอภาคใดๆ อาจทำได้ด้วยการประกาศกฎหมาย การจัดระบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามหลักการประชาธิปไตยก็อาจทำได้ด้วยการออกแบบระบบการกระจายอำนาจอย่างเหมาะสม แต่ถ้าสภาวะทางสังคมที่เป็นจริงยังขาดความเสมอภาค ถ้าในดวงตาและในความรู้สึกนึกคิดในจิตใจคนยังขาดจิตสำนึกในเรื่องความเสมอภาค ในเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคล ขาดอุปนิสัยของการที่จะอยู่ที่จะมารวมตัวกันทำงานสานสร้างสิ่งต่างๆ ที่ชุมชนต้องการร่วมกัน ขาดพลังทางสังคมที่ตั้งต้นจากท้องถิ่นชุมชนที่มีฐานการพึ่งตนเองอย่างเป็นอิสระจากการพึ่งพาการอุปถัมภ์ของรัฐ การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นย่อมปราศจากรากฐานทางสังคมที่เข้มแข็งรองรับ การทำรัฐประหารและการฉวยอำนาจรัฐจึงตัดสินความสำเร็จที่เงื่อนไขไม่กี่ข้อ แต่ไม่มีพลังของประชาชนอยู่ในสมการ

 

4.

ในส่วนที่ 4 ผมขอกล่าวขยายความให้เห็นการทำงานของ township democracy ในสังคมอเมริกันยุคนั้นว่าต๊อกเกอะวิลล์แสดงให้เห็นกลไกอะไรบ้าง ที่ทำให้ township democracy สามารถสร้างผลในทางเป็นรากฐานอันเข้มแข็งให้แก่ประชาธิปไตยในอเมริกา เพื่อจะได้เป็นแนวเทียบเมื่อเราพิจารณาการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยว่ากลไกเหล่านั้นมีอยู่ที่สถาบันไหนส่วนไหนบ้างหรือไม่ และทำงานส่งผลแบบไหนออกมา เมื่อเราไม่มี township democracy และเงื่อนไของค์ประกอบทางสังคมและความคิดจิตใจพลเมืองเป็นรากฐานเหมือนของเขา

ผมขอเลือกนำเสนอกลไกของ township democracy ที่ส่งผลในทางจรรโลงการทำงานของระบอบการเมืองประชาธิปไตย 4 กลไก ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญในทางที่เป็นคุณ และต๊อกเกอะวิลล์แสดงคุณของมันไว้อย่างน่าติดตาม

ประการแรก township democracy เป็นกลไกสำคัญในการฝึกปรือพลเมือง ประการที่สอง township democracy เป็นกลไกสำคัญในการบ่มเพาะความรู้สึกรักชาติบ้านเมือง ประการที่สาม township democracy เป็นกลไกคัดเลือกคัดกรองผู้เข้ามารับอาชีพทำงานการเมืองที่จะกลายเป็นผู้นำทางการเมืองในระดับต่างๆ ต่อไป และประการสุดท้าย township democracy เป็นกลไกเชื่อมระบบศาลและตุลาการให้ยึดโยงอยู่กับประชาชน

ที่ใดก็ตามที่ปราศจาก township democracy เช่นที่พัฒนามาในสังคมอเมริกัน การพิเคราะห์สถาบันในเชิงบทบาทหน้าที่ก็จะต้องตั้งคำถามกับที่นั้นว่า สถาบันไหนในสังคมที่จะเข้ามาทำหน้าที่อันสำคัญและเป็นคุณต่อการจรรโลงรักษาประชาธิปไตยเหล่านี้

ในการฝึกปรือพลเมือง ส่วนที่สำคัญที่สุดที่ township democracy ฝึกพลเมือง คือการฝึกใช้เหตุผลในปริมณฑลสาธารณะเพื่อผลักดัน เพื่อป้องกัน เพื่อต่อรองหรือสนับสนุนสิ่งที่กลุ่มของตนมองเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ที่ควรปกป้องรักษา ผลประโยชน์นั้นอาจเป็นผลประโยชน์เฉพาะที่ต้องการการตอบสนองหรือความเห็นชอบของชุมชน หรือผลประโยชน์ส่วนรวมที่ถ้าจัดให้มีขึ้นได้แล้วผลดีจะตกแก่ทุกฝ่าย

และแม้ว่ามนุษย์เราทั่วไปจะมีข้อจำกัดที่มักจะถูกชักนำไปโดยความรู้สึกอันเร่าร้อน การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยความปรารถนาและความเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่ผิดพลาด ที่ทำให้มีโอกาสจะหลงผิดหรือตัดสินใจผิดได้มาก แต่โดยกระบวนการประชาธิปไตยที่ด้านหนึ่งเปิดให้แต่ละฝ่ายได้เข้ามาหารือถกเถียงคัดค้านสนับสนุนกันด้วยเหตุผลแบบต่างๆ และอีกด้านหนึ่งที่ประชาธิปไตยนำความคิดเรื่องผลประโยชน์มาพิจารณาเหตุผลร่วมกันกับความคิดเรื่องสิทธิของบุคคลและการรู้จักใช้และปกป้องสิทธิของแต่ละฝ่าย ที่ทำให้พลเมืองค่อยๆ พัฒนาความสามารถที่จะคิดและรับฟังกันด้วยเหตุด้วยผลและเรียนรู้ที่จะฝึกใช้เสรีภาพและศิลปะแห่งการมีเสรีขึ้นมา

ด้วยกลไกภายในกระบวนการประชาธิปไตยข้อนี้ “ประชาธิปไตยจึงมีโอกาสที่จะกลับมาสู่ความจริงได้มากกว่า [การปกครองระบอบอื่น] ยามที่เกิดปัญญาถ่องแท้ขึ้น เพราะเหตุว่าโดยทั่วไปแล้ว ในประเทศประชาธิปไตยไม่มีผลประโยชน์ใดที่จะขัดกับผลประโยชน์ของคนส่วนมาก หรือที่จะต้านต่อเหตุผล ทว่าประชาธิปไตยจะบรรลุถึงสัจจะได้ก็ด้วยประสบการณ์ … อภิสิทธิ์อันใหญ่หลวงของคนอเมริกันจึงมิใช่เพียงแต่ว่ามีสติปัญญารู้แจ้งมากกว่าผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในการทำผิดพลาดชนิดที่แก้ไขได้”[6]

ในกลไกประการที่ 2 ต๊อกเกอะวิลล์เสนอว่า township democracy และการกระจายอำนาจทางการบริหารก่อให้เกิดผลทางการเมืองที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่งขึ้นมา นั่นคือความรู้สึกรักประเทศชาติบ้านเมืองของตน ต๊อกเกอะวิลล์บันทึกข้อสังเกตไว้ดังนี้

“ในสหรัฐอเมริกาผู้คนรู้ซึ้งถึงคำว่าชาติกันถ้วนหน้า ชาติเป็นสัญลักษณ์ของความรักใคร่เอาใจใส่ต่อกัน นับตั้งแต่ระดับหมู่บ้านตลอดจนถึงสหภาพ พลเมืองให้ความสนใจกับผลประโยชน์แต่ละอย่างของชาติเสมือนหนึ่งผลประโยชน์ตนเอง ชาติรุ่งเรืองเขาก็รุ่งเรืองด้วย เมื่อชาติประสบความสำเร็จเขาก็รู้สึกว่ามีส่วนในผลงานนั้น และรู้สึกภูมิใจไปด้วย เขาชื่นชมกับความเจริญรุ่งเรืองในชาติและได้ประโยชน์ตามไปด้วย เขามีความรู้สึกต่อชาติเสมือนกับที่เขารู้สึกต่อครอบครัวของเขา และยิ่งกว่านั้นที่เขาสนใจกับประเทศก็เพราะความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่งนั่นเอง”[7]

กลไกประการที่ 3 เข้าใจได้ไม่ยากว่าเมื่อมลรัฐมีหน้าที่ทางการปกครองแต่ไม่บริหารและ township democracy เป็นศูนย์รวมของการจัดการบริหารดูแลผลประโยชน์ตัวเองของคนในชุมชนด้วยกันแล้ว มันจึงเป็นกลไกที่พลเมืองเองจะเป็นผู้เลือกบุคคลในหมู่พวกเขาขึ้นเป็นผู้บริหารชุมชนและเคานตี้ และทำให้พวกเขาเป็นที่มาแห่งอำนาจอันแท้จริงที่คนที่ถูกเลือกมาเป็นตัวแทนทำหน้าที่บริหารงานของชุมชนจะต้องมีความรับผิดชอบที่ถูกตรวจสอบได้โดยคนที่เลือกเขาเข้ามานั้นเอง และโดยระบบการกระจายอำนาจหน้าที่ของงานบริหารกิจการสาธารณะไว้ในตำแหน่งต่างๆ แยกออกจากกัน กลุ่มคนที่จะกลายเป็นคนทำงานการเมืองในตำแหน่งต่างๆ จึงมีอาณัติความรับผิดชอบเป็นการเฉพาะและเกิดการคานการใช้อำนาจกันขึ้นมาได้

กลไกประการสุดท้าย ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและขอหยิบยกมาพิจารณาคือข้อสังเกตต่อไปนี้ของต๊อกเกอะวิลล์เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นตามมาจากลักษณะของระบบตุลาการในสหรัฐอเมริกา

“ลูกขุนเป็นคนประกาศคำตัดสินของผู้พิพากษา เขาให้อำนาจแก่คำพิพากษาในฐานะที่เขาเป็นตัวแทนของอำนาจสังคม ส่วนผู้พิพากษานั้นให้อำนาจในฐานะที่เป็นตัวแทนของเหตุผลและกฎหมาย … อำนาจทางจิตใจของผู้พิพากษาอเมริกันเหนือกว่า [ของผู้พิพากษาฝรั่งเศส] มาก เพราะเขาได้รับแรงสนับสนุนจากคำตัดสินของคณะลูกขุน และเสียงของเขามีอานุภาพเกือบจะเท่าๆ กับอานุภาพสังคม ซึ่งมีลูกขุนเป็นองค์กรชนิดหนึ่ง”

นอกจากระบบตุลาการในสหรัฐอเมริกาจะทำให้บรรดาผู้พิพากษามีฐานยึดโยงกับประชาชนโดยตรงผ่านกลไกเชิงสถาบันอย่างคณะลูกขุนแล้ว ต๊อกเกอะวิลล์ยังตั้งข้อสังเกตอีกทางหนึ่งว่าระบบคณะลูกขุนยังมีผลทำให้ “วิญญาณนักนิติศาสตร์แทรกซึมเข้าไปจนถึงผู้คนชั้นที่ด้อยที่สุดของสังคม โดยนัยนี้ คณะลูกขุน ซึ่งเป็นวิธีที่ทรงพลังที่สุดที่จะทำให้ประชาชนเป็นผู้ปกครอง ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะสอนให้ประชาชนรู้จักปกครองอีกด้วย”[8]

คำถามทิ้งท้ายในตอนนี้คือ เมื่อไทยไม่มี township democracy และเงื่อนไขทางสังคมที่จะสร้างความเข้มแข็งในระดับท้องถิ่นให้เป็นพลังทางการเมืองในจังหวะของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย จะมีกลไกเชิงสถาบันใดที่จะเข้ามาทำหน้าที่บ่มเพาะคุณธรรมและคุณสมบัติทางปัญญาความคิดและความรู้นึกคิดของพลเมือง ปลูกฝังความรู้สึกรักประเทศชาติบ้านเมือง คัดเลือกและคัดกรองคนเข้าสู่การทำงานการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนของชุมชนดำรงตำแหน่งทางการบริหารและออกกฎหมาย และพัฒนาการทำงานและวิธีคิดของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันตุลาการ

และกลไกเชิงสถาบันเหล่านั้นทำงานก่อผลออกมาแบบไหน และส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งในทางการปกครอง และในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมในเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

5.

จากความเป็นจริงที่การเมืองการปกครองไทยไม่มีเงื่อนไขท้องถิ่นและสภาวะประชาธิปไตยทางสังคมที่เข้มแข็งเหมือนกับที่มีในอเมริกา นำเรามาสู่ประเด็นที่เป็นด้านกลับของมันอันเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาในพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย นั่นคืออำนาจการปกครองและอำนาจบริหารที่ส่วนกลางมีจุดกำเนิดอย่างไร ในเงื่อนไขแบบไหนที่มันสถาปนาความเข้มแข็งเหนือส่วนอื่นๆ และเมื่อเป็นเช่นนั้นมันส่งผลอย่างไรต่อการปลูกถ่ายการจัดการปกครองประชาธิปไตยลงในเนื้อดินและภูมิอากาศที่อำนาจศูนย์กลางควบรวมอำนาจการปกครองและอำนาจการบริหารไว้

สมมติว่าถ้าต็อกเกอะวิลล์มีโอกาสมาเยือนสยามประเทศในช่วงเวลาครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่สยามกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยใหม่ในบริบทของการเผชิญกับภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก เขาย่อมจะไม่เห็นความเสมอภาคในทางสภาวะความเป็นอยู่และในความคิดจิตใจของผู้คน หรือมองเห็นการเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาในการทำงานร่วมกันของท้องถิ่นที่มีอิสระเป็นแน่

แต่ผมอยากจะเชื่อว่าเขาจะสังเกตเห็นแน่นอนถึงมิติสองด้านในกระบวนการเดียวกันของการเปลี่ยนจากรัฐจารีตมาสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ของสยาม ที่จะส่งผลบวกลบคูณหารต่างๆ ตามมาอีกมาก นั่นคือ ด้านที่เป็นการสถาปนาอำนาจการปกครองดินแดนตามหลักอธิปไตยผ่านการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism) ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และด้านที่เป็นการรวมอำนาจการบริหารประเทศเข้าสู่ศูนย์กลางผ่านการก่อตั้งและขยายตัวของระบบบริหารราชการแผ่นดินสมัยใหม่ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค

มิติ 2 ด้านของกระบวนการเดียวกันนี้คือสถาบันพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้านหนึ่ง และระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์อีกด้านหนึ่ง ในทีแรกทั้ง 2 ด้านจะสร้างกันและกันมา แต่ในตอนหลังด้านทั้ง 2 จะหันมาเผชิญเบียดขับจัดการกันจนด้านหนึ่งต้องล่าถอยให้แก่อีกด้านหนึ่ง และในภายหลังจะกลับมาประนอมและเอื้ออิงกันใหม่อีกครั้ง และผลของความสัมพันธ์ระหว่างมิติ 2 ด้านในกระบวนการกำเนิดรัฐสมัยใหม่ของสยามที่ตลบกลับไปกลับมานี้จะมีกว้างไกลไพศาลและสืบเนื่องต่อมาอีกยาวนาน

คำตอบในชั้นที่สอง จึงจะเป็นการอาศัยวิธีคิดที่ศึกษาสถาบันทางการเมืองโดยเน้นศึกษาการจรบรรจบของเหตุปัจจัยในจุดกำเนิด ที่สถาบันทางการเมืองต่างๆ ก่อตัวเกิดขึ้นมาในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ วิธีคิดของฝ่ายหลังนี้ต้องการแก้จุดอ่อนที่มักจะพบเสมอในงานที่ศึกษาสถาบันทางการเมืองในเชิงบทบาทหน้าที่

นั่นคือ ฝ่ายที่สองนี้พวกเขาเห็นว่าการเสนอและการรู้ว่าระบบการเมืองพึงมีองค์ประกอบเชิงสถาบันที่ทำบทบาทหน้าที่อะไร อย่างไร ยังไม่เพียงพอและไม่ใช่หลักประกันในตัวของมันเองว่าในความเป็นจริงแล้วจะเกิดสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่แบบนั้นขึ้นมาได้ในทุกแห่งที่รับระบอบการเมืองนั้นไปใช้

หรือสถาบันทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาแล้วอาจมิได้ทำงานไปตามตรรกะที่ควรจะเป็นตามที่ฝ่ายศึกษาสถาบันในเชิงบทบาทหน้าที่เสนอไว้ และเลยทำให้พลวัตทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการทำงานตามกลไกของสถาบันทางการเมืองเหล่านั้นให้ผลที่เบี่ยงเบนออกไปจากบทบาทหน้าที่ตามตัวแบบอุดมคติของมันได้

ในการศึกษาจุดกำเนิดของสถาบันทางการเมืองในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ ด้านหนึ่งจะแสดงให้เห็นถึงเหตุปัจจัยหลายมิติ ทั้งที่เป็นพลังความคิดในเชิงปทัสถาน และพลังทางวัตถุที่กำหนดสมรรถนะและขีดความสามารถในด้านต่างๆ ที่จรบรรจบมาต้าน มาขัด หรือมาหนุนเสริมกัน ณ ขณะที่ดุลยภาพเดิมเปลี่ยน และสถาบันทางการเมืองกำลังก่อรูปขึ้นมาสร้างดุลยภาพใหม่ ว่าส่งผลต่อการสร้างหรือก่อตัวของสถาบันทางการเมืองนั้นๆ ขึ้นมาแบบไหน ทั้งในด้านที่เป็นชุดคุณค่าหลักการ ที่สถาบันการเมืองนั้นจะรับยึดถือและปลูกฝังให้แก่บุคลากร อาณัติในการทำงานของสถาบันนั้นและความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ  ขอบเขตของอำนาจหน้าที่ ขีดความสามารถและทรัพยากรในความครอบครองของสถาบันดังกล่าว

และในอีกด้านหนึ่ง จะเป็นการศึกษาว่า สถาบันที่เกิดมาก่อนแล้ววางเงื่อนไขต่อการก่อรูปของสถาบันทางการเมืองที่เกิดตามมาอย่างไร และปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้การทำงานของสถาบันทางการเมืองเก่า-ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนี้ จะผลักการเมืองให้ลงสู่เส้นทางสายหนึ่งและมีพลวัตไปแบบหนึ่ง แทนที่จะเป็นเส้นทางสายอื่นที่เป็นไปได้ หรือแตกต่างออกไปอย่างไรจากพลวัตที่น่าจะเป็นอย่างที่พวกที่ศึกษาสถาบันทางการเมืองในเชิงบทบาทหน้าที่เสนอไว้

คำตอบในชั้นที่สอง จึงเป็นการเสนอข้อให้พิจารณาว่า เมื่อเงื่อนไของค์ประกอบที่ต๊อกเกอะวิลล์ชื่นชมมากว่าเป็นรากฐานสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาธิปไตยในอเมริกาไม่มีอยู่ก่อนในเมืองไทย แต่เมื่อเมืองไทยเปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยโดยไม่มีเงื่อนไขความพร้อมเช่นนั้น ก็ต้องเจอกับปัญหาสำคัญสำหรับการปลูกถ่ายระบอบใหม่นี้มาจัดการปกครอง เพราะเงื่อนไขจากเหตุปัจจัยที่ดำรงอยู่อีกแบบหนึ่ง ในขณะเวลาที่การปกครองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่เพียงจะเป็นดินที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการงอกงามของเงื่อนไขแบบต๊อกเกอะวิลล์ แต่ยังสร้างภูมิอากาศที่ทำให้สิ่งที่งอกออกมามีผลมีรสชาติไปอีกแบบหนึ่ง แตกต่างจากต้นแบบที่พึงจะเป็นอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองอังกฤษที่มงเตสกิเยอพอใจ และได้รสได้ผลไม่เหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่ต๊อกเกอะวิลล์ชื่นชม

คนที่ได้ลิ้มผลและรสของระบอบการเมืองไทยนับแต่หลัง 2475 ต่อเนื่องมา บางท่านก็ชอบ บางท่านก็ไม่ชอบ บางท่านชอบผลของฤดูกาลหนึ่ง แต่บางท่านชอบผลที่ได้จากอีกฤดูกาลหนึ่งมากกว่า แต่ไม่ว่าจะได้จากฤดูกาลไหน มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่พอใจกับความไม่คงเส้นคงวาของผลผลิตที่มีมา จึงเป็นคำถามสำหรับการวิเคราะห์สถาบันการเมืองในกระบวนการประวัติศาสตร์ให้ต้องตอบว่า ผลและรสที่ไม่คงเส้นคงวาปรวนแปรเปลี่ยนเป็นไปต่างๆ อย่างพัฒนาให้ดีขึ้นได้ยากนี้มาจากต้นกำเนิดและเหตุปัจจัยอะไรกันแน่?

ยังมีการวิเคราะห์เชิงสถาบันเพื่อเสนอคำตอบในชั้นที่สาม คือการพิเคราะห์ตัวหลักการที่ให้ความชอบธรรมหรือเหตุผลความเหมาะสมแก่สถาบันทางการเมืองแบบหนึ่งๆ ที่เข้ามาแทนที่หลักการความชอบธรรมของสถาบันเดิมที่มีอยู่ว่าอิงอาศัยอะไรเป็นฐานคิด ที่มาของฐานคิดใหม่ๆ นั้นมาจากไหน โดยผ่านกระบวนการทางสังคมอย่างไร พลังของฐานคิดแบบใหม่เมื่อเทียบเคียงกับพลังของฐานคิดแบบเดิมมีจุดที่แตกต่างกันอย่างไร มีทางที่จะถูกควบรวมกลืนกลายหรือสลายพลังกันได้ตรงไหนอย่างไรบ้าง คำตอบในชั้นนี้สำคัญต่อการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมและวัฒนธรรมที่จะส่งผลต่อฐานคิดต่างๆ ที่อยู่ในความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของพลเมือง

ส่วนคำตอบในชั้นที่สี่นั้น เป็นการพิจารณาว่าสถาบันทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ทำงานส่งผลสร้างแรงจูงใจต่อตัวแสดงต่างๆ ไปในทางไหน ที่จะทำให้เขาเลือกหรือไม่เลือกทำอะไร หรือตัดสินใจใช้วิธีหนึ่งแทนที่จะเป็นอีกวิธีหนึ่ง หรือทำไมทางเลือกหนึ่งจึงน่าเลือกและสมเหตุสมผลมากกว่าทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้

โดยผสานความเข้าใจที่ได้จากคำตอบสามชั้นข้างต้นแล้ว คำตอบชั้นที่สี่จึงจะให้ความเข้าใจได้ถ่องแท้ต่อการตัดสินใจของตัวบุคคลในเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อปี 2500 และหลังจากนั้นต่อมา.

 

อ้างอิง

[1] ท่านที่สนใจกรอบแนวคิดเกี่ยวกับแนวทางสถาบันในการศึกษาการเมืองที่ใช้ในบทความนี้ โปรดดูบทความปริทัศน์แสดงหัวใจสำคัญของแนวทางศึกษาเชิงสถาบันทั้ง 3 ที่พัฒนาต่อออกไปจากแนวทางการศึกษาดั้งเดิมซึ่งเน้นบทบาทหน้าที่และการทำงานของสถาบันการเมืองทางการ ใน Peter A. Hall and Rosemary C. R. Taylor, “Political Science and the Three New Institutionalisms,” MPIFG Discussion Paper 96/6, Max-Planck-Institut für Gesellschaftsforschung, June 1996.

[2] เพื่อไม่ให้การอ้างอิงยืดเยื้อนัก ผมขอแจ้งในที่นี่เพียงว่าใช้งานของต๊อกเกอะวิลล์เล่มนี้ที่เป็นฉบับแปลเป็นหลัก ฉบับภาษาไทยผมใช้งานแปลของอาจารย์วิภาวรรณ ตุวยานนท์ ส่วนภาษาอังกฤษ ผมใช้ฉบับมาตรฐานของ Harvey C. Mansfield and Delba Winthrop.

[3] ผมปรับคำแปลตอนนี้จากงานแปลภาษาไทยของอาจารย์วิภาวรรณในเนื้อความตอนท้ายเล็กน้อย โดยใช้ต้นฉบับแปลของ Harvey Mansfield and Delba Winthrop: Alexis de Tocqueville, Democracy in America, translated, edited, with an introduction by Harvey C. Mansfield and Delba Winthrop (Chicago: University of Chicago Press, 2002), Introduction, p. 3.

[4] เพิ่งอ้าง, Volume 1 Chapter 5, p. 56.

[5] ในที่นี้ จะขอยกเว้นที่จะกล่าวถึงระบบการผลิตที่ใช้แรงงานทาสรองรับสังคมเสรีชนของคนผิวขาว และความรู้สึกนึกคิดในทางเหยียดผิวหรือมองคนไม่เท่ากันด้วยความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์สีผิว ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการเข้าใจประชาธิปไตยในอเมริกาและปรากฏเป็นข้ออภิปรายสำคัญในงานของต๊อกเกอะวิลล์ กล่าวทดไว้ได้เพียงว่าการจะเข้าใจโดยตลอดเกี่ยวกับเงื่อนไขรองรับการดำรงคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างคนเสมอกันในสังคมประชาธิปไตยตะวันตกนั้นไม่อาจพลาดที่จะต้องพิจารณาระบบการผลิตและเศรษฐกิจการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และในระดับโลก ที่เป็นพื้นฐานรองรับการสร้างความมั่งคั่งของสังคมนั้นๆ และทำให้พลเมืองมีเวลา มีทุนรอนและอิสระจากความบีบคั้นที่ต้องทำมาหากินพอที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะได้

[6] อเล็กซิส เดอะ ต๊อกเกอะวิลล์, ประชาธิปไตยในอเมริกา เล่ม 1 วิภาวรรณ ตุวยานนท์ แปล วินิตา ไกรฤกษ์ บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2522), ภาคที่ 2 บทที่ 5 ตอน ‘อำนาจปกครองตนเองโดยทั่วไปของประชาธิปไตยอเมริกัน’, หน้า 272. และอาจเสริมด้วยความอีกตอนหนึ่งจากบทเดียวกันว่า “บ่อยครั้งลัทธิเผด็จการมักจะมาในรูปของทางแก้ความเลวร้ายทั้งมวลที่ต้องทนทรมานมา ลัทธินี้เป็นสิ่งจรรโลงสิทธิอันดีงาม เป็นเครื่องค้ำจุนผู้ที่ถูกข่มเหงและเป็นผู้เสริมสร้างความมีระเบียบ ประชาชนทั้งหลายย่อมจะนอนตาหลับอยู่ท่ามกลางความเจริญรุ่งเรืองอย่างปัจจุบันทันด่วนอันเกิดจากลัทธินี้ และยามที่พวกเขาตื่นขึ้น พวกเขาจะทุกข์ยากเหลือแสนตรงกันข้าม เสรีภาพตามปกติวิสัยย่อมถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางพายุร้าย เสรีภาพจะก่อตัวขึ้นอย่างยากเย็นท่ามกลางความไม่ลงรอยกันของพลเมือง และยามที่เสรีภาพมีอายุเก่าแก่เท่านั้น เราจึงจะมองเห็นประโยชน์ดีงามแห่งเสรีภาพนั้นได้” (ภาคที่ 2 บทที่ 5 ตอน ‘ความคิดเกี่ยวกับสิทธิในสหรัฐอเมริกา’ หน้า 291).

[7] อเล็กซิส เดอะ ต๊อกเกอะวิลล์, เพิ่งอ้าง, ภาคที่ 1 บทที่ 5 ตอน ‘ผลทางการเมืองของการกระจายอำนาจ’, หน้า 110.

[8] ข้อความในย่อหน้าก่อนและย่อหน้านี้มาจาก ภาคที่ 2 บทที่ 8 ตอน ‘คณะลูกขุนในสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นสถาบันการเมือง’, หน้า 337-338.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save