fbpx
Isolated, therefore I am

Isolated, therefore I am

 

หลายครั้งเรามักมองความโดดเดี่ยวในแง่ลบ เพราะคงไม่มีใครอยากใช้ชีวิตแบบโดดเดี่ยวเดียวดาย เปล่าเปลี่ยว ว้าเหว่ และเงียบเหงา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถเลือกที่จะไม่โดดเดี่ยวได้เสมอไป เช่นความโดดเดี่ยวจากการที่สังคมไม่ยอมรับ ไม่มีครอบครัว คนรัก ไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ในชีวิต ไม่มีบ้านพักอาศัย ไม่มีหลักประกันชีวิต ไม่มีความสงบ ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ

หลายคนอาจก้มหน้ายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ปรับตัวและเรียนรู้จากความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้น

เรอเน เดการ์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า I think, therefore I am – ฉันคิด ฉันจึงมีตัวตนอยู่ ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิด เห็น รู้สึก สงสัย จินตนาการ คือสิ่งที่ทำให้มีตัวตน

คำถามก็คือ – แล้วถ้าเราโดดเดี่ยวล่ะ, เราจะสามารถมีหรือสร้างตัวตนขึ้นมาได้หรือเปล่า?

ไปถามคนเหล่านี้กัน!

 

แอน แฟรงค์ (Anne Frank)

บันทึกความหวัง จากห้องใต้หลังคา

 

 

เสียงระเบิดที่สะท้านสะเทือนไปทั่วเมือง ขังเด็กสาวชาวยิวไว้กับสมุดบันทึก ณ ห้องใต้หลังคา

เมื่อได้ยินชื่อแอนน์ แฟรงค์ หลายคนจะนึกถึงเหตุการณ์ที่ได้บันทึกใน The Diary of a Young girl หรือ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิตท่ามกลางสงครามล้างเผ่าพันธ์ุยิว

ไดอารี่อาจดูเหมือนเป็นบันทึกชีวิตประจำวันธรรมดา แต่เมื่อเป็นชีวิตประจำวันของเด็กสาวชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ต้องซ่อนตัวอย่างโดดเดี่ยวอยู่เสมอ ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ๆ

หลายคนกล่าวว่า หากไม่มีเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว แอนน์ แฟรงค์อาจจะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงและอิทธิพลพอๆ กับเวอร์จิเนีย วูล์ฟ เลยก็เป็นได้ เพราะเธอมีพรสวรรค์ในการเขียนและการเล่าเรื่องมาก

แอนน์ แฟรงค์เกิดในช่วงที่พรรคนาซีที่นำโดยฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจปกครอง ชีวิตในวัยเด็กของแอนน์จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวการหลบหนี เพลงกล่อมนอนที่ได้ยินก็กลายเป็นเสียงของทหารที่ร้องตะโกนถึงชาวยิวว่า “ยามเลือดยิวไหลลงจากคมมีด” จนเมื่อปี 1942 สถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ ชาวยิวที่หนีไม่รอดต่างถูกจับเข้าค่ายกักกันใน Auschwitz ครอบครัวของแฟรงค์ก็ได้หลบหนีไปที่ห้องว่างใต้หลังคาแห่งหนึ่งที่อยู่ด้านหลังสำนักงานของออตโต้ แฟรงค์ พ่อของแอนน์ ซึ่งในขณะนั้นแอนน์อายุได้เพียง 13 ปี เท่านั้น

ฉันหวังว่าจะสามารถเล่าความลับทุกอย่างออกมาผ่านสมุดบันทึก ที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่คอยโอบกอดฉันในเวลาอันโหดร้ายนี้

แอนน์ แฟรงค์เขียนคำกล่าวนี้ไว้ในหน้าแรกจากบันทึกของเธอหลังจากที่ได้รับมาจากพ่อเมื่อครบวันเกิด 13 ปี ตลอดสองปี ครอบครัวของแอนน์ถูกขังอยู่ในห้องมืดใต้หลังคา ไม่สามารถออกไปเจอแสงสว่างได้ เนื่องจากการก้าวขาออกไปเท่ากับการอ้าแขนรับความตาย อาหารและข้อมูลข่าวสารภายนอก มาถึงได้จากความช่วยเหลือของพนักงานในบริษัทพ่อของแอนน์เพียงเท่านั้น ในปี 1944 แอนน์ได้เขียนไว้ในไดอารี่ว่าฉันไม่สนแล้วว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ โลกยังคงหมุนต่อไปและฉันคงทำอะไรไม่ได้ที่จะเปลี่ยนมันแม้จะเป็นประโยคสั้นๆ แต่ความรู้สึกกดดัน ความเศร้า ความโกรธได้ถูกส่งผ่านออกมาจากสมุดเล่มนี้ แม้จะหมดหวังเพียงใด แต่แอนน์ก็ได้ตบท้ายประโยคว่า “แต่เมื่อฉันได้เขียน สิ่งอื่นก็ไม่สำคัญอีกต่อไป”

ในปี 1944 ทหารจากพรรคนาซีได้บุกเข้าไปที่ห้องใต้หลังคา จากนั้นครอบครัวของแอนน์ได้ถูกพาตัวไปที่ค่าย Auschwitz ชีวิตของแอนน์สิ้นสุดลงในอีกหนึ่งปีถัดมา ด้วยอายุเพียง 15 ปี ในค่ายกักกันที่คร่าชีวิตเด็กชาวยิวกว่าล้านคน

ครอบครัวแฟรงค์หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่คือพ่อของแอนน์ บุคคลที่ได้เผยแพร่เรื่องราวในสมุดเล่มนี้ให้เราได้เห็น

แม้จะอยู่ท่ามกลางสงครามและเผชิญกับความกดดัน แต่ตลอดสองปีที่อยู่ทในความมืด แอนน์ได้ใช้ไดอารี่เป็นความหวัง เรื่องราวเด็ดเดี่ยวจากสมุดบันทึกที่เขียนใต้ห้องหลังคาเล็กๆ ได้สร้างอิทธิพลมากมายแก่ผู้อ่านงานชิ้นนี้

แม้โลกจะเลวร้ายเพียงใด แต่แอนน์ แฟรงค์ก็ได้กล่าวกับเราผ่านไดอารี่ว่า เมื่อฉันมองขึ้นไปบนฟ้า ก็มีความหวังขึ้นมาว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น

นี่คือความโดดเดี่ยวที่แสนเศร้า ทว่าก็กลับให้กำลังใจเราอย่างที่สุดที่จะมีชีวิตอยู่

 

อลัน ทัวริง (Alan Turing)

ผู้ถอดรหัสลับแห่งสันติภาพ

 

 

ใครเป็นผู้หยุดเสียงระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ? คำถามนี้ดูเหมือนจะง่าย แต่คำตอบคงมีน้อยคนนักที่รู้ แต่หากไม่ได้เป็นเพราะ ‘อลัน ทัวริง’ นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ และ นักถอดรหัสอัจฉริยะคนนี้ เสียงระเบิดจากสงครามคงจะดังกึกก้องไปอีกราวสองปีอย่างแน่นอน

สามปีที่ผ่านมา ชื่อของ อลัน ทัวริง เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากหนังเรื่อง The Imitaton Game ที่เป็นหนังประวัติของทัวริง ที่จริงแล้ว เขาช่วยชีวิตคนไว้นับล้าน แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักว่าเขาเป็นใคร ในช่วงเวลานั้น ทัวริงสามารถถอดรหัสการสื่อสารของฝ่ายนาซีที่ใช้เครื่อง ‘อีนิกม่า’ ในการส่งข้อมูลทางการทหารได้สำเร็จ ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าถึงข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามได้

อัจฉริยภาพของทัวริงไม่ได้มีผลแค่กับสงครามโลกเท่านั้น แต่เขาสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์หลายอย่างที่มีผลกับวงการเทคโนโลยีในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นก็คือ Turing Test  ซึ่งเป็นการทดสอบเพื่อแยกมนุษย์ออกจากปัญญาประดิษฐ์ แต่เส้นทางอัจฉริยะของเขาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ทัวริงเป็นเหมือนบุคคลชายขอบในสังคม ทั้งด้วยลักษณะนิสัยของตนเองที่ค่อนข้างเข้ากับคนยาก (เพราะพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง) อีกทั้งยังมีความเป็นชายขอบในด้านเพศวิถี โดยไม่ได้มีความชื่นชอบทางเพศกระแสหลัก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและผิดบาปในสังคมอังกฤษสมัยนั้น

อลันมักจะมีปัญหาในการสื่อสารเสมอ เขาพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง และค่อนข้างเป็นคนเก็บตัวพอสมควร เวลาคิดงานเขาชอบจะแยกตัวออกไปทำงานคนเดียวอยู่บ่อย ๆ

แม้จะมีปัญหาในการเข้ากับคนอื่น แต่บุคคลหนึ่งที่ผลักดันทัวริงให้เดินทางในสายคณิตศาตร์และกลไลคอมพิวเตอร์คือคริสโตเฟอร์ เพื่อนสนิทสมัยเรียนและรักแรกของเขา อย่างไรก็ตาม สายสัมพันธ์นั้นก็ต้องสิ้นสุดลงเมื่อคริสโตเฟอร์เสียชีวิตจากอาการป่วยก่อนเขาเรียนจบ คริสโตเฟอร์หมกมุ่นกับคณิตศาตร์และการถอดรหัสมาก จึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้อลันสืบทอดอุดมการณ์ด้านคณิตศาตร์เหล่านั้นของคริสโตเฟอร์มา เพื่อที่ส่วนหนึ่งของเพื่อนสนิทผู้เป็นรักแรกนั้นจะไม่หายไป ตราบใดที่ยังมีคณิตศาตร์และเครื่องกลที่เขาสร้างขึ้นมาอยู่

ทัวริงได้เข้าทำงานที่สำนักงานข่าวกรองกลางของอังกฤษ (GCHQ) เพื่อช่วยรัฐบาลถอดรหัสการสื่อสารของนาซี เขาประสบความสำเร็จในการถอดรหัสโดยใช้เครื่องอีนิกม่า และช่วยอีกหลายล้านชีวิตให้รอดพ้นจากสงครามได้ แต่หลังสงคราม ทัวริงกลับไม่ได้มีใครยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ เขากลับได้รับปฏิบัติตรงข้าม เพราะถูกตัดสินให้มีความผิดฐานกระทำพฤติกรรมอนาจาร ในปี 1952 หลังจากมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน

กฎหมายในช่วงนั้นทางเลือกมีแค่ไม่กี่ทาง หากไม่อยากจะใช้ชีวิตอยู่ในคุกก็ต้องถูกบังคับให้ใช้สารเคมีเพื่อทำให้หมดความรู้สึกทางเพศ ซึ่งไม่ว่าจะทางใดก็เหมือนถูกพรากเอาตัวตนออกไปอย่างไร้มนุษยธรรม ทัวริงเสียชีวิต 2 ปีหลังจากถูกบังคับให้ใช้สารเคมี สันนิษฐานว่าเขาตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยกินแอปเปิ้ลที่ผสมไซยาไนท์เข้าไป ทำให้เขากลายเป็นเจ้าชายนิทราที่ไม่มีวันฟื้นกลับมาได้อีก

แม้เขาจะถูกทำให้เป็นคนชายขอบ แต่หลายสิ่งที่ทัวริงได้ทำก็ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่การคิดค้นปัญญาประดิษฐ์และทฤษฎีคณิตศาตร์เท่านั้น แต่เขาทำให้เกิดแรงผลักดันให้เกิดการเรียกร้องในด้านความเท่าเทียมของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ด้วย

ในปี 2013 ทัวริงได้รับการอภัยโทษหลังเสียชีวิตจากพระราชินี ก็ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิ โดยรัฐบาลอังกฤษกำลังพยายามปรับเปลี่ยนให้มีการลบล้างความผิดให้กับคนรักเพศเดียวกันคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

แม้ในปัจจุบันสังคมเราเปิดใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่อคติด้านเพศก็ยังฝังรากลึกจนยากที่จะทำให้ทุกคนเปิดใจ สิ่งที่ทัวริงต้องเผชิญเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครก็ตาม โดยเฉพาะกับวีรบุรุษผู้ช่วยชีวิตคนนับล้านเอาไว้

ชีวิตที่โดดเดี่ยวของทัวริง ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงทฤษฎีและการถอดรหัสต่างๆ

แต่เรากลับตอบแทนเขาด้วยความโดดเดี่ยวที่มากยิ่งขึ้น กระทั่งเขาเลือกที่จะไม่อยู่กับเราอีกต่อไป

 

มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai)

การศึกษา สตรี และตาลีบัน

 

 

เหตุเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2012 เมื่อกลุ่มตาลีบันบุกขึ้นรถโดยสารโรงเรียน โดยหวังจะคร่าชีวิตเด็กสาวคนหนึ่ง กลุ่มตาลีบันถามหาเด็กหญิงอายุ 15 ปี ชื่อ มาลาลา ยูซาฟไซ จนพบ แล้วลั่นไก

มาลาลาถูกยิงทะลุศีรษะ สมองซีกซ้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส เกือบเอาชีวิตไม่รอด

มาลาลาเกิดในประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 1997 เธอสวมฮิญาบ มีผิวสีเข้ม แววตาสะท้อนความความเข็มแข็งและกล้าหาญ เธอเป็นนักสู้เรียกร้องสิทธิการศึกษาสำหรับผู้หญิง

ท่ามกลางความรุนแรงในประเทศปากีสถาน หลังจากกลุ่มตาลีบันได้ขยายอิทธิพล มีประกาศห้ามเด็กหญิงทุกคนไปโรงเรียน ถึงขนาดที่ปี 2008 มีการเผาทำลายโรงเรียนสตรีมากกว่า 150 แห่ง และอ้างว่าการให้ผู้หญิงเรียนหนังสือจะขัดต่อคำสอนของศาสนาอิสลาม แต่โรงเรียนที่มาลาลาศึกษาอยู่ยังคงเปิดสอนแม้จะได้รับการข่มขู่คุกคามไม่เว้นแต่ละวัน

มาลาลาเริ่มออกมารณรงค์ โดยมีนายไซอุดดิน พ่อของเธอคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ในปี 2008 ขณะที่มาลาลาอายุ 11 ปี พ่อของเธอพาไปร่วมงานชุมนุมที่เมืองเปชวาร์ โดยกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ How Dare the Taliban Take Away My Basic Right to an Education เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านสิ่งที่กลุ่มตาลีบันได้กระทำ การเปิดเผยจุดยืนในครั้งนั้นได้รับเสียงสนับสนุนเป็นอย่างดี

ปีถัดมา มาลาลาเขียนบล็อกให้แก่ BBC โดยใช้นามปากกาชื่อ ‘กุล มาไค’ (GulMaKai) แปลว่าผู้ฟาดฟันกับความเศร้า เธอเขียนเล่าถึงชีวิตที่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพภายใต้การปกครองของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง เช่น ห้ามแต่งกายสีฉูดฉาด ห้ามนักเรียนหญิงไปโรงเรียน ฯลฯ จนงานเขียนของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

จากนั้นมาลาลาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ อีกทั้งพ่อของเธอได้เปิดเผยด้วยว่าเธอคือ ‘กุล มาไค’ นั่นทำให้เธอตกเป็นเป้าสังหารของกลุ่มติดอาวุธตาลีบันโดยไม่มีใครคาดคิด

วันนั้นเธอไปโรงเรียนเหมือนกับทุกๆ วัน ขณะที่เธออยู่บนรถโดยสาร กลุ่มติดอาวุธบุกขึ้นรถมาถามหาตัวมาลาลา จากนั้นใช้ปืนยิง 2 นัดทะลุศีรษะ สมองซีกซ้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที และได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลในปากีสถานแต่ไม่เป็นผล เธอถูกส่งตัวไปรักษากะโหลกและฟื้นฟูระบบประสาทที่ประเทศอังกฤษ จนเด็กหญิงนาม มาลาลากลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

ต่อให้ประสบเหตุร้ายขนาดนั้น เธอก็ยังยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อ และต่อสู้ผ่านการรณรงค์เรียกร้องต่างๆ ด้วยความหวังว่าเด็กผู้หญิงทั่วโลกจะได้รับสิทธิการศึกษาอย่างเท่าเทียม ดังประโยคที่เธอกล่าวในสุนทรพจน์ในสมัชชาเยาวชนโลกที่สหประชาชาติ ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิดปีที่ 16 ของเธอด้วย

Let us pick up our books and our pens, they are the most powerful weapons. One child, one teacher, one book and one pen can change the world. Education is only solution. Education first!

ทุกวันนี้เธอมีหนังสือที่ตัวเองเขียนชื่อ I Am Malala เธอได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลอันดับสองในปี 2012 โดยนิตยสาร TIME และได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2014 เป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้

มาลาลาทำให้โลกได้รู้ว่า การเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างแม้จะเพียงลำพัง อาจไม่สำคัญเท่าความรู้สึกที่จะปลุกให้คนอื่นๆ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างจากสังคมที่เป็นอยู่

 

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)

“ความฝันหลากสี”

 

 

ทุกคนล้วนมีความฝัน บางฝันสำเร็จ บางฝันล้มเหลว แต่บางฝันกลายเป็นไฟแห่งความหวังที่ส่งต่อพลัง

จากชายผู้หนึ่งถึงผู้คนอีกนับล้านให้ลุกขึ้นต่อสู้บนโลกแห่งความจริง

“ข้าพเจ้ามีความฝัน” คำปราศรัยของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ดังขึ้น ณ กรุงวอร์ชิงตันท่ามกลางฝูงชนนับแสน

“ข้าพเจ้าฝันว่าสักวันหนึ่ง ลูกๆ ของข้าพเจ้าจะได้ใช้ชีวิตในประเทศที่พวกเขาไม่ถูกตัดสินด้วยสีผิว แต่ตัดสินด้วยการกระทำ” ประโยคสั้นๆ ที่กล่าวออกมาจากนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผิวสีได้ส่งเสียงแทนชาว

ชาวแอฟริกันอเมริกันหลายหมื่นคนที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากการถูกแบ่งแยกในอเมริกาช่วง 50 ปีก่อน ในสภาวะสังคมที่คนผิวสีไร้ที่ยืน มาร์ติน ลูเธอร์ คิงได้สร้าง “พื้นที่” ให้กับพวกเขาและกลายเป็นความหวังหนึ่งที่จะให้ชาวแอฟริกันอเมริกันได้เป็นอิสระจากการเหยียดสีผิวนี้

อีกแง่มุมของคิงที่คนไม่ค่อยรู้คือ คิงป่วยเป็นโรคทางจิต เขารู้สึกหดหู่ ท้อแท้และสิ่้นหวัง คิงอยู่กับสภาวะนี้เป็นเวลากว่าหนึ่งปี จนต้องหันไปดื่มเหล้าและสูบบุหรี่อย่างหนัก แต่นี่ก็เป็นช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยวของเขาที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคนั้น

อเมริกาช่วงประมาณ 50 ปีที่ผ่านมาเปรียบเสมือนดินแดนแห่งความเกลียดชังที่เป็นเหมือนขุมนรกสำหรับคนผิวสี จะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ป้ายที่แสดงถึงการกีดกันชาวแอฟริกันอเมริกันทุกวิถีทาง จากการถูกเหยียดด้วยสีผิวและถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรม ในปี 1955 คิงได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีคนผิวสีมากมายถูกร้องเรียนเพราะไม่ยอม “สละ” ที่นั่งให้คนผิวขาว จนท้ายที่สุดคิงก็ประสบความสำเร็จโดยศาลตัดสินว่าการแบ่งแยกที่นั่งบนรถโดยสารถือว่าเป็นเรื่องขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ความรุนแรงของการเหยียดสีผิวก็ยังคงไม่หายไปอยู่ดี

ต่อมา คิงได้เป็นผู้นำเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ชาวแอฟริกันอเมริกันและได้ขึ้นปราศรัยตามเมืองต่างๆ จนในปี 1964

เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วยอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น

แม้สังคมจะทำให้คนผิวสีกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบ แต่คิงก็ได้สร้างพลังขึ้นมาใหม่ให้ผู้คนลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพ กระนั้น มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของคิง ตลอดการต่อสู้ของชายผิวสีคนนี้เต็มไปด้วยรอยแผลจากการถูกทำร้ายทั้งภายในและภายนอก เขาต้องเผชิญกับเสียงด่าทอ โดนปาหิน อีกทั้งยังเคยโดยตำรวจจับไม่น้อยกว่าสามสิบครั้ง

สี่ปีให้หลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบล เสียงปืนนัดหนึ่งดังขึ้นและปลิดชีวิตชายผู้มีความฝันผู้นี้ไปตลอดกาล

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหารโดยฆาตรกรเหยียดสีผิว โดยหลังจากเหตุการณ์นั้นทำให้คนต่างลุกฮือและเกิดจลาจลขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา การจากไปของคิงได้กลายเป็นชนวนให้ทั้งประเทศลุกเป็นไฟและหันมาต่อสู้เพื่ออิสรภาพของกลุ่มคนผิวสีและยืนหยัดเพื่อขจัดความโดดเดี่ยวจากการถูกแบ่งแยก แม้การจากไปของวีรบุรุษผิวสีคนนี้จะสร้างความสะเทือนขวัญให้แก่ผู้คนมากมาย แต่เขาก็ทำให้ชาวอเมริกันหลายคนหันมาให้ความสำคัญกับความยุติธรรมและความเท่าเทียม อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของความหวังและสรีภาพให้คนนับแสนในช่วงเวลาหนึ่ง

ข้าพเจ้ามีความฝันเสียงสะท้อนของคิงยังคงดังอย่างต่อเนื่องแม้จะล่วงลับไปนานแล้ว

ความผิดหวังเป็นสิ่งจริงแท้ที่เราควรยอมรับ แต่อย่าทำให้เป็นข้อจำกัดในความหวังที่เรามี

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden)

โลกสีเทาของคนไขความลับ

 

 

หากกล่าวถึงคนที่เปิดโปง ‘ความลับ’ จนสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งดินแดนแห่งเทพีเสรีภาพ ชื่อของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนคงเป็นอันดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะเขาได้ไขความลับที่สั่นสะเทือนไปทั้งโลกให้รู้ว่า – รัฐบาลสหรัฐอเมริกากำลังสอดแนมประชาชน!

เอ็ดเวิร์ด โจเซฟ สโนว์เดน เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1983 เขาเป็นอดีตผู้รับจ้างทางเทคนิคของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (NSA) และอดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองแห่ง CIA หน่วยงานราชการด้านข่าวกรองต่างชาติของพลเมืองของรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายก่อนที่สโนว์เดนจะลี้ภัย

สโนว์เดนเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสิทธิความเป็นส่วนตัว (Rights of Privacy) มาก จึงไม่แปลกนักหากจะบอกว่าสิ่งที่สโนว์เดนทำคือการเปิดเผยให้รู้ว่า บนโลกออนไลน์ พลเมืองอเมริกันไม่มีสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง

ย้อนกลับไปปี 2013 ภายใต้การปกครองของประธานาธิปดีบารักโอบาม่า ชีวิตพลเมืองอเมริกันดำเนินไปตามปกติ เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่แล้วสโนว์เดนได้ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ดักฟังและเก็บข้อมูลของประชาชนผ่านทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต อย่างเช่นการดักเก็บข้อมูลแบบ Metadata ซึ่งเป็นข้อมูลจำพวกอีเมล รวมถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ และพริซึม ซึ่งเป็นรหัสลับที่ประธานาธิปดีบารักโอบาม่าใช้ร่วมกับ NSA CIA และ FBI

สโนว์เดนยังเปิดโปงไปอีกขั้นด้วยการทำให้โลกรู้ว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ได้แพร่ไวรัสคอมพิวเตอร์ชนิดมัลแวร์สู่เครือข่ายคอมพิวเตอร์มากกว่า 5,000 เครือข่ายทั่วโลก เพื่อเก็บข้อมูลที่ละเอียดอ่อน มีคนเดากันว่า ผลงานนี้เป็นฝีมือของสโนว์เดนสมัยยังทำงานอยู่กับ NSA เองนั่นแหละ

แน่นอนว่าสโนว์เดนไม่สามารถอยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอนได้อีกต่อ เขาต้องหลบหนีออกจากประเทศ

“แม้ผมจะยังไม่มีความผิดใดๆ แต่รัฐบาลสหรัฐก็ได้เพิกถอนหนังสือเดินทางของผม และปล่อยผมให้เป็นคนไร้รัฐ แม้ยังไม่มีคำสั่งศาล แต่ฝ่ายบริหารก็พยายามหยุดยั้งผมจากการใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิที่จะแสวงหาที่ลี้ภัย”

สโนว์เดนบอกอย่างนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2013 หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐสั่งยกเลิกหนังสือเดินทาง อีกทั้งยังกดดันหลายประเทศห้ามสโนว์เดนบินผ่านน่านฟ้า ทำให้เขาเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ยากลำบากมากขึ้น เรียกว่าเขา ‘ถูกโดดเดี่ยว’ จากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองก็ว่าได้

ปลายเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน รัฐบาลรัสเซียได้ให้สิทธิการลี้ภัยทางการเมืองให้แก่สโนว์เดนเป็นระยะเวลา 3 ปี ปัจจุบันสโนว์เดนยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่รัสเซีย หลังจากรัฐบาลได้ขยายเวลาการลี้ภัยให้แก่เขา

สิ่งที่สโนว์เดนทำลงไป มีทั้งคนมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะทำให้โลกรู้ข้อเท็จจริง และไม่ถูกต้อง เพราะได้ไปละลาบละล้วงสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ว่าใครจะมองเขาด้วยเหตุผลใด เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้โลกต้องจารึกเอาไว้แล้ว

จิตร ภูมิศักดิ์

โดดเดี่ยวโดยยืนเด่น (อย่างท้าทาย)

 

 

ปัง!

เสียงปืนนัดสุดท้ายแตกก้องฟ้า พลันนั้นชีวิตของชายคนหนึ่งดับลง ทั้งที่ความจริงแล้วเขาถูกล้อมยิงจนไม่รู้ว่ากระสุนนัดไหนคร่าชีวิตชายผู้นี้

เขาคือ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ นักคิด นักเขียน นักกวี นักปรัชญาคนสำคัญของเมืองไทย

สิ้นเสียงปืนจากป่าละเมาะ ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 จิตร ภูมิศักดิ์เสียชีวิตในวัย 36 ปี นับจากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน วันเวลาล่วงเลยผ่านมากว่า 5 ทศวรรษ แต่ชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีสัญญะแห่งการท้าทายระบอบเผด็จการ

จิตร มีชื่อเดิมว่า สมจิตร ภูมิศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473 ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี มีบิดาชื่อ ศิริ ภูมิศักดิ์ และมารดาชื่อ แสงเงิน ฉายาวงศ์ มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ บิดาของจิตรต้องย้ายไปรับราชการยังจังหวัดต่างๆ ทำให้จิตรจำต้องย้ายสถานที่เรียนไปตามครอบครัว เริ่มจากจังหวัดกาญจนบุรี สมุทรปราการ และพระตะบอง (กัมพูชา)

ช่วงที่จิตรเรียนอยู่ที่พระตะบอง เขาได้มีโอกาสรู้จักกับภาษาเขมรจนแตกฉาน เขาสามารถพูด เขียน และอ่านศิลาจารึกได้อย่างคล่องแคล่ว ในช่วงเวลาเดียวกันจิตรยังได้ฝึกฝนภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย

ปี 2489 เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง ไทยต้องคืนดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส เป็นผลให้จิตรต้องย้ายมาศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ราว 4 ปีถัดมา จิตรสอบไล่ได้ เตรียมสอง (ม.ศ.5) จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำให้จิตรได้เข้าศึกษาเล่าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหารู้ไม่ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ชีวิตเขาระหกระเหินในเวลาต่อมา

เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักคือ ‘กรณีโยนบก’ โดยจิตรรับตำแหน่งเป็นสาราณียกร (คนทำหนังสือของสมาคมหรือสถาบันการศึกษา) การทำหนังสือของเขามีผลให้ตำรวจสันติบาลมาอายัดหนังสือที่จิตรและคณะกำลังจัดทำ และมีการสอบสวนจิตรที่หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย

เหตุการณ์นั้นทำให้จิตรถูกจับ ‘โยนบก’ โดยนายสีหเดช บุนนาค นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์พร้อมพรรคพวกมาล็อคตัว จิตร จับแขนขาแกว่งแล้วปล่อยให้ร่างกายตกกระแทกพื้น จนจิตรได้รับบาดเจ็บ ต้องเข้าโรงพยาบาลพักรักษาตัวอยู่หลายวัน

ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตรถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี จากเหตุการณ์นี้ ทำให้จิตรมีโอกาสไปเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาไทย โดยเอาแนวคิดใหม่ไปวิเคราะห์วรรณคดี ซึ่งนักเรียนชอบ แต่ทางผู้บริหารไม่ไว้ใจจึงให้เลิกสอน จากนั้นจิตรจึงมาทำงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งทำให้รัฐบาลยิ่งจับตามองเขามากขึ้น

ในปี 2501 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จิตรถูกจับกุมคุมขังเป็นนักโทษการเมือง ด้วยข้อหาที่ปัญญาชนในยุคนั้นต่างหนีไม่พ้น คือ ‘กระทำการเป็นคอมมิวนิสต์’ และ ‘สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร’

สถานะนักโทษการเมืองของจิตรยาวนานถึงหกปี มันคือช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยว แต่จิตรใช้ช่วงเวลานั้นผลิตผลงานเขียนไว้มากมาย

หลังได้รับการปลดปล่อยในปี 2507 จิตร ภูมิศักดิ์ ได้นำงานเขียนเรื่อง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ฝากไว้กับ อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของเมืองไทย ให้ช่วยเก็บรักษาต้นฉบับ (ผลงานชิ้นนี้ได้รับการจัดพิมพ์เมื่อปี 2519 และต่อมาได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน)

หลังจากนั้น จิตรถูกคุกคามอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่รัฐ เขาจึงเดินทางไปชนบทภาคอีสานในปี 2508 ก่อนจะเผชิญกับเหตุการณ์ล้อมยิงทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

นี่คือเรื่องราวของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ นักคิด นักเขียน นักกวี นักปรัชญาคนสำคัญของเมืองไทย

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save