fbpx
อนาคตเด็กปฐมวัยใหญ่กว่าการสอบ : ครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข

อนาคตเด็กปฐมวัยใหญ่กว่าการสอบ : ครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

“ปัจจุบันการสอบเริ่มตั้งแต่เทอมแรกของอนุบาล 3 ดังนั้นแปลว่าอนุบาล 2 เด็กต้องพร้อมแล้ว ถ้าให้อนุบาล 2 พร้อม อนุบาล 1 ก็ต้องเริ่มติวกันแล้วใช่ไหม นี่มันคือวิกฤต”

“เราต่างเห็นสถานการณ์ที่มันดุเดือด เช่น ข้อสอบให้เด็กสะกดคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ‘อัฒจันทร์’ หรือข้อสอบให้ทดเลข ขอยืม 3 หลัก 4 หลัก มันยากมากนะสำหรับเด็กเล็ก”

ครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ 101 ถึงบางภาพสะท้อนของการทำร้าย-ทำลายอนาคตของเด็กปฐมวัยด้วยระบบการศึกษา โดยเฉพาะการสอบเข้า ป.1 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสายน้ำเชี่ยวกรากที่แม้แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ไม่อาจขวางความรุนแรงที่กำลังไหลบ่าได้ หลายครอบครัวจำยอมปล่อยให้ลูกๆ ถูกพัดพาจมหายไป

แล้วอะไรคือที่มาของระบบการสอบเข้า ป.1 ที่สมาทานแพ้คัดออก อะไรคือความเชื่อที่ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ทำไมสังคมไทยแทบไม่เหลือที่เหลือทางให้กับ ‘สนามเด็กเล็ก’

พูดให้ง่ายขึ้น เด็กเล็กๆ เพิ่งจะเรียนรู้หัดว่ายน้ำ กล้ามเนื้อแขนขายังไม่แข็งแรง แต่ต้องถูกจับไปแข่งไตรกีฬา นี่ไม่น่าใช่การสร้างอนาคตของชาติที่เหมาะควรนัก

แต่เพื่อที่พวกเขาจะไม่ต้องถูกจับโยนลงทะเลอีก อะไรคือความหวังใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เปิดตาเปิดใจให้กว้างๆ ถ้าเชื่อว่าโลกยังเหลือเวลาให้กับเด็กๆ

ครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข 

การดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จนถึงอายุ 7-8 ขวบ ทำไมสังคมไทยต้องดูแลเป็นพิเศษ

เด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่สมองพัฒนาได้สูงที่สุด โดยเฉพาะทักษะสมองส่วนหน้าหรือที่เราเรียกว่า Executive Function หรือ EF ซึ่งเปรียบเสมือน CEO ของสมอง โดยมีอัตราการพัฒนาสูงกว่าทุกช่วงวัยในช่วง 3-6 ปี เพราะฉะนั้นสมองที่กำลังพัฒนาได้ดีก็เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปตลอดชีวิตมนุษย์ การพัฒนาของ EF คือตัวบ่มเพาะอุปนิสัยที่จะทำให้คนๆ หนึ่งมีทักษะในชีวิตอย่างไรด้วย ที่จะส่งผลให้คนเราประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น จะเป็นคนที่มีความยับยั้งชั่งใจ มีความสามารถในการยืดหยุ่น ปรับตัวมากน้อยแค่ไหน ล้วนมีรากฐานมาจากการพัฒนาทักษะสมองในวัยเด็ก

ถ้าพูดถึงมุมมองของการศึกษา ในช่วงปฐมวัยก็เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 นั่นเอง งานวิจัยของ James J. Heckman ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ก็พูดถึงการลงทุนในช่วงปฐมวัยไว้ว่าถ้าเราลงทุนในช่วงปฐมวัย ผลตอบแทนสูงกว่าทุกช่วงวัย นั่นคือจะให้อัตราผลตอบแทนสูงถึง 7 เท่าของการลงทุน

เด็กที่ไม่ได้พัฒนา EF หรือสังคมที่ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนา ในอนาคตน่ากังวลอย่างไร

EF เป็นองค์ความรู้ด้าน Neuroscience กลุ่มทักษะพื้นฐานของ EF มีทักษะอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.ความจำเพื่อใช้งาน 2.การยืดหยุ่นความคิด 3.การยับยั้งชั่งใจ

เอาแค่เรื่องของการยับยั้งชั่งใจ มีงานวิจัยระบุว่ามนุษย์จะพัฒนาเรื่องการยับยั้งชั่งใจได้ดีในช่วงปฐมวัย มันคือตัวที่จะทำให้เราหยุดความอยากในสิ่งที่ไม่สมควรได้ งานวิจัยเขาติดตามศึกษาในระยะยาวแล้วพบว่า คนที่มีการยับยั้งชั่งใจดีในช่วงเล็กๆ มีโอกาสติดยาเสพติดได้น้อยหรือไม่ติดเลย เพราะเขารู้ว่าควรยับยั้งชั่งใจว่าอะไรดีหรือไม่ดี หรือกระทั่งว่า เขาจะรู้ว่าเขาไม่ควรไปฉุดผู้หญิงหรือไปทำร้ายใคร แม้ว่าเขาอยากทำก็ตาม แต่เขาหยุดการกระทำของตนเองได้ หรือความอยากกินน้ำหวาน เขาก็หยุดได้ เพราะเขารู้ว่าถ้าเขาอยากมีสุขภาพที่ดีในอนาคต เขาควรละเว้น ทักษะเหล่านี้มันสร้างมาตั้งแต่ปฐมวัยแล้ว

นอกจากพัฒนาการเด็กที่เห็นว่าสำคัญ ครูหวานมองเห็นอะไรที่น่าวิตกของเด็กวัยนี้จนต้องมีการผลักดัน พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยออกมา

เราพบว่าเด็กช่วงวัยนี้เป็น sensitive period สมองของเขาไวต่อการถูกกระทบได้ง่าย ถ้ามองในระดับประเทศ วิกฤตคืออะไร เรื่องแรกคือมันมีเรื่องของเทคโนโลยีจอภาพเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ แต่สวนทางกับการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย คือการเรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือทำ การกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อไปกระตุ้นสมอง เป็นช่วงวัยที่ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาสูงมาก แต่เราเห็นว่าเด็กที่อยู่กับเทคโนโลยีมากๆ พัฒนาการบางด้านกลับเริ่มถดถอย เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และการมีวินัย

เรื่องที่สองคือการเร่งเรียน เขียน อ่าน เวลาเราพูดถึงพัฒนาการเด็ก มันต้องพัฒนาทุกด้านใช่ไหม แต่ปรากฏว่าการเร่งเรียน การเจอการบ้านที่ยากขึ้นๆ และเด็กต้องสอบ ต้องติวพิเศษ มันทำร้ายเด็ก ผู้ปกครองมองว่ากลางวันหนูไม่ต้องนอน เพราะว่าหนูจะต้องติวหนังสือ แต่มันเป็นภาวะที่กดดัน สมองของเด็กเมื่ออยู่กับความเครียดระยะยาว สมองจะถูกทำลาย

เรื่องที่สามที่สมาคมอนุบาลได้ศึกษาไว้ คือปัญหาการสอนภาษา รวมถึงภาษาต่างประเทศอย่างผิดวิธี ด้วยการสอนให้ฟังคลิป ให้ท่องคำศัพท์ สะกดคำ แทนการสอนภาษาที่สนุกสนาน มีความหมายต่อเด็ก อย่างเป็นธรรมชาติ มันคือการเอาเวลาช่วงที่เรียกว่าเป็น prime time ของมนุษย์ไปใช้ไม่ถูกเรื่องถูกราว ทำให้เด็กเจอปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษา โดยเฉพาะภาษาแม่ ซึ่งเป็นต้นทุนภาษาที่มนุษย์เอาไว้คิด

เรื่องที่สี่ที่เป็นวิกฤตคือเรื่องของวินัย ปัญหาที่เราพบในสมัยนี้คือความเข้มแข็งของครอบครัวลดลง พ่อแม่มีเวลาคุณภาพกับลูกลดน้อยลงมาก อีกทั้งขาดความรู้ที่ถูกต้องในการสร้างวินัย เมื่อมีลูกน้อย เด็กจึงถูกตามใจมากเกินไป บางบ้านพอเอาไม่อยู่ก็ตีเลย นี่เป็นวิกฤตครอบครัวที่ส่งผลมาถึงเด็กในเรื่องการกำกับตัวเอง ต้องฝึกฝนให้เด็กรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ

เราจะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้พูดเรื่องการพัฒนาเด็กเล็กไว้ ซึ่งมีคำว่า ‘วินัย’ ด้วย แสดงว่าวินัยเป็นปัญหาระดับชาติจนต้องเน้นย้ำว่าต้องพัฒนาตั้งแต่ปฐมวัยนั่นเอง เมื่อปฐมวัยเผชิญวิกฤต ถ้าไม่มีพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยมาปกป้องคุ้มครองเด็ก หรือทำให้เด็กสามารถพัฒนาไปได้อย่างถูกวิธี จะทำให้เป็นผลเสียต่อทรัพยากรบุคคลของประเทศในอนาคต

เราเชื่อว่าพระราชบัญญัติที่ออกมาจะปกป้องคุ้มครองเด็ก ช่วยชี้ทางและเป็นหลักประกันว่าเด็กจะได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง มันเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่จะกำหนดให้ภาครัฐดำเนินการ จะปล่อยปละละเลยไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องปฐมวัยตามที่กฎหมายกำหนด

จะทำอย่างไรให้กฎหมายฉบับนี้ไม่เป็นแค่กระดาษ

ที่ผ่านมาเราพบว่ามีกฎหมายจำนวนมากที่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นในพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ในหมวดที่ 2 ว่า จะต้องมีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยขึ้นมา ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 4 กระทรวงหลักด้วยกัน คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทั้ง 4 กระทรวงนี้จะต้องทำงานบูรณาการและประสานกัน พ.ร.บ. ที่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะช่วงปฐมวัย จะทำยังไงไม่ให้ต่างคนต่างทำ งานบางอย่างซ้ำซ้อน มีช่องโหว่ หรือไม่มีใครทำ ก็ต้องอาศัยคณะกรรมการนโยบายฯ ตาม พ.ร.บ.นี้ ซึ่งกำหนดว่าจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมาย แล้วในคณะกรรมการก็ประกอบด้วยรัฐมนตรีจาก 4 กระทรวงหลักที่ว่า แล้วก็ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายด้าน โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ของคณะกรรมการนโยบายนี้ ตัวคณะกรรมการนโยบายจึงมีความสำคัญ เพราะว่าจะต้องผลักดันให้แผนปฏิบัติการ เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม พ.ร.บ.ก็จะมีความเข้มแข็งและศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

ต่อไปเวลาพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษาในช่วงปฐมวัย ทั้ง 4 กระทรวงหลักก็จะไม่ใช่ต่างคนต่างทำงานแบบที่ผ่านมา ?

เขาต้องทำแผนบูรณาการร่วมกัน ต้องมีการติดตามแล้วก็ประเมินผลของการทำงาน ถามว่าในอดีตก็มีคณะกรรมการเด็กปฐมวัยแห่งชาติเหมือนกันใช่ไหม ใช่, มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานหรือรองนายกฯ ตามที่มอบหมายก็แล้วแต่ ทว่ามันยังไม่มีพลังพอ เพราะว่าคณะกรรมการชุดนั้นอยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ต่างจากปัจจุบันที่คณะกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ต่อไปการทำงานหรือภารกิจอะไรที่แต่ละกระทรวงทำอยู่ ก็จะรับรู้ร่วมกันว่าใครทำอะไรอยู่ และจะสนับสนุนร่วมมือกันอย่างไร ไฮไลท์ที่สำคัญของ พ.ร.บ. ตัวนี้คือการเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เราไม่ได้เอางานของแต่ละกระทรวงเป็นตัวตั้งอีกต่อไป อีกอย่างคือใน พ.ร.บ. นี้ไม่ได้พูดถึงการพัฒนาเด็กอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการพัฒนาพ่อแม่และตัวสถานศึกษา หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาตัวเด็กด้วย

พ.ร.บ. ฉบับนี้พูดถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเริ่มตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ ถ้าตั้งครรภ์ปุ๊บ สาธารณสุขมีบทบาทอะไร เขาต้องมาดูแลสุขภาพอนามัยทั้งแม่และเด็กในครรภ์ ควบคู่กับการให้ความรู้พ่อแม่ พอเด็กมาอยู่ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย นอกจากดูแลตัวเด็กแล้วก็ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับพ่อแม่ด้วยเช่นกัน กระทรวงที่เกี่ยวข้องนอกจากทำภารกิจของตนแล้ว ยังต้องให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย

มีประเด็นหนึ่งที่คนพูดกันมาก คือเรื่องการสอบของเด็กเล็กว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น และ พ.ร.บ.นี้ก็เหมือนจะพยายามเปิดช่องให้แก้ปัญหาเรื่องการสอบไว้ด้วย ?

เรื่องของเรื่องก็คือว่า ในช่วงของเด็กปฐมวัยคาบเกี่ยวกับรอยต่อระหว่างอนุบาลเข้าสู่ประถม มันเป็นช่วงที่หลายโรงเรียนต่างมีความต้องการสูงที่จะคัดเด็กเข้าไป พ่อแม่ก็อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนที่เชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ แล้วหลายโรงเรียนก็มีถึงระดับมัธยมปลายเลย พอเป็นแบบนี้มันเกิดสภาวะ demand สูง เป็นช่องแคบๆ ที่พ่อแม่พยายามผลักดันลูกเข้าไป และความคุ้นเคยของโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาในการรับเด็กเข้าเรียน คือการจัดสอบคัดเลือก

แต่การสอบมันส่งผลยังไงต่อเด็ก นี่เป็นประเด็นใหญ่ ถ้าเป็นเด็กโตเขามีความคงทนต่อความเครียดได้สูงกว่าเด็กเล็ก แต่การพัฒนาของสมองและสติปัญญาของเด็กเล็กเป็นช่วงสำคัญที่จะสูญเสีย ทั้งเรื่องความรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง การเห็นคุณค่า เห็นความสามารถของตนเองที่จะพัฒนาต่อไป ถ้ามันถูกกระทบหรือถูกทำลาย ก็จะส่งผลในระยะยาวต่อมนุษย์คนหนึ่งไปจนตลอดชีวิต

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการสอบคือระบบแพ้คัดออก และเด็กที่สอบเข้าไปเรียนได้ย่อมน้อยกว่าเด็กที่ถูกคัดออก เพราะโรงเรียนไม่สามารถรับทุกคนได้ และเมื่อการสอบคือการวัดความสามารถของเด็ก ถ้าเด็กทำไม่ได้ ต่อให้พ่อแม่บอกว่าไม่เป็นไร เขาก็จะรู้สึกสงสัยตัวเองว่าเขาไม่เก่งใช่ไหม เขาทำให้พ่อแม่ผิดหวังหรือเปล่า ความรู้สึกเสียหายที่กระทบจิตใจนี้มันเข้าไปอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของเขา

เด็กจะสอบเข้า ป.1 วันนี้ต้องทำอะไรบ้าง

ที่ผ่านมาเขาต้องเตรียมเด็กให้พร้อมตั้งแต่อนุบาล 3 ปัจจุบันการสอบเริ่มตั้งแต่เทอมแรกของอนุบาล 3 แปลว่าอนุบาล 2 เด็กต้องพร้อมแล้ว ถ้าให้อนุบาล 2 พร้อม อนุบาล 1 ก็ต้องเริ่มติวกันแล้วใช่ไหม นี่คือวิกฤตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งติวกันมาก คนออกข้อสอบก็ยิ่งออกข้อสอบให้ยากขึ้น เพื่อจะได้คัดกรองเด็กได้ เพื่อตอบโจทย์การรับเด็กในจำนวนจำกัด พ่อแม่ก็ไม่มีใครอยากให้ลูกผิดหวัง ครูก็ไม่อยากให้เด็กผิดหวังถ้าต้องลงสนามสอบ ทำไงล่ะ ก็ต้องไปติวเสาร์อาทิตย์ ไม่ต้องเล่นแล้ว กลางวันไม่ต้องนอน ให้ครูช่วยติวให้

บางครอบครัวพอลองทำแบบฝึกหัดดู เด็กทำไม่ได้ ทะเลาะกันอีก สัมพันธภาพก็เสีย แต่เด็กวัยนี้โดยธรรมชาติเขาไม่สามารถจะนั่งอยู่นิ่งๆ กับแบบฝึกหัดได้นาน เด็กต้องไปวิ่งเล่น ต้องไปทำกิจกรรมที่เสริมทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ในอนาคต ทำให้เชื่อมั่นว่าฉันทำได้ ฉันมีศักยภาพ แต่สิ่งที่เป็นอยู่มันคนละเรื่อง อาจจะง่ายสำหรับผู้ใหญ่ที่บอกว่าการสอบคัดเลือกคือความยุติธรรม แต่หากเราเอาเด็กเป็นตัวตั้งแล้วดูผลกระทบที่เกิดขึ้น คำถามคือมันยุติธรรมกับเขาจริงไหม

วิธีคิดที่ว่าการคัดเด็กเข้าด้วยการสอบเป็นความยุติธรรม เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่

เชื่อไหมว่าแม้แต่คนในระดับผู้บริหาร เขาก็ไม่ได้มีความสุขใจที่ต้องจัดการสอบ หลังจากที่เราได้คุยกับผู้บริหารโรงเรียนหลายคน พบว่าต่างก็รู้ทั้งรู้ว่าเด็กลำบาก พ่อแม่ลำบาก แต่มันเป็นวิธีการที่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เพราะว่าถ้าใช้วิธีอื่นเขาอาจจะถูกสอบสวนได้

แล้วอะไรที่มันยุติธรรม สมมติว่าถ้าใช้วิธีสัมภาษณ์ ต้องสัมภาษณ์ยังไง คนสมัครมาเยอะแยะ จะทำยังไง สัมภาษณ์พ่อแม่ไหม หรือสังเกตพฤติกรรมไปด้วย มันมีรายละเอียดมากมาย และประเมินผลยาก วิธีที่ง่ายแล้วตัดสินได้ ตรวจสอบได้ด้วย ก็คือการสอบ ชัดเจนไปเลยว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้

ทีนี้ถามว่าแล้วทำไมไม่จับสลากล่ะ เขาก็บอกว่ามีบางโรงเรียนใช้การจับสลาก แต่ก็มีปัญหาอีกว่าใครจับ มีความกังวลว่าโรงเรียนจะทำสลากปลอมอีก แล้วตอนจับให้เด็กจับ พอเด็กจับไม่ได้ก็ถูกต่อว่า “ไอ้เฮงซวย” “มือไม่ดี” “แกทำตัวเองไม่ได้เรียน” “แม่อุตส่าห์ติว พ่ออุตส่าห์สอน” พอลองเปลี่ยนเอาให้พ่อแม่จับ ใครจะจับล่ะ พ่อกับแม่ เถียงกันเอง สร้างความร้าวฉานในครอบครัวอีก โรงเรียนก็อ้างว่าในเมื่อจับสลากไม่ดี ก็กลับไปใช้สอบเหมือนเดิมนั่นแหละ ที่ผ่านมาเราคิดกันไม่รอบคอบไง

 

ถ้าไม่สอบ มีวิธีอื่นไหม

ถ้าเราตั้งต้นว่าจะไม่ทำอะไรที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเด็กเล็ก เราต้องคิดออกค่ะ จะจับสลากวิธีไหน จะสัมภาษณ์ผู้ปกครองแบบไหน จะมีการคัดกรองแบบไหน เราต้องคิดได้ แต่จะให้ตอบว่าโรงเรียนทั้งประเทศควรใช้วิธีเดียวกันก็ไม่ใช่

บางโรงเรียนขนาดเล็กรับเด็กได้จำกัด เขาอาจใช้วิธีว่าใครมาก่อนได้ก่อน ส่วนโรงเรียนที่มีเด็กมาสมัครมาก แต่รับได้จำกัด อาจกรองด้วยการจับสลากรอบนึงก่อน พอเหลือจำนวนน้อยค่อยสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ดูประเด็นการอบรมเลี้ยงดูว่าตรงกับแนวคิดของโรงเรียนไหม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง หรือบางแห่งเขาก็จะใช้วิธีรับสมัครออนไลน์เลย ถึงเวลาก็ตัดยอด จะได้ไม่ต้องมายืนเข้าคิวตั้งแต่ตีสามให้เสียเวลา บางที่เดี๋ยวนี้รอคิวกันข้ามวันข้ามคืน ดูแล้วอนาถใจ

มันมีหลายวิธีนะคะ บางคนเสนอว่านอกจากเข้าคิวออนไลน์แล้วก็กรองจาก portfolio เด็กเพิ่มว่ามีการทำงานกับพ่อแม่ไหม ดูประวัติพ่อแม่ว่าพ่อแม่ได้ทำคุณประโยชน์อะไรบ้าง เด็กๆ ทำกิจกรรมอะไรบ้าง โรงเรียนบางแห่งก็มีคอนเนคชั่นกันระหว่างโรงเรียนต่อโรงเรียน เขาเชื่อว่าถ้าโรงเรียนเตรียมความพร้อมให้เด็กมาดี เขาก็รับต่อไปได้เลย โรงเรียนประถมประสานตรงเลย มันมีหลายวิธี

หลักการที่สำคัญ คือการคัดเลือกต้องไม่กระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ต่อความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง หรือว่าจะคงเอาสอบไว้เหมือนเดิม เพราะสะดวก จัดการง่าย ยุติธรรมกับผู้บริหาร ไม่ต้องเสี่ยงถูกสอบสวน แต่เด็กเป็นยังไงไม่รู้

เราจนปัญญาจริงๆ แล้วหรือเปล่าที่จะบอกว่าการรับเด็กเข้า ป.1 มีวิธีเดียวบนโลก คือการสอบ เพื่อจะได้เข้าไปนั่งในที่ๆ มีเก้าอี้น้อย มันน่าสงสารไหมที่เราจะกระทำกับเขาแบบนั้น แล้วเรายังตอบกันไม่ได้เลยว่าเด็กที่สอบเข้าไปคือคนเก่งอะไร ทั้งที่เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน ต่อให้เด็กทำข้อสอบได้ก็จริง แต่ปรับตัวกับเพื่อนได้ไหม มีความรับผิดชอบแค่ไหน บางอย่างมันเป็น soft skill สำหรับโลกอนาคต แต่เราไปคัดเด็กที่แค่ทำข้อสอบได้ เราล่มสลายแน่นอน เขาจะต้องเติบโตไปอยู่ในโลกอนาคต ต้องมีทักษะชีวิตที่ดี

ตัวอย่างข้อสอบเตรียมความพร้อม เช่น ให้บอกว่าภาพที่เห็น (ภาพบล็อกที่ต่อซ้อนกัน) ให้ตอบว่ามีบล็อกมีกี่ชิ้น ถ้ามัวแต่ต่อบล็อกมันทำข้อสอบไม่ทัน จึงต้องติววิธีหาคำตอบ แทนที่การปล่อยให้เด็กได้เล่นบ่อยๆ จึงจะเกิดภาพในสมอง

หรือโจทย์บางอัน ให้เด็กตัดสินใจว่าเขาต้องใส่กางเกงในก่อนใส่เสื้อ หรือใส่ถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า แต่สำหรับเด็กบางทีมันไม่ใช่คำตอบตายตัวแบบนั้น เด็กบางคนบอกว่าฉันใส่รองเท้าเลย เพราะฉันไม่เคยใส่ถุงเท้า ถามว่าเขาผิดอะไร นี่เป็นตัวอย่างที่เรากำลังสูญเสียสิ่งที่สำคัญมาก คือ “เวลาที่เด็กจะได้พัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นทักษะชีวิต ทักษะการคิด ทักษะการสังเกต เรากำลังสูญเสียสัมผัสที่ละเอียดอ่อนที่ได้จากการเล่นและลงมือทำ

เราเคยสังเกตไหมว่าเด็กเห็นไข่หนอนที่เราไม่เคยเห็น เราอาจเดินผ่านไป แต่เด็กเห็น เราเห็นไหมว่าเด็กสนใจแม้กระทั่งมดตัวเล็กๆ สองตัวที่มันเดินมาคุยกัน นี่เป็นรายละเอียดที่เด็กเขาเห็น แต่เรากำลังพาเด็กกระโดดข้ามสิ่งเหล่านี้ไปหมดเลย แล้วให้เขาไปอยู่กับแบบฝึกหัดเพื่อเตรียมตัวสอบ พัฒนาการที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ถ้ามันสูญเสียไปมันเรียกคืนไม่ได้

ครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข

แต่ผู้ใหญ่บางคนเขามองว่าตัวเขาก็ผ่านการสอบมา โตมากับโรงเรียนปกติ ไม่เห็นจะเป็นปัญหาอะไร

มันเป็นเซฟโซนของเขาไง คนเราเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ถ้าเราอยากเห็นอนาคต เราต้องรู้ว่าตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปไหม หรือโลกทุกวันนี้ยังเหมือนสมัยที่คุณเป็นเด็ก สมัยคุณมีอินเทอร์เน็ตไหม และโลกข้างหน้ายิ่งเปลี่ยนเร็วขึ้นกว่าตอนนี้อีก เมื่อก่อนคนทำงานธนาคารเชื่อกันว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง ตอนนี้อาชีพนี้ถูกเลิกจ้างกันมากมาย คุณอยากให้ลูกคุณอยู่ในโลกอดีตของคุณหรือเปล่า

ทีนี้เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศใช้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนสังคมไทยยังปรับตัวไม่ทัน ภาคราชการอาจจะบอกว่าทำให้ยุ่งยากความเดิม ครูหวานกังวลอะไรไหม

จริงๆ เราควรจะต้องปรับกันมานานแล้วนะคะ เพราะว่าเราคุยกันเรื่องนี้มากว่า 20 ปีแล้วมั้ง มีสภาการศึกษาเป็นเจ้าภาพ สมาคมอนุบาลก็มาร่วม แล้วก็อีกหลายหน่วยงานที่ระดมสมองกัน เพราะเราต่างเห็นสถานการณ์ที่มันดุเดือด เช่น ข้อสอบให้เด็กสะกดคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ‘อัฒจันทร์’ หรือข้อสอบให้ทดเลข ขอยืม 3 หลัก 4 หลัก มันยากมากนะสำหรับเด็กเล็ก จนกระทั่งโรงเรียน ผู้บริหารได้คุยกัน มันก็เกิดความพยายามที่จะปรับตัวมารอบนึงแล้ว แต่สักพักก็กลับไปสอบกันเหมือนเดิม ถ้าถามตอนนี้ว่าพร้อมหรือยัง มันควรพร้อมได้แล้ว

แล้วตอนนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็กำหนดชัดอยู่แล้วในมาตรา 8 ระบุว่า “…ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย” โรงเรียนจึงต้องมีวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้มีวิธีการที่เหมาะสมกับโรงเรียนของตน มันเหมือนกับว่าคุณจอดรถตรงนี้ไม่ได้ มันอันตราย ไม่งั้นรถตกเขา แต่คุณจะจอดตรงไหนที่มันเหมาะกับคุณ คุณก็เลือกเอา คุณอาจจะเป็นมอเตอร์ไซด์ รถบรรทุก คุณอาจจะเป็นรถเก๋ง คุณต้องมีวิธีการที่ไม่กระทบต่อพัฒนาการของเด็ก

 

ตัวคณะกรรมการนโยบายตาม พ.ร.บ. ควรเริ่มจากอะไร เพื่อจะติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกในเรื่องนี้

การสร้างความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญมากนะคะ คณะกรรมการต้องสร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้กับพ่อแม่ ครู โรงเรียน ผู้บริหารและสังคม เป็นภารกิจหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เวลาพูดถึงปัญหาการสอบ เราอย่าไปมองว่าใครเป็นผู้ร้าย ใครเป็นคนที่ทำร้ายเด็ก มันเป็นกระแสของความเข้าใจที่สังคมมีความเชื่อแบบหนึ่ง และทำตามๆ กันมา แต่ตอนนี้มันถึงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว

เมื่อปี 2018 มหาวิทยาลัยสวนดุสิตทำวิจัยเรื่องผลกระทบของการสอบหรือไม่สอบเข้า ป.1 ไว้ แล้วยังมีการเสนอทางออกด้วยว่า ถ้าไม่สอบจะมีทางเลือกอะไร มีผลดีผลเสียอะไรบ้าง คนในแวดวงการศึกษาก็รู้ว่ามีงานวิจัยนี้ เพราะฉะนั้นมันมีการเตรียมตัวสร้างความเข้าใจมาสักพักแล้ว

งานวิจัยเสนอทางเลือกไว้ยังไงบ้าง

ในงานมีประเด็นหลักก็คือวิธีการต้องไม่กระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ไม่ทำให้เด็กเกิดภาวะเครียด แล้วก็มีข้อเสนอทั้งจับสลาก สัมภาษณ์ผู้ปกครอง หรือเอื้อประโยชน์ให้เด็กที่มีพี่น้องอยู่โรงเรียนเดียวกัน หรือบ้านใกล้โรงเรียน อาจพิจารณาพ่อแม่ที่ทำประโยชน์ด้วย หรือใช้หลายๆ เกณฑ์ร่วมกันทั้งสัมภาษณ์พ่อแม่คู่กับ portfolio ของเด็ก

ไม่น่าเชื่อว่าพอเราลองหลับตาแล้วคิดว่าถ้าไม่สอบแล้วทำอะไรได้บ้าง ข้อเสนอมันเต็มไปหมดเลย ถ้าเราได้มาคุยกันจริงจัง ทางเลือกมันมี

นอกจากประเด็นการสอบ ครูหวานเคยพูดเรื่องความหลากหลายในโรงเรียนไว้ว่าจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี แต่ความเชื่อของพ่อแม่อีกไม่น้อยอาจไม่อยากให้ลูกไปอยู่ปะปนกับคนที่ต่างจากเขามากๆ เรื่องนี้น่ากังวลไหม

คนเป็นพ่อแม่ก็อยากให้ลูกอยู่ในสังคมที่ดีทั้งนั้น ในทางอุดมคติน่ะใช่ แต่ถ้าเรามองเป้าหมายหลักว่าเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษา ความหลากหลายเป็นประเด็นหนึ่งที่จะช่วยได้ เพราะเด็กเขาไม่แยกหรอกว่าใครเป็นลูกของใคร พ่อแม่จะขับรถอะไรมา เด็กเขาก็รักกันเป็นเพื่อนเล่นกันได้ ผู้ใหญ่นั่นแหละที่ไปชี้ว่าลูกควรคบใครหรือไม่ควรคบใคร แต่ถ้าเราได้เด็กที่มีพ่อๆ แม่ๆ ที่ต่างสถานะกันมาอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ประโยชน์ที่ลูกจะได้รับมันมี

การที่เด็กเป็นลูกของ CEO บริษัท แล้วได้เจอกับเด็กที่มีฐานะต่ำกว่า โรงเรียนสร้างกระบวนการให้เด็กปรับตัวเข้าหากัน ความอ่อนโยนของจิตใจ การช่วยเหลือแบ่งปันมันก็เกิดขึ้น เพื่อนมีของไม่ครบ ขาดดินสอ ฉันมีเหลือ แบ่งปันเพื่อนกันได้ ถ้ามันเกิดการเอื้อเฟื้อเจือจานแบบนี้ไม่ดีหรือ แต่ถ้าคนรวยอยู่กับคนรวยด้วยกันแล้วลูกคุณจะเรียนรู้อะไร มันเป็นไปได้อย่างไรที่ลูกคุณจะไม่เจอกับคนจนหรือคนอื่นๆ ในสังคมเลย การที่เด็กเติบโตมาแล้วมีทักษะทางสังคมที่ดี มันต้องรู้จักเอื้อเฟื้อกัน แต่ถ้าเด็กโตไปแบบไม่รู้จักความเอื้อเฟื้อเลย สังคมมันจะน่าอยู่ไหม

ประเด็นมันเลยอยู่ที่ว่า ถ้าคุณอยากให้ลูกอยู่ในสังคมที่ดี มันไม่ใช่เอาลูกไปใส่ในสังคมแล้วจบ คุณต้องช่วยสร้างสังคมที่ดีด้วย แล้วลูกจะได้เห็นวิธีการก่อสร้างสังคมที่ดีที่เกิดจากน้ำมือของพ่อแม่ ทำไมในต่างประเทศเขาไม่ต้องสอบ ทำไมเขาเดินไปเรียนโรงเรียนใกล้ๆ ได้ ทำไมเขามีความสุขกับการเรียน สังคมแบบนี้คือสังคมที่คุณต้องการใช่ไหม แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มันเกิดขึ้นเพราะเขาช่วยกันสร้าง ควบคู่ไปกับความพยายามของฝ่ายการศึกษาที่จะต้องพัฒนาให้โรงเรียนมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกันในเร็ววัน

สำหรับพ่อแม่ที่มีเงิน ต่อให้ยกเลิกการสอบไปเป็นจับสลาก ถ้าเขาจับไม่ได้ ก็ยังไปต่อโรงเรียนที่ใช้เงินแทนได้ แต่พ่อแม่ที่ไม่มีเงิน พ.ร.บ.ปฐมวัยจะช่วยซับพอร์ตอย่างไร

พ.ร.บ. เขียนไว้ชัดเจนว่าผู้จัดการศึกษาจะต้องดูแลเด็กในช่วงรอยต่อระหว่างอนุบาลกับประถมให้มีความราบรื่น ทำให้พัฒนาการของเด็กไม่สะดุด แต่ละฝ่ายต้องช่วยกัน แล้วถ้าเขาได้อยู่ในโรงเรียนที่เด็กมีความหลากหลาย ไอ้ที่เราพูดกันเรื่องลดความเหลื่อมล้ำมันจะเกิดขึ้น

เราจะทำยังไงให้คนที่รวยเห็นใจคนที่ยากจน ถ้าเขาไม่เป็นเพื่อนกันก็ไม่มีทาง การเป็นเพื่อนกันมันจะง่ายขึ้น ไม่งั้นเด็กไม่เข้าใจนะว่าทำไมคนจนคิดอย่างนี้ ทำไมคนรวยคิดอย่างนี้ ถ้าเขาเป็นเพื่อนกัน เขาจะมองเห็นว่าลูกคนรวยก็ขาดโอกาสบางอย่าง เด็กที่ด้อยกว่าก็ขาดโอกาสบางอย่าง ใช่ว่าคนที่มีฐานะดีกว่าจะได้เปรียบทุกอย่าง

ความราบรื่นในช่วงรอยต่อระหว่างอนุบาลกับประถมสำคัญอย่างไร

สมมติว่าเด็กอยู่อนุบาลมีครูประจำชั้น และก็มีครูผู้ช่วยหรือพี่เลี้ยงดูแล ห้องเรียนก็จะเป็นห้องเรียนที่มีของเล่น มีมุมกิจกรรมอยู่ในห้อง ครูดูแลเด็กทุกอย่างทั้งชีวิต กิจวัตรประจำวัน ดูแลกันไปเสมือนแม่ดูแลลูก แต่พอเขาจบอนุบาลเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีแต่โต๊ะ สภาพห้องเรียนกลายเป็นแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง มีครูเข้ามาสอนหนังสือเสร็จเดินออกไป แล้วแต่ละคนก็ต่างคนต่างให้การบ้านไว้ แบบนี้ทำให้ชีวิตเด็กมันเปลี่ยนกะทันหัน

ทางคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เขาก็ทำวิจัยในเรื่องของรอยต่อนี้ ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า เป็นผู้ที่นำเรื่องนี้มาคุยกันในประเทศเรา อาจารย์ใช้คำว่าการตัดฉับระหว่างอนุบาลไปประถม มันส่งผลกระทบต่อตัวเด็กมาก พวกผู้ใหญ่อาจมองข้ามไป คิดว่าเด็กไม่สนใจเดี๋ยวก็ปรับตัวได้เอง แต่ผลกระทบของความรู้สึกดีต่อการเรียนมันถูกทำลาย และไม่มีใครดูแล

คำว่าราบรื่นแปลว่าอะไร มันต้องไม่ใช่แบบเดิม รูปแบบการเรียนการสอนควรปรับให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมเยอะๆ ก่อนจะไปนั่งเรียนเขียนอ่านนิ่งๆ อาจจะเป็นการทำโปรเจ็กต์ การเรียนแบบบูรณาการ เชื่อมโยงเนื้อหากับกิจกรรม ต่อยอดจากอนุบาลไป เพราะว่าคำว่าปฐมวัยจริงๆ แล้วมันเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาไปจนกระทั่ง 8 ปี

เพราะฉะนั้นใน พ.ร.บ. เขาให้ใส่ใจตั้งแต่บ้านเข้าสู่เนอร์สเซอรี่ สู่โรงเรียนอนุบาล จากอนุบาลเข้าสู่ประถม นี่คือ transition ที่ต้องร้อยเรียงกันให้ดี ที่ผ่านมาเราไม่ได้ระมัดระวังมากพอ ภาพพ่อแม่พอลูกไปส่งเสร็จ หันหลังกลับ ลูกร้องก็ร้องโวยวาย เช้ามาอีกวันก็ลากกันไปใหม่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้น

นอกจากประเด็นที่คุยกันมา ยังมีอีกเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนเด็กปิดตัวมากขึ้น เวลาเราอยากเห็นการพัฒนา ในแง่การลงทุนบางคนอาจรู้สึกว่ามันดูสวนทางกัน จะทำไปทำไม ครูหวานมองอย่างไร

เป็นความจริงที่ว่าในระยะหลังมานี้ ภาคเอกชนไม่ค่อยมีใครอยากทำโรงเรียนแล้ว นอกจากคนที่มีสายป่านยาวๆ เพราะฉะนั้นโรงเรียนที่มีเหลืออยู่นี่แหละที่ควรเปลี่ยนแปลง ถ้าต้องการจะอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ ทุกวันนี้ครูเองก็กดดัน เพราะว่าสิ่งที่เรียนมาด้านปฐมวัยเขาแทบไม่ได้ใช้เลย เขาแค่สอนไปตามแบบฝึกหัด แล้วเด็กก็ไม่สนุก ครูก็เฉา แต่เพราะโรงเรียนนั้นเขามีวิธีประเมินด้วยการสอบ ครูก็เลยไม่ได้ใช้ศักยภาพที่เรียนมา

มันต่างกับโรงเรียนที่ทำโปรเจ็กต์อย่างสนุกสนาน เด็กมี activity เช่น ออกไปดูตลาดสดแล้วกลับมาทำโปรเจ็กต์ มันเป็นการเรียนรู้ที่กว้างและลึกซึ้งมาก ครูพวกนี้กระหายอยากจะทำอะไรสนุกๆ อยู่แล้ว แต่ระบบของการสอบ มันสร้างความกดดันให้เขาต้องสอนเพื่อการสอบ เน้นวิชาการ ท่องจำ ถ้าไม่ทำเดี๋ยวเขาถูกพ่อแม่ต่อว่าอีกว่าทำไมลูกอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

อันที่จริงประตูการเรียนรู้ของเด็กมันเปิดตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ดันถูกล็อคด้วยการสอบ การวัดผลการสอบทุกวันนี้มันทำร้ายประเทศชาติเราอยู่ ไม่ใช่แค่ปฐมวัยที่ถูกทำร้าย

นอกจากเด็กต้องถูกขังไว้เพื่อการสอบแล้ว ครูเองก็ถูกมัดมือให้สอนเด็กเพื่อที่จะไปสอบด้วย

ใช่ค่ะ แล้วทุกคนอ้างว่าเพราะว่าพ่อแม่เด็กต้องการ สังคมต้องการให้เด็กอ่านเขียนเก่งไวๆ เรียนหนังสือเก่งๆ ได้คะแนนดีๆ ยิ่งถ้าสอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้ สุดยอดเลย คุยกันไปได้ว่าลูกเราเก่ง แต่ไม่รู้ว่าบั้นปลายจะเกิดผลอะไรกับสังคมโดยรวม

หลังจาก พ.ร.บ. ประกาศใช้แล้ว ถ้ามีโรงเรียนที่ไม่ปรับตัวตามได้ไหม เราประเมินติดตามกันได้อย่างไร

ตัวคณะกรรมการนโยบายเขาต้องมีแผน แล้วก็ต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรีอีกชั้นนึง พ.ร.บ. เหมือนช่วยกำกับให้อยู่ในเส้นทาง แล้วถ้าโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ไม่ปฏิบัติตามแผน คณะกรรมการชุดนี้ก็ทำหน้าที่ในการรายงานไปยังต้นสังกัดได้

แต่ถ้าถามว่า ถ้ายังไม่ปรับปรุงแก้ไขกันอีกจะทำยังไง ในความเห็นครู ก็ต้องพึ่งสื่อมวลชนดีๆ ในการตรวจสอบและบอกกับสังคมว่าอะไรถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เช่น ข่าวที่นักเรียนกินขนมจีนกับน้ำปลา นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่เมื่อสื่อมวลชนนำเสนอไปแล้วมันเกิดการเปลี่ยนแปลง คือมันต้องมีคนจำนวนมากช่วยกันเป็นหูเป็นตา การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น

กฎหมายนี้มันยังไม่ศักดิ์สิทธิ์เพราะเรายังไม่ได้ช่วยกันทำ กฎหมายไม่มีวันไปไหนได้ถ้าเราไม่พร้อมใจกันปฏิบัติ ต่อให้มีคณะกรรมการที่มีนายกฯ เป็นประธาน ถ้าไม่ช่วยกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเด็กรวย เด็กจน เด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ รวมถึงพวกเราทุกคนจะลำบาก

เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยใช่ไหม แล้วคนที่จะมาดูแลผู้สูงวัยคือเด็กๆ ในวันนี้ อีก 15 ปีข้างหน้าเขาต้องมารับผิดชอบคนสูงวัยเยอะขนาดไหน แล้วถ้าเรายังเลี้ยงดูเขาแบบเดิม มันจะกระทบต่อคุณภาพของพลเมืองในอนาคต

ก็จะอยู่กันไปแบบตามมีตามเกิด ?

ถ้าเอาแบบนั้นก็ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร แต่อย่าลืมว่าอนาคตของพวกเขาจะแย่หนักด้วย เพราะว่าเขาต้องเสียภาษีให้กับสังคมที่แย่ๆ แต่เด็กๆ จะลำบากกว่าเรา 2 เท่า เขาต้องแบกต้นทุนของพวกเรา เขาต้องมาแบกรับผู้สูงวัยที่มีจำนวนมาก ขณะที่ผู้อยู่ในวัยทำงานมีจำนวนลดลงตลอดเวลา หากว่าเขาเติบโตอย่างไม่มีศักยภาพ

ลำพังแบกตัวเองยังจะไม่รอดอยู่แล้ว เพราะเราเลี้ยงเขาแบบนั้น เขาก็จะไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูลูกของเขา และมันก็จะส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ทุก generation ทั้งที่ปัญหามันควรจะหยุดที่เราได้แล้ว ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนหลายเรื่องแล้ว เหลือแต่การศึกษานี่แหละค่ะ

ครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save