fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world (มิถุนายน 2560)

นี่คือ 20 ผลงานใหม่ยอดนิยมที่มีผู้อ่านสูงสุดของ The101.world ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560

อันดับ 1

การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

 

โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในสังคมที่ประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือของการควบคุมกล่อมเกลาความคิดคนมากกว่าเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันอดีตของสังคมตนเอง

ประจักษ์ ก้องกีรติ สำรวจตรวจสอบมายาคติ 4 ประการในสังคมไทยเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 :

1. 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม

2. 2475 เป็นการปฏิวัติของนักเรียนนอกจำนวนน้อย

3. 2475 เป็นการกระหายอำนาจและยึดอำนาจไว้กับกลุ่มตนเองเพียงลำพัง

4. 2475 เป็นเพียงการรัฐประหาร ไม่ใช่การปฏิวัติที่แท้จริง

อะไรคือประวัติศาสตร์ 2475 ฉบับโรงเรียนไทยไม่ได้สอน สำหรับการต่อสู้ถกเถียงกับมายาคติทั้ง 4 ประการข้างต้น และหนังสือน่าอ่านเกี่ยวกับ 2475 มีเล่มใดบ้าง ติดตามได้ใน “การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

อันดับ 2

วิรไท สันติประภพ : ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในโลก VUCA

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คุยกับ ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ The101.world เรื่องความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ

……….

“โลกของเรามีลักษณะที่เรียกว่า “VUCA” มากขึ้น โดย V – Volatility คือความผันผวนสูง, U – Uncertainty คือความไม่แน่นอนสูง, C – Complexity คือความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ และ A – Ambiguity คือความคลุมเครือ ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน”

…..

“ประเทศไทย ธุรกิจไทย และคนไทย ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพ การสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยง และการสร้างความเท่าเทียมในสังคมไทย”

…..

“โจทย์ที่ยากสำหรับทุกประเทศ คือการหาจุดสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง กับการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจที่หวังผลในระยะยาว”

…..

“เราต้องใช้เวลาในการถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมา เปิดกว้างรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึงว่า เป้าหมายสุดท้ายที่อยากเห็นคืออะไร … เราต้องเปิดเผยข้อมูล ทำให้โปร่งใส นี่คือหัวใจของนโยบายสาธารณะ เพราะความโปร่งใสจะนำไปสู่ความน่าเชื่อถือและความมั่นใจของผู้มีส่วนได้เสีย”
…..

 

อันดับ 3

จุดจบวงการติวเตอร์? : เมื่อ “อูเบอร์สอนภาษา” บุกตลาด

 

โดย อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์

ใครที่ต้องการให้บุตรหลานเรียนภาษาอังกฤษจากครูคุณภาพเจ้าของภาษา แต่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะส่งเข้าโรงเรียนนานาชาติหรือเรียนต่อต่างประเทศ วันนี้คุณสามารถให้พวกเขาเรียนรู้และฝึกฝนภาษาอังกฤษกับครูต่างชาติมากประสบการณ์ได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว

จะเรียนที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงมีคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือสำหรับต่ออินเทอร์เน็ต

แถมเสียค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิดเท่านั้น ไม่ต้องเสียเงินให้ร้านกาแฟและไม่ต้องเสียเวลากับจราจรแสนติดขัด

“อูเบอร์สอนภาษา” คือคำตอบ!

อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนคิดเรื่องโลกใหม่ในการเรียนภาษา

 

อันดับ 4

การเมืองเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : แก้กฎหมายทุบหัวใจ 30 บาท ทำลายมาตรฐานและความเท่าเทียม

 

โดย อธึกกิต แสวงสุข

ท่ามกลางกระแสร้อนเรื่องการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “ใบตองแห้ง” – อธึกกิต แสวงสุข เล่าชัดๆ ถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเปิดเบื้องลึกเบื้องหลังของการเมืองเรื่อง “30 บาทรักษาทุกโรค” อันซับซ้อนซ่อนเงื่อน

อันดับ 5

วิเคราะห์ระดับความขัดแย้งทางการเมืองไทยด้วย Big Data

 

โดย พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม

พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพรมแดนความรู้ใหม่ทางเศรษฐศาสตร์และการเมือง โดยใช้ Big Data จาก The GDELT Project (Global Database of Events, Language and Tone) ฐานข้อมูลข่าวขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เพื่อนำข้อมูลรายงานข่าวตั้งแต่ปี 2522-2560 มาวัดระดับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย และผลกระทบของความไม่แน่นอนทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย

ผลลัพธ์ของงานชิ้นบุกเบิกนี้จะเป็นอย่างไร อ่านต่อได้เลยครับ

 

อันดับ 6

ระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีคืออะไร

 

โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เขียนบทความพิเศษ ชวนตั้งคำถามและตอบคำถามเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

หลักประกันสุขภาพทำให้ชาวบ้านนิสัยเสียจริงหรือ

ระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีควรเป็นอย่างไร

และทางออกของการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพอยู่ตรงไหน

 

อันดับ 7

เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ในสายธารความคิดเศรษฐศาสตร์

 

โดย สฤณี อาชวานันทกุล

ในวาระ 85 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475  สฤณี อาชวานันทกุล ชวนเรากลับไปอ่าน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของปรีดี พนมยงค์ อีกครั้ง เพื่อสืบหาข้อคิดจากเค้าโครงการเศรษฐกิจในสายธารความคิดเศรษฐศาสตร์

สฤณีพยายามเสนอคำตอบเบื้องต้นต่อคำถามที่ว่า เราจะบรรลุเป้าหมาย “ความสุขสมบูรณ์” ของราษฎรดังเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดีภายใต้เศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างไร

 

อันดับ 8

4 สุดยอดรัฐโดดเดี่ยวที่ไม่ยอมคบใคร (หรือไม่มีใครคบ?)

 

โดย วชิรวิทย์ คงคาลัย

เราอาจจะคิดว่าเรื่องของพรมแดนในโลกสมัยใหม่เป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป ตอนนี้ใครๆ ก็เดินทางไปไหนกันได้สะดวกสบาย แต่ที่จริงแล้วยังมีบางรัฐบางประเทศที่ถูกจัดให้เป็น ‘รัฐโดดเดี่ยว’ ที่อยู่แบบเหงาๆ ด้วยลำแข้งตัวเอง

ไม่ได้มีแค่เกาหลีเหนือ เพราะวชิรวิทย์ คงคาลัย จะพาไปดูอีก 3 รัฐสุดยอดแห่งความโดดเดี่ยวว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร ไปดูกัน!

 

อันดับ 9

Existential Crisis : เมื่อความอ้างว้างนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของชีวิต

 

โดย เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

‘เราเกิดมาทำไม’ ไม่ใช่แค่คำถามเชิงศาสนาอีกต่อไป เพราะในช่วงเวลาที่ความอ้างว้างมาบรรจบกับโลกความเป็นจริงอันเต็มไปด้วยกรอบที่เราหลีกไม่พ้น หลายคนเลือกที่จะตั้งคำถามกับความหมายของชีวิต ที่ขุดเท่าไหร่ก็ไม่พบ

หากเป็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่แน่ว่าคุณอาจตกอยู่ในภาวะ ‘Existential Crisis’

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ จะพาไปค้นหาที่มาของเขาวงกตภายในใจมนุษย์ จากความซับซ้อนของแนวคิดทางปรัชญาที่พาให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวในโลกใบนี้

 

อันดับ 10

3 ปีระบอบคสช. : ความถดถอยของประเทศชาติและประชาธิปไตย

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อ่านทัศนะของ อายุษ ประทีป ณ ถลาง “นายประชา ช้ำชอก” อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์สยามโพสต์และไทยโพสต์ ว่าด้วย 3 ปีแห่งความถดถอยของประเทศชาติและประชาธิปไตย ภายใต้ระบอบ คสช.

อันดับ 11

24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

คือ ถ้อยคำจารึกบนหมุดคณะราษฎร ที่ระลึกถึงจุดอ่าน “ประกาศคณะราษฎร” ฉบับแรก โดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

การปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สำเร็จลงได้ก็เพราะมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ระดับ “วางแผน 7 ปี ยึดอำนาจภายใน 3 ชั่วโมง” ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นคณะราษฎรแทบจะไม่มีกำลังในมือ ผู้ร่วมก่อการมีเพียงร้อยกว่าคน แต่สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จโดยไม่มีการนองเลือด

เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เปิดบันทึกประวัติศาสตร์ปากคำ เล่านาทีพลิกแผ่นดินสยาม ตั้งแต่เวลาย่ำรุ่ง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 พร้อมทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า “ชั่วคราว”

 

อันดับ 12

หนึ่งวันใน E-stonia

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์

ปกป้อง จันวิทย์ เล่าประสบการณ์หนึ่งวันกับ Viljar Lubi รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของเอสโตเนีย อะไรคือบทเรียนเรื่อง E-Estonia ที่เขาได้รับจากรัฐมนตรีหนุ่มจากประเทศเล็กๆ ในยุโรป ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน แต่โด่งดังทั่วโลกในฐานะประเทศอันดับหนึ่งด้านเศรษฐกิจผู้ประกอบการและต้นแบบของรัฐบาลดิจิทัล

 

อันดับ 13

Isolated, therefore I am

 

โดย ทีมนักศึกษาฝึกงาน 101

ใครๆ ก็เคยโดดเดี่ยว ใครๆ ก็เคยว้าเหว่ ใครๆ ก็เคยอยู่คนเดียว หลายคนใช้ความโดดเดี่ยวทำร้ายตัวเอง แต่ยังมีอีกหลายคน ที่เพราะโดดเดี่ยว – พวกเขาถึงคิดสร้างสรรค์และประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ไปดูกันว่า พวกเขาเป็นคนแบบไหนกันนะ

 

อันดับ 14

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (1) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่

 

โดย วชิรวิทย์ คงคาลัย

ในโลกสมัยใหม่ที่อะไรๆ ก็พัฒนาให้ชีวิตสะดวกสบาย เทคโนโลยีกว้างไกลผลักไสให้คนไกลห่างมากขึ้น ‘ความโดดเดี่ยวทางสังคม’ (Social Isolation) กลายเป็นสิ่งที่หลายคนต้องเผชิญ

มาทำความเข้าใจที่มาที่ไปของภาวะโดดเดี่ยวที่ทำให้เราต้อง กระทำความหว่อง ตั้งแต่รากฐานเริ่มต้น การพัฒนาของรัฐและสังคมเขามามีบทบาทอย่างไรกับอาการประเภทนี้ วชิรวิทย์ คงคาลัย จะพาคุณไปค้นหาคำตอบกันในตอนแรกของซีรีส์หว่องๆ ที่คุณห้ามพลาด!

อ่านต่อ

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (2) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (3) : จะรับมือกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่อย่างไรดี

 

อันดับ 15

The End of Sex?

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

ในอนาคตราว 20-40 ปีข้างหน้า คู่ครองที่ต้องการมีลูกจะเดินทางไปคลินิกใกล้บ้าน ให้แพทย์ปาดเอาเซลล์ผิวหนังชิ้นเล็กๆ ของทั้งคู่ เพื่อนำไปแปลงเป็นเซลล์ไข่และอสุจิ จากนั้นจึงทำการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนจำนวนมากในหลอดแก้ว แล้วนำมาตรวจสอบทางพันธุกรรมเพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมดีที่สุด ไม่มียีนโรคร้าย แถมยังสามารถเลือกเพศ รูปลักษณ์ บุคลิก และความถนัดของลูกได้อีกด้วย

เมื่อถึงวันนั้น คงถึงกาลอวสานของการมีเพศสัมพันธ์เพื่อสืบพันธุ์ … คนส่วนใหญ่ในอนาคตจะเลือกทำลูกที่คลินิก แทนที่จะใช้วิธีธรรมชาติ

นี่คือคำทำนายของ แฮงค์ กรีลีย์ ศาสตราจารย์กฎหมาย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในหนังสือเล่มใหม่ “The End of Sex and the Future of Human Reproduction” ซึ่งเขาได้อธิบายเทคโนโลยีใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่เอื้อให้ภาพอนาคตนี้เป็นจริง และปัญหาทางจริยธรรมที่จะเกิดขึ้น

อาร์ม ตั้งนิรันดร เก็บความและคำถามมาเล่าสู่กันฟัง

 

อันดับ 16

ทหารบนเก้าอี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ

 

โดย อิสร์กุล อุณหเกตุ

“ช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาภายในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ได้มีการจัดให้ทหารเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ไปนั่งยกมือแสดงความคิดเห็น”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวชี้แจงเมื่อมีรายงานข่าวว่าหลังรัฐประหาร 2557 จำนวนทหารที่เข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดเพิ่มขึ้นจาก 3 แห่ง เป็น 16 แห่ง

การสังเกตการณ์ของทหารมีราคาที่ต้องจ่าย “อิสร์กุล อุณหเกตุ” รายงานว่า ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม และโบนัส ที่รัฐวิสาหกิจต้องจ่ายให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจที่มีสินทรัพย์รวมสูงสุด 8 จาก 10 แห่ง ซึ่งมีบอร์ดเป็นทหาร โดยเฉลี่ยสูงถึง 1.5 ล้านบาทต่อตำแหน่งต่อปี

และนั่นเป็นเพียงแค่ปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็งเพียงประการเดียวเท่านั้น อะไรเป็นปัญหาสำคัญอื่นๆ ทั้งบนยอดและข้างใต้ภูเขาน้ำแข็ง ติดตามอ่านต่อในรายงานพิเศษของ “อิสร์กุล อุณหเกตุ”

 

อันดับ 17

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ : ปิดตำนาน ‘วิภาษา’ กับภารกิจที่ (ไม่) ลุล่วง ?

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ‘วิภาษา’ ประกาศว่าจะออกฉบับที่ 74 เป็นฉบับสุดท้าย หลังจากทำหน้าที่ลดช่องว่างระหว่างโลกวิชาการไทยกับองค์ความรู้ใหม่ในต่างประเทศมาสิบปีเต็ม โดยแบกภาระขาดทุนต่อเนื่องมาตลอด

ระยะเวลาสิบปี นานพอที่จะทำให้ใครหลายคนบ่นเสียดาย และอาจหมายถึงจากไปของนิตยสารเชิงวิชาการฉบับสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่บนแผง

“การสิ้นสุดของนิตยสาร วิภาษา มิได้ปิดตัวด้วยความรันทด หากด้วยความตื่นเต้นไปพร้อมๆ กับที่ได้เห็นสื่อใหม่ (New Media) ที่เป็นเวทีให้องค์ความรู้ต่างๆ แผ่ขยายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้แต่ platform ของ social network อย่างเฟซบุ๊กก็กลายมาเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการได้อย่างมีชีวิตชีวา…

“หากจะอยู่ถึงงานเลี้ยงเลิกราในยามที่แขกเหรื่อแยกย้ายกลับไป ก็คงจะหดหู่ไม่น้อย สู้แยกย้ายในยามที่อิ่มสำราญและบทสนทนากำลังมีรสชาติจะดีกว่า…”

ข้างต้นคือข้อความบางส่วนจากบทบรรณาธิการ ‘วิภาษา’ ฉบับสุดท้าย บ่งบอกถึงความเสียดาย แต่ไม่เสียใจ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล นัดหมายกับ “บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ” บรรณาธิการนิตยสารวิภาษา และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคุยถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจครั้งนี้ และย้อนทบทวนบทบาทตลอดสิบปีของ ‘วิภาษา’ พร้อมชวนวิพากษ์แวดวงวิชาการไทยแบบตรงไปตรงมา ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้มาค่อนชีวิต

 

อันดับ 18

ศาลและระบอบเผด็จการ

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ศาลทำหน้าที่อย่างไร เมื่อระบอบอำนาจนิยมหรือ “เผด็จการ” ขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง ?

ในภาพกว้าง แม้ผู้ปกครองที่มาจากการยึดอำนาจด้วยการใช้กำลังอาจไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสถาบันตุลาการในเชิงโครงสร้าง หรือดูเหมือนว่าคณะรัฐประหารไม่ได้แทรกแซงการทำหน้าที่ของตุลาการ

แต่สถาบันตุลาการมีความเป็นอิสระโดยไม่สัมพันธ์ใดๆ กับคณะรัฐประหารจริงหรือ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนคิดเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันตุลาการกับคณะรัฐประการ

เอาเข้าจริง สถาบันตุลาการอาจไม่ใช่ Moral Being หากเป็น Political Being ในแบบหนึ่ง

และเอาเข้าจริง บทบาทของสถาบันตุลาการภายใต้ระบอบเผด็จการสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในด้านที่เป็น ‘ตุลาการภิวัตน์’ และ ‘ตุลาการวิบัติ’

 

อันดับ 19

Homo Deus : ทำไมมนุษย์จะไม่ครองโลกตลอดไป

 

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ

หนังสือ “Sapiens : A Brief History of Humankind” ของ Yuval Noah Harari นักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอล วัย 40 ปี โด่งดังไปทั่วโลก จากความพยายามอธิบายว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Homo sapiens หรือมนุษย์เผ่าพันธุ์เรา ประสบความสำเร็จบนโลกใบนี้ ทั้งที่ช่วงก่อนหน้า 70,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของเราเป็นสัตว์ที่ “กระจอก” มาก

จากอดีตของมนุษยชาติ สู่อนาคตของมนุษยชาติ Harari ตั้งคำถามต่อในหนังสือเล่มใหม่ “Homo Deus” หรือ human god ว่ามนุษย์จะสามารถครองโลกอยู่ได้ตลอดไปหรือไม่ อนาคตของมนุษยชาติในโลกแห่งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะเป็นเช่นไร

วรากรณ์ สามโกเศศ เก็บความมาเล่าสู่กันฟัง

 

อันดับ 20

พยัคฆ์ทะยาน โครงการก้าวกระโดดแบบเอสโตเนีย จิตวิญญาณสตาร์ทอัพระดับประเทศ

 

โดย ธีรภัทร เจริญสุข

“เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ ริมฝั่งทะเลบอลติกของยุโรปตะวันออก เคยอยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ประชาชนทั่วไปยากจน เศรษฐกิจขึ้นกับเงินช่วยเหลือของโซเวียตและการประมง แต่แผนการแผนการหนึ่งหลังประกาศเอกราช ได้เปลี่ยนรัฐบอลติกยากจนจากศตวรรษที่ 20 ให้กลายเป็นรัฐไซเบอร์พังค์ที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้วแห่งศตวรรษที่ 21 ในชั่วคนเดียว…

“แผนการพยัคฆ์ทะยาน คือการริเริ่มเผยแพร่การเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์และเขียนโปรแกรมลงไปในโรงเรียนทุกแห่งของเอสโตเนียตั้งแต่ชั้นอนุบาล เริ่มในปีงบประมาณ 1997 โดยใช้คอมพิวเตอร์แบบ CP/M ระบบ 8 บิท…

“ลองคิดดูสิว่า เด็กที่เรียนรู้ด้านโปรแกรมมิ่งตั้งแต่ปี 1997 ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จะเกิดอะไรขึ้น?”

ธีรภัทร เจริญสุข จะพาคุณไปสำรวจความก้าวหน้าของ ‘เอสโตเนีย’ ประเทศที่เรียกได้ว่าเป็น Startup Country ในทุกมิติ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020