ธิติ มีแต้ม เรื่อง
กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ
“ด้วยความกลัวว่าลูกจะสอบเข้าไม่ได้ ช่วงใกล้สอบผมจะพาลูกไปเรียนพิเศษ ทำชีทเพิ่ม เวลาที่ลูกเจอโจทย์ยากๆ แล้วทำไม่ได้ ผมจะเครียดและเริ่มเสียงแข็งกับลูก เริ่มใช้อารมณ์โดยไม่รู้ตัว ลูกก็ร้องไห้เพราะถูกที่บ้านตำหนิว่าทำไมถึงทำไม่ได้”
เสียงสะท้อนของ ฉัตรชัย โอวาทนุพัฒน์ นักธุรกิจพ่อลูกสองที่บอกถึงรอยแผลในใจที่เขารู้สึกทำพลาดไปกับลูกคนแรกในการบีบเค้นและเร่งรัดให้ลูกสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 ให้ได้
เสียงของฉัตรชัยเป็นตัวอย่างบางส่วนในหลายๆ เสียงของผู้ปกครองที่สะท้อนภาพการกระทำกับเด็กวัยอนุบาล ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และการสอบเข้า ป.1 ก็กำลังเป็นประเด็นที่สังคมไทยโดยเฉพาะแวดวงการศึกษาคล้ายกับกำลังงมเข็มในมหาสมุทรเพื่อหาทางแก้ปัญหาว่า ‘การสอบเข้า ป.1 จำเป็นหรือไม่’
แน่นอนว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมอยากให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่ดี และคงมีไม่น้อยที่พยายามเสาะหาเลือกเฟ้นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เพื่อวางอนาคตให้ลูกๆ ไปสู่ความเป็นเลิศ
ประเด็นคือเด็กวัยอนุบาลที่กำลังจะก้าวขึ้นชั้นประถมนั้นจำเป็นต้องแสวงหาความเป็นเลิศทางการศึกษาหรือยัง และใครจะการันตีว่าอนาคตเด็กๆ จะได้รับความเป็นเลิศตามที่พ่อแม่คาดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาแบบไทยๆ ที่มีข่าวรายวันปรากฏให้เห็นบีบเค้นหัวใจมาอย่างสม่ำเสมอ เช่น โรงเรียนให้เด็กกินเส้นขนมจีนคลุกน้ำปลา, ครูทำโทษเด็กด้วยการหยิกท้องและบิดหูเพราะเด็กซน หรือถึงขั้นสะเทือนใจแบบที่ครูใช้ไม้ฟาดนักเรียนจนอวัยวะภายในร่างกายบอบช้ำเพียงเพราะเด็กไม่ทำการบ้าน ฯลฯ
แน่นอนว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างประเภทสุดโต่งซึ่งไม่มีใครกลับไปแก้ไขอดีตได้ บาดแผลบนร่างกายเด็กก็ค่อยๆ กลายเป็นความทรงจำที่ติดตัวพวกเขาไปจนโต
กลับมาที่เสียงสะท้อนของฉัตรชัย แม้ว่าลูกของเขาไม่ได้ถูกทำร้ายจากโรงเรียนจนถึงขั้นบาดเจ็บ แต่ฉัตรชัยเองกลับมองเห็นว่าเพียงแค่การคาดหวังและกดดันให้ลูกที่ยังเป็นแค่วัยอนุบาล ต้องฝึกฝนเพื่อสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนดังให้ได้ ก็นับว่าไม่ใช่เรื่องที่ถูกที่ควรนัก
ฉัตรชัยบอกว่า กับลูกคนแรกนั้นเขาไม่มีประสบการณ์จึงให้ลูกเรียนไปตามวัยเหมือนคนอื่นๆ พอถึงเวลาสอบก็เริ่มหาข้อมูล และทำให้เขายอมรับว่ากำลังติดกับดักของความกลัวว่าลูกจะสอบไม่ได้
“ผมว่า information ที่ลูกได้รับมันเยอะไป เยอะจนเขาจับหลักไม่ถูกว่าเขาจะต้องคิดอย่างไร เหมือนเรากำลังตีกรอบให้เขา พอมานึกย้อนไป ผมเห็นว่าลูกเครียดกับส่วนนี้มากไป” ฉัตรชัยบอกกับวันโอวัน

เปิดโลกปฐมวัย
ก่อนจะไปสู่คำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญว่า ‘การสอบเข้า ป.1 จำเป็นหรือไม่’ 101 เริ่มต้นจากโจทย์ว่าอะไรคือความเหมาะสม – ถูกที่ถูกเวลาสำหรับเด็กอนุบาล หรือที่เรียกกันด้วยภาษาทางการว่า ‘ปฐมวัย’ ซึ่งมีช่วงวัยตามที่ผู้เชี่ยวชาญปฐมวัยว่าไว้ว่าอยู่ที่ราวๆ 0-7 ขวบ
‘ครูเม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ บอกว่า “มีคนกล่าวว่ามนุษย์เราเกิดเร็วเกินไป เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาแล้วช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาไม่สามารถที่จะเดินได้ ม้าบางตัวเกิดมาเดินได้เลย สิ่งมีชีวิตบางชนิดก็วิ่งพร้อมที่จะหลบหนีศัตรู แต่มนุษย์ทำไม่ได้ ดังนั้นการที่เขาจะไว้ใจโลกได้เขาก็ต้องมีคนดูแล”
เธออธิบายต่อว่า เมื่อเราไม่เข้าใจพัฒนาการเด็ก เราก็จะคาดหวังเกินวัยบ้างหรือต่ำกว่าวัยบ้าง เช่น เด็ก 3 ขวบ เขาควรที่จะเรียนรู้ที่จะใส่เสื้อผ้าเอง ใส่รองเท้าเอง แต่พ่อแม่คิดว่าลูกไม่ต้องทำอะไรหรอก นี่คือคาดหวังต่ำกว่าวัย ส่วนที่คาดหวังเกินวัย เช่น เราคาดหวังให้เด็ก 3-5 ขวบ ต้องนั่งนิ่งๆ ได้ถึง 30 นาที ทั้งที่สมาธิของเด็กวัยนี้เพียงแค่ 10 นาทีก็เก่งแล้ว แต่เราคาดหวังว่าเขาต้องนั่งเรียนพิเศษนานๆ คาดหวังว่าจะต้องนั่งเงียบๆ ในโรงหนังได้
“ในวัยเล็กๆ เขาเกิดมา เขาเล่น เขากิน เขาได้รับการโอบอุ้ม แต่เมื่อเขาต้องไปสอบ โดยเฉพาะสอบเข้า ป.1 คือวัยประมาณ 5-6 ปี สมองเขาโดนกดดันมากเกินกว่าที่วัยของเขาจะรับไหว เส้นใยประสาท ‘อะมิกดะลา’ (amygdala) ในสมองจะเริ่มสั่งว่าฉันจะสู้ จะหนี หรือจะนิ่งไปเลย สู้คือทำตาม หนีคือไม่อยากทำแล้ว ร้องไห้กลับบ้านดีกว่า หรือว่านิ่งไปเลย เจอข้อสอบแล้วคิดไม่ออก จำอะไรไม่ได้”
ครูเมบอกอีกว่า แทนที่ร่างกายเขาจะได้ไปออกกำลังกาย กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่เขาจะได้พร้อมใช้งานเมื่อเข้าสู่ ป.1 แต่พอจะไปสอบเข้า ทุกบ้านก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ลูก เราขโมยเวลาที่แสนสำคัญในวัยเยาว์เขาไปหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ไปให้ความสำคัญกับสติปัญญาก่อนที่ร่างกายเขาจะพัฒนา ร่างกายเขายังวิ่งไม่เต็มที่ เดินตุปัดตุเป๋เซไปเซมา กล้ามเนื้อมือยังจับดินสอไม่ถนัดเลย
“แต่เราข้ามขั้นไปสู่การสอบเลย สิ่งที่ตามมาคือเมื่อไม่พร้อม เด็กก็กลัว บางคนโชคดี แต่ถ้าบางคนล่ะ มันไม่ได้เกิดแค่ความเสียใจของพ่อแม่ที่ได้รับผลลัพธ์จากลูก แต่ลูกเองอาจจะรู้สึกผิดหวังในตัวเองตั้งแต่วัยเยาว์ และเราช่วยอะไรได้ไหมเมื่อมันเกิดไปแล้ว” ครูเมกล่าว

ความฝันของนักการศึกษา
เวลาพูดถึงพัฒนาการการเด็กปฐมวัย นอกจากเรื่องทางร่างกายแล้ว พัฒนาการทางสมองก็นับว่าเป็นสาระสำคัญไม่แพ้กัน เหมือนอย่างที่ ‘ครูหวาน’ ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย และกรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย บอกว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่สมองพัฒนาสูงสุด โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าหรือที่เรียกกันว่า Executive Function (EF) เปรียบเสมือน CEO ของสมอง
“ในช่วง 3-6 ปี สมองมีอัตราการพัฒนาสูงสุดกว่าทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นฐานการพัฒนาไปจนตลอดชีวิต ทักษะสมอง EF คือตัวที่บ่มเพาะอุปนิสัยในตัวเด็ก และจะเป็นทักษะที่เด็กจะสะสมติดตัวไป”
“แล้วการสอบมันส่งผลยังไงต่อเด็ก ถ้าเป็นในเด็กโต สภาวะการสอบของเด็กโตจะมีความคงทนต่อความเครียดได้สูงกว่าเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่สูญเสียไม่ได้ในเรื่องความรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง การเห็นคุณค่า เห็นความสามารถของตนเองที่จะพัฒนาต่อไป แล้วถ้ามันถูกกระทบถูกทำลายไป มันจะส่งผลต่อมนุษย์คนหนึ่งไปจนตลอดชีวิตได้”
ครูหวานแสดงความกังวลถึงการสอบว่า เราจนปัญญาจริงๆ แล้วหรือที่จะบอกว่ามีวิธีเดียวบนโลกใบนี้ที่จะคัดเด็กเข้าไปนั่งเรียนในที่ๆ มีเก้าอี้น้อย น่าสงสารไหมที่เราจะกระทำกับเขาแบบนั้น ถ้าเราเชื่อมั่นว่าโรงเรียนดี ครูดี ก็ย่อมจะรับเด็กไปเรียนรู้ได้เช่นกัน เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน เด็กอาจจะทำข้อสอบแบบฝึกหัดได้จริง แต่เขาปรับตัวกับเพื่อนได้หรือเปล่า มีความรับผิดชอบไหม มีความมุ่งมั่นไหม สิ่งเหล่านี้เป็น soft skill สำหรับโลกอนาคต แต่ถ้าเรายังคงเรื่องของการสอบไว้ แล้วปล่อยให้เด็กรู้สึกผิดที่สอบไม่ได้ เราล่มสลาย
ข้อกังวลตรงนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของการที่ครูหวานได้ร่วมผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ขึ้นเพื่อจัดการดูแลเด็กให้ถูกต้องและเหมาะสมตามวัย เพราะเด็กปฐมวัยเป็น sensitive period ที่ไวต่อการถูกกระทบได้ง่ายจากสภาพสังคมปัจจุบันหลายประการ
“การมีพระราชบัญญัตินี้ออกมาก็เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองเด็ก และเป็นหลักประกันว่าเด็กจะได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องยิ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายด้วยแล้ว ก็กำหนดให้ภาครัฐมีหน้าที่ตามกฎหมาย จะปล่อยปละละเลยไม่ได้”

ทางเลือก ทางรอด
ในมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ระบุว่า การจัดการเรียนรู้ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย แต่ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย
ส่วนหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. นี้ยังระบุถึงเหตุผลในการตราขึ้นเพื่อประกาศใช้ว่า …รัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาเพื่อการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย ดังนั้น สมควรให้เด็กเล็กซึ่งเป็นเด็กปฐมวัยน้ันได้รับการคุ้มครองและดูแล มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน ได้รับการศึกษา อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง ทั่วถึง และเสมอภาค มีการส่งเสริมการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กปฐมวัยในช่วงรอยต่อตั้งแต่ก่อนระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เติบโตขึ้น เป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
คำว่า ‘รอยต่อ’ ที่ขีดเส้นใต้ ถ้าเป็นสภาพการศึกษาแบบเดิมก็คือการสอบแข่งขันนั่นเอง แต่หากถือเอากฎหมายฉบับนี้เป็นปรัชญาตั้งต้น การสอบก็จะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป ยิ่งเมื่อคิดถึงภาพการสอบที่กวาดคนแพ้คัดออกแล้ว ยิ่งทำให้เห็นบาดแผลที่ฝังลงในใจเด็กต่อไปไม่รู้จบ
คำถามคาใจคือถ้าไม่สอบ แล้วจะทำอย่างไร
ประเด็นนี้ ครูหวาน บอกว่า “เชื่อไหมว่าแม้กระทั่งคนระดับผู้บริหารที่บอกว่าต้องสอบ เขาก็ไม่ได้มีความสุขใจนะ เขารู้ทั้งรู้ว่าเด็กลำบาก พ่อแม่ลำบาก แต่เขาคิดกันว่ามันเป็นวิธีที่ยุติธรรม เพราะถ้าใช้วิธีอื่นเขาอาจจะถูกสอบสวนได้
“เขาอ้างว่าวิธีอื่นยุ่งยาก ไหนจะคนเยอะ ถ้าสัมภาษณ์พ่อแม่ด้วยจะประเมินยังไง ใครจะสังเกตการณ์ มันก็ทำให้กลับมาหาวิธีที่ง่ายในการตัดสินแล้วตรวจสอบได้ด้วยก็คือการสอบ สอบได้หรือไม่ได้มันชัดเจน
“มีคนถามอีกว่าแล้วทำไมไม่จับสลากไปเลย ถ้าให้เด็กจับ เด็กจับไม่ได้ถูกต่อว่าเสียใจ เฮงซวยมือไม่ดี แกทำตัวเองไม่ได้เรียน แม่อุตส่าห์ติว พ่ออุตส่าห์สอน พอจะเอาให้พ่อแม่จับ ใครจะจับล่ะพ่อกับแม่เกี่ยงกันเอง สร้างความร้าวฉานในครอบครัวใช่ไหม”
เธอเสนอว่า จริงๆ มันก็มีหลายวิธี เช่น มีคนเสนอว่าให้ใช้วิธีเข้าคิวออนไลน์ พอครบยอด 150 คนตัด แล้วก็ดู portfolio ของเด็ก หรือบางแห่งก็มีคอนเนคชั่นระหว่างโรงเรียนต่อโรงเรียน เขาเชื่อว่าถ้าเด็กเตรียมความพร้อมมาอย่างดี มีศักยภาพในการเรียนรู้ ก็ทำโควตากัน มันมีหลายวิธี เพียงแต่คุณคิดว่าคุณไม่สอบ
ส่วน ครูเม เสนอว่าก่อนไปพูดเรื่องการสอบ ควรพูดถึงระบบใหญ่ว่าทำให้โรงเรียนทุกๆ ที่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกันแล้วหรือยัง ระบบใหญ่ต้องช่วยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนให้น้อยที่สุด ด้วยการทำให้คุณภาพใกล้เคียงกัน เพราะทุกโรงเรียนมีไว้เพื่อพัฒนาเด็ก ดังนั้นไม่ควรจะเอาคนที่เก่งอย่างเดียวไปพัฒนา เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสพัฒนาเหมือนกัน ต่อให้พัฒนาได้เต็มที่ของเด็กคนหนึ่งอาจจะไม่เก่งเท่าเด็กที่เก่งที่สุด แต่ว่าเขาก็พัฒนาขึ้นแล้ว
“อาจจะไม่ได้เปลี่ยนการสอบ แต่ว่าเปลี่ยนรูปแบบของการวัดผลดีกว่า แทนที่จะวัดผลอันดับหนึ่ง สอง สาม สี่ เปลี่ยนเป็นการที่ทำให้รู้ว่าเด็กคนนี้พอเข้ามาแล้วเราต้องเติมเต็มอะไรเขา บางโรงเรียนทดสอบด้วยการให้เด็กๆ ได้มาเล่าเรื่องของตัวเองและที่บ้านให้ฟังว่าเป็นยังไงบ้าง หรือใช้การสัมภาษณ์พ่อแม่เป็นหลัก ไม่ใช่แค่วัดผลที่เด็กอย่างเดียว เพราะสุดท้ายแล้วพ่อแม่กับโรงเรียนต้องทำงานร่วมกัน” ครูเมกล่าว

ขณะที่นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ที่เหล่าพ่อๆ แม่ๆ และคนแวดวงการศึกษาเรียกกันว่า ‘หมอประเสริฐ’ บอกประเด็นนี้อย่างรวดเร็วว่า “ไม่ให้สอบ และพัฒนาทุกโรงเรียนในประเทศไทยให้มีคุณภาพเท่ากัน”
“เราติดกับวาทกรรมคลาสสิกมาครึ่งศตวรรษแล้ว ข้อแรกคือ ‘เราทำไม่ได้หรอก’ แต่จริงๆ คือเราไม่ยอมทำ หลายคนยินดีปล่อยให้ประเทศมีสภาพที่มีโรงเรียนคุณภาพสูงอยู่ 10 โรงเรียน แต่ปล่อยให้ที่เหลืออยู่ในสภาพพอดูได้ ส่วนที่บ้านนอกนั้นดูไม่ได้เลย ข้อสองคือ ‘เราไม่มีเงิน’ ซึ่งไม่จริง เรามีเงิน และมีมากพอที่จะให้เราทำงานด้านการศึกษาและสาธารณสุขให้ดีได้ แต่เรามีคำถามว่าเงินอยู่ไหนเสียมากกว่า
“เราจะไม่มีวันทำได้ถ้าปล่อยให้ส่วนกลางทำ ทุกอย่างยังผ่านผู้ว่าฯ และส่วนกลาง จะว่าไปการจัดการตนเองของท้องถิ่นยังเป็นระดับทารกอยู่เลย แต่ทารกพัฒนาได้ ท้องถิ่นก็พัฒนาได้ ทำได้แน่นอนเมื่อปล่อยอำนาจการจัดการและเงินให้ส่วนท้องถิ่นทำ”
หมอประเสริฐอธิบายถึงความหมายของโรงเรียนอนุบาลชั้นดีว่า ในศตวรรษที่ 21 คุณภาพไม่อยู่บนฐานของการอ่านออกเขียนได้อีกต่อไปแล้ว แต่อยู่บนฐานการเรียนรู้ประเด็นสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความเป็นพลเมือง ทักษะชีวิต ไอที ตัวชี้วัดของโรงเรียนที่มีคุณภาพเปลี่ยนไปแล้ว
“มีอีกวาทกรรมหนึ่งที่น่ารำคาญมาก ที่บอกว่าฟินแลนด์ทำได้เพราะประชากรน้อย ของเรา 60 ล้านคนทำไม่ได้หรอก ประโยคนี้ไร้สาระ อังกฤษอาจจะไม่เลิศ แต่การศึกษาปฐมวัยเขาดีกว่าไทย ญี่ปุ่นอาจจะไม่เลิศ แต่ดีกว่าไทย นี่ว่ากันเรื่องจำนวนประชากรและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสองประเทศนี้ไม่ดีกว่าไทยเลย ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่เขาคนน้อย ประเด็นอยู่ที่อำนาจการจัดการศึกษาไม่ได้เป็นของส่วนกลาง แต่เป็นของส่วนท้องถิ่น
ดูเหมือนทางเลือกและทางรอดของการศึกษา โดยเฉพาะพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในทัศนะหมอประเสริฐจะไม่ใช่การรอคอยให้กฎหมายฉบับนี้ทำงาน เขาทิ้งท้ายว่า มีความจำเป็นที่ฝ่ายประชาชนที่มีลูกหลานกำลังทนทุกข์ระทมและถูกการศึกษาทำร้ายต้องพร้อมใจกันลุกขึ้นประท้วง และตะโกนเมื่อผู้บริหารระดับสูงทำอะไรไม่เข้าท่า ผิดทิศผิดทาง พูดง่ายๆ ว่าโรงเรียนที่ดีไม่มาเอง เราต้องสู้ และเวลาก็มีจำกัด ก่อนที่โรงเรียนทางเลือกชั้นดีที่เป็นอยู่จะเริ่มกลายสภาพ ซึ่งแม้แต่ชนชั้นกลางก็อาจเอื้อมไม่ถึงอีกต่อไป
มาถึงวันตกผลึก
หลังจากที่ ฉัตรชัย นักธุรกิจพ่อลูกสอง มองเห็นความผิดพลาดในรอยทางที่พยายามวางให้ลูกคนแรก เขาเปลี่ยนวิธีคิดและปฏิบัติกับลูกๆ ใหม่
ความที่เป็นคนชอบสังเกตอารมณ์ของลูกอยู่แล้ว ทำให้ฉัตรชัยคิดว่าท้ายที่สุดแล้วการที่ลูกจะทำข้อสอบเก่งหรือเรียนเก่ง อาจจะไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง แต่จะมองว่าความสุขสมวัยของเขาคืออะไร
“แทนที่จะไปมองว่าลูกต้องเรียนเก่งมากๆ ผมเห็นว่าชอบกีฬา เขาแรงเยอะ ผมก็สนับสนุนเต็มที่ ลองดูว่าเขาชอบมั้ย สรุปว่าเขาชอบ พอเขาไปเรียนเขามีความมั่นใจในตัวเอง ผมคิดว่าความสามารถพวกนี้มันช่วยสร้างตัวตนของเด็กได้ ถ้าเขามั่นใจ พยายามแล้วเขาทำสำเร็จ และเอาจุดนี้ empower สร้างกำลังใจตัวเองไม่ว่าจะเจออะไรเขาก็ต้องทำให้มันได้” ฉัตรชัยกล่าวด้วยรอยยิ้ม
แม้ พ.ร.บ.ปฐมวัยฯ กำลังถูกบังคับใช้ แต่ยังไม่มีใครการันตีผลของมันได้ว่าจะเป็นเครื่องมือในการช่วยสร้างความราบรื่นให้กับช่วงเปลี่ยนผ่านจากอนุบาลไปสู่ประถม แต่อย่างน้อยท่ามกลางความท้าทายที่สังคมไทยกำลังเผชิญ การปรับตัวตามความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ หากวัยเด็กเป็นส่วนหนึ่งของทุกคน และเราต่างไม่อยากให้มันแตกสลาย