fbpx

“สนามเด็กเล็ก” : ทุกข์หรือสุขของพ่อแม่

ชีวิตเด็กเล็กสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การเป็นพ่อแม่ของเด็กสักคนยิ่งยากกว่า

แม้โลกนี้จะเต็มไปด้วยการแข่งขัน แต่การแข่งขัน ‘สอบเข้า ป.1’ ในระดับที่มีเด็กสมัคร 3,000 คน รับเพียงแค่ 100 คน ย่อมไม่ใช่การแข่งขันธรรมดา แต่เป็นปรากฏารณ์ที่บอกถึงความทุกข์ของพ่อแม่ ภาระของเด็ก และความบูดเบี้ยวของโครงสร้างทางสังคม

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ พ่อแม่ย่อมหวังให้ลูกได้รับสิ่งดีๆ เท่าที่จะหาได้ โดยเฉพาะเมื่อคนมีลูกน้อยลง พ่อแม่ยิ่งทุ่มให้กับลูกมากขึ้น กระนั้น สิ่งที่มาพร้อมกับความรักและความหวังดีคือ ความกังวลใจ ชีวิตจริงของพ่อแม่จำนวนมากจึงมักต้องเผชิญกับหลากปัญหาหลายคำถามตั้งแต่ลูกน้อยลืมตาดูโลก

ในสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำที่สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตดีๆ ไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน ความรัก ความคาดหวัง และความกังวลใจของพ่อแม่ เลยต้องบิดเบี้ยวตามโครงสร้างทางสังคมไปด้วย เมื่อเด็กเล็กที่ควรได้วิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นตามพัฒนาการ กลับต้องมีชีวิตอยู่ในสนามสอบเพื่อเอาชนะเด็กรุ่นเดียวกัน และจับจองที่นั่งในโรงเรียนดัง หวังจะปูทางสู่อนาคตอันรุ่งโรจน์

ลึกๆ พ่อแม่หลายคนก็ตั้งคำถามว่านี่ใช่หนทางที่ถูกต้องแน่หรือ กระนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะมีทางเลือก

Spotlight #สนามเด็กเล็ก จะเจาะประเด็นเด็กเล็กอย่างรอบด้าน ตั้งแต่เรื่องการเลี้ยงลูกตามพัฒนาการเด็ก, สำรวจ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย, วิวาทะว่าด้วยการสอบเข้า ป.1, เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเด็กปฐมวัย, เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก, ความกังวลของพ่อแม่ยุคใหม่, การแข่งขันหาโรงเรียนให้ลูก, เด็กเล็กกับการอ่านที่ไม่ใช่แค่การสะกดคำ, การ์ตูนที่จะพูดแทนใจพ่อแม่และเด็กในปัจจุบัน ฯลฯ

 

เปิดโลก ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ทารกมีความทรงจำหรือไม่? เด็กเรียนรู้ภาษาได้อย่างไร? ลูกมีเพื่อนในจินตนาการถือว่าแปลกไหม? ทำไมเด็กมักเดินเข้าหาปลั๊กไฟหรือบันได?

สำหรับพ่อแม่การทำความเข้าใจโลกใบใหม่ของลูกคล้ายดินแดนพิศวงที่เต็มไปด้วยคำถาม แต่ละวันมีเรื่องใหม่ให้เรียนรู้และคำถามใหม่ๆ ไม่รู้จบ

บทความแรกในซีรีส์ ‘สนามเด็กเล็ก: ทุกข์หรือสุขของพ่อแม่’ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ ‘จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา’ โดยตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจสำหรับพ่อแม่เพื่อเข้าใจโลกของเด็ก นำไปสู่การเรียนรู้เรื่องพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด

“หนังสือเล่มนี้ให้ความหวังและกำลังใจเช่นเดียวกับที่ผมพยายามบอกกล่าวเสมอมา นั่นคือพ่อแม่จะเป็นใครก็ได้ ผู้เลี้ยงคือพ่อแม่ตัวจริง หากเด็กขาดพ่อแม่เพราะเหตุผลใดก็ตาม ใครสักคนควรก้าวออกมาทำหน้าที่แม่”

“สมองของเด็กปัจจุบันเริ่มต้นด้วยการอ่าน เขียน และคำนวณเป็นพื้นฐาน ก่อนจะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนคิดวิเคราะห์ นี่คือโครงร่างอย่างง่ายๆ

“แต่ปัญหาของบ้านเราคือ เราทำลายโครงร่างอย่างง่ายๆ นี้ด้วยระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ได้อย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้วันนี้คือเด็กไทยอ่านไม่ออก อ่านจับใจความไม่ได้ เขียนไม่ได้ เขียนไม่รู้เรื่อง ไปจนถึงคิดเชิงตรรกะไม่ได้และคิดวิเคราะห์ไม่เป็น”

 

101 Side-Seeing EP.2 : ก้าวต่อไปของ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย

 

โดย 101world

‘101 Side-Seeing’ Ep.2 : บุก Big bad wolf ถามพ่อแม่คิดอย่างไรกับการสอบเข้า ป.1

พันธวัฒน์ กับปาณิส พาไปตะลุยงาน ‘Big bad wolf 2019’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ว่ากันว่า นี่คือมหกรรมหนังสือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยหนังสือในสต็อกมากกว่าล้านเล่ม หมุนเวียนไปจัดยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับงานครั้งล่าสุดนี้ มีความพิเศษตรงที่มี ‘หนังสือเด็ก’ ในสัดส่วนที่มากกว่าครั้งก่อนๆ ซึ่งแน่นอนว่า ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของงานนี้ ก็คือกลุ่มพ่อแม่ที่พาลูกๆ มาเลือกซื้อหนังสือกันแบบยกครอบครัว

ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่ถกเถียงในช่วงหลายเดือนมา คือเรื่อง พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเกี่ยวพันกับวิธีการคัดเลือกเด็กเข้า ป.1 หลายฝ่ายพยายามจะผลักดันให้ยกเลิกการสอบเข้า ป.1 แต่ดูเหมือนจะยังไม่ถึงฝั่งฝัน

ในคลิปนี้ พันธวัฒน์กับปาณิส ไปตระเวนคุยกับตัวแทนพ่อแม่จำนวนหนึ่งว่าพวกเขามองหาหนังสือแบบไหนให้ลูกๆ และพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่เพิ่งประกาศใช้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการผลักดันให้ยกเลิกการสอบเข้า ป.1

 

Heart of Early Childhood : หัวใจของวัยอนุบาล

 

โดย 101world

เด็กเล็กวัยอนุบาลวิ่งเล่นหกล้มร้องไห้ ไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจ แต่ถ้าเด็กวัยนี้ต้องร้องไห้เพราะถูกบังคับให้ท่องจำ เรียนพิเศษ ทำการบ้าน นั่งหลังขดหลังแข็งเป็นชั่วโมงๆ เพื่อการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้น ป.1 ไม่น่าใช่ความปกติ!

ยังไม่นับว่าความเครียดและการเสียน้ำตาดังกล่าวจะส่งผลต่ออนาคตชีวิตเด็กๆ อย่างไร หากว่ากุลบุตร-กุลธิดา สอบไม่ผ่าน, แล้วใครคือผู้ร้ายที่ซ่อนอยู่ในน้ำตาเด็กน้อยเหล่านั้น, พ่อแม่ ? ครู ? โรงเรียน ? ตัวเด็ก ? ครอบครัว ? เวรกรรม ? ฯลฯ

เปล่าประโยชน์จะหาตัวผู้กระทำผิดแล้วจับมาประณามลงโทษ ทว่าหากเราๆ ท่านๆ เห็นพ้องตรงกันว่าเบ้าหลอมที่ดีและเหมาะสม จะสร้างเด็กเล็กให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าท่า ก็ควรกลับมาที่โจทย์ว่าเบ้าหลอมแห่งพัฒนาการของเด็กปฐมวัย อยู่ที่ไหน การสอบแข่งขันอย่างที่เป็นอยู่ใช่คำตอบสุดท้ายหรือยัง

101 ชวนเปิดใจคนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัย ในเรื่อง ‘Heart of Early Childhood : หัวใจของวัยอนุบาล’ หนึ่งในซีรีส์ ‘สนามเด็กเล็ก : ทุกข์หรือสุขของพ่อแม่’ ประจำเดือนกันยายน

 

เปิดรับสมัคร Workshops : เคล็ดลับวิธีรักลูก สไตล์ ‘พ่อแม่รังแกฉัน’

 

โดย 101world

พบกับ 2 เคล็ดลับ สุดพิเศษ
เฉพาะสำหรับพ่อแม่ที่กำลังส่งลูกเข้าสอบ ป.1 !!!

การันตีผลงาน ปัจจุบันเด็กปฐมวัยมีภาวะเครียดจากการต้องเร่งสอบเข้า ป.1 ซึ่งอัตราการแข่งขันเข้าสอบในโรงเรียนดังของประเทศไทย อยู่ที่ 1 ต่อ 20

(เด็กปฐมวัยมีภาวะเครียดจากการต้องเร่งเรียนเพื่อสอบ ป.1 ซึ่งอัตราการแข่งขันเข้าสอบในโรงเรียนดังของปะเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 20)

มากไปกว่านั้น จากการศึกษาพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ยังชี้ให้เห็นว่า เด็กเล็กของไทยยังมีพัฒนาการไม่สมวัยกว่า 32.5% ซึ่งเป็นการวัดผลจากจากพัฒนาการ 4 ด้าน ทั้งด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้านภาษา และด้านสังคมและการช่วยเหลือตัวเอง

 

เสียงที่เราไม่ได้ยิน : เมื่อรอยต่อวัยอนุบาล – ชั้นประถม เริ่มปริร้าว

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“ความหมายของโรงเรียนอนุบาลชั้นดีในศตวรรษที่ 21 คุณภาพไม่อยู่บนฐานของการอ่านออกเขียนได้อีกต่อไปแล้ว แต่อยู่บนฐานการเรียนรู้ประเด็นสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความเป็นพลเมือง ทักษะชีวิต ไอที ตัวชี้วัดของโรงเรียนที่มีคุณภาพเปลี่ยนไปแล้ว” – นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน

วัยเด็กอนุบาลมีรายละเอียดมากมายให้บรรดาพ่อๆ แม่ๆ กังวลไม่จบสิ้น หนึ่งในความกังวลนั้นคือการพาลูกไป ‘สอบเข้า ป.1’ ซึ่งถ้าสอบผ่าน รอยยิ้มของครอบครัวก็สว่างไสว แต่หากสอบไม่ผ่าน นอกจากไม่เกิดรอยยิ้มแล้ว ความคาดหวังที่กลายเป็นความผิดหวัง อาจเป็นบาดแผลที่ประทับอยู่ในใจเด็กไปตลอดกาล

คำถามคือถ้าสังคมไทยกำลังมองหาอนาคตให้เด็กร่วมกัน การสอบเข้า ป.1 ไปจนถึงการกดดันเด็กในสารพัดสนามแข่งขัน เพียงเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของพ่อแม่ จะยังสามารถมีอนาคตอยู่หรือไม่

101 รวบรวมทัศนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย ว่าอะไรคือโลกของ ‘ปฐมวัย’ ที่ใหญ่กว่าการสอบเข้า ป.1 และอะไรคือทางออกจากความเชื่อเก่า เมื่อ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 กำลังบังคับใช้

“เราจนปัญญาจริงๆ แล้วหรือที่จะบอกว่ามีวิธีเดียวบนโลกใบนี้ที่จะคัดเด็กเข้าไปนั่งเรียนในที่ๆ มีเก้าอี้น้อย น่าสงสารไหมที่เราจะกระทำกับเขาแบบนั้น ถ้าเราเชื่อมั่นว่าโรงเรียนดี ครูดี ก็ย่อมจะรับเด็กไปเรียนรู้ได้เช่นกัน เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน เด็กอาจจะทำข้อสอบแบบฝึกหัดได้จริง แต่เขาปรับตัวกับเพื่อนได้หรือเปล่า มีความรับผิดชอบไหม มีความมุ่งมั่นไหม สิ่งเหล่านี้เป็น soft skill สำหรับโลกอนาคต” – ‘ครูหวาน’ ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย และกรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย

“แทนที่ร่างกายเขาจะได้ไปออกกำลังกาย กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่เขาจะได้พร้อมใช้งานเมื่อเข้าสู่ ป.1 แต่พอจะไปสอบเข้า ทุกบ้านก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ลูก เราขโมยเวลาที่แสนสำคัญในวัยเยาว์เขาไปหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ไปให้ความสำคัญกับสติปัญญาก่อนที่ร่างกายเขาจะพัฒนา ร่างกายเขายังวิ่งไม่เต็มที่ เดินตุปัดตุเป๋เซไปเซมา กล้ามเนื้อมือยังจับดินสอไม่ถนัดเลย” – ‘ครูเม’ เมริษา ยอดมณฑป

 

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง : ความป่วยไข้ของการศึกษาปฐมวัย และกับดักใน ‘สนามเด็กเล็ก’

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“การสอบเข้า ป.1 ไม่ใช่เชื้อโรค มันคืออาการป่วย เชื้อโรคมันอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพ ถ้าผมเป็นผู้ปกครอง ผมควรจะรู้สึกว่า ถ้ามีอยู่ 100 โรงเรียน มันควรมีสัก 80 โรงเรียนที่ลูกผมเข้าได้แล้วผมโอเค มีแค่ 20 โรงเรียนที่ผมต้องหลีกเลี่ยง แต่สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันตรงกันข้าม”

ข้างต้นคือทรรศนะของ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เขาคือนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย และมุ่งศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ ‘RIECE Thailand การศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ’​ ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีต้นทุนชีวิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ท่ามกลางข้อถกเถียงว่าแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยของไทยจะก้าวไปทางไหน 101 ชวน ดร.วีระชาติมาสนทนายาวๆ ว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ ไล่ตั้งแต่ประเด็นของ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย การยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ไปจนถึงมิติที่เชื่อมโยงกันระหว่างการพัฒนาเด็กปฐมวัยกับการลดความเหลื่อมล้ำ

“ปัญหาหลักคือช่วงรอยต่อระหว่างอนุบาลกับประถม นี่คือช็อกที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับวัย จากที่เด็กได้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ได้เล่น ได้สนุกมาตลอดในช่วงอนุบาล พอเข้า ป.1 ปุ๊บ ส่วนใหญ่ต้องนั่งโต๊ะเรียนนิ่งๆ โจทย์สำคัญที่หลายภาคส่วนต้องมาช่วยกันคิด คือจะทำยังไงให้ช่วงรอยต่อตรงนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสมสำหรับเด็กจริงๆ

ตราบใดที่นิยามใน พ.ร.บ.ยังขยายไปไม่ถึง 8 ขวบ เราจะแก้ปัญหาช่วงรอยต่อนี้ไม่ได้เลย ถ้าเป็นไปได้มันควรครอบคลุมไปถึง 8-9 ขวบให้ได้ เทียบง่ายๆ คือไปให้ถึง ป.3 หลังจากนั้นเราจะสบายใจมากขึ้น เพราะเด็กเริ่มโตขึ้น มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ถึงจุดนั้นถ้าเขาจะต้องถูกบังคับให้นั่งนิ่งๆ หรือทำอะไรที่เหมือนผู้ใหญ่ ก็เป็นวัยที่น่าจะเหมาะสมมากขึ้น”

“ผมเองก็เป็นผู้ปกครองคนหนึ่งในกรุงเทพฯ พบว่าการจะเอาลูกเข้า ป.1 นี่มันยากมาก กลายเป็นว่าทุกวันนี้ โรงเรียนของรัฐในบริเวณกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นทางเลือกมากเท่าที่ควร

มันน่าเศร้าตรงที่โรงเรียนของรัฐที่คนสนใจจะไปเรียน กลับมีอยู่ไม่กี่ที่ เช่น โรงเรียนสาธิตต่างๆ ซึ่งเอาเข้าจริง โรงเรียนเหล่านี้แหละที่คนไปสอบแข่งกันเยอะๆ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักการการศึกษาของประเทศนี้ ถ้าบอกว่าการสอบเข้า ป.1 ผิด โรงเรียนกลุ่มนี้แหละคือคนที่กำลังทำผิดที่สุด

คำถามง่ายๆ คือ ถ้าเรายอมรับในหลักวิชาการว่าการสอบแข่งขันเข้า ป.1 เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ทำไมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับนี้ จึงไม่เป็นที่แรกที่ยืนหยัดขึ้นมา แล้วก็บอกว่าเราจะไม่ทำ”

“สิ่งที่ผมอยากจะนำมาสู่วงการการศึกษามากขึ้น คืองานวิจัยและความรู้ในด้านการศึกษาที่เป็นเชิงปริมาณ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่แค่หลักการล่องลอย

ผมรู้สึกว่าคนในแวดวงการศึกษาเขามีหลักการอยู่มากมาย แต่บางอย่างมันควรยึดข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่านี้ ใช้ตัวเลขมากกว่านี้ อะไรที่วัดได้ เอามาวัดกันหน่อยไหม ผมอยากจะเห็น evidence-based education policy หรือการถกเถียงในเชิงการศึกษาที่ไม่ใช่แค่อุดมคติ ไม่ใช่แค่ว่าฉันชอบแบบนี้ คุณชอบแบบนั้น”

 

ฝ่ามรสุมตีตราเด็ก กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“สภาพอนุบาลบ้านเรา ทารุณกรรมกันมาก เป็น national child abuse อย่างถูกกฎหมาย

“เราติดกับดักวาทกรรมอยู่ 2-3 ประโยคมาครึ่งศตวรรษแล้วกระมัง ข้อแรกคือ ‘เราทำไม่ได้หรอก’ ลองถ้าผู้บริหารระดับสูงพูดเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรเหลือ ไม่ต้องทำงานทำการกันพอดี

อย่ามาพูดว่าทำไม่ได้ เรื่องจริงคือเราไม่ยอมทำ ด้วยสาเหตุทั้งที่พูดได้และพูดไม่ได้ ที่พูดได้คือมีหลายระบบได้ประโยชน์จากระบบสอบเข้า ป.1 และจากสภาพที่โรงเรียนมีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน

วาทกรรมที่สองคือ ‘เราไม่มีเงิน’ ซึ่งไม่จริง เรามีเงิน และมีมากพอที่เราจะทำงานด้านการศึกษาและสาธารณสุขให้ดีได้ คำถามคือเงินอยู่ไหนเสียมากกว่า หรือเราปล่อยให้ผู้บริหารระดับสูงใช้เงินภาษาอะไร ถึงพูดว่าไม่มีเงินได้ทุกปีๆ มาครึ่งศตวรรษ…”

ธิติ มีแต้ม สนทนากับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ถึงบางวาทกรรมเกี่ยวกับ ‘เด็กเล็ก’ ที่สังคมพยายามหยิบยื่นให้ ซึ่งไม่แน่ว่า สิ่งที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่เรื่องความแพง ไม่ใช่เรื่องของลูกของใคร กระทั่งไม่ใช่เรื่องเด็กๆ อีกต่อไปแล้ว

“เรามีค่านิยมว่า 10 โรงเรียนท็อปนี้ เป็นโรงเรียนที่ดี เป็นบันไดของอีลิท คือลูกหลานชนชั้นกลางระดับสูงไต่บันไดการศึกษาไปสู่คณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยระดับท็อป คุณค่าและค่านิยมเหล่านี้ เราพร้อมใจกันยกเลิกได้ แล้วเมื่อยกเลิก 10 โรงเรียนและ 5 มหาวิทยาลัยนั้นก็ไม่มีความหมาย

เราควรเปลี่ยนทิศไปให้ความสำคัญแก่อำนาจการจัดการและเงิน แก่ส่วนท้องถิ่นและชุมชนรอบโรงเรียนหรือรอบมหาวิทยาลัย ให้สามารถจัดการศึกษาเองด้วยคุณค่าใหม่ ค่านิยมใหม่ ตัวชี้วัดใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้แบบใหม่

สิ่งที่เราควรให้คุณค่าคือโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้านแบบเตรียมความพร้อม โรงเรียนประถมและมัธยมใกล้บ้านที่มีความสามารถทำให้เด็กคิดเป็น ทำงานเป็น และรักท้องถิ่น มหาวิทยาลัยในจังหวัดต่างๆ ที่ช่วยให้นิสิตนักศึกษาเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าทดลอง กล้าลงมือ กล้าประเมิน แล้วไปให้ไกลกว่าระบบการศึกษา พูดง่ายๆ ว่าออกไปจากกะลา”

“ส่วนเรื่องอายุ ว่าแค่ไหนคือปฐมวัย ผมเห็นด้วยว่าควรจะถึง 8 ขวบ ผมเป็นพวกไม่รีบ และเชื่อว่าเด็กโตเองได้จริงๆ การเร่งเรียนมีแต่เสียกับเสีย

เราช่วยกันทำลายสมองเด็กไทยอย่างเป็นระบบ แม้แต่ผู้ชนะก็เสีย มีกราฟแสดงให้ดูจากหลายประเทศในยุโรปว่าเรียนเร็ว อ่อนกำลังเร็ว ตัวชี้วัดด้านสุขภาวะตอนเป็นผู้ใหญ่ต่ำกว่ากลุ่มเริ่มเรียนช้าทุกตัวชี้วัด ตั้งแต่ความสุขไปจนถึงยาเสพติดและอัตราการก่อคดี

ผมเห็นด้วยว่าไม่ให้สอบแข่งขันเข้า ป.1 เพราะนั่นคือคอขวด เด็กๆ จำนวนมากถูกทำลายที่คอขวดนี้ และถ้าเราเชื่อสิ่งที่เราพูดทุกวันเด็ก ว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แล้วเราทำลายเขาตั้งแต่ต้น ก็จะฟังดูศรีธนญชัยมาก เด็กโตได้บนลู่วิ่งของตนเอง”

“การตีตราเด็กเป็นเรื่องใหญ่ อย่ามาพูดว่าการไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ มันไม่ปกติ และอย่าไปฟังว่าการไปพบจิตแพทย์ มีแต่เรื่องดี มันไม่ดี ที่ไม่ดีมากๆ คือประวัติถูกบันทึกและอยู่บนฐานข้อมูลออนไลน์ ประวัติที่ถูกบันทึกร่วมกับประวัติการศึกษานี้จะส่งผลอะไรในอนาคต หากระบบรักษาความลับผู้ป่วยจิตเวชอ่อนแอ

จิตแพทย์เด็กที่ทำงานตามมาตรฐาน มักจะไม่ได้ให้ยาในทันที แต่ให้ดูอาการและมีข้อแนะนำ ข้อแนะนำเหล่านี้ใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าจะส่งผล แต่ครูหรือโรงเรียนรอไม่ได้ ก็ให้เด็กออกจากโรงเรียนก็มี ให้ซ้ำชั้นก็มี พ่อแม่ทนความกดดันจนกระทั่งอยู่ไม่ได้ก็มี

สีหน้าท่าทางของทุกคนอยู่ในสายตาเด็กๆ จนเขาอาจรู้สึกว่า ‘หนูคือต้นเหตุ’ แผลในใจที่ไม่ควรจะมีเลยตั้งแต่แรก ถ้าเขาเอาแต่เล่นอยู่บ้าน ไม่ไปโรงเรียน ก็เกิดมีแผลขึ้นจนได้…”

 

อนาคตเด็กปฐมวัยใหญ่กว่าการสอบ : ครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข

 

โดย ธิติ มีแต้ม

เด็กเล็กๆ เพิ่งจะเรียนรู้หัดว่ายน้ำ กล้ามเนื้อแขนขายังไม่แข็งแรง แต่ต้องถูกจับไปแข่งไตรกีฬา นี่ไม่น่าใช่การสร้างอนาคตของชาติที่เหมาะควรนัก

แต่เพื่อที่พวกเขาจะไม่ต้องถูกจับโยนลงทะเลอีก อะไรคือความหวังใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เปิดตาเปิดใจให้กว้างๆ ถ้าเชื่อว่าโลกยังเหลือเวลาให้กับเด็กๆ

101 คุยกับครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย ถึงวิกฤตใหญ่ในการปล่อยให้เด็กเล็กเผชิญการสอบแข่งขันซึ่งยังเป็นระบบแพ้คัดออก

“เราจนปัญญาจริงๆ แล้วหรือเปล่าที่จะบอกว่าการรับเด็กเข้า ป.1 มีวิธีเดียวบนโลก คือการสอบ เพื่อจะได้เข้าไปนั่งในที่ๆ มีเก้าอี้น้อย

“มันน่าสงสารไหมที่เราจะกระทำกับเขาแบบนั้น แล้วเรายังตอบกันไม่ได้เลยว่าเด็กที่สอบเข้าไปคือคนเก่งอะไร ทั้งที่เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน ต่อให้เด็กทำข้อสอบได้ก็จริง แต่ปรับตัวกับเพื่อนได้ไหม มีความรับผิดชอบแค่ไหน บางอย่างมันเป็น soft skill สำหรับโลกอนาคต แต่เราไปคัดเด็กที่แค่ทำข้อสอบได้ เราล่มสลายแน่นอน

“อย่าลืมว่าอนาคตของพวกเขาจะแย่หนักด้วย เพราะว่าเขาต้องเสียภาษีให้กับสังคมที่แย่ๆ แต่เด็กๆ จะลำบากกว่าเรา 2 เท่า เขาต้องแบกต้นทุนของพวกเรา เขาต้องมาแบกรับผู้สูงวัยที่มีจำนวนมาก ขณะที่ผู้อยู่ในวัยทำงานมีจำนวนลดลงตลอดเวลา หากว่าเขาเติบโตอย่างไม่มีศักยภาพ”

แล้วอะไรคือที่มาของระบบการสอบเข้า ป.1 ที่สมาทานแพ้คัดออก อะไรคือความเชื่อที่ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ทำไมสังคมไทยแทบไม่เหลือที่เหลือทางให้กับ ‘สนามเด็กเล็ก’

 

ขั้นบันไดของเด็กเล็ก พัฒนาการตามวัยที่ไม่ควรกระโดดข้าม

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“เด็กคนหนึ่งกล้าที่จะก้าวขา ลุกขึ้นเดิน ตั้งไข่ เกิดจากการที่ว่าเขารู้ว่าจะมีคนที่คอยพยุงเขาด้านหลัง เด็กที่ไม่กล้าลุกขึ้นเดิน ไม่กล้าที่จะคลานไปตรงโน้นตรงนี้ เพราะเวลาที่เขาหันกลับมา เขาไม่เจอใคร”

101 สนทนากับ ‘ครูเม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา และผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’ ห้องเรียนที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการเล่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้ความรู้กับพ่อแม่

ว่าด้วยความทุกข์ใจของพ่อแม่ ผ่านประสบการณ์การตอบคำถามในเพจของครูเม แนวคิดการเลี้ยงลูกที่ส่องไปเจอรายละเอียดสำคัญมากมาย พัฒนาการสมวัย ไปจนถึงการสอบเข้าโรงเรียน

“หากพ่อแม่ไม่มีอยู่จริง บันใดขั้นที่หนึ่งถูกตัดไป แม้พ่อแม่จะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ในขั้นต่อๆ ไป แต่สุดท้ายลูกก็ต้องการพ่อแม่ที่มีอยู่จริง ก่อนที่จะไปเรียนรู้โลก”

“เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ผิด เราอย่าเพิ่งลงโทษด้วยการฟาด หรือวิธีรุนแรง ให้พาเขาออกมาในจุดที่ไม่ทำร้ายใคร ไม่ทำให้เขาหรือพ่อแม่บาดเจ็บ พอสงบ ค่อยสอนเขาว่าไม่ควรตีแม่ และสิ่งที่เขาควรทำคืออะไร เช่น หนูต้องขอดีๆ หรือหนูต้องรอก่อน กี่นาที เด็กต้องการรูปธรรม บอกว่าอย่าตีแม่อย่างเดียว เขาจะไม่รู้ว่าไม่ตีแม่แล้วให้ทำยังไง”

“ในเด็กปฐมวัย เขายังมีสมาธิไม่เกินครึ่งชั่วโมงเลย แต่เราบังคับให้เขานั่งเขียนหนึ่งชั่วโมง มันเกินวัยเขาไปมาก แล้วเด็กเขามีพลังงานเหลือเฟือ แต่เรากลับให้เขาควบคุมพลังงานนั้นไว้ เพื่อมีสมาธิในการเขียน ดังนั้นการเร่งเกินวัยก็กลับกลายเป็นการลืมสิ่งที่สำคัญในวัยนั้น”

“ต้องถามตัวเองว่า การที่เราโพสต์รูปลงโซเชียลบ่อยๆ เราทำเพื่อตอบสนองตัวเราเอง หรือตอบสนองต่อลูก ถ้ามันไม่ทำให้เกิดผลดีอะไรกับลูกเรา ก็ละมันบ้างก็ได้ เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นหลักฐานที่อยู่ในนั้นไปตลอด ถ้าเด็กโตขึ้นมาแล้วไม่โอเคกับรูปนี้ พ่อแม่จะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้”

“ภาครัฐหรือว่าระบบใหญ่ควรเข้ามาดูแลในการกระจายคุณภาพให้กับทุกๆ โรงเรียน ลดการสอบไม่ได้หมายความว่าจะเข้าโรงเรียนไหนก็ได้ พ่อแม่ก็จะเลือกอีก เพราะคุณภาพโรงเรียนไม่เท่ากัน สุดท้ายก็จะแห่ไปจับฉลาก มีปัญหาเรื่องใต้โต๊ะตามมาอีก ดังนั้น ภาครัฐหรือองค์กรใหญ่ก็ต้องช่วยเข้ามาดูแลการกระจายคุณภาพให้มันใกล้เคียงกัน แต่มันก็ยังเป็นแค่ความฝันของเราประเทศไทยใช่ไหมคะ”

 

หัวอกพ่อแม่ : ล้อมวงคุยว่าด้วยปัญหา ความฝัน ความหวัง ของคนมีลูก

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

101 นัดล้อมวงคุยกับเหล่าพ่อแม่จากหลากหลายอาชีพ ที่มีวิธีคิดต่อการเลี้ยงลูกแตกต่างกันไป มานั่งแลกเปลี่ยนว่าด้วยชีวิตของคนเป็นพ่อเป็นแม่

หนังสือเลี้ยงลูก บทความจิตวิทยาเด็ก และคลิปวิดีโอแนะนำการสอนลูก ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงเรียนดังๆ หลายแห่งถูกจับจองตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ อัตราการแข่งขันพุ่งสูงถึงขีดสุด ขณะเดียวกันโลกก็เปลี่ยนเร็วและแรงขึ้นทุกวัน ทักษะในศตวรรษที่ 21 กลายเป็นคำสำคัญในวงการการศึกษา คำสอนในวันนี้ อาจใช้ไม่ได้แล้วในวันหน้า การเลี้ยงลูกให้เติบโตมาในสังคมเช่นนี้จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญที่พ่อแม่ต้องก้าวผ่านให้ได้

พวกเขามีความฝัน ความหวังต่อลูกแบบไหน สังคมแบบไหนที่อยากให้ลูกเติบโตขึ้นไป ขยับวงล้อมเข้ามา หลายประโยคอาจแตะหัวอกของคนเป็นพ่อเป็นแม่

.
“ปัญหาของพ่อแม่สมัยนี้มี 3 เรื่อง หนึ่ง ก.กฎเกณฑ์ เรามีกฎเกณฑ์ มีเงื่อนไขให้กับตัวเองในการเลี้ยงลูกเยอะเกินไป ต้องนั่นต้องนี่ สอง ข.ขวนขวายมากเกินไป ต้องรู้ทุกเรื่อง ซึ่งมาพร้อมการเปรียบเทียบ สาม ค.คาดหวัง มากเกินไป พอเรามีความคาดหวังกับลูก คนที่ทุกข์คือลูก กรุ๊ปไลน์หรือโซเชียลมีเดียทั้งหลายทำให้คนเปรียบเทียบมาก…

“พ่อแม่หรือคนทำงานสมัยนี้จะรู้จักกรุ๊ปไลน์เป็นอย่างดี เอะอะก็ตั้งกรุ๊ปไลน์ กรุ๊ปไลน์ห้อง กรุ๊ปไลน์งานศิลปะ กรุ๊ปไลน์วิชาสังคม กรุ๊ปไลน์ของขวัญปีใหม่ครูประจำชั้น สารพัดจะกรุ๊ปไลน์ ผู้ปกครองก็เข้าไปมีบทบาทในกรุ๊ปไลน์เพื่อที่จะช่วยให้งานของลูกหรือชีวิตของลูกออกมาเริ่ดที่สุด เรามัวแต่นึกถึงผลลัพธ์ที่เกิดจาก ก. ข. ค. จนลืมไปว่านี่คือชีวิตลูก คือการเรียนของลูก”

.
ศ.ดร. ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – ว่าด้วยประเด็นกรุ๊ปไลน์และความคาดหวังของพ่อแม่

.
“ตอนนี้เราไม่ได้เลี้ยงให้เป็นแค่พลเมืองไทย แต่เรามองถึงว่าให้เป็นพลเมืองโลกที่จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ เขามีความคิด ไม่ได้ช่วยแค่สังคมเรา แต่ให้คิดต่อยอด

“ทุกครั้งเวลาคุยกับลูก เราไม่ได้สอนเขาตรงๆ ไปนั่งคุยกันเอง ส่วนใหญ่เด็กไม่รู้เรื่องหรอก เราก็คุยผ่านเกม หนัง หนังสือ อย่างหนังสือภาพเรื่อง The Journey ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ของ Francesca Sanna นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวอิตาลี เราก็เอามาอ่าน เล่าไปเรื่อยๆ ลูกจำได้ ถามเราว่า เด็ก journey คือเด็กที่ไม่มีบ้านใช่มั้ย เราก็ต้องหาวิธีตอบลูก มีอุปกรณ์เยอะมากที่จะทำให้เขาเป็นพลเมืองโลก แล้วก็คิดถึงคนอื่น”

.
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์ เอ็นจีโอ – ว่าด้วยประเด็นการเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองโลก

.
“การเตรียมเด็กให้พร้อมที่จะไปเจอโลก คือการปล่อยเด็กออกจากบ้าน ทำให้เขาต้องฝึกจัดการตัวเอง ไปดีลตัวเองกับปัญหา กับเพื่อน กับห้องเรียน กับโลกที่ปัญหาเยอะขึ้น คือไม่ได้มองการเซ็ตอัพที่ปลอดภัยมาก ก็คงปล่อยๆ ให้เขาได้โตไปกับตัวเอง ก็เลยไม่ได้ซีเรียสว่าต้องเป๊ะมาก โตขึ้นไปจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ว่าช่วง 1-7 ขวบ ก็คงให้เขามีความสุขกับการใช้ชีวิตวัยเด็กให้มาก โตขึ้นจะได้ไม่เสียหลัก”

.
ชัชฐพล จันทยุง ช่างภาพ เจ้าของ Naha Studio – ว่าด้วยประเด็นการเติบโตของลูก

 

101 in focus EP.8 : เจาะลึก Early Childhood แบบไทยๆ

 

โดย วิโรจน์ สุขพิศาล ธิติ มีแต้ม และ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

ทำไม ‘เด็กปฐมวัย’ ถึงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การศึกษาของสังคมไทยที่ผ่านมาส่งเสริมหรือทำลายการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้กันแน่ การสอบเข้า ป.1 ทำให้เด็กมีความสุขได้จริงไหม โรงเรียนทางเลือกยังเป็นคำตอบอยู่หรือเปล่า พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย คืออะไร ฯลฯ

กองบรรณาธิการ The101.world ชวนฟังทัศนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน เพื่อมองเห็นใจกลางของวิกฤตการศึกษาและพยายามคลำหาแสงสว่างร่วมกัน

 

โลกของผู้ใหญ่ vs ฝันของเด็ก

 

โดย ภาพิมล หล่อตระกูล

โลกของผู้ใหญ่ vs ฝันของเด็ก

การ์ตูนชิ้นล่าสุดจาก ‘Friendly People’ หนึ่งในผลงานประกอบซีรีส์ ‘สนามเด็กเล็ก: ทุกข์หรือสุขของพ่อแม่’

 

การศึกษาเรือแตก สู่ทางเลือกที่เลือกไม่ได้’ เมื่อโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่ใช่ของทุกคน

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“เกือบทุกโรงเรียนอยู่ในระบบที่ถูกออกแบบมาแล้วว่าจะให้เด็กเชื่ออะไร เพื่อนผมส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ไม่มีการปลูกฝังความเชื่อเหล่านี้ แต่ค่าเทอมแสนกว่าบาท ปีนึงมีสามเทอม เป็นทางเลือกทางการศึกษาที่เป็นไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ ถ้าคุณไม่มีเงินจ่ายก็ต้องเลือกโรงเรียนอีกแบบหนึ่ง ถ้ามีเงินคุณก็เลือกโรงเรียนดีกว่าได้” – แชมป์ ส่งลูกเข้าโรงเรียนทางเลือกระบบมอนเตสซอรี่

“ตอนประถมเราเรียนโรงเรียนคอนแวนต์ มัธยมเรียนโรงเรียนรัฐ พอกลับมาเจอกันตอนนี้จะเห็นความแตกต่าง เพื่อนมัธยมจะมีฐานะแตกต่างกันไป ยิ่งบางคนจบมหาวิทยาลัยไม่ดังก็จะมีหน้าที่การงานแบบหนึ่ง แต่เพื่อนคอนแวนต์สมัยประถมแต่ละคนจะฐานะดี หน้าที่การงานดี จบมหาวิทยาลัยดัง พอมีครอบครัวก็ได้สามีดี อยู่ในสังคมที่ดี คอนเนคชั่นดี พอเดือดร้อนก็มีเพื่อนช่วยเหลือ” – เอม ส่งลูกเรียนอนุบาลหลักสูตรอีพีโรงเรียนเอกชน

“การเรียนในโรงเรียนชื่อดังไม่ใช่การรับประกันว่าเด็กจะมีอนาคตที่ดีเสมอไป แต่ทุกอย่างก็คือการลงทุน ยอมจ่ายได้หากสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่า หากลูกเข้าโรงเรียนที่ไม่ดีก็ต้องยอมรับว่าอาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี” – บิว ส่งลูกเรียนอนุบาลหลักสูตรอีพีและวางแผนส่งไปเรียนต่อต่างประเทศเมื่อลูกโต

“โรงเรียนทางเลือกบางประเภทที่ตึงเกินไปจะวางตัวเองในลักษณะคล้าย ‘ลัทธิ’ เนื่องจากเป็นการหยิบยื่นทางเลือกให้พ่อแม่ที่พยายามหนีจากระบบการศึกษาไทย แต่การจะเชื่อในทางเลือกนั้นได้จำเป็นต้องทำให้คนยึดถือคุณค่าบางอย่างและเรียกร้องจากพ่อแม่สูง

“ผมอยากให้ลูกไปโรงเรียนแล้วสนุก เรียนรู้ผ่านการเล่น ร.ร.อินเตอร์ตอบโจทย์พวกนี้ แต่คนที่เข้าถึงได้มีไม่มาก การจะหลบจากระบบการศึกษาไทยต้องเป็นคนที่อยู่ใน 0.1% บนสุดของประเทศ หรือทำงานเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อเอารายได้ 70-80% มาลงกับค่าเทอมลูก” – นนท์ ส่งลูกเรียนอนุบาลโรงเรียนอินเตอร์ค่าเทอม 4 แสนบาท

วจนา วรรลยางกูร พาไปสำรวจ ‘ทางเลือก’ ของพ่อแม่ที่ส่งลูกเรียนอนุบาลโรงเรียนเอกชนเพื่อหลบหลีกปัญหาในระบบการศึกษาไทย แต่ในทางเลือกก็ยังมีปัญหาอื่นๆ การช่วงชิงใบสมัครเข้าเรียน โรงเรียนอนุบาลที่ติวเด็กสอบเข้าถึงค่ำมืด ความเอาใจใส่เด็กที่เพิ่มมากขึ้นตามเงินที่จ่าย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับเด็กอายุเพียง 2-4 ขวบ

 

หนังสือเลี้ยงลูกแบบนาฬิกาทราย : คุยกับ ทราย – สุภลักษณ์ อันตนนา SandClock Books

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“คุณต้องมองลูกว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีจิตใจ มีความคิดความรู้สึกเป็นของตัวเอง เราอาจจะเป็นผู้ให้กำเนิดเขามาก็จริง แต่ชีวิตเขาไม่ได้เป็นของคุณ ลูกคือคนอีกคน

“แนวคิดเรื่องการเคารพลูกเหมือนเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราชอบมากจากเล่ม พ่อแม่ดัตช์ พออ่านปุ๊บมันดึงเราลงมาว่า เฮ้ย บางบ้านเขาจัดการกันอีกแบบ เขาให้เกียรติลูก เคารพลูก ฟังสิ่งที่ลูกพูด เมื่อเราฟังลูก เขาก็จะฟังเราเหมือนกัน เด็กๆ ที่นั่นก็เติบโตได้ดี อย่างสังคมดัตช์ เขาก็เคารพลูกด้วยการให้ลูกเลือกโรงเรียนเอง ให้ขี่จักรยานไปโรงเรียนเอง หรือจัดการชีวิตประจำวันเอง เลิกเรียนบ่ายโมง บ่ายสอง ก็ปล่อยให้ไปทำกิจกรรมที่เขาชอบ

“แม่ฝรั่งเศสหรือเยอรมันก็เหมือนกันที่นิยมส่งลูกไปอยู่กับปู่ย่าตายายต่างจังหวัด ไปค่าย ไปค้างคืนนอกสถานที่ตั้งแต่ยังเล็กๆ ให้หัดตัดสินใจอะไรเอง รู้จักช่วยเหลือตัวเอง แก้ปัญหาเอง คนอาจจะมองว่าสังคมยุโรปทำไมดูปล่อยเด็กจังเลย สบายเนอะ แต่เราก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วอยากได้อิสรภาพในการเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งมันมาพร้อมกับการฝึกให้ลูกรู้จักการยอมรับผลที่ตามมา จากการตัดสินใจเลือกทางเดินนั้นๆ

“ทุกวันนี้ที่เลือกมาทำหนังสือแนวเลี้ยงลูก ก็หวังไว้เหมือนกันในเรื่องค่านิยมตรงนี้ ว่าอาจจะช่วยเด็กๆ ในบ้านเราได้บ้าง”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ สุภลักษณ์ อันตนนา SandClock Books เจ้าของสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเลี้ยงลูกได้น่ารัก และโดนใจคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ด้วยประเด็นที่แหลมคมแปลกใหม่ เช่น เลี้ยงลูกแบบผ่อนคลายสไตล์คุณแม่ฝรั่งเศส, พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น, เล่นกับลูกสไตล์มอนเตสซอรี, พ่อแม่ดัตช์เลี้ยงแบบนี้ หนูแฮปปี้สุดๆ ฯลฯ หรือหนังสือไทย ที่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่อย่างมากในปีที่แล้ว เช่น Q&A เลี้ยงลูกให้หายสงสัยสไตล์คุณหมอประเสริฐ โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นต้น

คุยทั้งในฐานะคนทำหนังสือและแม่ ทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไปอย่างไร และหนังสือเลี้ยงลูกมีเนื้อหาและทิศทางที่น่าสนใจอย่างไร

 

‘เกมเศรษฐี’ คอลเลคชันใหม่! : เมื่อเส้นชัยคือการสอบเข้า ป.1

 

โดย GTOCHAN

การ์ตูนสะท้อนสิ่งที่ ‘เด็กปฐมวัย’ ต้องเผชิญ ในการเตรียมสอบแข่งขันเข้า ป.1

จะเป็นอย่างไร หากสนามสอบถูกจำลองมาไว้ใน ‘เกมเศรษฐี’ คอลเลคชั่นใหม่ล่าสุด ?

 

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อการอ่านในสายตาเด็กเล็ก ไม่ใช่แค่การสะกดคำ

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“หนังสือสำหรับเด็กเล็ก เริ่มต้นจากหนังสือภาพ แต่บางทีพ่อแม่ไม่รู้ เปิดหนังสือมาไม่เห็นมีตัวหนังสือสักตัว เลยคิดว่าลูกจะอ่านหนังสือออกได้ยังไง แต่นี่แหละคือการอ่านออกของเด็ก เขาอ่านภาพ พยายามสังเกตสิ่งที่อยู่ในภาพ และพยายามให้ความหมายว่ามันเกิดอะไรขึ้น”

101 ปิดท้ายซีรีส์ ‘สนามเด็กเล็ก’ ด้วยการพาไปเจาะวิธีคิดเบื้องหลังหนังสือเด็ก ผ่านบทสนทนากับ ‘ครูก้า’ กรองทอง บุญประคอง ครูและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) และ สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการหนังสือ ‘ฝึกอ่าน’ ตามระดับ ชุด ‘อ่าน อาน อ๊าน’ และ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) ว่าด้วยหนังสือเด็ก และการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย

ไล่เรียงตั้งแต่ความสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการ ลักษณะของหนังสือที่เหมาะกับเด็ก และนิยามการอ่าน ที่ไม่ได้อาศัยแค่การสะกดคำเพียงอย่างเดียว

“การฝึกอ่านสำหรับเด็กจะฝึกสองเรื่อง หนึ่ง ฝึกให้รู้คำ เพื่อนำไปสู่การอ่านออก สอง ฝึกตีความ ซึ่งเวลาเราบ่นว่าเด็กคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ก็เพราะเราไม่เคยปล่อยช่องว่างให้เด็กตีความได้เองเลย”

“หนังสือเป็นสื่อที่ค่อนข้างมหัศจรรย์ ออกแบบมาอย่างดี ถ้าเราไปดูหนังสือเด็กระดับโลก จะเห็นว่าเขาสามารถเอาเนื้อหายากๆ มาใส่ แล้วออกแบบเชิงวรรณกรรม มีภาพประกอบที่คอยเล่าเรื่องอย่างเนียนสนิท เช่น หนังสือบางเล่มทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องยาปฏิชีวนะ เด็กจะดูแลสุขภาพตัวเอง เวลาน้ำมูกเขียวก็รู้ว่าไม่ต้องกลืนเข้าไป”

“เด็กเต็มไปด้วยพลังของความอยากรู้ อยากให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ เขาเรียนรู้ว่าสิงที่เห็นคืออะไรด้วยการจับต้อง เขาเริ่มสงสัยเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จากการได้ยิน ได้กลิ่น ทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและของมนุษย์เราอย่างเป็นธรรมชาติ เราเรียกกระบวนการนี้ได้อีกอย่างว่า ‘อ่านเพื่อเรียนรู้โลก’ คือการอ่านโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดเป็นเครื่องมือในการรู้จักและเข้าใจมัน”

“หนังสือบางเล่ม ไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องอ่านออกด้วยตัวเอง แต่เป็นหนังสือที่ให้ผู้ใหญ่อ่านเรื่องราวให้เด็กจินตนาการได้ หนังสืออาจจะมีตัวหนังสือเพิ่มมากขึ้นก็ได้ แต่วิธีใช้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และต้องคิดว่าการใช้หนังสือนั้นเราได้เหลือพื้นที่ให้เด็กคิดไหม”

“เวลาซื้อหนังสือมา เราต้องพยายามทำความเข้าใจหนังสือนิดนึง หนังสือเล่มนี้อรรถรสมันเป็นยังไง ความน่าสนใจของมันอยู่ตรงไหน และต้องอ่านอย่างมีความสุขร่วมกับลูก ถ้าเราคาดหวังว่าอยากจะให้ลูกรักการอ่าน อยากให้วันนึงเขาลุกขึ้นมาหยิบหนังสืออ่านด้วยตัวเอง เราก็ต้องทำให้การอ่านระหว่างเรากับเขาเป็นภาพจำที่มาคู่กับความสุข”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save