fbpx
สุดยอดรัฐโดดเดี่ยวที่ไม่ยอมคบใคร (หรือไม่มีใครคบ?)

4 สุดยอดรัฐโดดเดี่ยวที่ไม่ยอมคบใคร (หรือไม่มีใครคบ?)

เคยคิดกันไหมว่าถ้าสักวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไปยังประเทศอื่นๆ – ทุกประเทศ- ได้ รวมถึงเล่นเฟซบุ๊กก็ไม่ได้ เพราะว่าโดนปิดไปแล้ว หรือแม้กระทั่งการโทรไปหาเพื่อนที่ต่างประเทศก็ทำไม่ได้ เราจะทำยังไงกันต่อดี

 

เรื่องนี้คงตอบยาก หลายคนคงอ้ำอึ้งพูดอะไรไม่ออกเหมือนกัน แต่เชื่อเถิดว่าในโลกนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในสภาพแบบนี้จริงๆ…และเขาก็อยู่กันได้เสียด้วย

สิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญและอาศัยอยู่กันก็คือ รัฐโดดเดี่ยว (isolated states) นั่นเอง

วันนี้ เราจะพามาดูว่าปัจจุบันมีประเทศไหนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐโดดเดี่ยวบ้าง

 

แต่ก่อนที่จะไปดูว่ามีประเทศใดบ้างที่เข้าข่ายรัฐโดดเดี่ยว ต้องมาดูกันก่อนว่ารัฐโดดเดี่ยวหมายถึงอะไร

คำว่า ‘รัฐโดดเดี่ยว’ หมายถึงสังคมการเมือง (ส่วนมากคือในระดับประเทศ) ที่แยกขาดความสัมพันธ์กับโลก ไม่ว่าจะเป็นในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง (การทูต) สังคม ภูมิศาสตร์ ฯลฯ โดยการแยกขาดกันที่ว่านี้ อาจเกิดขึ้นในมิติใดมิติหนึ่ง หรือเกิดขึ้นทีเดียวทั้งหมดก็ได้ นอกจากมิติของการแยกขาดแล้ว ก็ต้องมาดูว่า แต่ละมิตินั้นจะมีความเข้มข้นในการแยกขาดมากแค่ไหนด้วย

มาดู 4 ประเทศ ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘รัฐโดดเดี่ยว’ กัน โดยทั้ง 4 ประเทศนี้ พิจารณาความโดดเดี่ยวจากตัวชี้วัด 5 ปัจจัย (5 factors scale) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย World Policy Institute (2012) ตัวชี้วัดดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับปัจจัย 5 ประการ ได้แก่ จำนวนประเทศที่สามารถเชื่อมต่อได้ด้วยเครื่องบิน ร้อยละของประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ร้อยละของประชากรที่เป็นผู้อพยพ และมูลค่าการนำเข้าต่อหัว

ประเทศที่เป็นสุดยอดรัฐโดดเดี่ยวมีดังนี้

 

ประเทศเกาหลีเหนือ (North Korea)

หลายคนคงไม่แปลกใจสำหรับประเทศนี้เท่าไหร่ เพราะท่านผู้นำทั้งสามรุ่นของประเทศนี้เล่นปิดประเทศต่อเนื่องจนเลย 50 ปีแล้ว ทำให้ประเทศโสมแดงนี้โดดเดี่ยวอย่างไม่น่าสงสัย

จากสถิติล่าสุด พบว่า ประเทศที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเกาหลีเหนือโดยสายการบินมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีประเทศจีนเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน เรียกว่าใครจะไปเกาหลีเหนือ ก็ต้องไปต่อเครื่องบินกันก่อน ไม่สามารถบินตรงได้

ส่วนร้อยละของประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต นั้นต้องบอกว่าไม่มีเลย พูดง่ายๆ คือ ไม่มีใครสามารถเข้าถึงเครือข่ายภายนอกประเทศได้เลย จะมีก็เพียงแต่หน่วยราชการลับเท่านั้น แต่ถึงอย่างนี้ก็ไม่ได้แปลว่าในประเทศเขาจะไม่มี social media ใช้นะครับ เพราะจริงๆ แล้วรัฐบาลก็ได้สร้างเครือข่ายอินทราเน็ตเอาไว้ใช้กันในประเทศ โดยประชาชนสามารถใช้งานได้ แถมยังเป็นเครือข่าย 3G แล้วด้วย อย่างไรก็ดี การใช้งานอินทราเน็ตบ้านเขาก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขมากมาย หนึ่งในนั้นคือ คนที่ใช้งานเครือข่ายจะต้องยอมรับการเข้าถึงข้อมูลโดยรัฐบาล ลักษณะเดียวกับการมี Big Brother จากหนัง 1984 คอยสอดส่องดูแลอยู่ตลอดนั่นแหละ

ส่วนต่อไปที่พิจารณาคือ ตัวเลขนักเดินทางที่เข้ามาในประเทศ จากข้อมูล พบว่าประเทศเกาหลีเหนือมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเพียง 32,000 คน ต่อปีเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อย หลายคนบอกว่าที่มีคนมาเที่ยวน้อยเพราะระเบียบที่รัฐบาลบังคับใช้กับนักท่องเที่ยวนั้นมีมากมายจุกจิกเหลือเกิน ถ้าเกิดเผลอพลั้งไปฝ่าฝืนโดยไม่ตั้งใจ ก็อาจโดนจับ และขังลืมอยู่ในคุกที่นั่นเอาง่ายๆ อีกส่วนหนึ่งก็คือ สายการบินที่เข้ามาในประเทศนี้มีน้อยเกินไป จนทำให้ผู้รักในการเดินทางและคาดหวังจะเดินทางรอบโลกต้องถอดใจไม่ไปเสียเอาดื้อๆ      

ในเรื่องสัดส่วนประชากรที่เป็นผู้อยพยพ พบว่ามีน้อยมาก คือมีเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น คาดว่าน่าเป็นนักธุรกิจที่เข้าไปทำธุรกิจ

ส่วนต่อมาที่ดูคือ มูลค่าการนำเข้าต่อหัว พบว่าประเทศเกาหลีเหนือมีมูลค่าการนำเข้าต่อหัวเพียง 144 ดอลลาร์ เท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยเอามากๆ ตัวเลขนี้หมายความว่าประเทศนี้ไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอกสักเท่าไหร่

 

ประเทศคองโก (Democratic Republic of Congo)

ประเทศคองโก เป็นประเทศในทวีปแอฟริกากลางที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ถึงแม้ว่าประเทศจะมีพรมแดนที่ติดต่อกับประเทศอื่นๆ จำนวนมาก แต่ก็กลับเป็นประเทศโดดเดี่ยว

จากข้อมูล พบว่าประเทศที่เชื่อมต่อกับประเทศคองโกด้วยสายการบินมีเพียง 12 ประเทศท่านั้น หลายคนคาดว่าอาจเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถรองรับการมาของชาวต่างชาติได้เท่าที่ควร หากจินตนาการไม่ออกว่าระดับการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานบ้านเขาเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่า เฉลี่ยแล้ว ถนนระยะทาง 100 กิโลเมตร จะมีไม่ถึง 1 กิโลเมตรเท่านั้นที่เป็นถนนลาดยาง นอกนั้นลูกรังหมด

ในส่วนของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ประชากรเพียงร้อยละ 1.20 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เคยมีผู้ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะโครงสร้างโทรคมนาคมบ้านเขายังไม่ครอบคลุม ประกอบกับประชาชนส่วนมากมีมีฐานะยากจน ไม่สามารถซื้อโทรศัพท์พวก smart phone ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

แต่ถ้ามาพิจารณาเรื่องคนเข้าประเทศ ก็ต้องบอกว่าดีกว่าประเทศเกาหลีเหนือถึงเท่าตัว เพราะคองโกมีคนเข้าประเทศต่อปีถึง 75,000 คน แต่ก็นับว่ายังน้อยอยู่ดี ส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศนี้ยังมีนักท่องเที่ยวมาน้อยในแต่ละปี เพราะว่าภายในประเทศยังเกิดสงครามกลางเมืองอยู่ ทำให้เกิดความรุนแรงที่เป็นภัยต่อนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี  ใช่ว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวเลย แต่ต้องค้นข้อมูลและเลือกดีๆ หน่อย ประเทศนี้เพิ่งประกาศอิสรภาพจากเบลเยี่ยมได้ไม่นาน และเริ่มกระบวนการพัฒนามาไปไม่ถึง 40 ปีนี้เอง ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามยังหลงเหลืออยู่มาก แต่ถ้าจะไปจริงๆ ก็ควรติดต่อบริษัททัวร์เอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

ประเทศนี้มีสัดส่วนประชากรที่เป็นผู้อพยพจากนอกประเทศเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้น เรื่องนี้นับว่าไม่แปลกใจเท่าไหร่นัก เพราะว่าบ้านเมืองเขายังไม่สงบ ยังมีกลุ่มกบฎอยู่ทั่ว

ในเรื่องของมูลค่าการนำเข้า ประเทศคองโกมีมูลค่าการนำเข้าต่อหัวเพียง 129 ดอลลาห์ต่อปีเท่านั้น มากกว่าเกาหลีเหนืออยู่นิดนึง

 

ประเทศไนเจอร์ (Republic of Niger)

ประเทศนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาเช่นกัน ร้อยละ 80 ของพื้นที่นั้นปกคลุมด้วยทะเลทราย ไนเจอร์มีตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ปิดล้อม (landlock) กล่าวคือ ไม่มีชายแดนส่วนไหนของประเทศที่เชื่อมต่อกับทะเลเลย นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศนี้ตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวก็เป็นได้

จากข้อมูล พบว่าไนเจอร์สามารถเชื่อมต่อกับประเทศอื่นทางเครื่องบินได้เพียง 9 ประเทศเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าไนเจอร์เคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และเพิ่งได้รับอิสรภาพเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ภายหลังจากได้รับอิสรภาพ ก็เกิดความรุนแรงทางการเมืองอีกหลายระลอก ส่งผลให้มีการปกครองในรูปแบบเผด็จการที่ยาวนาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า และไม่อาจเทียบทันประเทศเพื่อนบ้านได้ ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้โครงสร้างคมนาคมต่างๆ รวมถึงสนามบินไม่มีความพร้อมในการรองรับการมาเยือนของบุคคลภายนอก

ในด้านของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่าไนเจอร์จะเป็นประเทศแรกในกลุ่ม sub-saharan ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่พบว่ามีประชากรเพียงร้อยละ 1.30 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก เพราะระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แทบไม่มีความพร้อมแต่อย่างไร รัฐบาลเพิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านโครงสร้างในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง

ส่วนเรื่องจำนวนคนที่มาเยี่ยมชมประเทศ พบว่า ในปีๆ หนึ่งมีคนราว 66,000 คนเท่านั้นที่เข้ามาไนเจอร์ ซึ่งถือว่าน้อยอย่างยิ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะนักท่องเที่ยวไม่กล้ามากัน ถึงแม้ว่าที่ไนเจอร์จะมีธรรมชาติและสรรพสัตว์อันงดงามให้นักท่องเที่ยวได้ค้นพบก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะประเทศไนเจอร์นั้นไม่ค่อยมีเสถียรภาพทางการเมือง เกิดการรัฐประการ การกบฎบ่อย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศเข้ามากบดานอยู่อีกด้วย และหลายครั้ง กลุ่มผู้ก่อร้ายเหล่านี้มักลักพาตัวและฆ่านักท่องเที่ยวผิวขาว พวกที่มาประเทศนี้จึงเป็นนักธุรกิจค้าเพชรค้าพลอยเสียมาก เพราะไนเจอร์นั้นอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และเต็มไปด้วยการทำเหมือง รายได้จากการทำเหมือนนี้เป็นส่วนที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับต้นๆ

ในด้านสัดส่วนประชากรที่เป็นคนต่างชาติ พบว่าไนเจอร์มีประชากรอยู่ร้อยละ 1.3 เท่านั้น เนื่องมาจากเหตุผลเรื่องความไม่สงบในบ้านเมืองเขานั่นเอง จึงทำให้คนต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัย

ส่วนเรื่องมูลค่าการนำเข้า ประเทศไนเจอร์มีมูลค่าการนำเข้าต่อหัวอยู่ที่ 138 ดอลล่าร์ต่อปีเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วประชากรในประเทศยังอยู่ในภาวะยากจนและยังไม่พร้อมที่จะมีการค้าแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศ

 

ประเทศติมอร์เลสเต (Democratic Republic of Timor-Leste)

ประเทศนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย จนถึงปี 1999 จึงได้แยกตัวออกมา ในปี 2002 มีการรับรองสภาพเป็นรัฐเอกราชจากนานาชาติ อย่างไรก็ดี หลังจากได้รับเอกราช ประเทศติมอร์-เลสเตกลับต้องเผชิญความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง จนทำให้รัฐบาลประสบปัญหาการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดปัญหาความยากจน และปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมามากมาย

ประเทศที่เชื่อมโยงกับประเทศติมอร์-เลสเตโดยเครื่องบินมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขเท่ากับประเทศเกาหลีเหนือ มีคนให้เหตุผลว่า เพราะประเทศนี้ยากจนเอามากๆ จนไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานอะไรได้เลย ว่ากันว่าในปี 2013 สนามบินทั้งเล็กทั้งใหญ่ที่นับได้ในประเทศนี้มีเพียง 6 แห่งเท่านั้น

ถ้าไปดูในส่วนของการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต พบว่าประเทศนี้ยังมีการพัฒนาโครงสร้างโทรคมนาคมไปไม่ได้ไกลมากนัก ส่วนหนึ่งก็มาจากการดำเนินของนโยบายใน mega project ต่างๆ ที่ไม่ค่อยมีความต่อเนื่องเท่าไหร่นัก โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนามคมจึงมีไม่ครอบคลุม จากข้อมูลมีประชากรร้อยละ 0.90 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

ในด้านของนักท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศนี้ยังเกิดความรุนแรงทางการเมืองอยู่เนืองๆ พูดง่ายๆ คือยังไม่สงบพอที่จะทำอะไรได้ ก็เลยทำให้บุคคลภายนอกไม่กล้าไปเยือนมากเท่าไหร่ แต่ละปีจะมีคนเข้ามาเยี่ยมชมประเทศนี้ประมาณ 40,000 คนเท่านั้น

ส่วนประชากรที่เป็นชาวต่างชาติ ติมอร์-เลสเต มีประชากรถึงร้อยละ 1.2 ที่เป็นชาวต่างชาติ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศนี้ดึงดูดให้ชาวต่างชาติพอสมควร ตอนนี้ เศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการทำอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (ประเทศนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาตินำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงอยู่อีกมาก) แต่ก็ต้องดูในระยะยาวว่ารัฐบาลจะเอาจริงกับนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ติมอร์-เลสเต มีมูลค่าการนำเข้าต่อหัวถึง 586 ดอลล่าห์ต่อปี ทำให้เห็นว่าบุคคลภายในประเทศมีกำลังในการแลกเปลี่ยนสินค้ากับภายนอกประเทศ และในอีกทางหนึ่งคนในประเทศนี้ก็เริ่มติดต่อกับคนภายนอกมากขึ้น อีกไม่นานคงมีหวังที่ประเทศนี้จะหลุดออกจากโผประเทศโดดเดี่ยวได้

 

เราจะเห็นลักษณะร่วมกันของประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐโดดเดี่ยวคือ ประเทศเหล่านี้มักถูกมองว่ายังไม่พัฒนาในสายตาตะวันตก (ส่วนมากอยู่ในทวีปแอฟริกา) ที่สำคัญคือ ไม่ค่อยมีเสถียรภาพทางการเมืองภายใน อาจจะยกเว้นประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งการเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพ (แต่การเมืองระหว่างประเทศนี่คนละเรื่องกันเลย เพราะชอบท้ารบกับชาวบ้านไปทั่ว)

นักวิชาการหลายคนชี้ว่า เสถียรภาพการเมืองภายในมักเป็นปัจจัยตั้งต้นที่ทำให้หลายๆ ประเทศเดินทางไปสู่ความเป็นรัฐโดดเดี่ยวได้ ทั้งนี้ เขาได้ให้เหตุผลไว้สองประการ ดังนี้

ประการแรก คือ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมักทำให้เกิดความรุนแรงและสามารถชะงักการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งความล่าช้าในการพัฒนาก็จะส่งผลไม่ให้ประเทศนั้นตามเพื่อนๆ ไม่ทัน ตัวอย่างที่ดี คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามบิน และโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศในทวีปแอฟริกานั่นเอง ซึ่งเมื่อพลาดโอกาสที่จะได้พัฒนาประเทศให้เทียบทันกับนานาประเทศ การติดต่อเพื่อนบ้านหรือประเทศค้าขายอื่นๆ ก็จะลำบาก ถึงแม้ว่าอยากติดต่อก็ตามที และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไม่พร้อม ประเทศอื่นๆ ก็ไม่กล้ามาลงทุน ลงแรง เพราะต้องจ่ายค่าเสียโอกาสเยอะกว่าการลงทุนในประเทศที่มีโครงสร้างที่พร้อมกว่า ความด้อยพัฒนาของประเทศในด้านนี้จึงทำให้ประเทศอื่นไม่เหลียวแล

ประการที่สอง คือ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมักทำให้เกิดระบอบการเมืองแบบเผด็จการ และเมื่อประเทศได้เข้าไปสู่ระบอบเผด็จการแล้ว ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตามมานั่นคือ รัฐมหาอำนาจ รวมถึงชุมชนระหว่างประเทศส่วนมากที่นิยมอุมการณ์ประชาธิปไตยมักจะดำเนินนโยบายทางฑูต โดยใช้มาตรการโดดเดี่ยวประเทศที่เป็นเผด็จการเพื่อหวังให้ประเทศนั้นคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ แทบทุกประเทศก็มีสิทธิได้เป็นประเทศโดดเดี่ยวได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถบริหารความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศของตนได้อย่างไร

เอ…แล้วประเทศแถวๆ นี้ล่ะ!

 

เอกสารอ้างอิง

บทความเรื่อง Anatomy: World’s Most Isolated Countries โดย World Policy Institute

ข้อมูลพื้นฐานของประเทศเกาหลีเหนือ

ข้อมูลพื้นฐานของประเทศไนเจอร์

ข้อมูลพื้นฐานของประเทศคองโก 

ข้อมูลพื้นฐานของประเทศติมอร์-เลสเตร์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save