fbpx
หัวอกพ่อแม่ : ล้อมวงคุยว่าด้วยปัญหา ความฝัน ความหวัง ของคนมีลูก

หัวอกพ่อแม่ : ล้อมวงคุยว่าด้วยปัญหา ความฝัน ความหวัง ของคนมีลูก

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ไม่ง่าย — เป็นหนึ่งในคำอธิบายการเลี้ยงลูกที่เราได้ยินบ่อยที่สุด

ไล่ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างเปลี่ยนผ้าอ้อม การทำให้ลูกหยุดร้องไห้ ไปจนถึงการเลือกโรงเรียน และเลี้ยงแบบไหนให้เขาเติบโตไปอย่างมีความสุข ทันทีที่เสียงร้องอุแว้ของเขาดังขึ้น รายละเอียดหลังจากนั้นสำคัญทุกเม็ด — นี่เป็นเรื่องที่พ่อแม่ทุกคนรู้ดี แต่ก็ใช่ว่าจะผ่านไปได้อย่างลุล่วงปลอดโปร่ง

ก่อนหน้านี้สัก 50-60 ปี การมีลูก 10 คนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เมื่อเวลาผันผ่าน สังคม ความเชื่อ ค่านิยม ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ก็เปลี่ยนสังคมให้มีมุมมองต่อการเลี้ยงลูกต่างไป จากครอบครัวขนาดใหญ่ที่ต้องหุงข้าวกันหลายกิโลฯ วันนี้หดย่อลงมาเหลือแค่ครอบครัวขนาดเล็กที่บางวันก็กินแค่แซนด์วิชเป็นมื้อเช้า

บางบ้านแต่งงานไม่มีลูก บางบ้านเลือกมีลูกแค่ 1-2 คน เพื่อจะเลี้ยงดูลูก ‘ให้ดีที่สุด’ เหล่าพ่อแม่ยุคใหม่จึงเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต และเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อสร้างชีวิตที่มีคุณภาพและน่าพึงพอใจ

หนังสือเลี้ยงลูก บทความจิตวิทยาเด็ก และคลิปวิดีโอแนะนำการสอนลูก ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงเรียนดังๆ หลายแห่งถูกจับจองตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ อัตราการแข่งขันพุ่งสูงถึงขีดสุด ขณะเดียวกันโลกก็เปลี่ยนเร็วและแรงขึ้นทุกวัน ทักษะในศตวรรษที่ 21 กลายเป็นคำสำคัญในวงการการศึกษา คำสอนในวันนี้ อาจใช้ไม่ได้แล้วในวันหน้า การเลี้ยงลูกให้เติบโตมาในสังคมเช่นนี้จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญที่พ่อแม่ต้องก้าวผ่านให้ได้

101 นัดล้อมวงคุยกับเหล่าพ่อแม่จากหลากหลายอาชีพ ที่มีวิธีคิดต่อการเลี้ยงลูกแตกต่างกันไป มานั่งแลกเปลี่ยนว่าด้วยชีวิตของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ไล่เรียงไปตั้งแต่

ศ.ดร. ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณแม่ของลูกวัย 12 และ 10 ขวบ

สุชารัตน์ สถาพรอานนท์ เอ็นจีโอ คุณแม่ลูกแฝดวัย 3 ขวบกว่า

ชัชฐพล จันทยุง ช่างภาพ เจ้าของ Naha Studio คุณพ่อของลูกวัย 2 ขวบ

พวกเขามีความฝัน ความหวังต่อลูกแบบไหน สังคมแบบไหนที่อยากให้ลูกเติบโตขึ้นไป ขยับวงล้อมเข้ามา หลายประโยคอาจแตะหัวอกของคนเป็นพ่อเป็นแม่

ช่วงแรกที่มีลูก ชีวิตเป็นแบบไหน มีความคิด ความรู้สึกอย่างไรบ้าง

ปังปอนด์ : ด้วยความที่เราเป็นนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ความตั้งใจคืออยากจะมีลูก แล้วพัฒนาลูกเรา แต่ไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกให้เขามีความสุข ทุกคนในโลกนี้ไม่เคยเป็นพ่อแม่คนแต่แรกหรอก ก็ต้องหาความรู้ว่า การที่ลูกคนหนึ่งจะพัฒนา ต้องทำอย่างไรบ้าง เราอ่านหนังสือเยอะมาก ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ เลย เราไม่ได้ตั้งใจอยากเลี้ยงลูกให้เป็นเลิศ แล้วความที่เราอยู่ในวงวิชาการ เรารู้ว่าความเป็นเลิศไม่มีหรอก ให้ลูกไปในทางที่เขาอยากจะเป็น ให้เขามีร่างกายจิตใจที่สมบูรณ์ เราก็ทำตามแบบนี้มาตลอด

มักจะมีคำพูดที่ว่า เวลาเลี้ยงลูก ก็อยากจะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเขา แต่จริงๆ คำนี้อันตรายที่สุด เพราะเราไม่รู้หรอกว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูกเรา สุดท้ายพ่อแม่ก็จะทำสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด แล้วก็ตัดสินใจให้ลูก แต่จริงๆ หน้าที่พ่อแม่คือต้องสนับสนุน ไม่ยัดเยียดว่าลูกต้องเป็นอะไร เพราะมันไม่ใช่ความสุขของลูก

มนุษย์เราเกิดมาเก่งทุกคน ประเด็นคือจะเก่งอะไรเท่านั้นเอง พ่อแม่ต้องค้นพบให้ได้ว่าลูกเราเป็นยังไง อย่างลูกเราคนโตชอบศิลปะ คนเล็กชอบเทนนิส เราก็ส่งเสริมเขา พาเขาไปเรียน ไปเจอครูที่ดี เราจะต้องไม่เอาลูกเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ตัวเอง เราจะต้องให้ลูกไปในทิศทางที่เขาทำได้

เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าเด็กมีความสำเร็จอะไรสักอย่างหนึ่ง เขาจะมี self-esteem ที่ดี มีความรักในตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตัวเอง แล้วเดี๋ยวเขาจะไปทำอะไรก็ทำได้

สุชารัตน์ : ของเรามีลูกตอนอายุ 37 เลยต้องตรวจเยอะ แล้วยิ่งเป็นลูกแฝดด้วย หมอให้ไปอยู่แผนกครรภ์เสี่ยงสูง พอคลอดออกมาก็วุ่นวายอยู่กับการเลี้ยง จนต้องลาออกจากงาน อยู่บ้านเลี้ยงลูกเต็มเวลา

ก็มีบางช่วงที่เลี้ยงลูกเยอะ อารมณ์ก็ดาวน์ คือเราต้องอยู่กับเด็ก ที่ต่างคนต่างใหม่ เขาก็เป็นลูกครั้งแรก เราก็จัดการอะไรไม่ได้เหมือนกัน อุ้มคนนี้ อีกคนร้อง จนบางทีร้องไห้ไปพร้อมลูก ก็เลยปรึกษากับแฟนว่า ตอนเย็นๆ ต้องจ้างแม่บ้านมาเบรกกันหน่อยนะ เอาลูกออกจากอกแป้บนึง ขอไปเดิน ใช้ชีวิตเองสัก 2 ชั่วโมง ตรงนี้จะช่วยได้ ก็เลยนึกถึงบ้านที่มีปู่ย่าตายาย ตรงนี้เขาน่าจะช่วยได้ แต่ก็เป็นปัญหาอีกเพราะปัจจุบันคนก็จะมองว่า คนที่เป็นรุ่นปู่ย่าตายายจะเลี้ยงหลานสปอยล์ แต่เราเลี้ยงแฝดมา ผ่านมากันเอง 4 คนพ่อแม่ลูก ก็จัดการได้ อาจจะเป็นเพราะว่าเราเลี้ยงกันมาแล้วรู้ใจกันมั้ง ก็เลยรู้จังหวะเด็ก เขาก็ไม่ได้ดื้อมากนะ สองคนนี้จะเบาๆ พอคุยรู้เรื่องอยู่ เพราะว่าคุยกันมาตลอด

พอลูกอายุประมาณเกือบๆ 3 ขวบ เริ่มรับงานบ้าง อยู่บ้านไม่ได้ เพราะเป็นคนทำงานมาตลอด ก็เลยเริ่มรับงาน ตอนแรกเริ่มเปลี่ยนตัวเอง เข้าออฟฟิศ อาทิตย์ละครั้ง แล้วเอาลูกไปไว้ที่เนิร์สเซอรี่ ปรากฏเขาก็โอเค เราก็ดี ได้ทำงานหนึ่งวัน มีชีวิตของเรา เขาก็ได้เบรก

หลังจากผ่านช่วงลูกวัยแรกเกิดมา ก็ต้องเข้าสู่การเลือกโรงเรียนเพราะพ่อแม่ก็ต้องทำงานด้วย มีเกณฑ์วัดแบบไหนในการเลือกโรงเรียนให้ลูก

สุชารัตน์ : มีโรงเรียนอนุบาลแถวบ้านที่โด่งดังมากเรื่องวิชาการ ก็เห็นลูกเพื่อนเรียนเยอะ แต่เราก็ไม่อยากเน้นวิชาการ อยากให้แค่เรียนแล้วกลับมาบ้าน แล้วเราก็อยากได้โรงเรียนที่อยู่ได้ยาวๆ ไม่ใช่มีถึงแค่อนุบาล 3 แล้วต้องไปต่อ ป.1 ที่ใหม่ ก็เลยลองไปจับสลากที่โรงเรียนหนึ่งดู พอลูกจับสลากได้ ก็ได้งานประจำพอดี ทุกอย่างก็ลงตัว ทำงานประจำ รอลูกเรียนเสร็จแล้วค่อยไปรับ เป็นจังหวะชีวิตที่จัดการได้

โรงเรียนที่เราเลือก เขารับปีละ 50 คน จับสลากล้วนๆ เป็นโรงเรียนกึ่งทางเลือก มีถึง ม.6 แล้วเขาก็แมนนวลมากๆ นะ ไม่มีแลกไลน์กับครู ไม่มีกรุ๊ปไลน์ ส่งลูกเข้าหน้าโรงเรียนปุ๊บ เขาก็จับมือพาลูกเข้าห้องอนุบาลไป ถ้ามีปัญหาก็โทรเข้าธุรการอย่างเดียว พ่อแม่มีแค่ไปช่วยสังเกตการณ์ลูกวันแรก แต่ก็ยังมีการก็ตั้งกรุ๊ปไลน์กันเอง ใครไปถึงก็แอบไปถ่ายรูปลูกเพื่อน เราก็ไม่ค่อยชอบนะ

ปังปอนด์ : จะบอกว่ากรุ๊ปไลน์คือหายนะมาก ปัญหาของพ่อแม่สมัยนี้มี 3 เรื่อง หนึ่ง ก.กฎเกณฑ์ เรามีกฎเกณฑ์ มีเงื่อนไขให้กับตัวเองในการเลี้ยงลูกเยอะเกินไป ต้องนั่นต้องนี่ สอง ข.ขวนขวายมากเกินไป ต้องรู้ทุกเรื่อง ซึ่งมาพร้อมการเปรียบเทียบ กรุ๊ปไลน์อยู่ในข้อสอง อยู่ไกลได้ยิ่งดีเลย สาม ค.คาดหวัง มากเกินไป พอเรามีความคาดหวังกับลูก คนที่ทุกข์คือลูก กรุ๊ปไลน์หรือโซเชียลมีเดียทั้งหลายทำให้คนเปรียบเทียบมาก เพราะตามธรรมชาติมนุษย์เราได้เห็นแต่คนแชร์เรื่องดีๆ ที่พอมองดูเรื่องคนอื่นแล้วก็อดที่จะเปรียบเทียบกับตัวเองไม่ได้ ใครที่ไม่มีมุทิตาจิตหรือจิตตกอยู่แล้วก็ยิ่งจะกดดันตัวเองมากขึ้น และบางครั้งความกดดันก็ตกไปอยู่ที่ลูก

พ่อแม่หรือคนทำงานสมัยนี้จะรู้จักกรุ๊ปไลน์เป็นอย่างดี เอะอะก็ตั้งกรุ๊ปไลน์ กรุ๊ปไลน์ห้อง กรุ๊ปไลน์งานศิลปะ กรุ๊ปไลน์วิชาสังคม กรุ๊ปไลน์ของขวัญปีใหม่ครูประจำชั้น สารพัดจะกรุ๊ปไลน์ ผู้ปกครองก็เข้าไปมีบทบาทในกรุ๊ปไลน์เพื่อที่จะช่วยให้งานของลูกหรือชีวิตของลูกออกมาเริ่ดที่สุด เรามัวแต่นึกถึงผลลัพธ์ที่เกิดจาก ก. ข. ค. จนลืมไปว่านี่คือชีวิตลูก คือการเรียนของลูก พอได้ยินมาว่า “วันนี้มีการบ้านแบบนี้นะคะ” ในกรุ๊ป พ่อแม่ก็จะไปกดดันลูก ทำไมลูกไม่ทำการบ้าน เพื่อนเขาทำถึงไหนแล้ว ทำไมลูกยังทำไม่ได้ ลูกก็ถูกดุด่า ไม่มีใครมีความสุข แล้วสมัยนี้พ่อแม่ก็มี ก.ข.ค. มากนะคะ เคยทนไม่ไหวทักเข้าไปในกรุ๊ปไลน์ว่าจริงๆ น่าจะให้เด็กเขาคุยกันเองในงานกลุ่ม พ่อแม่แค่ช่วยซื้อของก็พอ ทุกคนก็เงียบไปพักนึง แต่จับได้ว่ามีคุณแม่บางคนมาแอ๊บเขียนในกรุ๊ปว่าเป็นเด็ก จัดการให้หมดเพื่อให้งานเสร็จ ลูกก็จะได้คะแนนดี ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่จะทำร้ายลูกตัวเองมากขึ้น ยังไม่รวมปลูกผัก ปลูกข้าว และงานประดิษฐ์ต่างๆ ที่ผู้ปกครองทำให้ลูกซะเป็นส่วนมาก ครูก็ไม่มีความสามารถที่จะประเมินว่าเรื่องบางอย่างดูยังไงเด็กก็ทำไม่ได้เองอยู่แล้ว ก็ให้คะแนนผลงานพ่อแม่กันไป กลายเป็นว่าเด็กที่ทำด้วยตัวเองได้คะแนนไม่ดี พ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้คะแนนดีก็ทำงานแทนลูก วนกันไป พ่อแม่ที่จิตแข็งมากๆ จึงจะทนสภาพแบบนี้ได้

ชัชฐพล : จริงๆ ลูกผมก็เพิ่ง 2 ขวบ แต่ก็ดูๆ โรงเรียนไว้แล้ว ใจจริงไม่อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนเร็ว ก็ยังเชื่อว่าการเลี้ยงลูกแบบให้เวลาเต็ม น่าจะดีกว่า แต่ก็ต้องจิตแข็งเหมือนกัน พอเห็นลูกคนนั้นคนนี้เข้าเรียนแล้ว

ผมก็มาคิดว่าลูกต้องอยู่ในระบบการเรียน 20 ปี จบมาทำงาน เราก็คิดว่าจะมีทางอื่นมั้ย ผมพยายามหาช่องทางใหม่ๆ ในการเรียนของเด็ก พยายามจะหาโรงเรียนไลฟ์สไตล์ใกล้ๆ กับเรา ไม่ได้เน้นวิชาการมาก เน้นทักษะของเด็กที่จะไปหาความรู้เอง

ปังปอนด์ : เอาจริงๆ เลยนะ ทุกคนไม่รู้หรอกว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูกเรา หน้าที่พ่อแม่คือต้องหาข้อมูล แม้กระทั่งเรายังเคยเลือกโรงเรียนผิด ตอนแรกก็คิดว่าเลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว แล้วโรงเรียนไกลบ้านมาก ก็เจออะไรหลายอย่างที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว สุดท้ายตอนนี้เราย้ายลูกมาอยู่โรงเรียนใกล้บ้าน

เกณฑ์การเลือกโรงเรียนสำหรับเรา ข้อหนึ่ง ต้องใกล้บ้าน รับส่งง่าย เพราะเด็กต้องนอน เด็กสมัยนี้ ไม่มีนอน ไม่มีกิน เร่งรีบทุกเช้าเลย

ข้อสอง ไม่ว่าจะโรงเรียนอะไรก็ตาม ช่วงปฐมวัยอยู่โรงเรียนให้น้อยที่สุด อย่าไปพยายามทำกิจกรรมอะไรนอกนั้น ถึงเวลาปั๊บ รับลูกกลับบ้าน อยู่กับเราให้มากที่สุด เพราะโรงเรียนเป็นเรื่องเล็กน้อยมากสำหรับการพัฒนาเด็ก แต่พ่อแม่ก็ต้องดูหลักสูตรว่าอยากให้ลูกไปแนวไหน ต้องจิตแข็งมากๆ อย่าไปสนใจใครมาก แต่สุดท้ายต้องให้เขาเลือกเอง ไม่ว่าเขาจะอยากไปทางไหนก็ตาม เราก็ดูลูกให้ชัดว่า ถ้าเขาไปแนววิชาการ อยู่โรงเรียนนี้ไม่น่าเวิร์ก เราก็หาที่เหมาะสมกับลูกไปเรื่อยๆ ไม่มีคำว่าดีที่สุด มันดีที่สุดสำหรับเด็กคนนั้น

สุชารัตน์ : ใช่ อย่างโรงเรียนที่เราเลือก เด็กมีการบ้านวันละหน้า ไม่มีสอบ ค่อยไปสอบตอน ป.1-ป.2 ตามระบบโรงเรียน ลองเรียนดูก่อน ก็โอเคในระดับหนึ่ง เพราะว่าครูเขาจำชื่อได้ตั้งแต่เด็กจนขึ้น ม.6 เด็กทุกคนรู้จักกันหมด เราไปรับลูกตอนเย็น เขามีสนามทรายให้เล่น ลูกก็เล่นไม่สนใจเราเลย แต่เราต้องทำใจ เพราะโรงเรียนเขาจะไม่เนี้ยบนะ กลับมานี่หัวเลอะทรายทุกเม็ด มอมแมมมาก

แต่คิดเหมือนอาจารย์ปังปอนด์ว่าต้องดูที่เด็ก ถ้าสมมติเขาเรียนเก่ง เป็นอัจฉริยะ เรียนแบบนี้ก็ไม่เหมาะแล้ว อาจต้องหาที่ที่เหมาะกับเขา แต่ถ้าลูกเป็นสายสบายใจ ก็เรียนที่นี่ไปเรื่อยๆ ไม่มีปัญหา แล้วโลกมันเปลี่ยน เราเชื่อว่าอีก 10 ปี ระบบก็อาจจะไม่เหมือนเดิม ดังนั้นเราก็เอาที่เราไว้ใจฝากลูกไว้ได้ แล้วก็กลับไปรับ

ศ.ดร. ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณแม่ของลูกวัย 12 และ 10 ขวบ
ศ.ดร. ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณแม่ของลูกวัย 12 และ 10 ขวบ

เด็กๆ ที่เติบโตมาในยุคนี้ ต้องรับมือกับความคาดหวังของพ่อแม่เยอะเหมือนกัน แล้วโดยส่วนตัว มีความคาดหวังอย่างไรกับลูก อยากให้เขาเติบโตไปทำอาชีพอะไรเป็นพิเศษไหม

สุชารัตน์ : เรื่องอาชีพลูกยังไม่ได้มองเลย ด้วยความที่ปัจจุบันงานเราเอง ก็ไม่ได้ตรงสายที่เรียนมา คืออาชีพในอนาคตเป็นเรื่องเฉพาะทาง ถ้าเด็กชอบเราก็ต้องเสริมทุกอย่างที่เป็นเครื่องมือ ตอนนี้เตรียมพร้อมให้เขามีทักษะเยอะๆ จัดการตัวเองเยอะๆ เพราะเรารู้สึกว่า พอเด็กออกจากบ้านไป เขาไม่ใช่เราแล้ว เราไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้แล้ว แค่ไปโรงเรียน ทะเลาะกับเพื่อนมา ถ้าจัดการไม่ได้ จะทำยังไง

เราไม่มีกรอบอะไรขนาดนั้น เพราะคิดว่าโลกมันเปลี่ยน มันอาจจะมีอาชีพที่ทำเงินได้ แล้วเขามีความสุขด้วยซ้ำ เขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราก็ไม่ได้คาดหวัง ณ ตอนนี้ยังไม่มองเป็นอาชีพ มองแค่ให้ผ่านตอนนี้ อาจจะต้องหาอะไรให้เป็นฐานกายฐานใจดีๆ เวลาเกิดอะไรเป๋ๆ ในชีวิต ให้กลับมาได้ จะได้ไม่ต้องเตลิด เช่น ตอนนี้พ่อเขาก็พาลูกรู้จักเทนนิส ไปจับไม้ วิ่งเล่นในคอร์ท

ปังปอนด์ : โลกสมัยนี้มีอาชีพหลากหลายมาก อาชีพใหม่ๆ จะเกิดขึ้นเยอะแยะ และหลายอาชีพก็ทำเงินได้เยอะมากและเด็กก็มีความสุขด้วย ถ้าพ่อแม่เข้าใจตรงนี้ก็จะไม่กดดันลูก บ้านเราก็คือให้ลูกเลือกไปในทางที่เขามีความสุข ส่งเสริมเขา

ชัชฐพล : ผมก็ไม่ได้มองเรื่องอาชีพไว้เหมือนกัน แต่รู้สึกว่าการเตรียมเด็กให้พร้อมที่จะไปเจอโลก คือการปล่อยเด็กออกจากบ้าน ทำให้เขาต้องฝึกจัดการตัวเอง ไปดีลตัวเองกับปัญหา กับเพื่อน กับห้องเรียน กับโลกที่ปัญหาเยอะขึ้น คือไม่ได้มองการเซ็ตอัพที่ปลอดภัยมาก ก็คงปล่อยๆ ให้เขาได้โตไปกับตัวเอง ก็เลยไม่ได้ซีเรียสว่าต้องเป๊ะมาก โตขึ้นไปจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ว่าช่วง 1-7 ขวบ ก็คงให้เขามีความสุขกับการใช้ชีวิตวัยเด็กให้มาก โตขึ้นจะได้ไม่เสียหลัก

โลกเปลี่ยนตลอด อาชีพเก่าๆ ก็อาจจะตายๆ ไป อาชีพใหม่เกิดขึ้นมา ก็ต้องมาคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องมีทักษะอะไรบ้าง ต้องมีโอกาสได้เห็นโลกก่อน ผมว่าการเดินทางช่วยได้เยอะ เพราะเราเป็นช่างภาพ ไปไหนก็พาลูกไปด้วย

ผมจบสายสังคมมา เคยไปเป็นครูบนดอย ไปช่วยให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แล้วก็สร้างประสบการณ์ที่ดีกับหนังสือให้เด็ก พาทำหนังสือจากใบไม้ เด็กก็รักหนังสือมาก แต่เด็กที่ไม่มีโอกาสได้รู้จักสิ่งเหล่านี้  ไม่มีประสบการณ์ ก็ไม่มี หาไม่เจอ เราก็รู้สึกว่า ประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กที่ดี มาจากความรู้สึกที่ดีในวัยเด็ก ช่วงปฐมวัยสำคัญมาก

ชัชฐพล จันทยุง ช่างภาพ เจ้าของ Naha Studio คุณพ่อของลูกวัย 2 ขวบ
ชัชฐพล จันทยุง ช่างภาพ เจ้าของ Naha Studio คุณพ่อของลูกวัย 2 ขวบ

ทักษะหนึ่งที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 21 คือเรื่องความเป็นพลเมืองโลก เพราะลูกเราไม่ได้โตขึ้นมาแค่อยู่ในสังคมไทยอย่างเดียวแล้ว โลกมีความหลากหลายที่ต้องเรียนรู้เยอะมาก เราจะทำอย่างไรในวันที่ลูกเราจะโตมาในโลกใบใหญ่กว่าเดิม

สุชารัตน์ : จริงๆ เราก็มีแนวคิดเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองโลก ด้วยความที่เราทำงานเห็นคนหลายประเทศ มีสุภาษิตแอฟริกาอันหนึ่งบอกว่า “takes a community to raise a child” คือเวลาคุณมีเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อม มันไม่ใช่แค่บ้านของคุณที่คุณต้องดูแล คือทุกคนต้องทำสังคมให้ดี

ตอนนี้เราไม่ได้เลี้ยงให้เป็นแค่พลเมืองไทย แต่เรามองถึงว่าให้เป็นพลเมืองโลกที่จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ เขามีความคิด ไม่ได้ช่วยแค่สังคมเรา แต่ให้คิดต่อยอด

กลับมาที่อาชีพ เรามีเพื่อนที่เป็นทีม global crisis เป็นคนไทยไม่กี่คนที่ร่วมงานกับทีมระดับโลก ไปอยู่อิรัก ซีเรีย พอกลับมากินกาแฟที่บ้านเรา ก็จะเล่าให้ลูกเราฟังว่าทำงานอะไรบ้าง มันทำให้เห็นว่าโลกมีหลายอาชีพ แล้วลูกคงจะมีเป้าหมายอยากช่วยคนอื่นบ้าง

ทุกครั้งเวลาคุยกับลูก เราไม่ได้สอนเขาตรงๆ ไปนั่งคุยกันเอง ส่วนใหญ่เด็กไม่รู้เรื่องหรอก เราก็คุยผ่านเกม หนัง หนังสือ อย่างหนังสือภาพเรื่อง The Journey ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ของ Francesca Sanna นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวอิตาลี เราก็เอามาอ่าน เล่าไปเรื่อยๆ ลูกจำได้ ถามเราว่า เด็ก journey คือเด็กที่ไม่มีบ้านใช่มั้ย เราก็ต้องหาวิธีตอบลูก มีอุปกรณ์เยอะมากที่จะทำให้เขาเป็นพลเมืองโลก แล้วก็คิดถึงคนอื่น

คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องทำการบ้าน อยากให้เป็นแบบไหน ก็ต้องหาพื้นที่ หาอุปกรณ์ ชวนคุย แต่ก็ต้องไม่ฝืนเราด้วยนะ เราก็ต้องเชื่อในเรื่อง global citizenship เชื่อในเรื่องการดูแลสังคม เราถึงจะพูดกับลูกได้อย่างเต็มปากว่าจะสอนแบบไหน คือพูดง่ายๆ ว่าไม่ต้องตามเทรนด์ บางบ้านอาจจะไม่ได้พูดเรื่องนี้ ไม่ผิด ไม่แปลกนะ ทุกคนก็มีรูปแบบของตัวเอง แต่บ้านเราเชื่อ ก็ต้องสอนลูก

ปังปอนด์ : ของบ้านเรา คิดว่าวิธีที่จะสอนให้ลูกเป็น global citizenship คือการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จากประสบการณ์ของเราก็คือ เด็กจะอยู่ได้ในโลกอนาคต แน่นอนต้องมี EF (Executive Function) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เขาต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในโลกก็ตาม และประสบปัญหาอะไรก็ตาม เขาจะต้องผ่านมันไปให้ได้ แล้วไม่ว่าเขาจะตั้งวัตถุประสงค์ในชีวิตเขายังไงก็ตาม เขาจะต้องทำให้ถึงตรงนั้นให้ได้

การที่เขาจะไปถึงตรงนั้นได้ เขาจะต้องมี growth mindset ซึ่งการสอนให้ลูกมี growth mindset เป็นเรื่องที่ยากมาก เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่สุด พ่อแม่ต้องมี growth mindset ก่อน เด็กคนนี้จะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ จะไปไหนก็จะมีคนรัก จะไปไหนก็จะเป็นประโยชน์ เช่น ลูกบอกเราว่าอยากเป็นแบบนี้ แต่ถ้าไม่มี growth mindset เลย เขาจะบอกเราว่าทำไม่ได้อะแม่ จบเลย แต่ถ้าพ่อแม่บอกว่า ทำได้สิลูก จูงมือแล้วเดี๋ยวแม่ช่วย เดี๋ยวแม่พาไป เขาก็จะเติบโตต่อได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพ่อแม่คือซัพพอร์ตนั่นแหละ growth mindset เป็นเรื่องใหญ่มาก

อีกเรื่องที่เราพยายามสอนลูก คือการเป็นคน kind มีภาษาอังกฤษที่บอกว่า be gracious, be kind คือเป็นคนมีน้ำใจ เป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สิ่งนี้จะเป็นทักษะที่สำคัญมากในโลกอนาคต ไม่ว่าคุณจะไปอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร คุณก็ต้องเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจ มีเรื่องที่คุณสามารถเข้าใจคนอื่นได้ เรื่องนี้ที่บ้านให้ความสำคัญมาก

เรารู้สึกว่าการเลี้ยงลูกคือกระบวนการ ในการทำงานเราจะบอกว่าสิ่งสำคัญคือผลลัพธ์ใช่มั้ยคะ แต่การเลี้ยงลูกเน้นที่กระบวนการ แล้วผลลัพธ์จะตามมาเอง มนุษย์เราสมัยนี้นะ ถ้าเรามองข้ามประเทศไทย จะไปอยู่ที่ไหนในโลกได้ คุณต้อง kind และ gracious แล้วคุณต้องมี growth mindset ที่ชัดเจน แต่อีกอย่างหนึ่งของการจะเป็น global citizen คือต้องได้ภาษาอังกฤษด้วยเพื่อเปิดโลกทัศน์

ชัชฐพล : ผมว่าเป็นเรื่องประสบการณ์และโอกาส การเดินทางทำให้ได้ประสบการณ์ ผมเพิ่งไปอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว ทั้งที่ไม่เคยไป หรือไปฮ่องกง สิงคโปร์ การเดินทางทำให้เราก้าวข้ามเรื่องที่ไม่รู้ในไทย พอมองกลับมาที่ไทย โห แคบมากเลย บ้านเมืองเขาไปถึงไหนแล้ว ซึ่งถ้าเด็กได้เดินทาง ได้เห็น จะทำให้เขารู้ว่าอยากไปอยู่ตรงไหนของโลก

ประสบการณ์ที่จะพาเขาไปเจอสถานการณ์ต่างๆ ดีกับเขานะ แล้วถ้ามีโค้ชอย่างพ่อแม่ไปด้วย ไปเห็น ไปดู ไปทำ ยิ่งผมโตมากับเรื่องอาสาสมัครอย่างสึนามิ น้ำท่วม ผมรู้สึกว่าการเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ได้เกิดจากคำบอกเล่า แต่เกิดจากประสบการณ์ การสัมผัสกัน จับมือกัน การยกของหนักด้วยกัน เราสัมผัสได้ว่าเขาเดือดร้อน แล้วไม่ใช่แค่การไปบริจาคทำบุญ สวดมนต์ไหว้พระ แชร์ผ่านเฟซบุ๊ก แต่การพาเด็กไปเจอเรื่องพวกนี้บ้างมันทำงานที่หัวใจมากกว่าความรู้ คือความรู้มันก็ผ่านไปถ้าไม่รู้สึก เพราะความรู้สึกทำงานกับร่างกาย

การเป็นพลเมืองโลกไม่ใช่แค่ว่าตัวเองรอด ผมว่าพอการศึกษามุ่งไปที่เรื่องคะแนน ต้องดีต้องเด่น ครอบครัวฉันต้องได้ ตัดขาดจากบ้านข้างเคียง มันอยู่ยากจัง เราเหนื่อย เราอยากให้ลูกอยู่ในสังคมแบบนี้เหรอ

ปังปอนด์ : ใช่ค่ะ สมัยนี้เก่งอย่างเดียวไม่ได้แล้ว hard skill หาได้ทั่วไป แต่ soft skill สำคัญมาก การที่เขาได้เห็นชีวิต มีประสบการณ์ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เขาถึงจะอยู่ในโลกนี้ได้ แต่คนกลับคิดว่าคะแนนต้องดีมาก เราเคยเจอ เด็กต้องโดดทำเวรเพื่อไปติว หรือเพื่อไปซ้อมยิมนาสติกเตรียมสอบ คุณจะเป็นเลิศแบบนั้นไปเพื่ออะไร ถ้าคุณไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในศตวรรษนี้คือเรื่องความเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ พอกลับมาดูที่ประเทศไทย คุณเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไรอยู่บ้างในเรื่องนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ลูกเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ และเห็นว่าสำคัญ

ชัชฐพล : ย้อนมาตั้งแต่เด็ก คือถ้าเด็กคนหนึ่งสามารถผิดกฎได้ ไม่เคารพกติกา ไม่เคารพตัวเอง ไม่เคารพสิทธิของคนอื่นที่ต้องมาทำเวรแทน เอาแต่ตัวเอง มันก็เริ่มตั้งแต่ประถมแล้ว แล้วถ้าการศึกษายังเน้นขับให้เด็กไปในทิศทางแบบนี้ ก็ยาก เราต้องฝึก mindset เรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก เช่น เคารพตัวเอง ช่วยเหลือกัน ไปทิ้งขยะหน้าบ้านคนอื่นไม่ได้ ทิ้งลงแม่น้ำไม่ได้ เพราะเดี๋ยวคนอื่นเดือดร้อน ทำยังไงให้เด็กเห็นเรื่องพวกนี้แล้วตระหนัก

กลับมาที่ช่วงปฐมวัย เราใส่อะไรให้เด็กทุกวันนี้ เรียน 8-9 คาบ เด็กจะตายแล้ว มันหนักมาก ต้องกลับมามองตรงนี้

ปังปอนด์ : คือการศึกษาเรา mindset มันไม่ได้ เราเอาชนะกันด้วยคะแนนและความสำเร็จ กลายเป็นว่าเห็นผลลัพธ์สำคัญกว่า เราเคยส่งลูกเรียนในโรงเรียนหลายระบบ ตอนนี้ลูกคนเล็กอยู่โรงเรียนอินเตอร์ระบบอังกฤษ วิธีการประเมินของเขาคือ การตั้งเป้าหมายปลายปีของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เช่น วิชาเลข เทอมนี้ได้ 4 เต็ม 5 ความคาดหวังก็ควรจะเป็น 5 แล้วถ้าวิชาภาษาอังกฤษได้ 2 ความคาดหวังก็อาจจะเป็น 3+ แค่นี้ mindset ก็เปลี่ยนแล้ว เพราะทุกคนมีความคาดหวังไม่เหมือนกัน สุดท้ายคนในห้องก็เริ่มช่วยเหลือกัน อันนี้คือทำให้เป็น global citizenship ได้ สร้างการช่วยเหลือกันได้

และต้องสอนให้เขาเคารพตัวเองให้ได้ ถ้าคุณเคารพตัวเองไม่ได้ คุณไม่ต้องไปคิดจะเคารพคนอื่นเลย ซึ่งเด็กเคารพตัวเองไม่ได้เลยในการศึกษาไทย เพราะคุณไม่เคยให้คุณค่ากับสิ่งที่เด็กเป็น คุณให้คุณค่ากับสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่าโอเค เราทำไม่ได้แม้แต่สเต็ปแรกเลย

ถ้าเด็กคนหนึ่งมีคุณค่า สามารถพูดความเห็นตัวเอง พูดความต้องการของตัวเอง แล้วอีกคนหนึ่งยอมรับได้นะ โลกเราจะเจริญมากเลย ปัญหาคือเราไม่ได้ถูกปลูกฝังมาให้มี mindset แบบนี้ ถ้าเราไม่อยากเป็นหมอ ถ้าเราไม่อยากมีคะแนนที่ดี เราจะกลายเป็นคนประหลาด เราไม่ผ่านข้อแรกด้วยซ้ำไป เราไม่สามารถที่จะเคารพตัวเองได้ว่า ฉันอยากเป็นแบบนี้

สุชารัตน์ : มันต้องสร้างตั้งแต่เด็ก ทำพื้นที่ให้ลูก สร้างให้ลูกรู้ว่าคืออะไร อย่างเด็กๆ ยังเล็ก ก็ให้เขารู้จักสิทธิตัวเองก่อน โดยเฉพาะสิทธิของสรีระ เด็กผู้หญิง ผู้ชาย สำคัญมาก เรื่องจิ๋ม เรื่องจู๋ เริ่มมีคำถาม ให้เขาเริ่มรู้จักตัวเองก่อน แล้วก็รู้จักพื้นที่ส่วนตัวของพ่อแม่ ที่บ้านเรา ไม่วิ่งแก้ผ้ารอบบ้าน เป็นเรื่องที่ผิด จะโดนดุมาก ก็คือแก้ผ้าเฉพาะตอนอยู่ในห้อง เพื่อจะวิ่งเข้าห้องน้ำเท่านั้น เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันเป็นพื้นฐานของสิทธินั่นแหละ เขารู้จักสิทธิตัวเอง แล้วก็ต้องเคารพสิทธิคนอื่น ถ้าสมมติพ่อทำงานอยู่ในห้อง จะไปวุ่นวายไม่ได้นะ เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่พ่อต้องทำงาน ต่อให้เขาเล็กแค่ไหนก็ไม่ยกเว้นให้ ก็คือต้องค่อยๆ สอน

แต่อย่างว่านะ ที่บ้านเราสอนให้ลูกเป็นแบบนี้ ถ้าไปเจอที่โรงเรียน แล้วคนแห่กันเห็นชอบว่าโดดเวรแล้วดี ก็เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาอธิบายกันที่บ้านอีก ซึ่งเราต้องเป็นกันชนให้ลูกอย่างดี

ปังปอนด์ : ที่บ้านใช้คำว่ามาซ่อมกันน่ะ ต้องมาสอนกันใหม่

ชัชฐพล : ครอบครัวเลยสำคัญไงครับ ผมว่าโรงเรียนดีแค่ไหน แต่ถ้าที่บ้านไม่ดีก็พัง

สุชารัตน์ : แล้วความกังวลคือ mindset คนในสังคมไทย ณ ปัจจุบันมันผิดเพี้ยนไง ยกตัวอย่างบ้านเรา ช่วงหลังๆ เด็กชอบอ่านเรื่องสัตว์ แล้วจู่ๆ ติดใจเสือดำมาก ขอไปดู Black Panther ชอบมาก พ่อก็ชอบแซว ตัวนี้ตายไปแล้ว ลูกก็เริ่มมีคำถาม ใครฆ่าเหรอ พอพ่อเล่าต่อ เขาก็ถามต่อ ทำไมล่ะ ทำไมเขาไม่เข้าคุก เลยบอกกับแฟนว่า สังคมกำลังสร้างปัญหาในการที่ครอบครัวจะสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมกับลูก เราจะสอนยังไงในเมื่อค่านิยมส่วนใหญ่เห็นเรื่องผิดเป็นปกติ คือตอนนี้เรายอมรับพื้นที่สีเทากันเยอะมาก จนเราไม่รู้จะสอนลูกยังไงถ้าลูกออกไปข้างนอก เพราะมีตัวอย่างของคนที่อยู่อย่างเทาๆ แต่ก็สามารถอยู่ในที่โล่งแจ้งได้ เราค่อนข้างซีเรียสกับค่านิยมมาก เพราะจะทำให้ลูกเราผิดขบวนไปไง ถ้าเขาเติบโตไปเรื่อยๆ เขาจะชินกับแบบนี้ ก็จะเห็นไปเรื่อยๆ

ชัชฐพล : ผมก็คิดนะว่าเด็กคนนึง ต้องอยู่ในระบบการศึกษากี่ปี แล้ว 20 ปีนั้นมันทำอะไรกับลูก แล้วถ้าลูกอยู่กับเรา ถ้าเด็กปลดล็อคจากการศึกษาแบบนี้ เป็นอิสระในการเรียนรู้แบบที่เป็นตัวเอง แล้วก็พร้อมจะแชร์อะไรก็ได้ ไปคอนเน็คกับอะไรก็ได้

สุชารัตน์ : ต้องหาความพอดีของลูก ความพอดีของพ่อแม่ คือพ่อแม่ก็ต้องมีความคาดหวังแหละ เวลาเลี้ยง อยากให้ลูกได้ดี แต่คำว่าลูกได้ดีอาจจะต้องมานั่งคุยกันตอนโตด้วยซ้ำ ตอนเด็กๆ แทบจะต้องไม่ไปคุยอะไรเลย เอาที่มันพอดีๆ ไม่ฝืนเขา เรายังรู้สึกว่าเรื่องวินัยก็ยังจะต้องมี คือ EF นี่แหละ ที่ต้องการการจัดการ กินข้าวเอง ตื่นมาอาบน้ำ ก็ต้องปลูกฝังเลย แต่เรื่องที่ต้องเรียนเก่ง เรื่องคะแนนก็ไม่ต้องเน้นถล่มทลาย แต่เรื่องที่จะต้องเป็นวินัยตามระบบวัฏจักร เคารพคนอื่น เคารพตัวเอง รับผิดชอบหน้าที่ อันนี้ควรต้องรีบปลูกฝัง ถ้าค่านิยมในสังคมยังมุ่งอีกแบบ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่กลุ่มที่ต้องขยันทำงาน ว่าต้องจัดการกับลูกยังไง

เราก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าลูกต้องเข้าระบบถึง 20 ปีเหมือนกันนะ อาจจะดูกันครั้งละ 10 ปี แล้วเด็กอาจจะเป็นตัวตอบเองว่า จบ ป.6 ไม่อยากเรียนอันนี้เพราะอะไร จะเล่นกีฬาอย่างเดียวเลยมั้ย งั้นออกไปเล่นกีฬาเลย เรียนอะไรก็ว่าไป

สุชารัตน์ สถาพรอานนท์ เอ็นจีโอ คุณแม่ลูกแฝดวัย 3 ขวบกว่า
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์ เอ็นจีโอ คุณแม่ลูกแฝดวัย 3 ขวบกว่า

นอกจากต้องสอนลูกให้ดี เลือกโรงเรียนที่เหมาะสมแล้ว ถ้าเลือกได้ สังคมในจินตนาการที่อยากให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นสังคมแบบไหน

ปังปอนด์ : เราอยากอยู่ในสังคมที่ปลอดภัยทั้งด้านจิตใจและร่างกาย เพราะว่ามีลูกสาวด้วย เรารู้สึกว่าคนสมัยนี้ถูกกระทำง่ายทั้งทางกายและใจ เราอยากเห็นสังคมที่ลูกออกไปจากอ้อมอกเราแล้ว เขาดูแลตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องมีเรื่องลบๆ เข้ามาเยอะๆ แล้วถ้ามีสังคมสร้างสรรค์ สังคมที่ทุกคนรักกัน ก็คงดี แต่คงเป็นไปไม่ได้ ในช่วงวัยเรายูโทเปียคงไม่เกิด วิธีก็คือเราต้องทำให้ลูกปกป้องตัวเองได้ เท่านั้นเอง คำตอบเดียวนี่แหละ

สุชารัตน์ : ของเราก็น่าจะเรื่องปลอดภัยแหละ แล้วก็อยากให้ค่านิยมในสังคมเปลี่ยน ไม่ใช่ให้คุณค่าของคำว่าคนดีคนเก่งอย่างเดียว คือให้ทุกคนเป็นอะไรก็ได้ อย่างน้อยมีความรับผิดชอบ แต่มันก็ยากมาก ก็ได้แค่ต้องเอาลูกกลับมา

ปังปอนด์ : วันก่อนเราเพิ่งไปกินก๋วยเตี๋ยว แล้วเขาเปิดทีวีดูละคร แต่บ้านเราลูกไม่ดูทีวี แล้วเวลาเราไปที่แบบนี้ก็ต้องเจอทีวี ลูกก็นั่งมอง เจอฉากพ่อทำมิดีมิร้ายกับลูกตัวเอง แล้วก็ฉากผู้ชายถอดเสื้ออยู่ในห้องกับผู้หญิงสองต่อสอง อย่างนี้คือสังคมที่เราไม่อยากให้ลูกอยู่ มันไม่ปลอดภัยทางความคิด คุณพ่อเค้าเลยบอกให้ลูกหันหน้าหนี ไม่ต้องดู ไม่ใช่เราไม่ให้ลูกดูนะ แต่มันไม่ใช่ภาพที่ลูกควรจะดู หรือเป็นวัยที่เขาควรจะรู้ หรือปล่อยให้เขารู้เอง

เรื่องแบบนี้โรงเรียนฝรั่งสอนนะ โรงเรียนไทยไม่สอนจริงจัง จริงๆ ควรต้องรู้ว่าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นนะ คุณควรจะป้องกันตัวเองยังไง มีปัจจัยยังไงที่จะทำให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เราก็บอกลูกว่าแบบนี้คือผู้หญิงกับผู้ชายกำลังจะมีอะไรกัน แล้วเราจะทำยังไงเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นก่อนเวลาอันควร ก็คือไม่อยู่กับผู้ชายตามลำพังสองคน อันนี้ก็ต้องมาคุยๆๆ แล้วเราก็นึกถึงลูกที่ไม่ได้นั่งดูหนังกับพ่อแม่ มันคือความไม่ปลอดภัยทางด้านความคิดอย่างแรงมากนะ ไม่ใช่สิ่งที่ลูกเด็กเล็กแดงจะมาเห็นตอน 2 ทุ่ม เราไม่ได้ว่าลูกเราต้องใสบริสุทธิ์งดงาม แต่ต้องมีจุดที่เราอธิบายได้

ชัชฐพล : คือถ้าเด็กดูเรื่องนี้ แล้วไม่ได้รับการอธิบายต่อก็จะอันตราย

สุชารัตน์ : น่าจะต้องโซนนิ่งเวลา ถ้าอยากดูกันขนาดนี้ ก็ต้องไปฉายหลัง 5 ทุ่ม จริงๆ มันปิดกั้นไม่ได้ ก็รู้ว่าคนอยากเอนเตอร์เทน อยากพักผ่อนช่วงเวลากลางคืน แต่ละคนก็เป็นปัญหาหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่ควรจะต้องจัดการโดยการทำไทม์โซน

ชัชฐพล : นอกจากเรื่องปลอดภัยแล้ว ผมคิดไปถึงสังคมที่มีอิสระในการใช้ชีวิตที่ตัวเองเลือกได้ เด็กที่พร้อมจะบอกว่าผมไม่อยากเรียนวิชานี้ แต่ผมอยากทดลอง ผลิตอันนี้ ก็ต้องมีความยินดีให้เด็กได้ทดลองทำ แม้ว่าจะล้มเหลวก็ตาม ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว เราก็กลายเป็นสังคมโอลิมปิก ตัวแทนห้อง เยอะไปหมด แล้วเด็กที่ไม่ได้แฮปปี้กับการไปฝึกซ้อมเพื่อที่จะไปสอบจะทำยังไง ผมอยากให้มีพื้นที่แบบนี้เยอะขึ้น คือเด็กไม่ได้เก่ง แต่มีพื้นที่ให้เด็กได้ลองทำ คือคนเรียนไม่เก่งเลย แต่แฮปปี้กับการได้ทำอะไร แล้วมันโอเค

อย่างผมได้ถ่ายรูป ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ก็อยากให้เด็กได้ลองทำ ได้ดู ได้เดินทาง เออ มันน่าสนใจ นอกจากความปลอดภัยทางร่างกายจิตใจ ก็คือเป็นสังคมที่มีอิสระให้เด็กได้เลือกจริงๆ ผมว่าน่าจะมีแนวทางซัพพอร์ตให้เขาได้ลองทำ จบ ม.6 แล้ว ไม่ต้องเรียนมหา’ลัยเลยก็ได้ เดินทาง

สุชารัตน์ : สังคมแบบนี้สร้างไม่ได้ นอกจากจะไปสร้าง mindset ในโรงเรียน เด็กทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่หลังห้อง หน้าห้อง ไม่ใช่ว่าหน้าห้องต้องเป็น someone ดีเลิศ คือก็จะย้อนกลับไปที่ครอบครัวปัจจุบันด้วย ที่พ่อแม่ก็ยังอยากให้ลูกเป็น someone

ที่ผ่านมาเราคุยเรื่องลูกหมดเลย อยากกลับมาย้อนถามถึงตัวเองบ้าง พอเรากลายมาเป็นพ่อแม่ เราคิดถึงตัวเองมากแค่ไหน หรือว่าชีวิตนี้ให้ลูกร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ตัวตนเราเปลี่ยนไปเลย

ปังปอนด์ : ที่บ้านเลี้ยงลูกกันเอง ไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีปู่ย่าตายายหรือคนช่วย พ่อแม่ทำงานทั้งคู่และก็เลี้ยงลูก 2 คนไปด้วย บางคนจะบอกว่าคนเป็นแม่ต้องทุ่มเทเต็มร้อย ต้องลาออกมาทุ่มเทให้กับลูก อันนี้ความเห็นส่วนตัวคือเราเป็นอาจารย์ เราอาจจะมีเวลายืดหยุ่น แต่เราก็ไม่ได้ลาออก ในมุมมองการเป็นแม่ ไม่ใช่ว่าชีวิตเราจะต้องทุ่มเทให้ลูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เรามีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างว่าเราเลี้ยงลูกและทำงานได้ แม่ก็ใช้ชีวิตของแม่ได้ แล้วก็ดูแลลูกได้ นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ

ในขณะเดียวกัน ชีวิตคงจะเปลี่ยนไปในฐานะ working mom ในแง่ที่ว่าเราจะแคร์เรื่องอื่นน้อยลง เพราะเวลาเรามีแค่นี้ เราจะโฟกัสกับสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นด้วยซ้ำไป งานการนี่จริงๆ ทำเยอะกว่าเดิมด้วย เพราะเรามีความรู้สึกว่าเราต้องมีประสิทธิภาพในการทำงาน แล้วเวลาเราเลี้ยงลูก เราจะได้รู้สึกว่ามีการเอาทักษะพวกนี้ไปช่วยในการจัดการว่าเราจะเลี้ยงลูกยังไง สุดท้ายคือทำอะไรเยอะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

การมีลูกช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น คือชีวิตเราจะไม่ทุ่มเทกับลูกอย่างเดียว เรารู้สึกว่าถ้าลูกได้เห็นอะไรตรงนี้ เขาก็จะรู้สึกว่าชีวิตเขาก็ทำอะไรได้หลายอย่างเหมือนแม่ แต่ในขณะเดียวกันแม่เราก็จะบ่นว่า ทำไมไม่ดูแลตัวเอง ทำไมต้องนอนดึก เราก็ต้องหันมานึกถึงคนที่เป็นแม่เราด้วย หลังๆ เราก็ต้องนอน ต้องปรับตัวไป

จะมีช่วงหนึ่งที่ลูกเล็กๆ เป็นวัยที่เราต้องทุ่มเทให้ลูกมากหน่อย แต่พอลูกโตขึ้นมานิดนึง เป็นวัยที่พ่อแม่ก็ต้องเป็น role model แล้ว ก็ทุ่มเทกับการทำงานให้ลูกได้เห็นว่าแม่ทำได้ ลูกก็ต้องทำได้ แล้วเราก็จะไปด้วยกัน คือชีวิตไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ แม่ไม่ต้องอยู่กับลูก 24 ชั่วโมง ลูกก็ต้องมีชีวิตของลูก แล้วก็ต้องบริหารชีวิตของตัวเองให้ได้ดี นี่คือมุมมองของเรา

สุชารัตน์ : เราไม่ใช่แม่ที่ทุ่มเทให้ลูกทั้งหมด ตอนมีลูก ตอนเลี้ยงเขาตั้งใจไว้เลยว่า มองหน้าเขา ถ้าเธอมีความสุข ฉันก็ต้องมีความสุข หมายถึงว่าสุขของเธออาจจะไม่ใช่สุขของฉัน หรือสุขของฉันก็ไม่ใช่สุขของเธอ เวลาเลี้ยงไป คนก็จะบอกว่า อุ๊ย โตเร็วจัง เราอยากให้ลูกเราโต คุยรู้เรื่องมากเลยนะ เพราะเราอยู่ด้วยกัน เราอยากเห็นเขาเติบโต เห็นเขาพูดคุย มีพัฒนาการ

ช่วงอายุเท่านี้ประมาณ 3 ขวบ คนก็จะบอกว่า นึกถึงตอนลูกเป็นเบบี๋มั้ย เราบอกไม่นึกแล้ว จำไม่ได้แล้ว เราไม่รู้สึกว่ามันเป็นช่วงสบาย เราว่าช่วงนี้โอเคที่สุด อย่างที่อาจารย์ปังปอนด์บอกว่า ใช่ เราต้องทุ่มเทให้เขามาก ช่วง 0-6 เป็นช่วงที่เซ็ต 20-30 เปอร์เซ็นต์ในความเป็นเขาเลยด้วยซ้ำ ในความที่เขาจะเติบโตขึ้น ก็ทุ่มเท

ในเวลาเดียวกัน เราเชื่อว่าเราก็เสียสละก่อนหน้านี้มา 3 ปีแล้ว งานของเรามันง่ายกว่า ลาออกได้ แต่ตอนเลี้ยงก็ยังทำงานที่บ้านนะ ทำให้เห็นว่าพอกลับมาทำงานประจำมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก่อนเพ้อเจ้อกว่านี้ เดี๋ยวนี้ส่งลูกเสร็จ เข้าออฟฟิศ 9 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น ประชุม ทำนู่นนี่ เปิดบริษัทเองด้วย ระหว่างนั้น พอหมดงานประจำ เสาร์-อาทิตย์ บางทีคุยออนไลน์ ก็ยังคุยงานได้ การมีลูกมันทำให้เห็นว่าเราเองก็เติบโตขึ้น เพื่อนก็บอกว่าเราเปลี่ยน ดูนิ่งขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าเราอยากเป็น role model ที่ดี ถ้าเราเหวี่ยงปุ๊บ ไม่เกินอาทิตย์ลูกจะเหวี่ยงตามเราทันที จะตีกลับมาแรงมาก เราเลยต้องสงบ เออ มันก็สอนเรานะ บางอย่างเราก็ต้องอดทน

คือเราต้องเป็น role model แต่เราก็ต้องเป็นเรา วันนึงเขาเติบโต ก็ต้องมีชีวิตใครชีวิตมัน เราเห็นหลายบ้านที่พอลูกโตแล้วแม่เคว้งคว้างเลยนะ เพราะเขาไม่มีอะไรเลยนอกจากลูก มันเลยเป็นปัญหาว่าพอลูกไปมีครอบครัว ตัวเองก็แนบไปซะทุกส่วนจนเกิดปัญหาไปหมด ไม่ผิดหรอกที่ทุ่มเทมาก แต่มันผิดที่คุณลืมชีวิตตัวเอง เพราะทุกคนมีชีวิตไง มีหนึ่งชีวิตกันหมด

ชัชฐพล : เอาจริงลูกก็ส่งผลกับผมเยอะมาก เพราะช่างภาพเป็นอาชีพหลังคอมฯ และต้องไปนั่นไปนี่ด้วย แต่ตอนนี้กำลังบาลานซ์ว่า การเลี้ยงลูกต้องมีความสุข ดังนั้นอะไรที่ทำให้เรารู้สึกดีก็จะทำ เช่น ไปเตะบอล วิ่ง เรียนร้องเพลง ซื้อกีตาร์ใหม่ ต้องมีอะไรมาเติมนอกจากทำงาน อันนี้คือให้ตัวเอง คือเราต้องไม่จม เพราะถ้าเราจม มันจะพาไปยังไง บ้านก็ต้องมีสุนทรียะ ทุกคนต้องมีแบบนี้เป็นของตัวเอง เราต้องมี ลูกก็ต้องมี แฟนเราก็ต้องมี เพราะกว่าจะจบภาระนู่นนี่นั่น ดูเป็นมวลที่หนักเกินไป แต่ตอนนี้ 2 ปีแล้ว ก็เริ่มทำใจได้ ปรับตัวได้ แต่ก็หนักอยู่ เพราะเดินทางเยอะ

ผมเลี้ยงกับแฟนสองคน 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ค่อยได้ฝากใคร เราเสร็จงานก็ต้องมาถ่ายเทพลังให้ลูก อ่านหนังสือให้ลูกหลับก่อน แล้วก็ต้องปลุกตัวเองขึ้นมาทำงานก่อน คือมันก็มีผลกับงานที่ต้องไปต่างจังหวัดก็ลดลง ก็เหลือแค่โซนที่ไป-กลับได้

ปังปอนด์ : จริงๆ คิดว่าตัวเองและสามีโชคดีที่ไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก เราจะบอกว่าพอลูกโตไปแล้วเราภูมิใจว่าเราทำได้ เราได้ทำทุกอย่างให้ลูกเท่าที่ทำได้ ได้ให้เวลากับลูกเต็มที่เท่าที่เรามี เราตั้งใจทำให้ดีที่สุด พอมันผ่านไป คือจบแล้ว ผ่านช่วงเวลาที่แปะมือกันอย่างหนักและช่วงเวลาที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนของการเลี้ยงลูกทั้ง 2 คนมาพอสมควรแล้ว แล้วเราได้เรียนรู้ เราจะเก่งขึ้น กระบวนการนี้ทำให้เราเข้าใจลำดับความสำคัญในการใช้ชีวิตมากขึ้น

ชัชฐพล : ผมเสริมอีกนิด ผมก็อยากให้ลูกเป็นนักบอล เพราะเราชอบเตะบอล ความสุขของเราคือซื้อชุดให้ลูก แล้วแต่งอย่างที่เราอยากเห็น บอกลูกว่าไปอยู่เจลีกนะ (หัวเราะ) เขาโตขึ้นมาก็แล้วแต่เขา เราไม่ได้เอาความฝันไปยัดเขา แต่เราก็มีจินตนาการ มีความสุขในการที่จะนึกถึงนู่นนี่นั่น แต่สุดท้ายก็ให้เขาเลือกเอง

ปังปอนด์ : ทันทีที่ลูกร้องอุแว้ๆ ขึ้นมา ชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้ตื่นเช้าขึ้นมา สิ่งที่คิดอย่างแรกคือวันนี้ลูกจะกินอะไร คนเป็นพ่อแม่ยังไงก็ต้องเสียสละ เรามีหน้าที่สนับสนุนลูกอยู่แล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save