fbpx
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ : ปิดตำนาน ‘วิภาษา’ กับภารกิจที่ (ไม่) ลุล่วง ?

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ : ปิดตำนาน ‘วิภาษา’ กับภารกิจที่ (ไม่) ลุล่วง ?

[et_pb_section admin_label=”section”][et_pb_row admin_label=”row”][et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text admin_label=”Text” background_layout=”light” text_orientation=”left” use_border_color=”off” border_color=”#ffffff” border_style=”solid”]

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

 

ในยุคสมัยที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างง่ายดายบนอินเทอร์เน็ต การเดินเข้าห้องสมุดเพื่อค้นตำรา หรือการหาข้อมูลอ้างอิงจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ คล้ายจะเป็นทางเลือกเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น

แต่ถ้าหากเราย้อนเวลาไปสักสิบปี ในวันที่โลกออนไลน์ยังไม่แพร่หลาย และการอัพโหลดไฟล์ .pdf ยังไม่ปรากฏ การจะเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะทฤษฎีหรือข้อถกเถียงทางวิชาการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น นับเป็นเรื่องยากและเต็มไปด้วยข้อจำกัด

ภาวะดังกล่าวนี้สร้างความอึดอัดใจให้กับ ‘บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ’ ที่ในเวลานั้นเพิ่งเรียนจบปริญญาเอกจาก University of Hawaii  การได้ไปเรียนต่างประเทศทำให้เขาค้นพบว่า เพื่อนชาวต่างชาติล้วนมีตำราชิ้นสำคัญๆ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาของตนเอง ขณะที่เขาซึ่งเป็นคนไทย ยังต้องศึกษาจากเวอร์ชั่นอังกฤษอีกที

แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องภาษา แต่เขามองว่านี่คือช่องโหว่ของแวดวงวิชาการไทย

เมื่อกลับมาเมืองไทยช่วงต้นปี 2549 เขาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคุณธัญลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ์ เจ้าของทุนและผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ ‘วิภาษา’ ว่าอยากจะอุดช่องโหว่ที่ว่านี้

“เป้าประสงค์ของเราคือการลดช่องว่างระหว่างโลกวิชาการของไทย กับองค์ความรู้ใหม่ๆ ในต่างประเทศ เอามาเรียบเรียง วิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้คนทั่วไปสามารถอ่านได้”

ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นนิตยสาร ‘วิภาษา’ นิตยสารที่นำเสนอเนื้อหาสาระในแวดวงสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวัฒนธรรม วางแผงฉบับแรกเดือนมีนาคม 2550 เริ่มต้นจากการออกเป็นราย 6 สัปดาห์ ก่อนจะปรับเป็น 8 สัปดาห์ในเวลาต่อมา โดยมีบัณฑิต รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ

 

ที่มาภาพ : facebook นิตยสาร วิภาษา

 

10 ปีผ่านไป ข้อมูลข่าวสารเลื่อนไหลจากกระดาษสู่หน้าจอ ข้อเขียนทางวิชาการสามารถหาอ่านได้แบบฟรีๆ นักวิชาการแต่ละคนมีพื้นที่ของตัวเองบนโลกออนไลน์ มิหนำซ้ำยังสื่อสารแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านได้โดยตรง การคงอยู่ของนิตยสารจึงถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็น

ในเมื่อภารกิจที่เคยตั้งไว้ ได้รับการเติมเต็มจากสื่อใหม่ จึงไม่มีเหตุให้ต้องฝืนทำต่อ — โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่ไม่มีกำไรสักบาท

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ‘วิภาษา’ ประกาศว่าจะออกฉบับที่ 74 เป็นฉบับสุดท้าย

ระยะเวลาสิบปี นานพอที่จะทำให้ใครหลายคนบ่นเสียดาย และอาจหมายถึงจากไปของนิตยสารเชิงวิชาการฉบับสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่บนแผง

“การสิ้นสุดของนิตยสาร วิภาษา มิได้ปิดตัวด้วยความรันทด หากด้วยความตื่นเต้นไปพร้อมๆ กับที่ได้เห็นสื่อใหม่ (New Media) ที่เป็นเวทีให้องค์ความรู้ต่างๆ แผ่ขยายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้แต่ platform ของ social network อย่างเฟซบุ๊กก็กลายมาเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการได้อย่างมีชีวิตชีวา…

“หากจะอยู่ถึงงานเลี้ยงเลิกราในยามที่แขกเหรื่อแยกย้ายกลับไป ก็คงจะหดหู่ไม่น้อย สู้แยกย้ายในยามที่อิ่มสำราญและบทสนทนากำลังมีรสชาติจะดีกว่า…”

ข้างต้นคือข้อความบางส่วนจากบทบรรณาธิการ ‘วิภาษา’ ฉบับสุดท้าย บ่งบอกถึงความเสียดาย แต่ไม่เสียใจ

101 นัดหมายกับ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ บรรณาธิการนิตยสารวิภาษา และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคุยถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจครั้งนี้ และย้อนทบทวนบทบาทตลอดสิบปีของ ‘วิภาษา’ พร้อมชวนวิพากษ์แวดวงวิชาการไทยแบบตรงไปตรงมา ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้มาค่อนชีวิต

 

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ต้องตัดสินใจปิดวิภาษา

การทำวิภาษา พูดกันตามจริงคือมันไม่เคยได้กำไร ไม่เคยมีผลตอบแทนในรูปตัวเงิน เพราะคนลงทุน (คุณธัญลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ์) เขาไม่ได้แคร์เรื่องผลตอบแทนหรือกำไรเลย จนถึงทุกวันนี้วิภาษาก็ยังขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเห็นว่าคนอ่านไม่ได้มากขึ้น เราก็มานั่งคิด เอ๊ะ เราทำอะไรผิดหรือเปล่า ถ้าเราอยากจะขยายฐานคนอ่าน เราควรทำอย่างไร ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ง่ายเลย

ในวันเวลาที่คนสามารถแชร์บทความในเฟซบุ๊ก ทางอินเทอร์เน็ต คนเขียนบทความวิชาการจำนวนมาก หลังจากเผยแพร่บทความผ่านวารสารแล้ว ก็สามารถเข้าเว็บเพื่อแจกจ่ายไฟล์ของตัวเองต่อได้ หรือบางคนก็เขียนลงเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย เขียนปุ๊บก็มีการแชร์กันต่อ แล้วบางเรื่อง บางสเตตัส ก็กลายเป็นเรื่องประเด็นสาธารณะในที่สุด สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งเดียวกับที่วิภาษาพยายามทำมาโดยตลอด ก็คือการเปิดพื้นที่

เราจึงมองว่าภารกิจของวิภาษาแง่นี้ มันเดินทางมาถึงจุดที่ควรจะยุติบทบาทลงได้แล้ว เพราะทุกวันนี้การเข้าถึงตำรับตำราสะดวกขึ้นมากแล้ว มีเว็บมากมายที่แจกหนังสือฟรี มีการแชร์ไฟล์กันจำนวนมหาศาล เราสามารถเข้าไปดาวน์โหลดหนังสือทั้งเล่มได้เลย ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คุณต้องรอคิวจากห้องสมุด ไม่ก็เอาไปซีร็อกซ์ หรือถ้าจะซื้อ original text สมัยก่อนก็เป็นหลักพัน นักศึกษาเข้าถึงได้ยากมาก

ยิ่งกว่านั้นก็คือการมีอีเมลกับเฟซบุ๊ก ซึ่งช่วยให้เราผู้เขียนกับผู้อ่านติดต่อกันได้ง่ายขึ้นมาก บางคนก็ติดต่อผู้เขียนโดยตรงเลยว่าขอไฟล์ได้ไหม ผู้เขียนก็ยินดีให้ เพราะว่าท้ายที่สุดเป้าประสงค์ของคนทำงานวิชาการ ก็คือการทำให้ความรู้แพร่หลาย ทำให้งานของตัวเองกระจายออกไปให้ได้มากที่สุด ได้รับถกเถียงแลกเปลี่ยนกันให้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่เราอยากทำ

เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะฝืนทำต่อในภาวะที่ขาดทุน และเราคิดว่าการทำงานในสิบปีที่ผ่านมา ก็เป็นการยืนยันเจตนารมณ์อยู่พอสมควรแล้ว ส่วนตัวผมเอง ก็เกรงใจเจ้าของทุนด้วย เพราะเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรในแง่มุมทางการค้าเลย

ตอนที่จะเลิกทำ แกยังบอกว่าจะทำต่อไหม ผมเองยังรู้สึกว่า “โหพี่ พอเหอะ สิบปีแล้ว” คือตอนที่เราทำกันครั้งแรก เราก็คุยกันว่าอยากให้วิภาษาอยู่ได้สักสิบปี ซึ่งก็ได้สิบปีจริงๆ

 

พูดได้อย่างเต็มปากว่าขาดทุนมาตลอด ?

ขาดทุนมาตลอดครับ (หัวเราะ) ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ถึงแม้จะเป็นวารสารที่วางขายในเชิงพาณิชย์ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็น non-commercial journal เพราะสิบปีที่ผ่านมา เราแทบไม่มีสปอนเซอร์ในรูปแบบของโฆษณาเลย ส่วนใหญ่คือใช้เงินทุนวิภาษาทั้งสิ้น ผมว่าแค่นี้ก็มหัศจรรย์แล้วครับ

คือเราไม่ได้เริ่มจากการค้า ไม่ได้เริ่มจากการหวังผลกำไรตั้งแต่แรก ซึ่งอันนี้ผมเองก็รู้สึกผิดนะ เพราะว่าใช้เงินพี่เขาไปไม่น้อย แต่มันเป็นข้อตกลง เป็นความผูกพันที่เห็นตรงกันว่า เออ-เราควรจะทำ

ต้องยอมรับว่าวิภาษาเป็นหนังสือที่อยู่ในโลกเก่า อยู่ในโลกของการพิมพ์ ใช้การผลิตซ้ำแบบกระดาษ แต่ในขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยน คนสามารถดาวน์โหลดบทความได้ คนสามารถที่จะเข้าถึงดิจิทัลฟอร์แมทขององค์ความรู้บางอย่างได้มากกว่าที่เราเคยอยากจะทำ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสมควรแก่เวลา และเราไม่ได้ฟูมฟายว่าวิภาษาจะล่มสลายเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจ

 

ตอนที่ตัดสินใจว่าจะปิด ปรึกษาหรือคิดกันนานไหม

คิดกันมาโดยตลอด เพราะถึงผมจะไม่ได้เป็นคนออกทุน แต่ผมก็มีหน้าที่ต้องตอบคำถามเจ้าของทุนอยู่เหมือนกัน ต่อให้เขาไม่เคยถามเลยสักครั้ง ผมก็ต้องตอบคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ขายได้มากกว่านี้?  จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะขาดทุน? แต่มันก็เป็นสิ่งที่ผมล้มเหลวมาโดยตลอด

เมื่อเราเป็นสำนักพิมพ์เอกชน และเป็นคนที่ทำงานโดยยึดความปรารถนาของเราเป็นหลัก การจะไปขอความช่วยเหลือจากภาคส่วนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะถ้าดูจากยอดพิมพ์แล้ว คุณไม่มีทางจะได้สปอนเซอร์เลย ยกเว้นว่าคุณจะมีคอนเน็คชั่น ขนาดหน่วยงานทางวิชาการที่เราไปขอความช่วยเหลือ ขอความเห็น เขาก็ยังไม่เคยช่วยเรา มีแต่เพื่อนนักวิชาการบางท่านที่เต็มใจช่วย กับบางหน่วยงานเอกชน อย่างเช่น สถาบันเกอเธ่

บางทีผมยังตกใจเลยครับ เวลาไปสอนหนังสือบางแห่ง แล้วเขาถ่ายเอกสารหนังสือผมทั้งเล่ม แจกนักศึกษาโดยที่เจ้าของสำนักพิมพ์ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย (หัวเราะ)

 

แล้วเป้าหมายต่างๆ ที่เคยตั้งไว้ ถือว่าสำเร็จไหม

จากเดิมที่เราคาดหวังว่าอยากจะได้แมกกาซีนซึ่งคนสามารถย่อยบนรถเมล์ได้ หรือนั่งอ่านบนเครื่องบินครึ่งชั่วโมงแล้วเข้าใจเนื้อหาบางอย่างได้ ปรากฏว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ยากจะสำเร็จ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว นักเขียนส่วนใหญ่ก็จะ ‘จัดหนัก’ มาทั้งนั้น และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่า นี่มันแมกกาซีนอะไร ทำไมอ่านแล้วปวดหัวจังเลย บางซีรีส์ใช้เวลาปีกว่าๆ ถึงจะจบ

หลังๆ ผมก็เลยขอผู้เขียนว่าอย่าให้เกินสองฉบับ เพราะถ้าเกินสองฉบับมันจะยากต่อการติดตาม คนที่ไม่ใช่คนตามประเด็นแท้ๆ ก็จะไม่อ่าน แล้วด้วยความที่เป็นแมกกาซีน ถ้าพิมพ์หนาไปต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ขายได้เท่าเดิม จะมีลิมิตตรงนี้อยู่เหมือนกัน

เวลาเจอนักเขียนหรือนักวิชาการที่ส่งงานมาแบบจัดเต็ม คุณมีวิธีสื่อสารหรือต่อรองกับพวกเขาอย่างไร

ใช้วิธีขอร้องครับ แต่ไม่เคยสำเร็จ (หัวเราะ) มันไม่ง่ายนะครับที่เราจะไปขอให้นักเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการซึ่งมีสไตล์การเขียนของตัวเอง ปรับวิธีการเขียนใหม่ อันนี้ยากมาก เราทำได้ดีที่สุดคือขอร้องว่าขอให้จบภายในสองเล่ม ซึ่งก็ดีขึ้นนะครับ ในช่วงหลังๆ ทุกคนก็เข้าใจ

ส่วนทางผู้อ่าน ก็มีส่งเสียงสะท้อนมาเหมือนกันว่า ขอสักสองตอนจบได้ไหม เพราะถ้านานไป บางทีพลาด อยู่ต่างจังหวัด ซื้อไม่ทันอ่านไม่ทัน นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง

นอกจากเรื่องพฤติกรรมการอ่าน-การเขียนที่เปลี่ยนไป กับเรื่องภาวะขาดทุน มีปัจจัยอื่นๆ อีกไหม

อีกปัญหาหนึ่งที่อาจเป็นเรื่องส่วนตัว ก็คือภาระของการเป็นบรรณาธิการ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมคิดหนักก็คือในระยะเวลาสิบปี ผมมีผลงานตีพิมพ์ของตัวเองค่อนข้างน้อย

ลึกๆ แล้วผมคิดว่าตัวเองก็ยังมีความปรารถนาส่วนตัวกับการผลิตงานเขียนของตัวเอง ที่ไม่ใช่ในฐานะบรรณาธิการบ้าง

 

หมายความว่า งานบรรณาธิการเบียดบังสมาธิในการเขียนงานส่วนตัว ?

มันดึงเวลาและพลังงานนะครับ ในแง่ของการที่ต้องมานั่งอีดิต ต้องมานั่งแก้ และมันน่าน้อยใจเหมือนกันว่าบรรณาธิการนี่แทบไม่มีราคาเลย ไม่มีเครดิตเลย ทั้งที่จริงๆ ทำงานหนัก บางทีอาจหนักกว่านักเขียนด้วยซ้ำ อย่างผมเอง เวลาเขียนหนังสือ ผมก็ต้องอาศัยคนอื่นช่วยอ่าน ช่วยติง ช่วยคอมเมนต์เช่นกัน

ผมมักจะหงุดหงิดทุกครั้งที่มีคนบอกว่า ก็เขียนๆ ไปเถอะ เดี๋ยวกอง บ.ก. ก็ช่วยปรู๊ฟเอง

ขอยกตัวอย่างงานของอาจารย์ไชยรัตน์ (เจริญสินโอฬาร) กับอาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) ต้นฉบับจะผิดน้อยมาก โดยเฉพาะอาจารย์เสกสรรค์ ต้นฉบับผิดน้อยที่สุด เพราะก่อนจะมาถึงมือผม แกปรู๊ฟแล้วปรู๊ฟอีก

ในขณะที่รุ่นหลังๆ ภาษาหลุดบ้าง สะกดผิดบ้าง เราก็ต้องมานั่งแก้ ถ้าเจอแบบนี้เยอะๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน เราอยากให้คนที่ทำงานวิชาการได้รู้ว่า งานที่ประณีตไม่ได้มาจากกอง บ.ก. อย่างเดียว ส่วนหนึ่งมันมาจากตัวคุณด้วย บรรณาธิการทำหน้าที่ปิดทองหลังพระ แล้วเป็นการปิดทองหลังพระที่ต้องรับผิดเป็นส่วนใหญ่ รับชอบนี่ไม่เท่าไหร่หรอก

 

ความท้าทายของบรรณาธิการนิตยสารวิชาการ คืออะไร

หลักๆ คือการตรวจสอบความถูกต้อง เขียนอย่างนี้ถูกไหม อันนี้ใช่หรือเปล่า ในทางวิชาการมีอะไรที่เสี่ยงต่อความผิดพลาดหรือไม่ แต่ถ้าเราตรวจไม่ได้ ก็ต้องขอให้คนอื่นช่วยดู เรียกว่าคณะผู้อ่าน ส่งให้เขาช่วยอ่านในสิ่งที่เราไม่ได้ชำนาญ ผมจะไม่ดึงดันใช้ความเห็นตัวเอง อย่างน้อยที่สุดถ้าเรารู้สึกแปลกๆ ก็จะขอให้เพื่อนๆ พี่ๆ ช่วยดูอีกที

 

แล้วการทำงานในช่วงเวลาที่สังคมไทยเกิดความขัดแย้ง เคยมีปัญหาในการคัดกรองต้นฉบับ หรือเคยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไหม

แน่นอนว่าผลจากความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้คนจำนวนหนึ่งเกิดความรู้สึกอ่อนไหวต่อหลายๆ ประเด็นได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน

วิภาษาในฐานะที่เป็นนิตยสารด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ก็หนีไม่พ้นจากเรื่องพวกนี้เหมือนกัน เราก็จะระมัดระวังเสมอว่ามีอะไรที่อาจเข้าเกณฑ์ที่สุ่มเสี่ยงทางข้อกฎหมายหรือไม่ หรือมีงานไหนที่เป็นอคติล้วนๆ หรือเปล่า แต่เอาจริงๆ ผมแทบไม่ต้องไปดูหรือแก้อะไรเลย เพราะส่วนมากผู้เขียนรู้อยู่แล้วว่าเราต้องการต้นฉบับประมาณไหน

สิ่งหนึ่งที่วิภาษายึดถือมาโดยตลอดก็คือ เราจะไม่ให้ใครมาพูดถึงเรื่องการเมืองโดยไม่มีหลักวิชาการ คุณจะเห็นอย่างไรก็ได้แต่ว่าคุณต้องอ้างอิงหลักวิชาการ เราอนุญาตให้พูดเรื่องการเมืองได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใครมาพูดเรื่อยเปื่อยโดยที่ไม่มีหลักวิชาการ

 

ถ้าให้มองย้อนกลับไป เห็นอะไรที่เป็นข้อผิดพลาดบ้าง

พอได้มาทำจริงๆ ก็ถึงรู้ว่ามันยากนะ แล้วเราก็ผิดพลาดไปเยอะเหมือนกัน คำว่าผิดพลาดก็คือเราอาจต้องปรับตัวเองใหม่ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีการจัดการมากขึ้น วิภาษามีคนทำงานที่เป็นหลักอยู่แค่สามคน และทุกคนก็โตมากับสื่อสิ่งพิมพ์แบบเก่า แม้วิภาษาที่พิมพ์ครั้งแรก จะมาในรูปที่เป็นเพลตดิจิทัลแล้ว แต่ว่าวิธีคิดบางอย่างเราก็ยังอยู่ในยุคเดิมอยู่

ขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะขีดจำกัดบางด้านได้ เช่น เราไม่สามารถทุ่มเวลาร้อยเปอร์เซ็นต์ให้กับวิภาษาได้ เพราะทุกคนต่างมีงานประจำ ทุกคนมีสิ่งที่ตัวเองรักอีกด้านหนึ่งอยู่ การทำวิภาษาแบบพาร์ทไทม์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันตกอยู่ในภาวะแบบนี้

ถามว่าเราทำแบบฟูลไทม์ได้ไหม โดยเงื่อนไขของผม ก็ตอบชัดๆ ว่าเป็นไปไม่ได้แน่ๆ ฉะนั้น ถ้าจะแก้ก็คงต้องไปหามืออาชีพมาทำ ตรงนี้ก็ต้องยอมรับขีดจำกัดของตัวเอง แต่เรื่องอื่นผมคิดว่าเราก็ได้ลองพยายามไปเกือบหมดแล้ว

 

แล้วถ้าถามในมุมของคนทั่วไป ทำไมเราต้องสนใจหรืออ่าน วิภาษา

สำหรับผม ทุกคนไม่ต้องมานั่งอ่านวิภาษา แต่ถ้าใครที่สนใจองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ก็ควรจะต้องอ่าน แต่ไม่ใช่ทุกคน

วิภาษา แปลว่า ทางเลือก พวกเราตระหนักตั้งแต่แรกว่าเราไม่ได้เป็นกระแสหลัก แต่เราเป็นทางเลือก เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งที่ช่วยให้คุณมองโลกอีกด้านหนึ่ง เรียนรู้จากความคิดของโลกร่วมสมัย ไม่ใช่ repeat ของเก่า ไม่ใช่ขายของเดิม ขณะเดียวกันก็พยายามเปิดพื้นที่ใหม่ๆ กระจายเนื้อหาไปสู่คนรุ่นใหม่ๆ ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

มีคอลัมน์หนึ่งชื่อว่า ‘From classroom’ เกิดจากความคิดที่ว่า เราอยากเห็นนิสิตนักศึกษาที่เขียนงานดีๆ ได้มีพื้นที่สำหรับตีพิมพ์งานบ้าง เพราะการที่นักศึกษาจะได้เขียนบทความลง journal ทางวิชาการ ถือเป็นเรื่องยากมาก ตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนแล้ว ต้องเป็นอาจารย์ดังๆ เก่งๆ เท่านั้นถึงจะตีพิมพ์ได้ จึงเปิดคอลัมน์นี้ขึ้นมาเพื่อตีพิมพ์งานของนักศึกษาหรือนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

 

ในฐานะของคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงวิชาการมาพอสมควร คุณคิดว่าอะไรคือปัญหาของแวดวงวิชาการไทยในปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่ผมมีปัญหามาโดยตลอดในช่วงหลัง และรู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ก็คือพวกนักวิชาการที่ตั้งตัวเองขึ้นมา ทำรายการวิทยุ รายการทีวี แล้วก็ออกความเห็นทางการเมืองโดยไม่มีหลักวิชาการใดๆ เลย

แง่หนึ่งผมรู้สึกว่า เออ ก็ดีเหมือนกัน ใครๆ ก็เป็นอาจารย์ได้ ใครๆ ก็เป็นนักวิชาการได้ มันเหมือนปลดปล่อย concept ของนักวิชาการไปเลยนะ แต่อีกแง่หนึ่ง ‘ปัญญาชนเอกชน’ เหล่านี้ก็ก่อปัญหาไม่น้อย เพราะบางท่านก็ออกความเห็นโดยไม่ได้มีหลักการ หรือไม่ได้แคร์กับความถูกต้องทางวิชากรใดๆ เดี๋ยวซ้ายเดี๋ยวขวา ได้หมด

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการ เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ทำงานอยู่ในแวดวงวิชาการโดยตรง อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่ต้องมีก็คือความรับผิดชอบต่อสถาบันที่ตัวเองสังกัด ถ้าผมไม่ผลิตงานวิชาการ ถ้าผมไม่ซื่อตรงต่อหลักวิชา ผมก็จะถูกชุมชนทางวิชาการปฏิเสธ แต่กับนักวิชาการอิสระบางท่านที่ออกทีวี ออกวิทยุ แล้วกระหน่ำด่านั้นคนนั้นทีคนนี้ที คนเหล่านี้สามารถอยู่อย่างสบายแล้วก็ไม่ต้องรับผิดใดๆ รับแต่ชอบในทางสังคม

ผมขอยกตัวอย่างข้อถกเถียงพื้นๆ เช่น การยกประเด็นว่า 2475 เกิดขึ้นเพราะคนจำนวนหนึ่งทะเยอทะยาน คิดว่าของฝรั่งดีกว่าของตัวเอง หรือเกิดขึ้นในวันเวลาที่คนไทยยังไม่พร้อม หรือมองว่าเป็นปัญหาเพราะว่านักการเมืองเลว คำถามคือทหารอยู่ตรงไหนในสมการนี้ ชนชั้นกลาง-นักธุรกิจอยู่ตรงไหนในสมการเหล่านี้ ทำไมคนที่รับผิดจึงจำกัดอยู่ที่นักการเมืองชั่วๆ เท่านั้น มันไม่มีข้าราชการชั่วๆ นักธุรกิจชั่วๆ ปัญญาชนชั่วๆ บ้างเลยหรือ ?

นี่เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเราต้องตระหนัก ว่าเราจะทำอย่างไรกับนักวิชาการรายวัน หรือปัญญาชนเอกชน ที่มีวาระบางอย่าง แล้วก็สามารถให้ความเห็นที่มีคนติดตามจำนวนหนึ่งโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทางการเมือง

 

แล้วส่วนตัวคุณมองว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ผมคิดว่าเราอาจต้องสงบจิตสงบใจลง แล้วกลับมาดู fact กันสักนิด มากกว่าที่จะใช้อคติ ใช้อารมณ์ หรือวาระทางการเมืองส่วนตัว นี่คือเรื่องใหญ่มากๆ ในรอบหลายปีมานี้

สังเกตได้ว่า การเคลื่อนตัวของขั้วทางการเมืองในรอบสิบกว่าปีมานี้ มันสลับกันอย่างสุดขั้วเลย ฝ่ายอนุรักษนิยมบางคนกลายเป็นฝ่ายก้าวหน้าอย่างสุดขั้วก็มี ทั้งที่โดยชาติตระกูล โดยจุดยืนทางการเมือง โดยพื้นเพทางสังคมของเขา เขาไม่ได้เห็นด้วยกับความเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่าคนเหล่านี้กลายมาเป็นตัวแปรที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง กลายเป็นคนที่ออกมาปกป้องหลักการบางอย่าง

แต่ในทางกลับกัน บางคนที่มีแบ็กกราวด์มาจากคนยากไร้ เคยจับอาวุธสู้กับรัฐไทยในยุคสมัยหนึ่ง กลับกลายมาเป็นคนที่ปกป้องบางสิ่ง ซึ่งผิดกับสิ่งที่เคยเป็นอย่างไม่น่าเชื่อ

อย่างบางคนที่เคยเป็นซ้ายสุดขั้ว แล้วกลายมาเป็นที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรีได้เนี่ย ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจมากๆ และก็อดคับข้องใจไม่ได้ ในแง่ที่พวกเขาใช้อคติของตัวเองมากกว่าหลักวิชา ใช้วาระทางการเมืองมากกว่าข้อเท็จจริง ซึ่งมันมีส่วนซ้ำเติมสถานการณ์ของสังคมให้เลวร้ายลงกว่าเดิม

แล้วการศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยวาทกรรมหลายชุดแบบนี้ ควรเป็นไปในทิศทางไหน

สิ่งที่ผมบอกกับนักศึกษาอยู่เสมอก็คือว่า ถ้าในทางเศรษฐศาสตร์ เราอาจประเมินผลงานของรัฐบาลได้ไม่ยาก ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ นโยบายดีหรือไม่ เพราะมันมีตัวชี้วัดที่แน่นอน แต่ถ้าเราจะประเมินผลทางการเมือง หรือมรดกทางการเมืองหลังจากรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เราจะประเมินอย่างไร นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย

อย่างกรณีที่ผ่านมาไม่นานนี้ เราสามารถเรียก ‘อีเปรี้ยว’ ว่าน้องเปรี้ยวและคุณเปรี้ยวได้ ทั้งที่เขาเป็นฆาตกรหั่นศพ แต่กับอีกหลายคดีที่เรายังไม่ทันได้สำรวจหลักฐานเอกสารอะไร เรากลับสามารถตราหน้านักการเมืองจำนวนหนึ่ง ตราหน้าปัญญาชนจำนวนหนึ่ง หรือตราหน้าคนที่ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนหนึ่งว่าเป็นไอ้นั่นไอ้นี่ได้ โดยที่เราไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นคนแบบไหน หรือมีความรับผิดชอบทางสังคมการเมืองทั้งในทางส่วนตัวและในทางสาธารณะอย่างไร

สิ่งนี้มันฟ้องเลยว่าอคติที่เกิดจากความเห็นต่างทางการเมืองนั้นมันยาก มันเยอะ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลดทอนอคติเหล่านั้นจนเหลือข้อเท็จจริงที่เพียงพอต่อการประเมินความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองได้อย่างถูกต้อง

ปัญหาคือเราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ความรู้ได้ทำงาน ยกตัวอย่างเช่น คุณบอกว่า 2475 มันเกิดขึ้นก่อนความเหมาะสมความพร้อมของสังคมไทย ลองไปดูสิครับว่าสภาพเศรษฐกิจตอนนั้นเป็นอย่างไร รัฐบาลรับมือไหวไหม จัดการได้ไหม แล้วที่รัฐบาลจะเตรียมการนู่นนี่นั่น เพียงพอกับการรับกับวิกฤตทางสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นหรือไม่

มีข้อเขียนของชนชั้นนำที่เป็นฝ่ายอำนาจนิยมจำนวนมากที่ยอมรับข้อเท็จจริงว่ามันไปไม่ไหวหรอก ระบบการเมืองในสมัยนั้นถึงจุดจบจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้ายอมรับความจริงแล้วถกเถียงกัน ผมคิดว่าไม่ยากที่จะทำความเข้าใจ แต่ถ้าเรายังเพิ่มความเกลียดชัง แล้วรู้สึกว่ายอมไม่ได้ หรือรับข้อเท็จจริงไม่ได้ เราก็คงต้องใส่แว่นสีชาๆ แบบนี้อีกพักใหญ่

 

สังคมไทยยังไม่กล้ายอมรับความจริง ?

เอาง่ายๆ นะครับ กว่าสังคมไทยจะยอมรับว่า 6 ตุลาฯ เป็นการกระทำโดยรัฐและทำความรุนแรงต่อประชาชน นั่นก็ใช้เวลาตั้งยี่สิบกว่าปี อย่างในปีก่อน ที่จะมีการจัดงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาฯ ยังแทบจะจัดไม่ได้ สิ่งนี้มันฟ้องว่าอะไร ?

หรืออย่างเหตุการณ์พฤษภาคม 35 ยังไม่ต้องถึง 53 เรายังไม่เห็นรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ว่าเกิดอะไรขึ้นเลยด้วยซ้ำ

 

ถ้าให้คุณประเมิน คิดว่ามีความหวังบ้างไหม           

ผมมีความหวัง เพียงแต่ว่าผมรู้สึกว่าน่าเสียดายที่เรามีบทเรียนเยอะแยะแล้วไม่ใช้ เราไม่เอาบทเรียนเหล่านั้นมาพิเคราะห์ว่าจะบรรเทาผลอันรุนแรงที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างไร ผมคิดว่านี่เป็นภารกิจของนักสังคมศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ที่จะต้องพูด ต้องเขียน เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดเราจะได้เข้าใจตัวเอง และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาโดยไม่ต้องใช้ต้นทุนซ้ำซาก

ความเปลี่ยนแปลงของทุกสังคมมาจากปัจจัยภายใน มากกว่าปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในที่เรามีขณะนี้ อาจยังไม่พอต่อความเปลี่ยนแปลง หรืออาจยังไม่เห็นทิศทางของความเปลี่ยนแปลง แต่ในที่สุด จะช้าจะเร็วก็ต้องเกิดขึ้น ผมเชื่ออย่างนี้

พลังทางสังคมกับพลวัตของสังคมต้องสมดุลกัน ถ้าไม่สมดุลกัน โอกาสที่ระบอบการเมืองจะพังทลายหรือเสื่อมทรามลงก็ย่อมเกิดขึ้นได้ นี่เป็นธรรมชาติของสังคมการเมืองโลก

ผมยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เป็นมหาอำนาจของโลก ตอนนี้ก็เสื่อมทรามลงด้วยปัจจัยภายใน จากผู้นำทางการเมืองเอง คุณจะเห็นว่าเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มอ่อนลงไปเยอะ นับจากก่อนเป็นประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเขาก็มีความพยายามปรับสมดุลเหมือนกัน

ในเกาหลีใต้ก็ค่อนข้างชัดเจน จากกรณีที่มีการถอดถอนปาร์ค กึน เฮ แล้วก็เลือกประธานาธิบดีใหม่ เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านี่คือวิถีของประชาธิปไตย พยายามทำให้สังคมเดินไปตามวิถีของกติกาที่วางไว้ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง แทนที่จะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

สังคมไทยก็ไม่ได้ปลอดพ้นจากเงื่อนไขเหล่านี้หรอก เพียงแต่ว่าจะช้าจะเร็ว อันนี้ตอบยาก แต่ผมไม่ได้สิ้นหวัง

 

ในภาวะบ้านเมืองแบบนี้ สิ่งที่นักวิชาการควรสื่อสารคืออะไร

ผมคิดว่าภารกิจนักวิชาการ ก็คือพูดไป เขียนไป ทำในสิ่งที่เราเชื่อ โดยยึดฐานความรู้ทางวิชาการ

อย่าง ‘วิภาษา’ มันก็ทำหน้าที่ทางปัญญาด้านหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของสังคม ปรัชญา องค์ความรู้ร่วมสมัย เรื่องพวกนี้เราทำมาโดยตลอด แต่ในเมื่อปัจจุบันขีดความสามารถของเทคโนโลยีมันทำให้เกิดอัตราเร่งบางอย่าง ซึ่งสามารถไปได้ไกลกว่าสิ่งที่เราอยากจะทำ เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องฝืนทำต่อ ส่วนตัวผมเอง แม้จะไม่ได้ทำวิภาษาแล้วก็ตาม แต่ผมยังพยายามสื่อสารความคิดผ่านช่องทางอื่นอยู่เสมอ เท่าที่ทำได้

 

แล้วถ้ามองไปยังนักวิชาการรุ่นใหม่ สามารถฝากความหวังได้ไหม

ได้ครับ เรื่องนี้ผมไม่ห่วงเลย พูดง่ายๆ ว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักวิชาการจำนวนไม่น้อย พยายามทุ่มเท ศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเราถึงสร้างความเกลียดชังกันได้ขนาดนี้ แล้วเราจะผ่านพ้นมันได้อย่างไร ผมคิดว่าแทบทุกฝั่งมีการศึกษาเรื่องนี้ แต่จะได้ผลอย่างไร เป็นเรื่องที่ยากเกินประเมินในขณะนี้

ผมเชื่อว่านักวิชาการยังคงทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ และพูดได้ว่าที่ทำกันทุกวันนี้ อาจเป็นภาระที่เกินปกติด้วยซ้ำ เพราะการออกมาแสดงความเห็นทางสังคมการเมืองหลายๆ ครั้ง เมื่อพูดอะไรตรงๆ ก็ไม่ได้เป็นผลบวกกับตัวเอง แต่เราก็ทำ เพราะมันเป็นหน้าที่ แล้วเราไม่ได้ทำเพื่อเอาใจใคร เราแค่รู้สึกว่าต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง ต้องให้ความเห็นทางวิชาการที่มีหลักอ้างอิงทางวิชาการได้กับสังคม ผมเห็นว่าพวกเราหลายคนก็ทำตรงนี้มาตลอด และอาจหนักเกินด้วยซ้ำไปสำหรับบางท่าน

 

นักวิชาการสามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนได้ไหม

ได้สิครับ ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะในต่างประเทศก็มีนักวิชาการที่แสดงความเห็นทางการเมืองตามจุดยืนของตัวเอง แล้วเขาก็พร้อมรับผลจากการแสดงจุดยืนทางการเมืองนั้นด้วย เพราะฉะนั้น การแสดงความเห็นทางการเมือง จุดยืนทางการเมือง ของนักวิชาการ ถือเป็นเรื่องปกติมากๆ แต่มันจะเริ่มไม่ปกติก็ต่อเมื่อสังคมไม่ปกติ

ธรรมชาติของวิชาชีพทำให้เราต้องพูดในสิ่งที่เห็นต่างกับคนอื่นอยู่แล้ว แต่นั่นคือหน้าที่ที่ต้องทำ เหมือนว่าเราเป็นแพทย์ทางสังคม-การเมือง เวลาเราไปหาหมอแล้วบอกว่าผมป่วย ผมไม่สบาย หมอก็จะบอกว่าคุณปวดตรงนี้ คุณเจ็บตรงนี้ เป็นเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นวิธีแก้คือแบบนั้นแบบนี้

ในทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ นักสังคมศาสตร์อาจเสนอทางออกได้ไม่ดีเท่ากับหมอหรอก แต่เราเป็นสาขาหนึ่งที่ศึกษาบทเรียนทางการเมือง ทางสังคม เศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรมมาไม่น้อย เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุด ถึงคุณจะไม่กินยาตามที่เราสั่ง แต่คุณช่วยฟังเราสักนิดก็ยังดี

ถ้าผมจะคาดหวังอะไรสักอย่างจากสังคมในฐานะนักวิชาการ ก็คงเป็นการรับฟังเท่านั้นเอง ไม่ต้องเห็นด้วยกับเรา แต่รับฟัง ในขณะเดียวกันพวกเราเองก็พยายามจะรับฟังความเห็นอื่นๆ ด้วย

ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วคนในสังคมก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางความคิดที่แตกต่างแบบนี้ คุณก็ต้องอยู่ในสายตาของผม ผมก็ต้องอยู่ในสายตาของคุณ เราต่างรู้ซึ่งการดำรงอยู่ของกันและกัน ไม่มีทางที่เราจะกีดกันใครออกไปจากการดำรงอยู่ในสังคมนี้ได้

 

 

 

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”box” background_layout=”light” text_orientation=”left” background_color=”#eaeaea” use_border_color=”off” border_color=”#969696″ border_style=”solid” custom_margin=”|10px||10px” custom_padding=”10px|10px|10px|10px”]

– สำนักพิมพ์ ‘วิภาษา’ ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2536 โดยกลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการรุ่นใหม่ ในวาระครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตีพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊คเชิงวิชาการ โดยเฉพาะในสายสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ก่อนจะแตกเป็น ‘นิตยสารวิภาษา’ ช่วงปลายปี 2549

– บัณฑิต จันทร์โรจน์กิจ คือผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เป็นผู้ตั้งชื่อ ‘วิภาษา’ และออกแบบโลโก้สำนักพิมพ์โดยใช้รูปนกฮูก อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีภูมิปัญญา

– นอกจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารวิภาษา และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขายังเคยเป็น กรรมการของคณะกรรมอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดของนายคณิต ณ นคร และหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจ “มรสุมชายขอบ” ทำงานร่วมกับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ในการค้นหาข้อเท็จจริงของเหตุนองเลือดในปี 2553

– แม้นิตยสารวิภาษาจะประกาศปิดตัวลงไปแล้ว แต่สำนักพิมพ์วิภาษา ยังคงดำเนินการผลิตพ็อกเก็ตบุ๊คเชิงวิชาการอยู่เช่นเดิม

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save