fbpx
คืนความเป็นธรรมให้กับการค้าข้างทาง

คืนความเป็นธรรมให้กับการค้าข้างทาง

หากคุณชอบตามอ่านข่าวทั้งในทีวีหรือตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งบนหน้าฟีดจากเฟซบุ๊ก คุณจะพบว่าในช่วงสองสามปีมานี้ สถานการณ์การค้าข้างทางโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มักจะได้รับการจับจ้องเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเริ่มมีข้อถกเถียงกันในสังคมว่า จริงๆ แล้ว การค้าข้างทางจะสร้างประโยชน์หรือความเดือดร้อนให้กับชาวกรุงเทพฯ กันแน่ การถกเถียงเกิดขึ้นตามหน้าสื่อต่างๆ จนเสียงแตกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน นั่นคือ จะ ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’ หาบเร่แผงลอยข้างทาง

 

ในที่สุดกรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลสารทุกข์สุขดิบของชาวกรุงเทพฯ ก็ได้เลือกดำเนินนโยบายที่มีชื่อว่า ‘คืนทางเท้าให้ประชาชน’ ในปี 2557 พูดอีกอย่างก็คือ กรุงเทพมหานครได้ตัดสินใจแล้วว่า การค้าแผงลอยกำลังสร้างความเสียหายให้กับชาวกรุงเทพฯ ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงต้องเข้ามาจัดระเบียบทางเท้าผ่านการควบคุมเวลาขายของประเภทหาบเร่แผงลอยอย่างเข้มงวดในหลายพื้นที่

ผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบายนี้ตลอดสามปีที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้ผู้ค้าข้างทางประกอบอาชีพลำบากเพราะถูกกระชับพื้นที่แล้ว การที่รัฐใช้วาทกรรมว่า ‘คืนทางเท้าให้ประชาชน’ ยังทำให้การค้าข้างทางหรือผู้ค้าหาบเร่ กลายเป็นผู้ทำลายความผาสุกของเมือง และผู้ร้ายในสายตาของคนทั่วไปไปโดยปริยาย

สถานการณ์เช่นนี้นอกจากจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างผู้ที่เห็นต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว มันยังเป็นการปิดโอกาสสำหรับการพัฒนาเมืองในหลากหลายมิติอีกด้วย ด้วยเหตุนี้นี่แหละ จึงทำให้เราต้องให้ความสำคัญต่อการพิจารณาถึงสถานะของการค้าข้างไทยของไทยอีกครั้ง ว่าแท้ที่จริงแล้ว ผู้ค้าข้างทางจะใช่ผู้ร้ายตัวจริงหรือไม่? และสิ่งที่พวกเขาได้รับนั้นเป็นธรรมแล้วจริงหรือ?

แน่นอนว่า การตอบคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถึงอย่างไร ในสังคมไทยก็มีนักวิชาการบางคนที่ให้ความสนใจต่อการศึกษาเรื่องการค้าข้างทาง จนสามารถผลิตผลงานวิจัยที่สามารถชี้ให้เห็นถึงคำตอบของคำถามข้างต้นได้บ้าง

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา วันนี้เราจะลองมาตอบคำถามข้างต้นด้วยองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยที่มีชื่อว่า การบริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย: สถานการณ์ และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น (2560) โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร กัน

 

ผู้ค้าข้างทางเป็นใคร

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ให้ข้อมูลที่ชี้ถึงสถานการณ์การค้าข้างไทยไว้ได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะเรื่อง การค้าข้างทางคืออะไร และผู้ค้าข้างขางเป็นใครกันแน่

จากการเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ก็พบว่าแท้จริงแล้ว ประเทศไทยมีการค้าข้างทางมานานนมแล้ว ซึ่งถ้าจะบอกเป็นช่วงเวลาอย่างชัดเจน ก็อาจบอกได้ว่า การค้าข้างทางเริ่มปรากฎตัวในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ อย่างชัดเจนช่วงหลังปี 2504

โดยกลุ่มคนแรกๆ ที่มาประกอบอาชีพนี้คือ ‘ชาวจีนอพยพ’ ส่วนหนึ่งเพราะชาวจีนอพยพเหล่านี้มักใช้การค้าข้างทางเป็นเครื่องมือเลื่อนชั้นทางสังคม – จากคนจนเป็นคนรวย

เราสามารถกำหนดนิยามของการค้าข้างทางว่า คือ การประกอบอาชีพค้าขายไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสิ่งของตามริมทางข้างถนน โดยผู้ที่ประกอบอาชีพนี้สามารถโยกย้ายสถานที่ประกอบอาชีพได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ การค้าขายข้างถนนมักถูกนับให้อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy)

ถึงแม้ว่าการถกเถียงเรื่องการจัดการการค้าข้างทางจะเกิดขึ้นมาตลอด แต่ถึงอย่างไร แต่เดิมภาครัฐอย่างเช่นกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ค่อยดำเนินนโยบายการจัดการการค้าข้างทางอย่างเข้มงวดเท่าใดนัก นั่นคือ มีการผ่อนปรนพื้นที่ขายของริมทาง หรือจัดตั้งธนาคารประชาชน ทั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพอย่างอิสระ ยืดหยุ่น และสามารถพึ่งพาตนเอง จริงๆ แล้วนโยบายของรัฐเพิ่งจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง

จากการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับผู้ค้าข้างทางในเขตบางรัก เขตปทุมวัน เขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ ทำให้เราพบว่าผู้ค้าข้างทางในกรุงเทพฯ มีคุณลักษณะหลากหลาย

อย่างแรกเลยก็คือ เรื่องอายุ พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่จะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมากกว่าครึ่งของผู้ค้าทั้งหมดทำอาชีพนี้มานานแล้ว นั่นคือ เกิน 10 ปี จะมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เพิ่งทำอาชีพนี้มาได้ไม่เกิน 5 ปี และแน่นอนว่า ผู้ค้าขายข้างทางถึงร้อยละ 75 เป็นผู้หญิง ผู้ค้าส่วนมากราวร้อยละ 60 ประกอบกิจการในจุดผ่อนผันที่ทางการจัดเอาไว้ ในด้านการศึกษา ก็พบว่าส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่สูงนัก (ไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี)

ที่น่าสนใจคือ เหตุผลของผู้ค้าขายที่ตัดสินใจเลือกทำอาชีพนี้ไม่ใช่เกิดมาจากเรื่องรายได้ หากเป็นเรื่องข้อได้เปรียบของอาชีพที่มอบความอิสระและความยืดหยุ่นแก่ผู้ค้า แต่ถึงกระนั้น ก็มีบางส่วนที่บอกว่าที่มาประกอบอาชีพนี้ เพราะไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว

ประเภทสินค้าที่ผู้ค้าข้างทางนิยมขายคือ อาหาร (ที่ปรุง ณ จุดขาย) เพราะสามารถทำได้ง่าย และใช้ต้นทุนน้อย แต่ได้กำไรมาก และจากการเก็บข้อมูลเรื่องรายรับรายจ่ายของผู้ค้าข้างทาง ก็ทำให้ทราบอีกว่า

รายจ่ายเฉลี่ยของผู้ค้าอยู่ที่ 2,237 บาทต่อวัน ขณะรายรับจะอยู่ที่เฉลี่ย 3,208 บาทต่อวัน นั่นหมายความว่าผู้ค้าขายข้างทางจะมีกำไรต่อวันถึง 1,000 บาท ถ้าเทียบเป็นรายได้ต่อเดือน ผู้ค้าขายข้างทางอาจได้เงินเข้ากระเป๋าต่อเดือนประมาณ 25,000 – 30,000 บาท ซึ่งมากกว่ารายได้เฉลี่ยของพนักงานออฟฟิศในช่วงต้นอาชีพเสียอีกนะครับ

จะเห็นได้ว่า การค้าข้างทางนั้นเป็นอาชีพที่ยืดหยุ่นและสามารถสร้างรายได้ได้พอสมควร และที่สำคัญคือ ในปัจจุบันผู้ค้าขายของข้างทางส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจนอีกต่อไปแล้ว แต่จะเป็นคนชนชั้นกลางระดับต้นมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยข้อดีต่างๆ เหล่านี้แหละครับ เลยทำให้คนเมืองที่รักอิสระหันมาสนใจและอยากประกอบอาชีพนี้กันมากขึ้น   

                  

การค้าข้างทางให้อะไรกับเมืองบ้าง

ถึงการค้าข้างทางในปัจจุบันจะมีข้อดีในหลากหลายมิติ แต่ก็คงหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอาชีพที่ปัญหาเมืองในหลายๆ ด้าน เช่น การกีดขวางทางเท้า หรือการทำให้เมืองสกปรก เป็นต้น เอาเป็นว่า พวกผู้ค้าข้างทางมักถูกค่อนแคะจากชาวเมืองด้วยกันว่าเป็น ‘พวกเห็นแก่ตัว’ นั่นเอง

ทั้งนี้ งานวิจัยก็ได้ชี้ว่า ในความเป็นจริง การประกอบอาชีพการค้าข้างทางก็อาจสร้างปัญหาอยู่บ้าง แต่นั่นก็สามารถแก้ได้ หากเมืองมีการจัดการดีๆ และทีสำคัญ หากมองอีกมุมหนึ่ง จริงๆ แล้ว การค้าข้างทางสามารถสร้างประโยชน์ให้กับเมืองอย่างมหาศาลในหลายๆ มิติเลยนะครับ แต่บางคนอาจไม่ทันได้สังเกต

จากการสอบถามข้อมูล พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ค้าบอกว่าผู้ซื้อจะเป็นลูกค้าประจำ ทั้งนี้ ผู้ซื้อจะมีทุกกลุ่มอายุ และส่วนใหญ่จะเป็นแรงงาน ซึ่งร้อยละ 35 ของผู้ซื้อมักมีรายได้ต่ำนั่นคือ มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 9,000 บาท ผู้ซื้อประมาณเกือบครึ่งหนึ่งบอกว่าตนจะเดินมาซื้อของข้างทางทุกวัน โดยการซื้อของแต่ละครั้ง จะซื้อของรวมกันเกินกว่า 100 บาท โดยผู้ซื้อได้ให้เหตุผล 3 ประการที่ทำให้ตนเลือกซื้อของข้างทางมากกว่าของในร้านค้าตามห้างร้านต่างๆ ได้แก่ ความสะดวกสบาย ความถูกของสินค้า และความเป็นกันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ผู้ซื้อและประชาชนทั่วไปถึงร้อยละ 95 (ของจำนวนตัวอย่างผู้ซื้อและประชาชนที่เข้าร่วมวิจัย 200 คน) ยอมรับว่าการค้าข้างทางมีความสำคัญต่อกรุงเทพมหานคร

งานวิจัยได้จำแนกความสำคัญของการค้าข้างทางต่อกรุงเทพมหานครไว้หลายด้าน เป็นต้นว่า การมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างงานและอาชีพในเมือง โดยการมอบโอกาสให้ประชากรที่มีโอกาสน้อยในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจสามารถประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ได้พอสมควร พอที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปได้

นอกจากนี้ การค้าข้างทางยังมีบทบาทในการลดแรงเสียดทานในระบบทุนนิยม กล่าวคือ ด้วยการขายสินค้าราคาย่อมเยา ทำให้แรงงานจากภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีพได้ง่ายและทั่วถึง นอกจากนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้าข้างทางมอบความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงทำงาน สินค้าข้างทางจะมีความจำเป็นเป็นพิเศษ

หากมองในด้านเศรษฐกิจ การค้าข้างทางก็สามารถสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้แก่เมืองได้ไม่แพ้ห้างสรรพสินค้าเลยทีเดียว ดังที่ได้บอกไปแล้วว่า ผู้ค้าแต่ละคนได้รายได้เฉลี่ยต่อวันถึง 3,208 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ถือว่าสูงมาก หากเรานำไปพิจารณาร่วมกับผู้ค้ารายอื่น ซึ่งในงานวิจัยนี้ มีผู้ค้าเข้าร่วมถึง 400 ราย และผู้ค้าส่วนใหญ่ก็ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน นั่นหมายความว่า ต่อวันผู้ค้าข้างทางเพียงแค่ 400 ราย สามารถสร้างรายได้ต่อวันได้ถึง 894,992 บาท หากเป็นสัปดาห์ก็จะสูงถึง 5.37 ล้านบาท และเป็นปีก็จะสูงถึง 279.23 ล้านบาทเลยทีเดียว

ด้วยรายได้ที่มากขนาดนี้ หากรัฐมีวิธีการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสม ก็สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล (อย่าลืมนะครับ ว่านี่แค่ตัวเลขที่คิดมาจากผู้ค้าข้างทางส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ใช่ทั้งหมด)

สำหรับความสำคัญด้านวัฒนธรรม ก็พบว่าการขายอาหารข้างทางอย่างในกรุงเทพฯ มีความหลากหลายอย่างยิ่ง จนถึงขั้นเป็นเอกลักษณ์และสามารถสร้างจุดเด่นให้กับประเทศไทย (เช่น อาหารข้างถนนย่านเยาวราช) การรักษาการค้าข้างถนนจึงเป็นการช่วยรักษาความหลากหลายของอาหารในทางหนึ่งได้ด้วย นอกจากนี้ ความไม่เป็นทางการของการค้าข้างทางยังมีส่วนช่วยทำให้การใช้ชีวิตในเมืองของประชากรกลุ่มต่างๆ ไม่รู้สึกแปลกแยกต่อกันอีกด้วย   

 

จะเห็นได้ว่า การค้าข้างทางในกรุงเทพฯ นั้นมีประโยชน์มากมายหลายมิติ ที่สำคัญคือ ผู้คนเกือบทั้งเมืองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับมันไม่ทางใดทางหนึ่งเสมอ ดังนั้น เราจึงสามารถพูดได้อีกว่า การที่ผู้ค้าข้างทางถูกกล่าวโทษว่าเห็นแก่ตัวจึงเป็นสิ่งที่เกินจริงและไม่ยุติธรรม

แน่นอนว่า การค้าข้างทางอาจจะสร้างปัญหาในแง่การกีดขวางทางสัญจรทางเท้า หรือการก่อความสกปรกอยู่บ้าง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาที่ยากเกินแก้ การแก้ปัญหาเมืองในปัจจุบัน เราไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ด้วยเพียงการผลักใครออกไปได้อีกแล้ว การแก้ปัญหาหรือการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน เราต้องรวบรวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน กรณีปัญหาจากการค้าแผงลอยก็เช่นกัน

ดังนั้น โจทย์สำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่เราควรจะมีหรือไม่มีการค้าแผงลอยกันแน่ หากอยู่ที่ว่าเราจะจัดการการค้าแผงลอยตามแนวทางการพัฒนาเมืองโดยรวมทุกคนไว้ด้วยกัน (inclusive cities) กันอย่างไรมากกว่า

ตอนนี้ต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม ได้มองเห็นประโยชน์และความจำเป็นของการค้าแผงลอย และเริ่มผนวกการค้าแผงลอยเข้าสู่การพัฒนาเมืองแบบยั่งยืนอย่างเป็นจริงเป็นจังกันแล้ว

 

ประเทศไทยของเราจะเริ่มเมื่อไหร่?    

           

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม

โครงการวิจัยเรื่อง บริหารจัดการการค้าข้างทาง (Street Vending) ในประเทศไทย: สถานการณ์ และทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น (2560) โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save