fbpx

ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (3) : จะรับมือกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่อย่างไรดี

จากสองตอนที่ผ่านมา (ทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (1) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่ และทำไมเราถึง ‘หว่อง’ กันนักนะ (2) : ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่) เราจะเห็นว่าสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมนี้สร้างความเสียหายแก่ปัจเจกและสังคมในยุคนี้ได้มากมาย แต่ก่อนจะไปดูวิธีรับมือกับมัน อยากชวนคุณมาดูก่อนว่า แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวเอื้อให้เกิดสภาวะโดดเดี่ยวนี้

 

งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมแก่บุคคลได้ง่ายมี 4 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

 

ปัจจัยด้านบุคคล

ปัจจัยนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่อง อายุ เพศ ชาติพันธุ์ การอยู่แบบคนเดียว รายได้ที่ต่ำ และ การได้รับการดูแล

จากการสำรวจ พบว่า เรื่องอายุ มีความสำคัญอย่างมาก ในแง่ที่ว่าคนที่ยิ่งมีอายุสูง มักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะพวกเขามักแก่ตัว ร่างกายเริ่มทรุดโทรม ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กับผู้อื่นได้ (ลองนึกถึงภาพคนแก่ที่ไม่สามารถเดินเหินออกไปไหนได้สิครับ) เรื่องเพศก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจากสถิติมักพบว่าผู้ชายมักโดดเดี่ยวได้ง่ายกว่าผู้หญิง เพราะผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะจับกลุ่มเข้ากับคนหรือเข้าหาคนได้ง่ายกว่าผู้ชาย

ชาติพันธุ์ ก็มีส่วนสำคัญในแง่ที่ว่า หากมีบางชาติพันธุ์ในชุมชนเป็นชนกลุ่มน้อย คนกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มักจะจำกัดการติดต่อสื่อสารของตนเอง ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากสร้างปัญหาหรือไปมีความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจมากกว่า ส่วนการอยู่แบบคนเดียว ในเรื่องนี้ เราจะไปดูที่ไลฟ์สไตล์ของบุคคลว่าเป็นพวกอยู่คนเดียวหรือไม่ หากเป็นพวกอยู่คนเดียว นานๆ เข้าพวกเขาก็จะมีสิทธิตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวได้ง่าย

สำหรับด้านรายได้ นักวิจัยหลายคนชี้ให้เห็นว่า รายได้ที่ต่ำของบุคคลนั้นจะเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ตามมา ซึ่งนั่นจะทำให้บุคคลนั้นใช้ชีวิตไปด้วยความยากลำบาก เพราะเจอแต่ความไม่เป็นธรรม สุดท้ายก็เกิดความคับข้องใจต่อสังคมรอบข้างได้ง่าย ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจนรู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคมได้ง่ายกว่าคนรวย

และสุดท้ายคือ การได้รับการดูแล เราพบว่าหากบุคคลใดได้รับการดูแลจากครอบครัวมาอย่างดี มักจะมีแนวโน้มที่ไม่ตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม ในทางกลับกัน หากบุคคลใดได้รับการดูแลมาไม่ดี เขาก็อาจมีโอกาสอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวได้ง่าย

ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของชีวิต

ปัจจัยนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องเหตุการณ์สำคัญๆ ที่มีผลต่อชีวิตของเรา เช่น การย้ายบ้าน การเกษียณ การมาเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย การไม่ได้ขับรถ และการหย่าร้าง สำหรับเรื่องการย้ายบ้าน นักวิจัยหลายคนได้บอกว่า ยิ่งบุคคลใดย้ายบ้านบ่อย พวกเขาก็ยิ่งที่อยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมได้ง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการย้ายบ้านแต่ละครั้งนั้นเท่ากับว่า เป็นการย้ายสังคม ซึ่งทำให้บุคคลต้องเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมใหม่เรื่อยๆ ซึ่งการเข้าสังคมแต่ละครั้งก็มักจะใช้เวลาที่นาน และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดความอ้างว้างในใจ (ลองนึกถึงตอนที่คุณย้ายไปโรงเรียนใหม่กลางคันสิครับ กว่าจะทำให้เพื่อนๆ ยอมรับนี่นานและยากมากๆ เลยนะครับ)

ในเรื่องการเกษียณ หลังจากเกษียณ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะรู้สึก ‘เคว้ง’ อย่างมาก เพราะว่าเขาเพิ่งละทิ้งสังคมๆ หนึ่งไป และกลับไปอยู่ที่บ้านอย่างเหงาหงอย

การมาเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ก็ทำให้เกิดสภาวะโดดเดี่ยวได้เช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะว่าคนที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องเสียสละตัวเอง และพยายามทำทุกอย่างเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย บ่อยครั้งที่ผู้ดูแลจะไม่ได้มีโอกาสได้พบปะเพื่อนๆ รวมถึงต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่ว่า ผู้ป่วยของพวกเขาก็เริ่มล้มหายตายจากไปทีละคน นี่คือสภาวะที่แสนขมขื่นสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ดูแลมักจะรู้สึกแปลกแยกกับสิ่งรอบตัวได้ง่ายๆ

การไม่ได้ขับรถ ก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน เพราะสำหรับใครที่ขับรถมาตลอดชีวิต แล้วมาวันหนึ่ง – ด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ – พวกเขาไม่สามารถขับรถได้อีกต่อไป ลองคิดดูสิว่ามันจะรู้สึกทรมานขนาดไหนที่ไม่ได้ขับรถไปยังที่ที่ต้องการหรือไปหาเพื่อนที่อยากพูดคุยด้วยเหมือนเคย

และสุดท้ายคือ เรื่องการหย่าร้าง นักวิจัยพบว่า สำหรับสามีภรรยา หลังจากที่หย่าร้างกัน พวกเขามักจะสุ่มเสี่ยงต่อความโดดเดี่ยว เพราะการหย่าร้างถือเป็นการสูญเสียความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญของบุคคลหนึ่งๆ

ปัจจัยด้านสุขภาพ

ในปัจจัยด้านนี้ นักวิจัยส่วนใหญ่มักจะดูที่เรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ และความพิการของบุคคลเป็นหลัก เป็นต้นว่า สภาพความพร้อมของระบบการรับรู้และระบบการคิดของเรานั้นมีสภาพทรุดโทรมหรือไม่ เนื่องจากหน้าที่ของระบบเหล่านี้คือ การรับรู้และเรียนรู้เรื่องภายนอกตัวเรา ดังนั้น หากระบบเหล่านี้เสื่อมลง เราก็จะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ในสังคมหรือชุมชนได้ยาก ทำให้เราอาจหลงลืม (เช่น กลุ่มผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม) และหลุดออกจากเครือข่ายทางสังคมในที่สุด การเป็นโรคเรื้อรังก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วย ส่วนหนึ่งเพราะว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่มักต้องได้รับการรักษาเป็นเวลานานต่อเนื่อง บางรายถึงขั้นที่ต้องนอนติดเตียงกันเลยทีเดียว ด้วยตารางการรักษาและโปรแกรมการทรีทเมนต์ที่แน่นหนึบจากคุณหมอและพยาบาล ทำให้วันๆ ผู้ป่วยเรื้อรังต้องอยู่แต่กับบ้านไม่ก็โรงพยาบาล โอกาสที่จะไปพบปะพูดคุยกับผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่ยากไปโดยปริยาย ดังนั้นจึงไปไม่แปลกใจที่พวกผู้ป่วยเรื้อรังจะรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งสุดท้ายที่นักวิจัยอยากให้พิจารณาในประเด็นสุขภาพก็คือ ความพิการของตัวบุคคล งานวิจัยหลายชิ้นได้ประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้พิการจะมีโอกาสที่อยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมได้มากกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ เพราะความพิการโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกายจะส่งผลให้บุคคลนั้น เดินทางไปนอกบ้านลำบาก (ยิ่งในกรุงเทพฯ นี่ต้องบอกว่าลำบากมากๆ) แบบว่าถ้าจะออกจากบ้านที่หนึ่งต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะไปกันอย่างไรดี เงื่อนไขแบบนี้จึงส่งผลให้ผู้พิการมักพบปะกับผู้คนอื่นๆ ได้ยาก

และอีกปัจจัยถัดมาที่ควรพิจารณาคือ การใช้สารเสพติด เหตุผลเพราะว่าผู้ใช้ยาเสพติดแบบติดมากๆ มักนิยมหลีกลี้หนีตัวเองจากสังคมเป็นกิจวัตร ส่วนหนึ่งเพราะอยากใช้เวลากับยาอย่างเต็มที่ และอีกส่วนหนึ่งก็คือ ไม่อยากให้สังคมภายนอกเห็นสภาพอันสุดทรุดโทรมของตน

 

ปัจจัยทางสังคม

สำหรับปัจจัยนี้ งานวิจัยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นที่สาธารณะ ระบบขนส่งสาธารณะ การก่ออาชญากรรม และการจัดสรรที่อยู่อาศัย

เรื่องแรก คือพื้นที่สาธารณะ เราจะไปดูที่ว่าในชุมชนหรือเมืองหนึ่งๆ นั้นมีพื้นที่สาธารณะ เช่น  ลานกว้าง พลาซ่า หรือสวนสาธารณะที่เหมาะสม และเอื้อให้คนทุกกลุ่มได้สามารถมาใช้งานได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เพราะหากไม่มีพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมพอ ก็จะทำให้ผู้คนไม่อยากออกมาข้างนอกและพบปะกันเอง

เรื่องที่สอง ก็คือ การก่ออาชญากรรม จากรายงานวิจัยหลายชิ้น เขาได้พบว่า หากพื้นที่ไหนในเมืองมีระดับการก่ออาชญากรรมมาก จะส่งผลให้คนใรบริเวณนั้นเกิดความไม่ไว้ใจต่อกัน สุดท้ายก็ส่งผลให้พวกเขาไม่อยากคุยกัน กลายเป็นสังคมที่ต่างคนต่างอยู่

เรื่องถัดมา คือ ระบบขนส่งสาธารณะ หากระบบขนส่งสาธารณะไม่ได้รับการออกแบบและสร้างมาให้ครอบคลุมทั่วทั้งชุมชนหรือเมือง โอกาสที่คนจะออกมาเดินทางหรือไปพบปะผู้คนตามที่ต่างๆ ในชุมชนก็เกิดขึ้นได้ยาก ตัวอย่างที่ไม่ไกลตัวก็คือ ระบบขนส่งรางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครที่ไม่ครอบคลุมเอาเสียเลย

เรื่องถัดมา ก็คือ การจัดสรรที่อยู่ เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองโดยตรง เพราะหากผังเมืองของเรามิได้กำหนดให้มีการจัดโซนที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ ใครคิดอยากจะสร้างบ้านตรงไหนก็สร้าง ไม่สนว่าตรงนี้สร้างได้หรือไม่ได้ การจัดที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักเป็นแหล่งก็จะเกิดขึ้นได้ยาก พอเราไม่สามารถไม่รวมที่อยู่อาศัยให้เป็นหมู่เป็นก้อนได้แล้ว สภาพความเป็นชุมชนก็จะเกิดยากตามไปด้วย ผู้คนก็อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ยากที่จะต่อกันให้ติด

 

วิธีรับมือสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมในโลกสมัยใหม่

 

นักวิชาการหลายคนคาดการณ์ไว้ว่า ในอีกไม่ถึง 50 ปีข้างหน้า เกินครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะอยู่อาศัยในเมือง ซึ่งมองดูเผินๆ แล้ว มนุษย์เราน่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่าสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมที่เกิดขึ้นกับประชากรโลกจะไม่ห่างหายไปไหน หากจะขยายตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรายังไม่ได้มีแนวทางการรับมือสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมสำหรับโลกสมัยใหม่อย่างเป็นระบบนั่นเอง

นักวิชาการจากทั่วโลกจำนวนมากได้พยายามเสนอแนวทางแก้ไข โดยในที่นี้เราจะนำมาสรุปเป็น 4 วิธีการ ได้แก่

วิธีการแรก คือ การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของผู้อยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (identity transformation)

เนื่องจากสาเหตุหลักของการตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวคือ ผู้ป่วยไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับโลกภายนอก คุณค่า หรือสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชนได้ (นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เขารู้สึกไม่มีความหมายกับตัวเองและสังคม) ดังนั้น เราต้องมีกระบวนการที่ส่งเสริมให้เขาสามารถปรับตัวตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางสังคมใหม่ๆ ให้ไหลลื่นมากขึ้น เป็นต้นว่า เราอาจมีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาคอยชี้แนะว่าหากต้องการปรับตัวสู่สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่งนี่ควรทำอย่างไร หรืออาจให้คำปรึกษาว่าจริงๆ แล้วตัวตนของเราที่ควรจะเป็นนั้นควรเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ผู้ให้คำแนะนำก็ต้องระมัดระวังการใช้คำพูด และต้องละเอียดอ่อนต่อบริบททางวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย (พูดไปพูดมาก็แอบคล้าย ‘ไลฟ์โค้ช’ อยู่นะเนี่ย)

วิธีการที่สอง คือ การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว (หรือคนสนิทรอบข้าง) (rebuilding family networks)

เนื่องจากในอนาคต พวกเราทุกคนล้วนมีสิทธิที่จะอยู่ในสภาวะเช่นนี้ได้ทั้งนั้น วิธีการรับมือที่ง่าย ถูก แต่ยั่งยืน คือ การให้ความสำคัญกับครอบครัว จากงานวิจัยหลายชิ้น พบว่า ปัจจัยเรื่องครอบครัวนั้นมีผลกับความรุนแรงของสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมอย่างมาก พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งหากความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความเหนียวแน่นมาก มันจะมีส่วนช่วยยึดเหนี่ยวไม่ให้ปัจเจกแต่ละคนหลุดออกไปจากสังคมมากขึ้นไปด้วย

วิธีการที่สาม คือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology)

เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนสามารถรักษาความเชื่อมโยงทางสังคมอย่างเหนียวแน่นคือ การติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง และทำให้เห็นหน้าค่าตาระหว่างคู่สนทนาได้ ดังนั้น ต่อไปในอนาคตเราต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ส่งเสริมการสื่อสารในรูปแบบดังกล่าวให้ได้อย่างทั่วถึงที่สุด ตัวอย่างเทคโนโลยีลักษณะนี้ก็คือ Facetime

วิธีการที่สี่ คือ การพัฒนาเมืองแบบไม่กีดกัน (inclusive urban development)

เหมือนที่กล่าวไปว่า ต่อไปประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง ดังนั้น เมืองจึงเป็นหน่วยทางสังคมสำคัญในการกำหนดความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ปัจจุบันก็เริ่มแล้ว) เราควรมีการพัฒนาเมืองที่มีทิศทาง โดยพยายามออกแบบเมืองที่รองรับสำหรับคนทุกกลุ่ม ไม่กีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป ระบบขนส่งมวลชนต้องทั่วถึง พื้นที่สาธารณะต้องมีอย่างเพียงพอ และถึงแม้ว่าจะอยู่ในเมือง แต่ก็ต้องมีพื้นที่สำหรับชุมชนเอาไว้ด้วย และสำหรับการพัฒนาเมืองแบบไม่กีดกัน ผลประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาทั้งหมดต้องตกถึงคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม เพื่อหวังผลว่าจะช่วยลดความไม่เป็นธรรมในสังคม

 

จริงๆ แล้วตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเด็นสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและได้รับการศึกษาจากนักวิชาการทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับประเทศไทย เราพึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เมื่อไม่นานมานี้เอง

ผู้เขียนคาดหวังเหลือเกินว่าพวกเราจะมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น เพราะไม่แน่ว่าเราอาจจะโดดเดี่ยวแบบไม่รู้ตัวเข้าสักวัน

 

อ้างอิง

บทความวิจัยเรื่อง Social Isolation: A conceptual and Measurement Proposal ของ Diego Zavaleta, Kim Samuel, and China Mills จาก University of Oxford

รายงานวิจัยเรื่อง All the lonely people: social isolation and loneliness in County Durham ของ County Durham จาก County Durham Partnership

รายงานวิจัยเรื่อง Loneliness and Social Isolation Among Older People in North Yorkshire ของ Sylvia Bernard จาก University of York

บทหนังสือที่ 5 Social Isolation ของ Diana Biordi and Nicholas Nicholson ใน หนังสือ Chronic Illness: Impact and Intervention, Eighth Edition (2013) ของ Ilene Lubkin; Pamala Larsen จาก Jones and Bartlett Publishers

บทความเรื่อง The Impact Of Social Isolation จาก Social Wellness

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save