fbpx
หนึ่งวันใน E-stonia

หนึ่งวันใน E-stonia

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2560 ผมได้ฟังเรื่องเล่าว่าด้วยสังคมดิจิทัลของเอสโตเนียจาก Viljar Lubi ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและการสื่อสาร ในงานเทศกาลความรู้ OKMD Knowledge Festival 2017 ซึ่ง 101 จัดร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) และ Merge จากนั้นก็มีโอกาสได้นั่งสนทนากันต่อบนโต๊ะอาหารเย็นหลังเลิกงาน

 

 

เอสโตเนียเป็นประเทศขนาดเล็กมากในยุโรป มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน พื้นที่ประมาณ 45,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป  เอสโตเนียมีขนาด GDP ต่อหัว ซึ่งเป็นดัชนีวัดมาตรฐานความกินดีอยู่ดีของประชากร สูงกว่าไทยประมาณ 3 เท่า (แต่ถ้าปรับอำนาจซื้อให้เท่ากัน ก็สูงกว่าประมาณ 2 เท่า)

เอสโตเนียติดอันดับ 1 ในด้านความเป็นเศรษฐกิจผู้ประกอบการของ World Economic Forum (เคสแห่งความสำเร็จที่มักถูกหยิบยกมาอ้างถึงเสมอคือ skype), อันดับ 12 ของ Global Ease of Doing Business Ranking และอันดับ 16 ของธนาคารโลกในเรื่องความง่ายและสะดวกในการทำธุรกิจเช่นกัน, อันดับ 1 ใน EU Digital Economy and Society Index ของ European Commission, อันดับ 9 ใน Index of Economic Freedom และอันดับ 2 ใน Internet Freedom ของ Freedom House

น่าสนใจว่า ประเทศเล็กๆ อย่างเอสโตเนียประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลจนโด่งดังไปทั่วโลกได้อย่างไร?

เมื่อวานได้ฟังเรื่องเอสโตเนียทั้งวัน ก็ชวนให้สลับคิดถึงไทยทั้งวันเหมือนกัน แต่ความรู้สึกกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามแทบทุกเรื่อง

 

ในงาน OKMD Knowledge Festival 2017  Lubi เล่าถึงเส้นทางการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลอันน่าตื่นเต้นของเอสโตเนียว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการกล้าตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนและสร้างรากฐานอย่างเป็นระบบ และการมุ่งมั่นเดินบนเส้นทางนี้อย่างจริงจัง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เอสโตเนียถูกยึดครองและผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต จนกระทั่งในช่วง 2-3 ปีก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลาย ก็เริ่มมีขบวนการเรียกร้องอิสรภาพครั้งประวัติศาสตร์ นั่นคือ การประท้วงโซ่มนุษย์ Baltic Chain ในปี 1989 ที่ประชาชน 2 ล้านคน จับมือคล้องแขนโดยสันติ ทอดยาวกว่า 675 กิโลเมตร ข้ามเขตแดนเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิธัวเนีย จนในปี 1990 รัฐบาลสหภาพโซเวียตจำต้องเริ่มผ่อนคลายให้รัฐเหล่านั้นมีการเลือกตั้งอย่างเสรีภายในรัฐตัวเอง จากนั้นกระแสเรียกร้องความเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตก็พุ่งสูงขึ้นตามมา กระทั่งปี 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลาย เอสโตเนียจึงกลับมาเป็นประเทศเอกราชสมใจ

ปี 1992 เป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ของเอสโตเนียยุคใหม่ แล้วประชาชนก็รวมใจกันขจัดนักการเมืองหน้าเก่ารุ่นแก่ออกจากวงการการเมือง โดยเลือก Dr.Mart Laar อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ ผู้ผันตัวเองลงสู่สนามเลือกตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสร้างประเทศใหม่จากศูนย์ ในวัย 32 ปี!

Laar ใช้นโยบายปฏิรูปประเทศแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยม (เขาถึงกับประกาศว่าหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มเดียวที่เคยอ่านก่อนเป็นนายกฯ คือ Free to Choose ของ Milton Friedman! – เรียกว่าเป็น ‘ยาแรง’ ของจริงสำหรับประเทศที่เรียกกันว่า ‘คอมมิวนิสต์’ ซึ่งเศรษฐกิจทำงานภายใต้ระบบการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางในระดับสูง) และวางโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล

 

 

เป้าหมายของรัฐบาลเอสโตเนียคือการสร้าง E-Society ผ่านโครงการ “พยัคฆ์ทะยาน” (Tiger Leap) และหนึ่งในนโยบายสำคัญคือการทำให้โรงเรียนทุกแห่งเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 สร้างห้องแล็บคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนทั้งหมด และให้นักเรียนเรียนความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อโลกดิจิทัล เช่น การออกแบบและเขียนโปรแกรม ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ต่อมาในปี 2000 เอสโตเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

เรียกว่า หลังจากเป็นประเทศเอกราชในปี 1991 และมีรัฐบาลใหม่อย่างสมบูรณ์ในปี 1992 เอสโตเนียก็มุ่งมั่นเดินหน้าบนเส้นทางดิจิทัลอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยไม่หันหลังกลับตลอดมา

อยากชวนให้ลองฟัง Lubi เล่าเรื่องเส้นทางการสร้าง E-Estonia และความน่าตื่นตาตื่นใจของ Electronic ID, E-Governance, E-Residency, E-Taxation, E-Voting (ในปี 2015 จำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้งออนไลน์คิดเป็น 30% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ในปี 2007 ซึ่งเริ่มใช้ระบบออนไลน์ในการเลือกตั้งระดับชาติเป็นครั้งแรก), E-Police System, E-Health System, E-Perscriptions รวมถึง Data Embassies – สถานทูตข้อมูลในลักเซมเบิร์ก ซึ่งเก็บข้อมูลทั้งหมดของประเทศและประชาชนเอสโตเนียไว้ที่นั่น หากเกิดอุบัติเหตุ เช่น ถูกแฮก ก็สามารถรีบูตประเทศใหม่ได้ทันที

ใครอยากรู้จัก E-stonia ให้มากขึ้น และล้วงลึกว่าอะไรคือปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จ ชมคลิปจากงาน OKMD Knowledge Festival ได้เลยครับ

 

 

ในช่วงท้าย Lubi ได้สรุปบทเรียนในการสร้าง E-Estonia ไว้ 4 ประการ นั่นคือ

หนึ่ง ด้วยความที่เป็นประเทศขนาดเล็กมาก คนน้อย ทรัพยากรจำกัด และห่างไกลจากศูนย์กลางของยุโรป การพัฒนาของเอสโตเนียจึงอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ทำให้ “ขนาดและที่ตั้งไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป” (size and location are irrelevant.) นั่นก็คือ การสร้างสังคมดิจิทัล ขยายพรมแดนออกไปในโลกไซเบอร์ที่ไร้ข้อจำกัดเรื่องขนาดและที่ตั้ง และสะสมประชากรใหม่จากทั่วโลกให้เป็นประชากรดิจิทัลของเอสโตเนีย (ปัจจุบันน่าจะมีคนไทยเป็น E-Resident ของเอสโตเนียอย่างน้อย 3 คน คนไทยคนแรกคือ ธีรภัทร เจริญสุข คอลัมนิสต์ 101 ของเรานี่เอง)

ถ้าไปให้สุดฝัน เขาตั้งเป้าว่าอยากเป็นประเทศทีมีประชากรตัวเป็นๆ 1.3 ล้านคน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก! – เป็นความใหญ่แบบไม่แคร์พรมแดนใดๆ

สอง อุปสรรคในการพัฒนาไม่ใช่ปัญหาด้านเทคนิค นั่นเป็นหน้าที่ของวิศวกรที่ต้องลงมือแก้ไข แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ปัญหาด้านวิธีคิดและปัญหาด้านการเมืองต่างหาก

ตลอดเวลาที่ฟังเรื่อง E-Government ของเอสโตเนีย ซึ่ง 99% ของบริการภาครัฐอยู่ในโลกออนไลน์หมดแล้ว (ตอนนี้มีเพียง 3 เรื่องเท่านั้นที่(ยัง)ทำออนไลน์ไม่ได้ คือ การแต่งงาน การหย่า และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์) ก็อดนึกถึง E-Government ของไทยคู่กันไปไม่ได้

ในขณะที่ E-Government ของเอสโตเนียประหยัดกระดาษได้เป็นตั้งๆ Lubi เล่าว่าถ้าเอากระดาษที่ประหยัดได้ในแต่ละเดือนมาตั้งต่อกันจะสูงประมาณ 300 เมตร เท่าหอไอเฟลพอดี หรือระบบลายเซ็นดิจิทัลที่ประหยัดทรัพยากรในแต่ละปีได้สูงถึง 2% ของ GDP แต่เมื่อหันมาดู E-Government ของรัฐบาลไทย แม้จะมีระบบออนไลน์ (ไปอย่างนั้น) แต่เราก็ยังคง ‘บูชา’ กระดาษและลายเซ็นน้ำหมึกในฐานะสิ่งพึงยึดมั่นถือมั่นเคารพสักการะอยู่ดี อ้าว…ก็เดี๋ยวผิดระเบียบราชการนี่ครับ

พูดแล้วก็อดนึกถึงกรณีของเพื่อนคนหนึ่งที่ขอข้อมูลจากหน่วยงานที่ดูแลด้าน E-Government ของไทยผ่านระบบออนไลน์ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับสักที เมื่อโทรศัพท์ไปถาม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าให้ส่งแฟกซ์มา (ฮา)

สาม ต้องคิดนอกกรอบ ออกจากความเคยชินเดิมและพื้นที่ปลอดภัย เปิดรับความเปลี่ยนแปลงและกล้าท้าทายสิ่งใหม่

เอสโตเนียจึงเป็นประเทศที่พยายามสร้าง ‘เนื้อดิน’ ที่เหมาะสมให้จิตวิญญาณ ‘ความเป็นผู้ประกอบการ’ งอกงาม จนกลายเป็นประเทศแห่งสตาร์ทอัพ มีจำนวนสตาร์ทอัพต่อหัวสูงที่สุดในโลก มีระดับความสามารถในการแข่งขันด้านภาษีสูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศ OECD (ข้อมูลจาก Tax Foundation, Washington D.C.)

ผมลองค้นดูโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินของเอสโตเนีย พบว่า คณะรัฐมนตรีของเขาเล็กมากเลยครับ ถ้าไม่นับนายกรัฐมนตรีก็มีรัฐมนตรีแค่ 14 คน ซึ่งได้แก่ รัฐมนตรีการคลัง การบริหารรัฐกิจ การต่างประเทศ ยุติธรรม กลาโหม วัฒนธรรม มหาดไทย การศึกษาและการวิจัย สิ่งแวดล้อม สวัสดิการสังคม สาธารณสุขและแรงงาน กิจการท้องถิ่น กิจการเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน และตำแหน่งสุดท้าย รัฐมนตรีการประกอบการทางธุรกิจ (Minister of Entrepreneurship)!

Lubi พูดตอนหนึ่งว่า การเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพไม่ได้การันตีความสำเร็จ สตาร์ทอัพจำนวนมากล้มเหลว แต่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างทางคือ จิตวิญญาณแห่งความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งมีคุณค่ามากสำหรับการสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สี่ เราไม่มีวันพร้อม ไม่ต้องรอ ให้เดินหน้าออกไปลุย แล้วลองผิดลองถูก ปรับเปลี่ยน และพัฒนาไปเรื่อยๆ

 

 

หนึ่งวันที่ได้อยู่กับ Lubi และเรียนรู้เรื่อง E-stonia ผมประทับใจในตัวเขาไม่น้อยเลยทีเดียว

ตอนนี้ Lubi ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ดูแลเรื่องการสร้างสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล เขาบอกผมว่าในระบบการเมืองของเอสโตเนีย ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการประจำ ถ้าเทียบกับบ้านเราก็คงเท่าปลัดกระทรวง

Lubi อายุ 40 ปีเท่านั้นครับ!

ก่อนเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี เขาทำงานอยู่ในสายการทูต เป็นเอกอัครราชทูตเอสโตเนียประจำประเทศอินเดียตั้งแต่อายุ 36 ปี ดูแลกิจการในอินเดีย พม่า และศรีลังกา เขาบอกว่าตัวเองเป็นหนึ่งในทูตที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ตลอดเวลาที่คุยกัน เขาย้ำเสมอว่า เหตุที่เอสโตเนียประสบความสำเร็จทุกวันนี้เป็นเพราะความเชื่อมั่นในพลังของหนุ่มสาว วัฒนธรรมการเมืองของเอสโตเนียยุคใหม่คือการกล้าเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ทำงานการเมืองในตำแหน่งสำคัญ อย่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน Juri Ratus ก็มีอายุเพียงแค่ 38 ปีเท่านั้น หนุ่มกว่า Lubi เสียอีก!

พอกลับมาบ้าน ผมอดที่จะมานั่งค้นข้อมูลของประเทศเอสโตเนียต่อไม่ได้ และพบว่า นับจากเอสโตเนียยุคใหม่เริ่มต้นในปี 1992 เขามีนายกรัฐมนตรี 10 คน ครึ่งหนึ่งในนั้นมีอายุต่ำกว่า 40 ปีเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ได้แก่ Mart Laar (สมัยแรก 32 ปี และสมัยที่สอง 39 ปี) Juhan Parts (37 ปี) Taavi Roivas (35 ปี) และ Juri Ratus (38 ปี) อายุเฉลี่ยของนายกรัฐมนตรีในช่วง 25 ปีหลังคือ 43.7 ปี ส่วนประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของรัฐ คนปัจจุบัน Kersti Kaljulaid เมื่อเข้ารับตำแหน่งมีอายุ 47 ปี และคนก่อนหน้า Toomas Hendrikllves มีอายุ 53 ปี

หันมาดูประเทศไทย ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่ปี 1992 ถึงปัจจุบัน เรามีนายกรัฐมนตรี 12 คน โดยมีอายุเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ดังนี้ ชวน หลีกภัย (54 ปี) บรรหาร ศิลปอาชา (63 ปี) ชวลิต ยงใจยุทธ (64 ปี) ชวน หลีกภัย สมัยที่สอง (59 ปี) ทักษิณ ชินวัตร (52 ปี) สุรยุทธ์ จุลานนท์ (63 ปี) สมัคร สุนทรเวช (73 ปี) สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (61 ปี) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (44 ปี) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (44 ปี) และประยุทธ์ จันทร์โอชา (59 ปี) อายุเฉลี่ยของนายกรัฐมนตรีไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาคือ 53 ปี นี่ว่ากันเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้นนะครับ ไม่รวมอีกสารพัดผู้มีบารมีในและนอกรัฐธรรมนูญที่กุมชะตากรรมของประเทศนี้ไว้ มิเช่นนั้น อายุเฉลี่ยคงพุ่งขึ้นสูงกว่านี้มหาศาล

ในขณะที่สังคมสูงวัยที่อื่นมีปัญหาขาดแคลนคนทำงาน เพราะคนแก่เกษียณตัวเองไป แต่ปัญหาของสังคมสูงวัยแบบไทยๆ ในระดับส่วนบนของปิรามิดอำนาจ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ คือ เหล่าคุณปู่คุณตา (รวมถึงคุณย่าคุณยาย ไปจนถึงคุณทวดด้วยซ้ำ!) ไม่ยอมเลิกทำงานกันเสียที ไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังมีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองในโลกใหม่ของเขา

อีกประเด็นสำคัญที่เราคุยกันคือ ใครเป็นนักฟุตบอลที่โด่งดังที่สุดของเอสโตเนีย … ไม่ใช่แล้วครับ! … การเมืองมีบทบาทสำคัญอย่างไรในการสร้างสังคมดิจิทัล ต่างหาก แต่ก่อนจะเล่าให้ฟังเรื่องสำคัญจริงอันหลัง ขอเฉลยเรื่องไม่สำคัญอันแรกก่อน

Lubi ตอบว่า นักฟุตบอลที่ดังที่สุดตอนนี้น่าจะเป็น Ragnar Klavan ผมได้ยินชื่อก็ทำหน้างุนงงสงสัยว่าใครกัน ไม่เห็นจะรู้จัก ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีเลยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นกองหลังลิเวอร์พูลไง … อ๋อ มิน่า … แฟนแมนยูอย่างผมเลยไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ก็พี่เล่นให้ทีมเล็กขนาดนี้ (ฮา) เขาเลยให้มาอีกชื่อว่า ถ้าเป็นสมัยก่อนก็คือ Mart Poom คราวนี้อ๋อเลยครับ อดีตผู้รักษาประตูแห่งดาร์บี้เคาน์ตี้ ยอดทีมแชมป์แห่งเกาะอังกฤษในยุค 1970s นั่นเอง (ฮา-อีกที)

กลับมาที่เรื่องการเมือง ดังที่เล่าตอนต้นแล้วว่า Lubi นำเสนอในงานว่า อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาดิจิทัลไม่ใช่ปัญหาด้านเทคนิค แต่เป็นปัญหาด้านวิธีคิดและด้านการเมือง การเมืองจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล

อย่าคิดว่าดิจิทัลเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจเท่านั้นนะครับ มันสัมพันธ์กับการเมืองอย่างแยกกันไม่ออก

และการเมืองที่ว่าคือการเมืองในระบอบประชาธิปไตยครับ

ในกรณีของเอสโตเนียนั้นชัดเจนว่าสังคมดิจิทัลเติบโตไปข้างหน้า เพราะรัฐไม่เข้าไปกำกับควบคุมชีวิตดิจิทัลของผู้คนแบบ ‘คุณพ่อรู้ดี’ หรือ ‘ตำรวจไซเบอร์’ ตรงกันข้ามเลยครับ เขาให้ความสำคัญในเรื่องการปกป้องสิทธิเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต การรักษาความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงปลอดภัย ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และการกำกับตรวจสอบผู้มีอำนาจ

Lubi ย้ำเสมอว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ระบบจึงออกแบบให้ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูล มีอำนาจเหนือข้อมูลส่วนตัวของตน ไม่ใช่รัฐเข้าไปยุ่มย่ามแทรกแซง และตัวรัฐก็ต้องยึดมั่นในหลักความชัดเจนและความซื่อตรง (clear and honest principle) ภายใต้หลักปฏิบัติสำคัญ 3 เรื่อง

หนึ่ง ‘once-only’ รัฐจะไม่ถามข้อมูลประชาชนซ้ำสองครั้ง เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเชื่อมต่อและแชร์ข้อมูลกันเอง ไม่ใช่ผลักภาระให้ประชาชนต้องตอบคำถามซ้ำซากทุกครั้งที่ติดต่อกับรัฐ

สอง ‘no legacy’ ระบบไอทีของภาครัฐต้องมีอายุไม่เกิน 13 ปี เพื่อไม่ให้จมปลักอยู่กับเทคโนโลยีเก่าพ้นสมัย

สาม ‘digital by default’ ทุกอย่างต้องเป็นดิจิทัลทั้งหมด ให้บริการประชาชนได้ 24/7 ใช้แพลตฟอร์มเปิด ใช้งานง่ายและสะดวกรวดเร็ว

สรุปสั้นๆ ก็คือ ‘ประชาธิปไตย’ คือ ‘เนื้อดิน’ ที่ทำให้สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตรุดหน้านั่นเองครับ และสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่ก้าวหน้าก็จะสะท้อนกลับไปเป็น ‘เนื้อดิน’ ที่ช่วยสร้างสรรค์ ‘ประชาธิปไตย’ ให้เข้มแข็งและมีคุณภาพยิ่งขึ้นไปอีก

มาถึงตรงนี้ เมื่อ Lubi ถามกลับถึง ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ผมก็ได้แต่หัวเราะหึหึ พร้อมส่งสายตาไร้แววของตัวเองสบสายตาเป็นประกายของเขาหนึ่งที แล้วเราก็เปลี่ยนมาคุยเรื่องผัดไทยและต้มยำกุ้งที่อยู่ตรงหน้าแทน.

 

พื้นที่โฆษณา: ติดตามต่อ บทสัมภาษณ์ Viljar Lubi ฉบับจัดเต็ม โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ได้ ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save