fbpx
กาลครั้งหนึ่ง เมื่อการอ่านในสายตาเด็กเล็ก ไม่ใช่แค่การสะกดคำ

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อการอ่านในสายตาเด็กเล็ก ไม่ใช่แค่การสะกดคำ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

‘นิทานก่อนนอน’ คือภาพจำที่คุ้นเคยสำหรับหลายคน อาจเป็นจากความทรงจำส่วนตัว หรือภาพแรกๆ ที่เราคิดได้เมื่อพูดถึงการเลี้ยงเด็ก นิทานเรื่องเดิมๆ ที่อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีเสียงเล็กเสียงน้อยที่ถูกดัดของพ่อแม่คอยร่ายเรื่องราวให้ฟัง พร้อมภาพประกอบสีสันสดใสที่เราชอบจับจนหนังสือเปื่อย เป็นช่วงเวลาวัยเด็กที่แสนจะมีค่าทางความรู้สึกสำหรับหลายคน

แต่นอกจากความรู้สึกแล้ว การอ่านนิทานหรือหนังสือเด็กยังมีคุณค่ากับพัฒนาการทั้งทางสมองและทางอารมณ์ มีผลที่ทั้งติดตัวและเติบโตในระยะยาวอีกด้วย

ปัจจุบันหนังสือสำหรับเด็กมีมากมาย หลากหลายทั้งเรื่องราวของแต่ละเล่ม และทักษะที่หนังสือมอบให้ เรามีงานหนังสือเด็กเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในกรุงเทพมหานคร มีโซนหนังสือสำหรับเด็กเป็นมุมใหญ่ๆ ในร้านหนังสือทั่วประเทศ และเพราะหนังสือเป็นสื่อกลางที่มีความหมายต่อวัยเด็กของเราเช่นนี้ พ่อแม่จำนวนมากจึงตั้งใจเลือกหนังสือให้ลูกเล็กได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เมื่อพลังของหนังสือบวกกับความห่วงใย อยากให้ลูกรักการอ่าน อยากให้ลูกอ่านหนังสือออก พ่อแม่หลายท่านจึงให้ความสำคัญกับการอ่านเพื่อสะกดคำ หรืออ่านออกเสียง เพื่อวันหนึ่งเมื่อลูกเข้าโรงเรียนหรือออกไปอยู่ในสังคมจะได้มีทักษะติดตัวไปใช้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อพูดถึงการอ่านของเด็ก ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น และการอ่านออกไม่ได้มีคำตอบเป็นหนังสือที่มีคำศัพท์มากมายเพียงอย่างเดียว ความสุข ความใฝ่รู้ การเชื่อมโยงกับตัวเองเข้ากับหนังสือ ไปจนถึงบรรยากาศอบอุ่นของพ่อแม่ที่อ่านหนังสือด้วยกัน และพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ยังจำเป็นและสำคัญที่สุดเสมอ ในการเลือก และ ‘เลือกใช้’ หนังสือ

ครูก้ากรองทอง บุญประคอง ครูและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) และ สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการหนังสือ ‘ฝึกอ่าน’ ตามระดับ ชุด ‘อ่าน อาน อ๊าน’ และ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) คือผู้ใหญ่สองคนที่จะมาบอกต่อเคล็ดไม่ลับสำคัญของการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย ทั้งความสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการ ลักษณะของหนังสือที่เหมาะกับเด็ก และนิยามการอ่าน ที่ไม่ได้อาศัยการอ่านเพียงอย่างเดียว

-1-

ครูก้า - กรองทอง บุญประคอง

การอ่านสำคัญมากกับพัฒนาการเด็กประถมวัย เรามักจะพูดกันว่าการอ่านคือการเรียนรู้ แต่หลายคนอาจลืมไปว่าการ ‘อ่าน’ ของเด็กมีรูปแบบที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ครูก้า – กรองทอง บุญประคอง ครูและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ให้ความหมายการอ่านแบบเด็กเล็กว่า เป็นการอ่านด้วยประสาทสัมผัส และ ‘อ่านเพื่อเรียนรู้โลก’ ที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว

“เด็กปฐมวัย (0-8 ปี) เขาเพิ่งเกิดมาเรียนรู้จักโลกไม่กี่ปี โดยเฉพาะวัยที่เพิ่งเริ่มหยิบจับหนังสือคือแรกเกิดจนถึงประมาณ 6 ขวบ การอ่านของเขาจะไม่เหมือนผู้ใหญ่เราที่ติดคุ้นเคยเมื่อพูดถึงการอ่านว่าคือการอ่านตัวหนังสือออกหรืออ่านคำศัพท์ต่างๆได้   เด็กเล็กๆเขาใช้ทุกประสาทสัมผัสในการ “อ่านโลก” ใบนี้ที่เขาได้สัมผัส การอ่านของเด็กจึงเป็นความพยายามที่จะทำความรู้จัก ตีความ หรือให้ความหมายกับทุกสิ่งที่เขาเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ชิมรส หรือได้สัมผัสจับต้อง โดยที่ไม่ต้องรอให้รู้จักพยัญชนะและสามารถสะกดคำที่คนเขียนขึ้นมาให้ได้ก่อนถึงจะเกิดการเรียนรู้”

“ถ้าจะให้ยกตัวอย่างว่าเด็กปฐมวัยเขาอ่านโลก อ่านสถานการณ์ออกตั้งแต่เล็กๆได้จริงหรือ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองนึกถึงภาพลูกเราตอนสักขวบสองขวบ เขามองหน้ามองตาเรา เขาก็รู้แล้วว่าวันนี้เขาควรจะอ้อนใคร คุณพ่อหรือคุณแม่ หรือคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย และจะอ้อนใครด้วยวิธีไหนจึงสำเร็จ”

ครูก้าเล่าว่า เด็กทุกคนจะมีพลังมหาศาลในการอยากรู้อยากเข้าใจหรือจะเรียกว่าอยากอ่านทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเขาให้ออก สิ่งที่เด็กเห็นตรงหน้าถ้าเป็นคน เขาก็จะอ่านทั้งสีหน้า แววตา ท่าทางของคนที่เขามองอยู่ รวมทั้งยังอ่านบรรยากาศสภาพแวดล้อมประกอบกันอีกด้วย ส่วนการเข้าใจความหมายของสิ่งที่ได้ยิน เขาก็ไม่ได้ทำความเข้าใจเฉพาะคำศัพท์ต่างๆที่เราพูดออกมาเท่านั้น เขาอ่านน้ำเสียงของเราด้วยเช่นกัน เราจะพบว่าแม้กระทั่งเสียงเพลงก็เขาไปทำงานกับความรู้สึกของเด็กๆได้ทั้งที่เขาก็ยังไม่ต้องเล่นดนตรีให้เป็นก่อน เรียกว่าเป็นเซนส์ในการอ่านอย่างเป็นธรรมชาติของเด็ก  การอ่านของเด็กจึงเป็นการอ่านที่ทำงานกับความคิด ความจำและความรู้สึกในสมองของเขากลายเป็นประสบการณ์ เป็นคลังความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นเก็บเอาไว้ใช้เชื่อมโยงกับประสบการณ์ใหม่”

“หนังสือนิทานสำหรับเด็กเล็กในวัยที่ยังอ่านตัวหนังสือแบบสะกดคำไม่ออกจึงเรียกอีกอย่างว่า “หนังสือภาพ”ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “Picture Book” ในการเรียกหนังสือประเภทนิทานสำหรับเด็กเล็ก  แค่การอ่านภาพอย่างเดียวก็สามารถกระตุ้นความสงสัย ให้คิดคาดเดาในสิ่งที่เห็น มองความน่าจะเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์เดิมของเขา เขาจะสนุกที่จะคิด และสนุกที่จะใช้จินตนาการมาผสมผสานกับการให้ความหมายของภาพที่เห็น และอยากติดตามอยากรู้ให้มากขึ้นไปอีกในหน้าต่อๆไป หรือเล่มต่อๆไป ขณะเดียวกันก็มีนิทานภาพบางเล่มที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กๆได้ค่อยๆคุ้นกับคำศัพท์บางตัวที่มีความหมายสอดคล้องกับภาพในนิทาน และตั้งใจให้เด็กๆได้เห็นคำเหล่านั้นซ้ำๆบ่อยในแต่ละหน้า เช่น เมื่อได้ยินครูพูดคำว่า “แม่” ขณะกำลังเล่านิทาน โดยภาพประกอบในหน้านั้นๆก็สื่อถึงความสัมพันธ์ของแม่ลูก เมื่อได้ยินคำว่า “แม่” ทีไรก็จะมีคำว่า “แม่” ปรากฏให้เด็กๆได้เห็นในหน้านั้นๆด้วย เป็นต้น

ครูก้าเล่าว่าการอ่านหนังสือให้ออกเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวของการอ่าน และเป็นส่วนที่ ‘มาทีหลัง’ ตามพัฒนาการของเด็กและควรเริ่มต้นจากการอ่านภาพมากว่า

“ถ้าเอาตัวหนังสือมาก่อน เด็กอาจจะอ่านหนังสือออกโดยที่อาจจะไม่ได้เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง แต่ถ้ามองเห็นภาพบางอย่าง แล้วเข้าใจความหมาย ในที่สุดเขาก็จะอยากสื่อสารอะไรบางอย่างออกมาโดยใช้สัญลักษณ์ เมื่อนั้นแหละตัวหนังสือมันถึงเข้ามามีบทบาท

“ฉะนั้นถ้าเราพูดถึงหนังสือสำหรับเด็กเล็ก มันจึงเริ่มต้นจากหนังสือภาพ แต่บางทีพ่อแม่ไม่รู้ เปิดหนังสือมาไม่เห็นมีตัวหนังสือสักตัว เลยคิดว่าแล้วแบบนี้ลูกจะอ่านหนังสือออกได้ยังไง แต่นี่แหละคือการอ่านออกของเด็ก เขาอ่านภาพ พยายามสังเกตสิ่งที่อยู่ในภาพ และพยายามให้ความหมายว่ามันเกิดอะไรขึ้น เช่น รูปเจ้าหมีสองตัวกำลังเดินจูงมือกันอยู่ เขาอาจจะคิดว่าหมีมันเป็นตากับหลาน แล้วกำลังจะเดินไปที่ไหน เขาจะคิดระหว่างการอ่านภาพเยอะมาก”

หนังสือสำหรับเด็กนั้นมีหลากหลาย และขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละเล่ม ผู้เขียน ผู้แต่ง ผู้วาดภาพประกอบ ต้องการทำงานอะไรกับความคิด หรือต้องการสื่อสารอะไรกับเด็ก ครูก้าชี้ให้เห็นว่าหนังสือบางเล่มอาจเป็นตัวช่วยในการชวนคิด ให้เด็กสงสัยและพยายามคาดเดา บางเล่มอาจสร้างแรงบันดาลใจ บางเล่มอาจตั้งใจให้เด็กได้รู้จักตัวเองและเข้าใจผู้อื่น แต่ท่ามกลางความหลากหลายนั้นจะต้องคำนึงถึงการนำเสนอที่เหมาะสมกับวัยและวิธีใช้หนังสือ เพื่อให้ผู้ใหญ่มีส่วนร่วมกับเด็ก และเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง

ครูก้า - กรองทอง บุญประคอง

หนังสือสำหรับเด็กนั้นมีหลากหลาย และขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละเล่ม ผู้เขียน ผู้แต่ง ผู้วาดภาพประกอบ ต้องการทำงานอะไรกับความคิด หรือต้องการสื่อสารอะไรกับเด็ก ครูก้าชี้ให้เห็นว่าหนังสือบางเล่มอาจเป็นตัวช่วยในการชวนคิด ให้เด็กสงสัยและพยายามคาดเดา บางเล่มอาจสร้างแรงบันดาลใจ บางเล่มอาจตั้งใจให้เด็กได้รู้จักตัวเองและเข้าใจผู้อื่น แต่ท่ามกลางความหลากหลายนั้นจะต้องคำนึงถึงการนำเสนอที่เหมาะสมกับวัยและวิธีใช้หนังสือ เพื่อให้ผู้ใหญ่มีส่วนร่วมกับเด็ก และเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง

“หนังสือบางเล่มไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องอ่านออกด้วยตัวเอง แต่เป็นหนังสือที่ให้ผู้ใหญ่อ่านเรื่องราวให้เด็กจินตนาการได้ หนังสืออาจจะมีตัวหนังสือเพิ่มมากขึ้นก็ได้ แต่วิธีใช้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และต้องคิดว่าการใช้หนังสือนั้นเราได้เหลือพื้นที่ให้เด็กคิดไหม บางครั้งเราใช้หนังสือเป็นตัวแทนเรา อยากบอกอะไรเด็กก็ไปเลือกซื้อหนังสือเล่มนั้นมา แล้วก็ให้หนังสือสอนลูกเราแทน แต่จริงๆ หนังสือทำหน้าที่มากกว่าการสอน ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ให้เด็กอ่านหนังสือออก แต่เป็นการสร้างพื้นที่ให้เด็กเกิดความคิด ทำให้เด็กได้คิดเชื่อมโยง คิดในเชิงตรรกะ ความเป็นไปได้ ใช้จินตนาการโดยไม่ติดอยู่ในกรอบ และที่สำคัญมากคือ หนังสือเหล่านี้จะหล่อเลี้ยงความสนใจใฝ่รู้ของเด็กเอาไว้ ซึ่งเป็นคุณค่ามหาศาล”

ด้วยกรอบคิดนี้ ครูก้าจึงให้ความสำคัญกับ ‘พื้นที่ว่าง’ ที่เด็กจะสามารถใส่ตัวเองลงไป ผ่านวิธีการใช้หนังสือ หรือการที่พ่อแม่คอยตั้งคำถาม พูดคุยกับลูกขณะอ่านไปด้วยกัน หนังสือที่ข้ามการเรียนรู้เหล่านี้โดยการสรุปให้แล้ว เช่น ‘เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ หรือการที่พ่อแม่คอยบอกว่าเด็กต้องเข้าใจอย่างไรในทันที อาจทำให้เด็กหมดสนุก และบดบังพื้นที่ว่างนั้นไป

“มันเป็นการบอกเด็กทุกอย่างว่าเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ หนูควรทำหรือไม่ควรทำอะไร มันไม่ได้เกิดการไปทำงานกับความคิดของเด็ก เป็นการป้อนข้อมูลให้เด็กจำ ซึ่งเด็กจะจำได้หรือแตะใจเด็กได้ไหม ก็เป็นอีกเรื่อง แต่หนังสือที่พ่อแม่อ่านแล้วใช้คำถามปลายเปิดให้เด็กได้คิดเอง มันจะไปทำงานกับความคิดของเด็กมากกว่า ความจำก็จะกลายเป็นสิ่งที่เด็กสามารถนำไปใช้ได้จริง ไม่ใช่จำเพราะผู้ใหญ่เขาบอกมา แต่เด็กไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่ได้อยากทำตาม วิธีการใช้หนังสือจึงสำคัญมาก”

อีกมุมหนึ่ง หนังสือยังเป็นสื่อกลางในการสร้างสัมพันธภาพและความรักระหว่างเด็กกับพ่อแม่ด้วย ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องใช้หนังสือกับลูกในบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่นใจ มีความสุขร่วมกัน เพื่อให้เด็กจดจำว่าการอ่านเป็นช่วงเวลาที่ดี

“ต้องไม่ใช้หนังสือในบรรยากาศที่พ่อแม่เป็นครูสอนให้เด็กสะกดคำให้ออก หลายคนถามครูก้าว่า จะทำยังไงดีล่ะ ลูกไม่เห็นชอบอ่านนิทานเลย พอเราถามกลับว่าแล้วคุณแม่อ่านยังไง ปรากฏว่าอ่านแบบ ชี้ไป สะกดคำไป แน่นอน มันก็เหมือนเวลาเราอ่านหนังสือแล้วไม่มีอรรถรสเลย ทั้งที่ผู้แต่งตั้งใจแต่งมาอย่างน่าสนใจ สนุกสนาน”

“เวลาซื้อหนังสือมาเราต้องพยายามทำความเข้าใจหนังสือนิดนึง หนังสือเล่มนี้อรรถรสมันเป็นยังไง ความน่าสนใจของมันอยู่ตรงไหน และต้องอ่านอย่างมีความสุขร่วมกับลูก ถ้าเราคาดหวังว่าอยากจะให้ลูกรักการอ่าน อยากให้วันนึงเขาลุกขึ้นมาหยิบหนังสืออ่านด้วยตัวเอง เราก็ต้องทำให้การอ่านระหว่างเรากับเขาเป็นภาพจำที่มาคู่กับความสุข”

ในอีกมุมหนึ่ง ไม่ใช่เพียงคนโตแล้วเท่านั้นที่อยากจะแน่ใจว่ามีใครสักคนรับฟัง เด็กก็ต้องการรับรู้ว่าพ่อแม่ใส่ใจเสียงและความคิดของพวกเขาเช่นกัน การอ่านถือเป็นสื่อกลางชั้นดีที่จะทำให้พ่อแม่ได้รับฟัง และสังเกตความคิดของลูก ครูก้าได้ยกตัวอย่างการสร้างบรรยากาศการอ่านที่แค่ฟังก็อบอุ่นใจไว้ว่า

“เหมือนอ่านหนังสือทีไรก็ได้อยู่ในวงแขนของคุณพ่อคุณแม่ อ่านไปแล้วก็สนุกกันไป ทายนู่นทายนี่ด้วยกัน หน้าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นนะ เดี๋ยวเรามาลองดูไปด้วยกันซิ หรือถ้าเรื่องราวไม่เป็นแบบนี้ จะเป็นยังไงได้อีก

“ถ้าทำแบบนี้หนังสือจะเป็นสื่อกลางในการสร้างบทสนทนา แล้วยิ่งพ่อแม่โยนคำถามที่ไม่มีผิดมีถูกไป เด็กจะกล้าตอบ พอเขาตอบ และเล่าความคิดให้เราฟัง ก็จะเรียนรู้ว่าพ่อแม่ฟังเขา เข้าใจเขา เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ เลยสำหรับมนุษย์ทุกคน ที่ได้รู้ว่าเราพูดอะไรแล้วมีคนรับฟัง

“หนังสือของเด็กยังทำหน้าที่สื่อสารด้วยว่า พ่อแม่เปิดกว้างด้านความคิด บางทีพ่อแม่ลูกอาจจะคิดไม่ตรงกันก็ได้ แต่มีหนังสือเป็นตัวกลาง สร้างการพูดคุยและรับฟังความคิดกันและกัน แตกต่างกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันก็ได้ แต่ถ้าเราไปมุ่งว่าต้องให้ลูกสะกดคำให้ได้ ลูกจะไม่สนุก การอ่านนิทานกับพ่อแม่ก็จะไม่ใช่ความสุข เพราะอาจยังไม่ใช่วัยของเขา”

การอ่านยังเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการทางสมองที่เรียกว่า ‘EF’ (Executive Functions) กระบวนการทางสมองที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ และการทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนบรรลุความสำเร็จ เป็นทักษะสำคัญไม่แพ้  IQ ที่จะมีผลกับลูกน้อยเมื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

ครูก้าได้อธิบายความเชื่อมโยงของการอ่านและ EF ไว้ว่า กลไกของหนังสือบางเล่มช่วยกระตุ้นให้เด็กได้คิดและคาดเดา ทำให้สมองได้ออกกำลัง และพัฒนาความคิดและทักษะที่จำเป็นในอนาคต

“สมมติเขาเห็นภาพ เส้นยาวๆ แล้วทายว่าน่าจะเป็นงวงช้าง แต่หนังสือเฉลยในหน้าถัดไปว่าเป็นหางของนก เขาจะสนุกที่ได้ทาย ได้ใช้กระบวนการคิด ดึงความจำเดิมว่าเขาเคยเห็นอะไรที่คล้ายๆ กัน คิดเชื่อมโยงว่ารูปร่างลักษณะแบบนี้มันน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง พอเฉลยออกมาอาจจะใช่หรือไม่ใช่ตามที่เด็กคิดก็ไม่เป็นไรถ้าเรายืดหยุ่นกับการตอบของเขา เด็กก็จะมีความยืดหยุ่นทางความคิดและมองเห็นคำตอบที่หลากหลายเช่นกัน

“การดึงความจำเพื่อใช้งานเพื่อมาคาดเดาก็เป็นส่วนหนึ่งของทักษะสมอง EF คำว่าทักษะ หมายความว่า ต้องถูกนำมาใช้บ่อยๆ จนเกิดเป็นทักษะ ถ้ามันไม่ได้ถูกนำมาใช้ ถึงจะมีเซลล์สมองส่วนนี้เกิดมาอยู่แล้ว เซลล์มันก็อาจจะค่อยๆ ฝ่อไป(กระบวนการตัดแต่งกิ่งก้านสาขาของเซลล์สมองที่เรียกว่า Pruning) แทนที่จะแข็งแรงกลายเป็นทักษะที่อยู่ติดตัวเด็ก ฉะนั้นหนังสือจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้สมองเด็กๆ ลุกขึ้นมาออกกำลัง เหมือนกับการทำแบบฝึกหัดของสมองว่า จะขบคิดกับเรื่องนี้อย่างไร ใช้สมองส่วนไหนในการขบคิด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าสมองของเด็กๆจะทำงานได้ดีต้องมีความสุขควบคู่กันไปด้วยค่ะ

“หนังสือที่ดีและการอ่านหนังสือกับเด็กที่ดี จึงควรจะเหลือพื้นที่ให้เด็กได้คิด บางครั้งเราเคยเห็นหนังสือที่ดีมาก แต่ผู้ใหญ่ไม่เชื่อว่าเด็กจะคิดเองได้ อ่านแล้วแปลความและสรุปความให้เรียบร้อย กลัวเด็กไม่เข้าใจ ในที่สุดเด็กก็ไม่ได้คิดอะไรเอง หนังสือก็ไม่ได้ทำหน้าที่และหมดคุณค่าไป”

ถ้วยฟูชวนหนูรู้จักอารมณ์

หลายคนอาจไม่เชื่อว่าหนังสือเพียงเล่มสองเล่ม จะส่งต่อทักษะและประสบการณ์ของเด็กได้อย่างไร ในเรื่องนี้ครูก้าได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ผ่านหนังสือเด็กสองเล่ม คือ ‘ถ้วยฟูโกรธแล้วนะ’ และ ‘เก้าอี้เชิญตามสบาย’ เพื่อชี้ให้เห็นว่าหนังสือที่ปรับให้เข้ากับการเรียนรู้ของเด็กสามารถบันทึกทักษะ วิธีคิด และการใช้ชีวิตลงไปในตัวตนของเด็กได้อย่างแนบเนียน แบบที่เด็กไม่เพียงจดจำ แต่เข้าใจมันด้วย

เรื่องที่สำคัญมากสำหรับเด็กเรื่องหนึ่งคือ ความสามารถในการจัดการอารมณ์ อารมณ์เป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ผ่านมาในสังคมเราเห็นคนหัวร้อนอยู่เยอะ มันเกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้จักวิธีจัดการอารมณ์ของเรา หนังสือ ‘ถ้วยฟูโกรธแล้วนะ’ เป็นหนังสือที่ทำให้เด็กรู้จักอารมณ์ และรู้ว่าความโกรธเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ มันเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องไปกดไว้ แต่ต้องมองมันให้เห็น เรียกมันให้เป็นว่านี่คือ ‘เจ้าตัวโกรธ’ เมื่อรู้จักเจ้าตัวโกรธแล้วเราจะทำอย่างไรให้หายโกรธได้บ้าง

“ประเด็นสำคัญที่หนังสือบอกกับเราคือ อย่าปฏิเสธอารมณ์ ปกติเวลาหลายคนเลี้ยงเด็ก มักจะพูดว่า ‘ไม่ต้องโกรธลูก ไม่เป็นไร เพื่อนไม่ได้ตั้งใจ’ สะท้อนว่า เวลาเด็กโกรธแล้วเลือกบอกให้ใครรับรู้ คนที่เลือกกลับปฏิเสธ ไม่ยอมรับว่าเด็กโกรธได้ หรืออย่างเวลาเขาเจ็บก็บอกว่า ‘ไม่เจ็บลูก นิดเดียว ไกลหัวใจตั้งเยอะ’ ทั้งที่มันเจ็บ เมื่อเราปฏิเสธอารมณ์ของเด็กมาตลอด ความโกรธหรืออารมณ์ต่างๆ ก็ตกค้างอยู่ภายใน จนในที่สุดเราก็มีปัญหาทางอารมณ์กันมาก หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่ดีที่ช่วยให้เด็กรู้จักอารมณ์ของตัวเองและจัดการมันได้”

“ครูก้าเอาหนังสือเล่มนี้มาถามเด็กๆ ว่า ใครเคยโกรธบ้าง แล้วเขาทำยังไง เด็กบางคนบอกว่าไปอาบน้ำแล้วก็หาย ไปเล่นแล้วก็หาย ทำแบบนี้ เด็กจะได้คลังวิธีจัดการความโกรธไว้ใช้”

เก้าอี้เชิญตามสบาย

ส่วนหนังสือ ‘เก้าอี้เชิญตามสบาย’ เป็นหนังสือที่ครูก้าบอกว่า ทำให้เด็กคิดถึงคนอื่นและคนที่มาทีหลัง นำเสนอผ่านเรื่องราวของเจ้ากระต่ายที่เอาเก้าอี้ไปตั้ง แล้วปักป้ายไว้ข้างๆ ว่า ‘เชิญตามสบาย’ จากนั้นก็มีเจ้าลาเอาตะกร้าลูกโอ๊คมาวางไว้ที่เก้าอี้ ส่วนตัวเองไปนอนหลับใต้ต้นไม้แทนที่จะนั่งเก้าอี้ เจ้าสุนัขจิ้งจอกพอเห็นลูกโอ๊ควางอยู่บนเก้าอี้แล้วมีป้าย ‘เชิญตามสบาย’ ก็เลยกินลูกโอ๊คจนหมด แล้วก็คิดว่า หากใครเดินผ่านมาเห็นตะกร้าว่างเปล่า ไม่มีลูกโอ๊ค คงจะรู้สึกไม่ดี เลยเอาอาหารที่หามาได้ใส่ไว้แทน

“เด็กๆ จะเห็นภาพว่า อ๋อ เราต้องนึกถึงคนอื่นด้วยนะ ไม่ใช่ว่ากินอะไรอร่อยคนเดียวโดยไม่นึกว่าใครมาทีหลังเรา

“เวลาเรามานั่งสอนว่าเด็กดีคืออะไร เด็กดีต้องรู้จักแบ่งปัน มันมักจะไม่ค่อยได้ผล เขาจำได้แต่ไม่ได้ผล แต่พอชวนเด็กๆ ทายว่า สุนัขจิ้งจอกมากินอาหารบนเก้าอี้จนหมดอีกแล้ว เขาจะคิดยังไง เด็กๆ ก็บอกว่า ‘เสียใจ เจ้าสุนัขจิ้งจอกก็เลยเอาขนมปังวางไว้ให้’ เวลาตั้งคำถามแบบนี้ ไม่ใช่แค่หนังสือบอกอะไร แต่จะกลายเป็นโจทย์ของเด็กที่ต้องคิดว่า ถ้าเป็นตัวเองล่ะ จะทำอย่างไร”

-2-

ท่ามกลางหนังสือเด็กมากมาย หนังสือชุดหนึ่งที่สร้างสรรค์โดยยึดการพัฒนาที่สมวัยของเด็กเป็นหัวใจหลัก คือหนังสือชุด ‘อ่าน อาน อ๊าน’ หนังสือฝึกอ่านตามระดับที่มาพร้อมชื่อน่ารักๆ อ่านตามเสียงสูงต่ำของคำ มีจำนวนหน้าไม่มาก มีภาพประกอบคอยเสริมจินตนาการอันไม่สิ้นสุด ตัวหนังสือหรือคำศัพท์ในแต่ละเล่ม มีไม่มาก แต่ถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้เชื่อมโยงกับภาพ และประสบการณ์ของเด็ก ไปจนถึงดูว่าเด็กจะได้เรียนรู้คำไหนที่ท้าทายสำหรับเขา จำนวนคำจะมากขึ้นเรือยๆ ในเล่มถัดไป ไล่เรียงตามระดับการเรียนรู้ของเด็ก

สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการฯ และ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) คือหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือเล่มนี้ เธอเล่าถึงความสำคัญของการอ่านไว้ว่า เธอเคยมีประสบการณ์การทำงานที่มูลนิธิเด็ก และทำหนังสือการ์ตูนเด็กกับสถาบันการ์ตูนไทย โดยมีแรงบันดาลใจจะสื่อสารเรื่องต่างๆ ผ่านหนังสือ เหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่มักจะตั้งตัวจากความล้มเหลวด้วยงานการ์ตูน จนทำให้คนมีพลังอยากจะช่วยกันปฏิรูปสังคม

การทำงานครั้งนี้ทำให้เธอจับสังเกตพฤติกรรมการอ่านของเด็กไทยว่า ต่อให้เด็กไม่อยากอ่านหนังสือ หรือชอบอ่าน แต่เมื่อเป็นการ์ตูน เด็กจะหลงรักหนังสือเร็วมาก และจะฟื้นกระบวนการอ่านและการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

หนังสือสำหรับเด็ก

สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการฯ และ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.)

เมื่อจะทำหนังสืออ่านตามระดับ สุดใจและทีมงานได้ทำการศึกษาข้อมูลและลงพื้นที่เพื่อดูพฤติกรรมการอ่านของเด็กทั่วประเทศ ด้วยความตั้งใจจะทำให้การอ่านเข้าถึงเด็กทุกคน เธอเดินทางไปทั้งเหนือ อีสาน ใต้ ทำกิจกรรมอ่านหนังสือกับเด็กอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง และพบว่าหนังสือที่ศูนย์เลี้ยงเด็กกว่า 700 ศูนย์ทั่วประเทศ มักเป็นหนังสือเบอร์โทรศัพท์ อย่าง Yellow Pages อาจมีหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ประปราย แต่ไร้วี่แววของนิทานสำหรับเด็ก หรือหนังสือที่เหมาะกับวัย ขณะเดียวกันเมื่อทำกิจกรรมการอ่านร่วมกับเด็กในพื้นที่ก็พบว่า แค่อ่านหนังสือให้เด็กฟังวันละ 10 ถึง 15 นาที ก็จะทำให้เด็กถอดรหัสเชื่อมโยงความหมายความเข้าใจได้ และอ่านหนังสือออกภายใน 2-3 ปี

“พอมาทำงานตรงนี้ลึกซึ้งมากขึ้น เราเริ่มไปเจองานวิจัย ที่พบว่าจริงๆ ถ้าทำให้เด็กเข้าถึงหนังสือและกิจกรรมการอ่าน โดยผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่เล็กๆ เด็กก็จะรักการอ่านไปโดยอัตโนมัติ จะมีฐานการคิด การวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ เสร็จสรรพเลย แต่ถ้าคุณไม่ทำให้การอ่านมันอยู่ในเนื้อในตัวของคน จะทำให้คนคิดวิเคราะห์ไม่ได้ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีจินตนาการ”

เธอยกตัวอย่างความมหัศจรรย์ของการอ่านว่า ขณะลงพื้นที่ในจังหวัดยโสธร มีพ่อแม่ครอบครัวหนึ่งที่บกพร่องทางการได้ยิน ทั้งครอบครัวพบกับอาการนี้มาหลายชั่วอายุคน เมื่อทั้งคู่มีลูกด้วยกัน ทุกคนพยากรณ์ว่าเด็กคนนี้ก็จะต้องบกพร่องทางการได้ยินด้วย แต่เมื่อลูกของพวกเขาได้มีคนอ่านหนังสือให้ฟัง กลับกลายเป็นว่าเด็กคนนี้เติบโตมาอย่างเฉลียวฉลาด พูดได้ ฟังได้

“ตรงข้ามบ้านเขาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทำโครงการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง พอลูกงอแงเมื่อไหร่ เขาจะอุ้มลูกไปให้คนอ่านหนังสือให้ฟัง ทุกคนในชุมชนรู้ว่าคุณแม่ท่านนี้อยากเข้าโครงการด้วย แต่พูดไม่ได้ ไม่มีเสียง ทุกคนเลยมาช่วยอ่านหนังสือให้น้องฟัง จนตอนนี้น้องเรียนหนังสืออยู่ป.6 แล้ว เป็นเด็กเฉลียวฉลาดด้วย”

สุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการโครงการฯ และ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.)

เมื่อถอดบทเรียนกรณีศึกษาของครอบครัวนี้ สุดใจได้ศึกษาทั้งจากกรณีของต่างประเทศ และงานวิจัยต่างๆ พบว่า มนุษย์ในแต่ละช่วงวัย มีการพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น หากถึงเวลาสำหรับพัฒนาการในด้านนั้นๆ แล้วมองข้ามการพัฒนาตามวัย ทักษะบางทักษะก็จะหายไปตลอดกาล แต่ถ้าให้ความสำคัญกับทักษะตามวัยอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ทั้งร่างกายและสมองเติบโตพัฒนาอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัยหรือ 0-6 ปีแรก โดยเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ พัฒนาสมวัย ก็คือหนังสือและการอ่าน

“เราพบว่าหนังสือเป็นสื่อที่ค่อนข้างมหัศจรรย์ ออกแบบมาอย่างดี ถ้าเราไปดูหนังสือเด็กระดับโลกจะเห็นว่าเขาสามารถเอาเนื้อหายากๆ มาใส่แล้วออกแบบเชิงวรรณกรรม มีภาพประกอบที่คอยเล่าเรื่องอย่างเนียนสนิท เช่น หนังสือบางเล่มทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องยาปฏิชีวนะ เด็กจะดูแลสุขภาพตัวเอง เวลาน้ำมูกเขียวก็รู้ว่าไม่ต้องกลืนเข้าไป ต้องเอาทิชชู่มาสั่งน้ำมูกแล้วเก็บให้มันเป็นที่เป็นทาง ทุกครั้งที่ออกจากห้องน้ำเด็กจะรู้ว่ามีเชื้อโรคติดมา ทำให้ท้องเสีย ฉันต้องฟอกสบู่ล้างมือก่อนกินข้าว”

นอกจากนี้ในต่างประเทศ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ขั้นบันไดของภาษา’ หรือการเก็บสะสมคลังคำของเด็กตั้งแต่อยู่ในท้อง แล้วไล่เรียงพัฒนาไปเรื่อยๆ จนโต ขั้นบันไดของภาษาถูกนำมาจับคู่กับกระบวนการของหนังสือ และเรียกหนังสือประเภทนี้ว่า ‘Level book’ หรือหนังสือที่ช่วยพัฒนาการอ่านให้กับเด็กๆ ตามระดับ

จากการค้นพบหนังสือประเภทนี้ ทีมงานทั้งภาควิชาการที่คอยศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก นักวาดภาพ บรรณาธิการ และทีมงานอีกหลายส่วน จึงจัดทำ Level book หนังสือฝึกอ่านตามระดับที่เป็นภาษาไทยขึ้น โดยมีใจความสำคัญในการทำหนังสือคือ เด็กต้องสะสมคลังคำได้มากพอ กระบวนการเล่าเรื่องมันต้องเป็นการเล่าเรื่องเชิงวรรณกรรม และเด็กต้องมีความสุขกับการอ่าน

“เป้าหมายคือเราต้องการให้เด็กมีความสุขกับการอ่าน ถ้าเด็กมีความสุข เขาจะกระหายที่จะอ่าน ไปหาเล่มอื่นๆ มาอ่านต่อ ไม่ต้องมีใครมาบังคับ ไม่ต้องมีคะแนน ไม่ต้องไปคะยั้นคะยอให้อ่านเลย” สุดใจกล่าว

ของหาย

เมื่อเปิดหนังสือ อ่าน อาน อ๊าน เลเวลที่ 1 ชื่อเรื่องว่า ‘ของหาย’ จะเห็นว่าหนังสือมีความยาวไม่เกิน 5 หน้า และแทบไม่มีตัวหนังสือเลย แต่คำทุกคำจะปูพรมอยู่ในภาพ

เปิดหน้าแรก ภาพเด็กน้อยขึ้นรถสองแถวไปพร้อมแม่และตุ๊กตาหมีหนึ่งตัว พลิกหน้าถัดไปทั้งคู่เดินจับมือกันไปตามตลาด กระทั่งเด็กในภาพมีสีหน้าตกใจเมื่อพบว่าบางอย่างหายไป ใช่แล้ว! เด็กน้อยลืมตุ๊กตาหมี

หนังสือเล่มนี้ตั้งใจสอนคำว่า ‘ของหาย’ โดยที่เด็กได้เข้าใจถ่องแท้ว่า ตุ๊กตาหมีแสนน่ารักที่เคยอยู่ข้างกายนั้นได้หายไป ในหนังสือจะยังได้เห็นภาพสถานที่ต่างๆ และสีหน้าท่าทางของตัวละคร เรียกได้ว่าเรียนรู้ทั้งความเข้าใจทั่วไป และอารมณ์ความรู้สึกในหนังสือเล่มเดียว

พร้อมกันกับหนังสือภาพ ในชุดหนังสืออ่านตามระดับจะมีหนังสือแยกสำหรับผู้ปกครองหรือคุณครูที่เรียกว่า ‘หนังสือกำกับ’ ระบุจุดประสงค์ของหนังสือภาพแต่ละเล่ม คำที่เด็กจะได้พบ โดยแยกเป็นคำง่ายๆ ที่เด็กน่าจะรู้อยู่แล้ว ไปจนถึงคำที่ท้าทายทั้งความเข้าใจและการอ่านออกเสียงของเด็ก ระบุวิธีการใช้หนังสือ โดยเน้นไปที่การมีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยถามความเห็นของเด็ก และบางคำถามก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเด็กเองที่ต่อยอดไปจากหนังสือ

หนังสือชุดนี้ไม่ใช่หนังสือภาพซะทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่การ์ตูนคอมมิกที่เป็นช่องๆ จะมีส่วนผสมระหว่างความเป็นภาพประกอบสำหรับเด็ก เพิ่มอารมณ์ความรู้สึกผ่านเรื่องราวและสีหน้าของตัวละคร ให้เด็กรู้ว่าภาษากายเช่นนี้คืออะไร ซึ่งเป็นความตั้งใจของทีมงานที่เห็นว่าหนังสือระดับแรก เหมาะกับพัฒนาการเรื่องอารมณ์ความรู้สึก

“ตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ขวบเป็นช่วงที่เด็กต้องเรียนรู้เรื่องอารมณ์มากที่สุด และเรียนรู้อารมณ์ผ่านภาษากาย การโอบกอดของแม่ คือไม่ได้เรียนรู้ผ่านความหมายของภาษา แต่เป็นภาพ หรือประสาทสัมผัสอื่นๆ เช่น ถ้าแม่ชมเขา กอด จับมือ แต่ภาษาที่เราส่งเสียงไปเป็นคำว่า ‘อีเด็กเปรต แม่รักลูกจังเลย (เสียงอ่อนเสียงหวาน)’ เด็กจะเข้าใจว่าคำนี้เป็นคำที่อ่อนโยน ปลอบใจ กลับกันหากพูดว่า ‘กูรักมึงจังเลย! (ตะโกน)’ เด็กก็จะรู้สึกว่า แม่อารมณ์ไม่ดี โมโห ฉะนั้นมันเป็นกระบวนการที่เด็กดูภาพก็รู้เรื่อง และอ่านได้จนจบ มีแค่ 4-5 หน้าเอง” สุดใจกล่าว

กลไกสำคัญของการอ่านคือ ขณะอ่านหนังสือพ่อแม่หรือครูจำเป็นจะต้องชวนเด็กๆ คุยไปด้วย สุดใจยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น พอดูภาพ อาจลองถามเขาว่า เด็กๆ คิดว่าคนไหนเป็นแม่ คนไหนเป็นลูก เด็กๆ คิดว่าแม่ลูกคู่นี้จูงมือกันไปไหน ดังนั้น ถึงไม่มีตัวหนังสือแต่ ปฏิสัมพันธ์’ ระหว่างพ่อแม่หรือคุณครูกับเด็ก จะช่วยให้คำพูดของเด็กหลุดออกมา โดยไม่มีตัวอักษรยั้วเยี้ยมาทำให้เด็กกลัว และไม่ตัดโอกาสการเรียนรู้ของเด็กโดยการเฉลยทุกอย่าง

“เวลาเด็กดูภาพ เขาดูละเอียดนะ สายตาเด็กกับสายตาผู้ใหญ่ต่างกันเยอะมาก เด็กจะเรียนรู้ว่าแม่ลูกในภาพกำลังทำอะไร เด็กบางคนรู้ตั้งแต่หน้าแรกแล้วว่า ตัวละครเด็กในหนังสือเรื่อง ‘ของหาย’ ลืมตุ๊กตาหมี เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับเขาเหมือนกัน แต่บางทีผู้ใหญ่จะคุ้นชินกับการอ่านคำ แล้วค่อยอ่านภาพ ก็จะไม่รู้”

“การฝึกอ่านสำหรับเด็กจะฝึกสองเรื่อง หนึ่ง ฝึกให้รู้คำ เพื่อนำไปสู่การอ่านออก สอง ฝึกตีความ ซึ่งเวลาเราบ่นว่าเด็กคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ก็เพราะเราไม่เคยปล่อยช่องว่างให้เด็กตีความได้เองเลย ครูจะบอกทั้งหมดเลย แต่หนังสือชุดนี้ไม่ใช่ ครูบางคนที่ผ่านกระบวนการอบรมการใช้หนังสือชุดนี้บอกว่า อึดอัดมากเลย เพราะไปลบมายด์เซตเดิมของครูทั้งหมด บางเรื่องครูไม่ต้องสอน ครูต้องปล่อยให้เด็กคิด ชักชวนพูดคุย”

หนังสืออีกเล่มที่สุดใจหยิบมายกตัวอย่าง คือหนังสืออ่านระดับที่ 1 ชื่อเรื่องว่า ‘ชิงช้า’ เป็นเล่มที่เธอเล่าว่าช่วยเด็กทั้งในการอ่านออกและการตีความ ภาพของเด็กผู้หญิงนั่งบนชิงช้าตัวใหญ่ ในหน้าแรกมีเพียงผู้หญิงกับผู้ชาย พร้อมตัวหนังสือด้านล่างที่เขียนไว้ว่า ‘แม่ กะ พ่อ’ ยิ่งเปิดหน้าหนังสือไปเรื่อยๆ ตัวละครก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปพร้อมๆ ตัวหนังสือด้านล่าง เช่น ‘แม่ มีนา กะ พ่อ’

สุดใจยกตัวอย่างรายละเอียดของการออกแบบที่เกิดจากความใส่ใจในตัวเด็กไว้เช่น การใช้คำว่า ‘กะ’ ในหนังสือ เป็นความจงใจใช้แทนคำว่า ‘กับ’ เพราะในเด็กเล็กๆ 3-4 ขวบ จะยังไม่สามารถเข้าใจตัวสะกดดีนัก นอกจากนั้นคำกับภาพในหนังสือเรื่องชิงช้า ยังสอดคล้องกับจังหวะภาพพอดิบพอดี เช่น ภาพที่มีแม่ มีนา พ่อ ก็จะมีคำว่า ‘แม่ มีนา พ่อ’ วางเรียงลำดับเหมือนกับภาพที่เด็กเห็น แต่เมื่อเปิดหน้าถัดๆ ไป ตัวหนังสือก็เริ่มสลับตำแหน่ง ไม่ได้เรียงตามตำแหน่งบุคคลในภาพ ซึ่งสุดใจเล่าว่าเป็นความตั้งใจท้าทายความสามารถของเด็ก หรือหากสังเกตให้ดี ทุกหน้าของหนังสือชิงช้าจะมีแมวตัวเล็กๆ ซ่อนอยู่ในแต่ละภาพ เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ผู้จัดทำสอดแทรกไว้ เพื่อให้เด็กสนุกในการหาว่า หน้าต่อไปแมวจะไปแอบอยู่ตรงไหนของภาพ

คู่ไปกับหนังสือชิงช้า หนังสือกำกับจะแนะนำให้พ่อแม่หรือคุณครูถามคำถามหลังการอ่าน เพื่อให้เด็กเชื่อมโยงกับตัวเอง เป็นคำถามง่ายๆ เช่น ครอบครัวของหนูมีใครบ้าง หนูชอบตอนไหนของเรื่องมากที่สุดเพราะอะไร

“จะไม่มีคำถามถูกผิด แต่เป็นคำถามปลายเปิดเสมอ เพื่อให้เด็กได้วิเคราะห์ ได้กล้าพูดคุย อะไรก็ได้ที่เขาพูดแล้วไม่มีผิดไม่มีถูก ให้ขึ้นอยู่กับความคิดของเด็ก นี่คือลักษณะของหนังสือที่ออกแบบพิเศษขึ้นมา”

สุดใจเล่าว่าเมื่อนำหนังสือชุดนี้ไปทดลองกับโรงเรียนจริง ก็เกิดปรากฏการณ์เด็กเข้าคิวกันเพื่อรออ่านหนังสือ อาจเริ่มจากอ่านให้ครูฟัง อ่านไปด้วยกัน ไปจนถึงวันที่เด็กหยิบมาอ่านเองอย่างสนุกสนาน

“บางทีตอนเช้าเวลาครูมีภารกิจต้องไปรับเด็กนักเรียน เด็กก็จะมาเข้าคิวยาวเหยียด เพราะอยากอ่านหนังสือให้ครูฟังว่า ฉันเนี่ยอ่านออก” สุดใจเล่า

สำหรับสุดใจและทีมงาน ‘อ่าน อาน อ๊าน’ ถือเป็นพันธกิจที่เธอยังไม่ละมือ และอยากจะวาดฝัน ช่วยพัฒนาหนังสือให้ทำงานกับเด็กเล็กได้ดีขึ้น นอกจากความคาดหวังว่าหนังสือชุดนี้จะสามารถเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับพ่อแม่และเด็กๆ ในการหัดอ่านตามพัฒนาการ ทีมงานยังวางเป้าหมายจะจัดเวทีแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อนๆ สำนักพิมพ์อื่น เพื่อให้การอ่านตามพัฒนาการได้รับการแตกกิ่งก้านสาขา และมีไอเดียปรับรูปแบบหนังสือให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งในแง่รูปแบบ เช่น ทำเป็นบทกวี และทั้งความหลากหลายของมนุษย์ เช่น ทำหนังสือที่ตัวละครเป็นคนตามภูมิภาคต่างๆ ภาคใต้ ภาคอีสาน ชาวมุสลิม เป็นต้น

ในช่วงท้ายของการสนทนา สุดใจตกผลึกความหมายและความสำคัญของการอ่านโดยยกคำพูดจาก คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ว่า

“การอ่านเปรียบเสมือนชานชลา ถ้ามันไม่มีชานชาลา คุณจะไม่สร้างความสัมพันธ์ ความผูกพัน แล้วกระบวนการเรียนรู้อื่นๆ ก็จะไม่เกิดตามไปด้วย”

หนังสือเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของหลายอย่าง ไม่เพียงแค่การอ่านออก แต่ยังทำให้เด็กๆ ได้ออกไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ทั้งทางอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ เป็นตัวกลางของความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและพ่อแม่ เหล่านี้อาจเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ชีวิตในวันหน้าของเขามั่นคงแข็งแรงทั้งสิ้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save