fbpx
รู้เขารู้เรา เข้าใจวิธีคิดกองทัพไทย ผ่าน สุรชาติ บำรุงสุข

รู้เขารู้เรา เข้าใจวิธีคิดกองทัพไทย ผ่าน สุรชาติ บำรุงสุข

 สมคิด พุทธศรี และ จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ เรื่อง

 จารุกิตต์ ธีรตาพงศ์ ภาพ

 

หากนับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นจุดเริ่มต้น สังคมไทยถูกปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย่างเข้าสู่ปีที่สี่แล้ว และยังไม่แน่ชัดว่า ระบอบ คสช. จะดำรงอยู่อีกยาวนานเท่าไหร่

หากนับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นหมุดหมาย ปัจจุบันกองทัพกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่าง ‘ออกนอกหน้า’ นับรวมได้ 11 ปีพอดี หลังจากกลับสู่กรมกองตั้งแต่เหตุการณ์ ‘พฤษภาประชาธรรม 2535’

และหากนับการอภิวัฒน์ 2475 เป็นหลักยึด กองทัพคือตัวละครหลักที่โลดแล่นอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยมาโดยตลอด เหตุการณ์สำคัญที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองล้วนมีกองทัพเป็นตัวแปรสำคัญในระดับกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง

กองทัพไทย ‘คิด’ อะไร มีเบื้องหลังอะไร และมุ่งหวังอะไร

ในยุคที่ทหารยึดกุมอำนาจและทำตัวเป็นเจ้าของบ้านเมือง ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ ‘เนื้อหอม’ มากที่สุด ด้วยความเชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ทางทหาร กองทัพ และความมั่นคง ทำให้ ‘สุรชาติ’ เป็นชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงยามต้องการสนทนาเชิงลึกเรื่องทหารกับการเมือง

แม้ตลอด 3 ปีกว่าในยุค คสช. คอการเมืองจะมีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์และงานเขียนของสุรชาติจนนับชิ้นไม่ถ้วน แต่เมื่อโจทย์คือการทำความเข้าใจวิธีคิดของกองทัพ  ‘สุรชาติ’ ก็ยังเป็นคนที่ 101 อยากชวนคุยด้วยมากที่สุด

ว่ากันว่าในการศึกษาวิชาทหารกับการเมืองเบื้องต้น สมมติฐานแบบง่ายที่ใช้ประเมินกองทัพคือคำกล่าวที่ว่า “ในสังคมที่ล้าหลัง ทหารคือพลังที่ก้าวหน้า ในสังคมที่ก้าวหน้า ทหารคือพลังที่ล้าหลัง” วลีนี้สะท้อนว่า กองทัพและสังคมมีความสัมพันธ์กันและส่งผลต่อกันและกัน

คำถามมีอยู่ว่า กองทัพไทยก้าวหน้าหรือล้าหลัง — สังคมไทยล้าหลังหรือก้าวหน้า?

 

 

“ยิ่งรัฐบาลทหารใช้วิธีการสายเหยี่ยวมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการบอกว่ารัฐบาลรู้สึกไม่มั่นคง ถ้ามาตรการทางการทหาร การปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารและทางจิตวิทยาสามารถใช้ควบคุมสังคมได้จริง สิ่งที่ควรจะเห็นคือมาตรการที่ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เข้มงวดขึ้น”

รัฐบาล คสช. ครองอำนาจมา 3 ปีกว่าแล้ว และดูเหมือนว่าจะยังอยู่กับเราไปอีกสักพัก  อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ทหารอยู่ในอำนาจได้นานขนาดนี้

กองเชียร์รัฐบาลทหารยังมีอยู่พอสมควร ในด้านหนึ่ง คนกลุ่มนี้เชียร์และเอาใจช่วยรัฐบาลทหารอยู่แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าเป็นผลพวงมาจากการปฏิบัติการด้านข่าวสาร (Information Operation: IO) ของฝ่ายทหารด้วยเหมือนกัน กองทัพทำให้คนจำนวนหนึ่งคล้อยตามได้ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ทางออกของประเทศ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาแบบนี้

กลุ่มคนที่เชียร์และเอาใจช่วยรัฐบาลทหารนั้นน่าสนใจ ถ้ามองในภาพใหญ่เราจะเห็นว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยกำลังเปลี่ยน โดยเฉพาะกระแสอนุรักษนิยมที่เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางไทย การประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ดี กปปส. ก็ดี สะท้อนถึงการรวมพลังของปีกอนุรักษนิยมค่อนข้างชัดเจน

 

หลายคนเคยคิดว่า ก่อนรัฐประหาร สังคมไทยเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าขึ้นมาก วิธีการทางทหารแบบเดิมไม่น่าจะใช้ได้ผลอีกแล้ว แต่กลายเป็นว่า กองทัพก็แสดงให้เห็นว่าเขา ‘เอาอยู่’ อย่างน้อยในระดับพื้นผิว จริงๆ แล้ว กองทัพมีศักยภาพในการจัดการทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่ทหารพยายามทำ คือการใช้มาตรการทางการทหารและการควบคุมทางสังคม สังคมไทยคงยังไม่ถึงขั้นเป็นแบบนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ แต่อย่างน้อยแนวโน้มสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ในวันนี้การควบคุมแบบที่ทหารใช้อยู่ยังคงมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง แต่คำถามคือ ในอนาคตเครื่องมือแบบนี้จะยังคงมีประสิทธิภาพในทางที่เอื้อให้ทหารคุมอำนาจในสังคมไทยต่อไปได้หรือไม่

ข้อสังเกตคือ ยิ่งรัฐบาลทหารใช้วิธีการสายเหยี่ยวมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการบอกว่ารัฐบาลรู้สึกไม่มั่นคง ถ้ามาตรการทางการทหาร การปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารและทางจิตวิทยาสามารถใช้ควบคุมสังคมได้จริง สิ่งที่ควรจะเห็นคือมาตรการที่ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เข้มงวดขึ้น

กรณีฮ่องกงเป็นตัวแบบที่สะท้อนอนาคตได้ดี รัฐบาลอำนาจนิยมอย่างจีนอาจจะยุติการประท้วงที่เทียนอันเหมินได้อย่างราบคาบ แต่วันนี้รัฐบาลจีนเผชิญโจทย์อีกชุดหนึ่ง คือโจทย์ของเสรีภาพและประชาธิปไตย ในเรื่องของขีดความสามารถในการควบคุมทางสังคม รัฐบาลจีนทำได้มากกว่ารัฐบาลไทยเยอะ แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังได้เห็นภาพการประท้วงที่ฮ่องกงของคนจำนวนมาก อย่างน้อยนั่นคือคำตอบ

 

ทำไมชนชั้นกลางไทยจึงหันหลังให้ประชาธิปไตยและกลายเป็นพลังอนุรักษนิยม

เรื่องนี้มองได้หลายมุม แต่มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ การวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกระแสฝ่ายขวาในระดับโลก เรามักพูดกันว่า โลกาภิวัตน์จะทำให้ระเบียบและคุณค่าแบบเสรีนิยม เช่น ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ระบบเศรษฐกิจเสรี ฯลฯ แพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ในด้านกลับ โลกาภิวัตน์ทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลัวการเปลี่ยนแปลงของโลก ความกลัวชุดนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังการเมืองแบบฝ่ายขวาที่กำลังโหมพัด ชัยชนะของ Brexit และทรัมป์ คือรูปธรรมของพลังปีกขวาในโลกตะวันตก

แม้ว่าบริบทชนชั้นกลางไทยและตะวันตกอาจจะต่างกัน แต่อย่างน้อยมีความใกล้เคียงสูงในแง่ของการหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลง แล้วหันกลับไปสู่อนุรักษนิยม เว้นแต่ว่าชนชั้นกลางในโลกตะวันตกที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ไม่เรียกร้องรัฐประหาร ขณะที่ชนชั้นกลางไทยส่งสัญญาณต่อต้านกระแสเสรีนิยมด้วยการกลับไปสู่ความคิดเก่าที่สุดคือ หันกลับไปหารัฐบาลทหาร

 

ชนชั้นกลางตะวันตกคือผู้พ่ายแพ้จากโลกาภิวัตน์ การออกมาต่อต้านโลกาภิวัตน์ของพวกเขาจึงพอเข้าใจได้ แต่ทำไมชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในสังคมไทยที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์กลับปฏิเสธคุณค่าแบบเสรีนิยม

แก่นของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเสียทีเดียว แต่เป็นความรู้สึกไม่มั่นคง เป็นมิติด้านความกลัวการเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก ซึ่งในโลกตะวันตกมิติด้านความกลัวทำงานผ่านกลไกทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

แต่ในสังคมไทย มิติด้านความกลัวทำงานอีกแบบ ในด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าคนชั้นกลางและคนชั้นสูงเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากโลกาภิวัตน์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ชุดคุณค่าแบบเสรีนิยมกลับบั่นทอนชุดความคิดจารีตนิยมที่พวกเขายึดถือ และคอยค้ำยันสถานะทางสังคมของพวกเขาไว้ ดังนั้น ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงจึงรู้สึกไม่มั่นคงจากภายใน และพยายามรักษาสถานะของตนด้วยการสู้กับกระแสเสรีนิยมที่ไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทย

ในแง่มุมนี้สังคมไทยไม่ได้มีลักษณะพิเศษ หลังสิ้นสุดสงครามเย็นในปี 2532 กระแสประชาธิปไตยแบบตะวันตกเริ่มพัดแรง โลกาภิวัตน์ทำให้คุณค่าเสรีนิยมกลายเป็นกระแสหลักและอนุรักษนิยมเป็นกระแสรอง เมื่อกระแสเสรีนิยมเข้ามาสู่พื้นที่ท้องถิ่นจึงปะทะกับความเข้มแข็งเดิม ซึ่งก็คือชุดความคิดอนุรักษนิยมหรือจารีตนิยม ในหลายประเทศเกิดความพยายามที่จะต้านทานกระแสนี้ เราเริ่มเห็นการปฏิเสธการเลือกตั้ง เกิดวาทกรรมที่บอกว่า ประชาธิปไตยเป็นค่านิยมแบบตะวันตก ไม่จำเป็นต้องเป็นสากล

ผลลัพธ์คือ เกิดปรากฏการณ์ยอมรับกระแสประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมแบบครึ่งๆ กลางๆ ในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้ง แต่ไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่ารัสเซียเป็นประชาธิปไตย นี่เป็นประเทศตัวอย่างที่ปรับระบบการเมืองให้รับกับกระแสประชาธิปไตยเพื่อสร้างระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือใช้การเลือกตั้งสร้างระบบการเมืองกึ่งประชาธิปไตย สังคมไทยอยู่ในสภาวะคล้ายกันนี้ คือรับกระแสประชาธิปไตยมา แล้วทำให้เป็นกึ่งเผด็จการ

 

มองจากบริบทโลก การต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายอนุรักษนิยมจะคลี่คลายอย่างไร

ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ตกลงกระแสไหนจะเป็นฝ่ายชนะหรือเป็นกระแสหลักในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษทำให้ฝ่ายเสรีนิยมอ่อนแอลงไปพอสมควร แต่ถึงที่สุดแล้ว ลมประชาธิปไตยและเสรีนิยมก็ยังคงพัดอยู่ เรายังเห็นความพยายามโต้กลับของฝ่ายเสรีนิยม

ในประเทศไทยแรงกดดันจากภายนอกต่อรัฐบาลทหารไทยยังคงมีอยู่ อาจจะมากบ้างน้อยบ้างตามสถานการณ์ แต่ไม่ได้หมายความรัฐบาลทหารไม่ต้องเผชิญแรงกดดัน การกลับสู่ประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากลยังเป็นโจทย์ที่ คสช. ต้องแบกรับอยู่

 

 

“ถ้าการสร้างประชาธิปไตยคือโจทย์ของสังคม เราต้องจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและรัฐบาลใหม่ภายใต้ชุดความคิดที่ว่า กองทัพเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายรัฐบาล … การปฏิรูปทางการเมืองเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปกองทัพ และเช่นเดียวกัน การปฏิรูปกองทัพก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมือง”

กองทัพมีวิธีคิดทางการเมืองอย่างไร

ทหารมีชุดความเชื่อว่าตนเองเป็น national guardian หรือ ‘ผู้พิทักษ์แห่งชาติ’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่อดีต ที่ใช้คำว่า ‘อดีต’ เพราะในหลายประเทศปรากฏการณ์นี้ได้ยุติลงแล้ว

เมื่อทหารสร้างความรู้สึกหรือจินตนาการว่าพวกเขาเป็นผู้พิทักษ์ของประเทศแล้ว เวลาที่การเมืองมีปัญหา ทหารจะคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องเข้ามาจัดการ และเมื่อมีอะไรที่ขัดแย้งกับทหาร เขาก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์แห่งชาติไปด้วย ดังนั้น ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าทหารยังมีชุดความคิดแบบนี้อยู่ พวกเขาก็พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงทางการเมือง

ความคิดเรื่องผู้พิทักษ์แห่งชาติสะท้อนผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อย่างชัดเจน พูดให้ถึงที่สุด แก่นของยุทธศาสตร์นี้คือ การบอกว่าทหารเท่านั้นที่จะเป็นคนกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ ใครละเมิดก็มีเงื่อนไขที่จะถูกฟ้องร้องตามกฎหมาย ในบริบทนี้เราคาดการณ์ได้ว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะมีสภาพเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย มีบทบาทได้เพียงแค่การดำเนินการตามสิ่งที่ผู้นำทหารขีดเส้นให้เท่านั้น

 

กองทัพไทยเข้าใจความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์การเมืองแค่ไหน 

ชุดความคิดของทหารคงอธิบายได้หลายส่วน ต้องตระหนักว่ามันมีช่วงเวลา อายุ หรือตัวละครที่แตกต่างกัน และต้องวิเคราะห์ร่วมกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทั้งในไทยและเวทีโลกคู่ขนานกัน

ถ้าเริ่มต้นจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะเห็นชัดว่า มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในความเข้าใจการเมืองของกองทัพ เดิมกองทัพเชื่อว่าสามารถกุมอำนาจในสังคมไทยได้เบ็ดเสร็จ แต่กองทัพกุมสังคมไทยไม่ได้อย่างที่ต้องการ สิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศเป็นเรื่องคู่ขนานไปกับบริบททางการเมืองระหว่างประเทศ  ปี 2518 ปรากฎการณ์โดมิโนล้มในอินโดจีนเริ่มชัดเจนขึ้น กัมพูชาและลาวเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ตามเวียดนาม การล้มตัวของโดมิโนคือสัญญาณในมิติด้านการเมืองและความมั่นคง ในทางภูมิรัฐศาสตร์จะตั้งคำถามอย่างท้าทายว่าประเทศไทยจะกลายเป็นโดมิโนตัวที่สี่หรือไม่

ในแง่หนึ่ง รัฐประหารและเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือการพยายามต้านไม่ให้โดมิโน่ตัวที่สี่ล้ม ทว่ามันกลับพาคนจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญญาชนเข้าสู่ฐานที่มั่นในชนบท แล้วตัดสินใจจับอาวุธร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์และกลายเป็นการขยายตัวของสงครามในชนบทไทย

หลังปี 2520 ผู้นำทหารและชนชั้นนำจึงตัดสินใจเปลี่ยนยุทธศาสตร์ กองทัพเรียนรู้ว่า ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทของความมั่นคงในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ผมไม่ได้บอกว่า ปัจจัยทางทหารไม่มีผลต่อการเมืองเลย แต่มันมีปรากฏการณ์ชุดใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ เช่น การเปลี่ยนรัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเป็นรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผู้นำทหารที่ไม่ผ่านกระบวนการรัฐประหาร หรือในช่วงที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จถึง 2 ครั้ง เป็นต้น

 

แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่กองทัพคิดว่าประชาธิปไตยไม่ใช่เครื่องมือที่จำเป็นแล้ว

ทหารยุคปัจจุบันไม่ต้องเผชิญกับสงครามคอมมิวนิสต์ ไม่มีแรงกดดันในมิติด้านความมั่นคงภายในประเทศแล้ว โจทย์ในประเทศกลายเป็นเรื่องความขัดแย้งภายใน เมื่อบวกกับความเชื่อเรื่องผู้พิทักษ์แห่งชาติ กองทัพจึงมีเหตุผลให้ตัวเองในการเข้าแทรกแซงการเมืองมากขึ้น

ถ้ามองจากมุมรัฐศาสตร์ สภาวะที่เกิดขึ้นคือ การที่สังคมไทยไม่ได้จัดการความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงที่ใหญ่ที่สุดของการเมืองไทยคือรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ เราไม่มีกลไกที่รองรับว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นแล้ว ความขัดแย้งชุดนี้จะไม่ลามไปเป็นเสียงเรียกร้องให้ทหารกลับมาสู่การทำรัฐประหารใหม่อีกครั้ง

ถ้าการสร้างประชาธิปไตยคือโจทย์ของสังคม เราต้องจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและรัฐบาลใหม่ภายใต้ชุดความคิดที่ว่า กองทัพเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายรัฐบาล แต่การสร้างชุดความคิดใหม่จะเรียกร้องทหารฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในปีกพลเรือนด้วย ผมเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า การปฏิรูปทางการเมืองเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปกองทัพ และเช่นเดียวกัน การปฏิรูปกองทัพก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมือง สองโจทย์นี้พ่วงซึ่งกันและกัน

 

ทหารมีทางเลือกอื่น นอกจากสวมบทผู้พิทักษ์แห่งชาติหรือไม่

นิยามของ ‘ผู้พิทักษ์’ แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย หลังปี 2475 คำว่า ‘ผู้พิทักษ์’ ของทหารมีความหมายในทางเป็น ‘ผู้พิทักษ์ของระบอบรัฐธรรมนูญ’ แต่ผลพวงใหญ่หลังรัฐประหารปี 2490 มันพาชุดความคิดแบบเดิมกลับมา จากนั้นชุดความคิด ‘ผู้พิทักษ์แห่งชาติ’ ก็เข้มแข็งมากขึ้น และถูกตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยบทบาทผู้นำทหารในยุคต่อๆ มา

 

 

“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ ‘ทหารคิดอะไร’ มากเท่ากับ ‘ทหารคิดแล้วมีคนสนับสนุน’ … กองทัพหลายประเทศก็เป็นอนุรักษนิยม แต่ความคิดถูกจำกัดอยู่แต่ในกองทัพเท่านั้น ไม่นำไปสู่การยึดอำนาจ หรือถ้ายึดอำนาจ ก็ไม่สำเร็จ”

ความคิดและความเชื่อของทหารถูกหล่อหลอมมาอย่างไร สถาบันการศึกษาอย่างโรงเรียนนายร้อยมีผลต่อความคิดในการแทรกแซงทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

ไม่มีโรงเรียนนายร้อยไหนพูดว่าทหารต้องมาเป็นผู้ปกครองประเทศ หรือเข้าแทรกแซงทางการเมือง แต่ความเชื่อนี้ถูกส่งผ่านทางการเมือง โดยเชื่อว่าทหารเป็นคนกลางที่สามารถรับหน้าที่ได้ทุกบทบาท ความเชื่อเหล่านี้ถูกส่งผ่านมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่สำคัญคือ มีคนสนับสนุนชุดความคิดนี้

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ ‘ทหารคิดอะไร’ มากเท่ากับ ‘ทหารคิดแล้วมีคนสนับสนุน’ ความคิดอนุรักษนิยมในกองทัพไม่ใช่เรื่องแปลก กองทัพหลายประเทศก็เป็นอนุรักษนิยม แต่ความคิดถูกจำกัดอยู่แต่ในกองทัพเท่านั้น ไม่นำไปสู่การยึดอำนาจ หรือถ้ายึดอำนาจ ก็ไม่สำเร็จ

 

นายทหารที่เก่งที่สุดของรุ่นมักได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อจบมาก็มักจะอยู่ในตำแหน่งระดับสูงของกองทัพ บุคลากรเหล่านี้ส่งผลสร้างการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนต่อกองทัพ

ถ้าตัดเรื่องการเมืองออกไป คงมีผลอยู่พอสมควร ดังจะเห็นว่ามีมิติใหม่ๆ ในกองทัพไทยอยู่บ้าง เช่น ในกองทัพอากาศมีตัวแบบที่เปิดกว้างมากขึ้น เริ่มสนใจพัฒนานักบินหญิง เท่าที่ทราบ นายทหารที่จบจากต่างประเทศบางคนก็ติดตามเรื่องนี้ด้วยความสนใจ เพราะตรงกับความรู้และประสบการณ์ที่เขาได้รับการบ่มเพาะจากระบบของกองทัพในต่างประเทศ

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการเมือง มันมีวัฒนธรรมองค์กรที่กำหนดชุดวิธีคิด ระบบความเชื่อ และบรรทัดฐานขององค์กรอยู่ ซึ่งไม่ได้เปิดช่องมาก ดังนั้น การจบจากเมืองนอกหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นในเรื่องนี้ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ กองทัพฟิลิปปินส์ ในอดีตกองทัพฟิลิปปินส์เคยอยู่ภายใต้กองทัพสหรัฐ และการได้รับการพัฒนาดูแลจากสหรัฐ แต่ฟิลิปปินส์ก็มีทหารที่ทำรัฐประหาร

 

การเมืองในกองทัพภายใต้รัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหารแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

ในวิชารัฐศาสตร์ เมื่อผู้นำทหารสถาปนาตัวเองเป็นรัฐบาลจะถูกเรียกว่า ‘นักการเมืองในเครื่องแบบ’ (politician in uniform) เวลาที่ผู้นำทหารเข้ามาเป็นรัฐบาลและใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพ การแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องทางทหาร ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เวลาที่ฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลพลเรือนเข้ามามีบทบาทในการโยกย้ายทหาร กองทัพมักอ้างว่าการโยกย้ายทหารเป็นเรื่องของทหารเท่านั้น อันนี้เป็นอะไรที่ตลกที่สุด

 

ที่ผ่านมาการแต่งตั้งโยกย้ายทหารมีปัญหาอย่างไร

เราไม่เคยมีกติกาที่ชัดเจนว่า ฝ่ายการเมืองควรจะมีบทบาทมากแค่ไหนในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารและผ่านกลไกอะไร ในเชิงหลักการ การโยกย้ายทหารไม่สามารถตัดฝ่ายการเมืองได้ เพราะรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของกองทัพ

หัวใจสำคัญของการแต่งตั้งโยกย้าย คือ การสร้างระบบคุณธรรม (merit-based system) ของการโยกย้ายทหาร นี่คือโจทย์สำคัญที่ต้องเกิดในสังคมประชาธิปไตย เพราะฝ่ายพลเรือนจะรู้ว่ามีกลไกอะไรมารองรับการแต่งตั้งโยกย้าย ขณะเดียวกันผู้นำเหล่าทัพจะรู้ว่าเส้นแบ่งของตัวเองอยู่ตรงไหน ถ้าสร้างกลไกนี้ได้ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจากการเลือกตั้งและกองทัพจะลดลงในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย

 

ทำไม ‘รุ่น’ จึงมีความสำคัญในระบบกองทัพ

รุ่นเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในยุคก่อน 14 ตุลาฯ รุ่นไม่มีความสำคัญในหมู่ทหาร เพราะผู้นำทหารกุมอำนาจทางการทหารและทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่หลัง 14 ตุลาฯ การกุมอำนาจไม่ได้เบ็ดเสร็จ ทำให้เกิดช่องว่างของอำนาจภายในกองทัพ ส่งผลให้เกิดการเกาะหรือการรวมตัวของกลุ่มทหารซึ่งกระทำผ่านสิ่งที่ง่ายที่สุด คือความเป็นรุ่นของนักเรียนนายร้อย จปร. หรือนายร้อยเตรียมทหาร

 

“ในอนาคตเมื่อมองย้อนกลับมา รัฐประหารปี 2557 จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองระหว่างประเทศของไทยมากกว่าที่คิด”

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลทหารคือ การที่นายทหารระดับสูงเข้าไปรับตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น บอร์ดรัฐวิสาหกิจ กรรมการระดับชาติชุดต่างๆ ทหารประเมินตนเองว่ามีศักยภาพในการบริหารจัดการเศรษฐกิจสมัยใหม่แค่ไหน

คนที่เรียนวิชาทหารกับการเมืองจะถูกสอนว่า กองทัพถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นองค์กรในการรบ มีภารกิจที่ชัดเจนคือรองรับสงคราม แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา กองทัพได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น

ไม่อยากพูดว่าทหารไม่มีความรู้ด้านการบริหารเศรษฐกิจสมัยใหม่ แต่ประเด็นคือบทบาทนี้ไม่ใช่บทบาทของกองทัพ โจทย์ด้านเศรษฐกิจเป็นโจทย์คนละชุดกับความรู้ที่กองทัพสั่งสมมา

ผู้นำทหารอาจจะรู้ตัวดีจึงเรียกใช้บริการเทคโนแครต ซึ่งลาตินอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องนี้ หลังจากรัฐประหารใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1960 ผู้นำทหารพยายามดำเนินการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘เสนาประชานิยม’ ผ่านโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่สุดท้ายผลพวงจากการดำเนินนโยบายแบบนี้นำสู่วิกฤตเศรษฐกิจชุดใหญ่ของภูมิภาคในช่วงทศวรรษ 1980 และวิกฤติชุดนี้กลายเป็นกลไกที่ทำให้ทหารลงจากอำนาจ เพราะตอบชัดว่าสิ่งที่ทหารทำมาทั้งหมดไม่ประสบผลสำเร็จ

 

โมเดลเทคโนแครตไม่เวิร์ค?

ใช่ โมเดลเทคโนแครตถูกพิสูจน์ในลาตินอเมริกาแล้ว ใครที่คุ้นเคยกับระบอบอำมาตยาธิปไตยหรือระบอบอำนาจนิยมผ่านกลไกราชการ จะเห็นว่า ลาตินอเมริกาใช้โมเดลนี้ก่อนเรา และประสบความล้มเหลวก่อนเราด้วย บ้านเราอาจอยู่ไกลจากลาตินอเมริกา เลยไม่ค่อยสนใจบทเรียนนอกบ้าน จึงมองไม่เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลทหารที่ขับเคลื่อนประเทศ

 

อาจารย์เคยเขียนหลายครั้งว่าเศรษฐกิจจะเป็นจุดตายของรัฐบาลทหาร ถึงวันนี้ยังยืนยันคำตอบเดิมหรือไม่

โจทย์เศรษฐกิจเป็นโจทย์ใหญ่ ยิ่งถ้าศึกษาจากประวัติศาสตร์จะเห็นว่า หลายประเทศที่มีรัฐบาลทหารปกครองในอดีตมีคำตอบคล้ายกัน นั่นคือ ถ้ารัฐบาลทหารแก้ปัญหาปากท้องและสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้ ประเทศจะเดินหน้าไปสู่ความยากจน ท้ายที่สุดเสียงตอบรับรัฐบาลทหารจะลดน้อยลง

 

การเมืองระหว่างประเทศภายใต้รัฐบาล คสช. เป็นอย่างไร

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองโลกเปลี่ยนไปพอสมควร ย้อนกลับไปเมื่อรัฐประหารปี 2549 เหตุที่รัฐบาลจากการยึดอำนาจอยู่ได้ไม่นาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องเผชิญกับแรงกดดันระหว่างประเทศค่อนข้างมาก แต่รัฐบาล คสช. เผชิญกับโจทย์การเมืองระหว่างประเทศที่ต่างออกไป ในช่วงแรกรัฐบาล คสช. เองก็ถูกกดดันค่อนข้างมาก แต่กระแส Brexit และทรัมป์มีส่วนทำให้พวกเขาหายใจได้มากขึ้น เพราะการเปลี่ยนรัฐบาลจากโอบามาเป็นทรัมป์ทำให้แรงกดดันเรื่องประชาธิปไตยจากฝั่งสหรัฐอเมริกาลดลง

มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือ การรัฐประหารปี 2557 พาไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจใหม่ และในขณะเดียวก็ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น ที่ใช้คำว่า ‘มากขึ้น’ เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เดิมเป็นความสัมพันธ์ที่ไทยใกล้ชิดกับตะวันตก แต่เมื่อประเทศตะวันตกไม่ยอมรับรัฐประหาร ผู้นำทหารไทยก็พร้อมหาเสียงจากค่ายตะวันออก รูปธรรมที่ชัดเจนคือ การเดินทางเยือนจีนและรัสเซียของผู้นำทหารไทย แล้วเราก็แทบไม่เห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแบบเก่าระหว่างไทยและตะวันตก แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเงื่อนไขทางการเมืองหรือกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นเข้ามามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ

ในอนาคตเมื่อมองย้อนกลับมา รัฐประหารปี 2557 จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองระหว่างประเทศของไทยมากกว่าที่คิด

 

รูปธรรมหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมหาอำนาจคือการซื้ออาวุธ การซื้ออาวุธเป็นนโยบายต่างประเทศหรือเป็นนโยบายความมั่นคงกันแน่

การซื้ออาวุธเป็นนโยบายต่างประเทศ แต่ถ้าพูดในภาษาที่ใหญ่กว่านั้นคือ การซื้ออาวุธเป็นยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้ออาวุธเป็นเรื่องความมั่นคงในตัวเองอยู่แล้ว แต่หน้าที่หลักคือ การส่งสัญญาณทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้ออาวุธที่มีคุณภาพสูงและระบบอาวุธหนัก เช่น เรือดำน้ำ เท่ากับส่งสัญญาณว่าเราจะหันประเทศไปทางไหน

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยตัดสินใจยอมรับอาวุธจากตะวันตกเป็นหลัก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา เมื่ออาวุธเป็นอเมริกัน หลักนิยมของทหารไทยจึงเป็นอเมริกันตามไปด้วย ต้องเข้าใจว่า เวลาซื้ออาวุธ เราไม่ได้ซื้อเฉพาะฮาร์ดแวร์หรือซื้อแค่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังได้ซอฟแวร์ หรือชุดความคิดมาพร้อมกับอาวุธเหล่านี้ด้วย

แต่ทุกวันนี้กองทัพไทยซื้ออาวุธจากตะวันตกไม่ได้เหมือนเก่า และตัดสินใจไปซื้ออาวุธจากค่ายตะวันออกทั้งจีนและรัสเซียแทน ถ้ากองทัพไทยใช้อาวุธจากค่ายตะวันออกถึงระดับหนึ่งการเปลี่ยนหลักนิยมหรือชุดวิธีคิดก็อาจเป็นเรื่องปกติ

 

การเปลี่ยนหลักนิยมของกองทัพจากตะวันตกไปสู่ตะวันออกจะส่งผลอย่างไร

ยังตอบไม่ได้เหมือนกัน ลองจินตนาการว่าในอนาคตนักเรียนร้อยที่เก่งที่สุดไม่ได้จบเวสต์ปอยต์ แต่จบโรงเรียนทหารบกจีนจะเกิดอะไรขึ้น การเมืองจะเป็นอย่างไร กองทัพจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

 

ทำไมสังคมจึงไม่ค่อยรู้จักทหาร หรือไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิดของทหารเท่าที่ควร

ไม่เคยมีการศึกษาเรื่องทหารอย่างจริงจัง เวลาเรามองทหาร เราเห็นภาพที่หลากหลาย แต่ไม่เคยมีภาพที่ชัดเจน แต่ละสถานการณ์ก็มองต่างกันไป เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เรามองทหารอย่างหนึ่ง เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เราก็มองอีกแบบหนึ่ง

ข้อจำกัดสำคัญคือ สังคมทหารเป็นสังคมปิด เรารู้จักทหารในความหมายที่เห็นจากรูปภาพ ข่าว ยกเว้นถ้าเรามีเพื่อนเป็นทหาร ก็อาจจะเห็นแง่มุมอื่นบ้าง แต่เมื่อต้องนั่งคุยกันจริงๆ ให้เขาเล่าทัศนคติ วิธีคิด ความเชื่อทางการ ก็อาจจะไม่มีคนเล่า กระทั่งในครอบครัวเรามีคนที่เป็นทหาร แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เห็นทหารจริงๆ

ในสังคมทหารที่เปิดมากกว่าอย่างสังคมตะวันตก ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมพลเรือนกับสังคมทหารจะปรากฏชัดกว่าด้วย การศึกษาเกี่ยวกับทหารในตะวันตกมีความหลากหลายมาก มีทั้งปัญหาการบริหารจัดการกองทัพ การเมือง ความมั่นคง ยุทธศาสตร์ รวมไปถึงมิติทางสังคมของทหาร เช่น เรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของทหาร ดูว่าทหารมีการจัดการชีวิตอย่างไร หรือเรื่องเพศสภาพของทหารก็มีการศึกษาเป็นจำนวนมากในสังคมตะวันตก

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save